แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
หากถามว่าอนาคตของเราถูกกำหนดไว้แล้วหรือไม่... เรื่องต่างๆ ที่เราเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ล้วนเกิดจากเหตุ ๒ ประการ คือ ๑. กรรมในอดีตที่เราเคยทำเอาไว้ ส่งผลมาในปัจจุบัน ทั้งวิบากกรรมดีและไม่ดี ๒. กรรมที่เราทำในปัจจุบันชาติ
กรรมในอดีตนั้นผ่านไปแล้ว เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่เราสามารถแก้ไขได้คือ กรรมที่เราทำในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจว่าอนาคตของเราถูกกำหนดไว้แล้วหรือไม่ เช่น มีเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ภพในอดีตเขานั่งสมาธิ ทำบุญเกี่ยวกับการศึกษามาก เกิดมาชาตินี้จึงฉลาด มีสติปัญญาดี แต่ถ้าเขาไม่อ่านหนังสือเลย โดดเรียนตลอดทั้งเทอมแล้วไปสอบ ผลก็คือสอบตก ถึงจะมีสติปัญญาดีแค่ไหนแต่เมื่อมาเจอสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเรียนมาก่อน ก็ทำไม่ได้จึงสอบตก
ดังนั้น ถ้าอนาคตถูกกำหนดไว้แล้วจริงๆ เด็กนักเรียนคนนี้ต้องสอบได้คะแนนดีไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านหนังสือก็ตาม แต่นี่ไม่ใช่ เขาจะได้คะแนนดีเมื่ออ่านหนังสือ แต่ถ้าขี้เกียจไม่อ่านหนังสือก็ได้คะแนนแย่ นี่เป็นตัวชี้ว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับกรรมในอดีตที่มีผลส่วนหนึ่ง และกรรมปัจจุบันอีกส่วนหนึ่งผสมกัน ที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของเรา
สามเณรสีวลีเจริญด้วยลาภสักการะ เพราะในอดีตชาติได้ถวายน้ำผึ้งสดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสีและหมู่สงฆ์ ด้วยผลบุญที่ได้ถวายทานแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยความเคารพเลื่อมใส ส่งผลให้สามเณรสีวลีเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าจะไปอยู่ในแห่งหนตำบลใด ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก ก็จะมีทั้งมนุษย์และเทวดานำลาภสักการะมาถวายมิได้ขาดตกบกพร่อง
คราวใดที่หมู่สงฆ์จะต้องผ่านไปยังถิ่นกันดาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมักจะมีพระดำรัส (สั่ง) ให้พาสามเณรสีวลีไปด้วยเสมอ เพราะจะช่วยให้พระภิกษุทั้งหลายไม่ขัดสนเรื่องข้าวปลาอาหารและปัจจัยสี่
พระสีวลีกุมารเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา พระราชธิดา (ลูกสาว) ของพระเจ้ากรุงโกลิยะ อยู่ในครรภ์มารดายาวนาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพราะเคยทำบาปกรรมในชาติหนึ่งที่ไปล้อมเมืองศัตรูเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจแห่งบุญที่สีวลีกุมารได้เคยถวายน้ำผึ้งสดไว้ ก็ส่งผลทำให้มีผู้นำเครื่องสักการะมาถวายพระมารดาขณะตั้งครรภ์ทุกเช้าเย็นมิได้ขาด
สามเณรสีวลีได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะบรรพชาในช่วงที่จรดใบมีดปลงผมเสร็จพอดี
ประวัติมาในพระสูตร ในอดีตครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านไปพระวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเทียว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภ คิดว่า แม้เราก็ควรเป็นผู้มีอย่างนั้นเป็นรูปในอนาคต จึงนิมนต์พระทศพลถวายมหาทาน ๗วัน กระทำความปรารถนาว่า ด้วยการกระทำกุศลนี้ แม้ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภเหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล.
พระศาสดาทรงเห็นว่าไม่มีอันตรายสำหรับเธอ จึงทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านนี้จักสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคต แล้วเสด็จกลับไป. กุลบุตรนั้นกระทำกุศลตลอดชีพแล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า มาถือปฏิสนธิในบ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลกรุงพันธุมดี. สมัยนั้น ชาวเมืองพันธุมดีสั่งสนทนากับพระราชา ถวายทานแด่พระทศพล.
วันหนึ่ง คนเหล่านั้นร่วมกันเป็นอันเดียวทั้งหมดถวายทาน คิดว่า ในมุขคือทานของพวกเราไม่มีอะไรบ้างหนอดังนี้ ไม่ได้เห็นน้ำผึ้งแลเนยแข็งแล้ว คนเหล่านั้นจึงวางบุรุษไว้ดักในทางจากชนบทเข้าไปเมืองด้วยตั้งใจว่าจักนำของ ๒ อย่างนั้นจากข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้างมา
ในครั้งนั้น กุลบุตรนี้ถือเอากระบอกเนยแข็งมาจากบ้านของตนคิดว่า จักนำมาหน่อยหนึ่งเท่านั้น เมื่อไปถึงพระนครก็มองหาที่ที่สบายด้วยตั้งใจว่าจะล้างปาก ล้างมือและเท้าแล้วจึงเข้าไป เห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัวเท่ากับงอนไถ คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเรา จึงถือเอาแล้วเข้าไปสู่นคร.
บุรุษที่ชาวเมืองวางดักไว้ เห็นกุลบุตรนั้น จึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านนำน้ำผึ้งมาให้ใคร. เขาตอบว่า ไม่ได้นำมาให้ใครดอกนายท่าน. ก็น้ำผึ้งที่ท่านนำมานี้ขายให้แก่เราเถอะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถือเอากหาปณะนี้ไปแล้วจงให้น้ำผึ้งและเนยแข็งนั้นเถอะ.
กุลบุตรนั้นคิดว่า ของนี้ใช่ว่ามีราคามากและบุรุษนี้จะให้มากก็คราวเดียวเท่านั้น ควรจะลองดู. บุรุษนั้นกล่าวว่า เราไม่ให้ด้วยกหาปณะเดียว แล้วกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับเอา ๒ กหาปณะแล้วจงให้. กุลบุตรนั้นตอบว่า ๒ กหาปณะก็ให้ไม่ให้ บุรุษนั้นจึงเพิ่มโดยอุบายนี้และเรื่อยๆ จนถึงพันกหาปณะ.
กุลบุตรนั้นจึงคิดว่า เราไม่ควรจะลวงเขา ช่างก่อนเถิด เราจำจะถามกิจที่จะพึงทำของบุรุษนี้ ทีนั้น เขาจึงกล่าวกะบุรุษนั้นว่า ของนี้ไม่มีค่ามาก แต่ท่านให้มาก ท่านจะเอาสิ่งนี้ไปด้วยกิจกรรมอะไร. บุรุษนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ชาวเมืองในเมืองนี้ขัดแย้งกับพระราชาถวายทานแด่พระวิปัสสีทศพล เมื่อไม่เห็นของ ๒ สิ่งนี้ในบุญคือทาน จึงพากันแสวงหา ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ชาวเมืองก็จักพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าให้พันหนึ่ง แล้วจงรับเอา.
เขากล่าวว่า ของสิ่งนี้ควรให้แก่ชาวเมืองเท่านั้น หรือควรให้แก่ชนเหล่าอื่น ท่านจะให้ของที่ท่านนำมานี้แก่คนใดคนหนึ่งหรือ
กุ. ก็มีใครให้ทรัพย์พันหนึ่งในวันเดียวในทานของชาวเมืองล่ะ.
บุ. ไม่มีดอกสหาย กุ. ก็ท่านรู้ว่าของ ๒ สิ่งนี้มีค่าพันหนึ่งหรือ. บุ. จ้ะ ฉันรู้.
กุ. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปบอกแก่ชาวเมืองเถิดว่า บุรุษคนหนึ่งไม่ให้ของ ๒ สิ่งนี้ด้วยราคา (แต่) ประสงค์จะให้ด้วยมือของตนเอง พวกท่านอย่าวิตกเพราะเหตุแห่งของ ๒ สิ่งนี้เลย.
บุ. ก็ท่านจงเป็นกายสักขีประจักษ์พยานแห่งความเป็นหัวหน้ามุขคือทานของเราเถิด.
บุรุษนั้นเอามาสกที่ตนเก็บไว้เพื่อใช้สอยที่บ้านซื้อของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง บดจนละเอียด กรองคั้นเอาน้ำส้มจากนมส้ม แล้วคั้นรวงผึ้งลงในนั้น ปรุงกับผงเครื่องเผ็ดร้อน ๕ อย่างแล้วใส่ไว้ในใบบัวใบหนึ่ง จัดห่อนั้นแล้วถือมานั่ง ณ ที่ไม่ไกลพระทศพล คอยดูวาระที่ถึงตนในระหว่างเครื่องสักการะที่มหาชนนำมา ทราบโอกาสแล้วจึงไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคตปัณณาการของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกรุณารับของสิ่งนี้ของข้าพระองค์เถิด.
พระศาสดาทรงอาศัยความเอ็นดูแก่บุรุษนั้น ทรงรับบรรณาการนั้นด้วยบาตรหินที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ทรงอธิษฐานโดยอาการที่เครื่องปัณณาการนั้นถวายแก่ภิกษุถึง ๖๘,๐๐๐ องค์ก็ไม่สิ้นเปลืองไป.
กุลบุตรแม้นั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าพระองค์พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันนี้ชาวเมืองพันธุมดีนำสักการะมาถวายพระองค์ แม้ข้าพระองค์พึงเป็นผู้ถึงความเป็นยอดทางลาภและเป็นยอดทางยศในภพที่เกิดแล้วด้วยผลแห่งกรรมนี้.
พระศาสดาตรัสว่า ความปรารถนาจงสำเร็จอย่างนั้นเถิดกุลบุตร, แล้วทรงกระทำอนุโมทนาภัตรแก่กุลบุตรนั้นและแก่ชาวเมืองแล้ว เสด็จกลับไป.
ฝ่ายกุลบุตรนั้นกระทำกุศลจนตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระราชธิดาพระนามว่า สุปปวาสา ในพุทธุปาทกาลนี้ ตั้งแต่เวลาถือปฏิสนธิพระนางสุปปวาสารับเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ ทั้งเช้าทั้งเย็น.
ครั้งนั้น พวกพระญาติต้องการจะทดลองบุญ จึงให้พระนางนั้นเอาพระหัตถ์ถูกต้องกระเช้าพืชหน่อออกมาจากพืชชนิดหนึ่งๆ ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง ข้าวเกิดขึ้นจากนากรีสหนึ่ง ๕๐ เกวียนบ้าง ๖๐ เกวียนบ้าง แม้เวลาจะทำยุ้งฉางให้เต็ม ก็ทรงเอาพระหัตถ์ถูกต้องประตูยุ้งฉาง ที่ตรงที่พระราชธิดาจับแล้วจับอีก ก็กลับเต็มอีกเพราะบุญ เมื่อคนทั้งหลายกล่าวว่า “บุญของพระราชธิดา” แล้วคดจากหม้อที่มีข้าวสวยเต็มให้แก่คนใดคนหนึ่ง ยังไม่ยกพระหัตถ์ออกเพียงใด ข้าวสวยก็ไม่สิ้นเปลืองไปเพียงนั้น.
เมื่อทารกอยู่ในครรภ์นั่นเอง เวลาล่วงไปถึง ๗ ปีแต่เมื่อครรภ์แก่ นางเสวยทุกข์ใหญ่อยู่ถึง ๗ วัน นางปรึกษาสามีว่า ก่อนแต่จะตาย ฉันจะถวายทานทั้งที่มีชีวิตอยู่เทียว จึงส่งสามีไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยกล่าวว่า ท่านจงไปกราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดา แล้วนิมนต์พระศาสดา. อนึ่ง พระศาสดาตรัสคำใด ท่านจงตั้งใจกำหนดคำนั้นให้ดี แล้วกลับมาบอกฉัน.
สามีไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระศาสดา.
พระศาสดาตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกฬิยธิดาจงมีความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด. พระราชาทรงสดับข่าวนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาง่ายเหมือนน้ำออกจากที่กรงน้ำฉะนั้น คนที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระราชา.
พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสแล้วเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์เสด็จมากราบทูลข่าวของพระราชธิดาแด่พระทศพล. พระราชธิดาตรัสว่า อาหารสำหรับคนเป็นที่พระองค์ นิมนต์ไว้จักเป็นอาหารที่เป็นมงคล ขอพระองค์จงไปนิมนต์พระทศพล ๗ วันเถิดเพคะ.
พระราชาทรงกระทำดังนั้น ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน ทารกดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก” สีวลีทารกนั้นเป็นผู้ทนกรรมทุกอย่างตั้งแต่เกิด เพราะอยู่ในพระครรภ์ถึง ๗ ปี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้สนทนาปราศรัยกับสีวลีนั้น.
ในวันที่ ๗ แม้พระศาสดาได้ทรงภาษิตคาถาในธรรมบทว่า
โย อิมํ ปลิปถํ ทุคฺคํ สํสารํ โมหมจฺจคา ติณฺโณ ปารคโต ฌายี อเนญฺโช อกถํกถี
อนุปาทาย นิพฺพุตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ = ผู้ใดข้ามทางอันตรายคือสงสารอันข้ามได้ยากนี้ ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้มีอันเพ่งฌาน ก้าวล่วงโอฆะ ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์ ดังนี้.
คราวนั้น พระเถระกล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็เธอได้เสวยกองทุกข์เห็นปานนี้ แล้วบวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลี. ตอบว่า ผมเมื่อได้ก็พึงบวช ท่านผู้เจริญ.
พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้น พูดอยู่กับพระเถระ คิดว่า บุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับ พระคุณเจ้า เจ้าค่ะ.
พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนเสวยแล้วกล่าวว่า ท่านอนุญาตแล้วจักบวช. พระนางสุปปวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด.
พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เมื่อจะให้บรรพชา กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ.
สีวลีกล่าวว่า การให้บวชเท่านั้น เป็นหน้าที่ของท่าน ส่วนผมจักรู้กิจที่ผมทำได้. สีวลีนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลในขณะที่โกนผมปอยแรกที่เขาโกนแล้วนั่นเอง ขณะโกนปอยที่ ๒ ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็การโกนผมหมดและการกระทำให้แจ้งพระอรหัตได้มีไม่ก่อนไม่หลังกัน ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว ปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์พอแก่ความต้องการ.
ต่อมา พระศาสดาได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี พระเถระถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ โปรดประทานภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์. ตรัสว่า รับไปเถอะสีวลี.
เทวดาที่สิงอยู่ ณ ต้นนิโครธได้เห็นทีแรก ได้ถวายทานแด่พระเถระนั้นถึง ๗ วัน ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิโคฺรธํ ปฐมํ ปสฺสิ ทุติยํ ปณฺฑวปพฺพตํ ตติยํ อจิรวติยํ จตุตฺถํ วรสาครํ ปญฺจมํ หิมวนฺตํ โส ฉฏฐํ ฉทฺทนฺตุปาคมิ สตฺตมํ คนฺธมาทนํ อฏฺฐมํ อถ เรวตํ
เห็นครั้งแรก ที่ต้นนิโครธ เห็นครั้งที่สอง ภูเขาปัณฑวะ ครั้งที่สาม แม่น้ำอจิรวดี ครั้งที่สี่ ทะเล ครั้งที่ห้า ป่าหิมพานต์ ครั้งที่หก สระฉันทันต์ ครั้งที่เจ็ด ภูเขาคันธมาทน์ ครั้งที่แปด ไปที่อยู่ของพระขทิรวนิยเรวตะ
ในที่ทุกแห่ง เทวดาได้ถวายทานแห่งละ ๗ วันๆ ก็ที่ภูเขาคันธมาทน์ ท้าวเทวราชชื่อนาคทัต ใน ๗ วันได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยน้ำนม วันหนึ่ง, ได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยเนยใส วันหนึ่ง.
ภิกษุสงฆ์กล่าวว่า ผู้มีอายุ แม้โคนมของเทวราชนี้ไม่ปรากฏที่เขารีดน้ำนม การคั้นเนยใสก็ไม่มี, ข้าแต่เทวราช ผลอันนี้เกิดขึ้นแก่พระองค์มาได้อย่างไร.
ท้าวเทวราชกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า นี้เป็นผลแห่งการถวายสลากภัตรเจือน้ำนมแด่พระทศพล ครั้งพระทศพลกัสสปพุทธเจ้า.
ภายหลัง พระศาสดาทรงกระทำการที่เทวดากระทำการต้อนรับพระเถระนั้นผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน ให้เป็นอัตถุบัติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ถึงความมีลาภอย่างเลิศในศาสนาของพระองค์.
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากเหตุ มนุษย์เรานี้ก็มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง สร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถูกต้อง ตามอริยมรรค ให้มนุษย์นี้รู้ว่าความสุขนี้มันมีอยู่ ๒ อย่าง คือความสุขกาย แล้วก็ ความสุขใจ
ความสุขในโลกนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความคิดอยากต่างๆ จัดเป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะมีทุกข์เจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยาก มีจำกัด เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหนผูกพัน กลัวสูญหาย ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร
๒. นิรามิสสุข เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ สะอาด ไม่มีกิเลสปน สงบ ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เสรี เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สมบูรณ์ ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอิ่มเอิบอยู่ภายใน
ความสุขใจนี้หมายถึง เรารู้สภาวะความเป็นอยู่ความเป็นจริง ว่าความสุขทางร่างกายมันเป็นของตรงข้าม ต้องพัฒนาในวิทยาศาสตร์ไปอีก พัฒนาความสุขทางจิตใจ เพราะความสุขทางร่างกายก็ยังเวียนว่ายตายเกิด แม้แต่ความสุขในสมาธิในพรหมโลกก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ความสุขทางจิตใจที่เป็นภาวนาวิปัสสนา เพราะเราพากันรู้เหตุแห่งทุกข์ เลยพากันเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นตัวเรา ความสุขที่จะหลุดพ้นก็คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นอริยมรรค ตามสภาวธรรม เราจะได้ความสุขทางกาย ความสุขทางจิตใจ
เราต้องมีความสุขในการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พ่อแม่นี่สำคัญ เพราะทุกคนมันไปจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่ดี เหมือนกับเราได้เข้าโรงเรียนดี ได้ความรู้ดี ได้ความประพฤติดี เราทุกคนเกิดมาก็ต้องมา มารู้จักอบายมุข เราจะได้ปิดประตูอบายภูมิ เพราะปัญหาของโลกของประเทศ มีปัญหาเรื่องไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ ในการทำงาน ความขยันความรับผิดชอบ ไม่มีความสุขในการอดทน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาได้ ที่พ่อแม่พาเราทำผิดพลาด พ่อแม่ก็คงได้มาจากปู่ย่าตายายผิดพลาด ต้องเพิ่มการประพฤติการปฏิบัติ เพิ่มอานาปานสติเข้าไป มันคงจะได้ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะมันเป็นระบบอัตโนมัติ อันไหนไม่ดี เราไม่คิด ไม่พูดไม่ทำ มันจะเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ มันจะได้เข้าถึงพระศาสนา เราอย่าเอาอัตตาธิปไตย อย่าไปเอาประชาธิปไตยแบบไม่ถูกต้อง
พื้นฐานของอวิชชาของความหลง เค้าเรียกว่าพื้นฐานของความไม่รู้หรือว่าพื้นฐานของคนทำไม่ถูกต้อง เราต้องแหวกว่ายออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะว่ามันติด รู้แล้วก็ตั้งใจสมาทานแล้วก็ประพฤติปฏิบัติ มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้ติดต่อสม่ำเสมอ เราอย่าเพียงแค่ฟังพระพุทธเจ้าบอกสอนเฉยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเก่งก็จะฉลาดก็จะไปเอง ถ้าเราขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไปไม่ได้
คนไม่ทำงานนั้นไม่มี คนเราต้องมีความสุขกับการทำงาน คนเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า? ถ้าไม่ทำงาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่เราทำงานกันทุกคน ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนเราจะมีความสุขได้เพราะทำงาน เราจะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนั้นเป็นเครื่องหมายของความเห็นแก่ตัว เป็นเครื่องหมายของความทุกข์
พระพุทธเจ้า ถึงเป็นผู้ที่ทรงเกียจคร้านไม่เป็น พระอรหันต์ ถึงเป็นผู้ที่เกียจคร้านไม่เป็น จึงต้องมีความสุขในการทำงาน เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ความจนจะมาจากไหน การคิดก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง คิดดีๆวางแผนดีๆ เราคิดดีคิดถูกต้องมันไม่เป็นกิเลสนะ มันไม่ได้เป็นความปรุงแต่งนะ เพราะว่าเราไม่มีความหลง ไม่มีอวิชชา คนเราต้องคิดเก่ง วางแผนเก่ง ไปตามหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ ตามกฎแห่งกรรม กฎของธรรมชาติ ความคิดความปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา มันไม่ได้ไปสร้างปัญหา ให้กับตนเองและผู้อื่น แต่เป็นการช่วยตนและผู้อื่น เป็นสัมมาทิฏฐิ
ต้องแยกใจออกจากขันธ์ ๕ แล้วก็ต้องรู้จักอริยสัจ ๔รู้จักยังไม่พอนะ ยังต้องฝึกต้องปฏิบัติ เพราะอวิชชามันทำลายระบบสมองสติปัญญาของเราเยอะ มันทำให้สมองเราเสียหมด ถ้าเรามีความสุขมีความพอใจอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ฝืน ก็ไม่ได้ทน ถ้าเราทำไปด้วยบังคับ มันก็หน้านิ่วคิ้วขมวด
เพราะความอดทนเป็นสิ่งที่ดีมาก ความขยันเป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติ มันปฏิบัติอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ว่าไปเดินจงกรมนั่งสมาธิหรอก อริยมรรคต้องมีกับเราตลอด เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ส่วนหนึ่ง สำหรับพระไม่มีงานก่อสร้าง ไม่มีงานทำไร่ไถ่นา ต้องเดินจงกรมถึงแข็งแรง เสนาสนะที่เค้าสร้างให้เราก็ปัดกวาดเช็ดถู มันต้องมีข้อวัตรข้อปฏิบัติอย่างนี้เพื่อฝึก ฝึกให้มีความสุข ละความเห็นแก่ตัว มันจะได้เคยชิน เพราะว่าเราทุกคนใจอ่อน ให้มาทางภาคปฏิบัติอย่างนี้
เราใช้ชีวิตประจำวัน เราก็ต้องกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิเช้าเย็น ประชาชนก็กราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ แต่การปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติทุกที่มันต้องมีอยู่ตลอด วัตถุสมัยใหม่ก็ต้องรู้จักสำหรับประชาชน พวกโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต social media พวกนี้เราต้องใช้ให้เกิดปัญญา เราอย่าเป็นคนไม่มีปัญญา อย่าไปหลงในรูป ในเสียงอะไรต่างๆ สำหรับพระละก็ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ต ความวิเวกก็ไม่มี เราต้องฝึกใจนะ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เราจะเป็นคนขาลง กายของเรามันก็จะไม่วิเวก ใจเราไปอยู่กับสิ่งภายนอก ไม่ได้ฝึกอานาปานสติ ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้
คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เพราะเราหยุดวัฏสงสาร เราหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือ สมัยนี้มันอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก ทางจิตใจ นี้เราบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิ ทุกท่านทุกคนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็งมันเป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษให้ภัยในวัฏสงสาร
เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนา ความสุข ถ้าหลงในความสุขมันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่ เราต้องมีสัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เราจะได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราจะรู้ว่าปฏิบัติยังไง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งของเรานี้ คือการปฏิบัติ เราอย่าไปอาลัย อาวรณ์ ให้คิดว่าชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อเติมเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนว่าเดี๋ยวก่อนๆ
มันไม่ได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลิน เราทุกคนนะ ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่การเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหาให้ ผู้ที่เป็นคนรวย หรือว่าเป็นเทวดา ผู้ทรงฤทธิ์ทรงอภินิหาร มันก็ต้องหมดบุญ เพราะว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ความสุขของมนุษย์มันถึงอยู่อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้บอก เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุขกัน เราจะไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราเอาอิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ปฏิบัติสม่ำเสมอ
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ การเรียนการศึกษาที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาเสียสละ การดำรงชีพ การทำมาหากิน มันต้องพัฒนาใจพร้อมๆ กันไป มันจะไปเอาเเต่ทางโลก ทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตมันต้องประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ใจของเราต้อง มีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติการปฏิบัติ เป็นศีลสมาธิ ปัญญาในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะไม่มีความสงสัยเลยว่า ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันจะเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะมันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะทุกอย่างมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เกิดมา เราจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม เราก็พากันปฏิบัติอย่างนี้เเหละ เพราะเราทุกคนเกิดมาเพื่อมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ผู้เป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่ พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามี โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee