แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๔ ปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่องตามศีลตามพระวินัย เหมือนนาฬิกาที่เดินตามเวลาตลอด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สภาวะของใจทุกๆ คน เรียกว่า สภาวะที่เกิดจากความไม่รู้ เกิดจากความหลง เราทุกคนถึงได้พากันประพฤติ พากันปฏิบัติตามอัธยาศัย ในโลกนี้ หรือในวัฏฏะสงสารนี้ ล้วนแต่ทุกท่านทุกคนทำตามอัธยาศัย เปรียบเสมือนจะเป็นคนเดียวกันทั้งหมดเลย ที่เรียกว่า ท่านอัธยาศัย พระก็พระอัธยาศัย โยมก็โยมอัธยาศัย เราถึงมารู้เรื่องกฏแห่งกรรม เราต้องปฏิบัติให้เป็นขาขึ้น อย่าเป็นขาลง ปฏิบัติขาขึ้น ได้แก่ยานพาหนะ ยานพาหนะของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่ศีล ได้แก่สมาธิ ได้แก่ปัญญา ต้องทำจากตัวผู้รู้ เรียกว่าพุทธะ ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ
อย่างนักเรียนอย่างนี้ผู้ที่ก้าวหน้า ก็ย่อมมีความสุข ในการอ่านหนังสือ ในการท่องหนังสือ เวลาไปโรงเรียนก็ไปโรงเรียนตั้งแต่เช้า อย่างวัด อย่างพระวินัย 227 ทุกๆ คนก็ต้องมีความสุขในการรักษาพระวินัยนะ แล้วก็ที่มาจากพระไตรปิฏก 21,000 ธรรมขันธ์ เราต้องมีความสุขในการรักษาศีล ที่ครูบาอาจารย์เห็นเรา เข้าศาลาช้าๆ ทำอะไรก็หลังเวลาอย่างนี้ ถือว่าอันนี้แหละไม่ได้ ไม่ถูก มันก็ยังเป็นอัธยาศัย ทุกๆ ท่านทุกคนก็ต้องพากันปรับปรุง ต้องไปให้ก่อนเวลา การที่รับผิดชอบอย่างนี้เค้าเรียกว่าสัมมาสมาธิ เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระต่างประเทศที่เค้ามาบวชที่วัดเรา บวชปฏิบัติ ทุกๆ รูปส่วนใหญ่เค้าจะมาก่อนเวลา อย่างน้อยก็ 5 นาที การเคารพในเวลาอย่างนี้ เรียกว่าเคารพในพระวินัย เคารพในกฏหมายบ้านเมือง อันนี้มันเป็นการปฏิบัติขาขึ้น ขึ้นสู่ยาน ได้แก่ศีล สมาธิ ได้แก่ปัญญา สติสัมปชัญญะ ทุกคนต้องให้มันเตรียมพร้อมไว้ เตรียมพร้อมที่จะให้มันรวดเร็วว่องไว ทำไมเราเห็นรูปเราก็ชอบ เห็นรูปเราไม่ชอบ แสดงว่าสติสัมปชัญญะมันช้าเกิน เป็นนักมวยที่ต่อยช้าเกิน พระอรหันต์ท่านมีสติสัมปรัชญะสมบูรณ์ท่านเตรียมพร้อม ถ้าเราไม่ฝึกอย่างนี้นะ จิตใจของเราไม่อาจสามารถที่จะก้าวหน้าได้ เพราะเราเป็น “ผู้แพ้ตลอด” เพราะว่าสติสัมปชัญญะเราไม่สมบูรณ์ สัมมาทิฏฐิเราไม่รู้จักทุกข์ แล้วก็เราก็ปล่อยให้เราต้องช้ากว่าเวลา และก็ไม่ทันเวลา เราเลยไม่มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ถ้าเป็นนักเรียน นักเรียนอยู่กลางแถว อยู่หางแถว ในความรู้ความเข้าใจ และอยู่ในการปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติมันต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่าเอาตัวตนเป็นเดิมพัน อย่าไปทำตามอัธยาศัย คุณมีชื่อมีใจของคุณน่ะนะ ท่านมีชื่อมีใจของท่านนะ คือ ท่านชื่ออัธยาศัย ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก อันนี้คือโมฆะบุรุษ บางคนก็คิดว่าตัวเองเจริญสติสัมปชัญญะเก่ง ท่านก็รู้ในใจของท่านอยู่แล้วว่า ท่านเห็นรูปท่านชอบไม่ชอบ นั้นแสดงว่าสติสัมปชัญญะท่านไม่ดี อานาปาสติท่านยังไม่สมบูรณ์ ท่านปล่อยให้มันดีใน เสียใจ สติสัมปชัญญะอย่างนี้ยังไม่พอ ท่านต้องทำจิตใจของท่านให้เกิดปัญญา คือให้เห็นทุกข์ เห็นเหตุเกิดทุกข์ เราจะได้ทำข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เพราะเรายังยินดีในการที่มีตัวตนอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณากาย เอาผมออกให้หมด สมมุติว่าเอาผมออกให้หมด เอาหนังออกให้หมด เอาเนื้อออกให้หมด ทำอย่างนี้แหละให้มันติดต่อกันหลายๆ อาทิตย์ พร้อมกับทำจิตใจให้สงบไป
แต่นี่แสดงว่าปัญญาท่านอ่อน ใจของท่านยังดีใจ เสียใจ ยังไม่เข้าถึงสภาวะธรรม ยังไปตามอัธยาศัยอยู่ มันเป็นสภาวะของอวิชชา ของความหลงอยู่ เราเจอรูปสวยๆ ใจของเราก็ชอบอย่างนี้แสดงว่าสติเรามันช้าเกิน สติสัมปชัญญะของเรามันช้าเกิน อานาปานสติของเรามันอ่อน การฝึกอย่างนี้มันไม่ติดต่อต่อเนื่อง ความรักความชัง มันก็ยังเปลี่ยนแปลงเราอยู่
พวกมนุษย์ที่ยังเป็นสามัญชน ยังไม่รู้จักความสุข ความดับทุกข์ทางจิตใจ ไปรู้แต่ความสุขความดับทุกข์ทางวัตถุ เราดูจากภาพบ้านเมืองสังคม ก็จะมืดบอด ก็จะไม่รู้จักว่าความสุข ความดับทุกข์ อยู่ที่เรารู้จักสภาวะธรรมตามเป็นจริง เค้าแต่งรูปมาสวยๆ เค้าแต่งรูปมาหล่อๆ นี้ เพื่อมาประโลมจิตใจของเราให้เราหลง ให้เรายินดี เวทนาก็เหมือนกัน ถ้าเราสติสัมปชัญญะไม่ดี สติไม่ดี สัมปชัญญะไม่ดี ไม่มีทางที่เราจะแก้ไขตัวเองได้
ปัจจุบันนี้เรายังปล่อยให้ตัวเองเข้าศาลาช้า ไปอะไรช้า โอ๋...มันสับปงกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าเป็นนักบวชก็จะมาบวชเอาอะไร ยังไม่รู้อริยสัจ 4 เลย ยังไม่รู้ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติเลย ท่านต้องฝึกเจริญสติสัมปชัญญะให้มากขึ้น ให้ถี่ขึ้นนะ ทำความรับผิดชอบท่านให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ถ้าอย่างนั้นท่านไม่สามารถที่จะแยกรูป แยกนาม แยกกาย เวทนา จิต ธรรมได้ เพราะว่ามันออกมาช้าเกิน ต้องฝึกเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานให้มากขึ้น ก็ตามสภาวะธรรม รู้ชัด
ที่เค้าแต่งทรงผมมาสวยๆ แต่งหน้า แต่งตา ไปเสริมจมูก หรือว่าเวทนาทุกอย่าง เค้าเรียกว่าอันนี้เป็นการสร้างความประเล้าประโลม เพื่อมาเห็นสัจจะธรรม เราก็ไม่รู้ว่าอันนั้นน่ะคือระเบิด อันนั้นคือระเบิดที่มันระเบิดเรา ถ้าเราไม่มีสติ มีสัมปชัญญะ เราก็จะเข้าไลน์ของอวิชชา เข้าไลน์ของพญามาร นี้เรายังไม่รู้เรื่องมาร เรื่องอะไรต่างๆ เลย รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อาหารที่อร่อย คือสิ่งที่ประเล้าประโลม เป็นเหยื่อของพญามาร นี้แสดงว่าอานาปานสติทุกท่านทุกคนมันอ่อน เมื่ออานาปานสติอ่อนปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยภาวนา ลมหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง อาหารเก่าอาหารใหม่ก็ไหลไปไหลมา เราก็เอาพวกนี้มาเจริญปัญญาก็ได้ ทุกๆ อย่างก็ผ่านมา ผ่านไปปตลอดเวลา หาใช่ตัวหาใช่ตนไม่ เราจะได้จัดการ เพราะสติมันช้า แสดงว่ามันไม่รู้อริยสัจ 4 มันไม่ได้ขึ้นนั่งรถ นั่งเครื่องบิน การที่จะขึ้นรถ ขึ้นเครื่องบิน ปัจจุบันเราก็ต้องธรรมวินัยแน่นอน ข้อวัตรกิจวัตรแน่นอน เราก็ต้องทำติดต่อกันหลายอาทิตย์
ผู้มาบวชอย่างนี้ก็ เดือนนึงยังถือว่าน้อยเกิน ต้องพลิกตัวเองให้เต็มที่เลย ต้องเน้นไปอย่างนี้ เพราะว่าเราจะให้กายบวชแต่ว่าใจไม่ได้บวช ใจไม่ได้เข้าสู่ระบบของพระพุทธเจ้า มันไม่สมควร เราจะเอาตัวอย่างของพระที่บวชมา 99.9% เค้าเอาศาสนาหาเลี้ยงชีพ หาอยู่หากิน เพราะการปฏิบัติตนฝึกตนนี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ คนที่พูดให้เราฟังได้หรืออะไรได้ มันหาค่าหาประมาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี เราก็ต้องปรับตัวเข้าหาเวลา หาธรรม เพื่อสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ผู้เก่าก็จะไม่ก้าวหน้า ผู้ใหม่ก็จะไร้ประโยชน์
มันไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น ไม่มีข้อแม้ว่าเข้าห้องน้ำอยู่ หรือว่ายังปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องดูแลลูก ดูแลธุรกิจหน้าที่การงาน ไม่มีเหตุผลใดใดทั้งสิ้น เพราะความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่เป็นน้อง ไม่มีอัธยาศัย ถ้าเราจะไปเอาเหตุผล ไปต่อรองมันก็แนวเดียวกับพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นมีเหตุผลถึงได้ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า พวกที่โกงบ้าน โกงเมือง โกงอะไร หรือว่าพวกที่มาเอาศาสนาหาอยู่ หาฉัน เค้าคงมีเหตุผลของเค้า เราต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เราต้องหยุดทำตามอัธยาศัย พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าผู้ที่จะไม่ต้องอาบัติ มีแต่ภิกษุบ้า บ้า100% นะ ผู้ที่ป่วย ป่วยที่ไม่ต้องไปตามเวลา เพราะว่ามันไปไม่ได้ คนพวกนี้ถึงจะไม่ต้องอาบัติ นิสัยเรามันอยู่ในระบบความเสื่อม ระบบเป็นคนรวยติดสุขติดสบาย เป็นมนุษย์ไม่รู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์พากันติดความสุข ความสบาย รู้จักแต่ความสุขทางมนุษย์รวย กับที่เป็นเทวดาได้หลงในทิพย์วิมาน มันสายตาสั้นเกินแล้ว มันต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ ตัดเลนส์ใหม่แล้ว เลนส์นั้นมันเสื่อมเกินเนอะ ต้องเปลี่ยนเลนส์ใหม่วัดสายตาใหม่แล้ว
เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา เพื่อให้มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น..? พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสอนเราว่า "สิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น คือการไม่ทำบาปทั้งปวงและทำบุญกุศล สร้างความดี สร้างบารมี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท"
พื้นฐานในการทำความดีได้แก่ การรักษาศีล รักษาพระวินัยทำกิจวัตร ข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้ป้องกันเราไม่ให้ทำบาปทั้งปวง ทั้งบาปเล็ก บาปกลาง บาปใหญ่ ศีลจะปิดอบาย เพราะพระพุทธเจ้าวางระบบระเบียบทั้งความคิด ทั้งคำพูด และการกระทำ
เราดูตัวอย่างครั้งพุทธกาล พระอรหันต์ พระอริยเจ้าไม่มีใครผิดศีล ไม่มีใครผิดพระวินัย วินัยเล็กๆ น้อยๆ ปฏิบัติได้อย่างหมดจด นอกจากมี 'พระอลัชชี' ที่อาศัยพระพุทธศาสนา ที่ศรัทธาประชาชนเลื่อมใสพากันแอบแฝงเข้ามาบวช
ดูตัวอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น เรื่องศีล เรื่องพระวินัย ท่านปฏิบัติได้ทุกอย่างทุกข้อ... รู้ว่าอันไหนผิด ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ พระครั้งพุทธกาล หรือหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น ท่านบวช ท่านปฏิบัติเพื่อมุ่งหวัง 'มรรคผลนิพพาน' อย่างเดียว ไม่เอาความสุขในการฉัน ในการพักผ่อน ไม่เอาความสุขในการคลุกคลีเน้นความสงบความวิเวกในการภาวนา
พระรุ่นเก่าๆ พระกรรมฐาน ก่อนหน้านี้ ๕๐ ปี ๖๐ ปีแล้ว ท่านปฏิบัติขลัง ศักดิ์สิทธิ์ แต่ละวัดเงียบสงบ สะอาด ตอนค่ำจะมืดได้ยินแค่เสียงจั๊กจั่นเรไรมันร้อง พระอยู่ด้วยกัน ๔๐-๕๐ รูป อยู่กันเป็นปี ๒ ปี ๓ ปี ก็ไม่รู้ว่าพระองค์นั้นชื่ออะไร มาจากไหน มีธุรกิจหน้าที่อะไร...? ไม่รู้... แต่ละท่าน แต่ละรูป มุ่งความสงบวิเวก ไม่พูด ไม่คุย บางรูปพระส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพระรูปนั้นคุยเลย
การประพฤติการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้องอาศัยความสงบวิเวก ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเอง ถึงจะมีหมู่คณะหลายสิบองค์ก็มีความสงบอยู่กับตัวเอง ต้องอาศัย 'สมาธิ' พอสมควร เพื่อจะได้พิจารณาชีวิตจิตใจของตัวเอง
ชีวิตที่ผ่านมานั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง ที่เราจะต้องแก้ไขมีสิ่งใดบ้างที่เราจะต้องเพิ่มเติม เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ทำวัตรสวดมนต์บ้าง ทำความสะอาดกุฏิ ห้องน้ำ ห้องสุขา ทำทุกอย่างเพื่อความดี เพื่อคุณธรรม เพื่อเสียสละ เพื่อไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น
"ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสั่งสมกองกิเลส ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ทำทุกอย่างเพื่อบารมี เพื่อเสียสละ... แต่ก่อนทำเพื่อจะเอา เอาสิ่งของ เอาความสุข เอาหน้าเอาตา มันมีแต่จะเอา ให้เราทำเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยวาง ไม่มีทิฏฐิมานะ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เอา ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเอานั้น 'ต้องอาบัติ'
อย่างเรารักษาศีล นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้คนอื่นยอมรับนี้ ก็ผิดศีลแล้ว ทำความสะอาดวัด เพื่อให้เขาเคารพเลื่อมใสนี้ ก็ผิดแล้ว
ถ้าเราไม่ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธินี้ ก็ผิดแล้ว ถ้าเราไม่กวาดวัด ดูแลเสนาสนะให้สะอาด ก็ผิดอีก พระพุทธเจ้าท่านป้องกันกิเลสทุกแง่ทุกมุม
ฉันข้าวฉันอาหารก็ให้มีสติสัมปชัญญะ เพราะข้าวนั้นพระพุทธเจ้าให้ฉันเป็นยารักษาโรค ไม่ให้เผ็ดเกิน เค็มเกิน หวานเกิน ให้ธาตุขันธ์พอเป็นไปได้ เป็นยารักษาโรค
ท่านไม่ให้ติดเรื่องฉัน... 'ติด' ก็หมายถึงชอบนั่นแหละ 'ติด' ก็คือไปไม่ได้ เหมือนรถติดหล่ม คนเป็นอัมพาต หรือคนตาบอดมันไปไม่ได้
อาหารก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "เป็นเพียงปัจจัยอาศัยเพื่อให้เราฝึกพัฒนาตัวเอง ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่พระนิพพาน"
ทุกวันนี้ ทางโลกทางสังคมเขาพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องความเอร็ดอร่อย รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อำนวยในการใช้ทุกอย่างเพื่อให้จิตใจเราเข้าถึงสวรรค์ตั้งแต่ที่เรายังไม่ตาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทั้งพระทั้งโยมพากันหลง ไม่เห็นความสำคัญในการรักษาศีล การปฏิบัติธรรม การพัฒนาตัวเองไปสู่มรรคผลนิพพาน
จิตใจไปทางโลกน่ะ มันหยาบ มันฟุ้งช่าน หัวใจของเราเลยมุ่งอยู่กับเรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เราเลยพากันเพลินกับเรื่องทำมาหากิน เรื่องความสุข ลืมพัฒนาเรื่องศีล เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา
พระสงฆ์องค์สามเณร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันเดินทางผิด เดินคนละทาง ต้องหันหลังกลับ เดินตามพระพุทธเจ้า "เราเชื่อตัวเองมากก็มีปัญหามาก เชื่อตัวเองน้อยก็มีปัญหาน้อย"
ความสุข ความสะดวกสบาย ความเอร็ดอร่อยนั้น ไม่มีที่ยั้ง...ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เหมือนไฟลุกอยู่ เอาเชื้อเพลิงใส่เท่าไหร่ก็ไม่ดับมีแต่ทวีคูณ ชีวิตของเราวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดี๋ยวก็ตกนรก เดี๋ยวก็ขึ้นสวรรค์ บวกลบแล้ว ตกนรกมากกว่า
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเดินสายกลาง ความชอบ ความไม่ชอบก็อย่าไปสน เอาธรรมวินัยเป็นหลัก
ชีวิตของเราก็เหมือนนาฬิกา เดินตามเวลาตลอด ชีวิตของเราก็ต้องเดินตามศีล ตามวินัยตลอด ไม่มีข้อแม่ใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเวลาทำอะไรก็ทำ จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ทำ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือปฏิปทาของพระพุทธเจ้า
พวกเราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ที่ผ่านๆ มา เราคงได้ยินพุทธานุภาพ รู้ชัดถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แม้กระทั่งพระพุทธคุณ ๙ ประการของพระองค์ ในแต่ละวันพระบรมศาสดาเอกของโลก ทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะตลอด ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ ทรงใช้วันเวลาให้ผ่านไปด้วยความเสียสละการบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อเวไนยสัตว์ คือ
๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่าง ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
(สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด)
ในวันหนึ่งๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จะทรงบำเพ็ญกรณียกิจอยู่ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นกิจวัตรหลัก พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ทั้งกลางวัน และกลางคืน เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเหล่าเวไนยสัตว์ เพราะอัตตหิตประโยชน์ คือ ประโยชน์ของพระองค์ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ตั้งแต่ประทับนั่งอยู่ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นั่นคืองานขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากใจ เหลือเพียงประโยชน์ของชาวโลก คือ งานสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งเป็นพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากทุกข์ไปสู่มรรคผลพระนิพพาน
ในบรรดาพุทธกิจ ๕ อย่างนั้น เริ่มตั้งแต่กิจวัตรในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงปฏิบัติพระสรีระ และทรงประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติบนพุทธอาสน์จนถึงเวลาภิกขาจาร ครั้นถึงเวลาภิกขาจาร ทรงครองจีวร ถือบาตร บางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางครั้งแวดล้อมไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือพระนคร
เมื่อพระบรมโลกนาถเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ลมที่พัดอ่อนๆ พัดไปเบื้องหน้าแผ้วพื้นพสุธาให้สะอาดหมดจด ทันทีที่พระบาทเบื้องขวาประดิษฐานลงภายในธรณีประตู พระฉัพพรรณรังสีก็เปล่งสว่างไสว แผ่ซ่านออกจากพระพุทธสรีระประมาณ ๑ วา และนกทั้งหลายซึ่งอยู่ในสถานที่ใกล้ๆ พากันเปล่งสำเนียงเสนาะโสต ทิพยสังคีตของเหล่าเทวดาในสวรรค์ ก็ถูกขับขานไพเราะเสนาะโสตยิ่งนัก เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้ว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ต่างพากันแต่งตัวนุ่งห่มเรียบร้อย พร้อมทั้งถืออาหารคาวหวานของหอมและดอกไม้ ออกจากบ้านเดินไปตามถนน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยของหอมและดอกไม้ ด้วยความเคารพ ถวายบังคมแล้วกราบทูลขอสงฆ์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ แล้วรับบาตรน้อมถวายบิณฑบาตโดยเคารพ
หลังจากทำภัตกิจแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธบริษัทให้ได้บรรลุธรรม ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับพระวิหาร ครั้นทรงบำเพ็ญพุทธกิจช่วงนี้แล้ว ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ตามสมควรแก่จริตอัธยาศัยของภิกษุแต่ละรูป ทรงประทานกรรมฐานที่เหมาะแก่ภิกษุแต่ละรูป
เมื่อภิกษุสงฆ์รับโอวาทแล้ว ก็กลับไปที่พักกลางวันของตนเอง หาที่หลีกเร้นตามอัธยาศัย เช่นไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ เรือนว่าง ลอมฟาง สำหรับท่านที่มีฤทธานุภาพมาก กิจที่จะทำอาสวะให้สิ้นไปของท่านสำเร็จแล้ว ท่านจะเข้านิโรธสมาบัติ เสวยสุขอยู่ด้วยพระนิพพานในปัจจุบัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ที่จะได้บรรลุธรรมาภิสมัยตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงคล้อยบ่ายไปแล้ว มหาชนพากันนุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้ มาประชุมกันในพระวิหารโดยพร้อมเพรียง เมื่อถึงเวลาพระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรม ที่ควรแก่กาลสมัยท่ามกลางธรรมสภา ซึ่งการเทศนาของพระพุทธองค์ในแต่ละครั้งจะมีผู้บรรลุธรรมกันมากมาย
หากพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธประสงค์จะสรงสนานพระวรกาย จะเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าสู่ซุ้มที่สรงสนาน ทรงสรงพระวรกายด้วยน้ำที่ภิกษุผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากจัดถวาย จากนั้นจะเสด็จไปประทับบนพุทธอาสน์ในพระคันธกุฏี หลีกเร้นอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว ในช่วงค่ำภิกษุสงฆ์พากันมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม ทูลถามปัญหา หรือทูลขอกรรมฐาน ตลอดช่วงเย็นนั้นพระพุทธองค์จะให้โอกาสกับพระภิกษุสงฆ์ซักถามปัญหาได้เต็มที่จนถึงปฐมยาม ซึ่งอยู่ในช่วงราว ๔ ทุ่ม
เมื่อสิ้นสุดกิจในปฐมยาม หลังจากภิกษุสงฆ์ถวายบังคมลาพระพุทธองค์แล้ว เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุ จะพากันมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่เตรียมมา เทวดาเขารักในการฟังธรรมมากทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเมตตาตอบปัญหาแก่เทวดาจนบรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนปัจฉิมยาม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งเวลาออกเป็น ๓ ส่วน คือ ทรงยับยั้งอยู่ด้วยการเสด็จจงกรม เพื่อเปลื้องจากความเมื่อยล้าที่ทรงนั่งแสดงธรรม และตอบปัญหาเทวดามาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ในส่วนที่สอง พระองค์จะเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ ทรงนอนตะแคงขวา พระองค์บรรทมโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเสด็จลุกขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สามของปัจฉิมยาม ครั้นเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งแล้ว ทรงใช้พุทธจักษุแผ่ข่ายพระญาณออกไปตลอดหมื่นโลกธาตุ เพื่อตรวจดูสรรพสัตว์ผู้สร้างสมบุญญาธิการไว้อย่างดีแล้ว มีบารมีและอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะได้บรรลุธรรมาภิสมัย แม้อยู่ไกลเพียงไร พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้ได้บรรลุธรรม นี่เป็นพุทธกิจ ๕ ประการ โดยย่อๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา
ทุกท่านทุกคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นคนเสียสละ สร้างเหตุ สร้างปัจจัยให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ด้วยจิตใจที่มีความสุข
ความฉลาดของคนมันอาจจะพอๆ กัน หรือว่าใกล้เคียงกัน แต่การปฏิบัติที่ติดต่อกันสม่ำเสมอเหมือนนาฬิกาที่มันเดิน มันทำให้คนเจริญก้าวหน้าไม่เหมือนกัน ทุกคนมีลมหายใจเหมือนกันมียี่ห้อเดียวกัน คือ "ความเป็นมนุษย์" แต่ใครไปไกลได้มากกว่ากัน มันขึ้นอยู่ที่ "ปฏิปทาของตนต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย"
กระต่ายเป็นสัตว์ที่วิ่งเร็วมากกว่าเต่า แต่กระต่ายตั้งอยู่ในความประมาท แข่งขับกับเต่าก็เลยแพ้เต่า กระต่ายก็เอาแต่พักผ่อน เอาแต่นอน แต่เต่าเขาเดินช้า แต่เดินไม่หยุด ผลที่สุดมันก็แพ้เต่าจนได้
การปฏิบัติความดีของเรา ทุกๆ คนต้องปฏิบัติต่อเนื่อง อย่าได้พากันตั้งอยู่บนความประมาท มันเป็นบาปเป็นอกุศล เหตุปัจจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างเราเป็นนักเรียนนักศึกษา เมื่อเราจะไปขยันเมื่อใกล้จะสอบมันไม่ถูกต้อง เราเอาเวลาที่มีอยู่จำกัดไปใช้นอกระบบ มันก็มีแต่จะเสื่อมกับเสื่อม มันมีแต่จนกับจน อย่างเทอมๆ หนึ่งมันมีกี่วัน เขาคำนวณให้คนๆ หนึ่งต้องเรียน ต้องท่องหนังสือกี่วัน แต่ด้วยความไม่เข้าใจ เราเอาเวลาไปใช้นอกระบบ เอาไปใช้นอกระบบอย่างไร ลองคิดตามดูนะ... เอาเวลานั้นไปฟังเพลง ไปเล่นอินเทอร์เน็ต ไปเล่นเกมส์ ไปดูคอนเสิร์ต ไปเที่ยวกับเพื่อน ไปห้างสรรพสินค้า ที่นี้เราจะมองเห็นว่า เราได้เอาเวลาไปใช้นอกระบบมาก ความรู้ความสามารถมันก็ไม่มี ไม่เป็น ชีวิตของเรามันก็มืดมัว มันก็สลัว เพราะเราเอาเวลาไปใช้นอกระบบ
กรรม คือการกระทำของเรา มันจะตัดสินตอนที่เขาออกข้อสอบ เราเข้าห้องสอบอากาศเย็นๆ มันก็ร้อนไปหมด ใจรุกรี้รุกรน รุ่มร้อน เหงื่ออก กำปากกาเปียกเมื่อไรก็ไม่รู้ ทีนี้เราก็ปลงอนิจจังกับตัวเองว่า "ได้ก็เอา ไม่ได้ก็ต้องเอา เพราะว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม..."
กรรม คือการกระทำของเราเองนะ ไม่ใช่มีใครมาทำให้เรา พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรา ตั้งมั่นในความดี สร้างเหตุปัจจัยให้ถึงความพร้อมด้วยความไม่ประมาท เขาเรียกว่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตในใจ อยู่ในชีวิต ประจำวัน จิตใจของเราก็เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
คราวนี้เราจะเข้าถึงสวรรค์ ถึงความสุขตั้งแต่ยังไม่ตาย เข้าถึงพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตาย ถ้าเราเป็นคนหัวไม่ดี ถ้าเราปฏิบัติสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มันจะดียิ่งกว่าคนที่หัวดีแต่เขาประมาทอยู่นะ
ในโลกนี้เขาต้องการคนดี ต้องการคนเสียสละ ถ้าเราเป็นคนดี เป็นคนเสียสละ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็รักเรา ชื่นชมเรา เพื่อนๆ ก็รักเรา พวกน้องๆ ลูกน้องพ้องบริวาร เขาทั้งเคารพทั้งนับถือบูชา ตัวเราเองก็รู้สึกเคารพตัวเอง เคารพกราบไหว้ตัวเองได้ด้วยความสนิทใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกๆ คน ให้เราพากันเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง จะได้พากันประพฤติปฏิบัติ อย่างเราเป็นญาติโยม เราต้องปฏิบัติธรรมที่บ้านเรา 'บ้าน' คือที่พักทางกาย กายมีบ้านเป็นที่อยู่ เป็นที่พักของเขา เราอยู่ที่บ้านมีพ่อแม่ บุตรภรรยาสามี พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันปฏิบัติที่บ้านของเรานั่นแหละ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อจะเอามาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee