แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๒๘ เราเลือกเกิดได้ ด้วยกรรมลิขิต จากความคิดการกระทำคำพูดของตนเอง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน เพื่อมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เห็นอริยสัจ 4 บำเพ็ญพุทธบารมีตั้ง 20 อสงไขยนับเวลายาวนานตั้งหลายล้านชาติ แล้วนำมาบอกมาสอนพวกเรา ศาสนาพุทธก็คือผู้รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง เรียกว่าอริยสัจ 4 คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้สภาพความเป็นจริงถึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า พื้นฐานของผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดคือผู้ที่ยังไม่รู้อริยสัจ 4 การดำเนินชีวิตของเราต้องรู้อริยสัจ 4 เราต้องอาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ เป็นอุปกรณ์ตัวผู้รู้ ในชีวิตประจำวันเราเรียนเราศึกษาอย่างนี้ ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์เพื่อรู้ ทุกคนต้องพากันสนใจเอาใจใส่เป็นพิเศษ เราจะได้ถึงศาสนา ถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าคำว่าศาสนา คือตัวผู้รู้ รู้อริยสัจ 4 ถึงเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธก้าวไกลไปถึงที่สุดคือพระนิพพาน ถ้าเราไม่รู้ก็ทำทั้งผิดทั้งถูกทั้งดีทั้งชั่ว เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการประพฤติการปฏิบัติเพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันพระนิพพาน ปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด เพราะรูปมันก็สวย เสียงมันก็เพราะ อาหารมันก็อร่อย ที่อยู่ที่อาศัยก็สะดวกสบาย อันนี้มันเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติหรือว่าความสุขสงบที่เป็นพรหมโลกก็ว่ายังไม่มีทุกข์อะไร แต่พวกนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นเพียงถนนผ่าน เราทุกคนต้องเอาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมา มาเสียสละ การประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันที่ก้าวไป การปฏิบัตินี้ทุกแง่มุมเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8
ที่ประเทศไทยเราคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเพราะว่าประเทศไทยนี้ตั้งประเทศพร้อมพระพุทธศาสนาเอาหลักการหลักวิชาการของพุทธ คือเอาธรรมเป็นใหญ่เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นที่ตั้ง แต่เราเป็นพุทธในสำมะโนครัว แต่เรายังไม่เข้าใจ ผู้ที่มาบวชก็ยังไม่เข้าใจ ผู้ปฏิบัติประชาชนก็ยังไม่เข้าใจ ถือว่า 99.9% ยังไม่เข้าใจ เพราะเราสนใจแต่เรื่องทำมาหากิน เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน แล้วก็เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ความเป็นจริงแล้วต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เข้าใจเรื่องจิตเรื่องใจ ทำให้เราได้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ไม่อย่างนั้นทำให้เราเสียโอกาสเสียเวลาไปมาก ชีวิตของเรามันเลยตกไปสู่อบายมุข อบายภูมิ มันขาดความมีพุทธเจ้าในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยสงฆ์ในใจ เราไม่ได้เข้าใจถึงอริยสัจ 4 มาแก้ปัญหา มันเลยไปสร้างปัญหา การปฏิบัตินี้ทุกศาสนาก็ไปทางเดียวกัน แต่คนเห็นแก่ตัว เพราะความหลงมันทำให้เราไม่รู้จักอริยสัจ 4 มันเลยแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเลย แตกความสมัครสมานสามัคคี เป็นนิติบุคคลไป ครอบครัวเราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ชีวิตของเราถึงจะก้าวไปด้วยสติด้วยปัญญา
“เราเลือกเกิดได้” เราเป็นผู้ลิขิตชีวิตของเราเอง ไม่ใช่พระพรหมหรือเทวดาอารักษ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราลิขิตชีวิตของตัวเองด้วยสิ่งที่เรากระทำ เรียกว่า “กรรมลิขิต ” ไม่ใช่ “พรหมลิขิต”
“กรรมลิขิต” คือ สิ่งที่เราเคยทำไว้ทั้งกรรมในอดีตชาติ และกรรมในปัจจุบันชาติ ประกอบกันเป็นตัวลิขิตชีวิตของเรา เมื่อเราจะมาเกิด กรรมในอดีตที่เราเคยทำเอาไว้จะเป็นตัวกำหนด ว่าเราจะมาเกิดที่ไหน ในสถานภาพใด บางท่านสงสัยว่าทำไมคนบางคนเกิดมาในบ้านที่มีฐานะร่ำรวย คนบางคนเกิดมาในบ้านที่มีฐานะยากจน แต่ละคนเกิดมามีต้นทุนไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาพิการ บางคนเกิดมามีรูปร่างหน้าตางดงาม บางคนเกิดมามีสติปัญญาดี เป็นต้น
หลายท่านไม่เข้าใจ น้อยเนื้อต่ำใจว่าตนเองโชคร้าย เพราะหาคำตอบไม่ได้ บ่นกับตัวเองว่าอย่างนี้ไม่ยุติธรรม แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมีที่มาที่ไป ไม่มีอะไรเกิดมาโดยความบังเอิญ ทุกอย่างล้วนมีเหตุทั้งสิ้น จากกรรมที่เราทำไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าชีวิตดเราเองสามารถเลือกเกิดได้ จึงต้องถามต่อว่า ควรหรือไม่ ที่จะ “ออกแบบชีวิต” ของเราให้ดีงาม
ยกตัวอย่างในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อ อานันทเศรษฐี มีฐานะร่ำรวยมาก มีทรัพย์ถึง 80 โกฏิ (เท่ากับ 800 ล้านกหาปณะ) ถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันก็หลายหมื่นล้านบาท
อานันทเศรษฐี เป็นเศรษฐีใหญ่ของเมือง แต่เป็นคนขี้เหนียว สลึงเดียวก็ไม่ให้กระเด็น เขามักจะสอนลูกสอนหลานว่า “ลูกเอ๋ย ... อย่าคิดว่าทรัพย์ที่เรามีนี้มากมาย ถ้าลูกใช้จ่ายออกไป วันใดวันหนึ่งทรัพย์นี้ก็อาจจะหมดลงได้ เพราะฉะนั้นลูกจงอย่าปันทรัพย์ให้ใครแม้แต่น้อย เราจะได้รักษาความรวยไว้ได้นานๆ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ฉลาดพึงเห็นความสิ้นแห่งยาสำหรับหยอด (ตา) ความก่อขึ้นแห่งตัวปลวกทั้งหลาย และการประมวลมาแห่งตัวผึ้งทั้งหลาย พึงอยู่ครองเรือน.” นี่คือสิ่งที่อานันทเศรษฐีคิด และพยายามสอนลูกหลานมาโดยตลอด
อานันทเศรษฐีได้แอบเอาเงินไปฝัง เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีธนาคาร เขาเอาเงินใส่โอ่งแล้วเอาไปฝังเป็นขุมทรัพย์ ๕ แห่งด้วยกัน เพราะคิดว่าถ้าฝังทรัพย์ไว้ที่เดียวกันหมด หากเกิดอะไรขึ้นมาจะมีปัญหาได้ เขาจึงกระจายความเสี่ยงโดยการฝังทรัพย์ไว้ ๕ แห่ง โดยไม่บอกให้ลูกรู้ เพราะกลัวว่าถ้าบอกไปแล้ว เดี๋ยวลูกอาจจะไปแอบขุดทรัพย์ของตน อานันทเศรษฐีตั้งใจว่าถึงคราวใกล้ตายก่อนค่อยบอกลูก เรื่องขุมทรัพย์ที่ตนฝังไว้ แต่เผอิญอานันทเศรษฐีตายกระทันหันจึงไม่ทันได้บอก
ในสมัยพุทธกาล ตำแหน่งเศรษฐีเป็นเหมือนตำแหน่งผู้บริหารเศรษฐกิจของเมือง คล้ายๆ รัฐมนตรีคลังในปัจจุบัน หลังจากอานันทเศรษฐีตาย พระราชาเรียกลูกของอานันทเศรษฐี ชื่อ มูลสิริ เข้าเฝ้า แล้วตั้งใจให้มูลสิริเป็นเศรษฐีแทนพ่อ
ส่วนอานันทเศรษฐีพอตายก็ไปเกิดในท้องของหญิงจัณฑาลอยู่ที่ประตูเมือง เพราะไม่ได้ทำบาปหนักอะไรมากนักจึงไม่ไปอบาย ยังสามารถกลับมาเกิดเป็นคนได้
การที่อานันทเศรษฐีไปเกิดในท้องของหญิงจัณฑาลนี้ เขาออกแบบชีวิตด้วยตัวของเขาเอง ด้วยความที่ชาติก่อนเป็นคนขี้เหนียวมาก จึงมาเกิดในท้องของหญิงจัณฑาล พอเกิดมาก็ยากจน ยิ่งกว่านั้น ทันทีที่อานันทเศรษฐีมาเกิดในท้องแม่ หมู่คนจัณฑาลที่อาศัยอยุ่ที่ประตูเมืองก็แทบจะหางานทำไม่ได้ อิทธิพลจากวิบากกรรมความตระหนี่แบบสุดๆ ส่งผลแผ่ไปทั่ว
หญิงจัณฑาลผู้นี้อาศัยอยู่กับคนจัณฑาลประมาณพันตระกูล คนจัณฑาลเหล่านั้นรู้สึกว่าผิดสังเกต เพราะแต่ก่อนพวกเขาไม่เคยลำบากขนาดนี้ ตอนนี้แค่พอจะได้ข้าวมากินเพื่อยังชีพก็แสนสาหัส ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจแยกคนทั้งพันตระกูลออกเป็น 2 ส่วน ปรากฏว่าตระกูลที่หญิงจัณฑาลคนนี้อยู่กลับฝืดเคือง ในขณะที่อีกกลุ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น
จากนั้นพวกเขาก็ค่อยๆ แยกกันอยุ่ทีละครึ่งๆ สุดท้ายก็มาพบว่าตัวของหญิงจัณฑาลนี้เป็นกาลกิณี จนท้ายที่สุดพ่อบ้านทนไม่ไหวถึงขนาดต้องขอแยกตัวออกจากหญิงจัณฑาลคนนี้ที่ยังอุ้มลูกอยู่ในครรภ์ ชีวิตของหญิงจัณฑาลลำบากมาก การงานก้หาไม่ได้จนต้องออกไปขอทาน กว่าจะได้ข้าวมานิดนึงพอประทังชีวิตก็แสนสาหัส
เมื่อคลอดลูกออกมา มือ เท้า ตา หู จมูก ปาก มันบิดเบี้ยวไปหมด ตาเหร่ จมูกบิด ปากแหว่ง หน้าตาเหมือนปีศาจคลุกฝุ่นดูไม่ได้ มิหนำซ้ำวันไหนถ้าแม่พาลูกออกไปขอทานด้วย วันนั้นก็มักจะขอทานอะไรไม่ได้เลย ต้องทิ้งลูกไว้ที่บ้าน ตัวเองออกไปขอทานจึงพอจะได้อาหารมาบ้าง แล้วก้เอาอาหารมาแบ่งให้ลูกกิน
ครั้นพอลูก อายุได้ประมาณ 4-5 ขวบ เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แม่ก็บอกว่า “ ลูกเอ๋ย ... แม่ดูแลเจ้ามาถึงขนาดนี้จนตัวเองแทบตาย เจ้าก็พอเดินได้แล้ว ไปขอทานเลี้ยงชีพเองเถอะนะ ” ว่าแล้วก็ส่งกระเบื้องแตกให้แผ่นหนึ่ง จากนั้นเด็กน้อยอานันทเศรษฐีก็จำใจต้องถือกระเบื้องแตกออกไปขอทานเลี้ยงชีพเอง
อยู่มาวันหนึ่ง เด็กน้อยอานันทเศรษฐีเดินผ่านหน้าบ้านตัวเองก้ระลึกชาติได้ จำได้ว่านี่เป็นบ้านของตนเอง จึงเดินเข้าไปในบ้าน แต่พอลูกของมูลสิริเศรษฐีเห็นหน้าเด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่นเข้า ก็ร้องไห้เพราะตกใจกลัว คนรับใช้เลยต้องหิ้วเด็กน้อยอดีตอานันทเศรษฐีไปโยนทิ้งที่กองขยะ เหตุเพราะทำให้ลูกชายเศรษฐีตกใจ
เวลานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตผ่านมาพอดี มีพระอานนท์เดินตามหลัง พระองค์เห็นเหตุการณ์นั้นก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์แสงส่องมากระทบพระเขี้ยวแก้วของพระองค์ก็จะมีแสงวาบออกมา
พระอานนท์เห็นดังนั้นก็รู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น จึงกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ มีเหตุอันใดหรือ พระพุทธเจ้าข้า ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า “ อานนท์เธอเห็นเด็กน้อยในกองขยะนั้นหรือไม่ เด็กคนนั้นคืออานันทเศรษฐี ”
จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ตามมูลสิริเศรษฐี และครอบครัวทั้งหมด รวมทั้งเด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่นมาประชุมพร้อมหน้ากัน แล้วจึงตรัสกับมูลสิริเศรษฐีว่า พวกท่านรู้หรือไม่ว่าเด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่นผู้นี้เป็นใคร ทุกคนตอบพร้อมกันว่า “ ไม่รู้...เด็กที่ไหนหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ เด็กคนนี้ภพในอดีตคือพ่อของพวกท่าน...อานันทเศรษฐี ” แต่ทุกคนต่างก็ไม่มีใครเชื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสั่งให้เด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่นไปชี้ขุมทรัพย์ 5 แห่ง
สุดท้ายลูกๆ ทุกคนจึงยอมเชื่อว่าเด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่นคือพ่อของพวกเขาจริงๆ เพราะเด็กน้อยชี้ขุมทรัพย์ได้ตรงจุดและถูกต้องทั้งหมด สุดท้ายคนในครอบครัวก็ยอมให้การอุปถัมป์เด็กน้อยปีศาจคลุกฝุ่น เขาจึงรอดตัวด้วยอาศัยบารมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า “เราคือผู้ออกแบบชีวิตของตัวเอง”
พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่มูลสิริเศรษฐีนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
ปุตฺตา มตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหญฺญติ อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ. คนพาล ย่อมเดือดร้อนว่า ‘บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่, ทรัพย์ (ของเรา) มีอยู่’, ตนแลย่อมไม่มีแก่ตน, บุตรทั้งหลายจักมีแต่ที่ไหน? ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน?
พึงทราบเนื้อความแห่งคาถานั้นว่า :- "คนพาลย่อมเดือดร้อนด้วยความอยากในบุตร และด้วยความอยากในทรัพย์ว่า ‘บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่, ทรัพย์ของเรามีอยู่’, คือย่อมลำบาก ย่อมถึงทุกข์, คือย่อมเดือดร้อนว่า ‘บุตรทั้งหลายของเราฉิบหายแล้ว’, ย่อมเดือดร้อนว่า ‘ฉิบหายอยู่’, ย่อมเดือดร้อนว่า ‘จักฉิบหาย." แม้ในทรัพย์ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
คนพาลย่อมเดือดร้อนด้วยอาการ ๖ อย่าง ด้วยประการฉะนี้,
คนพาล แม้พยายามอยู่ในที่ทั้งหลายมีทางบกและทางน้ำเป็นต้น ทั้งกลางคืนและกลางวันโดยประการต่างๆ ด้วยคิดว่า ‘เราจักเลี้ยงบุตรทั้งหลาย’ ชื่อว่าย่อมเดือดร้อน,
แม้ทำกรรมทั้งหลายมีการทำนาและการค้าขายเป็นต้น ด้วยคิดว่า ‘เราจักยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น’ ชื่อว่าย่อมเดือดร้อนเหมือนกัน;
ก็เมื่อเขาเดือดร้อนอยู่อย่างนี้ ตนแลชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน,
เมื่อเขาไม่อาจทำตนที่ถึงทุกข์ด้วยความคับแค้นนั้นให้ถึงสุขได้ แม้ในปัจจุบันกาล ตนของเขาแล ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน,
เมื่อเขานอนแล้วบนเตียงเป็นที่ตาย ถูกเวทนาทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุด เผาอยู่ราวกะว่าถูกเปลวเพลิงเผาอยู่ เมื่อเครื่องต่อและเครื่องผูก (เส้นเอ็น) จะขาดไป เมื่อร่างกระดูกจะแตกไป แม้เมื่อเขาหลับตาเห็นโลกหน้า ลืมตาเห็นโลกนี้อยู่
ตนแล แม้อันเขาให้อาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง ให้บริโภควันละ ๓ ครั้ง ประดับด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น เลี้ยงแล้วตลอดชีวิต ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน
เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถจะทำเครื่องต้านทานทุกข์ โดยความเป็นสหายได้, บุตรจักมีแต่ที่ไหน? ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน?
คือว่าในสมัยนั้น บุตรหรือทรัพย์จักทำอะไรได้เล่า? แม้เมื่ออานนทเศรษฐีไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ รวบรวมทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่บุตร นอนบนเตียงเป็นที่ตายในกาลก่อนก็ดี ถึงทุกข์นี้ในบัดนี้ก็ดี, บุตรแต่ที่ไหน? ทรัพย์แต่ที่ไหน? คือว่าบุตรหรือทรัพย์นำทุกข์อะไรไปได้? หรือให้สุขอะไรเกิดขึ้นได้เล่า?"
คนเก่ง คนฉลาด คนมีทรัพย์มากก็มีมากอยู่แล้ว แต่คนดีนี้มีน้อย คนดีเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสก็ต้องมีศีล ๕ คุณแม่ชีก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระก็ศีล ๒๒๗ เป็นคนที่เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่ไม่ลุ่มหลงในอัตตา และเป็นคนที่รู้จักสัจธรรมว่าเราเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป นี้คนดีที่พระพุทธเจ้าท่านยกเอาเกณฑ์มาพิจารณา
ในสังคมในครอบครัวก็ต้องการคนอย่างนี้ ไม่ใช่มีความต้องการแต่ทางวัตถุเท่านั้น บัณฑิตที่เข้ามาบวชก็ต้องทำตามคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อเราลาสิกขาไปแล้วจะได้มีหลักเกณฑ์ มีจุดยืนที่ประเสริฐ ทุกวันนี้สังคมต้องการคนดีมีคุณธรรม แม้ว่าจะไม่ร่ำรวยล้นฟ้า ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ยากจน มีเครดิตดี ลำบากก็มีคนช่วย คนไม่ช่วย เทวดาก็ช่วย อยู่ที่บ้านที่พักของเรา ถ้าเราปฏิบัติแล้ว พระรัตนตรัยก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อเรากราบไปที่เตียงนอนของเรา พระคุณพ่อแม่ก็อยู่ที่ใจของเรา
การบวชถือเป็นหนทางอันประเสริฐเพื่อที่จะทดแทนพระคุณของพ่อแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เป็นการสร้างบุญบารมีให้กับตนเองด้วย ผู้ที่รู้จักบุญคุณและทดแทนพระคุณของผู้มีอุปการคุณย่อมจะมีแต่ความเจริญ การบวชนั้นมีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ แต่กว่าที่จะได้บุญมาก อานิสงส์มาก ก็ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ให้ถือศีลพระวินัย จะเป็นพระได้ต้องถือศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์
เราต้องรับผิดชอบเรื่องการรักษาศีล เราต้องรักษาเอง คนอื่นจะช่วยรักษาไม่ได้ พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้บอก เราต้องรักษาเอง เราจะได้ผลใหญ่ เราต้องรักษาศีล ตั้งใจปฏิบัติ ไม่ว่าอิริยาบถไหน เราต้องเอาพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าเป็นหลัก อย่างพระสารีบุตรที่ท่านไม่ละเมิดศีลแม้เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นตัวอย่าง ปัจจุบันก็พระอาจารย์มั่นที่มีลูกศิษย์เกิดขึ้นมากมายเพราะการรักษาศีล
การเดินจงกรมก็ไม่มีใครเดินให้เรา จึงต้องเดินเอง ขาขวา พุท ซ้าย โธ เดินกลับไปกลับมา การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน เราต้องนั่งเอง ที่นั่งเป็นหมู่ก็เพื่อที่จะให้เรามีหลัก เราก็ต้องนั่งทำใจให้สงบ หายใจเข้า พุท ออก โธ หายใจเข้าออกสบายๆ อยู่กับพุทโธ ชำระจิตใจของเราออกจากความคิดความฟุ้งซ่านต่างๆ ถ้าใจของเราสงบก็จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เราจะนึกพุทโธตามลมหายใจเข้าและออกก็ได้
ทุกคนสามารถทำได้ ไม่เฉพาะแต่พระภิกษุ สามเณร หรือคุณแม่ชีเท่านั้น ให้เรานึกบริกรรมตามลมหายใจเข้าออกเรื่อยไป บริกรรมพุทโธจนจิตใจของเราเป็นหนึ่งสงบเย็น หรือจะนึกบริกรรมพุทโธๆๆๆๆๆ ติดต่อต่อเนื่องกันไป แล้วแต่จริตนิสัยของใครจะถนัดอย่างไร ให้กายของเราตั้งตรง ครั้งแรกนั่งให้ร่างกายนิ่งๆ ก่อน ใจยังไม่สงบไม่เป็นไร ให้ร่างกายของเรานิ่งๆ สบายๆ ๑๕-๓๐ นาที ถ้าปวดเมื่อยก็ขยับสักครั้งหนึ่ง ฝึกไปเรื่อยๆ จนชำนาญ
การภาวนานั้นเบื้องต้นต้องยึด “พุทโธ” เป็นหลักทุกอิริยาบถ ถ้าเราเจริญวิปัสสนาเลยจะข้ามขั้นตอนไป ทำให้ใจไม่มีหลัก การเจริญปัญญาด้วยการพิจารณาวิปัสสนาก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควรหรือไม่ได้ผล กลับกลายเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นวิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะนึกเอาคาดเดาเอา แล้วยึดว่าเรารู้จริงเห็นจริง ปัญญาที่แท้จริงจะเกิดจากความสงบ เยือกเย็น สติชัดเจนอยู่กับปัจจุบันทุกเวลานั่นเอง จะสามารถดับทุกข์ได้ทุกขณะทุกเวลา
การบวชที่จะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลทุกข้อให้ได้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิกขาบทน้อยใหญ่ ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นอนดึก ตื่นเช้า บิณฑบาต ทำอะไรให้ได้เต็มร้อย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งใจสำรวมรักษากาย วาจา ใจของเราให้สงบเรียบร้อย ไม่คึกคะนอง สรวลเสเฮฮา นิสัยทางโลก ความคิดทางโลก เราก็หยุดมันไว้ก่อน พักไว้ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ศีลของเราด่างพร้อย พยายามเก็บตัวเพื่อให้ใจสงบ ฝึกอยู่คนเดียวด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรม เมื่อมีกิจวัตรจึงออกมาตามเวลากิจวัตรต่างๆ เราถือว่าบำเพ็ญกุศลหมด ตั้งแต่ปัดกวาดเช็ดถูหรืออะไร ต่างล้วนเป็นเหตุให้เกิดบุญกุศล
ให้เรามารู้จักวิธีทำใจให้สงบ โดยอยู่กับการหายใจ อยู่กับการท่องพุทโธ มีสติกับการทำงาน กับกิจวัตร โดยเฉพาะการฝึกให้จิตใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับการท่องพุทโธ เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เช่น เมื่อเราเจ็บไข้ไม่สบาย เราเข้าสมาธิ เราต้องอาศัยอุปกรณ์ผูกจิตผูกใจของเรา
ให้พากันมารู้จักอารมณ์ สิ่งที่กระทบทางหู ตา จมูก กาย พวกนี้เรียกว่าอารมณ์ เราต้องรู้จักมันให้ดี เมื่อเรารู้จักแล้ว เราพยายามที่จะไม่หวั่นไหว ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ว่าจะมาแบบรุนแรงหรือสวยสดงดงาม ให้เรารู้จักว่านี้เป็นเพียงอารมณ์ ถ้าเรารู้จัก เราฉลาด อารมณ์ก็จะสลายไป อารมณ์นี้มีปัญหามาก ทำให้เราเป็นประสาท หงุดหงิด ที่สุดก็ทำให้เราทำตามความอยาก ความชอบ ไม่ชอบ ความเบื่อ ไม่เบื่อ อย่างนี้
ถ้าใครรู้จักจะทำจิตใจให้หนักแน่น รู้จักมีอุเบกขา รู้จักมองเป็นอนิจจัง รู้จักทำให้เป็นของว่างเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็จะนำปัญญามาให้เราเพราะเราอยู่ในวัด เราต้องถูกใช้งาน แม้อยู่บ้านยิ่งต้องใช้งาน เราจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ จิตใจไม่หวั่นไหว ยกตัวอย่างองค์ในหลวง ใครจะอย่างไรก็เฉย ยิ่งเราเป็นพระ เราก็ต้องฝึกเฉยอย่างนี้แหละ ตามหลักพระศาสนาท่านสอนให้ดีก็ปล่อย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ แม้แต่เราทานข้าว ได้พักผ่อน ถึงแม้จะสบาย ก็ไม่ยึดถือ นี้เรียกว่าปล่อย ฉะนั้นการบวชของเราคือได้มาฝึกอย่างนี้ด้วย ให้กุลบุตรได้ฝึก เรียกว่า ฝึกรู้จักดี รู้จักชั่ว ผิดถูก จะได้เลือกเฟ้นทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่อะไรก็ทำไปหมด อย่างนี้ใช้ไม่ได้ โบราณเขาถึงให้บวช ให้เป็นทิด ความหมายของทิดนี้ก็คือบัณฑิต เพื่อให้มีจุดยืนของชีวิตว่าเราก็เคยผ่านการฝึกมาแล้ว
จุดยืนของทุกคนทุกท่านต้องนำความดีนี้ไปใช้ เพื่อบูชาพระคุณพ่อแม่ พระศาสนา ญาติวงศ์ตระกูล พยายามสร้างร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับตัวเอง จะได้เป็นที่พึ่งให้กับตนเองและผู้อื่น จะได้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า การบวชของเราก็จะมีอานิสงส์ใหญ่ ให้ตั้งใจ ถึงจะเหนื่อยถึงจะยากก็อดทน โรงเรียนดีๆ ก็ต้องมีระเบียบวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร บวชน้อย บวชมากไม่สำคัญ อยู่ที่ใจ ต้องฝึกรักษากาย วาจา ใจ
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัย อย่าไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่า จึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเองว่าเรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัว แก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องการขัดใจตัวเอง ถ้าขัดใจตนเองคิดว่ามันไม่ถูกจริต มันไม่ถูกนิสัย ไม่ใช่ทางสายกลาง คิดว่าอย่างนั้น คนเรามันหลงถ้าได้ตามใจชอบก็ว่าดี ไม่ได้ตามชอบก็ว่าไม่ดี
ท่านจึงให้เราทำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็น "สุคโต" คือไปด้วยดี เรามาสว่างเราก็ให้ไปสว่างด้วย ฐานะความเป็นอยู่เราก็ดี มีความสุข มีความร่ำรวย เราก็อย่าไปหลงในความสุขความสบายเหล่านั้น ดูอย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความสุขท่านก็ไม่ติด ไม่หลง ให้เราเอาความสบายความสะดวกนี้มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานอันสูงสุดเราก็มีโอกาสได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับไป ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้ไม่สาย ขอให้ทุกท่านทุก คนประพฤติปฏิบัติตั้งแต่โอกาสบัดนี้ไป อย่าได้ผัดวัน ประกันพรุ่งต่อรองเรื่อยไป ต้องให้มีความเห็นความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดเจน และมีเจตนาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความสม่ำเสมอ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee