แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๗ คนที่ประมาทแม้นมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนตายคือตายจากความดี จึงต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเสมอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด ๔๕ พรรษา ต่างมาประชุมรวมกันอยู่ในความไม่ประมาททั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากปัจฉิมโอวาทก่อนปรินิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลาย ให้นึกถึงสังขารร่างกายที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป เมื่อพิจารณาเช่นนี้ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดในโลก แล้วดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท พระบรมศาสดาของเราทรงสอนว่า เราจะต้องไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อจะได้ไม่มัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ เพราะเวลาแห่งการสั่งสมบุญกุศลในโลกนี้มีเพียงเล็กน้อย กาลเวลาได้กลืนกินชีวิตของเรา และสรรพสัตว์ไปทุกขณะ และจะเรียกกลับคืนมาก็ไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า มา ปมาทมนุยุญฺเชถ มา กามรติสนฺถวํ อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ ปรมํ สุขํ
อย่ามัวแต่ประมาท อย่ามัวแต่สนิทชิดชอบในกาม เพราะผู้ไม่ประมาท พิจารณาอยู่ ย่อมถึงบรมสุข
ความสุขในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ เรียกว่าอามิสสุข เป็นความสุขที่เกิดจากตาได้เห็นรูปสวยๆ หูได้ยินเสียง เพราะๆ ได้รับประทานอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล เป็นต้น เป็นสุข ภายนอกที่เห็นกันได้ง่าย ความสุข
ประการที่ ๒ คือ ความสุขที่ไม่ต้อง อิงอาศัยวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดจากการทำความดี ได้สั่งสมบุญ คือ เมื่อได้ทำบุญและสบายใจ ใจปลอดโปร่งเบาสบาย ปราศจากความโลภ เข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะสุขที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา เป็นความสุข ที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ได้เข้าถึงธรรมภายใน เมื่อเทียบกับความสุขภายนอก เป็นสุขที่เลิศกว่า ประณีตกว่า เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
ความสุขภายในนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ลงมือปฏิบัติ จะไม่พบ กับความสุขชนิดนี้ ทำให้ไม่รู้จัก แม้อ่านจากตำรับตำราก็ยากที่จะเข้าใจ เช่น พระท่านบอกว่า ผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีความสุข จิตจะร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรม ก็จะนึกค้านว่าคนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องคอยระวังไปหมด สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ จะดื่ม จะเที่ยวจะเล่นก็สนุกสนานร่าเริงกว่าการรักษาศีล สนุกกว่าการนั่งหลับตา นั่นเขาคิดเข้าใจไปเอง
แต่เมื่อใดที่ได้รักษาศีล ได้ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความสุขชนิดนี้ จะเกิด การเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย และจิตใจ หน้าตาผิวพรรณวรรณะจะผ่องใส จะพูดจาก็ไพเราะ จิตใจก็ร่าเริงเบิกบาน ผู้ที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้คือผู้ที่ ประพฤติธรรม เช่นสมณะทั้งหลาย ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรง บันดาลใจให้ประพฤติธรรม ให้อยากทำความดี อยากให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะได้รับการกระตุ้นให้ทำความดีจากการได้เห็นสมณะ
และเมื่อลงมือสร้างความดีให้เต็มที่ ก็ทำให้มีสุคติโลกสวรรค์ สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึงบรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝน อบรมตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญามาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ สงบจากบาปอกุศล การได้เห็นสมณะท่านเรียกว่า เป็นอุดมมงคล เพราะเป็นต้นทางที่จะทำให้เราได้ทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อได้เข้าไปหา ได้สนทนาธรรม และฟังธรรม เราจะได้รู้จักเส้นทางไป สู่สวรรค์นิพพาน เหมือนดังเรื่องสามเณรนิโครธผู้เป็นสมณะน้อย แต่เป็น ผู้จุดชนวนให้พระเจ้าอโศกผู้มีฝ่ามือชุ่มด้วยโลหิตเปลี่ยนมานับถือ พระพุทธศาสนา และช่วยยอยกพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่าง ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน
เรื่องของสามเณรนิโครธ ผู้เป็นเหล่ากอของสมณะรูปนี้มีอยู่ว่า หลัง พุทธปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี หลังจากที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกทำ สงคราม ก็คิดจะหาความสงบพระทัย เดิมทีพระองค์ทรงนับถือลัทธินอก พุทธศาสนาอยู่ ๓ ปี ได้ถวายภัตตาหารให้แก่นักบวชในลัทธิต่างๆ วันละ หลายแสนคน พอเข้าปีที่ ๔ ก็ได้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะอานุภาพของสามเณรนิโครธ
สืบเนื่องจากพระเจ้าพินทุสารผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอโศก ได้ทรงนับถือพวกพราหมณ์ พระองค์ได้ทรงตั้งนิตยภัตไว้ให้พวกพราหมณ์ ตาปะขาว และปริพาชก เป็นต้น มีประมาณหกแสนคน พระเจ้าอโศกจึง ดำเนินตามพระราชบิดา ในวันหนึ่งได้ประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอด พระเนตรเห็นพวกพราหมณ์ ผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยมารยาทที่เหินห่าง จากความสงบเรียบร้อย ไม่มีความสำรวมอินทรีย์ ทั้งไม่ได้รับฝึกหัดกิริยา มารยาท จึงทรงดำริว่า “การที่เราใคร่ครวญเสียก่อนแล้วให้ทานเช่นนี้ ในเขตที่เหมาะสมจึงจะควร”
ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสเรียก พวกอำมาตย์ว่า “พวกท่านจงนำสมณะ และพราหมณ์ที่คิดว่าฝึกตัวมา ดีแล้ว เข้ามาในพระราชวัง เราอยากถวายทานกับเนื้อนาบุญเช่นนั้น”
พวกอำมาตย์ได้นำนักบวชนอกศาสนา มีตาปะขาว ปริพาชก อาชีวก และนิครนถ์ เป็นต้น มารับภัตตาหาร เพราะเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ พวกนักบวชที่มารับทานจากพระองค์ บางพวกนั่งบนตั่ง บางพวกนั่งบนแผ่นกระดาน นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีอาจาระที่น่าเลื่อมใสเลย
พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาการนั่งของผู้ที่แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์ เหล่านั้นแล้ว ทรงทราบด้วยพระปัญญาของพระองค์เองว่า นักบวชเหล่านั้น ไม่น่าจะมีธรรมที่เป็นสาระอยู่ภายใน พอถวายภัตตาหารแล้วทรงส่งกลับไป
มีอยู่วันหนึ่ง พระเจ้าอโศกประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็น สามเณรนิโครธ ผู้ฝึกฝนตนเองมาดี มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ กำลังเดินผ่านไปทางพระลานหลวงพอดี สามเณรนิโครธก็คือหลานของ พระเจ้าอโศกนั่นแหละ มารดาของสามเณรคืออดีตน้องสะใภ้ของพระเจ้า อโศก ซึ่งพระองค์ได้ประหารชีวิตพี่น้องร่วมอุทรจนหมด แต่น้องสะใภ้คนนี้ สามารถหลบหนีออกนอกเมืองไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลในขณะที่ยัง มีครรภ์แก่
เมื่อให้กำเนิดโอรสก็ตั้งชื่อว่า นิโครธ ชาวบ้านได้ให้เกียรติและดูแล พระนางเป็นอย่างดี เคารพนับถือเหมือนพระเทวี นางตั้งใจเลี้ยงดูโอรส เป็นอย่างดี พอเติบโตขึ้นมีอายุได้ ๗ ขวบ พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อ มหาวรุณ ได้มารับไปบวช เพียงเวลาปลงผมเสร็จเท่านั้น สามเณรก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที
วันหนึ่งสามเณรนิโครธ ได้นุ่งสบงทรงจีวรออกบิณฑบาต และตั้งใจว่า จะไปเป็นเนื้อนาบุญโปรดโยมมารดาสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากทางลัดไป บ้านโยมมารดาจะต้องเดินผ่านพระราชนิเวศน์ เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศก ซึ่งกำลังประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร จึงได้ทอดพระเนตรเห็นสามเณรนิโครธ นุ่งห่มเรียบร้อย มีอินทรีย์สงบ ทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก กำลังเดินผ่านหน้าพระลานหลวง
ครั้นทอดพระเนตรเห็น ทรงรำพึงว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลาย มีจิตฟุ้งซ่าน เหมือนมฤคที่วิ่งพล่าน ส่วนกุมารนี้ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน การมองดู การเหลียวดู การเหยียดแขนคู้แขน ช่างสงบเสงี่ยมสง่างามเหลือเกิน ภายในของกุมาร นี้น่าจะมีโลกุตตรธรรมอย่างแน่นอน ยิ่งเพ่งพินิจดูกิริยาอาการ ก็ให้บังเกิด ความเลื่อมใสในสามเณรมาก จึงรับสั่งพวกอำมาตย์ให้ไปนิมนต์สามเณร เข้ามาในพระราชมณเฑียร ด้วยความเลื่อมใส และไม่ทันใจพระองค์ พระเจ้าอโศกจึงส่งอำมาตย์ ชุดใหม่ไปโดยรับสั่งว่า จงรีบนำสามเณรรูปนั้นมาโดยเร็ว
ฝ่ายสามเณร ก็เดินมาตามปกติของท่านอย่างองอาจสง่างาม เมื่อสามเณรมาถึงแล้ว พระราชาอยากทราบว่า สามเณรจะเป็นผู้รู้จักที่ๆ ควรนั่งหรือเปล่า จึงตรัสเชื้อเชิญว่า “ท่านทราบอาสนะที่สมควรแล้ว ก็จงนั่งเถิด” สามเณรแลดูสถานที่อันเหมาะสม และคิดว่า ในที่นี้ไม่มีภิกษุรูปอื่น จึงเดินเข้าไปใกล้บัลลังก์ ซึ่งยกเศวตฉัตรกั้นไว้ พระราชาทรงเลื่อมใสในความองอาจของสามเณร จึงนิมนต์ให้นั่งบนบัลลังก์ ทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิดที่เตรียมไว้เพื่อพระองค์แก่สามเณร สามเณรรับภัตตาหาร พอยังอัตภาพของตนให้เป็นไปเท่านั้น เมื่อฉันเสร็จ พระราชาก็ตรัสถามว่า “พ่อเณรรู้พระโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานแก่พ่อเณรบ้างไหม” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพรู้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่รู้ละเอียดครอบคลุมทั้งหมด เพราะยังเป็นผู้ใหม่อยู่”
พระราชาทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร ขอจงได้แสดงโอวาทที่พ่อเณรรู้แก่โยมบ้างเถอะ”
สามเณรได้กล่าวหัวข้อธรรม เรื่องความไม่ประมาทให้พระราชาได้สดับว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย จากนั้นก็เทศน์ด้วยสำเนียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง นี่ขนาดถ่อมตนว่ารู้น้อยแล้ว แต่เทศน์ได้ยอดเยี่ยมมาก ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย
พระราชาพอได้สดับแล้ว ก็ปลื้มปีติในธรรมที่สามเณรน้อยได้แสดง ทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร โยมจะขอบูชากัณฑ์เทศน์ด้วยการถวายภัตร ประจำแก่พ่อเณรวันละ ๘ สำรับ”
สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายธุวภัตรเหล่านั้นแก่พระอุปัชฌาย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าอุปัชฌาย์ของท่านคือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่เห็นโทษน้อยใหญ่ แล้วคอยตักเตือน และให้ระลึกไม่ให้ทำบาปอกุศล ชื่อว่าพระอุปัชฌาย์”
พระราชาทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร งั้นโยมจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำรับ แก่พ่อเณร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายภัตรเหล่านั้นแก่พระอาจารย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าพระอาจารย์นี้คือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่ให้อันเตวาสิก และสัทธิวิหาริก ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรศึกษาในพระศาสนานี้ชื่อว่า พระอาจารย์”
พระราชาทรงรับสั่งว่า “ดีละ พ่อเณร โยมมีจิตศรัทธาจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำหรับเพื่อพระอาจารย์ของสามเณรด้วย”
สามเณรเป็นคนรักในการให้ทานเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว ก็ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายภัตรเหล่านั้นแก่พระภิกษุสงฆ์” พระราชาทรงสงสัย ในคำที่สามเณรนำมากล่าว จึงตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าภิกษุสงฆ์นี้ คือบุคคลเช่นไร” สามเณรถวายพระพรว่า "มหาบพิตร บรรพชา และอุปสมบทของอาจารย์ และอุปัชฌาย์ของอาตมภาพ และบรรพชาของอาตมภาพ อาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้น ชื่อว่าภิกษุสงฆ์”
พระราชาทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงรับสั่งว่า “พ่อเณรโยมจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำรับสำหรับภิกษุสงฆ์” สามเณรจึงทูลรับว่า “ขออนุโมทนากับมหาบพิตรด้วย” ในวันรุ่งขึ้นสามเณรจึงได้ไปอาราธนา ภิกษุ ๓๒ รูป เข้าไปภายในพระราชวัง เพื่อรับภัตตาหารจากพระราชา
พระราชาเห็นหมู่ภิกษุสงฆ์แล้วเลื่อมใส จึงนิมนต์มาเพิ่มอีก ๓๒ รูป ให้มาฉันภัตตาหารในพระราชวัง จากนั้นทรงให้เพิ่มภิกษุมากขึ้นทุกวันๆ จาก ๓๒ รูป เป็น ๖๔ รูป จาก ๖๔ รูป เป็น ๑๒๘ รูป เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น ๒๕๖ รูป ยิ่งเห็นภิกษุสงฆ์มาเป็นเนื้อนาบุญมาก ก็ยิ่งปีติในมหาทานที่ได้ทำไป ได้ทรงตัดภัตรของพวกนักบวชนอกศาสนาออก แล้วได้ทรงตั้งนิตยภัตรไว้สำหรับภิกษุหกแสนรูปภายในพระราชนิเวศน์ เพราะความเลื่อมใสที่มีต่อสามเณรนิโครธนั่นเอง ฝ่ายสามเณรนิโครธได้แนะนำให้พระราชาพร้อมทั้งเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ และให้สมาทานศีล ๕ ท่านได้เข้าไปเทศน์สอนธรรมะ แนะนำการปฏิบัติภาวนาในพระราชวังเป็นประจำ ให้ทุกคนดำรงมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย
พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง เท่ากับจำนวนของพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ พระองค์ได้นำพระบรมสาริกธาตุทั้งหมด ไปบรรจุไว้ในมหาวิหารทุกหลัง เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสเถระได้อนุโมทนา พร้อมกับแสดงฤทธิ์ให้พระราชาทอดพระเนตร ให้เห็นมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังพร้อมๆกันหมด ไม่ว่าจะมองไปทางด้านทิศไหนก็เห็นมหาวิหารที่ได้สร้างเอาไว้ ทำให้พระราชาเกิดความปีติโสมนัส
พระมหาเถระได้กล่าวว่า “ผู้ถวายไทยธรรมบำเพ็ญกุศลมากที่สุด ไม่มีใครที่เสมอเหมือนพระองค์” พระราชาก็ยิ่งเพิ่มพูนความปีติซาบซ่านไปทั่วพระวรกายตลอดเวลา พระองค์ได้ตรัสถามพระมหาเถระว่า “ตอนนี้โยมเป็นญาติของพระศาสนาแล้วใช่ไหม?” “ถวายพระพร มหาบพิตรยังเป็นคนนอกอยู่” พระเจ้าอโศกเกิดความสงสัยจึงตรัสว่า “โยมได้บริจาคทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ เพื่อสร้างมหาวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ หลังยังไม่ถือว่าเป็นญาติกับพระศาสนาอีกหรือ”
พระมหาเถระตอบว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้ชื่อว่าเป็นปัจจยทายก คือเป็นอุปัฏฐากถวายจตุปัจจัยไทยธรรม เป็นบุญกุศลเฉพาะพระองค์เท่านั้น แต่ผู้ที่อนุญาติให้พระโอรสพระธิดาได้บวชผู้นั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นญาติของพระพุทธศาสนา”
พระพุทธองค์ทรงตำหนิความประมาทไว้มาก และทรงสรรเสริญความไม่ประมาทไว้มากเช่นกัน เช่นว่า เป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมทั้งมวลเป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ฯลฯ
ในที่นี้ทรงสรรเสริญว่า ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย กล่าวคือเป็นทางแห่งพระนิพพาน
ส่วนความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คือ เป็นทางเสื่อม เป็นทางอบาย เป็นทางทำลายคุณงามความดีทั้งปวง
ความไม่ประมาท ทรงเรียกว่าเป็น อมตบท คือเป็นทางให้ถึงพระนิพพาน คนยังประมาทอยู่ตราบใด ย่อมยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏตราบนั้น
เพราะฉะนั้น ความประมาทจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย บัณฑิตรู้ความแตกต่างแห่งธรรมสองอย่างนี้ แล้วย่อมพอใจแต่ในความไม่ประมาทเห็นแจ้งว่าความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ความต้องเสียใจภายหลัง ความย่อยยับทั้งทางโลกและทางธรรม ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ เพราะเหตุนี้ในปรินิพพานสมัย พระศาสดาจึงทรงเตือนให้ภิกษทั้งหลาย อยู่ด้วยความไม่ประมาท ถือกันว่าเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งพระองค์"
ความไม่ประมาทนี้มีคุณมาก ดังที่เราจะเห็นได้ว่า คนที่ไม่ประมาทนั้นย่อมจะประกอบกิจการงานของตนได้ผลดี ตรงข้าม ถ้าเราประมาทแล้วก็จะเกิดโทษ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แม้แต่ก้นบุหรี่เพียงกันเดียวก็สามารถที่จะทำลายทรัพย์สินของตนและของผู้อื่นให้มอดไหม้ไปในพริบตาเดียว ความไม่ประมาทจึงเป็นความเจริญ คือต้องทำเหตุให้ดี และทำเต็มที่ และทำให้สมผล การปฏิบัติตนอย่างนี้เรียกว่า ไม่ประมาทในธรรม ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ทรงชี้เหตุสำคัญไว้ ๔ ประการด้วยกัน ที่บุคคลไม่ควรประมาทอย่างยิ่งคือ ๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต ๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต ๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต ๔. ในการเลิกละมิจฉาทิฐิ ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ รวมความสี่เรื่องเข้าด้วยกัน คือไม่ให้ประมาทในการทำ การพูด การคิด และการปรับปรุงความคิดเห็นของตนให้ถูกต้อง เมื่อเราประพฤติในความไม่ประมาทแล้ว ความเจริญก็บังเกิดขึ้นแก่ตนในที่สุด
สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง
๑. ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่” อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ เช่น เล่นไพ่ คุยโม้ ดูแฟชั่น ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกลืนกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้
๒. ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็น เด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ หนึ่ง เพราะถ้านับอายุตั้งแต่ชาติแรกๆ จนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายกัปป์แล้ว
๓. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค ไม่สบายเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่
๔. ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่ว สร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส
๕. ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่าจะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
๖. ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่ อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต
๗. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอย นั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เพราะทราบดีว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือนิพพาน
ความประมาทเป็นมลทินของใจ เป็นหนทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือ ตายจากคุณธรรมความดี พลาดจากกุศลธรรมที่จะเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพาน เพราะเป้าหมายชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อสั่งสมบุญกุศลอย่างเดียว ส่วนเรื่องการทำมาหากินนั้น เป็นเพียงการแสวงหาทรัพย์มาหล่อเลี้ยงอัตภาพนี้ให้คงอยู่เท่านั้น ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงแสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี และเร่งรีบทำความดีแข่งกับเวลาที่ผ่านไป
นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ล้วนไม่มัวประมาทเพลิดเพลิน ในเบญจกามคุณ เพราะท่านพิจารณาเห็นความประมาทว่า เปรียบเสมือนตอขวางวัฏฏะ ทำให้นาวาชีวิตต้องสะดุดแล้วจมลงในทะเลแห่งความทุกข์ กว่าจะข้ามขึ้นฝั่งมาได้ก็ต้องผจญภัยในสังสารวัฏอีกยาวนาน
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราเป็นผู้เสียสละนะ... ที่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เราเป็นผู้เอาทั้งนั้น ไม่เสียสละ การเสียสละถึงจะมีคุณธรรม คุณงามความดีเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องพึงปฏิบัติ ถ้าเราไม่หยุดเป็นผู้เอา มันก็เพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงให้เราไปยิ่งทวีคูณ พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาให้เราสร้างความดีสร้างบารมี
"จะพากันโลภไปถึงไหน...?" วันหนึ่ง วันหนึ่ง เราทานอาหารไม่หมดมากเท่าไหร่ ก็ต้องรู้จักแบ่งปันให้คนอื่นเกื้อกูลคนอื่น เวลาตายไป เวลาละสังขาร ยมบาลเขาไม่ได้ถามว่าตอนที่เกิดเมืองมนุษย์เรารวยมั้ย เป็นมหาเศรษฐีมีเงินกี่ล้าน เค้าไม่ถามอย่างนั้น มีตำแหน่งอะไร เป็นนายพลหรือเปล่า เป็นซี 10 ซี 11 หรือเปล่ เป็นเจ้าคุณหรือเปล่า เค้าไม่ได้ถามอย่างนี้ เขามีแต่ถามว่าเมื่อเปิดโอกาสให้เกิดในเมืองมนุษย์ ได้ทำความดีอะไรไว้บ้าง?
คนรวยส่วนใหญ่เมื่อตายแล้ว เมื่อละสังขารแล้ว พระพุทธเจ้าท่านถึงว่า คนรวยๆ ไปเกิดในนรกมาก เพราะมีความโลภมาก มีความหลงมาก พวกคนจนยังไม่ตายก็ตกนรกแล้ว เพราะมันทุกข์ มันยากมันจน ไม่ขวนขวาย ไม่เสียสละ ไม่ขยันหมั่นเพียร หลงในอบายมุข ทำแต่บาปกรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าก็ตกนรกเหมือนกัน เป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่เหมือนกัน
เราจะเป็นคนจนคนรวยไม่สำคัญนะ มันสำคัญที่เราต้องเป็นคนดี มีศีล ปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาต่อตัวเองนำตัวเองออกจากวัฏฏสงสาร
ความไม่ประมาท คำพูดสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ก่อนดับขันธ์ปรินิพพานเป็นคำพูดที่มีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อม เป็นสาเหตุที่ให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา มีความก้าวหน้า คนเราถ้าไม่ประมาทถึงจะปลอดภัย ที่เราย่อหย่อนอ่อนแอสาเหตุก็มาจากความประมาทของเรา การดำเนินชีวิตของพระพุทธเจ้าท่านมีความสุข เพราะท่านเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ 100% สมบูรณ์พร้อม เพราะคนเราหน่ะ ถ้าอากาศร้อนก็ทำใจเราอ่อนได้ อากาศหนาวก็ทำให้ใจเราอ่อนได้ ความหิวความกระหายก็ทำให้ใจเราอ่อนได้ เพื่อนฝูงต่างๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆ เขาเรียกว่า ฝนตกทีละหยดก็กลายเป็นแม่น้ำในมหาสมุทรได้ ความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ทุกคนก็คิดว่าเหล้าไม่ดี เบียร์ไม่ดี การพนันไม่ดี ทุกคนรู้ว่ายาเสพติดไม่ดี แต่ว่าทุกคนนั้นเชื่อใจตัวเอง คิดว่าตัวเองคงไม่ตกต่ำ ใจของเรามันประมาทไป ผู้ไม่ประมาทสติสัมปชัญญะจึงจะสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาถึงสมบูรณ์ ที่พระเรามีทั้งวัดบ้านวัดป่าได้ เพราะว่าตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะผู้ไม่ประมาทจะอยู่ในย่านในนิคมในเมืองหลวงก็ย่อมไม่มีปัญหา เพราะว่าเพชรก็คือเพชร เพราะว่าของแท้นั้นก็คือของแท้ไม่เสื่อมคลาย ไม่ไปให้คนอื่นล้างสมอง ผู้ไม่ประมาทจะไปอยู่แห่งหนใดก็ปฏิบัติได้หมด เพราะยิ่งไม่ประมาทก็ยิ่งมีสติมีปัญญา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee