แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓๓ หยุดทำอะไรตามอัธยาศัย ย่อมทำให้ใจไม่ย่อหย่อนอ่อนแอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนจะถืออัธยาศัย เอาตามอัธยาศัยไม่ได้ ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ปรับตัวเข้าหาธรรม เข้าหาเวลา จะเอาตามอัธยาศัยเมื่อไหร่ ก็ย่อหย่อนอ่อนแอ ตามอัธยาศัย คำว่าอัธยาศัยนี้เป็นคำของอันนี้แหละ อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำตามอัธยาศัยนี้ก็ตามธรรมะ ที่เราผิดพลาดทุกคนผิดพลาดก็เพราะคิดทำอะไรตามอัธยาศัย ตามสัญชาตญาณ เพราะพ่อแม่ก็ปล่อยลูกหลานตามอัธยาศัยก็เสียหาย ตัวเองยังปล่อยตัวเองตามอัธยาศัยก็เสียหาย เพราะความเสียหายคือตามอัธยาศัย เพราะว่าความถูกต้องไม่ได้เป็นเพื่อนเป็นฝูง ไม่ได้เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติอะไรกับใคร ไม่มีตามอัธยาศัย ตามอัธยาศัยลูกก็เสีย หลานก็เสีย ตัวเองก็เสีย เข้าข้างอวิชชา เข้าข้างความหลง เป็นสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ข้อปฏิบัติ มันเลยไม่เข้าถึงความสดในปัจจุบัน ดูอย่างครูบาอาจารย์ อย่างหลวงปู่มั่น ตั้งแต่ต้นจนนิพพาน ไม่ปล่อยตัวเองตามอัธยาศัยแม้แต่ชราภาพแล้วก็ปฏิปทายังสดอยู่เหมือนกับยังเป็นปัจจุบันตลอด
พระเราที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เสื่อม ก็เพราะเอาตามอัธยาศัย ตระกูลที่ไม่มีความตั้งมั่น ตั้งอยู่ไม่ได้ก็เพราะเอาตามอัธยาศัยกัน อนุโลมตามธาตุ ตามขันธ์ ตามประชาชน พระวัดป่าเลยกลายเป็นพระวัดบ้าน พระวัดบ้านก็กลายเป็นคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ก็กลายเป็นเหมือนที่เป็นอยู่นี้ เป็นได้แต่เพียงคน ทำทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดทั้งถูก ก็เลยตามอัธยาศัย ก็ต้องผิดพลาด เพราะใจอ่อนไปจัดการตั้งแต่ภายนอก ไม่ได้จัดการตั้งแต่ภายใน เรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรม สำหรับมันตั้งอยู่ในความประมาท
อัธยาศัย_นิสัย_อุปนิสัย_วาสนา
"อัธยาศัย" บาลีเป็น “อชฺฌาสย” แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่มานอนทับจิต” (2) “สภาวะที่อาศัยอารมณ์เป็นไป”
แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “อัธยาศัย” หรือ “อัชฌาสัย” เรามักหมายถึงนิสัยใจคอในด้านดีที่แสดงออกต่อบุคคลอื่นทางกิริยาวาจา
“อชฺฌาสย” ตามความหมายเดิมในบาลีหมายถึง ความพอใจเป็นส่วนตัว หรือนิสัยใจคอส่วนตัวของแต่ละคน ความหมายใกล้ไปทางพื้นเดิมของจิตใจที่เราเรียกกันว่าอุปนิสัย หรือที่พจนานุกรมฯ ว่า “นิสัยใจคอ” ไม่ได้บ่งถึงด้านดีหรือร้าย คือ ภาวะที่อาศัยอยู่กับจิตใจ ดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง หรือน้อมจิตใจไปให้เกิดเจตนากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้ามีอัธยาศัยประกอบด้วยโทสะ พยาบาท ย่อมดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง หรือน้อมจิตใจให้เกิดเจตนากรรม คือมุ่งก่อทุกข์โทษแก่ผู้อื่น
ถ้ามี อัธยาศัยประกอบด้วยเมตตากรุณา ย่อมดึงจิตใจให้มุ่งก่อเกื้อสุขประโยชน์แก่ผู้อื่น อัธยาศัยโดยย่อจึงมี ๒ คือ อัธยาศัยเลวกับอัธยาศัยดี เหตุที่อุดหนุนให้เกิดอัธยาศัยคือ อุปนิสัย นิสัย
"อุปนิสัย" อุป + นิสฺสย = อุปนิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปอาศัย” “ใกล้ต่อนิสัย” หมายถึงลักษณะหรือการกระทำบางอย่างที่เป็นพื้นฐานซึ่งเมื่อสะสมไปเรื่อยๆ หรือทำบ่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดผลที่ถาวรต่อไปในภายหน้า
ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น
- ดูภาพยนตร์ฝรั่งฟังเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มไปเรื่อยๆ นานวันเข้าทำให้ฟังฝรั่งพูดรู้เรื่องมากขึ้น
- ฝึกรักษาศีลห้าบางข้อได้เป็นบางวัน ต่อไปสามารถรักษาศีลห้าบางข้อได้หลายวัน สั่งสมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถรักษาศีลห้าทุกข้อได้ทุกวัน
วิธีเข้าใจอีกนัยหนึ่ง : “นิสัย” คือการกระทำที่เป็นธาตุแท้
“อุปนิสัย” คือการกระทำที่ยังไม่ใช่ธาตุแท้ เพียงแต่ใกล้จะเป็นธาตุแท้ ถ้าทำมากเข้า นานเข้า ในที่สุดจะกลายเป็นธาตุแท้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปนิสฺสย” ว่า basis, reliance, support, foundation, assurance, certainty (พื้นฐาน, การยึดถือ, การอุดหนุน, หลักฐาน, หลักประกัน, ความแน่นอน) และขยายความต่อไปว่า esp. sufficing condition or qualification for Arahantship (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสัยหรือคุณธรรมที่พอแก่การเป็นพระอรหันต์)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “อุปนิสัย : (คำนาม) ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน เช่น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเทศน์โปรดผู้ใดจะต้องทรงพิจารณาถึงอุปนิสัยของผู้นั้นก่อน, ความประพฤติที่เคยชินจนเกือบเป็นนิสัย เช่น นักเรียนคนนี้มีอุปนิสัยดี.
ดังนั้น อุปนิสัย คือ ที่อยู่พำนักอาศัยของจิตใจ จึง หมายถึง นิสัยที่อบรมเพิ่มเติมเข้าใหม่ เช่น อบรมสติปัญญา พิจารณาในการส่องเสพ ในการอดกลั้น ในการละเว้น ในการบรรเทาถอน เป็นต้น หรือเช่น อบรมในบุญกุศล คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมาธิและปัญญาให้เกิด เรียกว่า ทานูปนิสัย สีลูปนิสัย ภาวนูปนิสัย
"นิสัย" นิสฺสย + อ = นิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่อาศัยอยู่” หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นต้องอาศัย, เครื่องค้ำจุน, การช่วยเหลือ, การป้องกัน; สิ่งของที่บริจาค, ขุมทรัพย์, สิ่งที่จำเป็น, เครื่องใช้สอย; พื้นฐาน, การให้ความไว้วางใจ พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล habit, disposition
(1) ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทําจนเป็นนิสัย.
(2) ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัย, เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท.
ในบาลี ความหมายของ “นิสฺสย” ที่คุ้นกันดีคือ “ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต” นิสสัย : ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต 4 อย่าง คือ :
(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต รวมทั้งภัตตาหารที่เป็นอติเรกลาภ 10 อย่าง
(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มที่ทำจากของเขาทิ้ง รวมทั้งผ้าที่เป็นอติเรกลาภ 6 อย่าง
(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ รวมทั้งที่อยู่อาศัยที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง
(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยาน้ำมูตรเน่า รวมทั้งเภสัชที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง
เรียกสั้นๆ ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
จะเห็นได้ว่า ถ้ายึดตามพระธรรมวินัย บรรพชิตในพระพุทธศาสนาก็เป็นอยู่ง่ายอย่างยิ่ง และด้วยเครื่องยังชีพเพียงแค่นี้มีผู้เดินทางไปถึงพระนิพพานได้แล้วเป็นจำนวนมากมายเหลือคณานับ
นิสัย คือ ที่เข้าอาศัยของจิตใจ ในฐานเป็นพื้นเพและเป็นเหตุอุปการะ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเหมือนอัธยาศัย เพราะจิตต้องเป็นนิสิต คือผู้อาศัยอยู่ในนิสัย คือที่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอาศัยอยู่กับกิเลส เช่น อาศัยตัณหา อาศัยมานะ อาศัยทิฏฐิ เรียกว่า ตัณหานิสัย มานนิสัย ทิฏฐินิสัย
ถ้าอาศัยคุณธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา เรียกว่า ศรัทธานิสัย หิรินิสัย โอตตัปปนิสัย วิริยนิสัย ปัญญานิสัย
ฉะนั้น คนจะทำอะไรจึงสุดแต่นิสัย ถ้านิสัยเป็นส่วนชั่วก็ทำชั่ว นิสัยเป็นส่วนดีก็ทำดี แต่นิสัยแสดงออกเป็นอัธยาศัย คือทำให้เกิดความมุ่งหรือน้อมไปของจิตใจก่อนแล้ว จึงเกิดเป็นเจตนากรรมทำชั่วหรือดีดังกล่าว
"วาสนา" วาสน + อา = วาสนา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ในจิต, สิ่งอันเขาบ่มเพาะมา” ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ.
วาสนา จึงเป็นกิริยาอาการหรือลักษณะการพูดจาเป็นต้น ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษหรือเฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานาน ถึงข้ามภพข้ามชาติ จนเคยชินติดเป็นพื้นนิสัยประจำตัวและแก้ไม่หายทั้งๆ ที่จิตเจตนามิได้ต้องการเป็นเช่นนั้น เช่น กิริยาเรียบร้อยหรือหลุกหลิก คำพูดกระโชกโฮกฮากหรือนุ่มนวล คำติดปากที่หยาบหรือสุภาพ เป็นต้น เหล่านี้คือความหมายของ “วาสนา” ในบาลี
ในทางธรรม “วาสนา” เป็นส่วนที่แนบอยู่กับ “กิเลส”
กิเลส อุปมาเหมือนพญามาร วาสนา อุปมาเหมือนเสนามาร
พระอริยบุคคลตัดกิเลสได้ตามภูมิชั้น จนถึงพระอรหันต์ตัดกิเลสหมดสิ้น แต่ตัดวาสนาได้ไม่หมดทุกอย่าง พระอรหันต์บางองค์มีกิริยาหลุกหลิก บางองค์พูดคำหยาบติดปาก ทั้งนี้ไม่มีผลเป็นดีเป็นชั่วสำหรับตัวท่านเพราะไม่ใช่เกิดจากกิเลส แต่เกิดจาก “วาสนาที่ตัดไม่ขาด”
ท่านขยายความว่า วาสนาที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละๆ
แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย กับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ
ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา
การอบรม จนเป็นนิสัย อุปนิสัย จำต้องอบรมบ่อยๆ จนอยู่ตัว เหมือนอย่างกระดาษที่ม้วนจนอยู่ตัว จับคลี่ออกปล่อยมือก็ม้วนกลับเข้าไปเอง ความอยู่ตัวนี้เรียกว่า "วาสนา" มีทั้งทางชั่วและทางดีเช่นเดียวกัน การอบรม จนเป็นวาสนา เป็นนิสัย อุปนิสัย แสดงออกเป็นอัธยาศัย แล้วแสดงออกเป็นเจตนากรรมดังกล่าวมานี้ อาศัยเสวนาการซ่องเสพบ่อยๆ เป็นสำคัญ ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสไว้ในมงคลสูตรเป็นข้อต้นว่า
"อเสวนา จ พาลานํ การไม่ซ่องเสพ คบหาคนพาล
ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การซ่องเสพ คบหาบัณฑิต"
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ยํ เว เสวติ ตาทิโส : คบคนใดย่อมเป็นเช่นคนนั้น"
การที่จะเป็นเช่นคนที่ตนคบ หมายถึงคบหากัน (เสวนา) จนเกิดความคุ้นเคยอยู่ตัว เกิดมีนิสัย อุปนิสัย และอัธยาศัยคล้ายคลึงกันเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่มีอัธยาศัยเช่นใด ก็ย่อมเสวนากับคนที่มีอัธยาศัยเช่นนั้น คนที่มีอัธยาศัยเลวก็เข้า พวกคนเลว คนที่มีอัธยาศัยดีก็เข้าพวกคนดี เรื่องนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ทุกกาลสมัย
๙ นิสัยของคนมีบุญมาก มีบุญสอนตนเองได้ เพราะมีกำลังบุญที่มากพอจิตของผู้มีบุญ
๑. ไม่บ่น เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นปัญญา ทำให้ยอมรับต่อความเป็นจริงของชีวิต ทำให้รู้เห็นและเข้าใจถึงระดับวาสนาของตนและบุคคลอื่น ความเป็น ไปของชีวิตนั้นขึ้นตรงต่ออำนาจบุญกรรมที่ทำไว้ บ่นไปก็แค่นั้นเอง ที่ได้มา ที่มีอยู่ ที่เสียใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันคือ “ผลแห่งกรรม” อันเป็นสมบัติของเราเอง
๒. ไม่กลัว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความเข้มแข็ง กล้าหาญ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นผู้มีบุญของตน เมื่อจะคิด จะทำอะไรลงไป ล้วนมีกำลังบุญมารองรับทั้งหมดทั้งสิ้น
๓. ไม่ทำชั่ว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นตัวควบคุม บริหารจัดการ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดความกลัว ความละอายต่อบาป ต่อกรรม ความผิดน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เห็นถึงความเสียหาย หลายภพหลายชาติ เห็นถึง ผลกระทบต่อครอบครัว ต่อโลกต่อสังคม อย่างมากมายมหาศาล
๔. ไม่คิดมาก เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดพลังแห่งความสงบ แห่งจิตแห่งใจ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่คิดเป็นทุกข์ ความคิดทุกความคิด ล้วนนำมาซึ่งความเบิกบานกายใจ ไม่คิดเบิกความทุกข์ มาใช้ก่อน
๕. รอได้ คอยได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความใจเย็น มีความยืดหยุ่น ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่ใจร้อน ใจเร็ว เห็นถึงจังหวะ และโอกาสของชีวิต
๖. อดได้ ทนได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นพลังงานเข้มแข็ง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้มีความอดทน ที่เป็นหนึ่งเป็นเลิศ มีความคิดที่ไม่หวั่นไหว เห็นความสำเร็จทุกชนิดมาจากความอดทน อดทนอย่างมีความสุข
๗. สงบได้ เย็นได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะเป็นสภาพให้เป็นคนที่สงบได้ เย็นได้ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่ร้อนรน กระวน กระวาย สับส่าย วุ่นวาย ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ในสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ใน เหตุการณ์ที่เลวร้าย ก็ทำใจได้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
๘. ปล่อยได้ วางได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นคนที่รู้จักการละ การวาง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่แบกทุกอย่างที่ขวางหน้า ยึดทุกอย่างที่เกิดขึ้น
๙. รู้ได้ ตื่นได้ และเบิกบานได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความรู้ตื่น เบิกบาน ตามกำลังของบุญฤทธิ์ เป็นผู้รู้ ต่อความ เป็นจริงของชีวิต ไม่ปล่อยชีวิตให้ตกไปในกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจมีความอิสระเต็มที่ ทุกวันทุกเวลาทุกนาที
มีบทความ คนมีบุญมากคือใคร?
คนที่มีบุญมาก คือคนที่สบายใจง่าย อยู่ที่ไหน ในเวลาใด ก็สุขง่าย ทุกข์ยาก มีแต่ความเบาจิตเบาใจ ปลอดโปร่งโล่งสบาย ท่านล่ะเป็นเช่นว่าหรือยัง คนที่สามารถจ่ายค่าอาหารแพงๆ ในร้านดีร้านดัง แต่ยังปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดกับบริการ หรือเรื่องอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นคนมีสตางค์มาก แต่ยังไม่ใช่คนมีบุญมากจริงๆ
คนที่มีบุญมากจริงๆนั้น มักจะอยู่ง่ายกินง่าย ปรับตัวได้ง่าย ไม่ค่อยถือสาอะไรมากมายให้เป็นทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์ก็เพียงรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่นำทุกข์มาแบก
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่ค่อยถือตัวถือตน เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวร มีเกิดแล้วตั้งอยู่ ในที่สุดก็ดับไป มีความรู้สึกปล่อยวางมากกว่าเอามาแบกทับถมตัวเองให้เป็นภาระหนักตลอดเวลา
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่คิดว่าตนเองพิเศษอะไรกว่าใคร ในทางตรงกันข้าม เขาจะรู้สึกขอบคุณเวลาที่ใครทำอะไรให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนโชคดี แม้ถึงคราวที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ใดๆที่ไม่ดี ก็ยังเห็นเป็นบทเรียน หรือยังพอเห็นด้านดีได้อยู่ หรือมักมองเห็นด้านบวกได้เสมอ
คนที่มีบุญมากจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพียบพร้อม หรือดีพร้อม ถึงกระนั้นเขาก็ไม่รู้สึกต่ำกว่า หรือสูงกว่าใคร ดีกว่าใคร หรือเลวกว่าใคร ฉลาดกว่าใคร หรือโง่กว่าใคร เพราะเขาให้เกียรติความเป็นคนของทุกคน รวมทั้งตนเอง จึงไม่นำตนเองไปเปรียบเทียบกับใคร หรือนำใครมาเปรียบเทียบกับตนเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยินดีรับฟังคำแนะนำจากผู้อื่น โดยไม่หลงเป็นเหยื่อคำสรรเสริญและคำนินทา
คนมีบุญมากจริงๆ มองไปที่ไหน เมื่อใด ได้ยินอะไร ก็สบายอกสบายใจ เพราะเข้าใจความเป็นเช่นนั้นเองของทุกๆชีวิต เห็นคนได้ดี ก็รู้ว่าเขาคงเคยทำสิ่งดีๆมาก่อน เห็นคนลำบากที่พอช่วยเหลือได้ ก็ช่วยไปตามกำลัง อะไรที่เกินกำลังก็ไม่ปล่อยให้ตนเองว้าวุ่น กังวล ทุกข์ร้อนใจไปกับสิ่งนั้น เข้าใจดีว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง มีกรรมเป็นมรดก แต่ละคนย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ตนได้เคยกระทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ละอายชั่ว กลัวบาป ทำสิ่งที่ดีๆ หาเวลาทำจิตให้ผ่องใสด้วยการมีสติในการปฏิบัติธรรม โดยทำในที่ใดๆก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด หรือที่สำนักปฏิบัติธรรมใดๆ ทำที่บ้านก็ได้ ทำได้ในทุกแห่งด้วยความมีสติในปัจจุบันขณะ
ผู้ที่มีบุญเก่า บุญเก่าก็คือปัจจุบันนี้ เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันนี้ เหมือนที่ว่าเดินไปที่ละก้าว ทานข้าวไปที่ละคำ เดี๋ยวอีกหลายเดือนข้างหน้า ตรงนี้ก็จะเป็นบุญเก่า มันเดินไปด้วยอย่างนี้ ที่เราเกิดมาเป็นล้านๆชาติก็แก้ไขไม่ได้ ให้เน้นที่ปัจจุบัน เข้าอริยมรรคมีองค์ 8 ในที่ปัจจุบัน เดี๋ยวอดีตมันก็จะดีขึ้น แล้วเราก็เป็นผู้ที่มีบุญเก่า อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด เน้นที่ปัจจุบัน แล้วทุกอย่างก็จะดี เพราะอดีตแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เน้นที่ปัจจุบัน
การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เอาทั้งศีล เอาทั้งสมาธิ เอาทั้งปัญญามาใช้ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติตอนนี้ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ต้องเน้นให้เกิด ถ้างั้นเป็นอันว่าเราประมาท เราปล่อยโอกาสเวลาให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เป็นโมฆบุรุษ
คนเราจะเก่งฉลาด เป็นธรรม มีคุณธรรม อยู่ที่ตรงนี้เอง ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เราต้องเสียสละ เพราะอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน จะเป็นฐานให้เราก้าวไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ปัจจุบันเราถึงมีสติมีสัมปชัญญะ มีทั้งศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน มันถึงทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้า ต้องมีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์ไปอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เป็นของง่ายขึ้น แล้วก็ปฏิบัติได้ ถ้าใจเราจะเข้มแข็งมันจะเข้มแข็งตอนนี้แหละ ถ้าใจเราตั้งมั่น มันตั้งมั่นตอนนี้แหละ เราจะปล่อยให้ความเคยชินไปตามอัธยาศัยไปไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นธรรมะ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น ทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติไปมันก็เลื่อนตำแหน่งไป ตามที่เราประพฤติตามที่เราปฏิบัติไป เพราะว่ามันจะสัปปายะ หรือไม่สัปปายะ มันอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา คนเราไม่มีใครปฏิบัติให้ใครได้ เพราะว่าเราก็ต้องหายใจของเราเอง คนเราจะปล่อยให้ตัวเองคิดผิดไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองมีอัตตาตัวตนไม่ได้ ต้องสละคืน ต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ มันจะชัดเจน
แต่ก่อนเราคิดว่ามันไม่สำคัญ นี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพากันจับหลักตรงนี้ให้ได้ ต้องเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องในปัจจุบันไปเรื่อยๆ อานาปานสติของเราต้องมีอยู่กับเราทุกอิริยาบถ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย เอาศีลเอาสมาธิ เอาปัญญามาใช่ มาประพฤติ มาปฏิบัติ มาใช้ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเราไป เปลี่ยนจากอวิชชาเป็นปัญญา เปลี่ยนจากดำเป็นขาว จากชั่วเป็นดี มันเป็นการสร้างเหตุสร้างปัจจัย เป็นการเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนภพภูมิ ทีนี้เราก็จะสว่างขึ้น ทุกคนก็อย่าไปหลงขยะ หลงเปลือก หลงกระพี้ เราต้องพัฒนาสัมมาทิฏฐิ ต้องพัฒนาพระพุทธเจ้า และพัฒนาการประพฤติการปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปหาธรรมะที่ไหนหรอก เพราะธรรมะอยู่ในตัวของเราที่เรายังมีชีวิตยังไม่ตายนี้ เพราะถ้าเราตายแล้ว เราก็หมดเวลา
โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ทุกๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก ใครสามารถเข้านิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏฏสงสารต่อไป
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้านิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อ สละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้านิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้านิพพานอันบรมสุขได้
ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไถล เกะๆ กะๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่า คือการเข้านิพพาน บ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำๆ หยุดๆ จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าใครฉลาดก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะ ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง
“จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee