แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๒๐ วันมหาสงกรานต์ ให้ชีวิตผ่านไปด้วยก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาจิตใจให้สูง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันที่โลกสมมติว่า เป็น “วันมหาสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทย” วันขึ้นปีใหม่ในทางพระพุทธศาสนาของเราไม่ค่อยกล่าวไว้เท่าไรนัก เพราะพระพุทธองค์ทรงถือว่า การที่ เรามีโอกาสลืมตามาดูโลกในทุกๆ เช้าวันใหม่นั้น นับเป็นโอกาสอันสุดวิเศษแล้ว ที่เราสามารถมีชีวิต รอดมาอีก ๑ วัน ฉะนั้นทุกวันจึงเป็นช่วงเวลาอันแสนประเสริฐ ที่จะเริ่มสั่งสมบุญ ปรารภความเพียร กันต่อไป แม้จะย่างเข้าสู่ปีใหม่ เรายังคงสร้างบารมีกันต่อไป และทำให้ยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา พระบรม ศาสดาทรงเน้นให้เรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่ง ใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง บุคคลใดเห็นแจ้งธรรม ปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับ มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย”
"สงกรานต์" มาจากคำในภาษาสันสกฤต (สํกฺรานฺติ) แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" ในที่นี้หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ ผ่านหรือเคลื่อนย้าย จากราศีมีน เข้าสู่ ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้าย ในช่วงเดือนอื่นๆ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา ตามปกตินั้น พระอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่งเป็นประจำทุกเดือน หรือจะเรียกว่าเป็นการย้ายจากกลุ่มดาวหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง ตามหลักโหราศาสตร์หรือภาษาโหร เรียกว่า"ยกขึ้นสู่" ตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ ก็คือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไปนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อสงกรานต์ แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป วันสงกรานต์จึงต้องมีอยู่ประจำทุกเดือน เพราะดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปเดือนละ 1 ครั้ง เสมอ
แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ (ตามภาษาโหร) หรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ในเดือน เมษายน (ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5) เราถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ด้วยถือกันว่าเป็นวันและแวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของโหรผู้รู้ทางโหราศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็น เดือนแรกของปี สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ เนื่องจากหากนับทางจันทรคติ จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ หรือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษนั่นเอง
และได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทยแต่นั้นเรื่อยมาแม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวัน สงกรานต์ (หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน ไปสู่ราศีเมษ) ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป
ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นเรายังถือเอาวันที่ 14 เมษายน เป็น วันครอบครัว อีกด้วย
ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
ตำนานวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีท่านหนึ่ง ย้ายบ้านมาตั้งรกรากใกล้กับบ้านนักเลงสุรา โดยเป็นเศรษฐีที่มีเพียบพร้อมทุกอย่าง ทั้งภรรยาที่ดีและทรัพย์สินเงินทอง ขาดแต่เพียงแค่ผู้สืบสกุล เพราะตัวเศรษฐีไม่มีลูกเลย และเมื่อนักลงสุราที่อยู่ใกล้บ้านเริ่มดื่มสุราแล้วเมา ก็จะพูดจาไม่ดีเยาะเย้ยเศรษฐรีไปเรื่อยว่า “มีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสกุล เพราะเป็นคนมีบาปกรรมจึงไม่มีบุตร สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ” ในขณะที่ตัวของนักเลงนั้นมีบุตรถึง 2 คน และทุกครั้งที่เมาก็จะมีการพูดจาสบประมาทเยาะเย้ยเศรษฐีแบบนี้อยู่ร่ำไป ทำให้เศรษฐีรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ทำวิธีไหนก็ไม่มีบุตรสักที
ตัวเศรษฐีจึงเริ่มไปขอพร ไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ พยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปีก็ยังไม่มีวี่แวว จนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งที่มีนกอาศัยอยู่เต็มไปหมด โดยเศรษฐีได้นำของมาถวาย ซึ่งเป็นข้าวที่ผ่านการซาวน้ำสะอาดมาถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทรเพื่อขอบุตร
พระไทรจึงเกิดความสงสาร จึงนำเรื่องขึ้นไปกราบทูลพระอินทร์เพื่อขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงเมตตาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า “ธรรมบาล” เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลเติบโตขึ้นได้อายุ 7 ขวบ ก็เป็นเด็กที่มีปัญญาหลักแหลม ฉลาดรอบรู้ และสามารถแนะนำเรื่องมงคลต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านได้ แต่ในสมัยนั้น ชาวบ้านก็มีเทพที่นับถืออยู่แล้วชื่อ “ท้าวกบิลพรหม” เป็นเทพที่ขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดเช่นกัน ท้าวกบิลพรหมเกิดความไม่พอใจที่ชาวบ้านเริ่มหันไปพึ่งธรรมบาลมากกว่าตน จึงไปหาธรรมบาลแล้วถามคำถาม 3 ข้อเพื่อลองเชิงภูมิปัญญา และเอาศีรษะตัวเองเป็นเดิมพัน หากธรรมบาลตอบคำถามไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ไป โดยคำถามมีอยู่ว่า ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อฟังคำถามแล้วธรรมบาลก็ยังตอบไม่ได้ในทันที จะขอผลัดเปลี่ยนวันเพื่อไปหาคำตอบ 7 วัน แต่จนแล้วจนเล่าในวันที่ 6 ธรรมบาลก็ยังคิดคำตอบไม่ได้ จึงได้หนีเข้าป่า ไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ที่มีนกอินทรีผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ โดยนกสองตัวกำลังคุยกันว่าพรุ่งนี้จะไปหาอาหารที่ไหนดี นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาล ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ
เนื่องจากธรรมบาล เกิดมาจากตอนที่เศรษฐีไปขอพรใต้ต้นไทรที่มีนกอยู่จำนวนมาก ทำให้มีความสามารถในการได้ยินและเข้าใจที่นกคุยกัน ธรรมบาลจึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลจึงกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกัน ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้จึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน ท้าวกบิลพรหม จึงกล่าวว่า “จะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาล แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทรน้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน” จึงสั่งให้นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะแล้วจึงตัดศีรษะส่งให้ นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่รอบเขาพระสุเมรุ 1 ชั่วโมง ก่อนอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส เพื่อเป็นการสักการะบูชา ในทุกปีช่วงวันมหาสงกรานต์ เหล่าลูกสาวของท้าวกบิลพรหมจะผลัดกันนำเศียรของพ่อออกมาเหาะวนรอบภูเขาเพื่อเป็นการบูชา แล้วแต่ว่าวันสงกรานต์ในปีนั้นจะตรงกับวันอะไร เพราะลูกสาวทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมเป็น “นางสงกรานต์” ประจำวันต่างๆ นั่นเอง
มหาธรรมปาลชาดก ว่าด้วยเหตุที่ไม่ตายในวัยหนุ่ม
ในวันที่แปด พระเจ้าสุทโธทนะถวายภัตตาหาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป ในพระราชนิเวศน์ ระหว่างภัต พระเจ้าสุทโธทนะตรัสกับพระผู้มีพระภาคว่า ในระหว่างที่พระพุทธองค์ทำความเพียรอยู่ หมู่เทวดาได้มายืนอยู่ในอากาศบอกแก่พระองค์ว่า สิทธัตถกุมารโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว เพราะเสวยพระกระยาหารน้อย แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ และยังกล่าวกับเทวดาว่า หากพระโอรสยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ จะยังไม่ปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงปรารภถึงเรื่องความเป็นผู้ไม่ทรงเชื่อง่ายของพระพุทธบิดา โดยทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก (มหาธรรมปาลชาดก)
ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติในพระนครพาราณสี มีบ้านธรรมปาลคาม ในแคว้นกาสี เป็นที่อยู่ของตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ ซึ่งทุกคนในตระกูลจะรักษาธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ส่วนทาสและกรรมกรก็ให้ทานรักษาศีล ทำอุโบสถกรรม
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนั้น นามว่าธรรมปาลกุมาร เมื่อโตขึ้น บิดาได้ส่งไปเรียนศิลปะ ณ เมืองตักกศิลา ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นหัวหน้ามาณพพวกอันเตวาสิก ๕๐๐ คน เมื่อบุตรคนโตของอาจารย์ตายลงตั้งแต่ยังหนุ่ม ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์และหมู่ญาติต่างร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ณ ที่ฌาปนกิจศพในป่าช้า ยกเว้นธรรมปาลบุตรคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ร้องไห้ คร่ำครวญ
เมื่อออกมาจากป่าช้า ธรรมปาลกุมาร กล่าวกับมาณพ ๕๐๐ คน ว่าทำไมมาณพมาตายตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะประเพณีของตระกูลตน จะไม่มีใครตายตอนหนุ่ม มีแต่ตายตอนแก่แล้วเท่านั้น มาณพทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปบอกอาจารย์
หลังทำฌาปนกิจศพบุตรเสร็จแล้ว ๗ -๘ วัน อาจารย์ได้เรียกธรรมปาลกุมารมาสั่งให้เป็นผู้บอกศิลปะแก่มาณพทั้งหลาย จนกว่าอาจารย์จะกลับมา แล้วออกเดินทางไปบ้านบิดาของธรรมปาลกุมารเพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมทั้งเก็บกระดูกแพะตัวหนึ่งมาล้างเอาใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ถือตามไป
เมื่อถึงเรือนของมหาธรรมปาละ หลังบริโภคอาหาร อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้กล่าวกับบิดาธรรมปาละ ว่า ธรรมปาลกุมาร เป็นคนมีสติปัญญา เรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการแล้ว แต่ได้ตายด้วยโรคอย่างหนึ่ง และปลอบว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง อย่าได้เศร้าโศกไปเลย เมื่อบิดาของธรรมปาละได้ฟังก็ตบมือหัวเราะดังลั่น แล้วกล่าวว่า ลูกของตนยังไม่ตาย ที่ตายเป็นคนอื่น แม้อาจารย์ทิศาปาโมกข์จะนำกระดูกออกมาให้ดูและบอกว่าเป็นกระดูกของธรรมปาลกุมาร บิดาของธรรมปาละก็ยังไม่เชื่อ และกล่าวว่ากระดูกนี้เป็นกระดูกแพะหรือสุนัข ไม่ใช่ของบุตรชาย เพราะในตระกูลของพวกเขา ไม่มีใครตายตั้งแต่ยังหนุ่ม มา ๗ ชั่วโคตรแล้ว อาจารย์ทิศาปาโมกข์เห็นความอัศจรรย์นั้น มีความโสมนัส จึงถามถึงวัตร พรหมจรรย์ ที่ตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ถือปฏิบัติ จนมีผลให้คนหนุ่มๆในตระกูลนี้ไม่ตาย
เหตุที่ทำให้คนหนุ่มๆ ในตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ไม่ตาย
- ประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นกรรมชั่ว งดเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งปวง
- ฟังธรรมของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษแล้ว ไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ละทิ้งอสัตบุรุษ แต่ไม่ละทิ้งสัตบุรุษ
- ก่อนจะให้ทาน เป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็ชื่นชมยินดี ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
- เลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคนขัดสนทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ
- ไม่นอกใจภรรยา ภรรยาก็ไม่นอกใจ ประพฤติพรหมจรรย์นอกจากภรรยาของตน
- งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่กล่าวมุสา ไม่ดื่มน้ำเมา
- บุตรที่เกิดในหญิงที่ดีเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาดเฉลียว มีปัญญามาก เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพท
- มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตรภรรยา และทุกคนประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า
- ทาส ทาสี คนอาศัยเลี้ยงชีพ คนใช้ และกรรมกรทั้งหมด ประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี ฯ
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ ดังนั้นธรรมปาละกุมาร อันธรรมคุ้มครองแล้วยังมีความสุขอยู่ กระดูกที่นำเอามานี้เป็นกระดูกสัตว์อื่น บิดาของธรรมปาละกล่าวกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์”
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ฟังแล้วมีความยินดี ขอขมาโทษแก่บิดาธรรมปาละ แล้วกล่าวว่า การมาในครั้งนี้เป็นการมาดี มีผล ไม่ไร้ผล กระดูกนี้เป็นกระดูกแพะ ธรรมปาละกุมารสบายดี และได้เขียนข้อธรรมที่ได้ฟังลงในสมุด อยู่ต่ออีก ๒-๓ วัน จึงกลับเมืองตักกศิลา ให้ธรรมปาลกุมารศึกษาศิลปะทุกอย่าง แล้วส่งกลับด้วยบริวารใหญ่
เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบ พระเจ้าสุทโธทนะได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล พระศาสดาทรงประชุมชาดก ว่ามารดาบิดาในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธมารดาพุทธบิดาในบัดนี้ อาจารย์ในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ บริษัทในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนธรรมปาลกุมารได้มาเกิดเป็นตถาคต
คำว่า สงกรานต์ คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เป็น สังกันตะ แปลว่า ก้าวล่วงไป แปลว่าก้าวไปพร้อม คือการก้าวหน้า คำว่าสงกรานต์แปลว่าก้าวหน้า ก็หมายความว่าก้าวไปข้างหน้า เวลาก้าวไปข้างหน้าตามที่กำหนดไว้ว่าปีหนึ่ง ดังนี้ โดยเฉพาะคำว่า สงกรานต์ แปลว่า การก้าวหน้า เราก็จะต้องรู้เรื่องการก้าวหน้าของเวลาเป็นส่วนสำคัญ จึงจะเรียกได้ว่ารู้เรื่องสงกรานต์ คำว่าความก้าวหน้านี้ก็พอจะเข้าใจกันได้ ว่าอะไรๆมันล่วงไปข้างหน้า แต่ว่ามันมีความสำคัญที่มันเกี่ยวกันกับมนุษย์อย่างไร นั่นแหละเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาพินิจพิจารณากันให้เป็นอย่างดี เกี่ยวกับข้อนี้มีทางที่จะมองเห็นได้เป็น ๒ อย่าง อย่างแรกก็คือ ความก้าวหน้าของเวลา อย่างที่สองก็คือ ความก้าวหน้าของบุคคล ถ้ามันเป็นความก้าวหน้าของเวลา เวลาก็กินสัตว์ กินชีวิต แต่ถ้าว่าเป็นความก้าวหน้าของบุคคล บุคคลก็เป็นผู้กินเวลา กลับกันอยู่ดังนี้
ความจริงของธรรมชาติเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ความจริงมันมีเฉพาะกลางวัน และกลางคืนเท่านั้น และกลางวันและกลางคืนมันก็เกิดเพราะพระอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า แล้วตกไปในตอนเย็น เราเรียกว่าเป็นกลางวัน เมื่อพระอาทิตย์ลับโลกไปแล้ว จนพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาใหม่ เราเรียกว่ากลางคืน มันเป็นไปอย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นสิ่งที่มีจริงก็คือวันและคืน ส่วนปีเดือนมนุษย์เรากำหนดกันขึ้นมาเอง เพื่อให้หมายรู้เรื่องวันเดือนปี ในการเป็นอยู่ของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การสมมุติวันเดือนปีขึ้นมา มิใช่เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องมีสาระอย่างยิ่ง เป็นแต่ว่าบางคนในสมัยนี้นำเรื่องปีเก่าปีใหม่ ไปทำลายตนเองหนักเข้าไปอีก
แบบไหนที่เรียกว่า นำเทศกาลปีเก่าปีใหม่มาทำลายตนเอง? คือ โดยธรรมดาแล้ว ชีวิตคน อายุสัตว์มันจะกัดกินตัวมันเอง ให้หมดลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหนึ่งปี ก็เท่ากับว่าอายุหมดไปแล้วหนึ่งปี นั่นคือเขาใกล้ความตายไปอีกแล้วหนึ่งปี เราจวนจะตายแล้ว แต่เพราะไม่มีใครรู้วันตายของตน แต่ละคนจึงประมาท สนุกไปเรื่อยทั้งๆ ที่ชีวิตกำลังเข้าหาความตายอยู่ทุกขณะจิต
ภาพของปุถุชนเรานั้น ปรากฏในสายตาของพระอริยะว่า เหมือนคนถูกไฟลุกโชนอยู่บนหัวแล้ว แต่ยังหาได้หาสำนึกไม่ยังสนุกอยู่ตลอด ด้วยประการฉะนี้ เราจึงมองเห็นภาพของนักดื่มทั้งหลาย ทำกิริยาดีใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงเทศกาลปีเก่าปีใหม่ พวกเขาชวนกันมาฉลองปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เหมือนพร้อมกับตะโกนกันด้วยความดีใจว่า พวกเรามากินเหล้าฉลองชัยที่พวกเราใกล้ความตายเข้าไปอีกหนึ่งปีแล้วเถิด !
ถ้ามันเป็นความก้าวหน้าของเวลา เวลาก็กินสัตว์ กินชีวิต แต่ถ้าว่าเป็นความก้าวหน้าของบุคคล บุคคลก็เป็นผู้กินเวลา กลับกันอยู่ดังนี้ ถ้าเวลาก้าวหน้า คนก็ถูกกิน ถ้าคนก้าวหน้า เวลาก็ถูกกิน ใครฟังเข้าใจ คนนั้นเป็นผู้มีปัญญา ถ้าเวลาก้าวหน้า คนก็ถูกกิน นี้ก็พอจะเห็นได้ไม่ยากนัก ว่าวันคืนมันล่วงไปๆ คนมันก็แก่ชราลงๆๆ และใกล้ความตายเข้าไปทุกที จนถึงความตายในที่สุด นี้เรียกว่าเวลามันก้าวหน้า คนก็ถูกกิน
แต่ทีนี้ถ้าคนเกิดก้าวหน้าขึ้นมาบ้าง คือคนได้รู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นหัวใจของพระศาสนาโดยแท้จริง คือเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาที่จะยึดมั่นแล้ว เวลาก็ทำอะไรบุคคลนั้นไม่ได้ เพราะบุคคลนั้นพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างนี้เรียกว่า บุคคลนั้นกินเวลา เวลาเป็นฝ่ายที่ถูกกิน
สรุปความสั้นๆ ก็ว่า ถ้าคนไม่รู้ธรรมะ เวลาก็กินคน ถ้าคนรู้ธรรมะ คนก็กินเวลา การที่เวลากินคนนั้นไม่เป็นของสนุกเลย หมายความว่ามีความทุกข์ร้อนนานาประการเกี่ยวกับการที่เวลามันล่วงไปๆ เดี๋ยวนี้คนเป็นอันมากก็ร้อนใจอยู่ด้วยเรื่องเกี่ยวกับเวลา คือยังทำอะไรไม่เสร็จ ยังทำอะไรไม่ได้ตามที่ตัวต้องการ ยังหิวยังกระหายอยู่เสมอ อย่างนี้เรียกว่าคนลำบากเดือดร้อนเพราะถูกเวลากิน เพราะว่าเขาไม่เป็นผู้รู้ธรรม ไม่รู้จักปล่อยวางสิ่งทั้งปวง อย่าให้มารบกวนจิตใจ
ถ้าเราพิจารณาดูอีกทางหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่าคนที่ไม่รู้ธรรมะนั้นย่อมเดินถอยหลัง เพราะถูกเวลากิน ไม่มีการก้าวหน้า คนโง่ คนพาล คนเขลาชนิดนี้ย่อมไม่มีสงกรานต์กับใครเลย เพราะว่าเขาไม่ก้าวหน้า แต่กลับถอยหลังไปเสียอีก ถ้าบุคคลผู้ใดรู้ธรรม บุคคลนั้นก้าวหน้าเรื่อยไป บุคคลนี้มีสงกรานต์ คือมีการก้าวหน้า
แต่ถ้าพูดว่าสงกรานต์ สงกรานต์แล้วก็เป็นกันทุกคน พูดเป็นกันทุกคน ถ้ายิ่งเล่นสงกรานต์ เช่น สาดน้ำ เป็นต้นกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำเป็นกันทุกคน แต่คิดๆดูเถิดว่า มันเป็นการกระทำของคนโง่หรือคนฉลาด การเล่นสงกรานต์เพียงเท่านั้นมันจะเป็นสงกรานต์ คือเป็นความก้าวหน้าไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องของคนโง่ที่มัวแต่เหลวไหลอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่มีการก้าวหน้า ถ้าเป็นสงกรานต์จริงๆ มันต้องเป็นการก้าวหน้า คือมีจิตใจที่ก้าวหน้า
เพราะเหตุเช่นนี้แหละจึงพูดว่า คนที่ไม่รู้ธรรมะย่อมถอยหลัง ไม่มีการก้าวหน้า ไม่มีสงกรานต์ คนที่มีความรู้ธรรมะเท่านั้น ที่มีการก้าวไปข้างหน้าและมีสงกรานต์ คนมีธรรมะนั้นไม่ถูกเวลากิน แต่เป็นผู้กินเวลา คนไม่มีธรรมะนั้นถูกเวลากิน เรื่องของ เรื่องนี้จึงมีความสำคัญอยู่ตรงที่ก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า ถ้าก้าวหน้าก็มีสงกรานต์ ถ้าไม่ก้าวหน้าก็ไม่มีสงกรานต์ แม้จะโห่ร้อง ตะโกนก้องกันอย่างไร จะทำพิธีรีตองกันอย่างไร มันก็ไม่มีสงกรานต์ที่ถูกต้องไปไม่ได้ ถ้าจะเรียกว่าเล่นสงกรานต์ ก็เป็นการเล่นของคนโง่ที่ไม่รู้จักว่าสงกรานต์คืออะไรอยู่นั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" พระพุทธภาษิตนี้ก็เนื่องด้วยสงกรานต์ คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นี้ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ฉะนั้นคนทั้งหลายจงรีบถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ไม่ประมาทก็คือจัดทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง ให้เป็นไปในทางก้าวหน้า ให้ก้าวไปๆเสียจากความทุกข์ ให้ออกไปจากความทุกข์ให้ได้ นั้นก็เป็นความก้าวหน้า นี้ถ้าเราจะเรียกกันว่า สงกรานต์คือความก้าวล่วงไปปีหนึ่งนั้น มันก้าวล่วงไปอย่างไร
ถ้าถือเอาตามพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ มันก็ต้องก้าวล่วงไปด้วยความดับทุกข์ คือดับทุกข์ได้มากขึ้น เวลาล่วงไปปีหนึ่งๆ ก็ดับทุกข์ได้มากขึ้น ใกล้ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ยิ่งขึ้นไปทุกที เดี๋ยวนี้ใครกำลังเป็นอย่างไรก็ขอให้พิจารณาดูตัวเอง สอบสวนตัวเองดูให้ดีด้วยกันจงทุกคนเถิด
วันสงกรานต์ประจำปีของประเทศไทยเราก็มี ๓ วัน วันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ นี้เป็นประเพณีที่ทำกันมายาวนาน วันมหาสงกรานต์ วันครอบครัว วันเถลิงศก เพื่อกตัญญูกตเวที ญาติโยมประชาชนที่ไปทำงานอยู่กรุงเทพ หรือไปทำงานต่างจังหวัด หรือเมืองนอก ก็ระลึกถึงพ่อแม่ มนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน เมื่อเรามีสุขภาพร่างกายที่จะเอามาสร้างบารมี ที่ไม่เกิน 100 ปี ทุกคนก็ต้องจากกันไป ทุกคนก็ต้องเอาร่างกายมาสร้างบารมี การดำรงชีพ การเรียนหนังสือ ก็เพื่อร่างกาย ก็เพื่อพ่อแม่ญาติพี่น้อง ทางจิตใจเราก็พัฒนาไป เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง อยู่ที่ไหนก็ต้องเอาความดี มีศีลมีธรรม หยุดอบายมุขอบายภูมิ รู้จักร่ายรับรายจ่าย พวกกินเหล้า เมาเบียร์ เมาเมีย เมาฝิ่น เฮโรอีน กัญชา สิ่งแวดล้อม อย่าไปใจอ่อน เราต้องอยู่ใน runway ของเรา อยู่ในเส้นทางของเราคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเราต้องคิดแต่ที่ดี พูดแต่สิ่งดี ทำแต่สิ่งที่ดีๆ เราถึงจะไม่ตกสู่อบายมุข เพราะทุกคนก็ต้องไปตามความประพฤติของเราเอง การปฏิบัติของเรา เราทุกคนก็ต้องตั้งมั่น เข้มแข็ง รู้จักรายรับรายจ่าย อะไรไม่ดีอย่าไปใจอ่อน อย่าไปทำตามเพื่อน เราไปทำอย่างนั้นเราจะไปเป็นพ่อเค้าได้อย่างไร เป็นแม่เค้าได้อย่างไร
ความสมัครสมานสามัคคี ที่เราอยู่กับพี่กับน้อง กับพ่อ กับแม่ กับบุตรธิดา สามี ความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอย่าเอาแต่ใจตัวเอง ต้องเอาธรรม เราไม่ได้เกิดมาเพื่อมาตามใจตัวเอง ถ้าทำอย่างนั้นมันไม่ได้ ใครผิดพลาดก็ต้องตั้งใจใหม่ สมาทานใหม่ เพราะเราจะข้ามวัฏฏะสงสสาร เราต้องข้ามด้วย ความถูกต้อง ด้วยการประพฤติ การปฏิบัติ เหมือนกับเราจะข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร เราก็ต้องมีเรือ มีเครื่องบิน เราอย่าไปคิดฟุ้งซ่านอะไร คนเราทุกๆ คนนั้นพื้นฐานมาจากอวิชชา คือ ความหลง ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เราทุกคนจึงมาเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ เอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ เอาพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่งเป็นสรณะ
การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด เราทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไปทำอย่างอื่นเรียกว่าไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee