แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๖ คนฉลาดย่อมมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้ปัญญาที่แท้จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกใบนี้พากันเข้าใจ ต้องพากันมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่มีใครยกเว้น เพราะทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ ชีวิตของเราถึงได้เข้าถึงความประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ การทำตามกาม ทำตามอวิชชา ทำตามความหลง ทำตามความรู้สึกนี้เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ทุกท่านทุกคนหน่ะถึงต้องพากันฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง ผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่นี้ก็ปฏิบัติเต็มที่ เพื่อที่จะได้บอกลูกบอกหลาน เป็นตัวอย่างให้กับลูกกับหลาน เราจะเข้าถึงความประเสริฐได้ก็อยู่ที่ฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง ไม่มีใครในโลกนี้ไม่ฝึกตัวเองไม่ปฏิบัติตัวเอง อย่างพระพุทธเจ้ากว่าจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้านี้ก็ฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเองตั้งหลายล้านชาติ เราจะเป็นอะไรๆ อย่างนี้ เราต้องฝึกตนเอง
ให้ทุกท่านน่ะ พากันรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่พ่อแม่เราเสียหาย ที่ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเราเสียหาย เพราะว่าไม่ได้ฝึกตนไม่ได้ปฏิบัติตน ถึงได้มีการเรียนการศึกษาพร้อมทั้งการประพฤติการปฏิบัติ ไก่ฟักไข่ใช้เวลา ๓ อาทิตย์ถึงออกลูกมาเป็นตัว เราเกิดมาอย่างนี้เราก็บอกสอนลูกเราแต่น้อย พอโตก็ไปให้คนอื่นช่วยฝึก เข้าอนุบาล เข้าประถม มัธยม อุดมศึกษา
ที่เราไม่ปล่อยตามใจตามอารมณ์นี้ อย่าไปถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยากเรื่องลำบาก ทุกท่านทุกคนก็อย่าไปใจอ่อน พระพุทธเจ้านี้ให้พระให้เณรนี้ที่บวชกับพระพุทธเจ้า หรือบวชในศาสนานี้ ต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า ๕ ปี เป็นอย่างน้อย ว่าอันนี้ไม่คิดเลย อันนี้ไม่พูดเลย อันนี้ไม่ทำเลย เพราะคนเราน่ะ มันมีเซ็กมีเพศสัมพันธุ์ในทางกาย มีเซ็กมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด (พูดให้เห็นภาพชัดเจน)
ความรับผิดชอบนี้เราต้องสมาทานเลย ความขยันความอดทน เราทำติดต่อต่อเนื่องไปมันจะเป็นไปเองโดยธรรมะชาติ มันไม่ทุกข์ยากลำบากหรอก ถ้าไม่มีความทุกข์ไม่มีความยาก ไม่มีความลำบาก มันก็ไม่มีมรรคผลพระนิพพาน เราต้องขอบคุณความเหนื่อย ความยาก ความลำบากที่ทำให้เราได้ฝึกใจ พระพุทธเจ้าถึงได้บอกสอนว่า อันไหนไม่ดีไม่คิด เช่น พระภิกษุ 100 รูป ถ้ามีคนไม่ดี คนที่ไม่มีความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปมาอยู่ด้วย ถึงจะเป็นคนดีปรารถนาดี แต่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ขึ้นไปมันจะเสื่อมนะ อาการจิตใจที่มันคิดไม่ดี เราต้องหยุดตัวเอง เบรคตัวเอง หยุดตัวเองด้วยว่าอันนี้ไม่ดีไม่คิด เบรคตัวเองด้วยอานาปานสติ หายใจเข้าให้มันชัดเจนกว่าความคิด หายใจออกให้มันชัดเจนกว่าความคิด หายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโท อย่างนี้ต้องพยายามหยุดตัวเองให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็กลั้นลมหายใจ ใจจะขาดเดี๋ยวมันก็กลับมา
ทุกท่านทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีต้องพากันฝึกตัวเอง เพราะเราจะใจอ่อนไม่ได้ พ่อแม่เราก็ทำให้เราเสียคน เพราะพ่อแม่ใจอ่อน พระพุทธเจ้าตัดให้หมดอย่างเรื่องฉัน พระพุทธเจ้าก็ได้สอนไว้ว่า คนเราหน่ะมันไม่ได้ทาน มันไม่ได้ฉันอาหารทางกาย เพราะเวลาจำกัดอย่างนี้ ท่านไม่ปล่อยให้ฉัน เพื่อจะได้ฝึกใจ เมื่อไม่ได้ฉันความหิวมันกระตุ้นขึ้นมาเราก็หยุด ไม่มีเซ็กทางความคิดทางอารมณ์ เราก็รู้จักว่าศีลนี้ที่จะนำเราออก คนเราถ้าไม่คิดทุกอย่างมันก็เก้อ เพราะความคิดมันสำคัญน่ะ เพราะอย่างพระจะอดอาหาร 2-3 วัน 7 วัน เป็นเดือน หรือ พรรษานึง เพราะรู้จักความคิดรู้จักอารมณ์ เราต้องพากันรู้จัก ไม่งั้นเรามาบวชก็เป็นทุกข์สิ เพราะเราไม่รู้จักหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ เราก็เลยติดอยู่กับสิ่งภายนอก ติดอยู่กับโทรทัศน์บ้าง อยู่กับมือถือบ้าง อยู่กับไลน์บ้าง มันก็เสียหาย เพราะการทำอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนั้น เท่ากับเรามีภรรยา เพราะความคิดมันสำคัญ ต้องหยุดความคิดของเราด้วยศีลด้วยพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ทำอย่างนี้ๆ มันถึงหยุดมันถึงจะเย็น ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ดูอย่างพระอรหันต์ ทำอย่างนี้แหละ เพราะอันนี้ประเสริฐกว่าทุกๆ อย่าง
เราไม่ต้องสู้กับคนอื่นหรอก สู้กับตัวเองนี้แหละ ศีลทุกข้อเพื่อจะหยุดตัวเองให้มันเย็น เพื่อจะสู้กับตัวเอง เพื่อจะไฟต์ติ้ง ไม่ใช่ทำตัวเองให้ลำบาก เพื่อจะหยุดเพื่อให้มันเย็น เหมือนที่เขาจะวัดความดัน เขาก็หยุดให้นิ่งๆ ก่อนแล้วค่อยวัด เพราะการหยุดนี้ก็คือ เหมือนพระเขาเข้าฌานเหมือนเข้านิโรธสมาบัติ ความปรุงแต่งนี้ไม่มี ความดันโลหิตมันก็นิ่ง ชีพจรก็ไม่ทำงาน ลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้ใช้พลังงาน ทุกคนอย่าใจอ่อน ทุกคนต้องตั้งใจฝึกตัวเอง เพราะวัดนี้ ไม่ใช่กุฏิวิหาร ไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่อารามเจดีย์อะไร วัดนี้คือข้อวัตรข้อปฏิบัติของเราทุกคนที่ จัดแจงทำปฏิปทาการประพฤติการปฏิบัติของเรา เรามาบวชเดือนนึงก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะช่วงนี้คือช่วงฤดูร้อน หาวิธีอยู่หาเครื่องอยู่ ที่มันเป็นสติเป็นที่เป็นสัมปชัญญะ ไม่เอาเครื่องอยู่ที่ กระหึ่มเพลงในใจ แบบที่เล่นโทรศัพท์ไลน์โทรศัพท์ แล้วไปแก้ไขภายนอก พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ไม่ให้พากันไปก่อไปสร้าง เพราะมันมีความสุขแต่ภายนอกก็จริง มันไม่ได้อยู่กับตัวเอง มันก็ทำให้ใจมันไม่ได้แก้ใจตัวเอง งานก่องานสร้างถึงเป็นงานของพระอรหันต์ที่หมดกิเลส สิ้นอาสวะ อย่างนี้เป็นต้น
บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระ อัครสาวก พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์ พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต
พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน
วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้ ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
พระเถระบอกกับสามเณรว่า ตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย) พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน
สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด
พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด พระศาสดาตรัสกะพระสารีบุตรว่า "สารีบุตร เธอได้อะไรมา? อาหาร พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ชื่อว่าอาหาร ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. เวทนา พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เวทนา ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. รูป พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ก็รูป ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. ผัสสะ พระเจ้าข้า.
คำอธิบายในปัญหาในปัญหานั้น มีอธิบายดังนี้ :-
จริงอยู่ อาหารอันคนหิวบริโภคแล้ว กำจัดความหิวของเขาแล้ว นำสุขเวทนามาให้, เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ผู้มีความสุข เพราะการบริโภคอาหาร วรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ, เวทนาชื่อว่าย่อมนำรูปมาด้วยอาการอย่างนี้,
ก็ผู้มีสุขเกิดสุขโสมนัส ด้วยอำนาจรูปที่เกิดจากอาหาร นอนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม ด้วยคิดว่า "บัดนี้ อัสสาทะเกิดแก่เราแล้ว" ย่อมได้สุขสัมผัส
เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว
ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว
แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (ท้าวอมรินทร์เทวราช) ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น
พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า “อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา. ชาวนา ไขน้ำเข้านา ช่างศร ดัดลูกศร ช่างไม้ ถากไม้ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมฝึกตน”
เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น
เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น
คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้นเกิดเป็นชายทุคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง
หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร
ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ประทานบาตรให้นายทุคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน
เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง
หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครมีบ้างในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป
เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรในบัดนี้ ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตย
เราทุกคนน่ะ มีปัญหาเรื่องความทุกข์ทั้งทางกาย ทั้งทางใจทุกๆ คน มีหน้าที่... มีปัญหา... ที่จะต้องแก้ทุกข์ ดับทุกข์ ปัญหาทุกข์ทางกายนั้นเป็นสัจธรรม เป็นความจริงของดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นความแก่ เป็นความเจ็บ เป็นความตาย มันเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้อย่างแท้จริง มันเป็นเพียงบรรเทาทุกข์ชั่วขณะ ชั่วเวลา
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ปัญหา มาแก้ความทุกข์ที่จิตที่ใจของเรา คนเราทุกๆ คนนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้แก้ที่ใจ ฝนตกเราก็มาแก้ที่ใจ แดดออกก็มาแก้ที่ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เราต้องมาแก้ที่ใจของเราหมด ต้องทำใจดี ใจสบาย ทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ถ้าใจของเราคิด ใจของเราดิ้นรน มันก็ยิ่งทุกข์มาก เราจะไปโทษโน้นโทษนี้ มันไม่ได้
ถ้าเราไม่เกิดมา ปัญหาต่างๆ มันก็ไม่มี ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่ต้องทานอาหาร ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน
การที่จะไม่เกิดนั้น ที่จะแก้ไขได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราไม่ตามความอยาก เพราะความอยากของเรานี้ ถมเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม กองไฟ ยิ่งโลภ ยิ่งโกรธ ยิ่งหลง ก็ยิ่งทุกข์ พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันมีสมาธิให้มากๆ พยายามอด พยายามทน พยายามฝืน
'สมาธิ' ของเราทุกคนต้องแข็งแรง ไม่ใช่เจอสิ่งต่างๆ นั้น วิ่งตามไปหมด ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีกำลังเสียเลย
ร่างกายของเราก็มีอิทธิพลต่อเรา ดิน ฟ้า อากาศ เพื่อนฝูง หมู่คณะ สิ่งต่างๆ นั้น มันมีอิทธิพลเหนือใจเรา ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราทุกคนย่อมตกอยู่ในอิทธิพลทางกาย ทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ แน่นอน
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกคนพากันฝึกสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ อยู่กับอานาปานสติ มาอยู่กับการหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... จะได้ไม่หลงประเด็น พยายามตั้งมั่นไว้ ตั้งหลักไว้ ฝึกหายใจเข้า-ออกให้สบายไว้ทุกอิริยาบถ เท่าที่เราคิดได้ ระลึกได้ นอกนั้นก็ให้เรามีสติสัมปชัญญะในการทำงาน และก็มีความสุขในการทำงานด้วย
เราทุกคนนั้นต้องเอาความสุข เอาความดับทุกข์ในการทำงาน ใจของเรามันมีความโลภ มีความหลงน่ะ ทำงานมันก็ไม่มีความสุข กิเลสมันฟุ้งขึ้นมาตลบอบอวลไปหมด เราพยายามข่มใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความสุขกับการทำงานให้ได้ วันหนึ่งเวลาตื่นของเรามันตั้งเกือบ ๒๐ ชั่วโมง เวลานอนนิดเดียว ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะในการทำงาน ชีวิตของเรามันก็แย่ ไม่มีความสงบ...ความเยือกเย็น การทำงานถือว่าเป็นหน้าที่ เป็นการปฏิบัติธรรม
คนเราน่ะความสุข ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจมีสมาธิ คนเราจะต้องเอาความสงบ ความดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน
ชีวิตของเราทุกคนขึ้นอยู่ที่เหตุที่ปัจจัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี" ระบบทางกายก็มาจากเหตุจากปัจจัย ระบบทางใจก็มาจากเหตุจากปัจจัย
กรรม คือการกระทำของตน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกท่าน ทุกคนจะหลีกหนีไปไม่ได้ ทุกคนย่อมเป็นไปตามการกระทำของเราเอง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ มาแก้ที่ใจของตัวเองให้ได้ ถ้าเราไม่แก้จิตใจของเรา เราก็เป็นคนตกนรกทั้งเป็น เราไม่ตาย เราก็ตกนรก ส่งผลให้เราวิตกกังวล ให้เราเครียด ให้เป็นโรคประสาท ให้เป็นโรคจิต
'กรรม' นั้นมันตกถึงญาติพี่น้อง คอยให้คนอื่นทุกข์กายทุกข์ใจไปด้วย ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนจึงมีความจำเป็น มีความสมควรที่จะต้องปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ก็คือ การไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามกิเลสตัวเอง เอาศีลเป็นที่ตั้ง 'ศีล' นั้นคือ ความไม่โลภ ไม่หลง
'ศีล' นั้นคือ อุปกรณ์ คือเทคโนโลยีที่จะทำให้เราก้าวไปในทางที่ดีที่ประเสริฐ ทุกคนต้องมีจุดยืน คือ 'ศีล'
การรักษาศีลไม่ใช่การลิดรอนสิทธิ์ของตัวเอง มันเป็นการสร้างศักยภาพให้กับตัวเอง คนเราจะเดินทางมันต้องเดินทางด้วยถนน มันจะได้ถึงจุดหมายปลายทางได้
กิเลสมันเป็นสิ่งที่ไม่จบ... เราจะไปเชื่อตนเองไม่ได้ คนเราถ้าไม่มีศีล ไม่มีธรรม ธรรมะมันก็เกิดขึ้นไม่ได้
'ศีล' นี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ การรักษาศีลนั้นให้เน้นมาที่ใจ ใจเน้นมาที่เจตนา
การรักษาศีล ก็คือการรักษาใจของตัวเอง การรักษาศีล ก็คือ การรักษาเจตนาของตัวเอง เพื่อฝึกตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหามรรคผลพระนิพพาน
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนนั้น ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามคุณพ่อคุณแม่ ตามสังคม ตามความเคยชินของตัวเอง บางอย่างก็ถูกต้อง บางอย่างก็ผิด
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกๆ คน ให้เอาศีลเป็นหลัก ต้องมีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำความดี ใจของเราต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยอาศัยศีลเป็นหลัก วาจาของเราก็ต้องปรับปรุงให้ดี
ส่วนใหญ่คนเราก็ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ระมัดระวัง เพราะวาจาคำพูดของเรานี้แหละ มันมีทั้งความสร้างสรรค์ มีทั้งความรัก มีทั้งความเมตตา ความสามัคคี มีทั้งประหัตประหาร เปรียบเสมือนลูกระเบิดพกไว้ในปาก ตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น เราจะพูดให้มันถึงใจของเราไม่ได้ เราต้องตั้งปณิธานไว้ว่า ชาตินี้จะไม่ทะเลาะกับใคร เราจะไม่โกหกใคร เราจะไม่ว่าไม่ด่า พูดไม่ดีกับใคร ถึงแม้เรื่องนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกแต่มันทำให้ไม่สงบ เราก็สมาทานจะไม่พูด
เราสมาทานตั้งมั่นไว้ว่าเราจะไม่นินทาใคร เราเคยพูดใช้สำนวนไม่ดี ไม่เรียบร้อย เราก็สมาทานพูดให้มันเพราะ...มันดี ให้มันสุภาพเรียบร้อย ถึงใจโกรธเท่าไหร่ เกลียดเท่าไหร่ เราก็จะรักษามารยาทกิริยาไม่ให้มันแสดงออกมา ถ้าเราทำอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ ตัวเราก็มีความสุข ครอบครัวเราก็มีความสุข ไม่มีปัญหาเรื่องการเรื่องงาน ไม่มีปัญหาเรื่องหย่าร้าง ไม่มีปัญหาเรื่องเสพติดต่างๆ เพราะเราเป็นที่พึ่งของตัวเอง และเป็นที่พึ่งของคนอื่น
ทุกคนทุกท่านมาปฏิบัติธรรม ให้เรามาทบทวนคำพูดของตัวเองว่าเราทุกคนนั้นต้องมาทบทวนคำพูด ทบทวนตัวเอง เราจะได้สร้างเหตุสร้างปัจจัยของความดับทุกข์ เราพูดเพราะ พูดดี พูดสุภาพ เราไม่ต้องอายใคร
พระพุทธเจ้าให้เราพูดดี พูดเพราะสม่ำเสมอ ทั้งในครอบครัวในสังคม การพูด การทำงาน การงานของเรา เราจะต้องมีความสุขในการทำงาน ทำงานให้มีความสุข ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสุขทุกอย่าง
มนุษย์เรามันเกิดมาเพราะความเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้เราทุกคนมาเสียสละ ทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปกลัวร้อน อย่าไปกลัวหนาว อย่าไปกลัวดำ ทำงานให้มีความสุข เสียสละอย่างดี เสียสละรับผิดชอบทั้งอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน
คนขี้เกียจขี้คร้านสมองมันก็ทื่อ สมองมันก็ทึบ คิดอะไรไม่ออก เห็นสิ่งที่ควรจะทำ มันก็มองไม่เห็น สิ่งที่ไม่ควรทำ มันก็มองไม่เห็น
ทุกๆ ท่านทุกคนต้องสมาทานในความขยัน ในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน คนแบบนั้นเป็นคนไม่ฉลาด เห็นแก่ตัว
ถ้าเราคิดอย่างนั้น ใจของเรามันมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อเกียจคร้าน นั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ที่เขาให้เราเรียนหนังสือ ให้ตำแหน่งในการทำงานของเราก็เพื่อจะให้เราเป็นคนขยันรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าเราเป็นคนขยันไม่เห็นแก่ตัว เราก็เหมาะที่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เหมาะที่จะได้รับตำแหน่งที่จะควรเคารพบูชา เราจะได้เป็นที่รักของผู้หลักผู้ใหญ่ ลูกน้องพ้องบริวาร
ทุกท่านทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้าน ฝืนมันตลอด อดมันตลอด ธุดงค์ แปลว่าฝืน แปลว่าอด แปลว่าทน ทุกคนต้องสมัครใจเอง ศรัทธาเอง เพื่อสมาทานสิ่งที่ดีๆ เพื่อเราจะได้ฝน จะได้อด จะได้ทน ถ้าเราไม่ได้ฝืน ไม่ได้อด ไม่ได้ทน นั้นมันเสียเวลา หลายคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมมันยากลำบาก มันต้องผืน ต้องอด ต้องทน มันเป็นความเครียด มันทรมานตัวเอง คิดอย่างนั้น... มันคิดไม่ถูก เพราะ คนเราจะดับทุกข์ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย
ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นตัวของตัวเอง เอาศีลเป็นที่ตั้ง ที่เราได้เสียสละถือว่าเราจะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาครอบครัวองค์กรและประเทศชาติ เราจะได้สร้างตัวเองเป็น 'ปูชนียบุคคล' เป็นแบบอย่างของกุลบุตรลูกหลาน คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ภูมิใจว่าลูกของท่านเป็นลูกที่ประเสริฐ ท่านจะได้มีความสุขกาย สบายใจ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee