แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓๖ อ่านตนออก บอกตนได้ แก้ไขตนให้ดี เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราเป็นผู้ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน ทุกท่านทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเราทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ทำความรู้สึกตัวเองก็เป็นได้แต่เพียงคน คนก็คือมันหลงหน่ะ ก็เลยแต่งตั้งให้เป็นคนไง มนุษย์ก็คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่มีความเห็นถูกต้อง ที่รู้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ และการดำเนินการให้ถึงความดับทุกข์ มนุษย์เราจะมีความสุขมาก เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งมี 24 ชม. เวลานอนของเราก็ 6 ชม. อย่างมากก็ 8 ชม. เราก็ตื่นขึ้นเป็นเวลาที่มีความสุขที่เราได้เสียสละ มันเป็นกิจกรรมแห่งการเสียสละอย่างนี้ นี้คือความตั้งมั่น
เพราะรูปมันก็สวยที่สุด เสียงมันก็เพราะที่สุด เราต้องมีความเห็นถูกต้อง ต้องมีความตั้งมั่นอยู่ในธรรม ถ้าเราเป็นโรคใจอ่อน ก็เหมือนติดโควิด เราต้องมีความสุขในการเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละมันไม่ได้ มนุษย์เราต้องพากันเสียสละ ถ้าเสียสละมันก็เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เพราะสมณะที่ 1-4 นั้นมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เพราะอดีตก็ไม่ได้ อนาคตก็ไม่ได้ เราต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน ถ้าเราขี้เกียจขี้คร้านมันก็ไม่ได้งาน มันเป็นความหลง เราเสียสละ เมื่อได้เสียสละมันถึงจะไปได้ ปัจจุบันให้เราคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ ต้องเข้าไปด้วยความดี เรียกว่าสุปฏิปันโน ต้องมีความสุขในการทำงาน อย่าไปใจอ่อน ทิ้งอดีตให้เป็นเลข 0 ไม่งั้นมันไม่ได้ เราเป็นคนรุ่นใหม่ มันก็ดีกว่าคนรุ่นเก่า ทำไมดีกว่าคนรุ่นเกา เพราะคนรุ่นเก่าเป็นพื้นฐานให้ เดี๋ยวนี้เรานั่งรถนั่งเครื่องบินทำคอมพิวเตอร์ได้ แต่เราอย่าไปหลงนะ เพราะว่าทุกอย่างมันเป็นสภาวะธรรม หาใช่ตัวใช่ตนไม่ เราเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาเป็นเรานี้ไม่ได้ นี้เป็นสภาวธรรมเฉยๆ เราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาศีลเป็นหลัก เพราะคำว่าพระนี้ก็คือ พระศาสนา พระศานานี้คือธรรมะ ธรรมะก็คือพระศาสนาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นการที่เสียสละ เป็นความสุขมาก มันเป็นของง่ายเพราะมันไม่ได้ไปแก้ไขที่คนอื่น
ถ้าเราไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก ใจของเรายังไม่ได้เป็นพระ มันยังไม่อิสระ ยังถูกอวิชชากดดัน ด้วยความเคยชิน เราต้องรู้จักหน้าตาข้าศึกที่มันมาในแง่ดี มาในแง่กรรมขาว กรรมขาว กรรมดำ ก็คือกรรม ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์มันก็ไปของมันเรื่อย วิปัสสนาเราต้องเอาใช้เอามาภาวนา เราต้องพัฒนาอย่างนี้ ชีวิตของเราถึงจะมีความสุข เราไม่เข้าใจ แต่ก่อนเราเดินไปหาธรรมะในป่า ในเขา ในที่ต่างๆ ถ้าเราเข้าใจ เราจะเป็นประชาชนไม่ได้บวชแต่มีศีล มีคุณธรรม เป็นพระอริยเจ้าได้ ต้องพากันเข้าใจ
“ยากอะไรไม่เท่ากับปฏิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมานะ
ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบุญพรรพชา
หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา”
การจะแก้ปัญหาก็ต้องหาสาเหตุกันก่อน เพราะคงไม่มีใครยอมรับข้อบกพร่องของตน ดังคำโบราณที่ว่า “หาอะไรไม่เท่ากับหาตน” เพราะว่าคนเรานั้นมักจะมองออกไปข้างนอกโดยไม่มองด้านใน จึงมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนเอง ดังคำกลอนที่ว่า
“โลกภายนอกกว้างไกลใครใครรู้ โลกภายในลึกซึ้งอยู่รู้บ้างไหม
จะมองโลกภายนอกมองออกไป จะมองโลกภายในให้มองตน”
แม้เราจะพยายามมองความผิดพลาดของตนเอง เราก็อดมีฉันทาคติ คือลำเอียงเข้าข้างตนเองเพราะความรักตนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ รักใดไหนเล่าจะเท่ารักตนเป็นไม่มี” เมื่อเรารักตนเองมาก เราก็ลำเอียงเข้าข้างตนเองได้มาก ดังภาษิตที่ว่า “โทษคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา โทษของเรามองเห็นเท่าเส้นขน”
คนเรามักเคยชินกับสิ่งที่เรามีเราเป็นจนมองข้ามข้อบกพร่องของตนเอง ดังคำโบราณที่ว่า “นกมองไม่เห็นฟ้า ปลามองไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนมองไม่เห็นดิน” อะไรที่เราเคยชินมักมองไม่เห็นเงื่อนของปัญหา ดังนั้น “อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด” จึงสำคัญมาก
ฉัตตปาณิเป็นชาวเมืองสาวัตถี รักษาศีลอุโบสถประจำ และกินมื้อเดียว ว่ากันว่าพอเป็นพระอนาคามีปั๊บ เคยกินสองมื้อมาก่อน จะกินมื้อเดียวโดยอัตโนมัติเลย เคยยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยามาก่อน จะไม่มีความต้องการทางเพศเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ “ละได้ด้วยอนาคามิมรรค” พระอรรถกถาจารย์ว่าอย่างนั้น ที่พูดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของพระอนาคามี แกล้งเป็นหรือหลอกคนอื่นว่าตนเป็นไม่ได้
ส่วนอุโบสถศีลนั้น พระอนาคามีไม่จำเป็นต้องรักษา ไม่จำเป็นต้องสมาทานอุโบสถศีล เพราะพระอนาคามีเป็นผู้มีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
แต่ที่ฉัตตาปาณิอุบาสกไปสมาทานอุโบสถศีลจากพระศาสดานั้น คิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากจะทำให้เป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ขนาดพระอนาคามีซึ่งมีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ท่านยังสมาทานอุโบสถศีล แล้วเราปุถุชนทั่วไปไฉนไยขี้เกียจอยู่อะไรทำนองนี้
พระมหากัสสปะก็เช่นเดียวกัน ถือธุดงค์เคร่งครัด พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอถึงที่สุดพรหมจรรย์แล้วไม่ต้องถือธุดงค์ก็ได้ ท่านกราบทูลพระพุทธเจ้า “ข้าพระองค์ถือธุดงค์เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหน้าพระเจ้าข้า” พระอรหันต์ทั้งหลายท่านน่ารัก
วันหนึ่ง ฉัตตปาณิอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน ฉัตตปาริไม่ลุกขึ้นถวายความเคารพแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ยังคงนั่งอยู่อย่างสงบ พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ไม่ทรงพอพระทัย แต่ก็ไม่ว่ากระไร
เช้าวันหนึ่ง ขณะทรงยืนทอดพระเนตรผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) พอดี ฉัตตปาณิกางร่ม สวมรองเท้าเดินผ่านไปทางพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ทรงจำได้ รับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญฉัตตปาณิอุบาสกมา ฉัตตปาณิอุบาสกหุบร่มและถอดรองเท้า เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมอย่างนอบน้อม
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “อุบาสก ทำไมท่านจึงหุบร่ม ถอดรองเท้ามาหาเราเล่า”
“ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้าจึงได้มา” อุบาสกกราบทูลอย่างนอบน้อม
“ชะรอยท่านเพิ่งจะรู้ว่าวันนี้เราเป็นพระเจ้าแผ่นดิน” พระราชาตรัสขึ้น
“หามิได้ พระพุทธเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าทราบด้วยเกล้าฯ มาตลอดเวลา” อุบาสกกราบทูล
“แล้วทำไมวันนั้นอยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า เจ้ามิได้ใส่ใจ มิได้ลุกขึ้นต้อนรับเราเล่า”
ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “วันนั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า เมื่ออยู่ในสำนักสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาเอกในโลกแล้ว เมื่อเห็นพระราชาแห่งประเทศแล้วลุกขึ้นถวายความเคารพ คงเป็นการไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงมิได้ลุกขึ้นถวายความเคารพต่อพระองค์”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ช่างเถอะ เรื่องนั้นเราไม่ติดใจ เรารู้จากพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นพหูสูตทรงธรรม เราอยากให้สตรีในวัง โดยเฉพาะพระอัครมเหสีและพระมเหสีได้เรียนธรรม เจ้าจะมาช่วยกล่าวสอนธรรมแก่พวกนางได้ไหม”
ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “หน้าที่นี้คงไม่เหมาะสมสำหรับข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์เดินเข้าเดินออก สถานที่ใดก็ตามที่มีสตรีอยู่ ย่อมไม่วายเป็นที่ครหาของบัณฑิต” “ถ้าอย่างนั้นใครจะแนะนำใคร”
“ขอเดชะฯ เห็นสมควรนิมนต์พระสงฆ์มาถวายความรู้ จะเหมาะสมกว่า” เป็นอันว่าฉัตตปาณิไม่ได้สอนธรรมในพระราชวัง
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์หลังจากฉัตตปาณิอุบาสกปฏิเสธที่จะเข้าไปสอนธรรมแก่สตรีในวังโดยเฉพาะพระอัครมเหสีและพระมเหสี กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปสอนธรรมแก่พระอัครมเหสี พระนางวาสภขัตติยา และพระนางมัลลิกาเทวี เป็นประจำแทน
พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ทรงส่งพระอานนท์พุทธอนุชาไป พระอานนท์ก็ทำหน้าที่อย่างดีไม่บกพร่อง
กาลเวลาผ่านไประยะหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ พระเทวีทั้งสองยังเรียนธรรมอยู่หรือไม่”
“ยังคงเรียนอยู่ พระเจ้าข้า” “เป็นอย่างไรบ้าง”
“พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยดี ทรงศึกษาเล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยามิได้ใส่พระทัยนักพระเจ้าข้า” พระอานนท์กราบทูลตามเป็นจริง
พระนางมัลลิกาเป็นธิดาช่างทำพวงดอกไม้มาก่อน เป็นสตรีที่มีความชาญฉลาด เพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ช่วยแก้ความเข้าใจผิด ความประพฤติผิดบางอย่างของพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรักและทรงห่วงใยมาก
ส่วนพระนางวาสภขัตติยาเป็นพระธิดาของเจ้ามหานามศากยะ อันเกิดจากนางทาสี ที่พวกศากยะส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อคราวส่งราชทูตมาขอนางขัตติยานีศากยะไปอภิเษก เมื่อความลับแตกในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธพวกศากยะที่หลอกลวงพระองค์ สั่งถอดพระเทวีพร้อมพระราชโอรสออกจากตำแหน่ง
พระพุทธองค์เสด็จมาช่วยไว้ได้ ทรงอธิบายว่า เชื้อสายทางแม่นั้นไม่สำคัญเท่าทางพ่อ ถึงยังไงๆ เจ้าชายวิฑูฑภะก็เป็นราชโอรสของพระราชาผู้ทรงเป็นมหาราชอยู่ดี พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงคืนตำแหน่งแก่แม่ลูกทั้งสอง
เมื่อพระองค์ทรงได้ทราบจากพระอานนท์ พระองค์จึงตรัสคาถา (โศลก) สองบทความว่า “ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ เอวํ สุภาสิตา วาจา อผลา โหติ อกุพฺพโต. ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ เอวํ สุภาสิตา วาจา สผลา โหติ สุกุพฺพโต. วาจาสุภาษิตของผู้ที่ทำไม่ได้ตามที่พูด ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น วาจาสุภาษิตของผู้ที่ได้ทำตามที่พูด ย่อมอำนวยผลดี ดุจดอกไม้สีสวย และมีกลิ่นหอม”
ความแตกต่างอยู่ที่กลิ่นหอม และไม่มีกลิ่นหอม ดอกไม้แม้จะมีสีสวย สัณฐานงามเหมือนกัน แต่ดอกหนึ่งมีกลิ่นหอม อีกดอกหนึ่งกลิ่นไม่หอม คุณค่าย่อมแตกต่างกันมาก ใจคนย่อมชอบดอกไม้ที่กลิ่นหอมมากกว่า แม้สีจะไม่สวย สัณฐานจะไม่งาม
วาจาสุภาษิตก็เหมือนกัน ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้นำมาปฏิบัติตาม หาสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติไม่
อนึ่ง คนดีเปรียบได้กับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม คนชั่วเปรียบกับดอกไม้ที่กลิ่นเหม็น ส่วนรูปร่างหน้าตาอาจคล้ายกันได้ เหมือนสีและสัณฐานของดอกไม้ ดอกอุตพิดนั้น สีและสัณฐานไม่เลว แต่ไม่มีใครอยากแตะต้อง เพราะกลิ่นมันเหม็นจัด ส่วนดอกกุหลาบแม้มีหนามแต่คนก็ปรารถนา เพราะกลิ่นหอมชื่นใจ
สีของดอกไม้ไม่สำคัญเท่ากลิ่นฉันใด หน้าตารูปร่างของคนก็ไม่สำคัญเท่าคุณความดีในตัวของเขาฉันนั้น
พุทธวจนะนี้ตรัสให้เป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้มีหน้าที่สอนคนอื่น
คนที่พูดธรรมะหรือวิชาการได้ดี น่าทึ่ง น่าเลื่อมใส แต่ถ้าสักแต่พูด ไม่ทำตามที่พูดสอน คนนั้นก็ไร้ค่า ดุจดอกไม้สีสวยแต่ไม่หอม
แต่ถ้าพูดเก่ง พูดดีด้วย ปฏิบัติได้ตามที่ตนพูดด้วย ก็จะมีประโยชน์มาก ดุจดอกไม้สีสวยด้วย ฉะนั้นแล
ฉัตตปาณิอุบาสกคงจะเป็นประเภทหลัง เพราะท่านเป็นถึงพระอนาคามีและมีความมุ่งมั่นที่จะสอนธรรมแก่คนอื่นอย่างจริงจัง ถึงกับรักษาอุโบสถศีลทั้งๆ ท่านเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ท่านก็ทำตนให้เป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง
การสอนคนโดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีนั้น บางครั้งมีผลมากกว่าพร่ำสอนด้วยวาจา จนเปลืองน้ำลายไปหลายกระโถนเสียอีก
หลวงพ่อชา สุภัทโทสอนเรื่อง...ดูที่ธรรมะ ที่สัจจธรรม
ลูกศิษย์ถามหลวงพ่อชาว่า “หากว่าการใส่อาหารทุกอย่างรวมลงในบาตรเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ทำไมท่านอาจารย์จึงไม่ปฏิบัติด้วย”
หลวงพ่อชาตอบว่า “ถูกแล้ว อาจารย์ควรจะทำเป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ของตน ผมไม่ถือว่าท่านติผม ท่านซักถามได้ ทุกอย่างที่อยากทราบ แต่ว่ามันก็สำคัญที่ท่านต้องไม่ยึดอยู่กับอาจารย์ ถ้าดูจากภายนอก ผมปฏิบัติดี พร้อมหมดก็คงจะแย่มาก พวกท่านทุกคนก็จะพากันยึดติดในตัวผมยิ่งขึ้น แม้พระพุทธเจ้าเองบางครั้งก็ ตรัสให้บรรดาสาวกปฏิบัติอย่างหนึ่ง และพระองค์เองกลับปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ความไม่แน่ใจในอาจารย์ของท่านก็ช่วยท่านได้ ท่านควรเฝ้าดูปฏิกิริยาของตัวเอง ท่านไม่คิดบ้างหรือว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่ผม แบ่งอาหารจากบาตรใส่จานไว้เพื่อเลี้ยงดูชาวบ้านที่มาช่วยทำงานที่วัด
ปัญญา คือสิ่งที่ท่านต้องเฝ้าดู และทำให้เจริญขึ้น รับเอาแต่สิ่งที่ดีจากอาจารย์ จงรู้เท่าทันการ ฝึกปฏิบัติของท่านเอง ถ้าผมพักผ่อนในขณะที่พวกท่านทุกองค์ต้องนั่งทำความเพียรแล้ว ท่านจะโกรธหรือไม่ ถ้าผมเรียกสีน้ำเงินว่าแดง หรือเรียกผู้ชายว่าผู้หญิงก็อย่าเรียกตามผมอย่างหลับหูหลับตา
อาจารย์องค์หนึ่งของผมฉันอาหารเร็วมาก และฉันเสียงดัง แต่ท่านสอนให้พวกเราฉันช้าๆ และฉันอย่างมีสติ ผมเคยเฝ้าดูท่านและรู้สึกขัดเคืองใจมาก ผมเป็นทุกข์แต่ท่านไม่ทุกข์เลย ผมเพ่งเล็งแต่ลักษณะภายนอก ต่อมาผมจึงได้รู้ บางคนขับรถเร็วมาก แต่ระมัดระวัง บางคนขับช้าๆ แต่มีอุบัติเหตุบ่อยๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นในกฎระเบียบและรูปแบบภายนอก ถ้าท่านใช้เวลาอย่างมากเพียงสิบเปอร์เซ็นต์มองดูผู้อื่น แต่เฝ้าดูตัวเองเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว แรกๆผมคอยเฝ้าสังเกตอาจารย์ของผมคืออาจารย์ทองรัต และเกิดสงสัยในตัวท่านมาก บางคนถึงกับคิดว่าท่านบ้า ท่าน มักจะทำอะไรแปลกๆหรือเกรี้ยวกราดเอากับบรรดาลูกศิษย์ของท่าน อาการภายนอกของท่านโกรธ แต่ภายในใจท่านไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน ท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านเป็นอยู่อย่างรู้แจ้งและมีสติจนถึงวาระที่ท่านมรณะภาพ
การมองออกไปนอกตัวเป็นการเปรียบเทียบแบ่งเขาแบ่งเรา ท่านจะไม่พบความสุขโดยวิธีนี้ และท่านจะไม่พบความสงบเลยถ้าท่านมัวเสียเวลาแสวงหาคนที่ดีพร้อม หรือครูที่ดีพร้อม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราดูที่ธรรมะ ที่สัจจธรรม ไม่ใช่คอยจับตาดูผู้อื่น”
เราจึงต้องฝึกฝนพัฒนาตน แต่ข้อสำคัญก็คือ จะต้องตั้งใจเพียรพยายามและไม่ประมาท ในการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง
ให้ทุกคนกระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไว ด้วยการเสียสละ เป็นผู้นำของตนเองให้ได้นะ ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมันต้องเข้าใจ เข้าใจจริงๆ แล้วประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นเอกเป็นหนึ่งเป็นตัวของธรรมะ เป็นตัวของพระนิพพาน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สละทิ้งเสียซึ่งนิมิตทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทุกคนก็จะได้หายเซ่อๆเบลอๆงงๆ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคบังคับนะ บังคับตนเอง เหมือนขับรถ ขับเครื่องบิน ขับยานพาหนะ ก็ต้องบังคับมันทั้งนั้นจึงจะขับได้ จึงต้องบังคับตนเองเพราะเรายังไม่ได้เป็นอเสขบุคคลคือพระอรหันต์ เรายังเป็นเสขบุคคลคือผู้ที่ยังต้องศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ
การทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก เรียกว่าตามอัธยาศัย เราพากันทำอย่างนี้จนเคยชิน ทำจนเคยชินมาไม่รู้กี่ร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติ ทุกคนต้องบังคับตนเองทั้งความคิดคำพูดและการกระทำกิริยามารยาท มนุษย์จะประเสริฐได้อยู่ที่การฝึกตน ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายผู้ที่ฝึกตนแล้วเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุด จึงต้องบังคับตนเอง ถ้าทำอะไรตามอัธยาศัย โดยไม่มีการบังคับ ก็เหมือนรถคันหนึ่งที่เบรคไม่ดี คันเร่งไม่ดี พวงมาลัยไม่ดี
ทุกคนให้กลับมารู้ตนเองนะ ว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน มาแก้ไขให้ตรงจุด ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคภูมิแพ้ คือตกไปในอบายภูมิ จึงต้องมาประพฤติปฏิบัติ มาสร้างภูมิคุ้มกันอันเป็นภูมิแห่งชัยชนะ เราจะชนะคนอื่นสิ่งอื่นยังไม่ประเสริฐ เท่ากับชนะตนเอง ชนะคนอื่นเป็นหมื่นครั้งไม่สู้ชนะใจตนเองครั้งเดียว จึงต้องบังคับตนเองฝึกฝนตนเอง ให้เป็น บุคคลอาชาไนยเป็นมนุษย์อาชาไนยให้ได้
การประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านให้เราเน้นลงปฏิบัติลงในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เป็นอดีตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ สิ่งที่เป็นอนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติของเราต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราจึงต้องเอาปัญญา เอาสมาธิ เอาศีล มาประพฤติปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปัจจุบัน ให้เราทุกคนมีฉันทะคือความพอใจ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติเพราะเราได้ทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรจะประเสริฐกว่า ยิ่งใหญ่กว่า ให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ความทุกข์ทางใจของเราจะไม่มี เพราะเราเห็นด้วยปัญญาว่านี่คือ หนทางที่ถูกต้อง ได้ปฏิบัติถูกต้อง เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ
เราทุกคนนะ ติดสุขสบายในเหยื่อของโลก ทุกท่านทุกคนต้องมาทวนโลก ทวนกระแสทวนอารมณ์ ทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หนทางเราเดินไป ทางจิตใจของเราที่จะไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ทุกท่านจึงมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตใจเสียสละ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ มันเป็นธรรมดาของการเดินทาง มันต้องเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เรามีปัญญาต้องเฉียบแหลมคม ต้องเสียสละ สัมมาสมาธิต้องตั้งไว้เพื่อก้าวไปแต่ละก้าวอย่างมีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา ใจ ในชีวิตประจำวันของเรา จะมีการเรียนรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา
คนเราต้องตั้งใจฝึก ตั้งใจปฏิบัติ เราจะบวชนาน หรือ ไม่นาน ไม่สำคัญหรอก สำคัญตรงที่ประพฤติที่ปฏิบัตินี่แหละ ก็เพราะนอกเหนือจากนี้ไป มันไม่ใช่ มีแต่ความปรุงแต่ง ไม่ใช่การปฏิบัติ เราทำไปปฏิบัติไป เพราะนี่คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ บวชมาเพื่อพากันมาเสียสละ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เราจะได้มีความสุขทั้งวันทั้งคืน ธรรมะจะได้เกิดขึ้นที่ใจของเรา อย่างนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยม เราก็ต้องเป็นพระทั้งกายทั้งใจทั้งข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราต้องมีความสุขอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้นะ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อริยมรรคมีองค์ ๘ ของเราต้องสมบูรณ์ อย่าให้ความเห็นแก่ตัวมันไปอยู่ในใจของเรา
เราไม่ต้องไปสนใจหรอก เรื่องวัตถุภายนอก เราต้องเน้นมาหาตัวเรา ตำแหน่งแต่งตั้งไม่ต้องเอาหรอก ต้องเอาตำแหน่งที่เราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ที่เสียสละอย่างนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละอย่างนี้ๆ เราทุกคนจะได้งาม สง่างาม มีความสุขอย่างนี้นะ เราอย่าให้มิจฉาทิฏฐิมันครองใจของเรา มันโง่แล้วก็แล้วไป ต้องฉลาด ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องฉลาด ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไม่มีใครเซ่อ เบลอๆ งงๆ หลงในโลกธรรม ใครว่าเรานินทาเราติเตียนเรา ก็ช่างหัวมัน อย่าให้พระพุทธเจ้าติเตียนเรา อย่าให้พระอรหันต์ติเตียนเรา อย่าให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบติเตียนเราได้ เราต้องเป็นผู้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เราอย่าทำตามใจ ตามอัธยาศัย ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ดี ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่มีคุณธรรม เราไม่ต้องเป็นคนลวงโลก ไม่ใช่สมณะก็เรียกตัวว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พระก็เรียกตนว่าเป็นพระ สมณะหรือพระแท้ ก็หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เราจะมาเป็นแต่ภิกษุผู้ขออย่างเดียวไม่ได้ อย่างนี้เป็นกาฝากของพระศาสนา ของสังคม
ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ถึงจะอยู่ที่เคหสถานบ้านเรือน ก็เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีได้ ไม่ต่างกันหรอก เราต้องกลับมาหาพระภายในตัว อย่าไปมัวแต่หาพระภายนอก มันหายาก เดี๋ยวจะถูกเขาหลอกลวง เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน เสียสละ วัตถุสิ่งของข้าวของเงินทอง ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากคนอื่น อย่างเราค้าขายทำธุรกิจ เป็นต้น เราต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใคร เราต้องเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ อาชีพเราต้องเป็นสัมมาอาชีพ อย่าไปเดินทางลัด อย่าไปเอาเปรียบคนอื่น ต้องเน้นมาหาธรรมะ ชีวิตเราจะได้ปฏิบัติไปอย่างนี้
เราทุกคนนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี ที่มีบุญวาสนา มีเวลา มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมาก สุขพิเศษ สุขจริงๆ ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนจึงจะได้หนีจากวัฏสงสารได้ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee