แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๘ ตั้งจุดยืนของชีวิตให้ชัดเจน ด้วยสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ นำไปสู่การปฏิบัติ จึงจะเกิดมีปฏิเวธได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนเดินตามพระพุทธเจ้าจับหลักให้ดีๆ อย่าไปตามใจตัวเอง อย่าไปตามอารมณ์ตัวเอง อย่าไปตามความรู้สึก ความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงเพราะเราไปตามใจตัวเอง ไปตามอารมณ์ตัวเอง ไปตามความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ตามพระพุทธเจ้า เรายังไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต
เรามีความสุขในการเดินตามพระพุทธเจ้า ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ความสุขความดับทุกข์ของเรา อยู่ที่เราปฏิบัติธรรม เราเกิดมาเพื่อมีพระพุทธเจ้าในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยสงฆ์ในใจ เราก็เห็นปรากฏการณ์ของโลก ของสังคม มันก็บอกเราอยู่แล้ว เราทุกคนต้องมีความสุขในการเอาศีล เอาธรรม เอาคุณธรรมเป็นหลัก เป็นที่ตั้ง ความบกพร่องทั้งหลายทั้งปวงมันติดเรามาเกาะเรา ก็เหมือนโควิดที่ทำร้ายประชาชน มันไม่เลือกชาติ ไม่เลือกศาสนา
ทุกคนต้องเข้าใจให้ดี เราอย่าไปโทษใคร อย่าไปว่าใคร มันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเราเอง เราต้องไปตามธรรมเป็นปัจจุบันธรรม อย่าให้เรามีหนี้มีสินทางจิตใจ เราเป็นหนี้ทางใจไม่พอ ยังเป็นหนี้ทางภายนอกอีก นั้นเพราะเราตกอยู่ในอบายมุข อบายภูมิ เรายังไม่ตายก็เหมือนตกนรกทั้งเป็นถึงขนาดนี้แล้ว
เริ่มตั้งแต่พระพุทธองค์ออกบวช ศึกษากับอาจารย์ต่างๆจนจบหลักสูตร แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงทรงออกปฏิบัติแบบ “ลองถูกลองผิด” ด้วยพระองค์เอง สุดท้ายใช้เวลา ๖ ปีจึงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จออกอบรมสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายเพื่อให้ “รู้จักทุกข์...เหตุแห่งทุกข์...วิธีดับทุกข์” และเข้าถึง “นิพพาน” และทรงกล่าวยืนยันว่า บุคคลที่ตั้งใจเจริญสติปัฏฐาน ๔ สามารถบรรลุธรรมได้อย่างช้าภายในเวลา ๗ ปี อย่างเร็วภายในเวลา ๗ วัน
จะเห็นได้ว่าเฉพาะตัวพระพุทธองค์เองแล้ว มีเพียง “ปฏิบัติ” และ “ปฏิเวธ” เท่านั้น แต่สำหรับเหล่าพุทธสาวกทั้งหลายต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธองค์(ซึ่งเกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติของพระพุทธองค์)เป็นแนวทาง “ปฏิบัติ” จึงจะเกิด “ปฏิเวธ” และคำสั่งสอนนี้เองปัจจุบันเรียกว่า “ปริยัติ”
ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ไม่ทรงเน้นเรื่องปริยัติมากนัก แต่จะทรงเน้นให้ปฏิบัติมาก ผมพอมีตัวอย่างยืนยันเรื่องนี้ด้วยนะครับ ไม่ได้พูดเอง เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อโปฐิละ ถือได้ว่าเป็นพหูสูตรูปหนึ่ง เพราะมีความสามารถจดจำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้มาก แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติเลย ความจริงพระโปฐิละได้สั่งสอนลูกศิษย์จนสำเร็จอรหันต์หลายรูป แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงโปรด และทรงกล่าวตำหนิพระโปฐิละว่าเป็น “ใบลานเปล่า” ในที่สุดพระโปฐิละก็คิดได้ ปฏิบัติจนสำเร็จอรหันต์
ในปัจจุบัน ภิกษุส่วนใหญ่จะเป็นพระ “ใบลานเปล่า” (ฆราวาสก็เช่นกันนะครับ...ไม่ใช่มีแต่พระ) เพราะกระแสสังคมเป็นเช่นนั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ชอบเอากระดาษมาโอ้อวดกัน ใบประกาศนียบัตรเอย...ปริญญาบัตร (ตรี-โท-เอก)เอย....เปรียญธรรมเอย...ไม่สนใจความรู้ (แจ้ง) ที่ซ่อนอยู่ภายใน
ภิกษุส่วนน้อยที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าการเล่าเรียนปริยัติก็พอมีให้เห็นครับ ขอยกตัวอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรี อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี (ละสังขารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗) หลวงปู่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติธรรมธุดงค์องค์เดียวด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจนสามารถบรรลุธรรมภายในพรรษาที่ ๔ ในประวัติไม่พบว่าหลวงปู่ท่านจบนักธรรมตรีด้วยซ้ำไป (ต้องกราบขออภัยล่วงหน้า ถ้าหากว่าข้อความดังกล่าวผิดพลาด)
ครั้งหนึ่งหลวงปู่บุดดาท่านรับนิมนต์เทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณเปรียญธรรม ๘ ประโยครูปหนึ่ง ท่านเจ้าคุณถามหลวงปู่ว่าจะเทศน์เรื่องอะไร? หลวงปู่ตอบว่า จะเทศน์เรื่อง “ความโกรธ” ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงอยากจะลองภูมิหลวงปู่ จึงถามว่า “หน้าตาตัวโกรธเป็นอย่างไร?” “หน้าตัวโกรธเหมือนหน้าส้นตีนไงล่ะ” หลวงปู่ตอบ เท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่ หลวงปู่ท่านต้องเทศน์รูปเดียวจนจบแล้วจึงไปกราบขอขมาท่านเจ้าคุณ และได้อธิบายให้ท่านเจ้าคุณเข้าใจว่า “ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เอง มันหน้าแดงๆนี่แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมมาสน์ก็แพ้เขา”
ความสำคัญของ “ปริยัติ” จึงเป็นเพียง “แนวทาง” ให้นักปฏิบัติไม่ต้อง “เสียเวลา” ลองผิดลองถูกแบบพระพุทธองค์ ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นในสมัยพุทธกาลว่าพุทธสาวกหลายรูปสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับ “ปฏิเวธ” นั้นจะมีในเฉพาะผู้ปฏิบัติทางกายและจิตเท่านั้น หาไม่ได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ นิวตัน หรือไอน์สไตน์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะใช้ “เครื่องมือวัด” แล้วใช้ความนึกคิดประเมินผลเอาจาก “ปริมาณ” ที่วัดได้นั้น
ปริยัติ_ปฏิบัติ_ปฏิเวธ #สามเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนา
ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา,เล่าเรียน ) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆเพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระพุทธวจนะ ได้จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ มีอยู่ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อสะดวกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติของอนุชนรุ่นหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ไว้ เป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงพระคัมภีร์ ๓ อย่าง ที่เก็บรักษาเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ในบรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คือ มีการเชื่อมความในเรื่องเดียวกัน จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยการเชื่อมเนื้อความในแต่ละคาถา หากเป็นเรื่องที่มีการถามปัญหา คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
ส่วนในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละประเภท และการจำแนกวาระจิต แต่ละวาระจิตจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ ส่วนหนึ่งๆ รวมเป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ถ้าหากทุกท่านได้ทดลองอ่านดู จะเข้าใจว่า ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มีความเข้าใจง่ายและลึกซึ้งไปตามลำดับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้ เหมือนเดินเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งปัญญา
พระพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรสเดียวกัน คือ วิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น มีประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา คือการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ถ้าพูดถึงความต่างกัน มี
👉 ๒ ประเภท คือ แบ่งเป็นพระธรรมและพระวินัย
👉 ๓ ประเภท คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
กว่าจะจัดรวบรวมเรียบเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ได้อย่างนี้ พระอรหันตขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ช่ำชองในปฏิสัมภิทา ท่านได้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนนี้ไว้อีกทีหนึ่ง ท่านต้องประชุมกันเพื่อทำสังคายนา ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน จึงสำเร็จ นับเป็นบุญลาภของพวกเรา ที่ได้ศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้
การศึกษาปริยัติมี ๓ อย่างคือ
๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อ ลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ย่อมเป็นโทษกับตนเอง เหมือนการจับงูพิษที่หาง งู ย่อมแว้งขบกัดเอาได้
๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่ออบรมปัญญา เป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นภัยในวัฏฏสงสารปรารถนาจะออกไปจากวัฏฏทุกข์
๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญเป็นการศึกษาของพระอรหันต์ซึ่งหมดกิจในการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสแล้วแต่มีฉันทะและเห็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง
ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง) การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้องได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรม เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยและไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด
ปฏิเวธ ปฏิ (ตลอด) + วิธ (การแทง) การแทงตลอด หมายถึง การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง
พระเสลาเถรี ธิดากษัตริย์ สละเพศออกบวชแล้วบรรลุธรรมตั้งแต่ ๗ ขวบ
ได้มีโอกาสเล่าเรื่องของสามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลไปหลายองค์แล้ว วันนี้ขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงวัย ๗ ขวบที่ได้บรรลุธรรมบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับสตรีครับ เรื่องของเด็กหญิงที่บรรลุธรรมตั้งแต่เด็กโดยส่วนมากแล้วที่ๆเป็นที่รู้จักกันก็มี นางวิสาขามหาอุบาสิกา หญิงงามเบญจกัลยาณีผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในฝ่ายผู้เป็นทายิกา (ถวายทาน) ที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และนางเปสการี ธิดาช่างหูกที่โต้ตอบปัญหากับพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผลเมื่อตอนอายุ ๑๘ ปี ท่านทั้งสองนั้นเป็นฆราวาส แต่ที่จะเล่าในวันนี้จะขอนำเรื่องของ เสลาสามเณรี หรือภายหลังต่อมาก็คือพระเสลาเถรีภิกษุณี ผู้ติเตียนมารที่มากล่าวล่อลวงหวังจะให้ท่านคลายความเพียร เป็นผู้มักมากในกาม
พระเสลาธิดาราชธิดา ท่านประสูติในวรรณะกษัตริย์ เป็นพระธิดาของพระเจ้าอาฬวิกะ แห่งเมืองอาฬวี ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นโกศล แม้ว่าจะเป็นธิดากษัตริย์แห่งรัฐอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นโกศล ท่านก็หาได้มีฐานันดรศักดิ์ที่ต่ำต้อยไม่โดยเหตุที่เป็นพระธิดาของพระเจ้าอาฬาวิกะ บางครั้งผู้คนจึงเรียกท่านว่า “อาฬวิกา” ที่แปลว่า “พระธิดาของพระเจ้าอาฬวกะ” อันเมืองอาฬวีนี้อยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ ๓๐ โยชน์ ประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองราชคฤห์ ซึ่งอยู่ด้านหลังภูเขากีฏาคีรี
๏ พระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองอาฬวีเพื่อปราบอาฬวกะยักษ์ ในพรรษาที่ ๑๖ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จเดินทางมายังเมืองอาฬวี เพื่อมาปราบอาฬวกยักษ์ผู้เป็นมิชฉาทิฏฐิ มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งกว่าพระยามาร มีวิมานอยู่ที่ต้นไทรใกล้เมืองอาฬวี ยักษ์นี้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินอากาศได้ และมีนิสัยดุร้าย ชอบจับคนและสัตว์กินเป็นอาหาร อาฬวกยักษ์เป็นบริวารของท้าวเวสสุวรรณ เป็นที่หวาดกลัวของชาวเมืองอาฬวี องค์พระจอมมุนีเอาชนะได้ ด้วยขันติบารมี และแสดงธรรมโปรดจนอาฬวกยักษ์ละทิฏฐิ และบรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลผู้ประกอบด้วยศีลด้วยธรรมละเว้นโทษล่วงเกิน เป็นผู้สำรวมตั้งตนอยู่ในพระรัตนตรัยในบวรพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงมอบบาตรและผ้าสังฆาฏิให้อาฬวกยักษ์ถือแล้วเดินตามเสด็จเข้าไปในเมืองอาฬวีนั้น ชาวเมืองเมื่อเห็นยักษ์ร้ายก็หวาดหวั่นพรั่นพรึง แต่เมื่อสังเกตมองดูกิริยามารยาทของยักษ์จึงได้ทราบว่า อาฬวกยักษ์คลายฤทธิ์เป็นผู้วางตนสงบเสงี่ยม คงเป็นเพราะองค์พระผู้มีพระภาคทรงปราบยักษ์เรียบร้อยแล้ว
๏ อาฬกวสูตร เมื่อสมเด็จพระจอมไตรเข้ามาประทับอยู่ในเมือง จึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของชาวนครอย่างยิ่ง พระเจ้าอาฬวกะได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพร้อมเจ้าหญิงน้อย พระเสลาราชธิดาขณะนั้นยังทรงมีพระชนมายุประมาณ ๗ พระชันษาก็ได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปด้วย พระเจ้าอาฬวกะ ทรงกราบทูลถามเหตุว่าพระพุทธองค์ทรงโปรดยักษ์ร้ายได้อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า...
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดง “อาฬวกสูตร” ดังมีใจความดังนี้... “อาฬวกยักษ์ผู้มีใจหยาบได้ทูลถามเราตถาคตว่า เราจักถามปัญหาพระองค์ ถ้าพระองค์ไม่พยากรณ์ คือไม่ตรัสแก้ปัญหาแก่เรา เราจักขว้างจิตของพระองค์ออกไป จักผ่าหทัย จักจับที่เท้าทั้ง ๒ ขว้างออกไปที่ฝั่งแม่น้ำฝั่งโน้น”
เราตถาคตก็ตรัสว่า เรายังไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวโลก พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม พร้อมทั้งหมู่สัตว์ ประกอบด้วยสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ที่จะเหวี่ยงจิตของเราได้ ที่จักผ่าหทัยของเราได้ ที่จักจับเท้าทั้ง ๒ ขว้างออกไปที่ฝั่งแม่น้ำโน้นได้ ก็ท่านจงถามตามที่ต้องการมา
อาฬวกยักษ์ก็ทูลถามปัญหาว่า... “อะไรเป็นทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่ประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้ อะไรเป็นรสที่ดีกว่าแห่งรสทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไร ว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด”
เราตถาคตก็ตรัสตอบว่า...“ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้ สัจจะแลมีรสหรือเป็นรสที่ดีกว่าแห่งรสทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด”
อาฬวกยักษ์ก็ทูลถามต่อไปว่า...“จะข้ามโอฆะ คือห้วงทุกข์ ห้วงกิเลสได้อย่างไร จะข้ามอรรณพคือทะเลลึก คือทะเลแห่งความทุกข์ ทะเลแห่งกิเลสได้อย่างไร จะล่วงทุกข์ได้อย่างไร จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร”
เราตถาคตได้ตรัสตอบว่า...“จะข้ามทะเลลึกแห่งทุกข์หรือแห่งกิเลสได้ด้วยศรัทธา จะข้ามทะเลลึกแห่งทุกข์ หรือแห่งกิเลสได้ด้วยอัปมาท คือความไม่ประมาท จะล่วงทุกข์ได้ด้วยวิริยะ คือความเพียร จะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
อาฬวกยักษ์ทูลถามต่อไปว่า..."จะได้ปัญญาอย่างไร จะได้ทรัพย์อย่างไร จะบรรลุถึงเกียรติได้อย่างไร จะผูกมิตรได้อย่างไร จะจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น จะไม่ต้องทุกข์โศกได้อย่างไร”
เราตถาคตได้ตรัสตอบว่า...“ผู้ที่ศรัทธาตั้งใจฟังธรรมที่สอนเพื่อบรรลุนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาใคร่ครวญ เป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาใคร่ครวญย่อมได้ปัญญา ผู้ที่หมั่นประกอบธุรกิจทำให้เหมาะย่อมได้ทรัพย์ จะบรรลุเกียรติได้ด้วยความสัตย์ เมื่อให้อยู่ย่อมผูกมิตรได้ ผู้ที่มีศรัทธาครองเรือน มีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ สัจจะ ความจริง ทมะ ความข่มใจ ขันติ ความอดทน จาคะ การสละ ละไปย่อมไม่ทุกข์โศก ก็ขอให้ถามสมณพราหมณ์แม้พวกอื่นอีกเป็นอันมาก ผิว์ว่าจะมีอะไรยิ่งไปกว่าธรรม ๔ ข้อนี้ คือ สัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ"
อาฬวกยักษ์ก็กราบทูลว่า “ไฉนจะต้องถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากในบัดนี้เล่า เพราะว่าประโยชน์อันใดที่ข้าพเจ้ารู้ได้วันนี้ และประโยชน์อันใดที่เป็นไปในภายหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอาฬวีประทับอยู่ ก็เพื่อโปรดข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์นั้น ๆ นั่นแหละหนอ วันนี้ข้าพเจ้ารู้จักที่ซึ่งให้ทานแล้วได้ผลมาก ข้าพเจ้านั้นจักเที่ยวไปสู่บ้านจากบ้าน สู่เมืองจากเมือง นมัสการพระสัมพุทธะและความที่ธรรมเป็นธรรมอันดี” ดั่งนี้
เมื่อพระเจ้าอาฬวกะผู้เป็นกษัตริย์ พระเสลาราชธิดา และประชาชนชาวเมืองอาฬวีเหล่านั้นได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วก็บรรลุมรรคผลถึง ๘๔,๐๐๐ คน เมื่อพระเสลาราชธิดาได้มีโอกาสฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาโปรด จึงเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาถึงขั้นประกาศตนเป็นอุบาสิกา แล้วหลังจากนั้นไม่นานพระธิดาก็ทรงขอพระบิดาออกบวชเป็นสามเณรี ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยคุณวิเศษปฏิสัมภิวาท ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นคุณสมบัติพิเศษในตัวท่าน จึงทรงประทานอนุญาตให้ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีได้ แม้ว่าขณะนั้นจะมีพระชนมายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น
๏ บุพจริยาของพระเสลาเถรี (มีกล่าวไว้ในเสลาเถริยาปทาน)
ในภัทรกัปป์นี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่า “พระกัสสปพุทธเจ้า” ผู้เป็นพงศ์พันธุ์แห่ง พราหมณ์ มียศมากประเสริฐกว่าพวกบัณฑิต เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ดิฉันเกิดในสกุลอุบาสก ในพระนครสาวัตถีอันประเสริฐ เห็นพระพิชิตมารผู้ประเสริฐพระองค์นั้น และฟังธรรมเทศนาแล้ว ถึงพระองค์ผู้มีเพียรเป็นสรณะแล้วสมาทานศีลทั้งหลาย ครั้งหนึ่ง พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น ผู้องอาจกว่านรชน ทรงประกาศอภิสัมโพธิญาณของพระองค์ในสมาคมแห่งมหาชนว่า เรามีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชาและแสงสว่าง ในธรรมที่ไม่เคยฟังมาในกาลก่อนและ ในอริยสัจมีทุกขอริยสัจเป็นต้น ดิฉันได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เล่าเรียน สอบถามภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วนั้น และด้วย การเจตน์จำนงไว้ ดิฉันละร่างกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ ในภพหลังครั้งนี้ ดิฉันเกิดในสกุลแห่งเศรษฐีใหญ่ ดิฉันได้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า ได้ฟังสัทธรรมอันประกาศมัจจุ บวชแล้ว ค้นคว้า อรรถธรรมทั้งปวง ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว ได้บรรลุอรหัตผล โดยกาลไม่นานเลย ข้าแต่มหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญ ในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณรู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพจักษุอันหมดจดพิเศษ มีอาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มีอีก หม่อมฉันมีญาณอันปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ ในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิญาณ เพราะอำนาจพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดหม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้หมด สิ้นแล้วตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างพังตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่หม่อมฉันได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ หม่อมฉันบรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาหม่อมฉันได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิวาท ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาหม่อมฉันได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้..” ทราบว่า ท่านพระเสลาภิกษุณีได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
๏ มารใจบาปเข้ามาล่อลวงหวังเสพกาม หลังจากที่บรรลุพระอรหันตผลแล้ว พระเสลาภิกษุณีก็พักอยู่ในเมืองสาวัตถีนั่นเอง วันหนึ่งเวลาเช้า พระเสลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่า อันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่งแห่งหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังบันเทิงใจอยู่กับความสงบสงัดนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้เสลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาเสลาภิกษุณีถึงที่นั่งพักแล้วกล่าวว่า... “ในโลกนี้ไม่มีทางพ้นทุกข์หรอก ท่านจะเอาความสงบสงัดไปทำอะไร ขอท่านจงหาความสุขสำราญจากกามให้เต็มที่เถิด จะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนใจภายหลัง”
มารกล่าวเช่นนั้น เพื่อต้องการโน้มน้าวใจให้พระเสลาเห็นว่านิพพานไม่มีจริง คนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวอย่างท่านไม่ควรจะหลีกออกจากกาม ควรเสพสุขให้เต็มที่ มารยังชี้ให้เห็นอีกว่า หากยังมัวแต่แสวงหานิพพานซึ่งไม่มีอยู่จริง ในที่สุดก็จะมาเดือดร้อนใจภายหลังว่าไม่ได้เสพสุข
พระเสลารู้ดีว่า มารกล่าวเช่นนั้นเพราะไม่รู้ว่าท่านบรรลุอรหัตผลแล้ว จึงกล่าวตอบไปว่า... “กาม คือสิ่งที่น่าใคร่ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นที่ตั้งให้เกิดความยึดถือกามเหล่านั้น ความยินดีในกามแบบใด ที่เธอเพิ่มพูนอยู่ บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามแบบนั้นแล้ว ความเพลินใจในกามทั้งหมด เราละได้แล้ว ความลุ่มหลง เราทำลายได้แล้ว มารผู้ต่ำช้า ขอเจ้าจงรู้ไว้ด้วยเถิดว่า นี่!..เรากำลังข่มขู่เจ้านะ”
มารได้ฟังคำนั้นแล้วก็เข้าใจได้ว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ซึ่งพ้นวิสัยที่ตนจะขัดขวางได้ จึงได้หายตัวไป ฝ่ายพระเสลานั้นยังคงนั่งพักกลางวันอยู่ในป่าอันธวันจนกระทั่งถึงเวลาเย็น จึงได้เดินทางกลับเข้าเมืองสาวัตถี พระเสลาอยู่ช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนถึงกาลอันสมควรก็ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน
เราต้องจับหลักให้ดี เอาพระพุทธเจ้าเอาพระอรหันต์เป็นหลัก การประพฤติปฏิบัติเราไม่ต้องไปดูคนอื่น เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาปรับปรุงตนเอง เราถึงจะเป็นผู้นำตนเองออกจากวัฏสงสารได้ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องศาสนาเสื่อม ถ้าใจของเราไม่เสื่อมอะไรมันจะเสื่อม ส่วนใหญ่มันเสื่อมมาจากใจเรานี่แหละ ถ้าเราจะไปแก้ภายนอก มันแก้ไม่ได้หรอก เราต้องมาแก้ตัวตนเองให้เต็ม 100% เพราะการบอกการสอนร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่สู้การประพฤติปฏิบัติให้ดู ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน พระด้วยกันจึงไม่เคารพผู้ที่สอนเก่ง แต่การประพฤติปฏิบัติไม่ดี คนอื่นไม่รู้ความประพฤติเขาก็อาจจะเคารพเลื่อมใส ดังนั้นจึงต้องถึงพร้อมทั้งปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ
คนเราน่ะ ถ้าเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นใหญ่ไม่มีคำว่าเสื่อมหรอก พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง ถ้าเราไม่ทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง เราถึงจะปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิของเราได้ เราอย่าไปติดสุขติดสบาย อย่างกลุ่มภิกษุวัชชีบุตร เราทุกคนต้องมีสัมมาสมาธิคือมีจิตใจที่เข้มแข็งตั้งมั่น ต้องมีปัญญาต้องเสียสละเพื่อเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ เราจะไปย่อหย่อนอ่อนแอไปเรื่อยไม่ได้ ทุกคนต้องหยุดตนเองเบรกตนเอง ต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมี 20 อสงไขยแสนมหากัป ได้มาบอกมาสอนพวกเรา
พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกให้เราตัดเรื่องอดีต ตัดเรื่องอนาคต เน้นไปที่ปัจจุบัน เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ด้วยฉันทะ ความพอใจ ด้วยความสุข เป็นแบบนี้แล้ว ทุกข์มันจะมาจากไหน เราจะได้ชื่อว่าสุคโต อยู่ก็ดี ไปก็ดี จะได้ชื่อว่าเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเรานักบวชหรือเป็นฆราวาส ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น เราก็เข้าถึงนิพพานพอๆ กัน ไม่มีใครเหนือกว่ากันหรอก ที่เหนือกว่าก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องพากันเห็น เทวทูตทั้ง ๔ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ความสงบ เขาเรียกว่าเทวทูต ทุกคนต้องมีความสุขใน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องเจอ เราต้องมีความสุข เราจะได้มีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้เป็นคนไม่หลงงมงาย กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย มันถูกที่ไหนเล่า เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราต้องทำเหมือนท่าน มีความสง่างามในเบื้องต้นคือศีล มีความสง่างามในท่ามกลางคือสมาธิ มีความสง่างามในที่สุดคือปัญญา ชีวิตจึงจะประเสริฐอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee