แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในการดำเนินชีวิต ที่เรามีปัญหา คนอื่นมีปัญหา ก็เพราะว่ามีความเห็นไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันเลยมีปัญหา เราถึงได้พากันเป็นได้แต่เพียงคน เราดูตัวอย่างแบบอย่างประเทศที่พัฒนาตัวเองเข้าสู่วิทยาศาสตร์ เข้าสู่เหตุ สู่ผล แต่ทำเพื่อตัว เพื่อตน ไม่ได้สู่ธรรมะอย่างนี้มันเลยแก้ปัญหาไม่ได้ การดำรงชีวิตนี่ถือว่ายังไม่ถูกต้อง การดำเนินชีวิตของเรามันผิด โลกเราถึงไม่มีข้าราชการที่แท้จริง ไม่มีตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา หรือไม่มีขบวนการแห่งความดับทุกข์ได้ที่แท้จริง มันเลยมีปัญหา การพัฒนาตัวเราทุกๆ คน ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ
ความสุขความดับทุกข์ของเราอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ อยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบันนี้หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายต้องทำให้ถูกต้อง หยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ หยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางควมคิดทางอารมณ์อย่างนี้ หมู่มวลมนุษย์เราจะได้ดำเนินชีวิตทั้งหลายประกอบด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ทุกท่านทุกคนก็จะมีความสุขความดับทุกข์ได้ เราดูซิ เราจะตั้งรัฐบาลมาเท่าไหร่ เราจะทำอะไร มันแก้ปัญหาได้มั้ย แต่ก่อนทำตามใจตัวเอง คนเก่ง คนฉลาดก็เอาเปรียบคนอื่น ประเทศมหาอำนาจในโลกนี้ล่าอาณานิคมมาไม่รู้กี่รอบ กี่สมัย มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ การปกครองแบบประชาธิปไตยที่เอาคนส่วนมาเป็นหลักออกกฏหมายบ้านเมืองมันก็แก้ไม่ได้ เพราะว่ามันทำเพื่อตัว เพื่อตน พากันคิดสูตรใหม่มาใหม่ พากันไปเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อเอาตัวตนเป็นใหญ่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ พราะสองทางนี้เค้าเรียกว่าทางซ้าย ทางขวา มันไม่ได้พัฒนากาย ไม่ได้พัฒนาใจ ไม่ได้เป็นทางสายกลาง
ภิกษุทั้งหลาย อาธิปไตย (ความเป็นใหญ่) ๓ ประการนี้ คือ ๑. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) ๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) ๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่)
อัตตาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ การที่เราละกามเช่นใดแล้วจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราพึงแสวงหากามเช่นนั้น หรือกามที่เลวกว่านั้น นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำตนเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อัตตาธิปไตย
โลกาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้างย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็เราบวชแล้วอย่างนี้พึงคิดเรื่องกาม เรื่องปองร้าย เรื่องเบียดเบียน โลกสันนิวาส(การอยู่ร่วมกันของสัตว์โลก)นี้ใหญ่ ก็ในโลกสันนิวาสใหญ่มีสมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้นมองเห็นได้แม้จากที่ไกล แม้อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ รู้จิต (ของบุคคลอื่น)แม้ด้วยจิต (ของตน) สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธา เขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่ แม้เทวดาผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่นก็มีอยู่เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏจากที่ไกลบ้าง เข้ามาใกล้แล้วกลับมองไม่เห็นบ้าง ย่อมรู้จิตด้วยจิตบ้าง’ เทวดาแม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธาเขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำโลกเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โลกาธิปไตย
ธัมมาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เพื่อนพรหมจารีผู้รู้เห็นอยู่ มีอยู่ การที่เราบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้พึงเกียจคร้านประมาทอยู่นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นย่อมเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอยกธรรมเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธัมมาธิปไตย
ภิกษุทั้งหลาย อาธิปไตย ๓ ประการนี้แล
ชื่อว่าความลับของผู้ทำบาปย่อมไม่มีในโลก แน่ะบุรุษ ตัวท่านเองย่อมรู้ว่าจริงหรือเท็จ ท่านผู้เจริญ ท่านสามารถทำความดีได้ แต่กลับดูหมิ่นตัวเองเสีย และยังปกปิดความชั่วซึ่งมีอยู่ในตน ทวยเทพและตถาคตย่อมมองเห็นท่าน ผู้เป็นคนพาล ประพฤติไม่สม่ำเสมอในโลก
เพราะเหตุนั้นแล คนที่มีตนเป็นใหญ่ควรมีสติเที่ยวไป
คนที่มีโลกเป็นใหญ่ควรมีปัญญาและเพ่งพินิจ
ส่วนคนมีธรรมเป็นใหญ่ควรประพฤติตามธรรม
มุนีผู้มีความบากบั่นอย่างจริงจังย่อมไม่เสื่อม บุคคลใดมีความเพียร ข่มมาร ครอบงำมัจจุราชผู้กำหนดชะตากรรมเสียได้ สัมผัสธรรมเป็นที่สิ้นความเกิด บุคคลเช่นนั้นย่อมเป็นผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี เป็นมุนีหมดความทะยานอยากในธรรมทั้งปวง
อธิปไตย 3 และทางสายกลางแห่งอธิปไตย
อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ อันเป็นสิทธิ์หรืออำนาจในตัวบุคคลที่จะนำมาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งในลักษณะของการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง และผู้ปฎิบัติ อันจะทำให้สังคมเจริญ และเกิดความสงบสุข
อธิปไตยมีอยู่ในคนเราทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนได้รับหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม และความสงบสุขในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และได้มอบอธิปไตย
อรรถาธิบายอธิปไตย 3
1. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) อัตตาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว ซึ่งหมายความว่า บุคคลคนเดียวเป็นศูนย์รวมแห่ง อำนาจการปกครองบ้านเมืองทั้งหมด ในอำนาจ 3 ทาง 1) อำนาจบริหาร 2) อำนาจตุลาการ 3) และอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจ 3 ทางนี้ หากรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวกัน บุคคลอื่นเพียงเป็นผู้รับสิ่งหรือนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของอำนาจเท่านั้น จึงเรียกว่า ระบบกษัตริย์แบบสมบูรณาสิทธิราชย์ อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครอง หากเป็นระบบสาธารณรัฐ ประมุขหรือประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี จะเป็นศูนย์รวมอำนาจ ซึ่งมักจะเรียกระบบนี้ว่า เป็นระบบเผด็จการ
ลักษณะผู้ไม่มีอัตตาธิปไตยที่ดี – เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป
– สำคัญผิดในแนวคิดของตนเอง – เป็นผู้ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
– มุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน – หวังแต่ประโยชน์จากผู้อื่น
2. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) โลกาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับความเห็นของคนหมู่ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ประชาชน คนส่วนใหญ่ มีความเห็นอย่างไรก็ถือเอาตามนั้น โลกาธิปไตยนี้ ปัจจุบันมีใช้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นประเภทประชาธิปไตยโดยตรงก็จะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับนโยบาย การจัดการ การบริหารบ้านเมือง โดยประชาธิปไตยโดยตรงจะนำมาใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนประชาธิปไตยประเภทโดยอ้อม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถนำประชาชนมาประชุมแสดงความคิดเห็นพร้อมกันได้ทั้งประเทศ ก็ให้ประชาชนเหล่านั้นเลือกตัวแทนของตนขึ้นมาทำหน้าที่แทนตน ตัวแทนเหล่านั้นออกเสียงหรือลงคะแนนเสียงจับสลาก แสดงความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นของบุคคลหรือมติมหาชนที่คัดเลือกผู้ใดในชุมชนคนของตนเองที่คัดเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกกันเข้ามาหรือเลือกตนมา
ลักษณะผู้ไม่มีโลกาธิปไตยที่ดี – เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นอย่างไร้เหตุผล
– ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ – หลอกลวงเพื่อหวังประโยชน์จากส่วนรวม – ลุ่มหลงหรืองมงายง่าย – หลงใหลในวัตถุหรือค่านิยม
แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป
จึงกล่าวได้ว่า พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า "ยสฺสายสฺมโต ขมติ... ...โส ตุณฺหสฺส ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย" "ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า "ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ" ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.
หลักอปริหานิยธรรม ๗ คือ - หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- เมื่อประชุมก็พร้อมกันเข้าประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม
- ไม่ทำลายหลักการเดิม - เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ - คุ้มครองกุลสตรี มิให้ถูกข่มเหง - เคารพ เจดีย์ อนุสาวรีย์คนสำคัญของชาติ - ให้การคุ้มครองอารักขาสมณะชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในรัฐ
3. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) ธัมมาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดอันอยู่กับ “ธรรมะ” คือ ความถูกต้องโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยหรือแม้จะเป็นความเห็นของบุคคลคนเดียว (ปัจเจกชน) ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบธรรมหรือเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็เห็นพ้องตามสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องธัมมาธิปไตยว่าประเสริฐสุดดีที่สุด ส่วนโลกาธิปไตยก็ยังดีกว่าเอกาธิปไตยจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตำหนิระบบเผด็จการที่เป็นเอกาธิปไตย ถ้าเผด็จการนั้นยึดมั่นในคุณธรรม ในเหตุในผลอันถูกต้อง มีความเป็นธรรม และมีความยุติธรรมต่อประชาชนเหมือนกับพ่อปกครองลูก และทรงมิได้ยกย่องว่าระบอบประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่ประเสริฐสุด เพราะก็มีจุดด้อยเช่นกัน และแม้นักปรัชญาทางการปกครอง ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีจุดด้อยน้อยที่สุด
ลักษณะผู้ไม่มีเป็นธรรมาธิปไตยที่ดี – ไม่ยึดมั่นในหลักธรรมความดี
– ไม่ยึดหลักเหตุผล – ขาดการใช้ปัญญาพิจารณา
– ขาดความรู้ในหลักธรรม – เชื่อ และศรัทธาในศาสนาที่ไร้เหตุผล
ทางสายกลางแห่งอธิปไตย 3
อธิปไตยทั้ง 3 แบบ หากยึดหรือนำเพียงแบบใดแบบหนึ่งย่อมส่งผลดี และผลเสียควบคู่กัน แต่หากนำลักษณะหรือหลักการบางอย่างมารวมเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมส่งผลดี และเกิดประสิทธิภาพในการปกครองหรือการใช้ชีวิตได้มากกว่า แนวทางนี้ เรียกว่า ทางสายกลางแห่งอธิปไตย 3 ได้แก่ – เป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณา – เป็นผู้มีความเด็ดขาด และเชื่อมั่นในตนเอง – เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น – รู้จักตามทันข่าวสาร และเหตุการณ์ของโลก – ไม่เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นโดยง่าย และเชื่ออย่างมีเหตุมีผล – ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณาตัดสินใจ – ปฏิบัติตามกฎ ศีลธรรม และประเพณีอันดีงามของสังคม – มั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
หลักการใช้อธิปไตย พระพุทธเจ้าทรงนิยม ธรรมาธิปไตย คือ เอาหลักการเป็นใหญ่ มิใช่ อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ หรือ โลกาธิปไตย เอาโลกหรือพวกพ้องเป็นใหญ่ ดังพระองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต = ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นมิใช่สภา" สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จัก9น รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าถึงให้พาเราเข้าใจ แต่ก่อนก็มีศาสนาหลายศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้าโลกนี้ก็การเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่จบ พระพุทธเจ้าโคดม ทำจน 6 ปี ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าต้องไม่มาหยุดที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบันนี้อย่างนี้ การดับทุกข์ของหมู่มวลมนุษย์เป็นอย่างนี้ ทุกศาสนาก็ต้องไปอย่างนี้ๆ เราจะได้มีเป็นมนุษย์อย่างถูกต้อง เราจะมีข้าราชการ ตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา หรือว่าทุกคนจะได้ทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง จะได้มีความสุข ความดับทุกข์ไปตั้งแต่เด็กๆ มีความสุขในการเรียนการศึกษา มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้ จะได้พากันหยุดอบายมุข อบายภูมิ จะไม่ได้หลงเอาแค่ความสุขแค่เป็นมนุษย์รวย หรือว่าเป็นเทวดา จะได้ไม่มาแย่งขยะกัน ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้
ความดับทุกข์มันไม่ใช่ไปอยู่แต่พวกนักบวชอย่างเดียว พวกนักบวชนี้คือพวกที่เสียสละทุกอย่าง เพื่อจะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ประชาชนก็เสียสละเป็นพระโสดาบัน ถึงพระอนาคามี ถือว่ามากเพียงพอ แต่ก่อนเราไม่เข้าใจเอาแต่วัตถุอย่างเดียว มันไม่ได้พัฒนาใจอย่างนี้ มันเสียหาย เค้าเรียกว่าไม่รู้จักคำว่าศาสนา เอาโบสถ์ เอาวิหาร เอาเจดีย์ เอามัสยิด เอาอะไรเป็นศาสนาอะไรอย่างนี้มันไม่ใช่ พวกแสดงหนัง แสดงละคร มันไม่ใช่เรื่องจริงนะ แสดงจบแล้วมันจะจบไปตามหน้าที่ ก็หมายถึงเราทำตามความ ตามความรู้สึกเราก็ มันก็จบลงที่เค้าเอาเราไปเผา ไปฝัง แต่ว่าอวิชชามันยังอยู่ ยังหลงอยู่ ให้พากันเข้าใจนะ ทุกๆ ท่านทุกคนต้องพากันฝึก พากันปฏิบัติ เค้าเรียกว่าเข้าถึงภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เข้าถึงกิจกรรม เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา หมู่มวลมนุษย์ก็จะได้มีความสุขกัน จะได้รู้จักพระศาสนา ศาสนานี้เป็นสิ่งที่สูงสุด เป็นเรื่องพัฒนาจิตใจ อย่างนี้แหละมันจะได้แก้ปัญหาที่ถูกต้อง เราจะไม่พลัดถิ่นพเนจร หาเงินในประเทศต่างประเทศ ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ปัจจุบันของท่านทั้งหลาย ทุกท่านทุกคนในปัจจุบัน
ชีวิตของคนเราทุกๆ คนนี้เหมือนละครนะ ละครที่เค้าแต่งกัน เป็นเรื่องเป็นราว มันเป็นอย่างนั้นแหละ... เดี๋ยวนี้เค้ากำลังให้เราแสดง ละครกันนะ
อันโลกนี้เหมือนโรงละคร ปวงนิกรเราท่านเกิดมา
ต่างร่ายรำทำทีท่า ตามลีลาของบทละคร
บางครั้งก็เศร้า บางคราวก็โศก บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน
มีร้างมีรักมีจากมีจร พอจบละครชีวิตก็ลา
อันวรรคตอนละครชีวิต เป็นสิ่งน่าคิดพินิจหนักหนา
กว่าฉากจะปิดชีวิตจะลา ต้องทรมากันสุดประมาณ
ชีวิตเหมือนละครทุกตอนบท มีสลดโศกเศร้าเคล้าสุขสันต์
มีหัวเราะร้องไห้รักใคร่กัน ที่สุดนั้นหลุมฝังศพจบการแสดง
ดูละครโขนหนังแล้วยั้งจิต มองชีวิตการเล่นเช่นโขนหนัง
มีทั้งโศกมีทั้งสุขทุกข์ประดัง ไม่กี่ครั้งก็ลาลับกลับเข้าโลง.
ใครเป็นคนให้เราแสดงละครล่ะ..เดี๋ยวนี้ ? คนที่ให้เราแสดงละครก็ได้แก่ พญามาร' ที่มันอยู่ในจิตในใจของเรา มีทั้งพญามารมีทั้งเสนามาร เทวบุตรมาร ลูกหลานพญามาร ล้วนแต่เป็นมารทางจิตทางใจเราทั้งนั้น มันให้เราทำ ให้เราปฏิบัติ ให้เราแสดง
"พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนมองใจของเรานะว่ามีพญามารมาก น้อยเท่าไหร่ ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่น่ะ...?" พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาเรา เมื่อมันมีพญามาร ก็ต้องมีพระพุทธเจ้าที่จะมาแก้
เราทุกคนต้องตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ตั้งมั่นในพระธรรมเราถึงจะได้เป็นพระอริยสงฆ์ พยายามมาแก้ที่จิตที่ใจที่ตัวเอง อย่าได้พากันหลง เพลิดเพลินในความสุขความสะดวกสบาย ในความร่ำความรวย ความมี ความเป็น ทุกท่านทุกคนน่ะเวลาลาละสังขารไป เอาเงินเอาสตางค์ไปด้วยไม่ได้นะ เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผู้ประเสริฐแล้ว จิตใจไม่ประเสริฐ จิตใจไปหลงตามพญามาร เทวบุตร เทวธิดาพญามาร ชีวิตของเรานี้แย่เลยนะ
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกท่านทุกคนกลับมาหาความสงบ อย่าได้พากันวิ่งตามความอยาก วิ่งตามอารมณ์ ความสวย ความเพลิดเพลิน ความเอร็ดอร่อยนี้ มันเป็นเหยื่อ เป็นรางวัลสินจ้างให้พวกเราทุกคนหลงเพ้อละเมอฝัน ฝันทั้งกลางวันกลางคืน ไม่นอนก็ฝันแล้ว มันหลับ มันก็ยังฝัน คิดว่าตัวเองได้บริโภคสิ่งที่ดีๆ แล้วมันจะมีความสุข ที่ไหนได้ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเราตามอารณ์ ตามความคิด ตามความอยากไปแย่เลยนะเรานี้
เรามาทำเหมือนพระพุทธเจ้า คนเรานะ...ถ้าใจไม่มีความโลภ ความอยากความต้องการ มีแต่เป็นผู้ให้ มีแต่เป็นผู้เสียสละ มันมีความสุขมาก
เราเป็นพระ เราเป็นชี เราก็ปฏิบัติอยู่ที่วัด เราเป็นญาติเป็นโยมเราก็ปฏิบัติที่บ้านที่ทำงาน เพราะทุกอย่างมันแก้ที่ตัวเรา ที่ปฏิปทาของเราเองพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราผัดวันประกันพรุ่ง
ถ้าเราแก้ตัวเองได้ ทุกหนทุกแห่งก็จะเป็นที่อยู่ที่มีความสุข เพราะปัญหาทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวของเราเอง อย่าไปคิดว่าเป็นเพราะสิ่งโน้นสิ่งนั้น สิ่งนี้มาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเรา มันเป็นเพราะเราเองนี้แหละเราสร้างตัวเองปฏิบัติตัวเอง จะได้พึ่งพาอาศัยตัวเองได้และคนอื่นเค้าก็จะได้พึ่งพาอาศัยตัวเราได้ แล้วทุกอย่างมันจะดี เรตติ้งของการเป็นมนุษย์มันก็จะสูงขึ้น ดีขึ้น ทุกคนก็จะต้องการเรา การบอกสอน หรือการนำทุกคนทำความดีมันก็จะง่ายขึ้น เพราะการประพฤติปฏิบัติมันแจ่มแจ้งในกาย วาจา ใจของเรา ว่าปฏิบัติอย่างนี้มันใช้ได้ ดับทุกข์ได้ เพราะมนุษย์เราเกิดมาถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อสร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee