แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓๗ จะเป็นอธิปไตยในแบบไหน ก็ต้องใช้ธรรมะกำกับด้วยเสมอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ หนทางที่เราจะไปนั้น ก็ต้องประพฤติปฏิบัตินั้น ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต ทุกคนไม่มีใครยกเว้น ไม่มีสิทธิพิเศษที่จะตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก พวกเราทั้งหลายมันเสียหายมานับเป็นล้านๆ ชาติ ทุกท่านทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะได้เป็นกฤแห่งกรรม เป็นกิจกรรม เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ถึงแม้ที่พากันทำมาเป็นประชาธิปไตยทั้งโลกนี้ก็ถือว่ามันผิด ต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ไม่สมมควรที่จะปล่อยให้ตัวเอง ยากจน และก็ตกไปสู่อบายมุข ไปสู่อบายภูมิ ไม่สมควรที่จะปล่อยให้ตัวเองต้องเวียนว่ายตายเกิด
ทุกคนอย่าถือว่ามันเป็นเรื่องปกติ อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกตินะ เป็นเรื่องเสียหาย ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ปรับประชาธิปไตย ปรับที่เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เรียกว่าหยุด เราทุกคนต้องหยุดมีเซ็ก หยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางจิต ทางใจ ที่เราปล่อยไปตามสัญชาตญาณ ไม่ได้ ต้องถือว่าจะใช้คำว่าเสียสละ หรือว่าจะใช้คำว่าหยุดก็ได้นะ เราทุกคนจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จะได้เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ที่สมบูรณ์
ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะปล่อยไปตามความไม่ถูกต้อง จะมาหลงขยะไม่ได้ มันลามปามไปเรื่อย เมื่อหลาย 10 ปีก่อน การเลือกผู้ใหญ่บ้าน เลือกกำนันอะไรอย่างนี้ เค้าก็เลือกเอาแต่คนดี ใครเป็นคนดี ก็เอาคนนั้น ไม่มีการเลือกอะไร ทุกวันนี้แย่เลย เอาประชาธิปไตย เอาตัวตนเป็นหลัก เอาพรรคเอาพวกเป็นหลัก ทุกคนต้องปรับตัวตนใหม่ เพราะว่าทุกคนนั้นนะไม่ใช่ใคร ก็ญาติพี่น้องที่เวียนว่ายตายเกิดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าเราเป็นไทย เป็นลาว เป็นเขมร เป็นพม่า หรือว่าเป็นจีน เป็นประเทศทางฝรั่ง ก็ล้วนแต่เป็นญาติกันทั้งนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
ทุกคนก็ต้องเอาธรรมเป็นหลัก โดยกิจกรรมนั้นคือศีล เราตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง เค้าเรียกว่าคอรัปชั่น บ้านเราเมืองเราพากันซื้อเสียง ซื้อคะแนน ผู้ใหญ่บ้านเสียหลายร้อย หลายพันบาท บางทีสู้กันมาก คะแนนละเป็นหมื่นก็มี ทุกคนต้องเอาธรรมเป็นหลัก ระบบอะไรต่างๆ ทุกคนต้องเอาความถูกต้อง ไม่ควรไปเอาเงิน เอาสตางค์กับพวกที่มีความเห็นแก่ตัว พวกระบบเลือกตั้งก็ดี ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ มันไปไม่ได้หรอก ระบบคอมมิวนิสต์ก็ไปไม่ได้ ระบบประชาธิปไตยก็ไม่ได้ถ้าไม่เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ มันไม่ใช่เป็นศาสนาได้อะไรได้ มันเป็นนิติบุคคล มันมีผลประโยชน์ เพราะเราประชาชนทุกท่านทุกคน เรานี้้เจ็บปวดมานานแล้วนะ มันต้องแก้ไขตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองเจ็บปวดไปมากกว่านี้ เราต้องพากันคิดดูดีๆ อันไหนมันผิดมันถูก
ไปเอาแต่วัตถุเป็นใหญ่ เอาตัวตนเป็นใหญ่ สามีภรรยามันก็ต้องทะเลาะกัน ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลมันก็ทะเลาะกัน เพราะว่าเราไม่เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราเกิดมาเพื่อโง่ไม่ได้ ต้องเกิดมาเพื่อฉลาด เพื่อมีปัญญา ทุกคนน่ะต้องหยุดมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ ใจของเรามันประเสริฐต้องคิดในสิ่งที่ดีๆ ต้องเบรคตัวเอง ต้องหยุดตัวเอง ถ้างั้นไม่ได้ เห็นแก่ตัวเกิน อย่างนี้ก็ต้องนอนไม่หลับ ก็ต้องทะเลาะกับพี่น้อง
ต้องรู้จักว่าอันนี้มันเป็นอบายมุข เป็นอบายภูมิ พวกเหล้า พวกเบียร์ พวกบ่อนคาสิโน เราอย่าไปคิดว่าประเทศไทยเรานี้น่าจะมีบ่อนคาสิโน รายได้ดีเลย เก็บภาษี เก็บอะไร อย่าไปคิดอย่างนั้น อย่าเอาผลประโยชน์แบบไม่ถูกต้อง หรือว่าแบบที่จิตใจเศร้าหมอง จิตใจสกปรก ลูกหลานเราจะเป็นอย่างไง
การที่เราจะพัฒนาเข้าถึงยุคธรรมะ เราต้องพัฒนาให้หมู่มวลมนุษย์เรานี้ พัฒนาใจคู่กับวัตถุอะไรอย่างนี้ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ประชาชนก็ทำได้ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงอนาคามี พระนี้ก็ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ
อันตรายอย่างยิ่งก็คือพวกโทรศัพท์มือถือ เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่าไปใช้ในทางบันเทิง ทางกาม ใช้เพื่อหวังความรู้ คนเราต้องมีสัมมาสมาธิ จิตใจเข้มแข็ง ถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้ ผู้หญิงก็มีสามีทั้งวัน คำว่ามีสามีก็ไม่ได้หมายถึงเพศสัมพันธุ์ทางกายอย่างเดียว มันยินดี ยินร้าย ชอบ ไม่ชอบ ที่มันมาจากโทรศัพท์ หรือว่ามาจากสิ่งภายนอกต่างๆ มันจะเป็นมีเซ็ก มีเพศสัมพันธุ์ทั้งนั้น มันก็จะมีใครได้บรรลุธรรม เพราะมันทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง พวกมาบวช พวกแม่ขาว แม่ชี หรือว่าพวกพระภิกษุสามเณร มันก็เซ็ก มีเพศสัมพันธุ์ เค้าเรียกว่าไม้มันแช่ด้วยน้ำ มันจะไปสีไฟติดกันได้อย่างไร โบราณเค้าเอาไม้ไผ่แห้งๆ มาสีกัน มันต้องไม้ไผ่แห้ง เรานี้มองข้ามความถูกต้องไป ต้องเน้นที่จิตที่ใจ มันง่ายทุกคนก็ไม่ได้ไปแก้คนอื่น มันแก้ที่ตัวเอง ถ้าเราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ เป็นเพียงลิเก เป็นเพียงละคร เป็นเพียงแต่คนเฉยๆ มันไม่ได้ เป็นคนหลงเฉยๆ ใครเค้าจะยอมรับได้
ในอดีตกาลในเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า สังยมะ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหงส์ทอง คือหงส์ที่มีขนสีทอง มีหมู่หงส์บริวารเป็นอันมาก อาศัยอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ นามของพระยาหงส์โพธิสัตว์มีชื่อว่า ธตรัฏฐ เมื่อจะเรียกในฐานะเป็นหัวหน้าฝูงหงส์ ก็เรียกว่า พระยาหงส์ธตรัฏฐ และได้มีหงส์ทองอีกหนึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ หรือ สุมุข
ในครั้งนั้นพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่มีพระนามว่า เขมา ได้ทรงพระสุบินคือฝันว่ามีพระยาหงส์ทอง ๒ ตัวมาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์แสดงธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะ พระเทวีประทานสาธุการ สดับธรรมกถายังมิทันอิ่มเอิบในการสดับธรรม ราตรีก็สว่าง พระยาหงส์ทั้ง ๒ จึงพากันออกไปทางช่องพระแกล พระนางก็รับสั่งห้ามว่า อย่าเพิ่งไป และตรัสแก่นางพระกำนัลทั้งหลายให้ช่วยกันจับ เมื่อตื่นพระบรรทม และนางกำนัลได้ยินรับสั่งก็พากันแย้มสรวลว่าหงส์ที่ไหนกัน พระนางจึงทรงทราบว่าทรงพระสุบินไป แต่แม้เช่นนั้นก็ทรงดำริว่า พระยาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจะมีอยู่ในโลกนี้ จึงได้ทูลพระราชาพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทรงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ครรภ์ ต้องการที่จะได้เห็นหงส์ทอง ได้ฟังหงส์ทองแสดงธรรม
พระราชาจึงได้ตรัสให้สืบว่ามีหมู่หงส์อาศัยอยู่ที่ไหนพวกพราหมณ์ก็ไม่ทราบ แต่ก็ทูลว่าพวกพรานคงจะทราบ จึงได้โปรดให้เรียกพวกพรานป่ามาตรัสถาม พรานคนหนึ่งก็กราบทูลว่า ได้ทราบต่อๆ กันมาว่า หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในประเทศหิมวันต์ พระราชาก็ตรัสถามว่า จะพอรู้อุบายที่จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือไม่ พวกพรานก็ทราบทูลว่าไม่ทราบ จึงได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์บัณฑิต พราหมณ์บัณฑิตก็กราบทูลว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับที่เขาจิตตกูฏ ขอให้ทรงขุดสระใหญ่ทางทิศเหนือแต่พระนคร ให้เต็มด้วยน้ำ ปลูกธัญชาติต่างๆ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่งอยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ และให้ประกาศเป็นเขตให้อภัยแก่สกุณชาติต่างๆ ที่จะมาหากินที่สระนั้น พระราชาก็ได้ตรัสให้ปฏิบัติตามที่บัณฑิตนั้นได้กราบทูลแนะ ก็ได้ตรัสให้นายพรานผู้ฉลาดผู้หนึ่งมามอบให้เป็นผู้ที่รักษาสระ นายพรานนั้นเรียกตามภาษาบาลีว่า เนสาท หรือเนสาทะ เขาชื่อ เขมกะ ก็เป็นผู้รักษาสระเขมะนั้นมา
สกุณชาติทั้งหลายก็พากันลงสู่สระนั้น และก็ชักชวนกันต่อๆ ไปว่าเป็นสระที่ไม่มีภัย ก็ทราบไปจนถึงหมู่หงส์ หมู่หงส์ก็พากันมาหากินในสระนั้น จนถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐกับเสนาบดีที่ชื่อว่าสุมุขะ ทั้ง ๒ ซึ่งเป็นหงส์ทองด้วยกันก็มาหากินที่สระนั้นด้วย และเมื่อพรานผู้รักษาสระได้เห็นหงส์ทองลงมา ก็ได้เฝ้าดูอยู่ถึง ๖ - ๗ วันว่ามาจับที่ไหน และเมื่อสังเกตที่ได้แน่นอนแล้ว ก็วางบ่วงดักไว้ใต้น้ำ พระยาหงส์ทองนั้นมาก็ลงไปในน้ำตรงบ่วงนั้น ก็ติดบ่วงของนายพราน พระยาหงส์ทองพยายามที่จะสลัดบ่วงให้หลุด แต่บ่วงนั้นก็กัดขาผ่านหนัง เส้นเอ็นจนถึงกระดูก ก็ไม่หลุด พระโพธิสัตว์จึงได้หยุดเพราะเกรงว่าขาจะขาด ส่วนเสนาบดีหงส์ที่เป็นหงส์ทองด้วยกันที่ชื่อว่า สุมุขะเมื่อเห็นเจ้านายของตนติดบ่วงจึงได้เข้าไปหา ส่วนฝูงหงส์ที่เป็นบริวารก็พากันบินหนีไปทั้งหมด เมื่อเข้าไปถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐก็ถามว่า ทำไมจึงไม่หนีไป ขอให้รีบหนีไปเสีย หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ตอบว่าไม่ไป จะอยู่ช่วย พระยาหงส์ก็บอกให้หนีไปหลายหน หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ไม่ยอมหนีไป บอกว่าจะอยู่ช่วย ฝ่ายนายพรานที่มองเห็นโดยตลอดเพราะได้ดักดูอยู่ ซ่อนดูอยู่ จึงเดินเข้าไป ครั้นเห็นหงส์เสนาบดีซึ่งไม่ติดบ่วงยืนอยู่ด้วย ก็แปลกใจว่าทำไมจึงไม่หนีไป หงส์เสนาบดีก็กล่าวว่า เพราะเจ้านายของตนติดบ่วง ตนจะขอตายแทน ขอให้จับเอาตัวหงส์เสนาบดีคือตัวเขาไปแล้วปล่อยเจ้านายเขาไป ฝ่ายนายพรานก็ใจอ่อน ก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะปล่อยไปทั้ง ๒ ฝ่ายพระยาหงส์กับหงส์เสนาบดีนั้นก็ตอบว่า ถ้าหากว่านายพรานนี้ดักหงส์และนกทั้งหลายเพื่อประโยชน์ของตน ก็จะขอรับทักษิณาอภัยคือการปล่อยนกทำบุญ แต่ว่าถ้าหากว่าท่านมาดักหงส์ด้วยมีคำสั่งมาจากผู้อื่น ไม่ใช่ของตนเอง ท่านก็ไม่มีอิสระที่จะปล่อยเราทั้ง ๒ เสีย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้นำเราทั้ง ๒ ไป แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่กรง ให้เราทั้ง ๒ นี้จับไปที่กระเช้า ๒ ข้างที่เป็นคานให้ท่านหาบไป นายพรานนั้นก็หาบกระเช้าที่หงส์จับ ๒ ข้าง นำหงส์ไปถวายพระราชา ฝ่ายพระราชาเมื่อได้เห็นหงส์ก็มีความดีใจ และก็บอกว่าให้พักอยู่ระยะหนึ่งก็จะปล่อยไป และให้พระยาหงส์จับอยู่ในที่อันสมควร และก็ได้พระราชทานอาหารเป็นต้น
ฝ่ายพระยาหงส์นั้นก็ได้ทูลแก่พระราชาเป็นการปฏิสันถารว่า พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีโรคาพยาธิ มีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า โทษอะไรๆ ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์ละหรือ และอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีอาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ประกอบด้วยพระโอรสพระรูปพระโฉมพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์ละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแก่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมละหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่พิโรธ คือความกระทำไม่ให้ผิด แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา ดั่งนี้ เมื่อพระราชาได้ตรัสตอบดั่งนี้แล้ว พระยาหงส์ก็ถวายอนุโมทนาแก่พระราชา และก็ได้พระราชทานทรัพย์แก่นายพราน ทรงให้พระยาหงส์กับเสนาบดีพระยาหงส์พักอยู่ ทรงพระราชทานเลี้ยงดูให้มีความสุข แล้วก็ทรงปล่อยพระยาหงส์และหงส์เสนาบดีนั้นให้กลับไปสู่ภูเขาจิตตกูฎ
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตร ย่อมให้สำเร็จความสุขความเจริญ เหมือนพญาหงส์ธตรฐและสุมุขหงส์ สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตร เกิดประโยชน์ให้สำเร็จความสุขความเจริญ กลับมายังหมู่ญาติ ฉะนั้น.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประมวลชาดกว่า นายพรานในกาลนั้น ได้มาเป็นภิกษุชื่อว่า ฉันนะ ในกาลนี้, พระนางเขมาเทวี ได้มาเป็นภิกษุณีชื่อว่า เขมา, พระราชา ได้มาเป็น สารีบุตร, สุมุขหงส์เสนาบดี ได้มาเป็นภิกษุชื่อว่า อานนท์, บริษัทนอกนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท, ส่วนพญาหงส์ธตรัฐ ได้มาเป็น เราตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม ๑๐ คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
๑. ทาน หมายถึง หมายถึงการแบ่งปันให้ทรัพย์สิ่งของ เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ ผู้อื่นด้วยจิตเมตตา ปรารถนาที่จะให้ผู้รับอยู่ดีมีสุข และปรารถนาที่จะให้ผู้ประสบความทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์ นับว่ามีความสำคัญสำหรับผู้ปกครองเป็นอันดับแรก เพราะในฐานะที่เป็น ผู้นำหรือผู้ปกครองนั้นหากมองในแง่ของคุณธรรม ก็ควรจะเป็นผู้เอื้ออารีต่อคนในปกครอง รู้จัก เอื้อเฟื้อแบ่งปัน สงเคราะห์ช่วยเหลือคนในปกครองของตนตามควรแก่โอกาสและเหตุการณ์ หาก มองในแง่ของหน้าที่ผู้ปกครองก็มีหน้าที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขคนในปกครองของตน ด้วยการ ให้วัตถุสิ่งของบ้าง ด้วยการให้วิชาความรู้บ้าง ด้วยการให้สิ่งที่ต้องการอื่นๆ ตลอดถึงให้การอบรม แนะนำบ้าง เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้เป็นเครื่องยังชีพและสร้างสรรค์ชีวิตให้มีความผาสุกตามควรแก่ อัตภาพ สิ่งเหล่านี้ก็รวมอยู่ในคุณธรรมข้อที่เรียกว่า ทาน การให้นั่นเอง
๒. ศีล หมายถึง หมายถึง การสำรวมระวังกายและวาจาให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ กล่าวคือ เจตนา งดเว้นจากความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเสียหาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ศีล นั้นคู่กับ ธรรม ศีลเป็นข้อห้าม นั้นก็หมายความว่า ผู้ปกครองจะต้องประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม มั่นคงหนักแน่นอยู่ในระเบียบวินัย กฎหมายและขนบประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง วางตนให้เป็นหลักเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้ในฐานะที่เป็นหลักเป็น ประธานของหมู่คณะหรือประเทศชาติส่วนประชาชนก็จะต้องประพฤติเช่นเดียวกัน เพราะถ้าผู้นำทำดีอยู่คนเดียว แต่ประชาชนไม่เอาด้วย สังคมก็จะสงบเรียบร้อยไม่ได้ หรือถ้าประชาชนพยายามทำดี แต่ผู้นำไม่เอาด้วย ประชาชนก็เดือดร้อน ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงต่างต้องมีศีลต่อกัน สังคมจึงจะสงบสุข
๓. บริจาค หมายถึง ความเสียสละ คือกิริยาอันเป็นไปด้วยกุศลเจตนา ประกอบด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนส่วนรวม หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นไปเพื่อบรรเทากิเลส คือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว แก่พวกพ้องของตน โดยหน้าที่แล้วผู้ปกครองย่อมต้องเป็นคนเสียสละ หากไม่มีคุณธรรมข้อนี้ก็เป็นผู้ปกครองที่ดีไม่ได้ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เพราะจะกลายเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อกอบโกยประโยชน์สุขส่วนตนฝ่ายเดียว กล่าวสั้นๆ ผู้ปกครองของตนหรือเพื่อประเทศชาติของตน ส่วนประชาชนก็จะต้องเสียสละเพื่อสนองนโยบายที่เป็นธรรมหรือความปรารถนาดีของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อถึงคราวอดก็อดด้วยกัน เมื่อถึงคราวควรออมก็ออมด้วยกัน การแก้ปัญหาของหมู่คณะหรือชาติบ้านเมืองจะเป็นไปได้ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งกำลังประสบปัญหา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับแสวงหาแต่ความสุขใส่ตัวเอง โดยไม่อาทรห่วงใยต่อใคร หมู่คณะหรือชาติบ้านเมือง ก็คงไปไม่รอดแน่ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องเสียสละตามควรแก่ฐานะและความรับผิดชอบ
๔. อาชวะ หมายถึง ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม คุณธรรมข้อนี้เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือกิจการทุกอย่างหากผู้ที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในฐานะผู้นำหรือผู้ตาม ต่างไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ซื่อตรงต่อเวลา ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ซื่อตรงต่อความถูกความควร ความสัมฤทธิ์ผลก็เป็นไปได้ยาก และจะถึงความล่มสลายในที่สุดแต่ถ้าทุกฝ่ายซื่อตรงต่อกัน ซื่อตรงต่อเวลาซื่อตรงต่อหน้าที่และซื่อตรงต่อความถูกความควร ก็หวังได้ว่า กิจการย่อมจะประสบความสำเร็จด้วยดี หากแม้นจะมีอุปสรรค ก็จะสามารถช่วยกันแก้ไขให้สำเร็จได้ไม่ยาก
๕. มัททวะ หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน คือความเป็นผู้มีอัธยาศัย ใจคอและมีกิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน งดงามตามฐานะ ตามเหตุผลที่ควรดำเนิน ไม่แข็งกระด้าง ดื้อดึง ด้วยความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน ความอ่อนโยน คุณธรรมข้อนี้มีความจำเป็นอย่างไรคงเห็นได้ ไม่ยาก คนที่เย่อหยิ่งจองหองหรือแข็งกระด้างหยาบคายนั้น ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป หากเป็นผู้ปกครองด้วยแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้คนในปกครองขาดความเคารพนับถือและเสื่อมศรัทธา และบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความหายนะอย่างร้ายแรงขึ้นก็ได้ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีย่อมจะสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคนและในทุกโอกาสด้วย ความจริงใจเสมอ ประชาชนก็จะให้ความเคารพรักและคารวะอ่อนน้อมเป็นการตอบแทนเช่นกัน โดยสรุปแล้วก็คือ ทุกคนควรมีความสุภาพอ่อนโยนต่อกันและกันตามควรแก่ฐานะ
๖. ตบะ หมายถึง การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หรือความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงานโดยปราศจากความเกียจคร้าน ลักษณะของผู้นำที่จะขาดเสียมิได้ ก็คือความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติหน้าที่ หรือในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยาก ต่างๆ จึงจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและยำเกรงขึ้นในประชาชนได้ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีพลังภายในคือ ตบะ ความเพียรพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ ในหน้าที่การงานนั่นเอง ตบะจึงเป็นที่มาแห่งอำนาจของผู้นำ ดังที่มักเรียกกันว่า “มีตบะเดชะ”ผู้นำ ที่ไร้ตบะไม่เป็นที่เชื่อมั่นยำเกรงของคนในปกครอง ฉะนั้น ตบะจึงเป็นคุณธรรมจำเป็นสำหรับ ผู้ปกครองผู้บริหาร และในเมื่อผู้ปกครองผู้บริหารมีความเพียรพยายามแล้ว ผู้อยู่ในปกครองหรือ ผู้ตามก็จะต้องสนองตอบด้วย คือจะต้องมีความเพียรพยายามไปตามฐานะและหน้าที่อย่างเต็ม ความสามารถด้วย
๗. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ คือกิริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดทั้งไม่ผูกพยาบาทอาฆาตผู้อื่น แม้จักต้องลงโทษทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิด ก็กระทำตามเหตุผลที่สมควรตามหลักกฎหมายและกระทำตามระเบียบวินัยที่ได้กำหนดไว้ดีแล้ว ไม่กระทำด้วยอำนาจความโกรธ ผูกพยาบาท และแม้มีเหตุให้โกรธ ก็สามารถข่มความโกรธเสียได้ด้วยขันติธรรม ก็หมายถึงว่า ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติต่อคนในปกครองของตนด้วยอำนาจบาตรใหญ่ หรือด้วย ความเกี้ยวกราดอย่างไร้เหตุผล เพราะจะทำให้กลายเป็นที่เกลียดกลัวและเกลียดชังของคนในปกครอง อันจะทำให้ขาดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่การงาน แต่ถ้าผู้ปกครองหรือผู้บริหารเป็นคนไม่วู่วามใช้อารมณ์ แต่เป็นคนเยือกเย็นมีเหตุผล และแสดงความเมตตาต่อทุกคนโดยเสมอหน้า ก็ย่อมจะเป็นที่รักที่พอใจของทุกคน
๘. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก คือ ความไม่ก่อความทุกข์ยากให้แก่บุคคลอื่น ตลอดทั้งสัตว์อื่นทั้งหลาย ได้แก่ ผู้ปกครองจะต้องไม่เป็น ผู้โหดร้ายทารุณประชาชน ไม่กระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชน ทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย หากผู้ปกครองโหดร้ายปราศจากกรุณาปราณีประชาชนก็จะมีแต่ความหวาดผวา หาความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงจะไม่มีใครคิดสร้างสรรค์อะไรให้สังคมหรือส่วนรวม เพราะแต่ละคนก็จะมัวแต่ระวังภัยอันอาจจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีจะต้องไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน แต่จะต้องพยายามสร้างความสุขกายเย็นให้แก่ทุกคนในปกครองของตนเท่าที่สามารถจะทำได้ส่วน ประชาชนก็จะต้องไม่หาเหตุสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองด้วย
๙. ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้น ภารกิจของผู้ปกครองนั้นเป็นสิ่งที่หนักยิ่ง ผู้ปกครองจึงจำต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นผลสำเร็จ คือจะต้องอดทนต่อความทุกข์ยากในการปฏิบัติหน้าที่ ทนเสียสละเพื่อประชาชน ทนต่อปัญหา และอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ของคนเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงทนต่อความรู้สึกและความต้องการ อันไม่ถูกไม่ควรของตนเอง ไม่ให้แสดงออกมาด้วย นั่นคือ จะต้องเป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบดำเนินไปด้วยดี แม้ประชาชนก็จะต้องมีความอดทนด้วยเช่นกัน เช่น ทนกระทำในสิ่งที่ดีงามควรกระทำ ทนลำบากได้ในเมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบาก ทนเสียสละได้เมื่อบ้านเมืองต้องการความเสียสละช่วยเหลือ หรือทนอดทนออมได้ เพื่อผลดีแก่ส่วนรวม เป็นต้น
๑๐. อวิโรธนะ หมายถึง ความปฏิบัติไม่ผิด ได้แก่ ปฏิบัติหรือกระทำการ ต่างๆ ไม่ผิดไปจากทำนองคลองธรรมของผู้ปกครองที่ดีแต่กระทำการต่างๆ ไปตามที่ถูกที่ควร โดยยึดถือคุณธรรมมีทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการบริหารหรือปกครองกล่าวสั้นๆ ก็คือ ปกครองโดย ธรรม ทางพระพุทธศาสนารวมเรียกว่า ธรรมมาธิปไตยถือธรรมคือความถูกต้องยุติธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัวหรืออำนาจบาตรใหญ่ หรืออารมณ์อันไร้เหตุผลมาเป็นหลักเป็นใหญ่ ในการบริหารหรือปกครอง แม้ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้ร่วมงานก็เช่นเดียวกัน จะต้องยึดถือธรรม คือ ความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกฝ่ายจะต้องยึดถือธรรม คือความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัว หรืออคติความลำเอียง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยตัดสินความเป็นธรรม ในสังคมจึงจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้
พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการ ปกครองและคุณธรรมของผู้ปกครองดังกล่าวมาแล้วเป็นเครื่องมือในการปกครอง สังคมโลกปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย ด้วยภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย หรือแม้แต่ภัยคือสงคราม เป็นต้น เพราะสังคมขาดธรรม แม้ธรรมาธิปไตย จะเป็นการปกครองที่เป็นอุดมคติ แต่เราผู้เป็นคนสร้างสังคมก็ควรบากบั่น ควรพยายาม ควรอดทน ทำให้สังคมมี “ ธรรม ” คุ้มครอง เพราะธรรมจะทำให้เรา ทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนอยู่กันอย่างสันติสุข ไม่มีระบบการปกครองอื่นใด จะประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee