แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓๔ เข้าใจเรื่องพระนิพพาน และขั้นตอนการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบอกทางไว้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนพากันเข้าใจพระพุทธศาสนา เข้าใจเรื่องนิพพาน เพราะส่วนใหญ่แล้วยังพากันเข้าใจผิด เพราะว่าไม่มีใครที่แสดงพระนิพพานให้ตรงตัวอักษร ในพระไตรปิฏก ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงพระนิพพาน ผู้นั้นก็จะรู้ได้เฉพาะตน เพราะว่าพระนิพพานนั้นไม่มีการลด ไม่มีการเพิ่ม เป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิ เรื่องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะเรื่องที่หยุดเหตุ หยุดปัจจัยอย่างนี้ ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดอีก เพราะเป็นกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าเราหยุดเหตุ หยุดปัจจัย เรารู้ทุกข์ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ไม่เข้าไปแก้ไข ใจของเรามันก็จะสงบเย็น ถึงเรียกว่าอริยมรรค ถึงมีพระโสดาปัตติมรรค ไม่ใช่มีโสดาปัตติผลเลย มีสกิทาคามิมรรค ถึงจะมีสกิทาคามิผล มีอนาคามิมรรค ถึงมีอนาคามิผล มีอรหัตตมรรค ถึงมีอรหัตตผล
คนไทยเข้าใจว่าผู้บรรลุนิพพานต้องหลบลี้หนีหน้าไม่เอาสังคม ตายแล้วไปอยู่ที่ดินแดนแห่งหนึ่งเป็นอมตะตลอดไป ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดสุดขั้วโลก
เพราะความเข้าใจผิดสุดขั้วโลกเรื่องนิพพาน จึงมีท่านจำพวกหนึ่ง พอเห็นใครกระตุ้นเตือนให้พระปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านจำพวกนี้ก็จะออกมาบอกว่า อย่าเกณฑ์ให้พระไปนิพพานกันนักเลย เดี๋ยวจะไม่มีพระอยู่ช่วยสังคม เอาแค่ให้มีพระเฝ้าวัดให้ญาติโยมทำบุญก็พอแล้ว นี่ก็คือไปเข้าใจว่า ใครบรรลุนิพพานต้องทิ้งสังคม ไม่เอาสังคม ไม่รับผิดชอบสังคม ไม่ช่วยเหลือสังคม ซ้ำบอกว่านิพพานของพระพุทธศาสนาสอนแบบนี้
นักสังคมหลายๆ สำนักก็เลยพลอยไม่ชอบพระพุทธศาสนาไปด้วย หาว่าเป็นศาสนาที่เห็นแก่ตัว สอนให้คนเอาตัวรอด แต่ไม่ช่วยเหลือสังคม
เราพากันลืมไปเสียสนิทว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งการบรรลุนิพพานนั่นเอง บรรลุนิพพานแล้วก็ยังอยู่กับสังคม ทำงานช่วยเหลือสังคมต่อมาอีกถึง ๔๕ ปี เรียกว่าอยู่กับสังคม ทำงานเพื่อสังคมจนตาย ทำไมไม่นึก ทำไมพากันลืมไปเสียเล่า พระสงฆ์สาวกที่ปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์อีกนับหมื่นนับแสนนับล้าน ท่านก็อยู่กับสังคมทำงานช่วยเหลือสังคมทั้งนั้น ไม่มีใครหลบลี้หนีหน้าจากสังคมสักองค์เดียว มีพระอัญญาโกณฑัญญะเท่านั้นที่ทูลขอพุทธานุญาตไปจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์องค์เดียว หลังจากที่ทำงานช่วยเหลือสังคมอยู่ระยะหนึ่ง พอจะพูดได้ว่าทิ้งสังคม แต่นั่นเพราะท่านมีปัญหาเรื่องวัยและสุขภาพ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ปฏิบัติธรรม บรรลุธรรม ล้วนแต่ยังอยู่กับสังคมและทำงานช่วยเหลือสังคมทั้งสิ้น ท่านเหล่านี้ทำงานเพื่อสังคมโดยไม่มีวันเกษียณ และส่วนมากทำงานจนตาย
แต่ทำไมคนไทยกลับพากันเข้าใจว่า ผู้บรรลุนิพพานต้องทิ้งสังคม ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทิ้งสังคมเอาตัวรอด พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาท สอนให้คนทิ้งสังคมเอาตัวรอดไปแต่ลำพัง ไปเอาความคิดความเข้าใจแบบนี้มาจากไหน? ทำไมไม่ “แหกตา” มองปฏิปทาของพระพุทธองค์และของพุทธสาวกที่มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนากันบ้าง หลับตาพูดอยู่ได้ว่า-อย่าเกณฑ์ให้พระไปนิพพานกันหมด เดี๋ยวจะไม่มีพระเฝ้าวัด อันที่จริง ควรจะช่วยกันถวายกำลังใจให้พระมีอุตสาหะตั้งใจปฏิบัติธรรมมุ่งถึงนิพพานกันให้มากๆ เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะได้มีพระดีๆ ไว้เฝ้าวัดมากขึ้น
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑. นิพพานไม่ใช่ภพภูมิหรือแดนดินถิ่นฐานซึ่งมีอยู่แล้วในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะหรือคุณภาพของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ในตัวของแต่ละคน
๒. นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อ ความเห็น หรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็เป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น
๓. นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือฟังคำบรรยาย เหมือนรสอาหาร ต่อให้พรรณนาหยดย้อยเพียงไรก็รู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรส แม้ไม่ต้องพรรณนาก็รู้ได้เอง
๔. ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือนอกโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านบรรลุนิพพานแล้วทั้งนั้น แต่ท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ
แม้จนบัดนี้ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อกันมาผิดๆ ว่านิพพานนั้นคือ การตายของพระอรหันต์หรือของพระพุทธเจ้า และนิพพานนั้นจะถึงได้เมื่อตายแล้วเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่เลย
นิพพานแปลโดยสภาวธรรม แปลว่า ดับและเย็น นิพพานจึงไม่ใช่คุณสมบัติของคนตาย และมิใช่คุณสมบัติของคนเป็น แต่ นิพพาน เป็นคุณสมบัติของผู้ที่หลุดพ้นแล้วเป็นผู้บรรลุแล้ว เป็นผู้สลัดหลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว
นิพพาน จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีปัญญาญาณอันสุดประเสริฐ และแสนวิเศษที่สามารถหยั่งรู้แจ่มแจ้งในสรรพสัตว์ สรรพชีวิต สรรพสิ่งอันเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเป็นไปอย่างเป็นเช่นนั้นเองนี้
นิพพาน เป็นสภาวะ และเป็นคุณสมบัติสูงสุดของผู้สลัดหลุดแล้ว ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับ อยัมยตาธรรม แล้ว
นิพพาน จึงเป็น ภาวะของพุทธะ ผู้เข้าถึงอิสรภาพและเสรีภาพสูงสุดแล้ว ด้วยเหตุนี้ สภาวะของนิพพาน จึงไม่มีองค์ประกอบรูปลักษณ์ที่จะอธิบาย แต่ความหมายของมันคือ การดับและเย็นตลอดกาล ไม่ต้องกลับไปเกิดแก่เจ็บตายอีก
นิพพานจึงอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เสมอมา อย่างไร้เวลา อย่างเหนือกาลเวลา นิพพานเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ เมื่อมนุษย์ทำชีวิตของตนให้ถูกต้อง ทั้งทางกาย ทางใจ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘
คนเราจะรู้จักนิพพานได้ ต้องปฏิบัติจนรู้สึกในใจเอง นิพพาน คือตายเสียก่อนตาย ซึ่งทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ด้วยการละอุปทานในตัวตน ด้วยการบำเพ็ญตบะสามารถควบคุม รู้ทัน ผัสสะ และเวทนาเพื่อไม่เกิดอุปาทาน
นิพพาน ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การมา และไม่ใช่การหยุดอยู่ นิพพานเป็นสภาวะอันหนึ่งซึ่ปรากฏออกมา เมื่อมีการกระทำถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ฉะนั้นจึงไม่ต้องไป จึงไม่ต้องมา รวมทั้งไม่ต้องหยุดที่นั่น เพราะไปคือ ไปหาสิ่งหนึ่ง มาก็มาหาสิ่งหนึ่ง หยุดก็เพราะติดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันใช้ไม่ได้ทั้งสิ้นกับคำว่า “นิพพาน” เพราะมันยังมีความยึดมั่นถือมั่น จึงได้ไป จึงได้มา หรือจึงได้หยุดที่นั่น ต่อเมื่อดับความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดหรือติดอยู่ที่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการหลุดออกไป หรือถ้าจะเรียกโดยสมมติก็เรียกว่า “ทางนิพพาน”
"...อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ, ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วา โย, น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญฺาณญฺจายตนํ น อาภิญฺจญฺญายตนํ น เนวสญฺญา นาสญฺญายตนํ, นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโภ จนฺทิมสุริยา, ตมหํ ภิกฺขเว เนว อาคตึ วทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ น อุปฺปตฺตึ อปฺปติฏฐํ อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณเมว ตํ, เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ..."
คำแปลว่า... ภิกษุทั้งหลาย ! "สิ่ง" สิ่งนั้นมีอยู่, เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่ใช่อากาสานัญ จายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่างภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีอันเดียวกับ "สิ่ง" สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ, ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น, สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไปและสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์, นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ล่ะ...
ในสมัยก่อนพุทธกาล คำว่า นิพพาน เป็นคำที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อผู้ที่แสวงหาการพักผ่อนทางวิญญาณรับคำนี้มาใช้ ความหมายก็เปลี่ยนไปอีกนัยหนึ่ง ตามสติปัญญาที่เจ้าลัทธิในยุคนั้นจะค้นพบความสงบเย็นของจิตใจได้ แต่โดยเนื้อหาสาระแล้วยังสื่อถึงความดับเย็นอยู่นั่นเอง แต่เหตุที่ทำให้จิตใจเย็นลงนั้นมีแตกต่างกันไป บางยุคบางสมัยก็พบว่าความสุขที่เกิดจากกามารมณ์หรือความสงบที่เกิดจากฌานสมาบัตินั่นคือนิพพานที่สูงสุด พระพุทธองค์เมื่อออกบวชใหม่ๆ ก็ได้เดินทางไปศึกษาเรื่องนิพพานซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของสังคมนักศึกษาหรือนักปราชญ์ในสมัยนั้น จนได้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี่เป็นนิพพานขั้นสุดท้ายที่มีสอนอยู่ในสำนักของอุทกดาบสรามบุตร แต่ก็กลับเห็นว่านี่ไม่ใช่นิพพานที่แท้จริงจึงได้ลาจากอาจารย์ไปศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนได้ตรัสรู้สัจธรรมค้นพบนิพพานที่แท้จริง ไม่ใช่นิพพานที่มีสอนกันอยู่อย่างที่แล้วๆ มา พระพุทธองค์เองเมื่อได้ค้นพบความสงบเย็นอันสูงสุดกว่าความสุขที่เกิดจากกามหรือความสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติก็ได้ บัญญัติเรียกภาวะนั้นว่านิพพานด้วยเช่นกัน แต่ได้อธิบายความหมายเสียใหม่ว่าความสิ้นไปแห่งตัณหาจัดเป็นนิพพาน ส่วนมรรควิธีที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งซึ่งนิพพานก็ได้แก่อริยอัฏฐังคิกมรรคซึ่งมีสัมมาทิภูฐิเป็นเบื้องมีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดนั่นเอง
สุดท้ายพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ความจริงตามธรรมชาติ 4 ประการ คือ อริยสัจ 4 แปลอีกนัยว่า ความจริงที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องตรัสรู้ หมายถึงพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องตรัสรู้ในเรื่อง เดียวกัน ดังตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการตามความเป็นจริง แม้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดเหล่านั้นจักตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการตามความเป็นจริงอริยสัจ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ (1) ทุกขอริยสัจ (2) ทุกขสมุทยอริยสัจ (3) ทุกขนิโรธอริยสัจ (4) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ”
ในบรรดาอริยสัจ 4 นี้ ธรรมขั้นสูงสุด คือ นิโรธสัจ ได้แก่ นิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อยํโข สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณ กรณี อุปสมาย อภิญฺ ญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อ ให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วทรงมีวัตถุประสงค์หลักคือชี้แนะพาหมู่สรรพสัตว์ข้ามพ้นจากวัฏฏสงสารเข้าถึงเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน นิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ทางนิพพาน นั้นคือ มรรค อันเป็น หนทางของจิตใจ มรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ นี้ เป็นตัวทางนิพพาน เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน พอเหมาะพอดี แล้วนิพพานก็จะปรากฏแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติเอง ภพภูมิของหมู่มวลมนุษย์เรานี้นะ เป็นภพภูมิที่ดี เหมาะที่จะบรรลุธรรม ตรัสรู้ธรรม อายุขัยอยู่ในเกือบถึง 100 ปี 100 ปีนิดหน่อย ถ้าเราทำถูกต้องปฏิบัติ ถูกต้องแล้ว มันถึงจะดับทุกข์ได้ เราทั้งหลายถึงจะเอารูป คือร่างกายนี้เป็นเราไม่ได้ เอาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นเราไม่ได้ ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อหยุดพลังงาน เพื่อเป็นมรรค เพื่อให้ใจของเราสงบ ใจของเราเย็น เราทำอย่างนี้แหละ การปฏิบัติมันถึงเป็นของใหม่ของสดอยู่ตลอดเวลา ต้องพัฒนาอย่างนี้ คือเป็นเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องหยุดกรรม หยุดเวร หยุดมี sex มีเพศสัมพันธุ์ทางความคิดทางอารมณ์อย่างนี้ ทุกคนก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราทุกคนมันถึงต้องหมดตัว หมดตน
ธรรมะนี้มันเป็นภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เรียกว่าเป็นกิจกรรม เพราะเราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์อย่างนี้แหละ มันต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ ใจของเราถึงจะสงบ ใจถึงจะเย็น มันคือศีล สมาธิ ปัญญานี้ มันถึงจัดการได้อะไรได้ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ สิ่งที่พูดว่าละสังโยชน์ ละนี้ก็หมายถึงหยุด ตัด และดับมันไป มันจะเอาพูดให้ถึงพระนิพพานมันไม่ได้นะ แล้วจะใช้ความหมายอะไร อย่างนี้ มันถึงจะไม่มีความปรุงแต่ง เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะเราเพื่อ จะเอา จะมี จะเป็น หรือจะเพื่อจะไม่เอา จะไม่มี จะไม่เป็น อย่างนี้มันไม่ได้ มันต้องเรื่องสัมมาทิฏฐิและก็เรื่องการปฏิบัติให้มันถูกต้อง
ครั้งหนึ่ง พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะถามพระพุทธเจ้าถึงการศึกษาและปฏิบัติโดยลำดับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะ ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ดูก่อนพราหมณ์ ! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาตามลำดับ การกระทำตามลำดับ และการปฏิบัติตามลำดับ ได้เหมือนกัน (กับที่ท่านวิธีฝึกสอนศิษย์ของท่านให้นับตามลำดับ)
ดูก่อนพราหมณ์ ! เปรียบเหมือนผู้ชำนาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงฝึกอย่างอื่น ๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด; พราหมณ์เอย! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อนว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีล (เช่นที่กล่าวแล้ว) ดีแล้วตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย : ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), บาปอกุศลกล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามอารมณ์เพราะการไม่สำรวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุเราจักสำรวมอินทรีย์นั้นไว้เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุอินทรีย์. (ในโสตินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์คือจมูก ชิวหาอินทรีย์คือลิ้น กายินทรีย์คือกาย และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความนัยเดียวกัน).
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้เพื่อให้ชีวิตเป็นไปเพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์, เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (อิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น. ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหารและความอยู่ผาสุกสำราญ จักมีแก่เรา” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา). จงชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี. ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น. ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการเดินการนั่ง อีกต่อไป” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู,การคู้การเหยียด, การทรงสังฆาฏิบาตรจีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขา ลำธาร ท้องถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาคอยชำระจิต จากอภิชฌา ; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท; ละถีนะมิทธะมุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ; ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบอยู่ในภายในคอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ ;ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร นี่อย่างไร’ ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา” ดังนี้.
ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ ได้แล้ว, เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ ๑ มีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. เพราะความจางแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นอยู่อุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข. และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.
พราหมณ์เอย! ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ (คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่, คำสอน ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันได้บรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบแล้ว, ธรรมทั้งหลาย (ในคำสอน) เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.
“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมได้กล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ องค์ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุ ” พราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม.
พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
“พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย,ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานก็ยังตั้งอยู่, พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อการดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่,ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ”
พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร, ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ,มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด” ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษนั้นว่า“มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้นแล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าน่ารื่นรมย์ จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีน่ารื่นรมย์ ของเมืองราชคฤห์”ดังนี้. บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิดกลับหลังตรงข้ามไป, ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง (อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน) ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี.
พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่เมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่,ท่านผู้ชี้บอก ก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลังไปผิดทาง,ส่วนบุรุษผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี
“พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า,เพราะข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”.
พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, เราผู้ชักชวน ก็ยังตั้งอยู่,แต่สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว คณกโมคคัลลานพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาประสงค์จะเลี้ยงชีวิต ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล กลับกลอก ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่นำพาในความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพอย่างจริงใจในสิกขา มักมาก ย่อหย่อนไป เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม (นิวรณ์ ๕) ทอดธุระในปวิเวก (ความสงัด) เกียจคร้าน ละเลยความเพียร หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง มีปัญญาทึบ เป็นดังคนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมย่อมอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นไม่ได้
ส่วนกุลบุตรผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง นำพาในความเป็นสมณะ มีความเคารพอย่างจริงใจในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิต แน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมผู้เจริญย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรเหล่านั้นได้
บรรดารากไม้หอม บัณฑิตยกย่องกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม บัณฑิตยกย่องแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม บัณฑิตยกย่อง ดอกมะลิว่าเป็นเลิศ แม้ฉันใด คำสั่งสอนของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จัดว่ายอดเยี่ยมกว่าอัชชธรรม (ธรรมซึ่งมีอยู่ขณะนี้ หมายถึงลัทธิของครูทั้ง ๖) ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจะเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee