แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓๒ ขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นของหยาบนัก จึงต้องรู้จักวิธีประหาณให้ลดและหมดลงไป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านบอกให้มนุษย์มีคววามเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วพากันปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต มีความสุขในการปฏิบัติธรรม มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน สร้างเหตุ สร้างปัจจัย ให้มันดี ให้มันถึงพร้อม เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมเกิดจากเหตุ เกิดจากปัจจัย เราจะจนก็อยู่ที่เหตุปัจจัย เราจะรวยก็อยู่ที่เหตุปัจจัย ถ้าเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันก็ไปตามเหตุ ไปตามปัจจัย เราทุกคนก็จะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่รวยทั้งภายนอก รวยทั้งอริยทรัพย์ อย่างนี้
พระพุทธเจ้าก็ทรงห่วงพวกเรา แม้ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านก็ห่วงเรา เพราะเราพากันติดในความสุข เพราะความสุขนี้มันเป็นสัญชาตญาณแห่งการเวียนว่ายตายเกิด มันอร่อยอย่างนี้ มันแซ่บ มันรำ มันนัว มันหรอย เพราะคนเรามันติด การติดก็คือเราเอาร่างกายนี้เป็นเรา เอาเวทนา สัญญา สังขาร หรือว่าเอาอายตนะคือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรา
ที่ผ่านมามันทำให้เราเป็นว่ายตายเกิด ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่ล้านชาติ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ทันท่วงที พระพุทธเจ้าก่อนท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานท่านสอนไม่ให้เราประมาทไม่ให้เพลิดเพลิน เพราะว่าทางที่เราจะได้ไปนั้นมันมีหลายภพหลายกลุ่มหลายชาติ ให้ถือว่าเรามีภาระมีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ เดินทางด้วยสติด้วยปัญญา เรารู้เราเข้าใจแล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เพราะรูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนามันก็ไม่เที่ยงอะไรมันก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันตามเราไปไม่ได้ เราต้องรู้จักใจของเรา เราต้องปฏิบัติเพราะความทุกข์ความดับทุกข์ มันอยู่ในตัวของเราในปัจจุบันนี้แหละ
เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ เราก็ตามอารมณ์ตามอะไรไป อย่างนี้เราก็อันตราย เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไป คนไม่มีพลังสิ่งภายนอกก็ดึงไป เพราะภาคปฏิบัติของเรายังอ่อนอยู่ รู้อยู่แต่มันยังทำไม่ได้ แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังไม่ชำนาญ สติสัมปชัญญะเรายังไม่พอ ใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ ต้องอาศัยการอาศัยเวลา ถ้าอย่างนั้นเราจะมีประโยชน์อะไรที่เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็เสียชาติเกิดที่ประเสริฐ
นายจิตตหัตถ์ เป็นคนยากจน มีอาชีพเลี้ยงโค ภูมิลำเนาอยู่เมืองสาวัตถี ที่ว่าอยู่เมืองสาวัตถีนี้ หมายถึงเกิดในแคว้นโกศล อันมีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง วันหนึ่ง โคหายไปตัวหนึ่ง ตามหาจนเหนื่อยกว่าจะพบ ต้อนมันเข้าฝูงแล้วท้องก็ร้องจ๊อกๆ ด้วยความหิว เห็นวัดป่าแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปขอข้าวกิน พระสงฆ์องค์เจ้าก็ดีใจหาย เอาข้าวเอาน้ำมาให้นายจิตตหัตถ์กินจนอิ่มหมีพีมัน กินข้าวอิ่มก็เรียนถามพระคุณเจ้าด้วยความสงสัยว่า “พระคุณเจ้าไปบิณฑบาตได้มาหรือ ขอรับ”
“ใช่โยม ทายกทายิกาที่หมู่บ้านไม่ไกลจากนี้นัก ใส่บาตรมาทุกวัน การขบฉันไม่ลำบากดอก”
ฉับพลัน ความคิดก็พุ่งปรู๊ดปร๊าด “เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำกว่าจะได้กินข้าวสักมื้อ พระคุณเจ้าเหล่านี้ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ๆ ก็มีผู้คนเอาข้าวปลาอาหารมาถวายล้วนดีๆ ทั้งนั้น เราจะอยู่เป็นคฤหัสถ์ทำไม บวชดีกว่า”แล้วเขาก็เข้าไปขอบวชอยู่กับพระคุณเจ้าทั้งหลาย
เมื่อบวชแล้วอุปัชฌาย์อาจารย์ให้ท่องบทสาธยาย ทำวัตรสวดมนต์ให้ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด วันๆ แทบไม่มีเวลาพักผ่อน ก็คิดว่า “แหม นึกว่าบวชแล้วจะได้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่นี่กลับต้องมาสวด มาท่อง นั่งสมาธิแต่เช้ายันดึก แถมยังต้องระมัดระวังกาย วาจา ใจ อย่างเข้มงวดอีก ดูประหนึ่งว่าจะเหยียดเท้าไม่ได้ นั่นก็อาบัติ นี่ก็อาบัติ โอ๊ย ชีวิตพระสงฆ์นี้ไม่มีอิสรภาพเสียเลย สึกดีกว่า”
ว่าแล้วก็ไปลาอุปัชฌาย์สึก มิไยอุปัชฌาย์จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เชื่อ สึกออกมาแล้วไปเลี้ยงโคเหมือนเดิม ไม่ได้เลี้ยงโคพักหนึ่ง กลับมาคราวนี้ทำไมมันเหนื่อยกว่าเดิม จึงคิดอยากบวชอีก ไปขอบวชอยู่กับพระคุณเจ้าอีก
พระคุณเจ้าเห็นแกบวชๆ สึกๆ หลายหน จึงเตือนว่า ทำอะไรจับจด ไม่ดีหนา จะบวชก็บวชเลย จะสึกก็สึกไปเลย แกก็ครับๆ คราวนี้ไม่สึกอีกแล้วที่ไหนได้ ผ่านไปอีกไม่กี่วันก็ร้อนผ้าเหลืองอีก สึกออกไป ว่ากันว่าแกไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง
พระสงฆ์เห็นแกเป็นคนว่านอนสอนง่าย ถึงจะโลเล ก็อดสงสารแกไม่ได้ จึงให้บวชทุกครั้ง นัยว่าระหว่างนี้ภรรยาแกตั้งท้องพอดี
ครั้งที่ ๗ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย แกแบกไถกลับจากนาเข้าบ้าน ขณะภรรยานอนหลับอยู่ เขาเข้าห้องหมายหยิบผ้ามาเปลี่ยน เห็นภรรยานอนผ้านุ่งหลุดลุ่ยลงมา น้ำลายไหลออกจากปาก เสียงกรนดังครืดๆ กัดฟันกรอดๆ ปากอ้า พุงโต
ภาพนี้ใช่ว่าเพิ่งจะเคยเห็น แต่การเห็นคราวนี้ มันก่อความเปลี่ยนแปลงภายในใจเขาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะ “อินทรีย์” เขาแก่กล้าพอดี หมายความว่า มีความพร้อมจะเข้าถึงธรรมแล้ว เขาจึงมองดูภรรยาดุจดังซากศพขึ้นอืด เขาคิดว่า "สรีระนี้ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ เราบวชมามากมายหลายครั้งแล้ว แต่เพราะอาศัยสรีระนี้จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ เราจะออกบวชแล้วไม่กลับมาอีก"
อนิจจตา ทุกขตา ก็ปรากฏขึ้นชัดแจ้งในสำนึก จึงคว้าผ้ากาสายะคาดพุงรีบลงเรือน มุ่งหน้าไปวัดหวังจักบวชไม่ยอมสึก แม่ยายยืนอยู่บนเรือนอีกหลัง เห็นลูกเขยเพิ่งกลับจากนาหยกๆ ออกจากบ้านอย่างรีบร้อน จึงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น รีบไปบนเรือน เห็นลูกสาวนอนกรนครืดๆ อยู่ จึงปลุกขึ้นด่า “นังชาติชั่ว ผัวเอ็งเห็นเอ็งอยู่ในสภาพที่ทุเรศอย่างนี้ เบื่อหน่ายหนีไปวัดแล้วเว้ย”
ลูกสาวงัวเงียขึ้นตอบว่า “ช่างเถอะแม่ เขาไปๆ มาๆ อย่างนี้หลายหนแล้ว เดี๋ยวอีกสองสามวันก็กลับมา”
นายจิตตหัสถ์ เดินไปบ่นไปว่าไม่เที่ยงหนอๆๆ เป็นทุกข์หนอๆๆ ตลอดทาง ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว (บรรลุโสดาปัตติผล) ในระหว่างทางนั้นเอง เข้าไปขอบวชกับพระคุณเจ้า
พระเถระประธานสงฆ์กล่าวว่า “เธอบวชๆ สึกๆ มาแล้วตั้ง ๖ ครั้ง แสดงถึงความโลเลไม่เอาจริง ศีรษะเธอถูกมีดโกนไถจนจะเป็นหินลับมีดอยู่แล้ว เราไม่สามารถบวชให้เธอได้อีก”
“ได้โปรดเถอะครับ คราวนี้จะไม่สึกอีกแล้ว กระผมรับรอง” เขาขอร้องอย่างน่าเห็นใจ
ในที่สุดท่านก็ใจอ่อนจนได้ อนุญาตให้เธอบวชเป็น “โบสถ์ที่ ๗” บวชแล้วเธอก็หมั่นทำความเพียรจากจิต ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
คราวนี้เพื่อนภิกษุด้วยกันเห็นว่าท่านอยู่นานกว่าทุกครั้ง จึงกระเซ้าว่า “ทำไมคราวนี้ชักช้าอยู่เล่า ไม่ห่วงไถ ห่วงเมียหรือ”
ท่านบอกพระคุณเจ้าทั้งหลายว่า “ผมจะไปๆ มาๆ ก็ต่อเมื่อมีความผูกพัน แต่ตอนนี้ตัดความผูกพันได้แล้ว ไม่ต้องไปไม่ต้องมาได้แล้ว”
ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่า พระจิตตหัตถ์พูดอวดมรรคอวดผล จึงไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! จิตตหัตถ์ บุตรของเรา ไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้พระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง บัดนี้บุตรของเราละบุญและบาปได้แล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
อนวฎฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ
ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ หยาบนัก กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้ กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชถึง ๗ ครั้ง สึกถึง ๖ หน"
พระศาสดาเสด็จมาสดับกถานั้นแล้วตรัสว่า "ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักวาฬนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย”( "เอวเมว ภิกฺขเว กิเลสา นาม ภาริยา, สเจ เอเต รูปิโน หุตฺวา กตฺถจิ ปกฺขิปิตุง สกฺกา ภเวยฺยุง, จกฺกวาฬํ อติสมฺพาธํ, พฺรหฺมโลโก อตินีจโก, โอกาโส เนสํ น ภเวยฺย ฯ) กิเลสนี้เองสามารถทำบุรุษอาชาไนยผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา แม้เช่นเราให้มัวหมองได้ ไม่ต้องกล่าวถึงคนเหล่าอื่น เราเองก็เคยอาศัยข้าวฟ่าง ลูกเดือยเพียงครึ่งทะนานและจอบเหี้ยน (จอบที่ใช้งานมานานแล้วจนสึก) จนต้องบวชแล้วสึกถึง 6 หน”
พระภิกษุเกิดความสงสัยว่าเรื่องราวเป็นเช่นไร พระศาสดาจึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตของพระองค์ดังนี้
ในอดีตกาลมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ กุททาลบัณฑิต อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เขาออกบวชเป็นนักพรตภายนอกพระพุทธศาสนา และอาศัยอยู่ ณ หิมวันตประเทศมา 8 เดือน พอถึงฤดูฝนแผ่นดินชุ่มชื้น เขาคิดว่า “ในเรือนของเรามีข้าวฟ่างและลูกเดือยอย่างละครึ่งทะนาน และจอบเหี้ยนอีกอันหนึ่ง เราพอทำการเพาะปลูกได้ อย่าให้ข้าวฟ่างและลูกเดือยต้องเสียไปเลย” เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วเขาจึงสึกออกมาเพาะปลูก เมื่อเมล็ดพืชแก่ก็เก็บเกี่ยว แล้วเก็บไว้ทำพันธุ์ทะนานหนึ่ง นอกนั้นนำมาบริโภคแล้วออกบวชอีก 8 เดือน พอถึงฤดูฝนแผ่นดินชุ่มชื้นก็สึกอีก ทำเช่นนี้ ถึง 7 ครั้ง
ในครั้งที่ 7 เกิดสังเวชสลดใจคิดว่า “เราควรจะทิ้งข้าวฟ่าง ลูกเดือย และจอบเหี้ยนในที่ใดที่หนึ่งที่จะหามันไม่เจออีก” ตอนแรกเขาจะทิ้งในแม่น้ำคงคา แต่แล้วกลับกลัวว่าตัวเองจะลงไปงมในภายหน้าได้ จึงนำผ้าห่อข้าวฟ่างและลูกเดือย ไปพันเข้ากับจอบ จับด้ามจอบเวียนเหนือศีรษะ 3 รอบแล้ว หลับตาเหวี่ยงลงไปในแม่น้ำคงคา เสร็จแล้วจึงลืมตาขึ้นดู เมื่อไม่เห็นว่าโยนลงไปตกที่ใด จึงเปล่งเสียงดังขึ้นสองครั้งว่า “เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”
ขณะนั้นบังเอิญพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จกลับจากการปราบปัจจันตชนบท จึงสั่งให้ทหารปลูกค่ายพักที่ริมฝังแม่น้ำคงคา ตกเย็นพระองค์เสด็จลงในแม่น้ำเพื่อสรงสนานพระวรกาย เมื่อได้ยินเสียงตะโกนของกุททาลบัณฑิต ทรงไม่พอพระทัย เพราะโดยปกติคำพูดที่ว่า “ชนะแล้ว ชนะแล้ว” ย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระราชา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเสด็จเข้าไปหาพร้อมตรัสถามว่า “เราทำการย่ำยีศัตรูมาเดี๋ยวนี้ด้วยเข้าใจว่า เราชนะแล้ว แต่ท่านกลับร้องว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว หมายความว่ากระไร”
กุททาลบัณฑิตทูลตอบว่า “พระองค์ทรงชนะโจรภายนอก แต่ความชนะของพระองค์อาจกลับแพ้ได้ ส่วนข้าพระองค์ชนะโจรภายในคือความโลภ แล้วจักไม่แพ้อีก การชนะโจรภายในคือความโลภดีกว่าการชนะโจรภายนอก” จากนั้นกุททาลบัณฑิตก็กล่าวคาถาย้ำว่า “ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นยังไม่ดี ส่วนความชนะใดไม่กลับมาแพ้อีก ชัยชนะนั้นถือว่าดี” เมื่อกล่าวจบ กุททาลบัณฑิตมองดูแม่น้ำคงคา ทำกสิณมีน้ำเป็นอารมณ์ (อาโปกสิณ) ให้เกิดขึ้น แล้วจึงบรรลุคุณพิเศษ ลอยขึ้นสู่อากาศ
พระราชาเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใส ขอบรรพชา ไพร่พลและพระราชาอื่นๆ ในแคว้นใกล้เคียงทรงสดับเรื่องราว แล้วเสด็จออกมาบวชตามถึง 7 พระองค์
หลังจากเล่าเรื่องนี้ให้เหล่าพระภิกษุที่สงสัยในการตรัสรู้ธรรมของพระจิตตหัตถ์ฟังแล้ว พระศาสดาได้ตรัสในที่สุดว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุททาลบัณฑิตในกาลนั้นคือเราในบัดนี้…ขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นของหยาบนัก!”
กิเลสมี ๑๐ ประการ จำแนกตามการแสดงออกเป็น ๓ ระดับ คือ
(๑) วีติกกมกิเลส กิเลสที่ทำให้ไม่ละอายชั่วกลัวบาป ทำให้ประพฤติชั่ว ทำทุจริตทางกาย และวาจา ทำให้ล่วงละเมิดศีล
(๒) ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่กลุ้มรุมจิต คุกรุ่นอยู่ภายในใจ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และนิวรณ์ ๕ มีกามฉันท์ พยาบาท ความง่วงเกียจคร้าน ความฟุ้งซ่าน และ ความลังเลสงสัย
(๓) อนุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (เหมือนยักษ์หลับ) หมายถึง กิเลสที่ยังละไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล (ยกเว้นพระอรหันต์) ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบ อนุสัยกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส เกิดความยินดียินร้ายต่ออารมณ์นั้น และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้นก็จะแปรสภาพเป็นวีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นการกระทำที่แสดงออกทางกาย และวาจา การกำจัดกิเลสทั้งหมดนี้ให้หมดสิ้นไปได้ ต้องดำเนินการเจริญวิปัสสนาภาวนา ตามแนวทางมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น
การจะชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ก็คือการล้างกิเลสออกจากจิตนั่นเอง สังคมในสมัยพุทธกาลนิยมการอาบน้ำชำระบาบตามคติความเชื่อเดิมของพราหมณ์ แต่พระพุทธเจ้าก็แสดง การล้างบาปเหมือนกันแต่มีหลักการและวิธีการการชำระล้าง ตามความเหนียวแน่นของกิเลส ๓ ระดับ ดังนี้
น้ำแรก : ล้างวีติกกมกิเลสด้วยศีล
กิเลสอย่างหยาบที่ละเมิดออกมาทางกาย วาจา คือแสดงพฤติกรรมทุจริตออกมาทางกาย และทางวาจา ทำให้ล่วงละเมิดศีล กิเลสชนิดนี้ได้แก่ ๑) อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ความต้องการที่มากจนคุมไม่อยู่ จนต้องประพฤติทุจริต ด้วยการลักขโมย ๒) พยาบาท คือ ความปองร้าย เป็นความขุ่นแค้นอาฆาตมากจนคุมใจไม่อยู่ จนดุด่า ทำร้าย หรือเข่นฆ่าคนอื่น ๓) มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด บุญไม่มี บาปไม่มี ชาติหน้าไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เป็นต้น จึงเสพสุขด้วยการร่ำสุรา คลึงเคล้านารี วีติกกมกิเลสเป็นกิเลสอย่างหยาบ ชำระล้างให้เบาบางลงได้ด้วยอำนาจของศีล เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เป็นต้น แต่สงบได้เพียงครั้งคราว เฉพาะขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่เท่านั้น การประหาณกิเลสในลักษณะนี้ เรียกว่า ตทังคปหาน
น้ำ ๒ : ล้างปริยุฏฐานกิเลสด้วยสมาธิ
กิเลสที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ยังไม่ล่วงละเมิดออกมาเป็นวีติกกมกิเลส เมื่อปริยุฏฐานกิเลสเกิดขึ้นจิตก็จะเป็นอกุศลขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน กิเลสประเภทนี้ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ นิวรณ์ ๕ และอุปกิเลสต่างๆ แต่ยังไม่แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ยังไม่ล่วงละเมิดศีล ปริยุฏฐานกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดอยู่ภายในใจ สามารถข่มไว้ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ เป็นเวลานานตราบเท่าที่สมาธิยังมีกำลัง การประหาณในลักษณะนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
น้ำ ๓ : ล้างอนุสัยกิเลสด้วยปัญญา
สตฺตสนฺตาเน อนุเสนฺติ อนุปวตฺตนฺตีติ อนุสยา กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ในภวังคจิต หรือจิตไร้สำนึกของคนเรา ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการมาให้เห็น จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ดูใสสะอาด ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง เปรียบได้กับอนุสัยกิเลส
อนุสัยกิเลส แบ่งรายละเอียดออกได้ เป็น ๗ ประการ คือ ๑) กามราคานุสัย กิเลสปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัด พอใจในวัตถุกามทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๒) ปฏิฆานุสัย ความหงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อกระทบกระทั่งทางใจ อันอาศัยรูปเป็นต้น ๓) ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดว่าอารมณ์ที่มากระทบเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อได้รับอารมณ์อันเป็นฝ่ายเดียวกับตน ก็จะเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ทิฏฐิที่เป็นอนุสัยภายในจิต ให้มีความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น ๔) วิจิกิจฉานุสัย ความลังเลสงสัยตัดสินใจอะไรไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร ความสงสัยนั้นอาจสรุปลงในความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไตรสิกขา กาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต และกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท ๕) มานานุสัย ความถือตัว ถือชาติ ตระกูล ทรัพย์ ตำแหน่งงาน ยศ ฐานะในสังคมเป็นต้น มาแสดงตนว่า สูงกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขา เรียกว่า อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) อวมานะ (ดูหมิ่นตน) เป็นต้น ๖) ภวราคานุสัย อนุสัยคือการกำหนัดติดในภพ ได้แก่การพอใจในภาวะที่เป็นอยู่ ติดใจในความสุขที่ได้จากการอุบัติในฐานะความเป็น ชนชั้นต่างๆ ๗) อวิชชานุสัย ความไม่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันได้แก่ โมหะ
กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมมีในสันดานของสัตว์ทุกชีวิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ (เกิด) จนถึงจุติ (ตาย) กิเลสอย่างละเอียดนี้สามารถขจัดและทำลายให้สิ้นซากได้ด้วยมรรคญาณ ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาเพียงเท่านั้น กิเลสประเภทนี้ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เป็นกิเลสละเอียดที่สะสมอยู่ในจิตของปุถุชนทุกคน ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ไม่แสดงอาการออกมา จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้วย่อมมีนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ (เกิดจนถึงตาย) อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ต้องประหาณด้วยวิปัสสนาปัญญาในมรรคจิตทั้ง ๔ เท่านั้น จึงจะไม่กลับมีขึ้นอีก การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า สมุจเฉทปหาน
ธรรมชาติที่หยุดวัฏฏะสงสารมันต้องเหนือกว่านี้ เรียกว่าปัญญา สัมมาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเอาศีลเป็นหลัก ศีลคือกิจกรรม คือการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เราจะเดินทางไกลเราต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษก็คือศีล อุปกรณ์พิเศษก็คือสมาธิ อุปกรณ์พิเศษก็คือปัญญา เราละสละคือซึ่งสักกายทิฏฐิ ซึ่งตัว ซึ่งตน คนเราทุกคนมันติดมาก ติดในตัวเอง ติดในลูกในหลาน ในข้าวของเงินทองลาภยศสรรเสริญ สิ่งที่เรียกว่าโลกธรรม คือมันเป็นความหลง มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นพลังงานที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิด พวกนี้รับจ้างมาเกิดก็ว่าได้ เรามีพ่อ มีแม่ ก็ติดในพ่อในแม่ ในญาติวงศ์ตระกูล ในอาหารการบริโภค แม้แต่บุหรี่มันไม่อร่อยอะไรเลย ก็พากันติด ทั้งที่เป็นสิ่งที่น่าเกลียดที่สุดในโลก พวกเหล้า พวกเบียร์อะไรอย่างนี้ แม้แต่สัตว์มันก็ไม่บริโภคกัน เราดูตัวอย่างคนโบราณ ที่สูบยาเส้นยาฉุน ไม่มีบุหรี่ยาซอง ยามวน เหมือนทุกวันนี้ วันไหนไม่ได้เอายาสูบ ยาฉุนไปด้วย วันนึงอารมณ์เสีย ทำงานไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นคาเฟอีนเล่นงานเราทั้งทางกาย และทางจิตใจ
ทุกสิ่งทุกอย่างเราติดในเวทนาที่มันอยู่ในร่างกาย ที่มันหิว มันเหนื่อย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เมื่อเรารวยแล้ว เมื่อเราเป็นเทวดาแล้ว ท่านยังไม่เห็นโทษของกาม เราจะได้เป็นมนุษย์ที่ฉลาด เราจะได้เข้าถึงธรรม เข้าถึงปัจจุบันธรรม เราจะได้มีสัมมาสมาธิ มีจิตใจเข้มแข็งมีปัญญา พัฒนาทุกอย่างให้ใจของเราเข้าถึงสภาวะธรรม สู่พระไตรลักษณ์ มันยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าจึงให้แยกร่างกายออกมาเป็นชิ้นส่วน จนผู้ที่บวชนี้ก็ก็จะออกจากกาม เพราะเพื่อจะให้พวกนี้หยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ หยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิดทางอามรณ์ ต้องพากันหยุด มาอยู่กันอานาปานสติ ให้พัฒนาลมหายใจเข้าก็ชัดเจน หายใจออกก็ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย สายหลวงปู่มั่นถึงสอนให้ท่องพุท ท่องโธ คนเราต้องมีความสุขในสติสัมปชัญญะ เรียกว่าสติปัฏฐาน รู้แล้วไม่ต้องไปวุ่นวาย รู้แล้วก็อย่าไปคิด อย่าไปปรุงแต่ง ทิ้งสู่พระไตรลักษณ์ ต้องทำอย่างนี้แหละ ทำอย่างนี้ไม่ใช่ทำแค่นาทีเดียว สองนาทีนะ ต้องทำติดต่อต่อเนื่อง เช่น เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี อย่างนี้นะ ไก่ฟักไข่ เห็นมั้ย ใช้เวลาสามอาทิตย์ มันถึงออกลูกมาเป็นตัว ที่ไก่มันท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร หรือว่าสัตว์โลกที่ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร มันต้องใช้เวลาติดต่อต่อเนื่อง กกไข่มันถึงออกลูกมาเป็นตัว เรานี้ก็เหมือนกัน เรารู้จักสภาวะธรรม เราต้องใจเข้มแข็ง เพราะเราประชาชน เราจะเป็นคฤหัสถ์ยังไม่ได้บวช เราก็เป็นพระอริยเจ้าได้ ตั้งแต่พระโสดาบัน ถึงอนาคามี เราเป็นนักบวชยิ่งพัฒนาตั้งแต่พระโสดาบันให้ตัวเองเป็นพระอรหันต์ มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบัน
จะไปมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ มีเพศสัมพันธุ์ทางความคิดทางอารมณ์อย่างนี้ไม่ได้นะ มันเสียคน สิ่งเหล่านี้มันถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม แม่น้ำ มหาสมุทร ฝนตกมาเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม น้ำท่วมบ้าน ท่วมเมืองยังไม่เต็มหรอก ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันไม่พอหรอก เราเห็นภัยในความเวียนว่ายตายเกิด ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทุกท่านทุกคนต้องเอาใจใส่ ความสุข ความดับทุกข์ มันจะมีอยู่กันเราทุกๆ คน เราอย่างนี้เราทำได้ปฏิบัติได้ เพราะเราไม่ได้ไปแก้ที่ลูกที่หลาน ไม่ได้แก้ที่พ่อที่แม่ ไม่ได้แก้ที่ประชาชนคนทั้งห้อง แก้ที่ตัวเรา ไฟต์ติ้งที่ตัวเรา เพราะอย่างนี้มันง่าย เมื่อเราทำเป็น ทำเก่ง ทำจนชำนิชำนาญ เราค่อยบอกคนอื่น อย่างนี้เค้าเรียกว่าสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ประชาชนก็เป็นสุปฏิปันโน ผู้ที่บรรพชิตก็สุปฏิปันโน ถ้าเราเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต มีความสุขในการเสียสละ ต้องจัดการตัวเอง ต้องเห็นความสำคัญในปัจจุบัน ทำอย่างนี้แหละ เพราะว่าทุกๆ คนมันไม่เห็นนะ เห็นอยู่แต่ว่ามันประมาท มันเพลิดเพลิน เพราะเรายินดีที่จะบริโภคอวิชชา บริโภคความหลง หรือว่าบริโภคกาม เราต้องเข้าใจนะ ต้องเจริญสติสัมปชัญญะ เจริญอานาปานสติ มีความสุขในการทำงาน ในปัจจุบันให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ธรรมะนี่ก็มันไม่ใช่ของง่ายหรอก เป็นความคิดที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้องอยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างจะก้าวไปเพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee