แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๕ เดิมทีจิตนี้ผ่องใส แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสใหลจรเข้ามา จึงต้องภาวนาอบรมจิตใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
รูปก็ไม่เป็นเรา เวทนาก็ไม่เป็นเรา สัญญาก็ไม่เป็นเรา สังขารก็ไม่เป็นเรา อายตนะทั้ง ๖ ก็ไม่เป็นเรา มันเป็นสภาวะธรรม หรือเป็นกรรมเก่าที่รวมมาเป็นพลังงานทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร แต่ก่อนเราอยู่กับตัวกับตนอยู่กับอวิชชาอยู่กับความหลง เมื่อทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาน่ะ เป็นแต่สภาวะธรรม เราจะพากันอยู่กับอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่าให้เราอยู่กับพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือธรรมะ ธรรมะคือพรหมจรรย์ คือสมณะที่ ๑-๔ อยู่ในความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง
พระอริยะเจ้าทั้งหลายนี้ ท่านอยู่ด้วยอานาปานสติ ทุกอิริยาบถอยู่ด้วยลมหายใจเข้าชัดเจน หายใจออกชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ถ้าเรานั่งนิ่งๆ เข้าฌานเข้าญาณ เราถึงพักผ่อนสมอง ตัดภายนอกออก การปล่อยวางนี้ก็.. ผู้ปฏิบัติธรรมนี้พากันทิ้งอดีตไปให้หมด อนาคตก็อยู่ที่ปัจจุบัน เพราะเราประชาชนเขาไม่รู้จักเครื่องอยู่ เขาเลยอยู่กับไลน์โทรศัพท์ เล่นโทรศัพท์กัน จมอยู่กับอารมณที่เป็นอดีต ติดสุขติดสบาย เพราะอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น มนุษย์เราต้องพากันปฏิบัติตนฝึกตน มันต้องพากันฝึกพากันปฏิบัติ เพราะว่านึกว่าปล่อยวางหมดไม่มีอะไร เราก็ต้องอยู่กับอานาปานสติ พระพุทธเจ้าก็อยู่กับอานาปานสติ พระอรหันต์ก็อยู่กับอานาปานสติ ผู้ที่จะดำเนินเพื่อมรรคผลพระนิพพานก็อยู่กับอานาปานสติ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ต้องฝึกไปปฏิบัติไป เอาทั้งศีลเอาทั้งสมาธิเอาทั้งปัญญามาใช้กันในปัจจุบัน เพราะความรู้ต้องคู่กับปฏิบัติ มันถึงไม่ได้เป็นเพียงนักปรัชญา มันจะเป็นศีลสมาธิเป็นปัญญา แต่ศาสนาพุทธเรานี้โชคดี ผู้ที่มาบวช ทุกคนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยให้โอกาสมาบวช มีบ้านให้ มีอาหาร การบริโภค ปัจจัยความอำนวยสดวกอำนวยความสบาย เราก็โชคดีพากันมาประพฤติพากันมาปฏิบัติ ช่วงฤดูร้อนก็มาบวชเณร ผู้ที่ไม่ได้มาบวชก็พากันมาเป็นลูกศิษย์วัด เราก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เอาแต่ใจมันไม่ได้ คนที่เกิดมาจนแก่เฒ่า ถ้าเราไม่เรียนหนังสือเราก็ไม่รู้หนังสือ ถ้าเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้เข้าถึงพระศาสนา เราต้องเอาดีกว่าพ่อเรา แม่เรา พ่อแม่เราก็ถือว่าดีแล้วเราก็ต่อยอดพ่อแม่
พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้ เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป
ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิอุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ ตํ อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ยถาภูตํ นปฺปชานาติ ตสฺมา อสฺสุตวโต ปุถุชฺชนสฺส จิตฺตภาวนา นตฺถีติ วทามีติ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว ด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิต ฯ
ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตํ ปชานาติ ตสฺมา สุตวโต อริยสาวกสฺส จิตฺตภาวนา อตฺถีติ วทามีติ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีการอบรมจิต ฯ
จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง ห่อหุ้ม เอิบอาบ แช่อิ่ม บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว แต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอุปนิสัย เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์นับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ มี ๑๖ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส ๑๖ ซึ่งเป็นเหมือนกับลูกหลาน บริวาร สังกัดในกิเลส ๓ ตระกูล แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากดั่งพี่น้อง แต่อาจจะมีระดับต่างกัน ได้แก่
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ คือความละโมภ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว
๒. พยาบาท คือความคิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๓. โกธะ คือความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๔. อุปนาหะ คือการผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๕. มักขะ คือการลบหลู่คุณท่าน ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น
๖. ปลาสะ คือการตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้
๗. อิสสา คือความริษยา เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี
๘. มัจฉริยะ คือความตระหนี่ ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร
๙. มายา คือเจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น
๑๐. สาเถยยะ คือการโอ้อวด หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข
๑๑. ถัมภะ คือความดื้อ ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง
๑๒. สารัมภะ คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้
๑๓. มานะ คือความถือตัว ทะนงตน
๑๔. อติมานะ คือการดูหมิ่นท่าน ความถือตัวว่าเราดียิ่งกว่าเขา ทำให้ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น
๑๕. มทะ คือความัวเมา หลงว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังไม่ตาย หลงในอำนาจ หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปแล้วทำอะไรเกินเหตุ
๑๖. ปมาทะ คือความประมาท เลินเล่อ ไม่คิดให้รอบคอบ อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา
สามเณรนิรนาม อีกรูปหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินหาวได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ท้ายสุดก็เสื่อมจากฤทธิ์ เพราะวัยหนุ่มเป็นเหตุ
เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาล คงราว พ.ศ. ๙๐๐ กว่า ยุคที่อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) รุ่งเรือง ในอรรถกถา “สัมโมหวิโนทนี” เล่าไว้ว่า พระเถระอรหันต์รูปหนึ่ง พร้อมกับสามเณรผู้ติดตามเดินทางจากชนบท ไปยังวัดในเมืองหลวงอันชื่อว่า ปิงครบริเวณ เพื่อนมัสการพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ขณะที่พระเถระทั้งหลายพากันไปไหว้พระเจดีย์ พระเถระจากชนบทท่านไม่ได้ไปด้วย รอให้ผู้คนกลับกันหมดแล้ว กลางคืนดึกสงัด ท่านจึงลุกขึ้นไปไหว้พระเจดีย์แต่เพียงผู้เดียวเงียบๆ ไม่ให้รู้แม้กระทั่งสามเณร
สามเณรเฝ้าดูอาการของพระเถระด้วยความแปลกใจ จึงแอบเดินตามหลังไปเงียบๆ พระเถระกราบพระเจดีย์แล้ว ก็ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลีจ้องพระเจดีย์ด้วยความเคารพอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งสามเณรกระแอมกระไอขึ้น จึงหันมาถามว่า สามเณรมาเมื่อไร “มาพร้อมท่าน ขอรับ”
“เหรอ ฉันไม่ทันสังเกต” “ท่านอาจารย์ไหว้พระเจดีย์ ไม่เห็นมีดอกไม้เลยขอรับ”
“ถ้ามีก็ดี แต่เมื่อไม่มี ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส ก็เสมือนบูชาด้วยดอกไม้นั่นแหละ สามเณร”
“ถ้าท่านอาจารย์ประสงค์ดอกไม้ กระผมจะไปนำมาถวาย” ว่าแล้วก็เข้าฌานเหาะไปยังป่าหิมพานต์นำดอกไม้หลากสีใส่ธมกรก (กระบอกกรองน้ำดื่ม) มาถวายพระเถระ พระเถระเกลี่ยดอกไม้ลงยังแท่นบูชา กล่าวว่า “ดอกไม้มีน้อยนะ สามเณร”
“ท่านอาจารย์ขอรับ ขอให้ท่านรำลึกถึงพระคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเถิด” สามเณรกล่าว
พระเถระก้าวขึ้นตามบันไดไปยังมุขด้านทิศปัจฉิม แล้วเกลี่ยดอกไม้ลงแท่นบูชา ทันใดนั้นแท่นบูชาเต็มไปด้วยดอกไม้ แถมยังหล่นลงมากองบนพื้นข้างล่างอีกสูงท่วมเข่า พระเถระเดินลงยังพื้นชั้นล่างวางดอกไม้บนฐานพระเจดีย์ ดอกไม้ก็แผ่เต็มบริเวณพระเจดีย์
“สามเณร ดอกไม้ยิ่งวางก็ยิ่งมีมาก” พระเถระหันมาพูดกับสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์จงคว่ำธมกรกลง” พระเถระก็ทำตามทันใดนั้นดอกไม้ก็หมดไป
พระเถระอรหันต์ทรงอภิญญา ทราบว่า สามเณรหนุ่มนี้ต่อไปจักเสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม จึงกล่าวเตือนว่า “สามเณร เธอมีฤทธิ์มาก แต่ถ้าเธอประมาท ต่อไปเธอก็จะเสื่อมจากฤทธิ์ เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว”
สามเณรขัดใจนึกตำหนิว่า “พระผู้เฒ่านี้พูดอะไร ไม่เห็นเข้ารูหูเลย” ไม่ใส่ใจ เดินหนีไป
เมื่อพระเถระจะเข้าไปบิณฑบาต ให้สามเณรถือบาตรตามหลัง สามเณรถามว่าท่านจะไปหมู่บ้านไหน เมื่อพระเถระบอกชื่อหมู่บ้าน สามเณรก็บอกว่านิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถอะ ปล่อยให้พระเถระเดินไป จวนจะเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงเหาะตามไปเอาบาตรถวายพระเถระ
พระเถระกล่าวเตือนสามเณรผู้คะนองด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ มันหวั่นไหว เสื่อมได้ ถ้าคะนองเมื่อมันเสื่อมแล้วจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในที่สุด
“พระผู้เฒ่าพูดอะไร ไม่เข้ารูหู” สามเณรหนุ่มบ่นอีกด้วยความรำคาญ ไม่ยอมฟัง
วันหนึ่งสามเณรเหาะลิ่วๆ ผ่านไปสระบัวแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงไพเราะจับใจ ยังกับเธอกำลังออกคอนเสิร์ตกลางสระน้ำก็มิปาน สามเณร “ลอยคว้าง” กลางอากาศ ตำราเปรียบว่า “เหมือนแมลงตาบอดติดอยู่ในรสหวาน” ไปไหนไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งสมาบัติที่เหลืออยู่ถึงแม้ฤทธิ์จะเสื่อมแล้ว แต่ก็ไม่หล่นตุ๊บลงบนพื้นน้ำ สามเณรผู้ต้องศรกามเทพค่อยๆ ลงมายืนริมฝั่ง สติยังมีอยู่บ้าง จึงรีบกลับวัดมาลาอาจารย์ว่าตนมีความจำเป็นจะต้องจากไป
พระเถระรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่เอ่ยปากทัดทานแม้คำเดียว ถึงห้ามก็คงไม่ฟัง ดังพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ย่อมโลดและแล่นไป มิยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ่หวนคิดถึงเจ็บกาย” ฉะนั้นแล
สามเณรถอดสบงจีวรทิ้ง ยืนคอยหญิงสาวอยู่ริมสระ หญิงสาวขึ้นจากสระน้ำรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงขอร้องให้สามเณรกลับไปอยู่วัดอยู่วาตามเดิม ชีวิตครองเรือนมันมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบดังสามเณรฝันดอก
ก็คงพูดปัดไปตามประสา แต่ใจจริงหญิงสาวก็มีใจปฏิพัทธ์สามเณรหนุ่ม เมื่อสามเณรยืนยันจะอยู่เคียงข้างน้องนาง ไม่ว่าจะเข้าดงกุหลาบหรือดงอุตพิตก็ตาม “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด” ว่าอย่างนั้นเถอะ
ทั้งสองก็พากันกลับไปยังเรือนของหญิงสาว พ่อแม่หญิงสาวกว่าวว่า “พ่อหนุ่มเอย เราเป็นช่างหูกจนๆ พ่อหนุ่มจะอยู่กับเราได้หรือ พ่อหนุ่มเคยบวชเรียนอยู่ในเพศสมณะสบายๆ จะทนลำบากไหวหรือ”
พ่อหนุ่มผู้มีรักเป็นสรณะยืนยันแข็งขัน จึงยกลูกสาวให้
ทั้งสองอยู่ครองรักกันต่อมา จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิต พ่อหนุ่มก็ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวรับมรดกช่างทอหูกสืบไป ครอบครัวอื่นเขามีคนใช้หรือผู้ช่วยงานครอบครัว ของอดีตสามเณรมีกันเพียงสองคน เมื่อครอบครัวอื่นเขาให้คนนำอาหารไปให้สามีของเขาที่โรงทอหูกแต่เช้า ภรรยาของอดีตสามเณรหนุ่ม ทำงานบ้านก่อน กว่าจะนำอาหารไปให้สามีก็สาย สามีรอจนโมโหหิว เหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน
จนวันหนึ่งสามีทนไม่ได้ จึงดุด่าเอาแรงๆ ภรรยาก็เถียงเอาบ้าง เท่านั้นเองอดีตสามเณรผู้มีฤทธิ์ ก็ออกฤทธิ์แบบชาวบ้าน คือ หยิบกระสวยขว้างแม่ยอดยาหยี ปลายกระสวยทิ่มตาข้างหนึ่ง เลือดไหลเป็นทาง ตาบอด ร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด
อดีตสามเณร เห็นดังนั้น ก็ร้องไห้ครวญครางไม่แพ้ภรรยา ชาวบ้านต่างก็มาปลอบโยนทั้งสองคนว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ทำคืนไม่ได้อย่าได้ถือสากันเลย ถึงเมียตาบอดข้าง ก็ยังมีอีกข้างมองเห็นอยู่
อดีตสามเณร ครางว่า “ฉันมิได้ร้องไห้เพราะเหตุนี้ดอก ฉันร้องไห้เพราะนึกถึงคำพูดของพระเถระอาจารย์ของฉัน ท่านบอกว่า ต่อไปฉันจะกินน้ำข้าวที่ช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ อาจารย์ท่านมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อุตส่าห์ตักเตือน แต่ฉันไม่ฟัง”
...ดูเหมือนอดีตสามเณรหนุ่มแว่วเสียงของอาจารย์มาแต่ไกลฉะนี้แล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า...
อนวฎฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักวาฬนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย” "เอวเมว ภิกฺขเว กิเลสา นาม ภาริยา, สเจ เอเต รูปิโน หุตฺวา กตฺถจิ ปกฺขิปิตุง สกฺกา ภเวยฺยุง, จกฺกวาฬํ อติสมฺพาธํ, พฺรหฺมโลโก อตินีจโก, โอกาโส เนสํ น ภเวยฺย ฯ
ปัญญาทั้งที่เป็นโลกียและโลกุตตระย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง คลอนแคลนอยู่เสมอ เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่จริง คนที่ทำอะไรไม่จริงก็เพราะจิตไม่มั่นคงนั่นเอง ในอรรถกถาท่านกล่าวหนักไปทางธรรมว่า "(เหมือนฟักเขียวตั้งไว้บนหลังม้า กลอกกลิ้งอยู่) บางคราวเป็นสวก บางคราวเป็นอาชีวก บางคราวเป็นนิครนถ์ และบางครั้งเป็นดาบส เอาแน่นอนอะไรไม่ได้"
บวชก็ไม่ได้เป็นพระจริง เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ประกอบด้วยธรรมของคฤหัสถ์ เพราะจิตมัวกลับกลอกอยู่นั่นเอง จะทำความดีก็ไม่แน่ใจว่า ความดีจะให้ผลจริงหรือเปล่า จึงไม่กล้าทำ คงปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์และแก่ตายไปโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะศึกษาเล่าเรียนก็ลังเล ไม่รู้จะจับอะไรดี จึงไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร
ข้อว่าไม่รู้พระสัทธรรมนั้น ท่านอธิบายว่า ไม่รู้โพธิปักขิยกรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฎฐาน ๔ เป็นต้น โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้คือผู้ที่จะตรัสรู้จะต้องอาศัยธรรมนี้ไป มองในแง่ธรรมดาสามัญ ข้อว่าผู้ไม่รู้พระสัทธรรมนั้นคือไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่รู้จักประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ
ข้อว่ามีความเลื่อมใสเลื่อนลอยนั้น ท่านแก้ว่ามีศรัทธาน้อยคือ มีศรัทธาคลอนแคลนไม่มั่นคง เมื่อกระทบเหตุอันทำให้ศรัทธาถอย ก็ถอยเอาง่ายๆ
ภัย คือความกลัวย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบนั้น จักอธิบายต่อไป
ราคะนั้น คือความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม โดยทั่วไปหมายถึงความกำหนัดในกามซึ่งเรียกว่า กามราคะ หรือความใคร่ในการสืบพันธุ์ ในการประกอบเมถุนกรรม
โดยปกติ จิตของมนุษย์ธรรมดาและสัตว์โลกทั่วไป ย่อมซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้ มีความกระหายอยู่เสมอ เหมือนอย่างว่า คนกระหายน้ำ เมื่อเห็นน้ำใสสะอาด น่าดื่ม ย่อมแสดงอาการอยากดื่ม เช่น มองอย่างต้องการ ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็จะต้องหยิบมาดื่มดับความกระหายนั้น แต่ผู้ที่ไม่กระหายน้ำ ไม่มีความรู้สึกกระหายซึมซาบอยู่ในความรู้สึก แม้เห็นน้ำก็เฉย ไม่มีอาการว่าต้องการอยากดื่ม ฉันใด
จิตใจที่ซึมซาบอยู่ด้วยราคะ ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นวิสภาคารมณ์ สมมติว่า เพศตรงกันข้าม ย่อมแสดงความกระหายออกมา หากกระหายจัด ย่อมจะหาทางบำบัดความกระหายนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะแรงกระตุ้นภายในคือความกระหายขึ้นอยู่ในระดับสูง เหมือนคนกระหายน้ำจัดจนไม่อาจยับยั้งได้ต่อไป แม้น้ำขุ่นและสกปรกก็พยายามจะดื่ม
เพราะเหตุที่จิตใจปกติของคนธรรมดาสามัญชน หรือซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี่เอง ท่านจะสังเกตว่า คนหนุ่มคนสาวเมื่อพูดถึงเพศตรงกันข้ามอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนก็มักพูดกันได้ยืดยาว ไม่รู้เบื่อหน่าย คุยเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อนในที่สุด ก็มักจะเวียนวกมาหาเรื่องที่จิตซึมซาบอยู่ คือเรื่องระหว่างเพศ อันเป็นที่เกิดที่ตั้งอยู่แห่งราคะ คนเมื่อยังมีราคะก็ยังมีความกลัว กลัวไปสารพัดอย่าง แต่พอราคะลดลง ความกลัวก็พลอยลดลงด้วย ดูเหมือนในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวนัก พอราคะเหือดแห้ง ความกลัวก็พลอยหายไปด้วย
ในโลกสมัยใหม่ กิจกรรมบำรุงบำเรอราคะ และการค้าอันเป็นไปในท่วงทำนองส่งเสริมราคะนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนาได้ กิจกรรมและการค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยกำไรอันงาม เพราะไปจัดทำสิ่งที่ถูกใจคนส่วนมากเข้า
โดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการ ก็ย่อมต้องบำบัด เมื่อมีสิ่งเร้า ก็ต้องการตอบสนอง เช่น เมื่อหิวก็บริโภคอาหาร กระหายก็ดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อดับความกระวนกระวายทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิธีการของคนทั่วไปเป็นดังนี้
แต่วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นคือ การดับความกระหายเสียเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องสนอง หรือหาทางบำบัดกันบ่อยๆ อันเป็นเรื่องซ้ำซากและเจืออยู่ด้วยทุกข์นานาประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมการดับราคะ โทสะ และโมหะ คนบางคนอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้
พูดถึงการทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ คนไม่มีราคะก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าคนมีราคะเสียอีกด้วย เพราะไม่มีสิ่งกวนใจให้เขว จิตใจสงบแน่วแน่อยู่ในการบำเพ็ญแต่สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์ และไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ไม่ต้องการผลเพื่อตน อันนี้ก็โยงไปถึงข้อว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว อันเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์
คนธรรมดายังต้องทำบุญบ้าง บาปบ้าง เพราะจิตเราต้องการทำ แม้บางคนจะไม่ต้องการทำบาป แต่ต้องทำลงไปเพราะสู้แรงกระตุ้นภายใน และสิ่งยั่วเย้าภายนอกไม่ไหว เมื่อทำความดีก็ต้องการผลดีตอบแทนแก่ตน ทั้งหมดนี้รวมลงในข้อธรรมว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร คือสภาพอย่างหนึ่งอันปรุงแต่งจิตให้ทำความดีบ้าง ทำความชั่วบ้าง ผลแห่งความดีความชั่วก็ออกมาในรูปให้สุขบ้างทุกข์บ้าง ในการทำการพูดต่างๆ นั้น คนสามัญมีเจตนาให้เกิดผลแก่ตนเป็นเบื้องต้น ต่อไปก็ให้เกิดผลแก่คนอื่น ความหวังอันนี้จะว่าเป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้ เพราะหวังความสุขเข้าตัว
แต่พระอรหันต์ท่านมีบุญเต็มเปี่ยมแล้วไม่ต้องการบุญอีก บาปนั้นท่านไม่ทำอย่างเด็ดขาด บุญท่านก็ไม่ต้องการอีกแล้ว บาปท่านก็ไม่ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าผู้ละบุญและบาปได้
จิตอันประกอบด้วยความกลัวไม่มีแก่ท่านผู้เช่นนั้น ท่านเป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับเพราะกิเลส ตื่นอยู่เป็นนิตย์ด้วยธรรม
ความกลัวเป็นมารร้าย ทำลายความสุขของบุคคล ความกลัวเช่นนั้นไม่มีแก่พระอรหันต์ ความกลัวเกิดขึ้นในใจ คนเมื่อใด เมื่อนั้นความสงบสุขก็หายไปทันที มีแต่ความทุกข์ ความกังวลเข้ามาแทนที่ เหมือนเมื่อแสงสว่างหายไป ความมืดก็คืบคลานเข้ามา
ธรรมฝ่ายกุศลอันพระพุทธองค์ทรงแสดงในที่นี้คือ ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง การรู้แจ้งพระสัทธรรม ความเลื่อมใสอันดี ความเป็นผู้มีจิตปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ และการละบุญบาปได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee