แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑๐ ให้เป็นผู้ใฝ่ศึกษา มีความอดทนเป็นเยี่ยม อ่อนน้อมเจียมตน ขยันฝึกฝนและกตัญญู
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖
การเรียนการศึกษานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อเรามีความรู้มีความเข้าใจ เราก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าเณรเป็นเด็กเป็นผู้ทีโชคดี ที่ได้มาบวชได้มารู้ได้มาเข้าใจ แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ แต่ต้องเอาความรู้ความเข้าใจไปปฏิบัติที่บ้าน ที่ครอบครัว ที่โรงเรียน และที่งาน ปัจจุบันนี้เป็นการประพฤติคือการปฏิบัติของเรา เพราะว่ามนุษย์เราเป็นผู้ที่ปรเสริฐ พัฒนาวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ในชีวิตของเราต้องเรียนต้องศึกษาต้องสังเกตการณ์ เราจะได้จับเอาตัวอย่างที่ดีๆ มาประพฤติมาปฏิบัติ แล้วเราจะได้หยุดตัวเอง ในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง จากบุคคลอื่น
เราต้องรู้ต้องปฏิบัติ ชีวิตของเราถึงจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ดูตัวอย่างแบบอย่างสามเณรในสมัยพุทธกาล ท่านอายุได้เพียง ๗ ขวบ ท่านก็ได้พากันเป็นพระอรหันต์ เพราะการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติเหมือนกับบวชวันเดียว หรือว่าบวชไม่กี่วันก็ไม่สำคัญ สำคัญคือรู้แล้วต้องประพฤติต้องปฏิบัติ สัญชาตญาณของเราทุกคน ที่เป็นตัวเป็นตน เห็นแก่ตัว ระแวงภัย มีความต้องการที่จะสืบพันธุ์ ถ้าเป็นเด็กก็เรียกว่าสืบพันธุ์ทางความคิด สืบพันธุ์ทางอารมณ์ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็สืบพันธุ์ทางกาย สืบพันธุ์ทางอารมณ์ เราต้องเห็นความสำคัญในการประพฤติในการปฏิบัติ สมองของเราจะได้เคยชิน เหมือนเด็กน้อยที่มันจับไฟจับของร้อนน่ะ มันก็จะละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เพราะเราทุกคนหน่ะ มันรู้จักตั้งแต่สิ่งภายนอก แต่ไม่รู้จักเรื่องจิตเรื่องใจ มันต้องอาศัยจากการฝึก คนเราถ้ามันไม่มีเซ็กทางความคิดไม่มีเซ็กทางอารมณ์ สมองของเราก็จะใช้งานได้ดี เราเอาไปบังคับเอาไปใช้ในสิ่งที่เราจะค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ตามสัญชาตญาณมันคิดครั้งที่ ๑ มันก็ไปตามความเห็นแก่ตัว ครั้งที่สองเราต้องหยุดตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองคิดไป เพื่อฝึกความเคยชิน ไก่มันฟักไข่ต้องใช้เวลา ๓ อาทิตย์ถึงออกลูกเป็นตัว
เราฝึกตัวเอง เราต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะความเห็นแก่ตัวมันอร่อยนะ การตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกมันอร่อยนะ เพราะเราเกิดมาเราไม่รู้จัก เหมือนพระที่บวชมาไม่รู้จัก บวชมาแล้วก็นึกว่าคนโกนผมห่วผ้าจีวรหน่ะมันเป็นพระ ไม่ได้คิดว่าพระคือพระธรรมคือพระวินัย การปล่อยวาง พระเณรคิดว่าไม่ทำอะไร เขาว่าปล่อยวาง เขารู้จักแต่ภาษาทางกาย เขาไม่รู้จักภาษาทางใจ พระเณรที่บวชมาเลยไม่พากันเสียสละไม่ได้ทำตามพระธรรมตามพระวินัย เลยเป็นผู้ที่คอยรับประเคนอย่างเดียว ผู้ที่เป็นพระภิกษุเลยคิดที่จะรับประเคนอย่างเดียว ไม่เสียสละ คิดเหมือนพวกเด็กๆ ที่เกิดมา อะไรก็อยู่ที่พ่อที่แม่หมด ยังมีเหตุผลเยอะ ว่าพ่อแม่ทำให้ตัวเองเกิดมา พ่อแม่ต้องรับผิดชอบให้เรา ไม่คิดที่จะเสียสละ ดูเด็กน้อยมันอยากจะได้อะไรก็ชักดิ้นชักงอ ไปในร้านค้าอยากได้อะไรก็ชักดิ้นชักงอ กลิ้งอยู่ตามพื้น มันหารู้ไม่ว่า บางทีพ่อแม่ไม่มีเงินไม่มีตัง
เราต้องรู้จักว่าเราต้องเสียสละ เพื่อปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเอง เพื่อทวนโลกทวนกระแส เด็กในโลกนี้เขามักไม่สนใจธรรม ที่ทำก็เพราะว่าพ่อแม่บังคับ นอกจากเหมือนที่เราได้ยินได้ฟัง เราเอาตัวอย่างในหลวงมหาภูมิพล ท่านคิดเป็นตั้งแต่เด็กๆ แล้วท่านก็คิดจนท่านละธาตุละขันธ์ เสด็จสวรรคต ขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เอาธรรมเป็นหลัก ในหลวงจะเอากระดาษมาจด... พอสมเด็จย่าสอน มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่จำได้แม่น สมเด็จย่า เล่าว่า ตอนเรียนหนังสือที่ Swiss ในหลวงยังเล็กอยู่ เข้ามาบอกว่า อยากได้รถจักรยาน เพื่อนๆ เขามีจักรยานกัน แม่บอกว่า "ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็เก็บสตางค์ ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้ซิ" เก็บมาหยอดกระปุก วันละเหรียญ สองเหรียญ พอได้มากพอ ก็เอาไปซื้อจักรยาน นี่คือสิ่งที่แม่สอน แม่สอนอะไร...ทราบไหม...? ถ้าเป็นพ่อแม่บางคน พอลูกขอ... รับกดปุ่ม ATM ให้เลย ประเคนให้เลย... ลูกก็ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย...เหลิง...และหลงตัวเอง พอโตขึ้น ขับรถเบนซ์ชนตำรวจ... .ก็ได้...ยิงตำรวจ ยังได้...เพราะหลงตัวเอง... พ่อตนใหญ่ เห็นไหม ตามใจ เทิดทูน จนเสียคน...
แต่สมเด็จย่านี่...เป็นยอดคุณแม่ สร้างคุณธรรมให้แก่ลูก...ลูกอยากได้ ลูกต้องเก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปหย่อนกระปุก... แม่สอน ๒ เรื่อง คือ ให้ประหยัด ให้ยืนอยู่บนขาของตัวเอง ใครสอนลูกให้ประหยัดได้... คนนั้นกำลังมอบความเป็นเศรษฐีให้แก่ลูก พอถึงวันปีใหม่...สมเด็จย่าก็บอกว่า "ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน" "เอ้า...แกะกระปุก ดูซิว่ามีเงินเท่าไหร่?" เสร็จแล้ว สมเด็จย่าก็แถมให้...ส่วนที่แถมนะ มากกว่าเงินที่มีในกระปุกอีก... มีเมตตาให้เงินลูก ให้...ไม่ได้ให้เปล่า...สอนลูกด้วย สอนให้ประหยัด สอนว่า อยากได้อะไร ต้องเริ่มจากตัวเรา...คำสอนนั้น...ติดตัวในหลวงมาจนทุกวันนี้...
เขาบอกว่า...ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุด คือ ในหลวง ประหยัดที่สุด...ทั้งน้ำ...ทั้งไฟ...เรื่องฟุ้งเฟื้อ...ฟุ่มเฟือย...ไม่มี...เป็นอันว่า...ภาพนี้ชัดเจน
พระอรหันต์ทุกๆ พระอรหันต์หน่ะคิดเป็น เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ เพราะความสุขของมนุษย์อยู่ที่เรา มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะผู้ให้ทานเป็นผู้ที่เสียสละ ผู้รักษาศีลเป็นผู้เสียสละ เพราะพวกที่มีจิตใจเข้มแข็ง ทวนโลกทวนกระแสคือผู้ที่เสียสละ ดูตัวอย่าง อย่างท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านประหยัดมาก ถ้าอะไรไม่จำเป็นท่านไม่ใช้ อะไรที่ใช้แล้วท่านเอามารีไซเคิลใช้ใหม่ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้าก็เหมือนกัน ในโลกนี้ไม่มีพระอรหันต์ที่ไหนฟุ่มเฟือย เพราะท่านเกิดมาเพื่อที่มาหยุดวัฏฏะสงสารตัวเอง ไม่ใช่คนขี้ตระหนี่คนที่ยึดถือ แต่ว่าต้องว่าจี้ตัวเองต้องหยุดตัวเอง เพราะเราจะทำเหมือนเปรตประจำบ้านประจำครอบครัวอย่างนี้ไม่ได้ คอยอาศัยพ่ออาศัยแม่ พวกที่บวชมาเป็นเปรตประจำวัดคอยอาศัยประชาชน คอยเป็นผู้รับประเคน เราต้องคิดให้เป็นนะ พวกเณรทั้งหลาย เวลาสึกไปนี้ก็เปลี่ยนแปลงใหม่ ต้องฝึกขยัน ฝึกประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู ล้างภาชนะที่บ้าน ซักผ้าให้เป็น รีดผ้า ทำอาหาร บางคนก็เป็นลูกคนรวย พ่อแม่หลงงมงายก็ทำอะไรไม่เป็น เถียงพ่อเถียงแม่ อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ดีเลย
เรามาเรียนรู้ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราก็เอากลับไปปฏิบัติใช้ให้ติดต่อต่อเนื่องเมื่อกลับไปบ้าน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ฝึกให้ ให้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ พากันกตัญญูกตเวที พากันขยันปฏิบัติกัน เวลาเราดื่มน้ำหรือฉันอะไรต้องทำความสะอาด มีความสุขกับการทำงาน เขาที่มาอยู่เป็นวัด มาอยู่ในศูนย์รวมของผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน ทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน ไปบิณฑบาตพร้อมกัน นั่งสมาธิพร้อมกัน เพื่อฝึกเพื่อบังคับ ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้า ทุกคนก็จะไม่มีหนี้ไม่มีสิน จะมีความสุขมีความอบอุ่น มีความเย็น ไม่ต้องพากันพลัดถิ่นจากบ้านช่องไปต่างแดน เพราะอยู่ที่ไหนก็ต้องมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ที่นั่น เพราะความสุขความดับทุกข์ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เปลี่ยนนิสัยตัวเองให้ได้ อย่าไปขึ้นเสียงกับพ่อกับแม่ คนที่เก่งที่ฉลาดต้องหยุดตัวเองเบรคตัวเอง เราต้องคิด พากันคิดใหม่ วางแผนใหม่ตั้งใจใหม่ เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่กับเราทุกคน มันต้องบังคับตัวเองให้หยุดให้ได้ อันไหนมันเป็นอบายมุขอบายภูมิ มันต้องหยุดตัวเองให้ได้ อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำมัน ต้องหยุดตัวเองให้ได้
ทุกคนต้องมีปัญญา ทุกคนต้องมองเห็นน่ะ ประชาชนพากันยากจน คนภาคอีสานก็หาพากันทำงานภาคกลาง คนประเทศลาวก็หากินประเทศไทย คนเขมรก็หากินประเทศไทย เพราะเขาไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ความเป็นจริงแล้วเขาไม่ต้องมาหรอก เพราะความดับทุกข์มันอยู่ที่ตัวเขา อยู่ที่บ้านที่ครอบครัวเขา แต่ว่าเขาไม่รู้จักวิธี เขาไปทำตามที่พ่อแม่ ที่ไม่เข้าใจ ทำตามคนไม่เข้าใจ ก็พากันวิ่งตามอารมณ์ ทุกคนก็ไม่ได้แก้ไขตัวเอง การศึกษาการเข้าใจพร้อมทั้งการปฏิบัติถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนต้องแก้ที่ตัวเอง กรรมเก่าของเราอันไหนไม่บาปไม่คิดนะ อันไหนไม่บาปไม่ยากพูด อันไหนไม่บาปไม่อยากทำ อันไหนไม่บาปมันไม่อยากกิน เพราะเราอยู่กับความบาปนะ เราต้องพากันรู้จักความเห็นแก่ตัวคือความบาปคือความหลง เราจะได้เอาความรู้มาปฏิบัติเราจะได้เข้าถึงการพออยู่พอกิน จะได้เข้าถึงการมีกินมีใช้ เราจะไม่ได้เป็นเหมือนที่สังคมเรา มองเป็นไฟ ไฟมันลุกโพลงทั้งวันทั้งคืนด้วยอวิชชา ด้วยความหลง เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้คือความหลง ความหลงคือไสยศาสตร์
พระพุทธเจ้าบอกเรา พวกท่านกำลังทำอะไรภัยพิบัติมันเกิดขึ้นแก่เรา เราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก นั้นคือภัยพิบัตินะ ท่านทำไมมั่วแต่ไปใส่สูทผูกเนคไท แต่งหน้า แต่งตา ทำไมท่านไม่แต่งใจ แต่งคุณธรรมของท่าน ให้บาปที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้้น ให้บาปที่มันเห็นอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่ให้มันเกิดขึ้น
พระศาสดาได้ตรัส พระคาถานี้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเลน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ ฯ เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์ พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.
สามเณรราหุล เป็นโอรส (ลูกชาย) ของพระนางยโสธรากับเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ และเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี พระราหุลเป็นพุทธชิโนรสองค์เดียวของพระบรมศาสดา พระนางพิมพาหรือยโสธราเป็นพระมารดา เมื่อพระราหุลประสูติเพียงวันเดียว พระราชบิดาก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์มุ่งพระโพธิญาณ พระราหุลเจริญเติบโตขึ้นด้วยการถนอมเลี้ยงของพระมารดาและพระประยูรญาติมิได้เคยเห็นสมเด็จพระราชบิดาเลย จนกระทั่งพระชนมายุ ๗ พรรษา เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเสด็จมาโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธารามที่พระญาติสร้างถวาย พร้อมด้วยพระสาวกอรหันต์หมู่ใหญ่ พระนางพิมพาหรือยโสธรา พระราชมารดาของกุมารน้อยราหุลตรัสกับพระราหุลว่า สมบัติทั้งปวงในนครกบิลพัสดุ์นี้เป็นของสมเด็จพระราชบิดา แต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ขอให้ลูกไปขอสมบัติต่อพระราชบิดา
พระราหุลไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า ณ นิโครธารามทูลขอโลกียสมบัติ พระทศพลทรงพิจารณาว่าโลกียสมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน เจือด้วยโทษให้ความสุขเล็กน้อยให้ทุกข์มาก เราควรให้ธรรมสมบัติหรือโลกุตตรสมบัติแก่ราหุล ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บรรพชาสามเณร แก่พระราหุล จัดเป็นสามเณรรูปแรกของศาสนานี้
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็มิได้มีทิฐิมานะว่าเราเป็นโอรสของพระศาสดาผู้ทรงเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ แต่สามเณรราหุลกลับเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ใคร่ต่อการศึกษาเคารพพระโอวาทของพระศาสดาและคำตักเตือนสั่งสอนของภิกษุทั้งหลายไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการรับโอวาท
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ทรงสอน สามเณรราหุล เกี่ยวกับโทษของการพูดเท็จ โดยทรงใช้สื่อในการสอน และสอน สามเณราหุล อย่างเป็นเหตุเป็นผล อุปมาอุปไมย ยกตัวอย่างชัดเจน เหมาะกับอายุและอุปนิสัยของเด็กในการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง โดยวันนั้นพระองค์สอนเรื่อง “การพูดเท็จ” แก่ สามเณรราหุล โดยพระองค์ทรงจับขันน้ำ ตักน้ำในโอ่งเพื่อล้างพระบาท แล้วเทน้ำจากขันทิ้งไปนิดหนึ่งแล้วตรัสถามว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาเทน้ำจากขันนิดหนึ่งพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ เขาเทคุณความดีออกจากตนทีละนิด เหมือนเทน้ำออกจากขันนี้” หลังจากนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเทน้ำหมดขัน แล้วถามสามเณรราหุล ว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาเทน้ำหมดขันพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัส สอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ย่อมเทคุณความดีออกหมด เหมือนน้ำที่เราเทออกหมดนี้” เสร็จแล้วทรงคว่ำขันน้ำลง ตรัสว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาคว่ำขันน้ำพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ย่อมคว่ำคุณธรรมออกหมด เหมือนขันคว่ำนี้” เสร็จแล้วทรงหงายขันเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาหงายขันน้ำขึ้นพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีเหลืออยู่เลยดุจขันเปล่านี้”
บางวันสามเณรจะกอบทรายขึ้นเต็มกอบ หรือกำทรายขึ้นเต็มกำแล้วปรารถนาว่า 'วันนี้ ขอเราพึงได้รับโอวาท หรืออนุสาสน์จากสำนักของพระทศพลเจ้าหรือจากสำนักของอุปัชฌายอาจารย์เท่าจำนวนเม็ดทรายนี้เถิด'
ท่านได้รับการยกย่องจากศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านเป็นผู้รักการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษา
นอกจากนี้ท่านเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัว ดังเรื่องต่อไปนี้
คราวหนึ่งมีการฟังธรรมะกันตอนกลางคืน โดยพระผู้ใหญ่ต่างผลัดกันแสดง เมื่อเลิกฟังธรรมแล้ว พระผู้ใหญ่ต่างกลับที่อยู่ของตน คงมีแต่พระผู้น้อย สามเณร และคณะอุบาสกเหลืออยู่ในโรงฟังธรรมเท่านั้น เนื่องจากเป็นเวลาค่ำคืน การเดินทางลำบาก พระผู้น้อย สามเณร และคณะอุบาสกเหล่านั้นจึงพักรวมกันในที่นั้นเอง พระและสามเณรไม่ระวัง นอนปล่อยตัวตามสบาย มีทั้งกรน ทั้งละเมอ ทั้งนอนดิ้นและน้ำลายไหล คณะอุบาสกเห็นอาการดังนั้นแล้ว พากันตำหนิและนำความกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทราบ พระพุทธเจ้าเจ้าจึงตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้พระนอนร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่พระ (คือ สามเณร และคณะอุบาสก รวมทั้งนักบวชอื่นๆ นอกพระพุทธศาสนาด้วย)
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุ) แล้ว ภิกษุทั้งหลายเกรงจะล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแล้ว จึงไม่กล้าให้อนุปสัมบันนอนในห้องเดียวกันอีกเลยแม้แต่สามเณรราหุล พุทธชิโนรสเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกับสามเณรราหุลว่า 'อาวุโสราหุล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว บัดนี้ท่านจงหาที่พักของท่านเองเถิด'
ก่อนแต่กาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์สามเณรราหุลเป็นอย่างดี เพราะเคารพในพระพุทธองค์ และเพราะสามเณรราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เป็นผู้สอนง่าย บางรูปจัดเตียงน้อยๆ ให้สามเณรราหุลนอน ให้จีวรสำหรับหนุนศีรษะ แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้แล้ว ไม่มีภิกษุรูปใด ให้สามเณรราหุลพักในที่พักของตนเลย เพราะกลัวจะล่วงสิกขาบท
ฝ่ายสามเณรราหุลเป็นผู้มีการศึกษาดีแล้ว มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัย มีความอดทนอย่างดีเยี่ยม ท่านมิได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคิดว่าเป็นพระบิดา มิได้ไปยังสำนักของพระสารีบุตรด้วยคิดว่าเป็นอุปัชฌายะ มิได้ไปยังสำนักของพระมหาโมคคัลลานะด้วยคิดว่าเป็นอาจารย์ และมิได้ไปยังสำนักของพระอานนท์ด้วยคิดว่าเป็นพระเจ้าอาของตน สามเณรราหุลเข้าไปพักที่วัจกุฎี อันเป็นที่ถ่ายพระบังคนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประดุจเข้าไปยังวิมานพรหมมิได้นึกรังเกียจแม้แต่น้อย ตามปกติ พระทวารพระวัจกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้าปิดสนิทอยู่เสมอ มีพื้นเรียบร้อยอบด้วยเครื่องหอมประดับด้วยพวงมาลาอันหอมตามประทีปไว้ตลอดคืน สามเณรราหุลเข้าไปอาศัยอยู่ในพระวัจกุฎีนั้นเพราะเกรงใจภิกษุทั้งหลายไม่กล้าไปขออาศัยภิกษุรูปใด และเพราะสามเณรใคร่ต่อการศึกษาเคารพต่อโอวาท
บางคราวภิกษุต้องการจะทดลองท่าน พอเห็นท่านเดินมาก็เอาไม้กวาดบ้าง หยากเยื่อบ้างทิ้งออกไปข้างนอก เมื่อสามเณรราหุลเดินมาถึงภิกษุเหล่านั้นพูดกันว่า อาวุโส นี่ใครทิ้งไม้กวาดและหยากเยื่อไว้ ภิกษุพวกนั้นพากันพูดว่า ท่านราหุลเดินมาทางนี้ สามเณรราหุล ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำ แต่มิได้ปริปากพูดเลยว่า 'ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องนี้ รีบเก็บไม้กวาดและหยากเยื่อแล้วไปให้ภิกษุ ทั้งหลายอดโทษว่า ขอท่านทั้งหลายจงอดโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด สามเณรราหุลใคร่ต่อการศึกษาและเคารพต่อโอวาทถึงปานนี้
ก่อนอรุณรุ่งวันนั้น พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับยืนหน้าพระทวารพระวัจกุฎีทรงกระแอมขึ้น สามเณรราหุลก็กระแอมรับ พระศาสดาตรัสถามว่า 'ใครนั่น?' 'ข้าพระพุทธเจ้าราหุล พระเจ้าข้า' 'ราหุล! ทำไมมานอนอยู่นี่?'
'ไม่มีที่อื่นพัก พระเจ้าข้า' สามเณรราหุลทูลตอบ เมื่อก่อนภิกษุทั้งหลายสงเคราะห์ข้าพระองค์ได้ แต่เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว ภิกษุทั้งหลายกลัวต้องอาบัติ จึงไม่กล้าอนุญาตให้ข้าพระองค์นอนในที่อยู่ของตนๆ ที่นี่ไม่เป็นที่คับแคบและไม่เบียดเสียดกับใครพระเจ้าข้า'
พระทศพลทรงสดับดังนั้น ทรงเกิดความสังเวชว่า 'ภิกษุทั้งหลายทิ้งราหุลได้ถึงเพียงนี้ เมื่อให้กุลบุตรทั้งหลายอื่นบวชจะทอดทิ้งเขาสักเพียงใด ไม่ควรเลย'
พระตถาคตเจ้ารับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันแต่เช้า ตรัสถามพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรว่า 'สารีบุตร ท่านทราบหรือไม่ว่า สามเณรราหุลสัทธิวิหาริกของท่านนอนที่ไหน เมื่อคืนนี้?' 'ไม่ทราบ พระเจ้าข้า' พระสารีบุตรทูล
'สารีบุตร! เมื่อคืนนี้ราหุลนอนในวัจกุฎีของเรา ดูก่อนสารีบุตร เมื่อพวกเธอทอดทิ้งราหุลได้อย่างนี้ เมื่อให้กุลบุตรเหล่าอื่นบวชจะทำอย่างไรกัน คนที่บวชในศาสนาก็ไม่มีที่พึ่ง'
อาศัยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม (อนุบัญญัติ) ว่า 'ตั้งแต่นี้ต่อไป ภิกษุทั้งหลายจงให้อนุปสัมบันนอนในสำนักของตน (ในที่มุงบังเดียวกัน) วันหนึ่งหรือสองวัน ในวันที่สามจึงให้หาที่อยู่เองภายนอก'ดังนี้
เย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาสรรเสริญคุณของสามเณรราหุลว่า 'สามเณรราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อภิกษุทั้งหลายไม่ยอมให้นอนในสำนักของตน จะโต้เถียงคัดค้านสักคำเดียวก็มิได้ว่า เราเป็นโอรสของพระทศพล ท่านเป็นใคร ท่านนั่นแหละจงออกไปให้พ้นจากเสนาสนะนี้ แต่ไปอาศัยอยู่ในพระวัจกุฎีของพระผู้มีพระภาค สามเณรราหุลมีคุณน่าอัศจรรย์'
พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้วตรัสว่า สามเณรราหุลเคยเป็นผู้ว่าง่ายใคร่ต่อการศึกษามานานแล้ว แม้สมัยที่เป็นลูกเนื้อก็เป็นผู้ว่าง่าย ใคร่ต่อการศึกษาอย่างนี้ ได้ปลอดภัยจากบ่วงนายพรานแล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายขอร้องให้ทรงเล่าเรื่องนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดเนื้อ มีหมู่เนื้อเป็นบริวารเป็นอันมากอาศัยอยู่ในป่า ครั้งนั้นนางเนื้อน้องสาวของ พระโพธิสัตว์ได้พาลูกน้องมาฝากให้เรียนมฤคมายากับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นลุง ลูกเนื้อตั้งใจเรียนอย่างดีมาเรียนไม่เคยขาด และมาตามเวลาที่พระโพธิสัตว์สั่ง ศึกษามฤคมายาจนสำเร็จ
วันหนึ่งลูกเนื้อไปติดบ่วงนายพรานจึงร้องขึ้น หมู่เนื้อพากันวิ่งไปบอกมารดาของลูกเนื้อ แม่เนื้อจึงรีบไปหาพระโพธิสัตว์ผู้เป็นพี่ชาย แล้วถามว่า ท่านให้หลานชายของท่านเรียนมฤคมายาแล้วหรือ? ผู้เป็นลุงของลูกเนื้อตอบว่า ลูกของเธอเรียนมฤคมายาดีแล้ว อย่าวิตกเลย อีกสักครู่หลานชายของฉันจะสลัดบ่วงหนีมาจนได้ ดังนี้แล้วกล่าวว่า 'ฉันให้เนื้อหลานชายผู้มีเท้า 8 กีบ นอนสามท่า ดื่มน้ำเฉพาะเวลาเที่ยงคืน มีมายาเป็นอเนก หลานชายของฉันเป็นสัตว์ฉลาด รู้จักอดกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ในช่องนาสิกเบื้องบน นอนแนบชิดอยู่กับพื้นดินนำมาลวงนายพรานด้วยมฤคมายา หรืออุบาย 6 อย่าง'
ลูกเนื้อที่ติดบ่วงอยู่นั้น มิได้ดิ้นรนกระสับกระส่าย เหยียดเท้านอนตะแคงติดพื้นดิน เอาเท้าถีบดินให้กระจายไปคุ้ยฝุ่นและหญ้าให้หลุดถอน ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนหัวตก แลบลิ้น น้ำลายไหล ตะเบ็งลมให้ท้องพอง ทำตาทั้งสองให้ช้อนขึ้นค้างอยู่ ระบายลมหายใจเข้าออกทางช่องนาสิกเบื้องล่าง อัดลมทางช่องนาสิกเบื้องบน ทำตัวให้แข็ง แสดงอาการว่าตายแล้ว แมลงวันพากันมาตอมฝูงกาพากันมาจับกลุ่มอยู่ใกล้ๆ
นายพรานมาเห็นแล้วเอามืดตบท้องลูกเนื้อพลางคิดว่า 'เนื้อตัวนี้คงติดบ่วงแล้วตั้งแต่เช้า บัดนี้ขึ้นพองแล้ว' เขาแก้เชือกบ่วงออก ตั้งใจจะแล่ตรงนั้น จึงไปเที่ยวหาใบไม้กิ่งไม้มารอง ลูกเนื้อได้ทีลุกยืนขึ้น สลัดกายเหยียดออก วิ่งไปหามารดาโดยเร็ว ทำความชื่นชมโสมนัสให้แก่ มารดา ลุง และเนื้ออื่นๆ เป็นอันมาก การตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตามโอวาทของผู้ใหญ่ทำตนให้ปลอดภัยอย่างนี้
ความกตัญญู เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น พระมารดา คือ พระนางยโสธรา ซึ่งบัดนี้ได้ออกบวชเป็นภิกษุณีแล้วเกิดประชวรด้วยพระโรคลม พระราหุลได้ไปเยี่ยมพระมารดา ครั้นได้ทราบว่าประชวรก็ห่วงใย ยิ่งได้ทราบว่าพระมารดาประชวรถึงขั้นไม่สามารถลุกขึ้นได้ ยิ่งทำให้ใจเสีย เกรงว่าพระมารดาจะสิ้นพระชนม์
พระราหุลเมื่อไปเยี่ยมพระมารดาแล้ว ทราบว่าพระโรคลมจะสงบได้ด้วยการได้เสวยน้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวด จึงรับอาสาจะหามาถวาย พระราหุลรู้สึกหนักใจมาก เพราะไม่รู้วาจะหายาดังกล่าวมาถวายพระมารดาได้แต่ไหน แต่ที่รับปากจะหามานั้นก็เป็นด้วยความรักความห่วงใยในพระมารดา ตามปกติเมื่อมีเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือ พระราหุลจะระลึกถึงบุคคลสำคัญ ๔ คน คือ พระสารีบุตร (พระอุปัชฌาย์) พระมหาโมคคัลลานะ (พระอาจารย์) พระอานนท์ (พระเจ้าอา) และพระพุทธเจ้า (พระพุทธบิดา) ครั้นระลึกได้ดังนี้ ท่านจึงไปหาพระสารีบุตร แล้วแจ้งความประสงค์ให้ทราบ พระสารีบุตรมองดูสัทธิวิหาริกด้วยความกรุณา แล้วปลอบใจว่า “ราหุล อย่าวิตกไปเลย รอไว้พรุ่งนี้ก่อน คงจะหาได้”
รุ่งเช้า ท่านได้พาพระราหุลเข้าไปในเมืองสาวัตถีแล้วให้ท่านพักอยู่ ณ โรงฉันแห่งหนึ่ง ส่วนตัวพระเถระเองได้เข้าไปในพระราชวังเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล และโดยที่ยังมิทันได้ถวายพระพรให้ทรงทราบถึงเหตุที่มา พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงปรุงน้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวดถวาย เมื่อได้น้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวดนั้นแล้ว พระเถระก็ถวายพระพรลากลับออกมาหาพระราหุลซึ่งนั่งคอยอยู่ด้วยความวิตกกังวล “ราหุล นี่น้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวดที่เธอต้องการ” พระสารีบุตรบอกพร้อมกับส่งให้
ครั้นได้แล้ว พระราหุลก็รีบนำไปถวายพระมารดา พระมารดาได้เสวยแล้วไม่นานนักก็หายประชวร ซึ่งทำให้พระราหุลพระปิโยรสสบายพระทัยขึ้น
วัตรปฏิบัติของพระราหุลดังกล่าวมานี้ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาธรรมะควรให้ความสนใจ และนำไปเผยแพร่ เพราะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน จึงถือเป็นการเผยแพร่พระศาสนาส่วนหนึ่งที่ได้จากวัตรปฏิบัติของพระราหุล คุณธรรมของท่านที่ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee