แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๑ รู้ชัดถึงอบายภูมิ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนด้วยความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ก็คือไม่เรียนรู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็จะเป็นอบายมุข เริ่มต้นจากเห็นแก่ตัวขี้เกียจขี้คร้าน ไม่รู้จัก ปล่อยให้ตัวเองคิด ทุกคนน่ะมันมีพื้นฐานคือ อวิชชา หรือว่าความหลง หรือว่าไสยศาสตร์มันก็คืออันเดียวกัน เพราะคนนี้ก็คืออวิชชาคือความหลง ไสยศาสตร์มันก็คือความหลง หมู่มวลมนุษย์ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังไม่รู้จักความเสื่อมไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เพราะคนไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ เพราะว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะตองรู้
หลวงพ่อถึงว่า พระคุณเจ้านี้เขาไม่รู้หรอก ถ้าเขารู้เขาจะเอานิพพานจนหมดแหละ เขาไม่เอาศาสนามาหาฉันหรอก เพราะคนรวยยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เทวดาก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อย่างพระพรหมที่มีความปีติสุข ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ มันต้องสมบูรณ์ศีล สมาธิ ปัญญา ประชาชนก็จะได้ว่าตัวเองยากจน เพราะไม่รู้จักอบายมุขอบายภูมิ บุญเก่าของคนก็มีอีก เพราะมันต้องไปเกิดที่นู่นที่นี่ บางคนก็เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร อย่างาสมเณร ๗ ขวบก็ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะบางคนเกิดมา 6-7 ขวบก็เห็นภัยแต่น้อยแล้ว อะไรไม่ดีมันก็จะไม่พูด ไม่คิด ไม่ทำ ไม่เหมือนกันพวกคน คนนี้คิดไปทั่วเลย คนมีบุญเก่ามันก็ได้เปรียบ คนมีบุญเก่าเกิดมาพ่อแม่รวย คนไม่มีบุญเก่าเกิดมาพ่อแม่ยากจน แต่บางคนน่ะครั้งพุทธกาล ลูกมาเกิดในท้องพ่อแม่ก็ยากจน ฝนก็ไม่ตก สถานที่นั้นก็แห้งแล้งหมด บางคนเกิดมามีบุญพ่อแม่ก็รวย
หลวงพ่อนี่เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย กว่าเณรที่มาบวชอีก เวลาที่ยังไม่บวชก็ตั้งใจถือศีลปฏิบัติธรรม มาบวชแล้วก็มันก็ไม่คิดที่จะสึก เพราะคิดแล้วว่ามันเวียนว่ายตายเกิด อันนี้เป็นกรรมเก่าในทางที่ดีเหลือเกิน แต่พวกไม่มีกรรมเก่าก็ต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ดูที่พ่อแม่ของเราไม่รู้จักอบาย อบายภูมิ แล้วก็พ่อแม่ไม่รู้จักอบายมุข ปัจจุบันนี้สำคัญเราต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เขาเรียกว่าอบายมุข มันมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ คนเขาไปเอาลูกเอาผัวเอาเมีย เขาก็มีลูก เราไปคิดอย่างนี้ มันก็ย่อมมีการเวียนว่ายตายเกิด เราไปคิดไกลเกิน เราต้องเอาปัจจุบัน คิดไกลเกินน่ะ ความเห็นแก่ตัว พวกฝรั่งคิดไกลเกิน ต้องเอาปัจจุบันให้ได้
ถ้าทุกคนทำอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่มีหนี้ไม่มีสิน ก็จะดี เราคิดดีๆ พวกที่รวยๆ อยู่ประเทศไทย พวกลูกพวกหลานแย่งมรดก คนรวยๆ มาหาหลวงพ่อก็ไม่ได้มาพร้อมกันหรอก เพราะว่ามันบาดหมางกัน ทั้งๆ ที่เคารพนับถือหลวงพ่อเหมือนกัน แต่มาไม่ให้เจอหน้ากัน ลูกคนใดคนหนึ่งตาย ลูกอากงตายเนี่ย คนโบราณเขามีลูกเกือบ ๑๐ เขามาในงานไม่หมดหรอก เพราะเขาทะเลาะกัน ทั้งที่มีเงินมากกว่าหมื่นล้าน แสดงว่าความรวย มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ คนรวยยังไม่มีน้ำใจเท่าคนจนนะ เวลาคนรวยออกไปชนบท เขานิยมชมชอบเขาเลี้ยงข้าวเลี้ยงอาหาร อำนวยความสะดวกทุกอย่าง เวลาคนจนเข้าไปในกรุงเทพ คนรวยเฉยเลยนะ ไม่ให้เขากินข้าวกินน้ำ ไม่ให้ที่นอนหน่ะ อันนี้เป็นเรื่องจริง
เรามาบวชกลับไปต้องเอาใหม่ อย่าไปเถียงพ่อเถียงแม่ เอาปัจจุบันให้ดี มันตัวตนมากมันไม่ละสักกายทิฏฐิ มันคิดอะไรไว้ มันก็จะเอาอันนั้น เพราะตัวตน มันอยากขยะอะไรไว้ ก็เอาอันนั้นไว้ เห็นทองเห็นเพชรมันก็ไม่เอา มันเห็นขยะสำคัญกว่าเพชร กลับไปเถียงพ่อเถียงแม่อย่างเก่า เขาเรียกว่าว่ายังกลับไปเอาขยะอยู่อีก ต้องพลิกล็อคใหม่นะ ต้องฝืนตัวเอง ถ้าไม่มีความอดทนไม่มีความขยัน ก็ไม่มีการปฏิบัติ ถ้าใครตั้งใจดี ก็เป็นเถ้าแก่ทุกคน แต่ถ้าใครทำไม่ดี ก็บอกเพื่อนว่า หืม... อย่าทิ้งกันนะ เพราะบวชด้วยกัน คนไม่ดีก็ไม่อยากนับเอาเป็นเพื่อนน่ะ เพราะเป็นคนพวกไม่ได้มาตรฐานนะ
อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ก็คือไม่เรียนรู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็จะเป็นอบายมุข ทางสู่อบายภูมิ
ค่าว่า อบาย มาจากคำว่า อป รวมกับคำว่า อย อป แปลว่า ปราศจาก ไม่มี
อย แปลว่า กุศลกรรม ความงาม ความสุข ความสบาย ความเจริญ
อบาย จึงแปลว่า มีฐานะที่ปราศจากกุศลกรรม (คือไม่ได้โอกาสทำกุศล)
ภูมิ แปลว่า ที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย
อบายภูมิ จึงแปลว่า สถานที่ที่สัตว์เกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำกุศลกรรม มี ๔ ภูมิ
๑. นิรยะ - นรก, สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย
๒. ติรัจฉานโยนิ - กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดมัวโง่เขลา
๓. ปิตติวิสัย - แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข
๔. อสุรกาย - พวกอสูร, พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง
นรกภูมิ ลักษณะและชีวิตของสัตว์นรกพอประมวลให้เห็นได้ ดังนี้ “ผู้ทำกรรมหยาบ (อกุศลกรรม) ย่อมเข้าถึงสถานที่อันนายนิรยบาลนำขอเหล็ก มา ย่อมเข้าถึงหลาวเหล็กอันคมกริบ และย่อมเข้าถึงก้อนเหล็กแดงโชติช่วง เป็นอาหารอันสมควรแก่กรรมที่ตนทำไว้อย่างนั้น นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดก็พูด ไม่ไพเราะ สัตว์นรกจะวิ่งหนีก็ไม่ได้ ไม่มีที่ต้านทานเลย...มีภูเขาถ่านเพลิง...มีโรรุวนรกที่มืดทึบ...มีหม้อเหล็กไฟลุกโพลงลอยฟ่องอยู่ตลอดเวลา...มีกะทะหมู่หนอนคอยกินเนื้อ...มีป่าไม้ใบเป็นดาบ...มีแม่น้ำด่างมีมีดคมกริบอยู่ใต้น้ำ...มีสุนัขดำ สุนัขด่าง และสุนัขจิ้งจอก ฝูงกาดำ แร้ง นกตะกรุม คอยรุมจิกกิน”
นรกประกอบไปด้วยมหานรก ๘ ขุม และอุสสทนรก ๑๖ ขุม
เกี่ยวกับเรื่องการประกอบอกุศลกรรมในขณะเกิดเป็นมนุษย์ ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่กลับต้องได้รับโทษทัณฑ์ในอบายภูมิเป็นเวลายาวนานมากมายหลายเท่าตัวนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่า กรรมทุกชนิดจะมีผลมากหรือน้อยนั้น ความสำคัญอยู่ที่ตัว “เจตนา” ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกขเว กมฺมํ วทามิ ฯลฯ แปลว่า เจตนานี้เป็นตัวกรรม”
เจตนาในการทำชั่ว เมื่อเกิดขึ้นในครั้งใด ไม่ใช่เกิดเพียงครั้งเดียว กระแสจิตที่เกิดดับวนเวียนอยู่ในเรื่องนั้นๆ เกิดดับรวดเร็วนับจำนวนวิถีจิตไม่ถ้วน การเกิดขึ้นของวิถีจิตในการทำบาปครั้งหนึ่งๆ จึงมีจำนวนมากมาย ดังนั้นเมื่อเวลารับโทษก็ควรต้องรับโทษด้วยจำนวนชาติมากมายเช่นเดียวกันจึงสาสม
เปตภูมิ ลักษณะและชีวิตของเปรตพอประมวลให้เห็นได้ ดังนี้ “ในเปตวิสัยนั้นไม่มีกสิกรรม การทำไร่ทำนา ไม่มีโครักขกรรม การเลี้ยงโค การค้าขายด้วยเงินก็ไม่มี ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปใน เปตวิสัยนั้น ด้วยทานที่ญาติให้แล้วจากมนุษยโลกนี้”
เปรตไม่มีภูมิของตนเอง แต่อยู่ร่วมโลกมนุษย์นี้ เพราะมีภิกษุเป็นอันมากพบ เห็น เช่น พระโมคคัลลานะ เป็นต้น “ฝูงเปรตพากันมายังเรือน (ที่ตนเคยอยู่) ของตน ยืนอยู่นอกชานเรือนบ้าง ทาง ๔ แพร่งบ้าง...ชุมนุมกันในที่ให้ทานนั้นแล้ว ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพ”
เปรตมีความหิวกระหายอยู่เป็นนิตย์ มีรูปร่างหน้าตาต่างๆกัน เช่น ร่างกายมี สีเหมือนทองคำ แต่หน้าเหมือนสุกร, ผิวพรรณงดงาม ยืนกลางอากาศ มีกลิ่นปาก เหม็นมาก, ซูบผอมมีแต่ซี่โครง เปลือยกาย ร่างเต็มไปด้วยเส้นเอ็น เป็นต้น
บางพวกมีหนวดและผมยาวหน้าดำ มีอวัยวะใหญ่น้อยหย่อนยาน ผอมหยาบ ดำ เสมือนต้นตาลถูกไฟป่าไหม้ยืนต้นอยู่, บางพวกมีเรือนร่างถูกเปลวไฟที่ตั้งขึ้น จากท้องแลบออกจากปาก เพราะความกระหายแผดเผาอยู่, บางพวกไม่ได้รสอื่น นอกจากรสแห่งความหิวกระหาย แม้ได้ข้าวน้ำก็กินไม่ได้เต็มที่ เพราะมีหลอดคอ เล็กขนาดเท่ารูเข็ม และมีท้องใหญ่ดังภูเขา, บางพวกมีเรือนร่างไม่น่าดู แปลกประหลาด น่าสะพรึงกลัว กินน้ำเลือดน้ำหนองเป็นต้น ของกันและกันแก้กระหาย
ในบรรดาเปรตทั้งหลายที่กล่าวมา จะแบ่งเป็น ๑๒ ประเภทก็ดี ๔ ประเภทก็ดี ๒๑ ประเภทก็ดี ทั้งหมดนี้ มีแต่ปรทัตตุปชีวิกเปรตจำพวกเดียวที่มีโอกาสรับส่วนบุญที่เหล่าญาติอุทิศให้ เปรตอื่นๆ นอกจากนี้ไม่สามารถได้รับ เนื่องจากเกิดอยู่ในที่ห่างไกลไม่สามารถทราบว่าญาติทำการกุศลอุทิศให้ตน จึงมิได้อนุโมทนาว่าสาธุ ส่วนปรหัตตุปชีวิตเปรต มักเกิดอยู่ในบริเวณบ้าน บางทียังปรากฏตนให้ญาติ ๆ ได้พบ พากันเรียกโดยทั่วไปว่า "ผี" เปรตจําพวก จึงสามารถทราบการทําการกุศลของเหล่าญาติและอนุโมทนาด้วย อย่างไรก็ดีแม้เกิดเป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต แต่ถ้าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ ไม่ได้อนุโมทนาว่าสาธุ ย่อมไม่ได้รับส่วนกุศลเช่นเดียวกัน
ส่วนบรรดาผู้ที่ไปเกิดในภพภูมิอื่นๆ ในนรกบ้าง ติรัจฉานบ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้างหมู่ญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่บุคคลเหล่านี้แต่ประการใด เพราะในภพภูมินั้นๆ มีสิ่งที่เขาได้รับเฉพาะอยู่แล้ว เช่น เมื่อญาติพี่น้องตายลง เกิดเป็นสุนัขอยู่ในบ้าน สุนัขนั้นก็สามารถกินได้แต่เพียงอาหารที่คนเลี้ยง หรือเกิดเป็นวัว ควาย คงกินได้เพียงหญ้า น้ำ บุญที่มีผู้อุทิศให้ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อันใด แม้เกิดเป็นเทวดาพรหม ย่อมมีอาหารกินในภพภูมิเหล่านั้นประจำอยู่ ไม่จำต้องได้รับการอุทิศส่วนกุศล
การทำบุญอุทิศส่วนกุศล แม้ญาติจะไม่ได้รับโดยตรง แต่บุญนั้นไม่สูญหายไปใด ย่อมเป็นของผู้บำเพ็ญ เป็นบุญติดตัวทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป
เมื่อเวลาทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ควรสมาทานศีล และเจริญภาวนาให้จิตใจสงบเสียก่อน ไม่ควรมีเรื่องที่เป็นอกุศลปะปน เช่น เลี้ยงสุรา เล่นการพนัน มีมหรสพ ทั้งนี้เพื่อให้ได้อานิสงส์ในการทำบุญนั้นโดยเต็มที่ และผู้ที่ตายไปถ้าได้อนุโมทนา จะได้รับผลบุญเต็มที่เช่นเดียวกัน
การทำบุญที่เจือด้วยอกุศล มีการสนุกสนานเฮฮา ผู้กระทำได้รับอานิสงส์น้อย ยิ่งหากบังเอิญตายลงในขณะนั้น จิตใจเกาะเกี่ยวในส่วนที่เป็นบาปมากกว่าส่วนที่เป็นกุศล จะไปเกิดในอบายภูมิทันที
การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในชาตินี้ หรือเคยมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตชาติ
อนึ่งอายุของเปรต ไม่แน่นอน แล้วแต่กรรม สําหรับเปรตที่สามารถรับส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศให้ได้ และมีกรรมไม่หนักมาก อาจพ้นจากอบายภูมิโดยทันที ในขณะอนุโมทนาสาธุการนั้นเอง
ดิรัจฉานภูมิ สัตว์ดิรัจฉานมักจะอาศัยอยู่ในมนุษยภูมิเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีภูมิที่อยู่ของตน เหมือนกัน เช่น พญานาคในนาคพิภพ สุนัขในนรก หรือครุฑในครุฑพิภพ เป็นต้น
สัตว์ดิรัจฉานแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามจำนวนเท้า คือ สองเท้า สี่เท้า เท้ามาก และไม่มีเท้า หรือแบ่งตามอาหาร เช่น สัตว์กินพืช กินคูถ และกินเนื้อ หรือแบ่งตามที่เกิด เช่น เกิดในที่มืด เกิดในน้ำ และเกิดในที่โสโครก เป็นต้น
อายุของสัตว์ติรัจฉาน ไม่แน่นอนแตกต่างกัน บางพวกเป็นสัตว์เล็กอายุเพียงสัปดาห์ บางพวก ๑๐ ปี ๑๕ ปี เช่น สุนัข แมว บางพวก ๒๐ ปี ถึง ๓๐ ปี เช่น วัว ควาย ม้าบางพวกอายุเท่าคน เช่น ช้าง
อกุศลกรรมที่ส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่มาจากโมหะ (ความโง่ หลง อวิชชา) ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น การยึดมั่นถือมั่นผิดๆ ยึดถือหวงแหนในบุคคล ในทรัพย์สมบัติ ใกล้ตายจิตใจหน่วงเหนี่ยวเอาความนึกคิดเหล่านี้มาเป็นอารมณ์พาให้ไปเกิดเป็นงูเฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ในพื้นดินบ้าง เป็นหนูเฝ้าทรัพย์ที่เก็บไว้ในบ้านเรือนบ้าง ถ้าจิตผูกพันในตัวบุคคล อาจเกิดเป็นสัตว์เลี้ยง สุนัข แมว เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดคนที่ตนรัก เป็นต้น
จิตที่มีความรู้สึกผูกพันนี้ อาจมีสาเหตุมาจากทั้ง ความรัก ความโกรธ เกลียดชัง อาฆาตพยาบาท เสียใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ความหลงใหลมัวเมา ประการใดประการหนึ่ง หรือหลายอย่างปะปนกัน
นอกจากนั้นยังมีเศษกรรมบางชนิดที่เหลืออยู่จากการถูกลงโทษในนรก ยังชดใช้ไม่หมดต้องการเกิดชดใช้หนี้กรรมต่อในติรัจฉานภูมิ เช่น เศษกรรมจากการประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร พ้นโทษจากนรกแล้วมักจะเกิดในกำเนิดเดรัจฉานเป็นสุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องถูกตอนอวัยวะเพศ
การชดใช้หนี้กรรมด้วยการเกิดเป็นเดรัจฉานนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดซ้ำๆ อยู่หลายชาติโดยเป็นเดรัจฉานชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด ในกำเนิดดังกล่าวนี้โอกาสทำกุศลกรรมมีน้อยมาก บ่อยครั้งที่ประกอบอกุศลกรรมเพิ่มขึ้น อาจมีโทษหนักทำให้ตายแล้วกลับไปเกิดในนรกใหม่ได้อีก
อสูรกายภูมิ ภูมิอสูรมีขนาดประมาณหมืนโยชน์ ตั้งอยู่ภายใต้ภูเขาสิเนรุ ศูนย์กลางชื่ออสุรนคร มีต้นแคฝอยใหญ่ (จิตปาฏลิ) อยู่ภายในนคร
อกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปเกิดในอสุรกายภูมิ เกิดจาก โมหะ เป็นส่วนใหญ่ขาดปัญญาพิจารณาใคร่ครวญในสิ่งต่างๆ เมื่อมีทรัพย์ มีอำนาจ จึงมักใช้ไปในทางผิดๆ บุคคลใดเป็นคนมีคุณงามความดีควรยกย่องสรรเสริญ กลับกดขี่ข่มเหงดูถูกติเตียนส่วนคนเลวประพฤติทุจริตผิดศีลธรรม กลับยกย่องสนับสนุน ทั้งนี้เป็นต้น
เล่าเรื่องสามเณรอรหันต์มามากแล้ว คราวนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรปุถุชนบ้าง แถมยังเป็นปุถุชนสมนามเสียด้วย (ปุถุชน = คนมีกิเลสหนาแน่น)
สามเณรรูปนี้นามว่า ปาลิต หลานชายพระอรหันต์จักษุบอดรูปหนึ่งนามว่า จักขุปาละ (จักษุบาล)
ความเป็นมาของสองลุงหลานนี้ค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่มหากุฎุมพีคนหนึ่งนามว่า มหาสุวรรณ แห่งเมืองสาวัตถี ไม่มีบุตรสืบสกุล ไปบนขอบุตรจากรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ว่าถ้าได้บุตรหรือธิดาจะทำพิธีกรรมถวายคือแก้บนนั่นเอง ไม่บอกว่าแก้บนด้วยอะไร แต่คงไม่แก้ผ้าฟ้อนรอบต้นไม้เหมือนบางคนที่บนพระพรหมกระมัง
กล่าวถึงกุฎุมพีคนนั้น หลังจากบนต้นไม้แล้ว ไม่นานภรรยาก็ตั้งครรภ์ได้บุตรชายมาคนหนึ่งตั้งชื่อว่าปาละ จากนั้นไม่นานก็ได้มาอีกคนหนึ่งชื่อปาละเหมือนกัน เลยต้องตั้งคนโตว่ามหาปาละ คนเล็กว่า จุลปาละ
มหาปาละ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลื่อมใสใคร่จะบวชจึงไปขออนุญาตน้องชายไปบวช หลังจากบวชแล้ว ได้ขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ พร้อมภิกษุจำนวน ๖๐ รูป เดือนทางออกจากพระเชตวันไปยังราวป่าแห่งหนึ่ง ที่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ พำนักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีญาติโยมในหมู่บ้านนั้นปวารณารับใช้และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับปัจจัยสี่อันสมควรแก่สมณะบริโภค
จวนเข้าพรรษา ท่านมหาปาละเรียกประชุมสงฆ์ถามว่า ในพรรษานี้พวกท่านทั้งปวง จะยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร (เป็นภาษาพระ หมายถึงว่า จะอยู่ด้วยอาการอย่างไร ยืน เดิน นั่ง นอน ครบสี่อิริยาบถหรือจะเอาเท่าไหร่)
พระทั้งปวงก็เรียนท่านว่า ก็ต้องสี่อยู่แล้ว พระเถระตำหนิว่าพวกท่านรับกรรมฐานมาจากพระพุทธองค์ ยังมัวประมาทหรือตามใจพวกท่านเถิด แต่ผมจะอยู่ด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น ตลอดพรรษานี้จะไม่เอนหลังนอนเป็นอันขาด
พระเถระเอาจริง ไม่ยอมนอนเลย นั่งกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน เมื่อยท่านั่งก็ลุกเดินจงกรม จนกระทั่งมีน้ำตาไหลจากเบ้าตา มีอาการเสียดแทงตา ชาวบ้านเห็นอาการของท่านไปตามหมอให้ไปรักษาท่าน หมอผสมยาหยอดตาส่งไปถวาย สั่งว่าให้ท่านหยอดทางจมูก ครั้งสองครั้งก็จะหาย ท่านนั่งหยอดจมูกมันจะเข้าอย่างไรเล่า ยาก็ไหลลงเปรอะจีวรเท่านั้นเอง โรคก็ไม่ทุเลา เมื่อไปบิณฑบาตหมอถามว่าท่านหยอดยาตาหรือยัง ท่านบอกว่าหยอดแล้ว หมอถามท่านว่าอาการเป็นอย่างไร “ยังเสียดแทงอยู่ อุบาสก” พระเถระตอบ
หมอคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ยาที่ตนให้เป็นยาชั้นดี หยอดเพียงครั้งเดียวก็ทุเลาแล้ว จึงเรียนถามท่านว่าท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด พระเถระก็นิ่งเสีย หมอจึงตามไปดูที่วัด ไม่เห็นที่นอนเห็นแต่ที่นั่งและที่เดินจงกรม จึงขอร้องให้ท่านนอนหยอด พระเถระก็ไม่ยอม เมื่อคนไข้ดื้อ หมอก็ระอา กล่าวว่า ท่านท่านอยากหายท่านต้องทำตามหมอสั่ง ไม่อย่างนั้นช่วยไม่ได้นะขอรับ ต่อไปนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ท่านอย่าได้บอกว่าผมเป็นหมอรักษาท่าน ผมก็จะไม่แพร่งพรายให้ใครทราบ คือ กลัวเสียชื่อว่ารักษาโรคไม่หาย จะหมดทางทำมาหากิน
เมื่อหมอไปแล้ว ท่านมหาปาละก็นั่งปรึกษากับ “กรัชกาย” (หมายถึงร่างกายตัวเองนั่นแหละ) พูดกับตัวเองว่า จะเห็นแก่จักษุหรือแก่พระศาสนา ในสังสารวัฏนี้คนตาบอดก็มีนับไม่ถ้วน แต่คนที่พบพระพุทธองค์แล้วมีโอกาสดีๆ อย่างนี้หายาก ตามันจะบอดก็ช่างมันเถอะ เราจะพยายามเพื่อบรรลุธรรมให้ได้ ท่านกล่าวเป็นโศลกมีเนื้อหากินใจมาก "ขอให้มั่นคงในสัจจปฎิญาณ อย่าละทิ้งอุดมคตินั้นเสีย อย่านอน ยอมให้ตาแตกแต่อย่าทำลายความตั้งใจ ดวงตาหาได้ง่ายกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า นานครั้งพระพุทธเจ้าจึงจะอุบัติขึ้นสักองค์หนึ่ง แต่การเกิดของเราพร้อมด้วยดวงตานั้นมีนับครั้งไม่ถ้วน"
จากนั้นท่านก็คร่ำเคร่งนั่งกรรมฐาน เดินจงกรม ตาของท่านก็ปะทุมืดสนิทพร้อมๆ กับบรรลุพระอรหัตในขณะเดียวกัน เป็นพระอรหันต์ประเภท “สุกขวิปัสสกะ” (คือหมดกิเลสด้วยวิปัสสนาล้วนๆ ไม่มีอภิญญา = ความสามารถเหนือสามัญวิสัยอย่างอื่น = เป็นของแถมเลย)
ออกพรรษาแล้วเหล่าภิกษุศิษย์ท่านพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านมหาปาละขออยู่เพียงผู้เดียว เพราะไม่อยากไปเป็นภาระแก่ท่านเหล่านั้น สั่งว่าไปถึงเมืองสาวัตถีแล้วให้แจ้งความแก่น้องชายท่านก็พอ
น้องชายทราบว่าพระพี่ชายตาพิการ จะส่งหลานของตนชื่อปาลิตให้ไปพาท่านกลับ ภิกษุทั้งหลายให้ปาลิตบวชสามเณรก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางซึ่งจะต้องผ่านดง อันเต็มไปด้วยอันตรายนานาชนิด
สามเณรปาลิต อายุอานามอยู่ในวัยรุ่น เดินทางผ่านดงไปยังที่พำนักของพระเถระ เรียนท่านว่า ลุง (จุลปาละ) สั่งให้ผมมาพาหลวงลุงกลับเมืองสาวัตถีเพื่อจะได้ดูแลใกล้ชิด พระเถระกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงจับไม้เท้าพาเราไปลาญาติโยมที่หมู่บ้านก่อน ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าหมู่บ้าน โดยมีสามเณรหลานชายจูงไปอำลาญาติโยมทั้งปวงแล้ว เดินทางมุ่งตรงไปยังเมืองสาวัตถี
ขณะที่มาถึงกลางดง พลันเสียงเพลงขับของหญิงสาวก็แว่วมา ไม่บอกว่าเพลงอะไร เนื้อหาคงชวนฝันไม่น้อยทีเดียว ผู้แต่งตำรายังยกเอาพระพุทธวจนะมาสอดแทรกตรงนี้เลยว่า “อิตฺถีสทฺโท วิย หิ อญฺโญ สทฺโท ปุริสานํ สกลสรีรํ ผริตฺวา ฐาตุง สมตฺโถ นาม นตฺถิ. เตนาห ภควา "นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกสทฺทมฺปิ สมนุปสฺสามิ, โย เอวํ ปุริสสฺส จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺฐติ; ยถยิทํ ภิกฺขเว อิตฺถีสทฺโทติ. ที่จริง ไม่มีเสียงอื่นใดจะสามารถแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ชำแรกเข้าไปถึงเยื่อในกระดูกของบุรุษได้เท่ากับเสียงสตรี สมดังพุทธวจนะว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเสียงแม้เสียงเดียวที่จับจิตจับใจบุรุษเหมือนเสียงสตรีเลย”
สามเณรหนุ่มบอกหลวงลุงว่า หลวงลุงครับ พักตรงนี้ประเดี๋ยว ผมจะไปทำ “สรีรกิจ” (หมายถึงไปอึ) แล้วก็หายไปครู่ใหญ่ พระเถระนั่งรออยู่ตั้งนาน รำพึงว่า ทำไมมันถ่ายอุจจาระนานนักหว่า นี่ก็ล่วงไปเกือบชั่วโมงแล้ว หรือว่า...พลันพระผู้เฒ่าก็นึกขึ้นมาได้ เมื่อกี้นี้แว่วเสียงเด็กหญิงร้องเพลง แล้วบัดนี้เสียงก็เงียบไป เห็นทีสามเณรปาลิตหลานเราจะทำอะไรมิบังควรเสียแล้ว
หลานชายหลับมากล่าวกับหลวงลุงว่า เรามาไปกันต่อเถอะจะจับไม้เท้าหลวงลุงจูง พระเถระไม่ให้จับ ถามว่า “ปาลิต เธอกลายเป็นคนชั่วแล้วหรือ” สามเณรไม่ตอบ พูดบ่ายเบี่ยงว่า เรามาไปกันต่อเถอะครับ เดี๋ยวจะมืดค่ำ พระเถระยังถามคำถามเดิม สามเณรก็ได้แต่นิ่ง นิ่งคือการยอมรับ พระเถระจึงกล่าวว่า ไม่ต้องจับไม้เท้าเราดอกคนชั่วคนพาล ไม่ควรจะจับไม้เท้าเรา ปล่อยเราไว้ตรงนี้เถอะ เราไม่ปรารถนาจะเดินทางร่วมกับคนชั่ว
สามเณรอ้อนวอนว่า หลวงลุง ท่านจะอยู่ที่นี่ได้อย่างไร อันตรายมากมาย มาไปกันเถอะ พระเถระก็ยืนกรานไม่ไปท่าเดียว สามเณรเปลื้องจีวรออก แต่งตัวอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวกับพระเถระว่า บัดนี้ผมได้สึกแล้ว เป็นคฤหัสถ์แล้ว และผมก็มิได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะต้องการความปลอดภัยในการเดินทางเท่านั้น
คำพูดของพระเถระเจ็บแสบมาก จนทำให้ “เซียงปาลิต” (ภาษากลางเรียกพระเณรที่สึกว่า “ทิด” เหมือนกันหมด ภาคเหนือพระสึกเรียก “หนาน” เณรเรียกว่า “น้อย” ภาคอีสานพระสึกเรียก “ทิด” เณรเรียกว่า “เซียง”) กอดแขนร้องไห้วิ่งเข้าป่าหายไปเลย
คำพูดนั้นมีว่า “อาวุโส คิหิปาโปปิ สมณปาโปปิ ปาโปเยว ตฺวํ สมณภาเว ฐตฺวา สีลมตฺตํ ปูเรตุ นาสกฺขิ คิหี หุตฺวา กินฺนาม กลฺยาณํ กริสฺสสิ = พ่อหนุ่มเอ๋ย คฤหัสถ์ชั่ว หรือสมณะชั่ว มันก็คนชั่วเหมือนกัน เธอบวชแล้วแม้เพียงศีลก็รักษาไม่ได้ สึกไปเป็นคฤหัสถ์จักทำความดีงามอะไรได้”
“เซียงปาลิต” จะวิ่งกลับไปหาอีหนูกลางดงหรือว่าไปไหน ผู้แต่งตำราไม่ได้บอกไว้ แต่ก็ดีที่รู้ว่าตนประพฤติไม่สมควรแล้วสึกไปเสีย
พระพุทธเจ้าท่านให้เราปิดกั้นความเสื่อมที่จะเกิดแก่เรา ได้แก่ การเป็นผู้ที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ชื่อว่า บาป' นี้ต้องละอายต้องเกรงกลัว ถ้าเราไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ตัวเราก็เดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน รู้ว่าอันไหน มันผิดก็อย่าได้ไปคิด รู้ว่าอันไหนมันผิดก็อย่าได้ไปทำ ให้มีความเคารพ ให้มีความคารวะในตัวเอง ในสถานที่ ในพระพุทธเจ้า เพราะการประพฤติการปฏิบัติธรรมนี้ มันเน้นเข้ามาที่จิตที่ใจ ใครมันไม่เห็น ใครมันไม่รู้แต่ตัวเรามันรู้มันเห็น
ถ้าใครทำผิดทำไม่ถูกต้องก็ให้แก้ไข ให้ปรับปรุงเป็นคนละอายต่อบาปเป็นคนเกรงกลัวต่อบาป เพราะคนเรามันทำผิดพลาดได้ มันก็ต้องแก้ไขได้ ถ้าเราส่งเสริมกิเลส ส่งเสริมความไม่ละอายต่อบาปมันก็ไปกันใหญ่เรื่อยๆ ปัญหาต่างๆ นี้ ล้วนแต่เกิดจากที่เราตามใจตัวเองตามกิเลสตัวเอง เป็นปัญหาที่เราไม่ได้มาแก้ไขตัวเอง เนื่องมาจากเราเป็นคนไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปนะ ตั้งอยู่ในความประมาทมาก คิดว่า ความผิดเล็กๆ น้อยๆ มันจะไม่มีปัญหา ทุกอย่างมันมีปัญหานะ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกๆ คน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่อเป็นนักสู้ ไม่เป็นคนท้อแท้ท้อถอย ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเป็นเปรต เป็นอสุรกาย คอยรับส่วนบุญส่วนกุศลจากคนอื่น จากพ่อแม่ 'คนดี' โลกนี้ย่อมต้องการ อยู่ที่วัดเขาก็ต้องการคนดี อยู่ที่ทำงาน เขาก็ต้องการคนดี 'คนดี' เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่หอมหวนทวนลม ทุกท่านต้องตั้งใจ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ลูบๆ คลำๆ เหยาะๆ แหยะๆ ชีวิตของเรานี้ไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติให้เรา ทุกท่านทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง
เราทุกๆ คนจะไปทุกข์อยู่ทำไม ทุกข์แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องสู้ ต้องทน มีความสุข มีปิติ มีใจเป็นหนึ่งในการทำความดี ชีวิตของเราทุกคนจะได้เข้าถึงความดับทุกข์ ได้มาทั้งโภคทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ โดยไม่มีโทษ...มีเวร...มีภัย เราจะได้มาด้วยการสมาทานความดี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee