แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๒๓ ให้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นกิจกรรมที่ควรทำควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ในโลกนี้คือศาสนา เพราะมนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ เราต้องพัฒนาทั้งเทคโนโลยีพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ แล้วก็พัฒนาถึงใจ ใจนี้คือการเราจะพัฒนาใจต้องเอาศาสนาเป็นที่ตั้ง พระพุทธศาสนานี้เป็นธรรมะที่สูงสุด ที่มนุษย์เราทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ การปฏิบัติในพระศาสนานี้เรียกว่ากิจกรรม ที่เราทำ เรียกว่า กิจกรรมหน่ะ
การเรียนการศึกษานี้ถ้าเราเอาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เอาตำรับตำราเป็นหลัก การศึกษาที่ก้าวหน้ามันต้องเน้นทั้งความรู้เน้นทั้งการปฏิบัติ การปฏิบัติเรียกว่ากิจกรรม กิจกรรมเรียกว่าศีล ที่ตั้งมั่นในกิจกรรม เขาเรียกว่าสมาธิ คือทำตามพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทุกคนถึงปิดอบายมุข อบายภูมิ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงแต่ผู้บอกผู้สอน การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่เรา เราต้องประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติคือดำเนินธุรกิจทั้งความรู้ทั้งการปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันเราต้องเข้าสู่กิจกรรม ว่ามนุษย์เราไม่คิดมันก็เป็นกิจกรรม อันนี้ไม่พูดก็เป็นกิจกรรม เราต้องเสียสละอย่างนี้เราต้องทำอย่างนี้ ต้องปฏิบัติอย่างนี้ มนุษย์เราจะขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้
ศาสนานี้เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ศาสนานี้ไม่ใช่นั่งสมาธินั่งหลับตานะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่านั่งสมาธินั่งหลับตาอย่างเดียว ท่านสอนว่าสมณะที่1-2-3-4 อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันอยู่กับเราตั้ง 8 อย่าง เรียกว่าอริยะมรรคมีองค์ 8 หลายๆ ประเทศยังเข้าใจผิด จะไปเน้นแต่เรื่องสมาธิ ทิ้งกิจกรรมอย่างอื่น ทิ้งศีลไป ทิ้งปัญญาไป เราเอาแต่สมาธิมันเสียหายเสียเวลา มันขัดกับการดำรงชีพการดำรงชีวิต มันไม่เห็นธรรมชาติ เพราะมันขาดกิจกรรม
อย่างเราไปเรียนเราไปศึกษาอยู่ในโรงเรียน เราสอนแต่หนังสือสอนตำราสอนอะไรน่ะ แต่นักเรียนไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย ห้องส้วมก็สกปรก ห้องสุขาก็สกปรก ห้องเรียนก็สกปรก เราไปเน้นตั้งแต่ตำรับตำราทิ้งกิจกรรม เราเลยเสียหาย ไม่เข้าใจ โรงเรียนที่เขาเก่งเขาทันสมัยถึงมีกิจกรรมเยอะ เน้นภาคปฏิบัติเยอะ ให้นักเรียนคิดเป็นวางแผนเป็น เราจะก้าวหน้าวิทยาศาสตร์แต่ละอย่างมันก็ต้องมีกิจกรรมต้องค้นคว้า ถ้าอย่างนั้นมันก็ย่ำต็อกอยู่อย่างนั้น เราก็ไม่มีความสุขในการทำงาน การทำกิจกรรมอย่างนี้มันเหนื่อยก็จริง แต่ทางจิตใจมันมีพลังนะ เราต้องรู้จักว่าความสุขที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจ ที่มีศีล คือใจที่มีกิจกรรมมีใจที่เสียสละ มันถึงจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าเรียนแต่ในหนังสือเรียนในตำรา ไม่มีกิจกรรมหรือว่าไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ มันไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองหรอก พวกที่เชื่อมั่นในตนเอง บางทีก็ทำเพื่อทิ้งทางจิตใจ ไม่ทำเพื่อเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว มันเอาตัวตนมาก มันก็ไปเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้พัฒนาจิตใจมันก็ตกอยู่ในกาม ตกอยู่ในความสนุก สะดวกสบาย หลงขยะ แย่งขยะกัน อย่างพวกเณรมาบวชอย่างนี้ มาเข้าคอร์ส มาเข้ากิจกรรมมาเข้าภาคปฏิบัติ ลองคิดดูสิ พระเรามาบวชไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ไม่มีการรักษาศีล 227 ไม่มีการรักษา 21000 ในพระวินัยปิฎก ปล่อยให้มันว่าง ไม่มีกิจกรรมอะไรเลย จิตใจมันก็สกปรก กุฏิวิหารมันก็สกปรก มันขาดศีล สมาธิ ปัญญา 3 อย่างนี้ มันไม่ได้เป็นกิจกรรม ถ้าเราอยู่ที่ไหนเราทำเราย่อมดับทุกข์ได้ เราดูตัวอย่างประเทศที่เขาไม่เจริญ เขาไม่ได้พัฒนาใจ ไม่ได้เรียนไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่พอ ไม่ได้พัฒนาใจ ในชีวิตประจำวันของเราก็พากันกินแต่ยาพิษหน่ะ กินยาฆ่าแมลง เช่นผักก็คอยซื้อเขา ผลไม้ก็คอยซื้อเขา เพราะมันไม่รู้จักกิจกรรมที่เราควรจะทำ ในชีวิตประจำวันเลย เอาตั้งแต่อาศัยแต่คนอื่น คนปลูกผักปลูกผลไม้ในเมืองไทย ก็มีน้อยกว่าคนทาน มันจำเป็นต้องใช้ยาฉีดยาฆ่าแมลง เป็นต้น ต้องพากันรู้จัก ความสุขความดับทุกข์ของเรานี้ มันต้องพากันประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พากันไปสายมูมากเกิน สายหลงงมงายเกิน ไปมีเครื่องรางของขลัง บางคนก็ยังไปกินเหล้ากินเบียร์เครื่องรางของขลังก็ช่วยเราไม่ได้ มันขี้เกียจขี้คร้าน เครื่องรางของขลังมันก็ช่วยเราไม่ได้ บางทีก็ไปไหว้สารพัด มันเป็นสายโมหะมากเกิน เราต้องเข้าสู่สติสัมปชัญญะนะ กลับมาหาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราทุกคนจะได้มีความสุข
ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ เป็นต้น ชื่อว่า “อกรณียะ”. คำว่า วิบัติ หมายถึง ความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน ความเสียหาย ความบกพร่อง และความใช้การไม่ได้
โดยนัยแห่งอรรถาธิบายดังกล่าวข้างต้น ศีลวิบัติ ก็คือ การกระทำที่ขัดต่อศีลหรือการทำให้ศีลบกพร่องนั่นเอง และพร้อมกันนี้ผู้รจนาอรรถาธิบายได้ยกตัวอย่างว่าศีลวิบัติที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุก็คือ พระที่ล่วงละเมิดศีลข้อปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่มิได้ยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามนัยแห่งศีลวิบัติดังกล่าวข้างต้น ก็พอจะนำมาอธิบายศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์ได้ โดยแบ่งตามนัยของศีลที่คฤหัสถ์สามารถสมาทานได้ดังนี้
1. ศีล 5 สำหรับสาธุชน หรือที่เรียกว่าคนดีต้องมีศีล 5 ข้อเป็นนิจศีล คือ รักษาได้เป็นประจำไม่ขาด ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็อนุโลมเรียกได้ว่าศีลวิบัติ
2. อุบาสกศีล หรือศีล 8 สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ตลอดระยะเวลาที่สมาทานวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ถ้ามีการล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกได้ว่า ศีลวิบัติ
อาจารวิบัติ หรือวิบัติแห่งอาจาระก็ทำนองเดียวกัน ถ้ามีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อหลักแห่งจริยธรรมก็ถือได้ว่าวิบัติแห่งอาจาระ ถ้าเป็นภิกษุล่วงละเมิดอาบัติตั้งแต่ถุลลัจจัยจนถึงทุพภาสิตก็เรียกได้ว่าอาจารวิบัติ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมขัดต่อหลักจริยธรรมอันดีงามของสังคม ก็ถือได้ว่าอาจารวิบัติ
สำหรับทิฏฐิวิบัติ ก็คือ ความเห็นที่ขัดต่อความเป็นจริงหรือความเห็นผิดเป็นถูกนั่นเอง ถ้าเป็นภิกษุก็คือเห็นผิดไปจากธรรม จากวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็เห็นจะได้แก่การเห็นที่ผิดไปจากกฎเกณฑ์และกติกาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าควร รวมไปถึงความเห็นที่ผิดไปจากคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่
ประการสุดท้าย อาชีววิบัติหมายถึง ความวิบัติแห่งการประกอบอาชีพ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศภาวะรวมไปถึงการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดกฎหมายด้วย ถ้าเป็นภิกษุก็คือการแสวงหาลาภสักการะในทางมิชอบ ไม่ประกอบด้วยธรรมและวินัย แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็คือการเลี้ยงชีพที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถืออยู่
สิกขา ๓ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า “กรณียะ”.
"อริยมรรค ๘" คือ ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง 8 นี้ ผู้ใดได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นจะหมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนภาพจากปุถุชน (คนกิเลสหนา) เป็นอริยชน (คนประเสริฐ) เช่นดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
องค์มรรคข้อที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเห็นที่ว่านี้หมายถึงความเห็นของใจ คือคนเราทุกคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ อาจเห็นอะไร ๆ ได้ 2 ทาง คือเห็นทางตา เรียกว่าพบเห็น กับ เห็นทางใจ เรียกว่าคิดเห็น ความเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นทางใจเท่านั้น คือใจคิดไปเห็นไป เห็นด้วยอำนาจความคิด ก็เรียกว่า คิดเห็น ทางศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ คำว่า "ทิฏฐิ" เป็นคำกลาง ๆ อาจหมายถึงทิฏฐิที่ดีก็ได้ หมายถึงทิฏฐิที่ไม่ดีก็ได้ถ้าเป็นความเห็นที่ดี คือเห็นถูกต้องก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่เสียคือเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ
ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึง มีญาณ รู้อริยสัจ 4 ความรู้อริยสัจ 4 ด้วยญาณนี่แหละเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์
ข. ความหมายเบื้องต่ำ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น ทำดีต้องได้รับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว บุญบาปมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริงสัตว์ตายแล้วไปเกิดเป็นโอปปาติกะ (พวกกายละเอียดต่างๆ) พ่อแม่มีพระคุณจริง ผู้หมดกิเลสมีจริงผู้หมดกิเลสแล้วสอนให้ผู้อื่นหมดกิเลสตามมีจริง เป็นต้น
สรุปว่า ความเข้าใจถูกในเรื่องที่ทำให้กิเลสให้หมดไปได้ จึงเรียกว่าสัมมาทิฎฐิ การปฏิบัติเกี่ยวกับทิฏฐิของตนนั้น เมื่อ สรุปตามหลักคำสอนของพระบรมศาสดา มีความโดยย่อดังนี้ ถ้าตนเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ก็พึงประคับประคองสัมมาทิฎฐินั้นไว้ และเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ถ้าตนมีทิฏฐิวิปลาศคือเห็นคลาดเคลื่อนไป ก็พึงทำทิฏฐิของตนให้ตรง ที่เรียกว่า ทิฏุฐุชุกรรม โดยวิธีสามอย่าง คือ ธัมมานุสรณะ คิดนึกทบทวนข้อธรรมคำสอน (เช่นนึกไปตามคำสวดมนต์) ธัมมัสวนะ ฟังธรรม (เช่นฟังเทศน์ ฟังบรรยายธรรม) และธัมมสากัจฉาสนทนาธรรม กิจกรรมทั้งสามนี้เป็นทิฏุฐุชุกรรม คือ วิธีดัดทิฏฐิให้ตรงตามทำนองคลองธรรม
องค์มรรคข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ สังกัปปะ แปลว่า ความดำริ ในวงงานทั่วไป สมัยนี้เรียกว่า ความคิดริเริ่ม ได้แก่ความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ให้มีความก้าวหน้าเรื่อยไป แทนที่จะปล่อยตัวให้จมอยู่อย่างคนที่สำนวนทางศาสนาเรียกว่า "เป็นคนมีความดำริอันจมเสียแล้ว" คนประเภทนี้มักปล่อยตัวตามยถากรรมทำงานไม่เจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าคนสิ้นคิด
คนที่มีความคิดริเริ่มนั้น ในวงการบริหารเรียกว่า คนมีภาวะสร้างสรรค์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Creative Person ซึ่งเป็นที่ต้องการกันมาก
สังกัปปะ คือ ความคิดริเริ่มของคนเรามีทั้งดีและเสีย ความคิดริเริ่มในทางดีเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ความคิดริเริ่มในทางเสีย เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ
ดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า คนเราถ้าปักใจคิดจะทำสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องทำสิ่งนั้น เมื่อทำไปแล้วก็จะต้องรับผลแห่งการกระทำของตน เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้ปรับปรุงสังกัปปะของตนให้ดี ให้เป็นคนมีสัมมาสังกัปปะลักษณะของสัมมาสังกัปปะ มีดังนี้
ก. ความหมายเบื้องสูงสัมมาสังกัปปะมีลักษณะ 3 อย่าง คือ 1. เป็นความคิดที่จะพรากตนออกจากกาม (ตัดความมัวเมาในกามารมณ์) 2. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น และ 3. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยการเบียดเบียนสัตว์
ข. ความหมายเบื้องต่ำ มีนัยเหมือนความหมายเบื้องสูง คือหมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ก็อย่าให้เป็นเรื่องหมกมุ่นอยู่ในกาม เช่น หมกมุ่นในการดื่มสุรายาเมา หมกมุ่นในเพศตรงกันข้าม หมกมุ่นในอบายมุข ตลอดจนความเมาลาภ เมายศ เมาสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า นอกจากนี้ต้องเป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตเคียดแค้นผู้อื่น ไม่แฝงด้วยเล่ห์กลมายาหาทางเบียดเบียนความสุขของใครๆ
องค์มรรคข้อที่ ๓ สัมมาวาจา วาจา หมายถึง การเจรจา คือการแสดงเจตนาของตนให้คนอื่นเข้าใจ โดยตรงได้แก่การพูด อย่างที่คนเราพูดกันด้วยปากอยู่ทั่วไปนี่แหละ โดยอ้อมได้แก่การแสดงออกแทนคำพูดทุกวิธี เช่น การใช้ใบ้ส่ายหน้าเมื่อปฏิเสธ พยักหน้าเมื่อรับ การบอกกล่าวด้วยอักษร เช่น การเขียนหนังสือ การทำเครื่องหมายด้วยภาพหรือด้วยแสงด้วยสี การแสดงโดยปฏิญญา เช่น การครองผ้ากาสาวะอย่างนักบวช การแต่งเครื่องแบบอย่างทหาร การแต่งเครื่องแบบอย่างตำรวจการแสดงตัวเป็นข้าราชการ กิริยาเหล่านี้ ถ้าทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนเป็นเช่นนั้น ก็อนุโลมเป็นวาจา
การใช้วาจา เป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งจุดหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะรู้ความประสงค์ของกันและกันได้โดยทางเดียว คือทางวาจา วาจาจึงเป็นสื่อระหว่างตัวเรากับคนอื่น รวมความว่า กิจการทุกอย่างมีวาจาเป็นหลักทั้งนั้น คนที่ไม่ตระหนักในการใช้วาจาย่อมมีทางเสื่อมเสียได้รอบด้าน อาจทำให้ตนเองเสื่อมจากผลประโยชน์ก็ได้ อาจทำให้ครอบครัวสังคม ตลอดจนประเทศชาติล่มจมก็ได้ ลงได้วาจาเหลวแหลกเสียอย่างเดียว ชีวิตทั้งชีวิตก็จะล้มเหลวตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ปรับปรุงวาจาของตน หลักการปรับปรุงตนในข้อนี้ คือทำตนให้เป็นคนมีสัมมาวาจา อย่าเป็นคนมีมิจฉาวาจา
ลักษณะของสัมมาวาจา ลักษณะของสัมมาวาจา ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการเจรจานั้นจักต้องปราศจากวาจาชั่ว ที่เรียกว่า วจีทุจริต คือ 1. มุสาวาท พูดเท็จ คือเจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง ซึ่งกินความไปถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญกับความจริงเยี่ยงสุภาพชน
2. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด คือเก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะให้เขาแตกกัน หรือให้เขารักตนเจตนารมณ์ของทางศาสนา คือไม่ให้หาความชอบด้วยการประจบสอพลอ
3. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ให้ศาสนิกชนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
4. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหล พูดพล่อยๆ สักแต่ว่ามีปาก อยากพูดก็พูดไป หาสาระมิได้ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ศาสนิกชนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
รวมความว่าสัมมาวาจานั้นท่านมิได้บังคับว่าต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คำนั้นคำนี้ หรือภาษานั้นภาษานี้ กำหนดแต่ให้เป็นวาจาบริสุทธิ์ขั้นพื้นฐาน คือไม่ใช้วจีทุจริตทั้งสี่อย่างดังกล่าวแล้ว เมื่อเว้นจากวจีทุจริตแล้ว ก็ใช้วจีสุจริต วจีสุจริต ได้แก่ วาจาสุภาษิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ 1. พูดเรื่องจริง 2. พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ 3. พูดถูกกาลเทศะ 4. พูดด้วยคำสุภาพ 5. พูดด้วยจิตเมตตา
องค์มรรคข้อที่ ๔ สัมมากัมมันตะ กัมมะ หรือ กรรม แปลว่า การงาน การทำงาน งานที่ทำ กัมมันตะ หมายถึง เป็นผู้มีงานทำ ขอให้กำหนดความลงในตอนต้นนี้เสียก่อนว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนทำงาน มีงานทำทุกคน ไม่ใช่ปล่อยตัวให้เป็นคนว่างงาน หรือเป็นคนเกียจคร้าน งานการไม่ทำ ด้วยเหตุนี้แหละพระบรมศาสดาของเราจึงทรงแสดงจุดสำคัญในการปฏิบัติไว้ คือ การทำงานการปฏิบัติในเรื่องนี้ก็คือให้เป็นคนมีงานดี หรือมีสัมมากัมมันตะ อย่าเป็นคนมีมิจฉากัมมันตะ รวมความว่าสัมมากัมมันตะ หรือการงานชอบนั้น ท่านมิได้ระบุว่าต้องเป็นงานอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กำหนดพื้นฐานเบื้องต้นไว้ ว่าต้องเป็นงานที่ไม่แฝงด้วยทุจริต 3 อย่างเท่านั้น งานที่เป็นทุจริต 3 อย่าง ได้แก่
1. ปาณาติปาต หมายถึงการฆ่าสัตว์นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าคนทั่วไปลงไปถึงฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่น ๆ บาปที่เกิดจากการฆ่านั้นก็หนักเบาลดหลั่นลงไป เช่นฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็เป็นบาปถึงขั้นอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน
เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ศาสนิกชนแก้ปัญหาชีวิตโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และอาจต้องรับผลบาปกรรมเวรต่อไปอีก
2. อทินนาทาน หมายถึงการแสวงหารายได้โดยทางทุจริต อันเข้าลักษณะ "โจรกรรม" คือ ลัก (ขโมยเอาลับหลัง) ฉก (ชิงเอาซึ่งหน้า) กันโชก (ขู่เอา) ปล้น (รวมหัวกันยื้อแย่งเอา) ตู่ (เถียงเอา) ฉ้อ (โกงเอา) หลอก (ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์) ลวง (เบี่ยงบ่ายลวงตาเช่นใช้เครื่องชั่งโกง) ปลอม (ทำของปลอม) ตระบัด (ปฏิเสธ) เบียดบัง (ซุกซ่อนเอาบางส่วน) สับเปลี่ยน (แอบสับเปลี่ยนของ) ลักลอบ (หนีภาษี) ยักยอก (เบียดบังเอาของที่อยู่ในหน้าที่ของตน)
เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพราะทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตนั้นไม่ก่อให้เกิดบาปกรรมแก่ผู้บริโภค และทำให้มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นได้ดีกว่าทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต
3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การกระทำผิดในทางเพศ ลุอำนาจแก่ความกำหนัดที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากก็คือการทำชู้ รองลงมาก็ได้แก่การข่มขืน การฉุดคร่า อนาจาร เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ คือ ให้มนุษย์มีจิตใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันจะเป็นทางรักษาประเวณี (เชื้อสาย) ของคนในสังคมให้เรียบร้อย และป้องกันเหตุอาชญากรรมทางเพศด้วย
องค์มรรคข้อที่ ๕ สัมมาอาชีวะ อาชีวะ แปลว่า อาชีพ หมายถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ คนเราทุกคนมีสิ่งที่รักและหวงแหนอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือ ชีวิต ชีวิตหมายถึงความเป็นอยู่ ตรงกันข้ามกับความตาย ความเป็นอยู่หรือที่เรียกว่าชีวิตนี่แหละ เป็นเครื่องรองรับมนุษย์สมบัติของเรา คือไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เช่น เป็นครู เป็นนักเรียน เป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นสมภารเจ้าวัด เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นหัวหน้าแผนกหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี จนกระทั่งเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ฯลฯ ก็เพราะผู้นั้นมีสิ่งหนึ่งเป็นพื้นรองรับไว้สิ่งนั้นคือชีวิต ถ้าใครหมดชีวิตเสียแล้วก็เป็นอะไรไม่ได้ แม้แต่จะเป็นคนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงรักชีวิต หวงแหนชีวิต แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยจึงจะมีได้ ถ้าขาดปัจจัยเสียชีวิตก็ดับ ฉะนั้นทุกคนจึงมีภาระติดตัวอยู่โดยกำเนิดอย่างหนึ่ง คือต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต งานหาเลี้ยงชีวิตนี้ท่านเรียกว่า อาชีพสุภาพชนคนดีต้องมีอาชีพทุกคน แม้แต่บรรพชิตคือคนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ตัดอาชีพทางคฤหัสถ์แล้ว แต่พอเข้าสู่พิธีอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็แนะอาชีพใหม่ให้ คือบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
แต่เพราะความเขลา คนบางคนเกิดหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบาปกรรม อันเรียกว่า มิจฉาชีพ เพราะกรรมชั่วนั้นเขาจึงเป็นคนมีชีวิตมัวหมอง แม้จะยังไม่ตายคือยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นชีวิตที่สกปรกต่ำช้าเลวทราม จนตกแต่งให้ดีไม่ได้ ทำให้ชีวิตของตนมีแนวโน้มต่ำลงๆ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนปรับปรุงงานเลี้ยงชีวิต หรืออาชีพของตน ให้เป็นคนมีสัมมาอาชีวะ อย่าเป็นคนมีมิจฉาอาชีวะ
มิจฉาชีพสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่การแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพโดยวิธีที่เรียกว่าอเนสนาทุกอย่าง คือแสวงหาในทางไม่สมควร เช่นรับจ้างทำงานเป็นต้นส่วนมิจฉาชีพสำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่การแสวงหารายได้โดยวิธีผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ตลอดจนผิดจารีตประเพณี เป็นอาชีพที่วิญญูชนตำหนิติเตียน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อาชีพที่ควรเว้น ซึ่งเรียกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ1 มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ 1. ค้าขายมนุษย์ 2. ค้าขายสัตว์ไว้สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร 3. ค้าขายอาวุธเพื่อเป็นเครื่องประหาร 4. ค้าขายยาพิษ 5. ค้าขายน้ำเมา (สุราและของมึนเมาทุกชนิด กับยาเสพติดทุกชนิด)
องค์มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายามะ วายามะ แปลว่า ความพยายาม หมายถึงความพากเพียร ในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ คุณธรรมดังกล่าวนี้ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิต จิตของใครมีคุณลักษณะอย่างนี้ จะมีความรู้สึกพึงพอใจ (ฉันทะ) ในกิจการของตน บากบั่นไม่ท้อถอย อดทน หนักแน่น และทำงานนั้นก้าวหน้าต่อไป
คุณธรรมอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้หวังความสำเร็จจะต้องปลูกฝังขึ้นในตน เพราะการดำเนินงานในชีวิตของคนเรานี้ บางอย่างก็ต้องฝนความสะดวกสบาย บางอย่างต้องใช้เวลานานบางอย่างต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ถ้าใครขาดคุณธรรมทางใจ คือ วายามะ คนนั้นก็ยากที่จะทำงานให้เห็นผล งานต่างๆ นั้นต้องใช้เวลา เช่น การเรียนหนังสือ ชั้นประถมศึกษาใช้เวลา 6 ปี ชั้นมัธยมศึกษาใช้เวลา 6 ปี มหาวิทยาลัยใช้เวลา 4 ปี เรียนนักธรรมใช้เวลา 3 ปี เรียนบาลีใช้เวลา 9 ปี เป็นอย่างน้อย การบำเพ็ญพรต ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้ชาติสุดท้ายเสด็จออกผนวชแล้ว ยังต้องทรงทำความเพียรอยู่นานถึง 6 ปี มีอุปสรรคขัดขวางร้ายแรงนับไม่ถ้วน และการประดิษฐานพระพุทธศาสนาก็ใช้เวลาถึง 45 ปี
ความเพียรพยายามจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาชีวิตจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงเน้นคำสอนไว้ว่า "วายเมเถว ปุริโส " แปลว่า "เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป" แต่ความพยายามของคนเราก็อาจมีได้ทั้งสองอย่าง คือมิจฉาวายามะพยายามในทางที่ผิด กับสัมมาวายามะพยายามในทางที่ถูกต้อง คนเราไม่ใช่สักแต่ว่ามีความพยายามแต่จะต้องพยายามอย่างถูกต้องด้วย
ลักษณะของสัมมาวายามะ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงความเพียรใน 4 ถาน ที่เรียกว่า ปธาน 4 ได้แก่ 1. เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิดขึ้น 2. เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป 3. เพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ยังไม่มีให้มีขึ้น 4. เพียรรักษาเพิ่มพูนกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น
องค์มรรคข้อที่ ๗ สัมมาสติ สติ คือ ความระลึกได้ คือนึกขึ้นได้ ฉุดคิดขึ้นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสติคือเผอเรอคนเราถึงจะมีวิชาความรู้ดี มีความสามารถสูง มีความคิดเฉียบแหลม และมีความขยันหมั่นเพียรอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นจะต้องใช้คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งกำกับตัว คือสติ เพราะถ้าขาดสติเสียอย่างเดียวแล้ว การงานทั้งปวงย่อมเสียหาย อาจถึงแก่พินาศล่มจมไปก็ได้ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนบริหารจิตของตนให้มีสติเพียบพร้อม
วิธีพิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน 4 ว่าโดยย่อ มีดังนี้
หลักการพิจารณากาย คือ พิจารณาให้เห็นกายในกาย ได้แก่พิจารณาส่วนประกอบของร่างกายอย่างละเอียด แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในกายเสีย
หลักการพิจารณาเวทนา คือ พิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา ได้แก่พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งความสุข (สุขเวทนา) ความทุกข์ (ทุกขเวทนา) ความเฉยๆ (อุเบกขาเวทนา) แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในเวทนา
หลักการพิจารณาจิต คือ พิจารณาให้ เห็นจิตในจิต ได้แก่พิจารณาเท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตรัก จิตชัง จิตหลง ก็รู้ แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในจิตเสีย
หลักการพิจารณาธรรม คือ พิจารณาให้ เห็นธรรมในธรรม ได้แก่พิจารณาให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต (เช่นจิตเกิดมีนิวรณ์ขึ้นแล้วก็ให้รู้ นิวรณ์ยังมีอยู่ก็ให้รู้ นิวรณ์ดับไปแล้วก็ให้รู้) ลักษณะคล้ายๆ กับการเห็นจิตในจิต แต่ต่างกันตรงที่ว่า เห็นจิตในจิตได้แก่เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตส่วนเห็นธรรมในธรรมได้แก่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต
รวมความว่า การตั้งสติพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นสัมมาสติเบื้องสูง ข. ความหมายเบื้องต่ำ คือ การทำงานโดยมีสติระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่เผลอเลอ
องค์มรรคข้อที่ ๘ สัมมาสมาธิ สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น ตัวคนเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ กายกับใจ โดยที่ใจเหมือนนาย กายเหมือนบ่าว มรรคข้อที่ 8 นี้เป็นหลักปฏิบัติกับจิตหรือใจโดยเฉพาะ การปฏิบัติใจนั้นมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น หาความรู้ใส่ใจ หาความดีใส่ใจ หาความผ่องใสใส่ใจ รวมความว่า ทุกคนมีงานหลายอย่างที่จะต้องพัฒนาจิตใจของตนให้เจริญขึ้น แต่ในบรรดางานปฏิบัติจิตใจนั้น มีงานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากที่สุด คือ การตั้งใจ
ทุกคนคงไม่แปลกใจกระมัง ที่ว่าทำไมเราจะต้องมาตั้งใจของตน เพราะของทุกอย่างที่เราจะใช้การใช้งานเราก็ต้องตั้งมันเสียก่อน จะใช้แก้วเราก็ต้องตั้งแก้ว จะใช้โต๊ะเราก็ต้องตั้งโต๊ะการตั้งเป็นงานอย่างหนึ่ง คนจะรำจะร้อง จะชกต่อย เขาก็ต้องตั้งท่าเสียก่อน เช่นเดียวกัน เรามีใจ เราจะใช้ใจของเรา เราก็ต้องตั้งใจ
ลักษณะของสัมมาสมาธิ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงการเข้าฌาน วิธีปฏิบัติคือ ปลีกตัวจากกามารมณ์หาที่สงัด แล้วนำจิตเข้าสมาธิ ถึงขั้น งบนิ่งที่เรียกว่า ฌาน (รูปฌานมีอยู่ 4 ชั้น เรียกชื่อตามลำดับว่า ฌานที่ 1ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 และอาจเข้าอรูปฌานต่อไปอีก 4 ชั้น) ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าฌานคือ ทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสยิ่งขึ้นตามลำดับ จนถึงนิพพาน
ข. ความหมายเบื้องต่ำ ได้แก่ การตั้งใจทำความดี ตามควรแก่วัยของตน อย่าปล่อยให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย จนถึงฝึกหัดทำสมาธิเบื้องต้น คือการสำรวมใจให้แน่วแน่ในกิจกรรมของตน และรวมลงสู่จุดเดียว อย่างนี้เป็นต้น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee