แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรู้ว่าเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ เราก็ปฏิบัติไม่ถูก ทุกคนนั้นยังไม่รู้ ถ้ารู้มันย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิด ให้เรารู้ธรรมะรู้สภาวะธรรม เพราะว่าตัวเรานี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสภาวะธรรมที่เกิดจากพลังงานแห่งอวิชชาได้พากันเวียนว่ายตายเกิด ที่เราจะรู้จักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่บำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติหลายล้านปี ให้ทุกท่านทุกคนขอบใจพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้บำเพ็ญพุทธบารมีเสียสละค้นคว้าปฏิบัติจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ร่างกายของมนุษย์เรานี้ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็ต้องสิ้นอายุขัย เราต้องขอบใจสภาวะธรรมคือดิน น้ำ ลมไฟ อากาศ ที่ให้เราได้อยู่ได้อาศัย ให้เราได้เอาร่างกายนี้มาประพฤติมาปฏิบัติธรรม ต้องขอบใจรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอุปกรณ์ให้เราได้สัมผัสรับรู้ เพื่อให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรม คนเราถ้าไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ ไม่มีความตาย ไม่มีการพลัดพราก เราก็ไม่มีโจทย์เราก็ไม่มีข้อสอบ เราก็ไม่ได้แก้ไขพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ปัญหาต่างๆ มาให้เราภาวนาให้เราได้พิจารณา ให้เกิดปัญญา นี่เป็นโจทย์ แล้วก็เป็นข้อสอบแล้วก็เป็น fighting ของเราทุกๆ คน ต้องขอบใจอวิชชา ต้องขอบใจความหลง ที่เป็นโจทย์เป็นข้อสอบเป็นไฟท์ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่ดีการปฏิบัติเลย พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราทั้งหลายมารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะด้รับ เมื่อรู้แล้วเอาไปประพฤติปฏิบัติเรียกว่าศีลสมาธิปัญญา
ความหิว กับ สังขาร เป็นบรมทุกข์อย่างยิ่ง ธรรม ๒ อย่าง ที่ว่านั้นมิใช่เป็นธรรมธรรมดา แต่เป็นธรรมยิ่งใหญ่ คือ หิวก็ยิ่ง สังขารก็ยิ่ง ยิ่งถึงที่สุดทั้งสอง
อุบาสกคนหนึ่ง “บุรุษนิรนาม” คนนี้เป็นคนจน มีโคหลายตัว (มีโคหลายตัว ไม่น่าจะเป็นคนจนเพราะถ้าจนจริงๆ ต้องไม่มีโคแม้แต่ตัวเดียว) ได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองอาฬวี และชาวเมืองอาฬวีอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารและแสดงธรรมด้วย บุรุษนิรนาม อยากไปฟังธรรม แต่ติด้วยโคของตนหายไปตัวหนึ่ง จำเป็นต้องตามหาหาโคให้เจอเสียก่อน เพราะสมบัติของเขาก็มีเพียงแค่นี้เอง เขาจึงติดตามหาโคที่หายไปหลายแห่ง ในที่สุดก็พบและรีบต้อนเข้าคอกแต่ยังหัววัน
เขาคิดว่าป่านนี้พระพุทธองค์คงทรงแสดงธรรมไปจนเกือบจบแล้ว ไปก็คงไม่ได้ฟัง แต่อย่างไรก็ดีขอได้ทันกราบนมัสการพระองค์ก็ยังดี คิดแล้วเขาจึงรีบเดินทางไปยังบริเวณที่เขาจัดถวายทานและฟังธรรม หิวก็หิว เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้กินอะไรเลย ไปถึงเขาก็ประหลาดใจมาก
พระพุทธองค์หลังเสวยเสร็จแล้ว ขึ้นประทับบนธรรมาสน์ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก ขอฟังอนุโมทนาและธรรมเทศนาอยู่ พระพุทธองค์กลับประทับนิ่งเฉย ไม่ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ก็ไม่มีใครกล้าขยับ ได้แต่นั่งสงบอยู่โดยทั่วหน้ากัน
บุรุษนิรนามเห็นพระพุทธองค์ทรงเหลียวมามองทางเขา ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์คิดว่าพระพุทธองค์ยังคงคอยเราอยู่ จึงคลานเข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท (ท้ายบริษัท หมายถึงนั่งหลังใครๆ หมดนะครับ ไม่ใช้ท้ายบริษัทไทยเมล่อน อะไรอย่างนั้น)
แทนที่พระองค์จะรีบแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ตรัสถามทายกผู้จัดอาหารถวายพระว่า “มีอาหารเหลือจากที่พระฉันหรือเปล่า”
“มี พระเจ้าข้า” เขากราบทูล “ไปเอาอาหารมาให้บุรุษผู้นี้รับประทานก่อน”
ทายกได้จัดแจงอาหารมาให้เขารับประทานจนอิ่ม หลังรับประทานอาหารเขารู้สึกอิ่มสบาย ไม่กระวนกระวายเพราะความหิว จิตใจก็สงบพร้อมจะฟังธรรม
พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ไหนในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงจัดการให้หาอาหารมาให้ใครรับประทาน มีที่นี้แห่งเดียว รับประกันได้ว่าอย่างนั้น
พระพุทธองค์ตรัสอนุปุพพิกถา (ถ้อยแถลงเรื่องตามลำดับจากง่ายไปหายาก) คือ ๑. ทาน การให้ หรือแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้แก่ยาจกวณิพก หรือให้เพื่อบูชาคุณความดี เช่น ให้แก่ผู้มีพระคุณและสมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล
ทานนี้ทำค่อนข้างง่าย ถ้ารู้จักทำหรือทำเป็น เมื่อมีทรัพย์มีศรัทธาก็ทำทานได้ แต่ถ้าทำไม่เป็น ทานก็ไม่เป็นทาน เช่น ให้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ให้เพื่อหวังผลตอบแทน ให้ด้วยทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตหรือให้แก่ผู้รับที่ไม่มีศีล หรือไม่สมควรให้
๒. ศีล การรักษา กาย วาจา ให้อยู่ในกรอบ ทำยากกว่าทาน เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมใจ
ศีลนี้เน้นกายสุจริต (กระทำดีทางกายสาม คือ ไม่ฆ่าและเบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่ผิดกาม) และวจีสุจริต (กระทำดีทางวาจาสี่ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ)
เน้นการกระทำดีทางกายและวาจาก็จริงอยู่ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จิตใจต้องแน่วแน่มั่นคง มีความอดทนสูง จึงเท่ากับเน้นการควบคุมใจด้วย รักษาศีลจึงยากกว่าทำทาน
๓. สวรรค์ การไปเกิดในสวรรค์เป็นรางวัล หรือผลตอบแทนของการทำทานและรักษาศีล ถ้าทานไม่บริสุทธิ์ ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ และเมื่อเกิดในสรวงสวรรค์แล้ว ท่านว่าโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีก็มีน้อย เพราะชีวิตได้แต่เพลิดเพลินในกามคุณ เทียบกับชีวิตคนธรรมดาก็ได้ คนเราถ้ามีความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมากๆ มักจะลืมตัว หลงติดอยู่ในความสุขสบายนั้น ไม่ค่อยนึกถึงการทำบุญทำกุศลนัก ทำบุญตักบาตรหรือเข้าวัดฟังธรรมนับวันได้เลย
อีกอย่างหนึ่ง เทวดานั้นมีความยับยั้งชั่งใจน้อย เผลอๆ อาจจุติปัจจุบันทันด่วนดุจข้าราชการถูกปลดกลางอากาศได้ การเกิดในสวรรค์จึงเป็นเรื่องยาก
๔. โทษของกาม นี่ยิ่งยากใหญ่ เพราะคนที่ตกอยู่ในความสนุกเพลิดเพลินทางกามคุณ ย่อมจะหูหนวกตาบอด มองไม่เห็นโทษของกาม ดุจหนอนอยู่ในหลุมคูถ ดำผุดดำว่ายอยู่ในบ่ออาจม ย่อมไม่รู้สึกว่าคูถมันเหม็นและสกปรก ตรงข้ามกลับเห็นว่ามันหอม กินเข้าไปแล้วรสหวานอร่อย ฉันใดก็ฉันนั้นแล
๕. ออกจากกาม เมื่อไม่รู้ไม่เห็นว่ากามมีโทษแล้ว การออกจากกามยิ่งทำได้ยาก ดุจดังหนอนในหลุมคูถข้างต้น
ถ้าหนอนมันพูดได้และรู้ภาษา มีใครสักคนไปบอกมันว่าอาจมนั้นเหม็นและสกปรกเหลือเกิน เจ้าจงออกจากหลุมอาจมเถิด หนอนมันก็จะตอบว่า ไม่เห็นเหม็นเลย หอมหวานและสะอาดออกจะตายไป ที่ท่านพูดอย่างนี้ท่านอยากกินเองใช่ไหม จึงมาพูดจาหลอกข้า ข้าไม่หลงกลท่านดอก อะไรไปโน่น
ดีไม่ดีผู้ชักชวนอาจเสียผู้เสียคนเพราะความปรารถนาดีก็ได้
พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง ศีล สวรรค์ โทษของกาม และการออกจากกาม เป็นการ “ปูพื้น” จากนั้นก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล
หลังจากโปรดบุรุษนิรนามเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี แสดงว่าที่เสด็จมาไกลปานฉะนี้ก็เพื่อโปรดเขาคนเดียวจริงๆ
ขณะเสด็จกลับ พระสาวกตามเสด็จที่เป็นปุถุชนอยู่ พูดซุบซิบในทำนองไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งไกลเพียงเพื่อโปรดชาวนายากจนคนเดียว พระองค์เอาพระทัยใส่เขามาก ถึงขนาดทรงให้เขาหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินเองเลยทีเดียว แน่ะ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ชอบนินทา นินทากระทั่งสมเด็จพระบรมครู
พระพุทธเจ้าทรงได้ยิน จึงหยุดเสด็จดำเนิน ทรงหันมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร”
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะ “ปละ เปล่า พระเจ้าข้า” อะไรทำนองนั้น แต่พระเหล่านั้นก็กล้าพอที่จะพูดความจริง พระพุทธองค์จึงตรัส บุรุษคนนั้นเขาต้องการฟังธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเขามีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรม จึงเสด็จมาจากที่ไกลเพื่อสอนเขา แต่ว่าเขาหิวข้าว คนเราเมื่อยังหิวอยู่ ถึงธรรมะจะดีอย่างไร เขาก็ไม่ยินดีฟังหรือถึงฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงให้เขาหาข้าวให้เขากินก่อน แล้วพระองค์จึงตรัสว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา เอตํ ญตฺวา ยถาภูตํ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ. ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงนี้แล้ว พึงปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
บาทพระคาถาว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความว่า เพราะโรคอย่างอื่นรักษาคราวเดียวก็หาย หรือว่าอันบุคคลย่อมบำบัดได้ ด้วยความสามารถแห่งองค์นั้นๆ (คือเป็นครั้งคราว), ส่วนความหิวต้องรักษากันสิ้นกาลเป็นนิตย์ทีเดียว เหตุนั้น ความหิวนี้จึงจัดเป็นเยี่ยมกว่าโรคที่เหลือ.
ความหิว คือสภาพที่บีบคั้นให้ต้องหาสิ่งมาตอบสนองปรนเปรอ ความหิวทางกาย เช่น หิวน้ำ หิวข้าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาน้ำหาอาหารมาบรรเทาความหิว ให้ความหิวหายไป โรคทั้งหลายบรรดามีในโลกมนุษย์นี้ บางทีก็มีมาเบียดเบียนเรา บางทีก็ไม่มี หรือนานๆ มีโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นมาเบียดเบียนเราทีหนึ่ง แต่ความหิวนี้เบียดเบียนเราอยู่ทุกวี่ทุกวัน หิวตอนเช้า หาอาหารกินก็หายไป พอเที่ยงมาก็หิวอีก หาอาหารกินก็หายไป ตกเย็นมาก็หิวอีก เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน เรียกได้ว่า ความหิวนั้นเบียดเบียนเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันไหนเลยที่ความหิวไม่เบียดเบียนเรา ดังนั้น ความหิวจึงจัดว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด ร้ายแรงกว่าโรคทั้งหลายทั้งปวงบรรดามีเลยทีเดียว ถ้าต้องการกำจัดความหิวอย่างถาวร มีอยู่ทางเดียวคือ ไม่ต้องเกิดอีก และวิธีที่จะไม่ต้องเกิดอีก ก็มีอยู่ทางเดียว คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนสามารถเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ จึงจะสามารถทำลายภพชาติ ไม่ต้องเกิดอีก
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี อธิบายว่า ความหิว กับ ความอยาก มันผิดกัน ขอให้สังเกตดู ทุกๆ คนคงได้ประสบความหิวมาแล้ว อาการของความหิวมันให้โหยละเหี่ยใจ ใครถูกเข้าแล้วจึงจะรู้ได้ ส่วนการอยาก มันอยากนั่นอยากนี่ เช่น อยากรับประทานข้าว (กิน) ขนม กาแฟ เหล้า เป็นต้น พูดกันง่ายๆ ว่าธาตุร่างกายมันบกพร่องอะไร มันก็ต้องการอันนั้น เมื่อมันบกพร่องมากเข้า เห็นอะไรก็ อยากทั้งนั้น ไม่ทราบว่าของนั้นจะอร่อยหรือไม่ ส่วนความ หิวก็เป็นเรื่องของร่างกายบกพร่อง สิ่งที่ต้องการเหมือนกัน แต่มันขาดเครื่องรับ ผู้รับไม่สมบูรณ์จนไม่ยอมรับ เหตุนั้นจึงไม่อยาก
ข้อที่ ๑ ว่า ความหิวเป็นปรมโรคนั้น เพราะจะบำบัดให้ หายหิวด้วยอาหารหรือยาอะไรในระยะอันสั้นไม่ได้ ต้องบำรุงสิ่งที่มันขาด เช่น ขาดธาตุเหล็ก วิตามิน เป็นต้น ก็ต้อง บำรุงส่วนนั้นตั้งนานๆ วัน จึงจะสมบูรณ์ขึ้นมา บางทีบำรุงเท่าไรๆก็ไม่สมบูรณ์คืนมาก็มี ไม่เหมือนความอยาก ซึ่งอยาก ขึ้นมาเมื่อรับประทานลงไปก็หายอยาก
ความเป็นโรคเฉพาะร่างกายก็รักษายากอยู่แล้ว ทีนี้ ความหิวของใจยิ่งเป็นโรคอย่างร้ายแรงมากกว่าความหิวส่วนร่างกาย โรคที่ว่านี้หมอทั้งหลายพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้แล้วยาก็ไม่ต้องพูดถึง
ใจหิวได้อย่างไร เพราะใจเป็นนามธรรมไม่มีรูปมีร่าง ใจเป็นนามธรรมก็หิวนามธรรมพวกเดียวกัน คือ หิวลมๆ แล้งๆ หิวไม่มีที่อิ่มที่พอ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ แล้ว จิตที่วุ่นวายส่ายหาอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้นั้นแล เรียกว่าความหิวของจิต จะเป็นรูปที่ปรากฏในตา หรือเสียงที่ปรากฏในหู เป็นต้น ใจไปรับมาเสวยแล้วไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ มีมากเท่าไรก็ยังส่ายหาอยู่ เรียกว่ายังพร่องอยู่เป็นนิตย์ อาหารหรือ ยาเอามาบำบัดความหิวของร่างกายเพราะมันพร่องก็ยังหายได้บางกรณี ส่วนความหิวของจิตนี้เป็นของสุดวิสัยที่ใครๆ จะบำบัดให้หายได้ จึงเรียกว่าเป็นปรมโรค
ข้อที่ ๒ ว่า สังขารเป็นปรมทุกข์อย่างยิ่ง อธิบายว่าสังขารมี ๒ อย่าง คือสังขาร ได้แก่ รูปกายของแต่ละคนๆ นี้ ๑ สังขาร คือ เจตสิกอาการของจิต ที่คิดนึกปรุงแต่งโน่นนี่ต่างๆ ๑ ทั้งสองนี้เป็นทุกข์ได้เท่าๆ กัน ต่างแต่ทุกข์รูปกายเป็นของ หยาบและเยียวยาด้วยวัตถุบางอย่างก็หายได้ บางอย่างก็ไม่รู้จักหาย เช่น ทุกข์ในการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงร่างกาย และทุกข์ในอิริยาบถทั้งสี่ เป็นต้น การแตกดับตาย ของร่างกายเป็นความสิ้นสุดทุกข์ของสังขารรูป
ความไม่สงบของจิต มีอาการให้คิดนึก ปรุงแต่ง กระสับกระส่ายเดือดร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลุ้มอกกลุ้มใจใน เมื่อได้ประสบอารมณ์อันไม่เป็นที่พึงพอใจปรารถนา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยออดๆ แอดๆ เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่รู้จักหาย เงินค่ายาก็ไม่มี ตัวเราคนหนึ่งแล้วยังไม่พอ แถมบุตร ภรรยา สามี ญาติมิตร มารดา บิดาอีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจถูกกระทบกระทั่งด้วยถ้อยคำเหยียดหยามดูถูกอันเป็นที่ไม่พึงพอใจ หรือได้พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนา อันใดก็ไม่สมหวัง ตั้งจิตคิดปรุงแต่งไว้มันพลาดไปเสียทุกสิ่ง ทุกอย่าง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ของสังขารจิต ซึ่งไม่มีใครจะรู้เห็นด้วยว่าทุกข์เหล่านี้ตั้งอยู่ตรงไหนมากน้อยเท่าไร จะรักษาเยียวยาด้วยประการใด ซึ่งเป็นของสุดวิสัยของแพทย์ ทั้งหลาย ความหิวและความทุกข์ทางร่างกายย่อมมีขึ้นได้ใน เมื่อรูปกายอันนี้ตั้งขึ้นแล้ว สิ้นความหิวและทุกข์เพียง แค่มันแตกดับลงเท่านั้น ส่วนความทุกข์ของจิตใจนี้หาประมาณมิได้
เมื่อร่างกายยังมีอยู่ ความหิวและความทุกข์ของตนเองก็แย่อยู่แล้ว ยังแถมทุกข์ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องด้วยรูปกายอื่นอีกโสดหนึ่งด้วย จึงเรียกว่ามีทุกข์ ๒ ชั้น เมื่อร่างกายแตกดับไปแล้วยังเหลือความหิวและทุกข์อยู่เฉพาะจิตคนเดียว ความหิวและทุกข์ของจิตนี้ จะระงับบรรเทาลงได้ด้วย ยา คือ ธรรมโอสถ ของนายแพทย์ผู้วิเศษคือพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยการนำเอาคำสอนของพระองค์ท่านเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่า สังขารจิตคือความนึกคิดปรุงแต่งเป็นตัวมารร้าย เป็นภัยอันตรายแก่ความสงบของจิต ทั้งเป็นพิษ อย่างร้ายแรงแก่จิตใจตลอดภพชาติด้วย แล้วพึงหันเข้ามาหยิบยกเอาอุบายฝึกหัดสมถะที่พระพุทธองค์แนะไว้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาอบรมใจให้อยู่ในความสงบ
ในที่นี้จะยกเอาอุบายพิจารณารูปกายให้เห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ มาเป็นตัวอย่าง คือ รูปกายของคนเราที่ปรากฏ เป็นตนเป็นตัวอยู่นี้ มีของ ๔ อย่างประชุมกันเข้าแล้วจึงปรากฏเป็นตัวตน ธาตุ ๔ นั้นได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
สิ่งที่มันเข้มข้นแข็งซึ่งมีอยู่ในตัวของเราทั้งหมดนี้ เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น เรียกว่า ธาตุดิน สิ่งที่เหลวๆ เรียกว่า ธาตุน้ำ อาการอบอุ่นซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานั้นเรียกว่า ธาตุไฟ อาการที่พัดไปมาพัดขึ้นพัดลงและระบายออกระบายเข้าอยู่ตลอดเวลาทางช่องจมูกนั้น เรียกว่า ธาตุลม ธาตุทั้ง ๔ นี้ย่อมหนุนดันกันไปมาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ยังอัตภาพอันนี้ให้เป็นไป ถ้าธาตุทั้ง ๔ นี้ขาดสัมพันธ์กันสลายตัวออก จากกันแล้ว รูปกายอันนี้ก็แตกดับ ที่เรียกว่าตาย รูปกายซึ่ง มิใช่ของใคร เป็นอนัตตาของเขาปรุงแต่งกันขึ้นมาตามสภาพ บุญกรรมของเขา แล้วเราเข้ามาอยู่อาศัยเขาแท้ๆ ที่เรายึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของของเรานั้น เป็นเพราะความหลง ไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงต่างหาก
จิตก็เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า สังขาร คือความคิดนึกปรุง แต่งในอารมณ์ต่างๆ นั้นก็เป็นแต่เพียงสักว่าอาการของจิต หากมีสภาพอาการอย่างนั้นของมัน ถ้าเราไม่ไปยึดเอาเรื่องของมันไว้ในใจของเราแล้ว มันก็ไม่สามารถจะนำทุกข์มาให้แก่เราได้ เหมือนกับไฟกองน้อยไหม้หมดเชื้อแล้วก็ดับลงในที่นั้นเอง ถ้าเราเข้าไปยึดถือก็เท่ากับเราเข้าไปสนับสนุน แล้วจะประดังทุกข์มาให้แก่เราคนเดียว ความย่อยยับมีแก่เราฝ่ายเดียว
การหยิบยกเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาพิจารณาดังอธิบายข้างต้นนั้น ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาความหิวและความทุกข์ของกายและจิตได้ เพราะรู้สภาพของ กายและจิตตามเป็นจริงของมัน โรคอันเกิดจากความหิวก็ดี ทุกข์อันเกิดจากสังขารก็ดี เป็นของประจำโลก เรื้อรังมานาน แล้ว ของอะไรก็ตาม เช่น โรคเกิดขึ้นที่ร่างกาย เมื่อเรื้อรังมา นานแล้ว ถึงแม้ยาดีก็ยากที่จะรักษาให้หายได้ในระยะอันสั้น ความหิวและความทุกข์ดังที่ว่านี้ ก็เหมือนกับได้ธรรมโอสถอันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ดีเลิศ สามารถระงับความหิวคือกิเลส อันเป็นเหตุให้หลงยึดในอุปาทานขันธ์ เกิด สังขารา ปรมา ทุกขา
เมื่อรักษาหายแล้วสิ้นทุกข์ทั้งปวงได้ก็ตาม แต่ก็ต้องพยายามรับประทานยาคือพิจารณาบ่อยๆ ให้ชำนาญ จนเห็นความหิวเป็นตัวการ อุปาทานเป็นตัวกิเลส เห็นมีอยู่ทุก เพศทุกวัย เห็นเป็นภัยร้ายแก่พลโลก เห็นทุกข์ของสังขารเป็นการประจานหน้าคนโง่ หลงเข้าไปถือเอาทุกข์ของเขามาเป็นของเราอย่างน่าบัดสี ทุกข์เพราะความโลภ เอาทุกข์ของสังขารที่มีอยู่ภายในและภายนอกมาเป็นของตัวแท้ เพราะความโกรธอันเกิดจากความไม่พอใจในทุกข์อันเกิดขึ้นที่สังขาร เพราะความหลงเอาทุกข์ของเขาคือทุกข์ของสังขารมาเป็นทุกข์ตัว เมื่อพิจารณาบ่อยๆ เห็นชัดรู้แจ้งตามความเป็นจริงดังนี้แล้ว
อุปาทาเน ภยํ ทิสฺวา ชาติมรณสมฺภเว ได้ชื่อว่าเห็นภัยในอุปทานขันธ์ ปล่อยวางทุกข์ในสังขาร ไม่เอามาถือไว้เป็นของตน แล้วความเกิดและความตายของ สังขารก็จบสิ้นลงเพียงแค่นั้น
โรคอันเกิดแต่ความหิวก็ดี โรคความหิวก็ดี ทุกข์อันเกิด จากสังขารก็ดี สังขารทุกข์ก็ดี เป็นอันว่าสบกับยาธรรมโอสถ หายได้เด็ดขาดแล้ว เพราะธรรมโอสถ ความหิวและความทุกข์ทั้งหลายเป็นอันว่าไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึงสมกับพุทธพจน์ ที่ตรัสชมเชยไว้ในตอนนี้ว่า อโรคฺยาปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นปรมลาภอย่างยิ่ง สมจริงทุกประการ โรคคือความเสียดแทงจะเสียดแทงร่างกายด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆ หรือเกิดจากเหตุภายนอก มีถูกขวากหนามทิ่มแทง แมลงสัตว์กัดต่อยก็ตาม โรคคือกิเลสมันทิ่มแทง ด้วยความวิตกกังวล กระสับกระส่าย เดือดร้อนด้วยอาการต่างๆ ก็ดี หรือมันทำให้เจ็บช้ำปวดร้าวในหัวใจจนไม่มีความสุขก็ดี เหล่านี้ เมื่อมันหายได้ด้วยสรรพคุณของยาวิเศษ อันยาอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว จะไม่เป็นลาภอย่างยิ่งได้อย่างไร
ฉะนั้น เมื่อพวกเราทุกๆ คนมีโรคเรื้อรังอยู่มานานแล้ว จงอย่าได้พากันมัวเมาหลงเข้าใจว่าเราเป็นคนดีมีสุข จงพากันมารับประทานยาขนานเอก ซึ่งพระพุทธเจ้าของเราได้เสกเป่าไว้ดีแล้ว มิใช่เพื่อระงับเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการดับความหิวและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงด้วย
ที่ว่ามันยากที่จะบรรลุ มันจะได้บรรลุอะไร มันไปทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันไม่ได้เดินทางถูก มันไม่ได้บรรลุหรอก ให้เข้าใจ ไก่มันฟักไข่มันก็ใช้เวลา 3 อาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์นี้จะทำอะไรก็ต้องทำติดต่อต่อเนื่องกัน มันถึงจะเป็นสัญญาขันธ์ มันถึงจะได้ผล เพราะอันนี้คือกฎแห่งกรรม มันไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง มันไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เขาถึงมีศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ฟังธรรมแล้ว เข้าใจว่า จักขุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
- จักขุ ดวงตาเครื่องเห็นความจริงเป็นปกติได้เกิดขึ้น
- ญาณัง ญาณเครื่องรู้ความจริงเป็นปกติได้เกิดขึ้น
- ปัญญา ความหยั่งรู้เหตุรู้ผล ถูกต้องตามความเป็นจริงได้เกิดขึ้น
- วิชชา ความรู้ที่เป็นเหตุให้กำจัดกิเลสได้เด็ดขาดได้เกิดขึ้น
- อาโลโก แสงสว่างยิ่งกว่ารัศมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ตลอดแสนโกฏิจักรวาล รวมกันได้เกิดขึ้น
ญาณก็คือศีลนี้เอง นำเราขึ้นแล้วไปสู่จุดหมายปลายทาง ศีลนี้เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง เป็นการหยุดมีเซ็กส์ หยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด ทางจิตใจ มันต้องแก้ที่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติคือศีล ถ้าไม่อย่างนั้นมนุษย์เราก็จะมีแต่เพียงปัญญา ยังไม่เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้มีปัญญา ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติเป็นเวลาติดต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ เป็นการถือนิสัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นธรรมะเป็นศีลเป็นพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เรียกว่าพรหมจรรย์ การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ถึงจะเป็นความสงบ เกิดความเย็นเป็นพระนิพพาน เป็นความอบอุ่นที่มีสติมีสัมปชัญญะ เป็นการทำที่สุดแห่งความดับทุกข์
การปฏิบัติธรรมหน่ะ เราไม่ต้องวิตกกังวล ว่าใครจะว่าให้เรา เพราะว่าเราคิดดีๆ พูดดีๆ ปฏิบัติดีๆ ทำเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เราไม่เอาผลประโยชน์อะไร เราจะไประแวงทำไม นี้แสดงว่าเราวิตกกังวล ระแวง กลัวคนนู้นจะว่าอย่างนู้นว่าอย่างนี้ เพราะเราเป็นของปลอมอยู่ ปฏิบัติเพื่อเป็นตัวเป็นตนอยู่ เพื่อจะให้คนอื่นยอมรับเรา คนอื่นจะยอมรับเราได้ยังไง เพราะตัวเราเอง ยังยอมรับตัวเองยังไม่ได้ มันเสียหายนะ เวลาแก่เวลาเฒ่ามา จะเป็นคนไม่มีอริยะทรัพย์ มันมีความทุกข์นะ ไปห่วงแต่ลูกห่วงแต่หลาน ลูกคนนั้นมีหนี้มีสิน หลานคนนี้มีหนี้มีสิน คนเรามันต้องปลงสังขาร มันต้องเสียสละ นักกีฬาเขาก็ต้องฝึกตัวเอง เราเป็นนักปฏิบัติก็ต้องฝึกเรา อย่ามัวแต่คุยโว เดี๋ยวมันไม่มีที่พึ่งนะ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง พระอริยะเจ้าก็เป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง ท่านไม่สนใจเรื่องอาหาร ไม่สนใจเรื่องเสนาสนะ ไม่สนใจเรื่องอะไรทุกอย่าง เพราะท่านมีความสุข เพราะจิตใจท่านมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ท่านก็พาเราประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ท่านดีแต่พูด เหมือนคนทุกวันนี้ พากันดีแต่พูด มันเป็นยังไงดีแต่พูด คือพูดเก่งคุยเก่งไปหมด แต่พอเจอปัญหาเข้า ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ก็เลยต้องโศกเศร้าพิไรรำพัน
เราต้องมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะอยู่แต่กับสิ่งภายนอก ใจยังไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรม ทำตัวเองเป็นนักบุญ ที่แท้จริงเป็นคนที่ไม่ได้แก้ไขตัวเอง เป็นคนไม่มีสมาธิ ไม่มีความสุขในปัจจุบัน เป็นคนฟุ้งซ่าน ต้องพากันฝึกทำสมาธิให้ได้ เพราะอันนี้เป็นภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราก็อยู่กับการงานให้มีความสุข อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกให้มีความสุข เราเอาศีลเอาธรรมเอาพรหมจรรย์ของเราให้มีความสุข
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee