แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๗ การปฏิบัตินั้นต้องทำติดต่อกันจนกว่าเราจะหมดลมหายใจ แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้พระเณรพากันเข้าใจอย่างนี้นะ ว่าเราทุกคนเข้าสู่เเผนภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ตื่นตีสาม สำหรับพระวัดเราเณรวัดเรา ตื่นขึ้นกราบพระไหว้พระ เก็บที่นอน ไปที่ศาลา ถ้ายังไม่ทำวัตรสวดมนต์ให้ตั้งใจทำสมาธิ ฝึกอานาปานสติ ตั้งใจฝึก ให้เเยกกายเเยกใจ ใจของเรา ร่างกายของเราต้องการนอนการพักผ่อน เเต่ใจของเราให้สดชื่นรู้ตื่นเบิกบาน หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโธ ถ้าใจสงบใจมันใส ค่อยเอาสติมาไว้ที่ลิ้นปี่ ไว้ที่ท้อง ท้องยุบก็รู้ ท้องพองก็รู้ จนใจอยู่กับสติตัวผู้รู้ ใจเป็นหนึ่ง ทุกคนต้องตั้งใจฝึกอย่างนี้แหละ
ฝึกทำไม ฝึกเพื่อเราจะได้ เสียสละ การทำ เราทำเพื่อเสียสละ เวลาทำวัตรสวดมนต์ต้องตั้งใจสวด อย่าไปนั่งหลับ อย่าไปสวดครึ่งหลับครึ่งตื่น เมื่อเวลาทำวัตรเสร็จ ถ้าเค้ายังไม่เลิก ก็ฝึกสมาธิ เราเลิกเเล้วก็ตั้งใจทำข้อวัตรกิจวัตร ปัดกวาดเช็ดถู ตั้งใจทำ คนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น เราต้องเสียสละ เราอย่ากลับไปนอนตอนเช้า มันก็ดีเเล้วที่มีความง่วงเหงาหาวนอน มีความฟุ้งซ่าน มันจะได้ฝึกเรา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้ฝึกใจหรอก เน้นที่ปัจจุบัน เวลาเรายังไม่จบ เราก็ทำอะไรต่อไป
ห่มผ้าให้ดีให้ได้มาตรฐาน วันนี้ดีเเล้ว งวดหน้าก็ยิ่งทำให้ดี ให้เป็นปริมณฑล เราต้องฝึกเสียสละ ฝึกกตัญญูกตเวที รับบาตรครูบาอาจารย์ เวลาเราเดินไปก็เจริญสติสัมปชัญญะ ไม่จำเป็นไม่ต้องพูดคุยกับใคร สมาทานไว้ในใจ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติเเต่ทุกคนก็ต้องปฏิบัติเหมือนกัน กลับจากบิณฑบาต ให้มันเลยหมู่บ้าน เเล้วค่อยรับบาตรครูบาอาจารย์ รับบิณฑบาตจากคนสุดท้ายก่อน เเล้วค่อยรับบาตรครูบาอาจารย์ พระที่ไม่ใช่พระป่วยไม่ใช่พระมาทำกิจสงฆ์ ไม่ใช่พระเเก่ ให้บิณฑบาตสุดสาย เรามีเวลา ถ้ายังไม่ตีระฆังเข้าศาลา เราก็อ่านหนังสือ ท่องหนังสือ หรือ นั่งสมาธิ เราต้องเข้าศาลาก่อนเค้าตีระฆังสัก ๕ นาทีได้เป็นดี เวลาตักอาหารให้ตั้งใจ เอาเท่าที่เราฉันหมด อย่าฉันเหลือ เพราะความโลภทำให้เราฉันเหลือ เพราะเราจะได้ฝึกใจ เราจะได้คำนวณ เราไปตักเองเเล้วไปฉันเหลืออยู่ เเสดงว่าไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ใช่ไม่ได้ นอกจาก มันเค็มเกิน หวานเกินนี้ก็อย่างนึง
เรากำลังฝึก กำลังปฏิบัติอยู่ ต้องทำอย่างนี้ เดี๋ยวจะทำให้เสียคน ล้างบาตรเช็คบาตรอย่าไปคุยกัน หลังจากนั้นพระใหม่ก็ไปหาหลวงพ่อใหญ่ ที่เวลาก่อน 11 นาฬิกา ไปดูเเลอุปัฎฐาก ไปฟังโอวาทธรรม หลังจากนั้นค่อยกลับกุฏิไปอ่านหนังสือ ท่องหนังสือ เดินจงกรม ฝึกสมาธิ ต้องวางเเผนข้อวัตรปฏิบัติ ใจของเราจะได้ไม่ว่างงาน เข้าสู่ระบบ ทุกอย่างมันไม่ลำบาก ที่มันลำบากก็เพราะเราอยากจะตามใจเรา ทุกคนปฏิบัติต้องมีความสุข ใจของเราต้องอยู่กับหน้าที่การงาน หน้าที่ในปัจจุบัน ไม่ให้ใจล่องลอย เพราะปัจจุบันคืออนาคต ถ้าปัจจุบันมันฟุ้งซ่านไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อนาคตก็เป็นอย่างนั้นตลอด ปัจจุบันต้องให้ศีลของเราเต็มที่ สมาธิของเราเต็มที่ปัญญาของเราเต็มที่ในปัจจุบัน เราจะได้จัดการกับตัวเอง ปัจจุบันเราต้องให้ศีลของเราสมบูรณ์ สมาธิของเราสมูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ เราจะให้มันสมบูรณ์มันยังไม่สมบูรณ์เลย เพราะมันเจริญอริยมรรคอยู่ เเต่การกระทำของเราจะเกิดความชำนิชำนาญไปเอง ต้องฝึกปรือให้ใจมันดี ใจมันมีปัญญาให้ได้ในปัจุบัน
การปฏิบัติมันต้องทำติดต่อกันจนกว่าเราจะหมดลมหายใจ เพราะการพัฒนาใจพร้อมกับพัฒนาวัตถุมันต้องไปพร้อมๆ กัน เค้าวางเเผนที่เรียนหนังสือเรียนอนุบาลกี่ปี เรียนประถมกี่ปี มัธยมกี่ปี อันนั้นเค้าเน้นเเต่ทางกาย เค้าไม่เน้นทางใจ มันยังไม่สมบูรณ์ ชีวิตประจำวันของเรามันถึงไม่สมบูรณ์ เพราะเราพัฒนาตั้งเเต่ภายนอก ไม่ได้พัฒนาใจ มันถูกอยู่ เเต่ถูกเเค่ครึ่งเดียว หรือว่าไม่ถึงครึ่ง ถ้าเราทำอย่างนี้ มันก็บังคับไปในตัว ฝึกความอดทนไปในตัว เราไม่มีโอกาสที่จะคิดผิด พูดผิด เเค่เราเรียนหนังสือเอาใจใส่อย่างนี้ เเทบจะเอาไม่รอด ทีนี้เข้าสู่การปฏิบัติมันต้องละเอียดมากกว่านี้อีก เราต้องวางเเผนการ เราทำอย่างนี้ เเสดงว่าเราเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ เจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เพราะมันต้องอยู่ที่ปัจจุบัน
ทุกท่านทุกคนต้องกระชับในการประพฤติปฏิบัติ ปัญหาต่างๆในโลกนี้มันรวมอยู่ที่ใจของเราเอง เราจะเชื่อตนเองนั้นไม่ได้นะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คำว่าตรัสรู้ คือ ตัดตัวตน ละตัวตน ไม่มีตัว ไม่มีตัวตน ชีวิตของเราดำเนินไปได้ มีแต่ธรรมะ สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นั้น จึงมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นไม่มี เพราะอันนี้เป็นกฎของธรรมะ ของธรรมชาติที่เป็น ธรรมนิยาม ตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์
อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี,
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ.
นี่คือกฎของ อิทัปปัจจยตา ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นและธรรมชาติของจิตนี้มีอยู่ในตัวของคนทุกคนในโลกธาตุ พิสูจน์ได้วันนี้เวลานี้ เป็น ปัจจัตตัง (รู้เฉพาะตน) เป็น สิกขีภูโต เอาตนเองเป็นพยานของตน
การปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่องในปัจจุบัน ให้เป็นสัมมาสมาธิ ต้องขยันติดต่อต่อเนื่อง อันไหนไม่ดีไม่คิด ให้ติดต่อต่อเนื่อง ดูอย่างคนที่ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง รบผิดชอบในการงานติดต่อต่อเนื่อง งานก็ไม่บกพร่อง ถ้าหากเขาเพลอ เขาประมาท งานก็จะเสียหาย
ชีวิตของเราคือ ปริญญาเอกนะ ที่เราไปเรียนหนังสือ จบปริญญาตรีก็ยังเป็นความรู้ในภาคการเรียน ปริญญาโทก็ยังเป็นความรู้ในภาคการเรียน เราต้องมาเรียนปริญญาเอก คือ การประพฤติปฏิบัติ การเรียนปริญญาตรี โท เอกก็ดี อยู่แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติก็ยังใช้ไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และใหญ่ยิ่ง การปฏิบัติของเราทุกคน จึงเป็นการทำปริญญาเอก เป็นปริญญาชีวิตอันอุดม ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ธรรมะเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง คนเราไม่รู้ไม่เข้าใจ เกิดมาเราพากันเลี้ยงแต่กายไม่ได้เลี้ยงใจ พ่อแม่เลี้ยงลูกก็เลี้ยงแต่กาย ใจไม่ได้เลี้ยงใจ ไปเรียนหนังสือให้รู้ให้เข้าใจ แต่ไม่ได้นำไปประพฤติปฏิบัติ คือ เรียนแต่ทางกายแต่ทางใจไม่ได้ปฏิบัติ
น่าสงสารเด็กๆ ที่เกิดมา พ่อแม่เลี้ยงแต่ทางกาย ให้ทานอาหารอย่างดี ให้โทรศัพท์คนละเครื่อง แต่ไม่ค่อยบอกสอนเลย เรื่องกราบพระไหว้พระ เก็บที่นอน ทำความสะอาดซักเสื้อผ้า ไม่ได้สอนให้ลูกท่องหนังสือ ท่อง ก ถึง ฮ ไม่ได้สอน a b c d บวกลบคูณหารอะไรเลย อย่างนี้นะถือว่าไม่ดีไม่ถูกต้อง เพราะสาเหตุว่าพ่อแม่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่บรรพบุรุษมาอีกที โบราณจึงกล่าวว่า ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ดูให้แน่ๆต้องดูถึงยาย ดูช้างให้ดูถึงลักษณะคชลักษณ์ที่ต้องตามตำราคชลักษณ์ไหม ดูนางก็ให้ดูความประพฤติของพ่อของแม่ว่าเป็นคนดีหรือไม่อย่างไร พ่อแม่คิดไม่เป็นลูกก็คิดไม่เป็น
ในวัดวัดหนึ่ง เขามีวิธีดูวัดนะ อยากรู้ว่าวัดนี้ดีไม่ดีให้ดูสามเณร ให้ดูโยมอุปัฏฐาก สามเณรดีไหม ฉลาดไหม ปฏิบัติมีไหม ดูห้องน้ำห้องสุขาสะอาดไหม ห้องครัวสะอาดไหม ไม่ใช่ดีแต่พูดเสียงต่ำเสียงสูง เอาอกเอาใจแต่คนรวยมีสตางค์ ต้องดูองค์ประกอบว่า จัดฉากชั่วคราวหรือว่าทำได้อย่างสม่ำเสมอตลอดกาล นี่ทำให้รู้เลยว่าเป็นปฏิปทาสัมมาทิฏฐิของเจ้าอาวาสประธานสงฆ์ ตั้งมั่นในธรรมในข้อวัตรปฏิบัติหรือไม่
ทุกท่านทุกคนต้องรู้ชัดรู้แจ้ง แล้วนำตนเองประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้นำตนเองสู่ศีลสู่ธรรม สู่ธรรมวินัย ทุกท่านทุกคนต้องเป็นเจ้าอาวาสทุกคน เพื่อปฏิบัติตนเอง คุ้มครองตนเอง สอนตนเองปฏิบัติตนเอง 100% ธรรมะถึงจะลื่นไหลออกมา เราจะได้พากันหยุดๆเซ่อๆเบลอๆ เซื่องๆซึมๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เพราะทุกคนมันเก่งทุกคนอยู่แล้ว ถ้าเอาธรรมะเป็นหลัก ธรรมะเป็นใหญ่ในการดำเนินชีวิต เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เก่งไม่ฉลาด ไม่ว่าจะเป็นคนบ้านนอก ชนบท ในกรุง ในเมือง ต้องเก่งต้องฉลาด ไม่ต้องลังเลสงสัย
ไม่เรียนหนังสือก็เก่ง ก็ฉลาดได้ เพราะธรรมะที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในหนังสือ ถ้าเรารู้จักดีชั่วผิดถูก ขยันประหยัดซื่อสัตย์กตัญญู ไม่มีอบายมุข ฟังพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ไม่มีมายาสาไถยหลบหลีก หลบเลี่ยง แก้ตัว ถกเถียงเก่ง โต้แย้งเก่ง จนขนาดถึงขั้นไปกล่าวตู่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เถียงพระพุทธเจ้า ทำตามจิตตามใจ เรียกว่า พากันลาสิกขาบทแล้ว ถึงจะปลงผมห่มผ้าเหลืองก็ลาสิกขาบท จะเอาแต่จิตใจ แต่ไม่เอาพระธรรมวินัยไม่ได้ ต้นไม้ต้นหนึ่ง จะมีแก่นได้ มีทั้งกิ่งทั้งไป มีสะเก็ด มีเปลือก มีกระพี้ จึงจะมีแก่นได้ อย่างเช่น พระภิกษุสามเณรที่บวชมา ศีลทุกข้อพระวินัยทุกข้อ ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ครบถ้วนอย่าพากันลาสิกขาบท เราจึงจะเป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระธรรมวินัย เป็นพระของมหาชน เป็นเนื้อนาบุญของโลก ใจของเราไม่เป็นเหมือนภิกษุสามเณร ส่วนใหญ่ที่เป็นกันอยู่ คือไม่ได้ทำตามพระธรรมวินัย ยังเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวอยู่อย่างนี้
เราบวชมาอุปสมบทมาต้องรักษาพระวินัย รักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ให้ได้ 100% ถึงจะเป็นพระของมหาชนของส่วนรวม เรารักษาศีล 10 ได้ 100% จึงจะเป็น สามเณรของมหาชน พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงมาบอกมาสอนเพื่อให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ขัดเกลาใจให้พ้นทุกข์ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นพระของมหาชน เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ยุคหลวงปู่มั่น พาลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 100% ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้ากันมากมาย
ในครั้งพุทธกาล ไม่ทราบว่ามีสามเณรมากน้อยเพียงใด แต่คัมภีร์ระดับอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาธรรมบท) เล่าเรื่องสามเณรเก่งๆ ไว้หลายรูป ทำนองจะให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกิดครั้งพุทธกาล แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เป็นที่สงสัยกันอยู่ หลายท่านสันนิษฐานว่า นิทานธรรมบทแต่งขึ้นที่ศรีลังกานี้เอง แต่โยงกลับไปไกลถึงสมัยพุทธกาล ว่ากันอย่างนั้น
พระสารีบุตรดูจะถูกเกณฑ์ให้เป็นอุปัชฌาย์สามเณรอยู่องค์เดียว ไม่ว่าจะเล่าเรื่องสามเณรใด ก็ล้วนแต่บอกว่าเป็นลัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรทั้งนั้น ดังสามเณรสังกิจ (ที่จะเล่าต่อไปนี้) เป็นตัวอย่าง
สามเณรสังกิจ เป็นบุตรลูกสาวเศรษฐี ขณะท้องแก่มารดาสิ้นชีวิตลง ญาติพี่น้องนำไปเผาที่ป่าช้ามอบภาระให้สัปเหร่อจัดการ ตกดึกสัปเหร่อเอาขอแทงศพและพลิกไปมาเพื่อให้ไฟไหม้ทั่วถึง หารู้ไม่ว่าในท้องศพนั้น เด็กยังมีชีวิตอยู่
รุ่งเช้าขึ้นมาสัปเหร่อไปดูว่าศพไหม้เรียบร้อยหรือยัง ก็ปรากฏว่ามีเด็กน้อยคนหนึ่งนอนอยู่บนกองฟอน สัปเหร่ออัศจรรย์ใจที่เด็กในท้องศพไม่ตายและไม่ถูกเผาไปด้วย จึงอุ้มเด็กไปบ้าน พินิจดูอย่างละเอียดแล้ว มีเพียงหาตาเท่านั้นเป็นแผลเพราะถูกปลายขอเกี่ยว แกจึงเลี้ยงดูเด็กน้อยเป็นลูก ตั้งชื่อว่า สังกิจ (แปลว่าเด็กชาย “เกี่ยว” เพราะหางตาถูกขอเกี่ยวเป็นแผลเป็น) หมอดูหมอเดาทำนายว่า เด็กคนนี้ถ้าอยู่ครองเรือนจะทำให้ครอบครัวพ่อแม่ (เลี้ยง) เจริญก้าวหน้า ถ้าบวชก็จะเป็นใหญ่ในพระศาสนามีบริวารจำนวนมาก
เมื่ออายุ ๗ ขวบ เด็กน้อยรู้ประวัติความเป็นมาของตน แล้วก็เกิดความสลดใจคิดอยากบวช จึงขออนุญาตพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงบวชเป็นศิษย์พระสารีบุตร ซึ่งคุ้นเคยอยู่กับครอบครัวนี้
ว่ากันว่า เด็กน้อยคนนี้มีบุญญาธิการสั่งสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะได้บรรลุถึง “ที่สุดแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล" คือจะได้เป็นพระอรหันต์
ผู้ที่เกิดมาในชาติสุดท้ายและจะได้เป็นพระอรหันต์นี้ ท่านเรียกว่า “ปัจฉิมภวิกสัตว์” ถ้ายังไม่บรรลุแน่นอน ต่อให้เอาเขาพระสุเมรุทับก็ไม่ตาย...ว่ากันถึงขนาดนั้น
เพราะเหตุนี้เอง ขณะที่เผาศพมารดา เด็กน้อยจึงมิได้เป็นอันตรายแม้แต่น้อย เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องผลของบุญของบาปนี้ มันลึกซึ้งมหัศจรรย์เกินวิสัยปุถุชนจะนึกถึงหรือเข้าใจ
พระพุทธองค์ตรัสว่า ในโลกนี้มีเรื่อง ๔ เรื่อง ถึงคิดจนหัวแตกก็ไม่มีทางเข้าใจ คิดมากก็อาจเป็นบ้าได้ (อุมฺมาทสฺส ภาคี อสฺส) ต้องผู้ที่บรรลุอภิญญา ระดับบุพเพนิวาสนุสสติญาณ (ญาณระลึกชาติหนหลังได้) นั่นแหละจึงจะรู้จะเห็น
เด็กชายสังกิจรับกรรมฐานจากอุปัชฌาย์แล้ว บรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจดศีรษะ หมายความว่า พอมีดโกนจ่อศีรษะจะโกนผมเท่านั้น เธอก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที นี้ก็เพราะผลแห่งบุญกุศลที่ได้สั่งสมมา
ในระหว่างนั้น มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป มาทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญธรรมในป่า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าจะเกิดอันตรายแก่พวกเธอ และสามเณรสังกิจจะช่วยได้ จึงรับสั่งให้พวกเธอไปลาพระสารีบุตรก่อน พระเหล่านั้นไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ทราบเช่นกันว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร จึงบอกให้พระเหล่านั้นพาสามเณรสังกิจไปด้วย พวกเธอไม่เต็มใจให้สามเณรไปด้วย
พระสารีบุตรกล่าวว่า “พาสามเณรไปเถิด เมื่อคราวมีอันตรายสามเณรจะช่วยพวกท่านได้” พวกเธอจึงพาสามเณรไปด้วย ทั้งๆ ที่ยังงงๆ อยู่ว่า สามเณรตัวเล็กแค่นี้จะช่วยอะไรพวกเธอได้
พระเหล่านั้นไปพำนักอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีญาติโยมดูแลเรื่องอาหารบิณฑบาตอย่างดี ชายเข็ญใจคนหนึ่งผ่านมา ได้กินอาหารของเหลือจากพระฉัน เห็นว่าวัดแห่งนี้มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงขออาศัยอยู่เป็นเด็กวัดคอยรับใช้พระ พระคุณเจ้าก็ไม่ขัดข้อง
อยู่ได้สองเดือนชายเข็ญใจก็คิดถึงลูกสาว จึงลาพระคุณเจ้าไปเยี่ยมลูกสาว บังเอิญต้องเดินผ่านดงแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโจรชุกชม พวกโจรได้บวงสรวงเทพเจ้าว่า ไม่ว่าใครเดินผ่านมาทางนี้ พวกเขาจะจับฆ่าบูชายัญ ชายเข็ญใจรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็กลัวตาย จึงต่อรองว่าเขาเป็นคนยากจน กินอาหารไม่ดี เนื้อและเลือดในกายของเขาคงไม่อร่อยเป็นที่ถูกใจเทพเจ้าแน่นอน ห่างจากนี้ไปพอสมควร มีพระอยู่ ๓๐ รูป ล้วนเกิดจากสกุลสูง ฉันอาหารประณีต อ้วนท้วนสมบูรณ์ เนื้อและเลือดของพระภิกษุเหล่านั้นคงอร่อยหวานมันถูกใจเทพเจ้า
หัวหน้าโจรบอกให้ลูกน้องพาชายเข็ญใจไปยังวัดดังกล่าว ไปถึงเขาก็ตีระฆังให้สัญญาณ พระภิกษุทั้งหลายที่กระจายนั่งสมาธิอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ยินเสียงระฆัง นึกว่าเกิดอันตรายขึ้นกับใครคนหนึ่ง จึงพากันมาประชุมกัน เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็เสนอตัวไปกับพวกโจร
สามเณรสังกิจบอกว่า ตนเท่านั้นต้องรับภาระนี้ เมื่อพระสงฆ์ไม่ยอม จึงบอกให้พวกท่านย้อนรำลึกความหลัง ว่า “...สังกิจ จะช่วยพวกท่านได้เมื่อมีอันตราย...”
พระคุณเจ้าก็จนด้วยเหตุผล และยินยอมให้สามเณรไปกับพวกโจร สามเณรก็มิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด พวกโจรนำสามเณรไปขังไว้รอเวลาทำพิธี ทำให้สามเณรมีเวลาเข้าสมาธิอย่างแน่วแน่ เมื่อได้เวลาหัวหน้าโจรก็ชักดาบฟันคอสามเณรหมายเอาเลือดบวงสรวงเทพเจ้าตามที่บนบานไว้ ดาบที่ฟันลงเกิดบิดงออย่างน่าอัศจรรย์ เขาดัดดาบให้ตรงแล้วแทงหมายให้ทะลุถึงหัวใจ ปรากฏว่าดาบงอจนถึงโคนดุจใบตาลก็มิปาน แท้จริง บุคคลแม้จะเอาภูเขาสิเนรุทับสามเณรในเวลานั้น ชื่อว่าสามารถจะให้สามเณรตายไม่มีเลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงว่าจะเอาดาบฟันให้ตาย.
หัวหน้าโจรเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้วคิดว่า "เมื่อก่อนดาบของเรา ย่อมตัดเสาหินหรือตอไม้ตะเคียนเหมือนหยวกกล้วย บัดนี้ ดาบของเรางอคราวหนึ่ง อีกคราวหนึ่งเกิดเป็นดังใบตาลม้วน ดาบชื่อนี้แม้ไม่มีเจตนา ยังรู้คุณของสามเณรนี้ เรามีเจตนายังไม่รู้."
นายโจรนั้นทิ้งดาบลงที่พื้นดิน เอาอกหมอบแทบใกล้เท้าของสามเณร แม้จะถามว่า "ท่านเจ้าข้า พวกผมเข้ามาในดงนี้ เพราะเหตุต้องการทรัพย์ บุรุษแม้มีประมาณพันคน เห็นพวกเราแต่ที่ไกลเทียวยังสั่น ไม่อาจพูด ๒-๓ คำได้, ส่วนสำหรับท่านแม้เพียงความหวาดสะดุ้งแห่งจิต ก็มิได้มี, หน้าของท่านผ่องใสดังทองคำในปากเบ้า และดังดอกกรรณิการ์ที่บานดี เหตุอะไรกันหนอ?" จึงกล่าวคาถานี้ว่า :- ความหวาดเสียวไม่มีแก่ท่าน, ความกลัวก็ไม่มี, วรรณะผ่องใสยิ่งนัก, เหตุไร ท่านจึงไม่คร่ำครวญ ใน เพราะภัยใหญ่หลวงเห็นปานนี้เล่า?
สามเณรออกจากฌาน เมื่อจะแสดงธรรมแก่หัวหน้าโจรนั้น จึงกล่าวว่า "ท่านผู้เป็นนายบ้าน ขึ้นชื่อว่าอัตภาพของพระขีณาสพ ย่อมเป็นเหมือนภาระ (ของหนัก) ซึ่งวางไว้บนศีรษะ พระขีณาสพนั้น เมื่ออัตภาพนั้นแตกไป ย่อมยินดีทีเดียว ย่อมไม่กลัวเลย" ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :- "ท่านผู้เป็นนายบ้าน ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีแก่ท่านผู้ ไม่มีความห่วงใย, ท่านผู้แสวงหาคุณ สิ้นสัญโญชน์แล้ว ก้าว ล่วงภัยทุกอย่างได้, ตัณหาอันนำไปสู่ภพของพระขีณาสพนั้น สิ้นแล้ว, ท่านเห็นธรรมแล้วตามเป็นจริง หรือโดยถ่องแท้, ความตาย [ของท่าน] หมดภัยดังปลงภาระลงฉะนั้น."
พวกโจรเห็นปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ “ถอดใจ” ทิ้งดาบก้มกราบขอขมาสามเณร พร้อมชักชวนบริวาร ขอบวชพร้อมกัน
สามเณรสังกิจได้เป็นอุปัชฌาย์บวชเณรให้โจรเหล่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้ก็ให้สงสัยครามครันว่า เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรได้ด้วยหรือ คิดอีกที การบวชเณรสำเร็จด้วยการเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ (พระรัตนตรัย) ไม่ว่าผู้ทำพิธีให้จะเป็นพระหรือเณรก็คงจะได้...ถึงตอนนี้สามเณรสังกิจเธอมีศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป (จำนวนจริงอาจไม่ถึง คำว่า “๕๐๐” คงเป็นสำนวนภาษาแปลว่า “จำนวนมาก” เท่านั้น)
เมื่อพาสามเณรเหล่านั้นไป คิดว่า "ถ้าเราจักไม่เยี่ยมพระเถระทั้งหลายไปเสีย, พระเถระเหล่านั้นจักไม่อาจทำสมณธรรมได้, จำเดิมแต่กาลที่พวกโจรจับเราออกไป บรรดาพระเถระเหล่านั้น แม้รูปหนึ่งก็มิได้อาจอดกลั้นน้ำตาไว้ได้, เมื่อพระเถระเหล่านั้น คิดอยู่ว่า 'สามเณรถูกโจรฆ่าตายแล้ว หรือยังหนอ' กัมมัฏฐานจักไม่ก้าวหน้าได้ เพราะฉะนั้น เราเยี่ยมท่านแล้วนั่นแหละ จึงจักไป." จึงพาพวกเธอไปเยี่ยมพระภิกษุ ๓๐ รูปเพื่อให้พวกท่านเบาใจว่าตนไม่มีอันตรายแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับสามารถกลับใจพวกโจรอีกด้วย สามเณรสังกิจอำลาพระคุณเจ้าทั้งหลายพาพวกศิษย์ไปหาพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถารกับสังกิจสามเณร และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นว่า การกลับใจมาถือศีลแม้เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่อย่างคนทุศีลตั้งร้อยปี เมื่อจะทรงยกเรื่องนี้แสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน.
ก็ผู้ใดทุศีล มีใจไม่ตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีศีล มีฌาน ประเสริฐ กว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น).
คนเราบางคน บางทีก็อยากจะเอาบุญ เช่น ผ้ายังสกปรกอยู่...ยังไม่ได้ทำความสะอาด แต่อยากจะย้อมสีซะแล้ว ลองเอาผ้าเช็ดเท้าที่ยังไม่ได้ฟอกไปย้อมสีดูซิ...มันจะสวยไหม ?
การไม่กระทำบาปนั้น...มันเลิศที่สุด บางคนบางคราว โจรมันก็ให้ได้ มันก็แจกได้ แต่ว่าจะพยายามสอนให้มันหยุดเป็นโจรนั่นนะ มันยากที่สุด
การจะละความชั่ว ไม่กระทำผิด...มันยาก
"การทำบุญ" โจรมันก็ทำได้ มันเป็น..."ปลายเหตุ"
"การไม่กระทำบาป" ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็น..."ต้นเหตุ"
“หยุดชั่ว มันก็ดี” โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท
“เวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก ให้สอนตนเอง ไม่ต้องพยายาม ไปสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น”
" .. การตั้งไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ "ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น" ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้
ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอเรียกว่า สติ "สตินั่นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน" สติอันนั้นเมื่อมันมีความรู้สึกขึ้นปัญญาก็จะวิ่งมา "ถ้าสติไม่มีปัญญาก็เลิก ไม่มี"
ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ "ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัย" อย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ไปไหนก็ไม่จบ แต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้"
เราบวชมาอุปสมบทมาต้องรักษาพระวินัย รักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ให้ได้ 100% ถึงจะเป็นพระของมหาชนของส่วนรวม เรารักษาศีล 10 ได้ 100% จึงจะเป็น สามเณรของมหาชน พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงมาบอกมาสอนเพื่อให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ขัดเกลาใจให้พ้นทุกข์ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นพระของมหาชน เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ยุคหลวงปู่มั่น พาลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 100% ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้ากันมากมาย
พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้พากันประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามสิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน ให้ทุกท่านทุกคนไม่ให้ใจอ่อน มีสัมมาสมาธิเป็นที่ตั้ง เมื่อท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทั้งตัวของท่านเอง การประพฤติปฏิบัติของท่านเอง จะนำท่านไปสู่สุคติโลกสวรรค์สู่มรรคผลพระนิพพาน อย่าได้ใจอ่อน อย่าได้ย่อหย่อนอ่อนแอลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ เราไม่ต้องไปลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ในพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรงปฏิบัติชอบปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เน้นเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติของเราคือการทำปริญญาอันเอกอุ ปริญญาสูงสุดของชีวิตที่มนุษย์ควรได้ควรถึงในชาตินี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee