แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๓ เข้าใจในสภาวธรรมของขันธ์ ๕ เพื่อสละคืนอุปาทานที่ยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่พากันเกิดมา เนื่องมาจากอวิชชา เนื่องมาจากความหลง มันเป็นพลังงานที่มันเวียนว่ายตายเกิด ความรู้สึกนึกคิดนี้ถึงไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวของเรา มันเป็นอาการของขันธ์ ๕ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจสภาวะธรรม คืออาการของขันธ์ ที่เรามีความสุขมีความรู้สึกนึกคิด หนาวร้อน อ่อนแข็ง มีความปรุงแต่ง จำได้หมายรู้… พระพุทธเจ้าให้มองเห็นว่ามันเป็นสภาวะธรรม ท่านถึงให้มองเห็นด้วยปัญญา เพราะความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นี้ก็ละได้ด้วยปัญญา สมาธิก็เป็นเพียงแต่ทำให้สงบ
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกที่เข้าใจกันว่าเป็นคน สัตว์ ฯลฯ เป็นความจริงในระดับสมมุติ แต่ความจริงในระดับลึกลงไป ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงขันธ์ ๕ ที่เป็นรูปและนามรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่ม เปรียบได้กับรถยนต์อันเป็นที่รวมส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ยาง ล้อ ที่นั่ง เครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ตัวถังรถ และเปรียบเหมือนบ้านอันที่เป็นประชุมของหลังคา เสา พื้น ฯลฯ สมจริงดังข้อความว่า "แน่ะมาร ท่านเห็นผิดเชื่อว่าสัตว์มีอยู่หรือ สมมุติว่าสัตว์นี้เป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ ในกองสังขารนี้จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย เปรียบดั่งเมื่อรวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว คำสมมุติว่า รถ ย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมุติว่าสัตว์ก็มีฉันนั้น โดยแท้จริงแล้ว ทุกข์เท่านั้นมีอยู่ ทุกข์ตั้งอยู่และดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์เกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์ดับไป"
พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้เข้าใจความจริงของชีวิตในระดับลึกที่สุดจนเหลือเพียงขันธ์ ๕ จึงตรัสการเจริญสติปัฏฐานหมวดขันธ์ไว้เพื่อละความยึดติดในตัวตน เมื่อนักปฏิบัติหยั่งเห็นโครงสร้างทางร่างกายของตนเองดวามไม่รู้ก็จะหมดไป แล้วอนุสัยที่คอยสร้างทุกข์ให้ย่อมถูกขจัดได้โดยเด็ดขาด ส่งผลให้บรรลุความหลุดพันอย่างแท้จริง
ขันธ์ แปลว่า หมู่, กอง หมายถึง การรวมตัวกันของรูปนามที่จำแนกเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต อยู่ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด ทรามหรือประณีต อยู่ไกลหรือใกล้ ส่วนอุปาทาน คือ ความยึดมั่นว่าเป็นเรา ของเรา อุปาทานขันธ์จึงเป็นหมู่รูปนามที่เป็นปัจจัยแก่ความยึดมั่น อุปาทานขันธ์มี ๕ ประการ คือ
๑. รูป สสารหรือปรมาณูเล็กๆ ภายในร่างกายที่แปรปรวนด้วยภายในและภายนอก ได้แก่ ความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสของยุง เหลือบ ริ้น ไร หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม พร้อมด้วยรูปที่อาศัยธาตุทั้ง ๔ (อุปาทายรูป) อันได้แก่ สี เสียง เป็นตัน ที่รวมตัวกันเป็นส่วนของร่างกายหรือวัตถุสิ่งของ
ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ทั้ง ๔ (คือรูปที่เกิดจาก กรรม, จิต, อุตุ, อาหาร) และรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ไม่ได้เกิดมาโดยลำพังเพียงรูปใดรูปหนึ่ง การเกิดขึ้นของรูปดังกล่าว เกิดเป็นกลุ่มๆ เป็นหมวดๆ เป็นมัดๆ ซึ่งเรียกว่า รูปกลาป และรูปกลาปนี่เองที่จัดว่าเป็นรูปที่ละเอียดที่สุด เล็กที่สุด
กลาปของรูปนั้น ย่อมมีขนาดเท่ากับเม็ดปรมาณู และรูปกลาปที่เล็กที่สุด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตานี้ ท่านได้แสดงถึงขนาดของเม็ดปรมาณู โดยเทียบส่วนกับศีรษะของเหา โดยอนุมานนัย ดังนี้
ในคาถาจาปลินิคัณฑุ (อภิธานนัปปทีปิกา) คาถาที่ ๑๙๔ และคาถาที่ ๑๙๕ ในภูมิกัณฑ์ว่า ฉตฺตึสปรมาณูนเมโกณุจ ฉตึ เต ตชฺชรี ตาปี ฉตฺตึส รถเรณู จ ฉตึส เต ลิกฺขา ตา สตฺต อูกา ตา ธญฺญมาโสติ สตฺเต
๑ เมล็ดข้าวเปลือก เท่ากับ ๗ ศีรษะเหา ๑ ศีรษะเหา เท่ากับ ๗ ลิกขาณู ๑ ลิกขาณู เท่ากับ ๓๖ รถาเรณู ๑ รถาเรณู เท่ากับ ๓๖ ตัชชารี ๑ ตัชชารี เท่ากับ ๓๖ อณู ๑ อณู เท่ากับ ๓๖ ปรมาณู ๑ ปรมาณู เท่ากับ ๑ กลาป
จะเห็นได้ว่า ศีรษะของเหาซึ่งเล็กที่สุดแล้วนั้น เม็ดปรมาณู หรือกลาปยังเล็ก กว่าศีรษะของเหาหลายล้านเท่า จึงถือว่าไม่มีอะไรเล็กกว่านี้อีกแล้ว
๑ ปรมาณูนั้น เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ที่สอนกันในพระพุทธศาสนา ลองเปรียบเทียบกันดูกับปรมาณูในทางวิทยาศาสตร์ ว่าจะมีขาดแตกต่างกันอย่างไร การศึกษาปรมาณูในพระพุทธศาสนา มุ่งหมายเพื่อจะให้เห็นว่า รูปทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นธาตุ มิใช่สัตว์มิใช่บุคคล เป็นหน่วยเล็กๆ ที่มองเห็นไม่ได้มาประชุมรวมกันแล้วก็เกิดขึ้นด้วยอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดจากการดลบันดาลขึ้นมาของใคร และมีการสลายตัวอยู่ตลอดเวลา ในวินาทีหนึ่งตั้งมากมาย ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอนรวมอยู่กันชั่วคราวเท่านั้น ทั้งเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เรื่อยไป ไม่มีหยุดเลย จะไม่มีใครมีความสามารถไปบังคับยับยั้งให้มันหยุดการเปลี่ยนแปลงได้เลยเป็นอันขาด เมื่อมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนี้แล้ว จึงเอาเป็นที่พึ่งอันถาวรไม่ได้ จึงเป็นทุกข์
ความสำคัญของเรื่องปรมาณูในพระพุทธศาสนาอีกบางประการจะละเลยไม่กล่าวเสียหาได้ไม่ คือ ในหนึ่งปรมาณูนั้นแยกออกเป็น ๘ อย่างรวมกัน คือมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สี กลิ่น รส โอชะ เรียกว่า อวินิพโภครูป และปรมาณูนั้น ย่อมจะมีธาตุทั้ง ๘ นี้อยู่รวมกันเสมอไป จะเอาอันใดอันหนึ่งออกเสียมิได้เลย พูดง่ายๆ ก็ว่า มีปรมาณูอยู่ที่ไหน ธาตุทั้ง ๘ นี้ก็จะอยู่ในที่นั้น
๒. เวทนา สภาวะรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือวางเฉย ทำหน้าที่ตอบสนองว่าสิ่งที่จิตรับรู้เป็นอย่างไร
๓. สัญญา สภาวะจำได้หมายรู้ว่าเป็นสีเหลือง สีแดง สีขาว ฯลฯ ทำหน้าที่หมายรู้ว่าคืออะไร
๔. สังขาร สภาวะปรุงแต่ง หมายถึง ความตั้งใจ และสภาวธรรมทางใจอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิตอันได้แก่ ความโลภ โกรธ ฯลฯ
๕. วิญญาณ สภาวะรู้อารมณ์ทางทวาร - ด้วยการเห็น ได้ยินรู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และนึกคิดเรื่องราว
ตัวอย่างเช่น เวลาอ่านหนังสือ วิญญาณหรือจิตทำหน้าที่อ่านโดยเห็นอักษรทางตา สัญญาทำหน้าที่จำได้รู้ความหมายนั้น เวทนาทำหน้าที่ตอบสนองเป็นความรู้สึกดี ไม่ดี หรือวางเฉยในสิ่งที่กำลังอ่านอยู่ สังขารทำหน้าที่ตั้งใจอ่านต่อไป หรือหยุดอ่าน หรือไปอ่านเชิงอรรถเพิ่มเติม
พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย. ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
นิกฺขิปิตฺวา ครุง ภารํ อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ
ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่นภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว ดังนี้”
ถ้าเราเอาขันธ์ ๕ เป็นเรา ถ้าเราเอารูปเป็นเราอย่างนี้แหละ มันยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าเราเอาเวทนาเป็นเรามันไม่ได้ มันก็สุขก็ทุกก็เฉยๆ เพราะเวทนามันเป็นเครื่องหมายที่ให้เราได้รู้ ให้เราปฏิบัติ เพราะคนเราการบรรลุธรรม บรรลุด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ถ้างั้นก็เราไปตามความคิดความปรุงแต่งไม่ได้ แล้วแต่ความคิด แล้วแต่ความปรุงแต่ง แล้วแต่อารมณ์เราก็เป็นคนเจ้าอารมณ์ไป เพราะมันยิ่งตามไปมันไม่จบ
ผู้ที่เกิดมา ผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ต้องมีขันธ์ 5 เช่น ถ้าไม่มีขันธ์5 ก็ไม่ครบองค์ประกอบ ขันธ์แต่ละขันธ์ก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง ขันธ์พวกนี้ก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องเอาขันธ์ทั้ง 5 มาพิจารณาเพื่อจะให้เป็นวิปัสสนา เพื่อจะได้ให้ขันธ์ 5 ให้เป็นของบริสุทธิ์หมดจด ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้มันถูกต้อง เราทุกคนจะได้เข้าใจ จะได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ใช้ขันธ์ทั้ง 5 นี้มาพัฒนาให้ใจของเราได้เกิดปัญญา ได้เกิดการภาวนา การปฏิบัติเน้นลงที่ปัจจุบัน เราก็จะเน้นอย่างนี้ ทุกอย่างนั้นมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราเอาสิ่งที่มันไม่คงที่มันเปลี่ยนตลอด ให้มันเกิดปัญญา อย่าให้มันมีอวิชชา เกิดความหลง เพื่อจะตัดกระแส ตัดวงจรแห่งการสร้างบาปสร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัย การปฏิบัติของเราที่เกี่ยวกับขันธ์ 5 อายตนะ 12 ต้องให้เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะเรามีตามีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพื่อฉลาด เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพราะว่าที่มันมีปัญหา มันเกี่ยวกับใจของเรา มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่บำรุงจิตใจ ไม่ได้ให้อาหารใจ ก็คือไม่ได้ให้อารมณ์พระนิพพาน เราไปให้แต่อารมณ์ของสวรรค์ เราต้องรู้จุดมุ่งหมายของเราคือพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นมันจะหลงในรูป ในเวทนา ในสังขาร วิญญาณ สภาวธรรมของร่างกายของมนุษย์ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 100 ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อดูแลธาตุขันธ์ของตัวเองเพื่อพัฒนาจิตใจ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ลูกหลาน ว่ามนุษย์ของเราต้องทำอย่างนี้ๆ
อันจักได้มรรคปฏิบัติ ตามแนวทางขันธ์ ๕ ดังนี้ เมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่ติดเพลิน ไม่คิดนึกปรุงแต่งหรือพูดถึง ไม่ติดใจ (ความสุขอันเป็นแค่สุขเวทนานั้น) อันมักจะยังให้เกิดความอยาก หรือภวตัณหา
เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ไม่ร่วมไปปรุงแต่งความเศร้าโศรก ไม่คิดนึกปรุงแต่งว่าลําบาก, ว่าไม่ชอบ ไม่รํ่าไห้,ไม่ครํ่าครวญ ไม่หลง (โมหะ) อันมักจะยังให้เกิดความไม่อยากหรือผลักไส หรือวิภวตัณหา หรือเกิดโมหะความหลง อันมักมีทั้งความอยากและความไม่อยากในรายละเอียดต่างๆ แต่ในเรื่องๆ เดียวกัน เป็นความหลงที่แม้กระทั่งตัวตนเอง ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างแน่ชัดว่า ตัวตนเองต้องการสิ่งใดๆ แน่ๆ
เมื่อมีอทุกขมสุขหรือเฉยๆ เกิดขึ้น มีสติรู้ว่า เกิดขึ้น ดับไป คุณ โทษ และการสลัดออกเพราะรู้ตามความเป็นจริงสภาวะธรรม เหตุเพราะที่อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ จึงมักไม่รู้สึกเพราะจับความรู้สึกรับรู้ไม่ได้ชัดเจน จึงมักปล่อยกายและใจ ไม่สังวรระวัง ไปปรุงแต่งต่างๆ นานา จนเกิดเวทนาอันเป็นเหตุให้เกิดตัณหา หรือคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดทุกข์ในที่สุดนั่นเอง อันมักจะยังให้เกิดได้ทั้งความอยากและความไม่อยาก อันใดก็ได้ตามคิดนึกปรุงแต่งนั้นๆ
และเราปุถุชนมักประพฤติปฏิบัติตรงข้ามกับคําสอนของท่าน เมื่อมีสุขเวทนาก็ติดเพลิน อยากยึดไว้ เมื่อมีทุกขเวทนาก็ครํ่าครวญ อาลัย มีโมหะ อยากผลักไส มีอทุกขมสุข ก็ปล่อยกายปล่อยใจ ไม่รู้ตามความเป็นจริง ไปปรุงแต่งต่างๆ นานา
เราต้องพากันรู้จัก เพราะทุกคนพากันทำตามความรู้สึกนึกคิด มันถึงเป็นอบายมุข เป็นอบายภูมิ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด หมายถึง เธอจงประพฤติธรรมเถิด ที่หยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะว่าเราทุกคนต้องเอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการเสียสละ คนเราหน่ะถ้าเอาความรู้สึกนึกคิดที่มันเป็นตัวเป็นตน มาดำเนินชีวิตมันเป็นเรื่องที่ไม่จบ พระพุทธเจ้าถึงให้เอาธรรมะ อันไหนไม่ดี อันไหนไม่ถูกต้อง ที่ทำไปเพื่อความกำหนัดยินดี ที่ทำไปเพื่อตัวตนเพื่อความอยากใหญ่ เราก็ต้องหยุด ทุกคนต้องเข้าใจ ถ้างั้นทุกคนก็จะเป็นคนทำตามอารมณ์ หรือว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ที่เขาว่าเจ้าอาวาสไม่มี มีแต่เจ้าอารมณ์ พระถึงไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือพระธรรมพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่เป็นญาณพาเราออกจากวัฏฏะสงสาร เป็นผู้ที่มีสติที่มีปัญญามันไม่เพียงพอ ต้องอาศัยสิกขาบทน้อยใหญ่
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจธรรมะวินัย ทุกท่านทุกคนต้องพากันทวนโลกทวนกระแส ทวนอารมณ์ อย่าไปสนใจว่ามันอยากทำไม่อยากทำ ไม่สนใจว่าดีใจเสียใจ อันนี้มันเป็นเพียงอารมณ์ มันเป็นความเคยชินเป็นอวิชชา เป็นความหลง มันก็อยากไปนู่นอยากไปนี้ คนเรามันทำตามอารมณ์ทำตามความคิดมันจะจบเมื่อไหร่ เราทำอย่างนี้แล้วมันจะค่อยเป็นค่อยไปได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee