แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๓ ปฏิบัติให้เหมือนนาฬิกาที่เดินอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการไม่เพ่งไม่เผลอและไม่ประมาท
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ปัจจุบันของเราทุกคน ที่มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันเป็นไฟต์ที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติเหมือนนาฬิกาที่มันเดินไป ต้องประพฤติปฏิบัติถึงเป็นไฟต์ชิงแชมป์ในปัจจุบัน ที่เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา เวลาเราต้องการจะไปไหนให้ทันเวลา การปฏิบัติเราต้องเป็นประจำ เพราะนี้คือพระพุทธศาสนานี้คือ ศีล คือสมาธิ คือปัญญา อย่าคิดว่า ตามอัธยาศัย มันไม่ได้ อันนี้มันคือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ปล่อยให้ผ่านไปอย่างนี้ไปไม่ได้ พวกเทวดาที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ยังยาก จึงให้พัฒนาตัวเอง ให้เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย
ทุกท่านทุกคนน่ะ ต้องกลับมาหาธรรมะ ไม่ต้องไปวิ่งตามความคิดตามอารมณ์ ให้มีศีล ๕ มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม เพราะการทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือการทำงาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสอริยมรรคมีองค์แปดอย่าไปคิดไปเรื่อย ปรุงแต่งไปเรื่อย อยากเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายสิ่งเหล่านั้นมีความสุขชั่วคราว เพียงชั่วครู่ชั่วยาม มันก็เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน มันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าเราวิ่งไปตามอารมณ์ ตามความคิด ก็จะยิ่งโง่ มหาโง่ บรมโง่ไปอีก ถ้าเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ให้ถือว่าวัตถุข้าวของ ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นเพียงยารักษาโรค เป็นเพียงของใช้ชั่วคราว เราเกิดมาเราก็มายืมโลกใช้แต่เพียงชั่วคราว เราลองดูตั้งแต่ชาติก่อน ไปจนถึงชาติหน้าสำหรับโลกนี้ เราเป็นเหมือนกับแขกผู้มาเยือน ไปพบปะคนนั้น คนนี้ มีวัตถุสิ่งของอันนั้น อันนี้ ได้ใช้อำนวยความสะดวก สบาย สุดท้ายก็ต้องโบกมือลาจากกันไป ไม่ว่าจะรักหวงแหนเพียงใด จะหามายากขนาดไหน มันก็ต้องจบกันทีแต่เพียงชาตินี้ อย่าพากันหลง ถ้าหลงมันจะรวยอย่างไม่ฉลาด
มทนิมฺมทโน ธรรมที่ยังความเมาให้สร่าง หมายถึงหมดความเย่อหยิ่งในชาติ วรรณะ ตระกูล ว่า ตนเองเลิศกว่าคนอื่น หรือหมดความมัวเมาเพราะยศตำแหน่ง หลงอำนาจไม่เพลิดเพลินไปตามวัย ตามความมั่งมีด้วยเครื่องอำนวยความเพลิดเพลิน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องสุขภัณฑ์อื่นๆ จนทำให้เสียการงาน เป็นต้น
ความมัวเมาในชาติ ความมัวเมาในโคตร ความมัวเมาในความไม่มีโรค ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ความมัวเมาในชีวิต ความมัวเมาในลาภ ความมัวเมาในสักการะ ความมัวเมาในการทำความเคารพ ความมัวเมาในความเป็นหัวหน้า ความมัวเมาในบริวาร ความมัวเมาในโภคสมบัติ ความมัวเมาในวรรณะแห่งสรีระและคุณความดี ความมัวเมาในการศึกษา ความมัวเมาในปฏิภาณ ความมัวเมาในความเป็นผู้รัตตัญญู ความมัวเมาในความถือบิณฑบาตเป็นวัตร ความมัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น ความมัวเมาในอิริยาบถ ความมัวเมาในอิทธิฤทธิ์ ความมัวเมาในยศ ความมัวเมาในศีล ความมัวเมาในฌาน ความมัวเมาในศิลปะ ความมัวเมาในความมีทรวดทรงสูง ความมัวเมาในความมีทรวดทรงสันทัด ความมัวเมาในความมีทรวดทรงงาม ความมัวเมาในความมีร่างกายบริบูรณ์
ความไม่ประมาทในทางกาย ความไม่ประมาททางวาจา ความไม่ประมาททางใจ เพราะที่มันประมาททางกาย ทางวาจา มาจากทางใจ ไม่เห็นความสำคัญ มองข้ามข้าศึกไป มองข้ามไปว่า เห็นข้าศึกนี้ไม่สำคัญ เพราะร่างกายก็คือ ร่างกาย ถ้าเราไปทานอย่างนี้ ไปดื่มอย่างนี้ มันก็ต้องได้รับผลองการกระทำ มันทำลายระบบประสาท เพราะทุกอย่างมันมีทั้งคุณ มีทั้งโทษ ถ้าเราประมาทอยู่ สติสัมปชัญญะเราก็ไม่สมบูรณ์ สติสัมปชัญญะก็คือ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาของเราก็บกพร่อง เราก็ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นปัจจุบันธรรม
ศาสนาพุทธเข้าถึงความดับทุกข์ เข้าถึงความประเสริฐได้ อยู่ที่ความไม่ประมาท ถึงมีภาวนา วิปัสสนาได้ในปัจจุบัน ที่เรียกว่ามี อริยมรรคมีองค์ 8 ทุกอิริยาบถ พระอรหันต์ถึงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เพราะท่านไม่ประมาท ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้มันก็ง่าย ทุกคนต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ เพราะต้องทำอย่างนี้ ไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เราจะไปโทษใครไม่ได้หรอก เราอย่าไปยินดีในสิ่งมัวเมาทั้งหลาย เราไม่ได้ทำ เราไม่ได้คิด เราไม่พูด คนอื่นทำเราก็อย่าไปยินดี ถ้ายินดีอยู่แสดงว่ามันก็ยังมีเชื้อ เหมือนเราไม่ได้ฆ่าสัตว์ แต่ก็ยังยินดีในการบริโภค อย่างญาติพี่น้อง หรือ คนที่เรารู้จัก เขาร่ำรวยมาด้วยการทำความผิด ได้ชื่อเสียงเกียรติยศ เราไปยินดีอย่างนี้ มันก็มีบาปทางจิตใจ มันไม่เป็นสมุจเฉท
เราก็ยังไม่ได้เป็นตัวธรรมะแท้ ใจของเราก็ยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่ตัดจากบาปจากกรรม ถือว่ายังมีความประมาท เพราะยินดีกับคนอื่นที่ได้ร่ำรวยจากการโกงกินคอร์รัปชั่น กามคุณก็ยังมีอำนาจ เราก็ยังเป็นผู้ที่เสื่อมทางจิตใจอยู่ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเข้าถึงพรหมจรรย์อย่างลึกซึ้ง
คนเราอยาก เห็นคนอื่นรวยก็ตาใสขึ้นมา มันไม่เกี่ยวกับตาหรอก มันเกี่ยวกับใจ เพราะใจมันยินดีในความร่ำรวย ยินดีในคนอื่นได้รับความสำเร็จ ทั้งที่ความสำเร็จไม่ได้มาจากการเสียสละที่บริสุทธิ์ ถ้าใจอย่างนี้ แสดงว่าสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่อานาปานสติที่ประกอบด้วยสติปัญญา มันยังดับทุกข์ไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ได้ มันยังเสื่อมอยู่ ใจยังเป็นโลกีย์อยู่ ยังเป็นความโลภ ยังมีความหลง ถึงจะเบาบาง แต่ยังมีความหลงอยู่ มันยังถือพรรคถือพวก ยังยินดีในพรรคในพวกอยู่ ในญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลที่เป็นสามัญชนเป็นปุถุชน ต้องเพิ่มความไม่ประมาท เพิ่มปัญญาขึ้นไปอีก เพื่อเราทุกคนจะได้ชำระสะสางตัวเอง เพราะร่างกายมันไม่รู้อะไรหรอก เราเอาอะไรเค้าทานเค้าบริโภค เค้าก็ทาน ตัวที่ประมาทก็คือใจของเราที่ไปยินดี ยินร้าย เราจะได้ตัดโลกธรรมที่มันมีอิทธิพลเหนือเรา คือความยึดมั่นถือมั่นเป็นสัญชาตญาณฝังลึก อยู่กับเรามานับหลายร้อยหลายพันหลายชาติมาแล้ว
อย่างเรื่องพระนางสามาวดีที่เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสพุทธภาษิตสอนใจว่า “ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ผู้ไม่ประมาทจะไม่มีวันตาย ผู้ประมาทแล้ว ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว”
พระนางสามา เป็นบุตรของเศรษฐี หนีตายเพราะโรคห่าลงเมือง มาเมืองโกสัมพีพร้อมกับพ่อแม่ พ่อแม่ส่งลูกสาวไปขอทานบ้านเศรษฐี วันแรกนางขออาหารสำหรับคนสามคน วันที่สองขอสำหรับคนสองคน เพราะพ่อตรอมใจตายไป วันที่สามขอสำหรับตัวคนเดียว เพราะแม่มาตายไปอีกคน ผู้จัดการโรงทานของเศรษฐีดุด่าหาว่าเป็นเด็กตะกละ วันแรกๆ คงคิดว่าท้องตัวจะบรรจุอาหารได้มากซีนะ จึงขอไปมากๆ วันนี้รู้ประมาณท้องของตัวเองแล้วใช่ไหม อะไรทำนองนั้น นางจึงเล่าความจริงให้ฟัง ผู้จัดการโรงทานรับนางเป็นบุตรสาวบุญธรรม
ต่อมานางบอกพ่อให้ทำรั้วให้คนขอทานเรียงคิวเข้ารับทานทีละคน เสียงอื้ออึงจึงหายไป เพราะเหตุนี้นางจึงได้นามใหม่จากพ่อบุญธรรมว่า สามาวดี (สามาผู้เป็นต้นคิดทำรั้ว) เศรษฐีรู้เรื่องของนาง ขอนางไปเป็นบุตรสาวบุญธรรม พ่อบุญธรรมเดิมเห็นว่านางจะได้เจริญก้าวหน้า จึงมอบให้ไป
ต่อมา นางได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของ พระเจ้าอุเทน พระนางสามาวดีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าบรรลุโสดาปัตติผลมาก่อนแล้วตั้งแต่อยู่เมืองเดิม เมื่อได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองโกสัมพี ก็อยากฟังธรรม แต่หาโอกาสไม่ได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงส่งสาวใช้ร่างค่อมไปฟังธรรม แล้วให้มาเล่าให้ฟัง จึงเกิดมีการ “เทศน์” ขึ้นในตำหนักของนาง โดยนางขุชชุตตรา (อุตตราร่างค่อม) เป็นผู้แสดงสาวใช้ในวังต่างก็สนใจฟังธรรม และอยากเห็นพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ นางจึงสั่งให้เจาะฝาห้องของตนส่องดูเวลาพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตพร้อมพระสงฆ์
บังเอิญในราชสำนักนั้นมี นางคันทิยา คู่แค้นเก่าของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย นางผูกใจเจ็บที่พระองค์แสดงธรรมให้พ่อแม่ของตนฟัง กล่าวตำหนินางว่าเป็นเพียง “กระสอบอุจจาระ”
เรื่องของเรื่องก็คือ พ่อจะยกลูกสาวให้พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอนพราหมณ์ผู้พ่อว่า สมัยพระองค์เป็นเจ้าชายอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ นางสนมกำนัลงามกว่าลูกสาวพราหมณ์ พระองค์ยังไม่ยินดี เรื่องอะไรจะมายินดีกับความงามของลูกสาวพราหมณ์ ซึ่งก็คือ “กระสอบอุจจาระ” ดีๆ นี่เอง
นี่แหละ คือที่มาของความแค้นของนางมาคันทิยา
นางมาคันทิยา รู้เรื่องพระนางสามาวดีกับบริวาร จึงหาทางกลั่นแกล้งใส่ไฟหาว่าพระนางสามาวดีตีตัวเอาใจออกห่างจากพระเจ้าอุเทน พระราชาทรงเชื่อจึงจะประหารชีวิต พระองค์ลงมือแผลงศรเพื่อปลิดชีพพระมเหสีเอง แต่ไม่สามารถปล่อยลูกศรได้ จึงวางธนูเข้าไปขอโทษพระนาง และทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมบริวารนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่วังได้แต่นั้นมา มาคันทิยาแทบคลุ้มคลั่งที่แผนการของตนไม่สำเร็จ จึงสั่งให้ลอบวางเพลิงเผาพระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริวารหมดสิ้น หลังจากพระนางสามาวดีสิ้นชีพ พระสงฆ์ได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า ทำไม อุบาสิกาผู้มั่นในพระรัตนตรัยอย่างพระนางสามาวดีจึงต้องตายอย่างอนาถเช่นนี้
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สามาวดีมิได้ประมาทในธรรม ถึงตายก็เสมือนไม่ตาย ดังกล่าวข้างต้น
สหายสนิทของพระนางสามาวดี นามว่า สามา เช่นกัน ได้เห็นเหตุโศกนาฏกรรมนั้นถนัดตา เกิดความสลดสังเวชใจ ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณีบำเพ็ญสมาธิภาวนา แต่ทำอย่างไรก็ลืมภาพอันสยดสยองนั้นไม่ลง ไม่ว่าเธอจะนั่งสมาธิเมื่อใด ภาพของสหายรักก็ผุดขึ้นให้เห็นเมื่อนั้น จนไม่ประสบความก้าวหน้าในสมาธิภาวนา
วันหนึ่ง นางได้กราบเรียนให้พระอานนท์ทราบ พระเถระได้แสดงธรรมอันเป็นวิธีแก้ไขให้นางฟัง นางได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเถระ จึงก้าวหน้าในการทำสมาธิภาวนาไปเรื่อยๆ จนในที่สุดบรรลุพระอรหัต ทำที่สิ้นสุดทุกข์โดยสิ้นเชิง
ขณะที่ให้คำแนะนำแก่สามาภิกษุณีนั้น พระอานนท์ท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ เนื่องจากพระเถระเป็นพหูสูต ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามามากกว่าใคร จึงรู้เทคนิควิธีหลากหลายที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบความขัดข้องในการปฏิบัติ
อย่างครั้งหนึ่งพระวังคีสะ ซึ่งเป็นจินตกวี หลังจากบวชใหม่ๆ เดินตามท่านพระอานนท์ไปบิณฑบาต เกิดเรื่อง คือราคะ ความกำหนัดยินดีขึ้นปัจจุบันทันด่วนถึงกับเดินต่อไปไม่ได้ จึงร้องบอกพระอานนท์ว่า ช่วยผมด้วย พระอานนท์จึงหยุดเดินบอกให้พระวังคีสะกำหนด “อสุภนิมิต” (คือนึกภาพว่ามันไม่สวยงาม กระสอบขี้ทั้งนั้น อะไรทำนองนั้น) พระหนุ่มทำตาม ราคะกำหนัดจึงสงบ เดินตามท่านต่อไปได้ ที่ยกมาพูดนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พระอานนท์ท่านมีเทคนิควิธีสอนที่ได้ผล เพราะท่านจดจำมาจากพระพุทธองค์มาก
เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว พระสามาเถรีได้กล่าวโศลกธรรม ความว่า “ตามปกติแล้วเราไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ นั่งสมาธิแล้วต้องลุกออกไปจากวิหาร ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง จำเดิมแต่เราได้ฟังโอวาทจากพระอานนทเถระ เราจึงบังคับจิตเราได้ ถอนตัณหาได้หมดแล้ว เราได้รับทุกข์ใจมหาศาล (เพราะเพื่อนตายอย่างน่าสงสาร) บัดนี้เรายินดีในความไม่ประมาท บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว นับว่าเราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว”
พระพุทธภาษิต
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ อปปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตตา ยถา มตา
เอตํ วิเสสโต ญตฺวา อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา อปฺปมาเท ปโมทนฺติ อริยานํ โคจเร รตา
เต ฌายิโน สาตติกา นิจฺจํ ทฟฺหปรกฺกมา ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ ฯ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย ส่วนผู้ประมาทเหมือนผู้ตายแล้ว บัณฑิตรู้ความสองประการนี้โดยความแตกต่างกัน คือ รู้ความแตกต่างกันทั้งสองประการนี้ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บันเทิงในความไม่ประมาท พอใจในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้มีฌาน มีความเพียรมั่นคงติดต่อไม่ขาดสาย ย่อมถูกต้องนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ฯ
อธิบายความ ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระศาสดาตรัสว่า "ไม่มีธรรมอะไรอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง อันจะเป็นไปเพื่อโทษใหญ่เท่ากับความประมาท และทำนองเดียวกัน ไม่มีธรรมใดแม้สักอย่างเดียว ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ใหญ่เท่ากับความไม่ประมาท"
ความประมาทนั้น โดยใจความได้แก่ ความนอนใจ ว่าไม่เป็นไร, การขาดความระวัง ความประมาท คือการอยู่โดยปราศจากสติ (สติวิปฺปวาโส) บางแห่งท่านเปรียบสติว่า เหมือนแขกยาม (ชาคริโก พฺราหฺมโณ) ต้องคอยระวังคนเข้าคนออกอยู่เสมอ
สติก็หมือนกัน ต้องคอยระวังอารมณ์เข้าอารมณ์ออกทางตา หู จมูก เป็นต้น สติจึงเป็นตัวความไม่ประมาท นี่อธิบายตามแนวของพระอรรถกถาจารย์
แต่สติตามที่ปรากฎในส่วนที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น เท่าที่ได้เคยพบมามี ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงความระวัง เช่นที่ตรัสตอบปัญหาของอชิตมาณพ ศิษย์พราหมณ์พาวรีซึ่งทูลถามว่า "อะไรเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำหลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้นละได้ด้วยธรรมอะไร?"
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกั้นความอยาก ความอยากนั้นละได้ด้วยปัญญา"
ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็เหมือนกัน สติมีความหมายในทางระวังอารมณ์
นัยที่ ๒ สติหมายถึงการระลึกถึงกิจที่เคยทำ และคำที่เคยพูดไว้แล้วแม้นานได้ เช่นที่ตรัสในนาถกรณธรรมสูตรเป็นต้น ระลึกได้ว่าเคยพูดไว้อย่างไร เคยทำไว้อย่างไร
ความไม่ประมาท อาจคลุมถึงสติทั้งสองลักษณะนี้
แม้เน้นหนักไปในความระวัง เช่นที่ทรงแสดงเรื่อง ควรทำความไม่ประมาทใน ๔ สถาน คือ ๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันน่ากำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์นน่าขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันน่าหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันน่ามัวเมา
พระพุทธองค์ทรงตำหนิความประมาทไว้มาก และทรงสรรเสริญความไม่ประมาทไว้มากเช่นกัน เช่นว่า เป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมทั้งมวลเป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ฯลฯ
ในที่นี้ทรงสรรเสริญว่า ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย กล่าวคือเป็นทางแห่งพระนิพพาน
ส่วนความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คือ เป็นทางเสื่อม เป็นทางอบาย เป็นทางทำลายคุณงามความดีทั้งปวง
ความไม่ประมาท ทรงเรียกว่าเป็น อมตบท คือเป็นทางให้ถึงพระนิพพาน คนยังประมาทอยู่ตราบใด ย่อมยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏตราบนั้น
เพราะฉะนั้น ความประมาทจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย บัณฑิตรู้ความแตกต่างแห่งธรรมสองอย่างนี้ แล้วย่อมพอใจแต่ในความไม่ประมาทเห็นแจ้งว่าความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ความต้องเสียใจภายหลัง ความย่อยยับทั้งทางโลกและทางธรรม ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ เพราะเหตุนี้ในปรินิพพานสมัย พระศาสดาจึงทรงเตือนให้ภิกษทั้งหลาย อยู่ด้วยความไม่ประมาท ถือกันว่าเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งพระองค์"
เราต้องมีความสุขในการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พ่อแม่นี่สำคัญ เพราะทุกคนมันไปจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่ดี เหมือนกับเราได้เข้าโรงเรียนดี ได้ความรู้ดี ได้ความประพฤติดี เราทุกคนเกิดมาก็ต้องมา มารู้จักอบายมุข เราจะได้ปิดประตูอบายภูมิ เพราะปัญหาของโลกของประเทศ มีปัญหาเรื่องไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ ในการทำงาน ความขยันความรับผิดชอบ ไม่มีความสุขในการอดทน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาได้ ที่พ่อแม่พาเราทำผิดพลาด พ่อแม่ก็คงได้มาจากปู่ย่าตายายผิดพลาด ต้องเพิ่มการประพฤติการปฏิบัติ เพิ่มอานาปานสติเข้าไป มันคงจะได้ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะมันเป็นระบบอัตโนมัติ อันไหนไม่ดี เราไม่คิด ไม่พูดไม่ทำ มันจะเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ มันจะได้เข้าถึงพระศาสนา เราอย่าเอาอัตตาธิปไตย อย่าไปเอาประชาธิปไตยแบบไม่ถูกต้อง
พื้นฐานของอวิชชาของความหลง เค้าเรียกว่าพื้นฐานของความไม่รู้หรือว่าพื้นฐานของคนทำไม่ถูกต้อง เราต้องแหวกว่ายออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะว่ามันติด รู้แล้วก็ตั้งใจสมาทานแล้วก็ประพฤติปฏิบัติ มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้ติดต่อสม่ำเสมอ เราอย่าเพียงแค่ฟังพระพุทธเจ้าบอกสอนเฉยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเก่งก็จะฉลาดก็จะไปเอง ถ้าเราขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไปไม่ได้
คนไม่ทำงานนั้นไม่มี คนเราต้องมีความสุขกับการทำงาน คนเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า? ถ้าไม่ทำงาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่เราทำงานกันทุกคน ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนเราจะมีความสุขได้เพราะทำงาน เราจะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนั้นเป็นเครื่องหมายของความเห็นแก่ตัว เป็นเครื่องหมายของความทุกข์
พระพุทธเจ้า ถึงเป็นผู้ที่ทรงเกียจคร้านไม่เป็น พระอรหันต์ ถึงเป็นผู้ที่เกียจคร้านไม่เป็น จึงต้องมีความสุขในการทำงาน เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ความจนจะมาจากไหน การคิดก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง คิดดีๆวางแผนดีๆ เราคิดดีคิดถูกต้องมันไม่เป็นกิเลสนะ มันไม่ได้เป็นความปรุงแต่งนะ เพราะว่าเราไม่มีความหลง ไม่มีอวิชชา คนเราต้องคิดเก่ง วางแผนเก่ง ไปตามหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ ตามกฎแห่งกรรม กฎของธรรมชาติ ความคิดความปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา มันไม่ได้ไปสร้างปัญหา ให้กับตนเองและผู้อื่น แต่เป็นการช่วยตนและผู้อื่น เป็นสัมมาทิฏฐิ
ต้องแยกใจออกจากขันธ์ ๕ แล้วก็ต้องรู้จักอริยสัจ ๔รู้จักยังไม่พอนะ ยังต้องฝึกต้องปฏิบัติ เพราะอวิชชามันทำลายระบบสมองสติปัญญาของเราเยอะ มันทำให้สมองเราเสียหมด ถ้าเรามีความสุขมีความพอใจอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ฝืน ก็ไม่ได้ทน ถ้าเราทำไปด้วยบังคับ มันก็หน้านิ่วคิ้วขมวด
เพราะความอดทนเป็นสิ่งที่ดีมาก ความขยันเป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติ มันปฏิบัติอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ว่าไปเดินจงกรมนั่งสมาธิหรอก อริยมรรคต้องมีกับเราตลอด เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ส่วนหนึ่ง สำหรับพระไม่มีงานก่อสร้าง ไม่มีงานทำไร่ไถ่นา ต้องเดินจงกรมถึงแข็งแรง เสนาสนะที่เค้าสร้างให้เราก็ปัดกวาดเช็ดถู มันต้องมีข้อวัตรข้อปฏิบัติอย่างนี้เพื่อฝึก ฝึกให้มีความสุข ละความเห็นแก่ตัว มันจะได้เคยชิน เพราะว่าเราทุกคนใจอ่อน ให้มาทางภาคปฏิบัติอย่างนี้
เราใช้ชีวิตประจำวัน เราก็ต้องกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิเช้าเย็น ประชาชนก็กราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ แต่การปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติทุกที่มันต้องมีอยู่ตลอด วัตถุสมัยใหม่ก็ต้องรู้จักสำหรับประชาชน พวกโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต social media พวกนี้เราต้องใช้ให้เกิดปัญญา เราอย่าเป็นคนไม่มีปัญญา อย่าไปหลงในรูป ในเสียงอะไรต่างๆ สำหรับพระละก็ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ต ความวิเวกก็ไม่มี เราต้องฝึกใจนะ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เราจะเป็นคนขาลง กายของเรามันก็จะไม่วิเวก ใจเราไปอยู่กับสิ่งภายนอก ไม่ได้ฝึกอานาปานสติ ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้
คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เพราะเราหยุดวัฏสงสาร เราหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือ สมัยนี้มันอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก ทางจิตใจ นี้เราบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิ ทุกท่านทุกคนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็งมันเป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษให้ภัยในวัฏสงสาร
เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนา ความสุข ถ้าหลงในความสุขมันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่ เราต้องมีสัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เราจะได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราจะรู้ว่าปฏิบัติยังไง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งของเรานี้ คือการปฏิบัติ เราอย่าไปอาลัย อาวรณ์ ให้คิดว่าชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อเติมเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนว่าเดี๋ยวก่อนๆ
มันไม่ได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลิน เราทุกคนนะ ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่การเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหาให้ ผู้ที่เป็นคนรวย หรือว่าเป็นเทวดา ผู้ทรงฤทธิ์ทรงอภินิหาร มันก็ต้องหมดบุญ เพราะว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ความสุขของมนุษย์มันถึงอยู่อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้บอก เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุขกัน เราจะไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราเอาอิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ปฏิบัติสม่ำเสมอ
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ การเรียนการศึกษาที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาเสียสละ การดำรงชีพ การทำมาหากิน มันต้องพัฒนาใจพร้อมๆ กันไป มันจะไปเอาเเต่ทางโลก ทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตมันต้องประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ใจของเราต้อง มีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติการปฏิบัติ เป็นศีลสมาธิ ปัญญาในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะไม่มีความสงสัยเลยว่า ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันจะเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะมันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะทุกอย่างมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เกิดมา เราจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม เราก็พากันปฏิบัติอย่างนี้เเหละ เพราะเราทุกคนเกิดมาเพื่อมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ผู้เป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่ พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามี โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee