แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๔ ไม่ว่าโลกไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ธรรมะเท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำว่า พุทธ นี้แปลว่ามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และก็ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ไม่เอาขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตน ไม่เอาอายตนะเป็นตัวเป็นตน เอาสิ่งนี้เป็นอุปกรณ์เป็นสิ่งดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ การที่เราจะหลุดพ้นได้ ก็ต้องหลุดพ้นด้วยความบริสุทธิ์ด้วยปัญญา เมื่อเรามีปัญญาเราก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติด้วยศีล ศีลนี้ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ จิตที่เราต้องปฏิบัติที่เราต้องพัฒนา ตั้งมั่นในธรรมเป็นสัมมาสมาธิ หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายต้องมีขณิกสมาธิ เราไม่เอาแบบศาสนาหลายศาสนาที่ไปเน้นเอาแต่สมาธิ พระพุทธเจ้าท่านให้เอาชีวิตประจำวัน เอาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน
การดำเนินชีวิตของเรามีอยู่ในมรรค ๘ มีอยู่ในภาพรวมของชีวิตนี้ เอามาประพฤติเอามาปฏิบัติ เราดูตัวอย่างอย่างพระพุทธเจ้าหน่ะ ไม่มีงบประมาณในการเผยแผ่ เราทุกคนต้องเข้าใจในศาสนาที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้เรามีศาสนาแต่ว่าเป็นแบรนด์เนมของศาสนา ยังไม่เข้าถึงพระศาสนาด้วยภาคประพฤติด้วยภาคปฏิบัติที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ในปัจจุบัน ผู้ที่มาบวชเป็นพระนี้ เสียสละอะไรทุกอย่าง จนมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ความถ่วงการดึงดูดที่เอาอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเราไปไม่ได้ เพราะเรามีพุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในปัจจุบัน การปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่อง มาเดินแต่ละก้าวในปัจจุบัน ชีวิตเราถึงจะมีความสุข เราทำอย่างนี้แหละ หมู่มวลมนุษย์ของเราทั้งหลายจะได้มีความสุข พวกโกงกินคอรัปชั่น อบายมุข อบายภูมิ จะหลุดไปโดยปริยาย ทุกคนก็จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นข้าราชการที่สมบูรณ์ เราจะไม่ได้เป็นแต่เพียงคน คนแปลว่า อวิชชา แปลว่าความหลง คนมั่วไปหมด ทำทั้งดีทั้งชั่ว ข้าราชการผู้มีความสุขในการทำงาน ผู้ที่เป็นมือเป็นเท้าให้กับทุกคน เป็นผู้ที่มีธรรมะ ไม่มีใต้โต๊ะบนโต๊ะ มีแต่การเสียสละ ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ไม่ใช่อยู่ที่มีตังมากตังน้อยหรอก อยู่ที่มันมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ทีนี้แหละใจของเราจะได้เป็นพระทุกคน เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย อะไรไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่ทำ อันไหนไม่ดีไม่พูด ต้องไฟต์ติ้งกับตัวเอง จะได้ไม่เป็นแบรนด์เนมเหมือนพระคุณเจ้าทั้งหลาย เหมือนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มันจะดีขึ้นอะไรขึ้น เราจะได้พัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มันจะได้เป็นกระบวนการ ทุกท่านทุกคนไม่ต้องวิตกกังวล พระพุทธเจ้าให้เราทำอย่างนี้
ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ วันนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรสองรูปชื่อ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ เรื่องราวของสามเณรน้อยทั้งสองรูปมีบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (อัคคัญญสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑
สามเณรทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ชวนกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอทั้งสองเป็นพราหมณ์มาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันด่าว่าเอาหรือ สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ถูกด่ามากทีเดียว พระเจ้าข้า “เขาด่าอย่างไรบ้าง” ตรัสซัก
“เขาด่าว่า พวกข้าพระองค์เกิดในวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะบริสุทธิ์ เป็นบุตรพรหม เกิดจากปากของพรหม ยังไม่รักดี มาบวชอยู่กับพวกสมณะโล้นซึ่งเป็นพวกไพร่ วรรณะเลว เกิดจากเท้าของพรหม”
พระพุทธเจ้าทรงสดับรายงานดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกพราหมณ์พวกนั้นลืมตนเกิดจากโยนีของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าเกิดจากปากพระพรหม เป็นการพูดเท็จแท้ๆ”
พระองค์ตรัสต่อไปว่า ต่อไปถ้าใครถามว่าเป็นใคร พวกเธอจงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะ ศากยบุตร เป็นโอรสของตถาคตเกิดจากธรรมอันธรรมะสร้าง เป็นธรรมทายาท เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมทูต เป็นชื่อของตถาคต
จากนั้นพระองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้
เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน
ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป
จากนั้นพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปรากฏ มีกลางวัน กลางคืน มีวัน เดือน ปี มีฤดูกาล จากนั้นก็เกิดสะเก็ดดิน มีสีกลิ่นและรสดีกินเป็นอาหารได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกินสะเก็ดดิน ผิวพรรณก็ค่อยหยาบขึ้นๆ ความแตกต่างแห่งผิวพรรณดีก็ดูหมิ่นเหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณหยาบ เมื่อเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะผิวพรรณ สะเก็ดดินก็หายไป มีเถาดินหรือเครือดินเกิดขึ้นแทน และเครือดินก็หายไปในที่สุด
เกิดข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีแต่ข้าวสาร มีรสชาติอร่อย เมื่อเก็บเอาตอนเช้า ตอนเย็นก็งอกขึ้นแทน เมื่อเก็บเอาตอนเย็น ตอนเช้าก็งอกขึ้นแทน เหล่าสัตว์ที่กินข้าวสาลี ต่างก็มีผิวพรรณหยาบขึ้นๆ พวกที่ผิวพรรณยังดีดูกว่าพวกอื่น ก็เหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณเลวกว่าตน
จากนั้นก็เกิดเพศหญิงเพศชายขึ้น มีการเพ่งมองกันเกินขอบเขตเมื่อเพ่งมองมากเข้าราคะกำหนัดก็เกิด มีการเสพเมถุนธรรมกัน ถูกพวกสัตว์ที่ไม่เสพเมถุนธรรมรังเกียจ เอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปา ด่าว่าเสียๆ หายๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระท่อมหรือบ้านเรือนเพื่อกำบัง
ต่อมามีบางคนเกิดความโลภ นำข้าวสาลีมาตุนไว้เพื่อกินหลายวัน สัตว์อื่นๆ ก็ทำตาม การสะสมอาหารก็เกิดขึ้นทั่วไป ข้าวสาลีจึงมีเปลือก ที่ถูกถอนขึ้นแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนเหมือนแต่ก่อน เหล่าสัตว์โลกจึงประชุมแบ่งเขตข้าวสาลีกัน
ต่อมามีคนสันดานโกง ขโมยส่วนของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ ก็ด่าว่าถกเถียงกัน จึงเห็นความจำเป็นจะต้องมีใครสักคนที่เป็นที่เชื่อถือของชุมชนคอยดูแลผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งหมดจึงแต่ตั้งบางคนเป็นหัวหน้าคอยทำหน้าที่ตำหนิคนควรตำหนิ ขับไล่คนควรขับไล่ โดยพวกเขาแบ่งส่วนข้าวสาลีให้
คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมาจึงมีชื่อเรียกกันว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) เขาทำหน้าที่เป็นที่พอใจของปวงชน จึงมีชื่อว่า “ราชา” (ผู้เป็นที่พอใจของปวงชน) เขาเป็นหัวหน้าดูแลที่นาให้ปวงชนจึงชื่อว่า “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งที่นา) วรรณะกษัตริย์ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ (จะสังเกตว่าวรรณะกษัตริย์เกิดก่อน)
จากนั้นก็มีบางพวกปลีกตัวออกจากชุมชนเข้าป่าแสวงวิเวกสวดมนต์ภาวนา หรือเพ่งพินิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะพราหมณ์
บางพวกยังยินดีในการครองเรือน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพชั้นสูงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะแพศย์
บางพวกประกอบอาชีพชั้นต่ำอื่นๆ เช่น การล่าเนื้อ ใช้แรงงานทั่วไป พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะศูทร
เมื่อทรงเล่าให้สามเณรทั้งสองฟังอย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทั้งพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถ้าดูให้ดี ล้วนเกิดมาจากสัตว์พวกนั้น ไม่ได้เกิดจากพวกอื่น เกิดจากพวกที่เสมอกันมิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม
ตรงนี้เท่ากับทรงแย้งความเห็นของพราหมณ์ที่อ้างว่าคนเรามีกำเนิดสูงต่ำไม่เหมือนกัน พวกที่เกิดจากปากพรหมเป็นวรรณะพราหมณ์ พวกที่เกิดจากพาหาพรหมเป็นวรรณะกษัตริย์ พวกที่เกิดจากโสเภณี (ตะโพก) ของพรหมเป็นวรรณะแพศย์ พวกที่เกิดจากเท้าของพรหม เป็นวรรณะศูทร
พูดอีกนัยหนึ่ง วรรณะมิใช่เป็นเครื่องแบ่งความสูงต่ำ วรรณะแบ่งตามอาชีพที่แต่ละคนทำมากกว่า
โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เกิดมาทัดเทียมกัน
จากนั้นทรงสรุปว่า ไม่ว่าคนเราจะมีกำเนิดมาอย่างไรก็ตาม นั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือการกระทำของแต่ละคน ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ถ้าประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนชั่วคนเลวเสมอเหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก เหมือนกัน
ถ้าประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนดีเสมอกัน เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
ชาติชั้นวรรณะหาใช่เครื่องแบ่งแยกความแตกต่างกันไม่
ถ้าวรรณะทั้งสี่ สำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (คือ สติปัฏฐาน = การตั้งสติ ๔, สมมัปปธาน = ความเพียรชอบ, อิทธิบาท = ธรรมเครื่องให้บรรลุความสำเร็จ ๔, อินทรีย์ = ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕, พละ = ธรรมที่เป็นกำลัง ๕, โพชฌงค์ = ธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ๗, อริยมรรค = ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘) ก็สามารถปรินิพพาน (ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล) ได้ในปัจจุบันเหมือนกัน
ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ (หมดสิ้นอาสวะ) หมดภารกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ นับว่าเป็นพระอรหันต์นั้นแหละเป็นวรรณะสูงที่สุด
ท้ายสุดทรงย้ำสุภาษิตของสนังกุมารพรหม ซึ่งตรงกับพระมติของพระองค์ว่า “ในหมู่ผู้ถือโคตร กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด แต่ผู้มีวิชชา (ความรู้ดี) และจรณะ (ความประพฤติดี) เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
สามเณรทั้งสองสดับพระธรรมเทศนาจบลงก็ชื่นชมในภาษิตของพระพุทธองค์มาก ตำราในที่อื่นบอกว่าจากนั้นไม่นาน สามเณรทั้งสองก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและได้บรรลุพระอรหัต ดร.มาลาลาเสเกร่า ผู้รวบรวมเรียบเรียง Dictionary of Pali Proper Names กล่าวว่า สามเณรสองรูปนี้คือ วาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ เป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกแล้วปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ภายหลังมาบวชเป็นสามเณร และได้ฟังพระธรรมเทศนาเตวิชชสูตรและอัคคัญญสูตรดังข้างต้น ว่าอย่างนั้น
พระสูตรนี้ มีผู้ตีความไปต่างๆ นานา เช่น บางคนว่า พระสูตรนี้เป็นตัวแทนพระพุทธศาสนาในเรื่องเกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของโลก และของมนุษย์ โดยเล่าว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร มนุษย์เกิดและพัฒนามาอย่างไร วรรณะต่างๆ (ในทรรศนะพระพุทธศาสนา) เป็นมาอย่างไร ตลอดจนสังคมความความคิดทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองว่าเกิดขึ้นและวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ อย่างไร
บางท่านก็ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธองค์ทรงเล่าตามความเชื่อของคนสมัยนั้นมากกว่า ทรงเล่าผ่านๆ เพื่อต้องการวกเข้าหาประเด็นสำคัญที่ทรงต้องการสอนมากกว่า นั่นก็คือ ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ
ธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดีที่สุดและประเสริฐที่สุด วิชชา = ความรู้ (ดี) และ จรณะ = ความประพฤติ (ดี)
วิชชา ๘ - จรณะ ๑๕ คืออะไร
วิชชา การที่พระพุทธองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา ๘ ประการนี้ จึงทำให้พระองค์สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป และยังสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เห็นจนสามารถกำจัดกิเลสไปได้หมด เหมือนอย่างกับพระองค์ วิชชา จึงเป็นความรู้ที่สามารถจะกำจัดความมืด คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร วิชชามี ๘ ประการได้แก่
๑. วิปัสสนาญาณ ความเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ซึ่งการเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นได้ด้วยตาธรรม
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้.
๓. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้
๔. ทิพพโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา
๕. เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหน เกิดเป็นอะไร
๗. ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้.
๘. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลือในขันธสันดานของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า เมื่อจิตเราเป็น สมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มี
จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี ๑๕ ประการ ได้แก่รักษาศิล ในการปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ถึงจิตแท้ ให้หลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่มีโลภ โกรธ หลง เข้ามาผูกพันธ์อยู่ในจิต การปฏิบัติตนให้อยู่ในศิล ให้ได้ละเอียดขึ้นไปตามระดับ โดยสังวรณ์อยู่ในจรณะ ๑๕ ดังนี้
๑. สีลสัมปทาได้แก่การสำรวมในปาฏิโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในความผิดแม้น้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ประพฤติให้เข้าใจสิ่งดีชั่ว ในบาปบุญ คุณ โทษ ให้บริสุทธิ์ด้วยศีล ให้รู้ว่ามีศีลปกติอยู่ในตน รู้ทัน หลุดพ้นจาก ความโกรธ โลภ หลง ทั้งหลายทั้งปวง
๒. สำรวมอินทรีย์ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังตนให้รู้ทั่วพร้อมทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน ที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากการกระทำนั้นๆ
๓. โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักประมาณตน รู้ตนให้พร้อม พอเหมาะ พอควรที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมีจะเกิดขึ้น ในอาหาร การกิน การใช้จ่าย
๔. ชาคริยานุโยคะ ความเชื่อมั่น การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ พิจารณาควบคุมรู้อยู่ในการกระทำที่พึงประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในการสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตาทั้ง 3 ข้อให้ถูกต้องตรงจริง
๕. ศรัทธา เชื่อมันในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติตน รู้ตน เชื่อมั่นในตนว่าปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้องดีงามเป็นมัมมาแล้วจริง มีผลเกิดแล้ว เห็นผลแล้ว พากเพียรตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลยิ่งขึ้น
๖. หิริ ความละอายต่อบาปมีความละอายแก่ใจตนเองเมื่อรู้ว่าตนได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ในทางใดทางหนึ่งก็ดี ที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว รู้สึกผิดละอาจตนเอง และจะไม่ทำสิ่งที่ผิดนี้ให้เกิดขึ้นอีกเลย
๗. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่ดีไม่งาม ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ระวังควบคุมตนไม่ให้เกิดอีก
๘. พหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต ) เห็นอยู่รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ในผลของการปฏิบัติ ที่ถูกตรงบริสุทธิ์แท้ พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจทำจริง ให้ยิ่งๆ ขึ้นอีก
๙. วิริยะ พากเพียร ประพฤติปฏิบัติ กระทำตนให้ดีให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
๑๐. สติ ความระลึกได้ ควบคุมให้รู้ตัวทั่วพร้อม พิจารณารู้อยู่ เป็นอยู่ในการกระทำทวารทั้ง 6 ทวารนอก 6 ทวารใน
๑๑. ปัญญา รู้แจ้งชัดในทุกสิ่งที่เกิด ที่มี ที่ถูก ที่ควร ได้ยิ่งๆ ขึ้น ปล่อยจิต วางจิต ทำจิตให้สงบ เกิดญานทั้ง 4 ในตนแล้ว
๑๒. ปฐมฌาน เข้าสู่ความสงบระงับ จิตสงบ พ้นนิวรณ์ 5 ใจปลอดโปร่งติดอยู่ในอารมณ์เดียว (วิตก) มีวิจาร อ่านอยู่ในอารมณ์นั้น จิตเบิกบานเป็นหนึ่งเป็นอิสระ
๑๓. ทุติยฌาน ระงับวิตกวิจาร มีปีติสุข จิตคิดอ่านอะไร วางวิตก วิจาร จิตเบิกบาน เสวยปีติสุขอยู่
๑๔. ตติยฌาน ระงับปีติ หมดความรู้สึกปีติ มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมตนเอง รู้ตนเองชัด ขณะจิตสงบเสวยสุขอยู่
๑๕. จตุตฌาน ระดับสุขเป็นอุเบกขา เฉยวางสุข จิตผ่องใส สงบบริสุทธิ์ เป็นเอกคตาจิต จิตเป็นหนึ่ง ที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราประดับประดาตัวเองให้เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นผู้เจริญปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา เราต้องสร้างความดี สร้างบารมีเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ ให้เราเข้าถึงสวรรค์นิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าได้เห็นอะไรก็ตามไปหมด เหมือนคนไม่มีเจ้าของนะ คนที่คุมตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่อยู่ แสดงให้เห็นถึงมีสติสัมปชัญญะน้อยมาก เรามาดูคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยา ติดอบายต่างๆ คนจำพวกนี้แหละ สติสัมปชัญญะมันน้อย หรือว่ามันไม่มีเลย มันตั้งอยู่ในความประมาท
การเจริญสติสัมปชัญญะที่ให้มันสมบูรณ์มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ ถึงจะยากถึงจะลำบากก็ให้เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง เพื่อให้มันพ้นให้มันข้าม ต้องอาศัยกำลังจิตกำลังใจ ที่เขาละไม่ได้ ที่เรามองเห็นคนเขาติดยา ติดเหล้า ติดอะไรนี่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนใจอ่อน “ถ้าจะมองดูคนใจอ่อนกับคนสมาธิน้อยมันก็คนเดียวกันนะ” ให้ถือว่าเราต้องฝึกต้องปฏิบัติ ต้องแก้ไขตนเอง อดทนเอามากๆ ถ้าไม่อดไม่ทน ไม่สู้ ไม่ตั้งใจ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้ ให้เราคิดว่าเราต้องละให้ได้ เราต้องหยุดให้ได้ ถึงจะตายก็ยอม สมาธิเรากำลังจะเกิดมันกระวนกระวาย มันกำลังชักดิ้นชักงอ เราไม่อดไม่ทน เราไปใจอ่อน ครูบาอาจารย์เขานั่งสมาธิ ฝึกสมาธิทีละหลายๆ ชั่วโมง เป็นวันเป็นคืน หลายวันหลายคืน มันจะปวดขาเจ็บขาเท่าไหร่เขาก็ไม่สนใจ นั่งจนมันไม่คิดน่ะ เพราะคิดไปแล้วเขาก็ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ วันต่อมาพอนั่งสมาธิมันก็ไม่ปวด เพราะว่ากิเลสมันรู้ว่าไปคิดไปปรุงแต่งแล้วก็ไม่ได้ผล เพราะว่าสมาธิแข็งแรง แข็งแกร่ง
การประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำจิตใจให้มีพลัง แข็งแรง ต้องทำสติสัมปชัญญะของตัวเองให้มันสมบูรณ์ เพราะความปวดก็ดี ความต้องการอะไรต่างๆ มันจะปวดขึ้นมาตลอด ถ้าเราจิตใจสัมผัสอะไรขึ้นก็ตามไปหมด เราก็เป็นคนไม่มี “สัมมาสมาธิ” เป็นคนไม่เข้มแข็ง เราก็เป็นคน “สมาธิไม่อบรมปัญญา”
ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องทำให้จิตใจของเรามีพลัง หนักแน่น แข็งแรง อย่าเป็นคนใจเบา ที่เขาว่าหูเบามันไม่ใช่หูเบา มันเป็นคนใจเบา ต้องเป็นคนหนักแน่น เราจะได้สร้างบารมี เราเอาตัวอย่างจากพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีทุกภพทุกชาติ ท่านจิตใจประเสริฐมาก หนักแน่นจริงๆ ยอมตายเพื่อความดีทุกภพทุกชาติ สัมมาสมาธิมันถึงเกิด ที่ปฏิปทาของเรามันลุ่มๆ ดอนๆ แสดงว่าเราเป็นคนจิตใจเบา จิตใจไม่หนักแน่นนะ ต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วนะ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความตื่นรู้ ความตื่นที่หมายถึงนี้มิใช่ความตื่นเต้น ความตื่นตูม หรือความตื่นข่าว อันมีรากฐานมาจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง หากแต่เป็นความตื่นขึ้น จากความหลับใหลอยู่ในกิเลสนิทรา
ตามธรรมดาในเวลาที่บุคคลใดกำลังหลับสนิทอยู่ ย่อมไม่มีทางที่จะรู้สึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือแม้แต่ความคิดนึก ตราบจนเมื่อบุคคลนั้นตื่นขึ้นแล้ว ตาก็จะเริ่มเห็นรูป หูก็จะยินเสียง จมูกก็จะรู้กลิ่น ลิ้นก็จะลิ้มรส กายก็จะรู้สัมผัส และใจก็จะรู้ความคิดนึกที่เกิดขึ้น กล่าวกันตามภาษาทางโลกก็เรียกว่า บุคคลนั้นมีสติตื่นขึ้นมาจากความหลับ อย่างไรก็ดี ‘สติ’ ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าความรู้สึกตัวพื้นฐานเช่นที่กล่าวข้างต้น เพราะยังหมายถึงการรู้เท่าทันความปรุงแต่งทั้งปวง ที่เรียกว่า ‘สังขาร’ อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ตามหลักการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อีกด้วย
ความชั่ว ความเลวร้ายทั้งหลายในโลกนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากมนุษย์มีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้เท่าทันอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต และรู้เท่าทันความคิดทั้งหลายว่าเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลังที่จะหยุดตัวเองให้ได้ ตัดสังโยชน์ จะได้ไม่ก่อกรรมทำเวรอีกต่อไป...
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee