แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๔๑ มีความเห็นถูกต้อง มีศีลงดงาม มีศรัทธามั่นคงในพระไตรรัตน์ ย่อมเป็นผู้ไม่ขัดสนยากจน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จะเอากายเป็นเราไม่ได้ เอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเราไม่ได้ วิญญาณ คือตัวผู้รู้นี้ก็เป็นสภาวะธรรม เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เข้าสู่กิจกรรมเรียกว่าธรรมวินัย หรือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่ามรรค
หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายจะได้หยุดคำว่าเป็นคน จะได้มีความสุขในการทำงาน หยุดอบายมุข ไปตามใจตามอารมณ์ ตามความคิด ควมรู้สึกนี้ไม่ได้ เพราะมันจะศาสนาไหนก็ไปไม่ได้ นอกจากพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถุูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะไม่ได้มีความเครียด เพราะมีตัวมีตนมันเครียด เราจะได้ดับทุกข์ได้ ทั้งประชาชน ทั้งนักบวช ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ทำไมเราโชคดีอย่างนี้การพัฒนาโลกนีก็เข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์ พัฒนาอย่างนี้ก็เราไม่ต้องไปทำเองปฏิบัติเอง ไปตามอัทยาศัยนี้ไม่ได้เสียหาย ทำให้ตัวเองย่อหย่อน ลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ในข้อปฏิบัติ ทุกคนทำได้อย่างนี้ จะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ไม่ให้เจ็บปวด มันเป็นเรื่องภายนอก มันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดมรรคผลพระนิพพาน ที่จะได้รู้จักสัจธรรม หรือรู้จักอริยสัจ ๔
ในชีวิตของเรา เราถือว่ามันเป็นบทเรียนตามรูป เค้าเรียกว่าบทเรียน หูฟังเสียง เค้าเรียกว่าบทเรียน เพื่อให้เราฉลาด เพื่อให้เราตอบปัญหาและก็สอลตรงนั้นในปัจจุบัน ปริญญาที่เราเรียนมาน่ะ มันเพื่อประกอบอาชีพ ต้องเอาพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราจะได้ตอบข้อสอบ ปฏิบัติข้อสอบในปัจจุบันไป เราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่าธรรมาธิปไตย ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เพราะเราจะไปตามชอบใจ มันก็ต้องมีไม่ชอบใจ
ร่างกายของเราทุกคนมันก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ได้เห็นพ่อแม่พี่น้องญาติวงศ์ตระกูล แก่ เจ็บ ตาย เราก็ต้องรู้จักว่าอันนี้เป็นเทวทูต เป็นเทวธรรม เป็นธรรมชาติมาบอกมาสอน เราทุกคนต้องพากันรู้จัก ไม่ว่าเราจะเป็นคนรวย คนจน เป็นเชื้อชาติศาสนาอะไร เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้มัน แก้ปัญหาได้ ทุกคนก็ต้องมีความเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ในปัจจุบัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่เราเอง แต่ก่อนเราโง่ไปตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนชาติ เราพากันตามอารมณ์ไป พากันไปแก้ปัญหาภายนอก
ที่แท้จริงปัญหาอยู่ในใจของเรานี้ เรากลับมานะ กลับมาหาบ้านเราคือธรรมะ บ้านเราคือการเสียสละ บ้านเราคือศีล บ้านเราคือสมาธิ บ้านของเราคือการเสียสละปล่อยวางอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับหายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย อานาปานสติทุกคนต้องทำให้คล่องแค่วชำนิชำนาญ บ้านคนไม่คล่องแค่วไม่ชำนิไม่ชำนาญ จะมานั่ง 4-5 นาทีมันก็ไม่สงบแล้ว เพราะความดีถ้าไม่ทำเป็นประจำ มันก็เก้อเขิน
พระพุทธเจ้าท่านให้เรา รู้จักการเวียนว่ายตายเกิดของเรา เรามีธาตุ 4 ขันธ์ 5 มีอายตนะทั้ง 6 ให้ทุกท่านทุกคนรู้ว่า เราเอาเค้ามาใช้งาน เอามาทำงาน ที่อายุเราที่ไม่เกิน 100 ปี ท่านจึงสอนเราทุกคนว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความพลัดพรากเป็นธรรมดา เพราะทุกอย่างมันไปตามสภาวะธรรม อันนี้คือร่างกายสังขาร แต่ว่าใจของเราก็ ที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด ที่มันเป็นพลังงาน ที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด มันมีอิทธิพลมาก
ขอเล่าถึง วาระสุดท้ายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีป่วยหนักสองครั้ง (เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก)
ครั้งแรกท่านป่วยหนัก นึกถึงพระสารีบุตรเถระ จึงส่งคนไปนิมนต์ท่านไปยังนิเวศสถานของตน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟังเพื่อบรรเทาทุกขเวทนา เพราะอาการไข้กำเริบ สุดจะอดกลั้นเวทนาไว้ได้ สงสัยไม่รอดแน่ๆ
พระสารีบุตรอัครสาวกได้แสดงธรรมให้ฟังว่า ท่านคหบดี ท่านจะร้อนใจไปทำไม คนอย่างท่านเป็นคนเลื่อมใส มั่นคงในพระรัตนตรัย ถึงพร้อมด้วยศีล มีสัมมาทิฐิ ประกอบสัมมากัมมันตะ (การทำงานชอบ) ประกอบสัมมาอาชีวะ (อาชีพสุจริต) มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ (ความหยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) จะเดือดร้อนทำไม
ท่านกล่าวต่อไปว่า ปุถุชนมีกิเลสหนา ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่มีศีล มีมิจฉาทิฐิ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ (การหยั่งรู้ผิด) และมิจฉาวิมุติ (การหลุดพ้นผิด)
คนเช่นนี้ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ส่วนความไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเช่นที่ว่านั้น ไม่มีแก่ตัวท่าน ท่านมีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย มีศีล ฯลฯ มีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นความดีเหล่านี้ในคน ทุกขเวทนาพึงสงบระงับได้โดยพลัน
พอพระสารีบุตรเทศน์จบลง ทุกขเวทนาของเศรษฐีก็สงบระงับ ท่านจึง “อังคาส” (ถวายภัตตาหาร) แก่พระสารีบุตรด้วยมือ (เคยเล่าไว้แล้วว่า อังคาสพระสงฆ์ด้วยมือ มิใช่เข้าครัวทำอาหารเองแล้วมาถวายพระ หากหมายถึงคอยเสิร์ฟด้วยมือของตน จนพระท่านฉันเสร็จ มิใช่ยกอาหารประเคนพระ แล้วก็ไป ดุจดังชาวพุทธไทยปฏิบัติอยู่)
เมื่อพระสารีบุตรฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ได้กล่าวคาถาอนุโมทนา ความว่า “ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงามที่พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง (เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์)”
คราวนั้นพระอานนท์ได้ตามไปเป็น “ปัจฉาสมณะ” (พระตามหลัง) ของพระสารีบุตรในครั้งนี้ด้วย พระอานนท์นั้นเคารพนับถือพระสารีบุตรมาก พระสาวกทั้งปวงนับถือพระสารีบุตรเป็น “พี่ชายใหญ่” (คำนี้พระพุทธองค์ทรงรับสั่งเรียกเป็นพระองค์แรก) เช่น เวลาพระสงฆ์จะมากราบทูลลาพระพุทธองค์ไปยังต่างเมือง พระองค์ก็จะตรัสว่า “พวกเธอไปลาพี่ชายใหญ่ของพวกเธอด้วย”
เมื่อกลับพระอาราม พระอานนท์เข้าไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบถึงธรรมเทศนาที่พระสารีบุตรแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง
พระพุทธองค์ตรัสว่า อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เธอได้จำแนก “โสตาปัตติยังคะ” (องค์คุณแห่งพระโสดาบัน) ๔ ประการ ออกเป็น ๑๐ ประการอย่างน่าฟังยิ่ง
ครั้งที่สอง ท่านป่วยหนักอีก ให้คนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ท่านป่วยหนัก ลุกไม่ขึ้น ขอน้อมเกล้าฯ ถวายบังคมมา ณ บัดนี้ด้วย กับขออาราธนาพระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อระงับทุกขเวทนา จะได้เป็นการเห็นสมณะเพื่อเป็นทัสสนานุตริยะก่อนละสังขาร พระพุทธองค์ทรงส่งพระสารีบุตรไป พระอานนท์เป็น “ปัจฉาสมณะ” ตามเคย
พระสารีบุตรไปแสดงธรรมโดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ท่านเห็น เวทนาของมหาเศรษฐี เป็นเวทนาชนิดที่มีความตายเป็นที่สุด ไม่มีใครสามารถห้ามได้
พระเถระได้ทักเศรษฐีว่า “ดูก่อนคฤหบดี อัตภาพของท่านพอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลงบ้างไหมหนอ” ท่านเศรษฐีเห็นพระมานั่งอยู่ข้างเตียง ได้ยินเสียงของพระเถระเจ้า รู้สึกปีติใจ ได้กล่าวตอบท่านไปว่า “ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนักเหลือเกิน กำเริบขึ้นเรื่อยๆ อาการเจ็บปวดรุมเร้าไปทั่วทั้งเรือนร่าง ไม่ปรากฏว่าจะทุเลาลงเลย”
“ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก ท่านผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผมอยู่ เหมือนกำลังถูกคนขันชะเนาะที่ศีรษะ ลมปั่นป่วนท้องของกระผม เหมือนคนฆ่าโค เอามีดคมๆ มาคว้านท้องให้ทนทุกข์ทรมาน กระผมจึงทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เหมือนตัวเองกำลังเข้าไปสู่ความตายทุกขณะ ท่านผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนถูกย่างในหลุมถ่านเพลิง กระผมจึงรุ่มร้อน ทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบอยู่ตลอดเวลา คงจะมีชีวิตสืบต่อไปอีกไม่นาน”
พระเถระได้ให้กำลังใจท่านว่า “ดูก่อนคฤหบดี ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ความตายต้องย่างกรายเข้ามาหาเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ขอให้ท่านพึงพิจารณาว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสตจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหาจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกายจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโนจักไม่มีแก่เรา ดูก่อนคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด”
ท่านเศรษฐีค่อยๆ ปล่อยใจไปตามเสียงของพระเถระ ทำตามคำแนะนำที่ท่านบอกไปเรื่อยๆ พยายามแยกกายกับใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางให้ได้ตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องทุกขเวทนา พระเถระเห็นว่าท่านเศรษฐีตั้งใจที่จะข่มทุกขเวทนาด้วยการฟังธรรม จึงได้แสดงธรรมให้ท่านเศรษฐีปล่อยวางในขันธ์ ๕ ว่า “ดูก่อนคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าเราจักไม่ยึดมั่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ กระทั่งวิญญาณที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่เรา”
พระเถระได้สอนธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านสอนให้พิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่ธาตุ และไม่ให้ยึดมั่นในธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ให้ปล่อยวางในอรูปทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานัญจายตนะ ให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในโลกนี้โลกหน้า ให้ใจดวงนี้อยู่กับปัจจุบันธรรมอย่างเดียว อารมณ์ใดที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว อย่าได้ไปยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น
ขณะที่พระสารีบุตรกล่าวสอนธรรมอยู่นั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเกิดความปลื้มปีติถึงกับน้ำตาเย็นได้หลั่งออกมา พระอานนท์จึงถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านยังอาลัยในสังขารร่างกายนี้อยู่หรือ” ท่านเศรษฐีบอกว่า “ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัยในสังขารนี้เลย แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระบรมศาสดา และหมู่ภิกษุสงฆ์มานาน ไม่เคยได้สดับธรรมิกถาที่ละเอียดลึกซึ้งถึงปานนี้เลย พระเถระช่างมีความกรุณา มีความเมตตามาให้ธรรมะกระผมก่อนจะหลับตาลาโลก ช่างเป็นบุญลาภของกระผมจริงหนอ”
พระสารีบุตรและพระอานนท์ เมื่อกล่าวสอนธรรมะเสร็จแล้ว ก็ถือโอกาสลากลับวัดพระเชตวัน เมื่อพระเถระทั้งสองรูปคล้อยหลังไปได้ไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ได้ทำกาลกิริยาไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรที่มีวิมานสว่างไสว แวดล้อมด้วยเทพบริวารมากมาย
คืนนั้นเองเมืองล่วงปฐมยามแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตร ผู้มีรัศมีอันเรืองรอง ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตรว่า “พระเชตวันนี้ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พำนักอยู่ พระธรรมราชา (หมายถึงพระพุทธเจ้า) ก็ประทับอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสิ่งซึ่งเพิ่มพูนปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยการงาน ความรู้ คุณธรรม ศีล และชีวิตที่อุดม หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงฟังธรรมโดยแยบคายจึงจะบริสุทธิ์ในธรรม พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา มีศีล มีธรรมเป็นเครื่องระงับ ในบรรดาภิกษุผู้บรรลุถึงฝั่ง (ถึงจุดหมายสูงสุด) ก็มีพระสารีบุตรนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุด” กล่าวดังนี้แล้ว เทพบุตรก็อันตรธานหายไป
รุ่งเช้าขึ้น พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่ามีเทพบุตรองค์หนึ่งมากล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตร แล้วทรงเล่าโศลกให้ภิกษุสงฆ์ฟัง พระอานนท์กราบทูลว่า เทพบุตรองค์นี้คงจะเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นแน่ เพราะท่านเคารพเลื่อมใสในพระสารีบุตรเหลือเกิน ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากพระพุทธองค์
ชีวิตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นชีวิตของชาวพุทธ (คฤหัสถ์) ตัวอย่าง เรียกว่าเป็น “อุบาสกรัตนะ” (อุบาสกแก้ว) เพราะมีคุณสมบัติล้ำเลิศ ๕ ประการ คือ ๑. มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ๒. มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์
๓. เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว
๔. ไม่แสวงหาทักษิณานอกพระพุทธศาสนา (คือไม่ทำบุญนอกหลักการของพระพุทธศาสนา) ๕. อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
น่าคิดว่า ท่านเป็นนักธุรกิจ แต่ท่านเชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่ประกอบด้วยธรรม ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยมั่นคงในธรรม ท่านก็เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤต แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยความมั่นคงในธรรมเสมอต้นเสมอปลาย ชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นตัวอย่างที่พวกเราควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ท่านได้สั่งสมบุญบนโลกนี้คุ้มเกินคุ้ม ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านจึงได้ถูกจารึกไว้เป็นตำนานเล่าขานมานานกว่า ๒,๕๐๐ ปี ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐากฝ่ายอุบาสก เมื่อถึงคราวหลับตาลาโลก แม้สังขารร่างกายจะถูกโรครุมเร้า ต้องได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยธรรมโอสถ
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว รู้แจ้งเห็นจริง รู้ในสามแดนโลกธาตุ มนุษย์เราจะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ เพราะเราทุกคนหลงงมงาย หลงในร่างกายของตัวเอง หลงในรูปของตัวเอง หลงในเวทนาของตัวเอง ทุกคนมีความหลงงมงาย หลงในตัวตนยังไม่พอ ยังไปหลงในไสยศาสตร์ภายนอกอีก คนเราเมื่อหลงแล้วก็ต้องมีความอยาก ความต้องการ เขาเรียกว่า เมื่อหลง ก็ต้องหลงในความอร่อย หลงในโลก หลงในเหยื่อของโลก คนเรามันเจ็บปวดนะ หลงว่าเราเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง พระพุทธเจ้าถึงตรัสเรื่องอริยสัจ ๔ ให้พิจารณาร่างกายแยกออกมาเป็นชิ้น พิจารณาพระไตรลักษณ์ในชีวิตประจำวัน คนเรา มันหลง เราต้องมาประพฤติปฏิบัติ พิจารณาแยกชิ้นส่วนของร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาเวทนาสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสัญญา สังขาร วิญญาณสู่พระไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรอก มันเป็นกรรมเวรเก่าที่เรามีความหลง ประกอบกันเป็นพลังงานมีการเวียนว่ายตายเกิด
ทุกคนมันน่าสมเพช เวทนา อวิชชา ความหลงนี้มันเอาเราเป็นลูกน้อง บริวาร เมื่อมันหลง มันมืด เราก็ต้องเข้าสู่เหตุ เข้าสู่ปัจจัย เพราะปัจจุบันมันจะเลื่อนไปเอง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี เราจะได้สร้างคุณธรรม สร้างอริยทรัพย์ เราจะได้รู้ความดับทุกข์ที่แท้จริง มันไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่กายที่ใจของเราในชีวิตประจำวัน ตัวเองหลงยังไม่พอ พาลูก พาหลาน ทุกข์ยากลำบาก เวียนว่ายตายเกิด ต้องมีภาระมากมาย เราทำไปปฏิบัติไปมันจะเลื่อนไปเอง เพราะมันเป็นอริยมรรค เราจะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาแท้ๆ ไม่ใช่เหมือนที่เรารู้เราเห็นในปัจจุบัน หรือ ในอดีตที่ผ่านมาที่เราได้เกี่ยวข้อง เพราะมรรคผล นิพพาน ยังไม่หมดสมัย ยังไม่ล้าสมัย มันเป็นปัจจุบันธรรม ที่คำนวณแล้วว่า ประชากรของโลกมีเท่านั้น เท่านี้ ถ้าคำนวณไปแล้วมันแทบจะมองไม่เห็น เพราะเราทำตามอวิชชา ตามความหลง ต้องกลับมาหาเรา ไม่ต้องไปแก้ที่ใคร แก้ที่เรานี้แหละ เราทุกคนต้องพากันมาแก้ที่ตัวเอง เราจะได้มีศีลเสมอกัน มีสมาธิ ความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน เราจะได้จบด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ส่วนใหญ่น่ะเราไม่รู้จักการประพฤติการปฏิบัติ เราเลยไม่ทันกาล ไม่ทันเวลา เพราะเรามันไม่รู้ความหมายในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเอาทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา คือมีสติสัมปชัญญะ เอาทั้งตัวปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่ เป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราจัดการกับตัวเองไม่ได้ในปัจจุบัน ถือว่าเราไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เราจะไม่เข้าถึงสภาวะธรรม เราเข้าถึงแต่สภาวะที่มันเป็นอวิชชา เพราะของอร่อย รูปมันก็อร่อย เสียงมันก็อร่อย รสมันก็อร่อย โผฏฐัพพะมันก็อร่อย เราก็เลยติดในความอร่อย เราไม่ยอมพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เพราะความกำหนัดยินดีความย้อมใจ มันมีปัญหา มีอิทธิพลต่อเรา
เราก็ขอโอกาสของตัวเองไปเรื่อย ไม่จัดการกับสิ่งที่ควรจัดการ ถึงแม้เราจะพากันไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ อันนั้นมันเป็นการฝึกซ้อมเฉยๆ แต่ตัวจริงมันอยู่ที่ปัจจุบันนะ ปัจจุบันนี้ต้องจัดการ ยังไม่พอ เราต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ แยกชิ้น แยกส่วน แยกรูป แยกนาม เพื่อสติสัมปชัญญะของเราจะได้เข้มแข็ง เราอย่าไปใจอ่อน เราก็เห็นภัยเห็นโทษในวัฏฏะสงสาร ถึงจะสวยที่สุดก็ต้องจากไป ถึงจะสะดวกสบายที่สุดก็ต้องจากไป เราต้องใจเข้มแข็ง สัมมาสมาธิ เราต้องตั้งมั่น นักปฏิบัติก็ถึงเป็นการยืดเยื้อ เพราะว่าเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติตัวเอง
คนเรานั้นมันต้องมาแก้ที่ใจตัวเอง แก้ที่การกระทำของตัวเอง แก้ที่คำพูดของตัวเอง เราเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศักยภาพ ก็ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้มากๆ ให้เป็นพิเศษ ปฏิบัติความดีให้มันต่อเนื่อง เราปล่อยปละละเลยตัวเองมาตั้งหลายปี จะให้มันแก้ไขได้ทันทีนั้น มันเป็นไปไม่ได้! มันต้องอาศัยการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน
พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเรา ให้เรานั่งอยู่เราก็รู้ ให้เราเดินอยู่เราก็รู้ ให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว "เอาใจของเราอยู่เพื่อฝึกสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์" ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ไหน เดินบิณฑบาต นั่งฉัน ก็ให้เรารู้ตัวเอง แล้วก็ให้รู้ใจตัวเอง ตัวเองคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว คิดผิด หรือคิดถูก เราจะได้แก้ไขความคิดของเรา แก้ไขอารมณ์ของเรา
เราต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ฝึกปล่อย ฝึกวาง ละตัวละตน เรามีตัวตนมากเท่าไรก็ให้รู้จัก "คนที่เขาเป็นบ้าก็ดี เป็นโรคประสาทก็ดี ส่วนใหญ่เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า เป็นประสาท เขาถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองฉลาดมีเหตุมีผล.."
"การที่เราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทุกๆ คน ก็ต่างมาทำความดีร่วมกัน" พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้เราไปมองดูคนอื่น เขาจะดี เขาจะชั่วอะไร... เดี๋ยวเราจะไปรับเอาสิ่งที่เขาไม่ดีมาใส่ใจเรา ให้เราพยายามเอาธรรมะมาใส่ใจของเรา เอาใจพระพุทธเจ้ามาใส่ใจของเรา
ถ้าเรารับประทานอาหาร ถ้าเราฉันข้าวในแต่ละวันนี้เพื่อความสุขในร่างกาย เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อการพักผ่อน ก็ถือว่าเราไม่ได้พัฒนาตนเอง ไม่ได้เอาใจใส่ตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราจะมีสงครามในจิตในใจ เราจะอยู่ด้วยการขัดแย้ง อยู่ด้วยการต่อต้าน ไม่ได้กลับมาแก้จิตแก้ใจของเรา ไม่รู้จักว่า "โลกนี้เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เรายังไม่เกิด" ให้เรารู้จักหยุด ให้รู้จักเย็น รู้จักฟังคนอื่นเค้าบ้าง เราจะเอาหัวชนฝาอย่างเดียว มันก็ตายเปล่า มันไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราถึงเวลาปล่อยวาง ก็ปล่อยวาง ถึงเวลาทำก็ทำ ถึงเวลาหยุดก็หยุด เป็นคนมีระเบียบวินัย ตื่นขึ้นก็กราบพระไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย แผ่เมตตา ตั้งใจทำงานให้มีความสุขสิ่งไหนไม่ดี เราอย่าไปคิด มันเป็นไปไม่ได้ก็อย่าไปคิด ให้เราเบรกตัวเองไว้ หยุดตัวเองไว้
"ฐานที่สำคัญของเรา ก็คือความคิดนี่แหละ..." ฝึกพัฒนาความคิด' อย่าเป็นคนวุ่นวายกับความคิดมาก เพราะคนมันยังไม่ตายก็ต้องคิดโน่นคิดนี่ ยิ่งเราเป็นคนฉลาดมากปัญญามาก ก็ยิ่งคิดเยอะ ให้เรารู้จักความคิด เราอย่าไปวุ่นวายกับความคิด รู้มาก ฉลาดมาก เป็นคนเก่ง เราต้องเอาสมาธิเข้ามาช่วยให้อยู่กับการหายใจเข้าสบายบ้าง ออกสบายบ้าง
คนเรามันฉลาดมันคิดไม่หยุด ให้เรามีความสงบกับความคิดสลับกันไป เพื่อให้ 'สมาธิ' กับ 'ปัญญา' กลมกลืนเป็นธรรมชาติ เพื่อจิตใจของเราจะได้เกิดความสงบ ความร่มเย็น
คนเราต้องเสียสละ ใจดี ใจสบาย ตื่นขึ้นถึงนอนหลับ อย่างนี้ คือการทำความดี พระพุทธเจ้าทรงบรรทมคืนหนึ่งแค่ ๔ ชั่วโมง ท่านมีความสุขในการทำงานเสียสละเพื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายวันละ ๒๐ ชั่วโมง พระพุทธองค์จึงทรงมีความสุขที่สุดในโลก
การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม เป็นการสร้างบารมี "การสร้างบารมีนี้ มันต้องทวนกระแส" พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ธรรม ได้รับถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พระองค์เอาถาดทองคำมาอธิษฐานจิตว่า "ถ้าข้าพเจ้าจะได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดทองคำไหลทวนน้ำทวนกระแส" ถาดทองคำก็ไหลทวนน้ำทวนกระแสไป จากนั้นท่านได้รับถวายหญ้าคา จากนายโสตถิยะ ๘ กำ ท่านก็มานั่งสมาธิขัดบัลลังก์บนหญ้าคา ๘ กำนั้นทรงอธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อของข้าพเจ้าจะเหือดแห้งไปก็ตามที่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมลุกจากอาสนะที่นั่ง"
พระองค์ท่านเข้าสมาธิ พญามาร เสนามารมากันเป็น กองทัพสนั่นหวั่นไหว พระพุทธองค์ท่านก็ไม่ได้สะทกสะท้าน สุดท้ายพญามารต่างๆ ก็พ่ายแพ้ไป สุดท้ายก็ได้บรรลุพระส้มมาสัมโพธิญาณ เป็นที่เคารพที่สักการะของเหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
การตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ของตัวเองนี้ คือการก่อภพ ก่อชาติ พระพุทธเจ้าท่านจึงเมตตาให้เรากลับมาเมตตาตนเองด้วยการ 'เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้มีศีล' เพราะที่พึ่งอื่นนั้นมันพึ่งได้ ชั่วคราว ไม่เหมือนการพึ่งพระรัตนตรัย ที่จะสามารถนำเราสู่สวรรค์ มรรคผล และพระนิพพาน
เรามีโอกาส มีเวลา พระพุทธเจ้าท่านให้เราสร้างบารมี สังคมก็ให้โอกาสเราสร้างบารมี มันเป็นความโชคดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐของเรา เรามีวัด มีสถานที่ มีปัจจัย ๔ ให้เราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความโชคดีของเรามากๆ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee