แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๑ เพราะมีทรัพย์อันประเสริฐภายในใจ จึงจะไม่เป็นโรคทรัพย์จาง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เป็นมนุษย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ ชีวิตของเราต้องเดินตามพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้มาบอกมาสอน เน้นประพฤติเน้นปฏิบัติในปัจจุบัน ปฏิบัติเหมือนนาฬิกา นาฬิกาที่ยี่ห้อดีๆ ที่สุดในโลก ทุกท่านทุกคนต้องไม่ต้องพากันเสียเวลา เราเคยรีบไหม รีบไปนู่นไปนี่ เวลามันแป๊ปๆๆ การประพฤติการปฏิบัติมันต้องมากกว่านั้น ปัจจุบันนี้มันต้องจัดการกับตัวเอง อันไหนไม่ดีก็ไม่คิด อันไหนไม่ดีก็ไม่พูด อันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ ต้องไฟต์ติ้งกับตัวเองเพื่อให้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะอันนี้เป็นมนุษย์ ไม่งั้นก็เป็นได้แต่เพียงคน เป็นได้แต่ความหลง อวิชชา เป็นโมหะ เป็นแต่เพียงพลังงานที่เวียนว่ายตายเกิด
ชีวิตของเรานี้ถือว่าเราโชคดี เราจะไปเอาตัวตนเป็นหลักเอาตัวตนเป็นใหญ่ ลูบคลำในศีลในข้อวัตรในข้อปฏิบัติ มันไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านี้แล้ว เพราะความดับทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่รวยอยู่ที่จน คนหนุ่มคนแก่ ศาสนามันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกท่านทุกคนก็จะได้เป็นพระกัน พระนี้ก็คือพระธรรม พระก็คือศีลคือพระวินัย นี้คือกฎแห่งกรรมที่ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ อันนี้เป็นสิ่งที่รีบด่วน เราต้องเป็นผู้โชคดี เราต้องพัฒนาทางวิทยาศาสตร์พัฒนาทางใจไปพร้อมๆ กัน เพราะทุกคนน่ะมักทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง มันสร้างปัญหาให้กับตนเอง มันถึงชื่อว่าเป็นคน เราต้องเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ ที่เรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราไม่ต้องวิ่งไปที่ไหนหรอก ความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่เรา มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง เรามีบ้านอยู่ที่ไหน เรามีเรือนอยู่ไหน ก็เอามาพัฒนาที่ตัวเรา พัฒนาที่ทำมาหากิน ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำบุญกุศลก็คืออันไหนไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่พูด อันไหนไม่ดีไม่ทำ
พระพุทธศาสนามันเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ ที่มนุษย์เราควรจะปฏิบัติ เราอย่าไปเนิ่นช้า ต้องจัดการ เราทำอย่างนี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปเอง เราเกิดมาเพื่อรู้อริยะสัจ 4 คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรานี้มันคือตัวอนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นทุกข์นะ มันมีปัญหามันมีภาระ ถ้าทำตามความคิด ทำตามอารมณ์ มันไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี
เราต้องรู้จักคำว่าปล่อยวาง ปล่อยวางนี้คือไม่ใช่นอนนะ ปล่อยวางคือเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะคือพระพุทธเจ้า พักผ่อนก็ไม่ได้นอนนะ - ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ - คือปล่อยวางอย่างนี้ เรารู้จักคำว่าปล่อยวาง นึกว่าการไม่ต้องการทำงาน การไม่อยากทำอะไร นึกว่าเป็นการปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นการปล่อยวางทางพระพุทธศาสนา ให้มรรคผลนิพพานมันเกิดโดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยไม่ได้ เหมือนไม่เข้าใจศาสนา พระคุณเจ้าทั้งหลาย บวชมาเพื่อมารับประเคน ไม่ได้บวชมาเพื่อมาเสียสละ บวชมาเสียหายไหม เสียหาย เพราะบวชมาเพื่อมารับประเคน เพื่อมาเป็นผู้เอา เราเกิดมาเพื่อมาเป็นผู้เอาเพื่อมาเป็นผู้หลง มันเสียหาย
ต้องมีอานาปานสติมีความสุขในการทำงาน วันหนึ่งคืนหนึ่งก็มี 24 ชั่วโมง เวลานอน ก็คือ 6 ชั่วโมง นอกนั้นก็เป็นเวลาทำงาน งานกับธรรมะก็อันเดียวกัน เราจะเดินตามความไม่รู้ เดินตามความเป็นคนมันไม่ได้ เราทำอย่างนี้แหละ ทรัพย์ทางภายนอกมันก็มี เพราะเราเสียสละ เราหยุดอบายมุข อบายภูมิ โรคซึมเศร้า โรคฟุ้งซ่าน โรคทรัพย์จางมันก็ไม่มี โรคทรัพย์จางไม่ได้หมายความว่าไม่มีเงิน แต่หมายความว่าไม่มีอริยทรัพย์ ไม่มีความสุข พูดถึงเรื่องทรัพย์จาง ก็ยิ้มๆ นั้น มันไม่ใช่ เราจะได้รู้จักความสุขความดับทุกข์ พร้อมจะได้รับปรากฎการ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาเดิน ๗ ก้าว เพื่อจะมาบอกพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าอย่าสง่างาม ถ้าปัจจุบันเราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เรียนจบมากกว่า ป.ธ.๙ ก็เศร้าหมอง เป็นผู้ไม่สง่างาม ผู้ที่เสียสละหน่ะ อย่างเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร เสด็จพระดำเนิน ๗ ก้าว ที่เป็นบุคลาธิษฐาน คือเราต้องมาตัดกรรม ตัดเวร เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
อริยทรัพย์ มี ๗ ประการด้วยกัน คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก ๖. จาคะ การเสียสละ และ ๗. ปัญญา
๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง รู้ในสิ่งต่างๆที่เราไม่รู้กัน เช่นรู้เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด รู้เรื่องบาป รู้เรื่องบุญ รู้เรื่องคุณ รู้เรื่องโทษ รู้เรื่องมรรค ผล นิพพาน คือสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญผู้เต็มไปด้วยอวิชชา ยังไม่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยสติปัญญาความรู้ความฉลาด วิริยะความอุตสาหะพากเพียร ขันติความอดทน สะสมบุญบารมีมาเป็นกัปเป็นกัลป์ จนบรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในไตรภพ ในโลกทั้ง ๓ นี้ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โลกของการเวียนว่ายตายเกิด ผู้มีดวงตาเห็นธรรมสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเรายังมืดบอด ยังไม่รู้ไม่เห็น แต่มีแววแห่งความฉลาด ตรงที่ยอมรับว่าเรายังโง่อยู่ และยอมรับว่าพระพุทธเจ้าฉลาดกว่าเรา เมื่อพระพุทธองค์เป็นผู้มีความฉลาดกว่าเรา รู้มากกว่าเรา เราจึงเชื่อพระพุทธเจ้า คือเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมีอยู่ ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ ๑. กรรม ๒. วิบาก ๓. สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆตน
๑) เชื่อว่ากรรม คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อม ภพชาติต่างๆเป็นผลที่เกิดมาจากกรรม เช่นเชื่อว่าเหตุที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะในอดีตเคยทำความดีรักษาศีลไว้ จึงทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อย่างนี้เป็นต้น
๒) เชื่อวิบากผลของกรรม เชื่อว่าเมื่อทำกรรมไปแล้วไม่ว่าดีหรือชั่ว จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เช่นการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นวิบาก เป็นผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต ได้ทำกรรมมาต่างกันจึงทำให้มาเกิดต่างกันไป มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกัน ทางด้านเพศ ทางด้านรูปร่างหน้าตา ทางด้านความรู้ความฉลาด ทางด้านฐานะการเงิน เหล่านี้เรียกว่าวิบาก คือผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต เชื่อว่าเราเป็นอยู่อย่างนี้ก็เพราะทำมาแค่นี้ สะสมบุญบารมีมาแค่นี้ ทำมาแค่นี้ก็ได้แค่นี้ ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องสะสมบุญบารมีให้มากขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดของบุญบารมี ก็จะบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก
๓) เชื่อว่าสัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน เมื่อทำกรรมแล้ววิบากย่อมตามมาเหมือนเงาตามตัว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครช่วยใครให้พ้นวิบากกรรมของตนไปได้ หรือสร้างบุญกุศลให้แก่กันได้ เมื่อถึงเวลาที่ผลบุญจะเกิดขึ้นกับผู้หนึ่งผู้ใด ก็ไม่มีใครไปห้ามได้ เช่นเดียวกับผลของบาปกรรม เมื่อถึงเวลาที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปยับยั้งได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเรา ก็ต้องทำใจให้นิ่งเฉยเป็นอุเบกขา ยอมรับความจริงว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไม่มีใครยับยั้งผลของกรรมได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องรับผลของกรรมกันทุกๆคน
๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา เมื่อมีศรัทธาแล้วเราก็จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน โดยเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็จะทำแต่สิ่งที่ดีและหลีกเลี่ยงการทำบาป ด้วยการรักษาศีลตามกำลังศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา ตั้งแต่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จนถึง ศีล ๒๒๗ ศีลคือความปกติทางกายและทางวาจา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เมื่อเห็นว่าการทำบาปเป็นสิ่งไม่ดี จึงละเว้น ด้วยหิริ ความอายบาป และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ทุกคนมีความอายกัน แต่สิ่งที่น่าอายกลับไม่อาย กลับไปอายในสิ่งที่ไม่น่าอาย เช่นไปอายในความยากจน ในรูปร่างหน้าตาที่ไม่สวยงาม ในความโง่เขลาเบาปัญญาของตน สิ่งที่น่าอายคืออะไร ก็คือการกระทำความชั่วทั้งหลาย เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ การเสพสุรายาเมา เพราะเมื่อทำบาปไปแล้วก็เหมือนกับเอาไฟมาเผาตัวเองและผู้อื่น สร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนและผู้อื่น เป็นสิ่งที่น่าอับอาย น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับความกลัว สิ่งที่น่ากลัวกลับไม่กลัว สิ่งที่ไม่น่ากลัวกลับไปกลัว เช่นกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเลย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดกับทุกๆคน เป็นธรรมดา เป็นปกติของธาตุขันธ์ ของร่างกาย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ผู้ที่กลัวคือผู้ที่มีความสำคัญมั่นหมาย ไปยึด ไปติด ว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของๆ เรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คิดว่าเราแก่ เราเจ็บ เราตาย แทนที่จะคิดว่าร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย ก็กลับไปหลงคิดว่าร่างกายนี้แหละคือเรา เมื่อจิตติดอยู่กับร่างกาย ก็เลยคิดว่าจิตเป็นกาย กายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา นี่คือความหลง
ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมแล้วจะสามารถแยกแยะกายออกจากจิตได้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากายก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตก็เป็นอย่างหนึ่ง กายนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วกลายเป็นอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น นี่คือเรื่องของร่างกาย เป็นธาตุขันธ์ล้วนๆ มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เป็นเพราะขาดปัญญาเลยทำให้จิตถูกอวิชชาครอบงำ ไปยึด ไปติด ไปหลงว่าร่างกายนี้เป็นจิต จิตเป็นร่างกาย เมื่อร่างกายเป็นอะไรไป ก็เกิดกลัวขึ้นมา กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะไม่กลัว ความแก่ เจ็บ ตาย เลยแม้แต่น้อย ท่านตายได้ในทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ด้วยความเป็นปกติสุข ไม่มีความหวั่นไหว เพราะท่านมีปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านปล่อยวาง ไม่ไปยึดไม่ไปติดในธาตุขันธ์ ถ้ายังดีอยู่ก็เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเสื้อผ้าที่ยังดีอยู่ก็ใส่ไป ถ้าขาดก็ทิ้งไปฉันใด ร่างกายก็ฉันนั้นเมื่อถึงเวลาแตกดับก็ทิ้งไป
สิ่งที่น่ากลัวคืออะไร ก็คือบาปกรรม การกระทำความชั่วทั้งหลาย เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ความหายนะ เริ่มตั้งแต่ในปัจจุบัน เมื่อทำความชั่วแล้วจิตจะมีความร้อน มีความกังวล มีความหวาดวิตก เกิดความกลัวขึ้นมา กลัวจะถูกจับได้ว่าทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เมื่อตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในอบายต่อไป ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เพราะขาดหิริ ความอาย และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ขาดศรัทธา ไม่เชื่อในเรื่องบาปกรรม ก็เลยเกิดความประมาทขึ้นมา คิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้ทำความดีโดยไม่มีผลดีอะไรตามมา ถ้าคิดเช่นนี้ จะเป็นคนที่สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัสให้กับตนเอง เพราะจะไม่มีหิริโอตตัปปะ แล้วจะทำบาปไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ ก็จะมีหิริโอตตัปปะ ความอายและความกลัวบาป จะสะสมบุญแบบไม่กลัวจน ไม่กลัวว่าจะเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เพราะบุญกุศลที่ได้นั้น มีคุณค่ามากยิ่งกว่าเงินทอง ยิ่งกว่าเวลาที่เสียไป เพราะได้อริยทรัพย์นั่นเอง
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก การได้ยินได้ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้รู้มาก เป็นผู้ศึกษามาก การที่ได้ศึกษามากต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่มีความรู้ โดยเฉพาะรู้ทางธรรม เพราะธรรมเป็นแสงสว่างนำชีวิต ให้รู้จัก บาป บุญ คุณ โทษ กรรม และวิบาก ถ้าได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ต่อไปจะเป็นผู้ที่มีความรู้มาก เป็นพหูสูต เป็นพาหุสัจจะ คือเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก เป็นอริยทรัพย์
๖. จาคะ การเสียสละ เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนให้แก่ผู้อื่น เป็นการลดละความเห็นแก่ตัว ความหลงในตัวตน โดยเห็นว่าสมบัติเงินทองที่มีอยู่เป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากกัน ไม่ใช่ของๆตน ทรัพย์สมบัติที่แท้จริงต้องเป็นอริยทรัพย์ ที่เกิดจากจาคะ การเสียสละ แจกจ่าย แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีทรัพย์ที่เหลือใช้แล้วไม่เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการบริจาคแบ่งปันให้กับผู้อื่น ก็จะไม่มีอริยทรัพย์ เหมือนกับการไม่ได้แลกเงินตราต่างประเทศไว้ใช้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ จะมีแต่เงินที่ไม่สามารถเอาติดตัวไปใช้ได้ ไปเกิดภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีแต่ความอดอยากขาดแคลน ในปัจจุบันก็จะถูกอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลงคุกคาม สร้างความร้อนรนให้แก่จิตใจ หาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้
๗. ปัญญา ความรู้ความฉลาด คือรู้ความจริง รู้อะไรคือเหตุ รู้อะไรคือผล รู้อะไรคือบาป รู้อะไรคือบุญ รู้อะไรคือคุณ รู้อะไรคือโทษ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้แล้วย่อมทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ละเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีไม่งาม นำความสุขมาสู่ตน บาปกรรมไม่ทำ ทำแต่บุญอย่างเดียว
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นัตถิ ปัญญา สมา อาภา ความสว่างอื่นใดยิ่งกว่าปัญญาไม่มี” แสงตะวันจะส่องกลางวัน แสงจันทร์จะส่องกลางคืน นอกนั้นก็หมดอานุภาพ แต่ปัญญานี้จะส่องสว่างในใจของทุกท่าน ทุกขณะ และติดตามไปทุกภพทุกชาติด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงถือว่าสูงสุดสำคัญที่สุด
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เกิดขึ้นกับใคร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ขัดสน ไม่ใช่คนเข็ญใจ มีชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า (สทฺธาธนํ สีลธนํ, หิรี, โอตฺตปฺปิยํ ธนํ, สุตธนญฺจ, จาโค จ, ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ; ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา, `อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ, อโมฆํ ตสฺส ชีวิตนฺติ)
ความงดงามของเราอยู่ที่ไหน...? ความงดงามของเรา อยู่ที่เราเป็นผู้ให้ทาน อยู่ที่เราเป็นคนที่เสียสละ อยู่ที่เราเป็นผู้ที่มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ไม่ทำตามอวิชชา คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง พยายามมีสติมีสัมปชัญญะอยู่กับเนื้อกับตัวทุก ๆ อิริยาบถ เราถือเอาอิริยาบถทั้ง ๔ ให้เป็นการปฏิบัติธรรม เราเอาหน้าที่การงานมาประพฤติปฏิบัติธรรม...ที่ปราศจากอวิชชา ปราศจากอคติทั้ง ๔ ลำเอียงเพราะรัก เพราะชอบ เพราะหลง ลำเอียงเพราะโกรธ เพราะพยาบาท ลำเอียงเพราะมีความโลภ ความต้องการที่จะได้ผลประโยชน์ ลำเอียงเพราะกลัว
ความสุขความดับทุกข์นั้นไม่แยกชาติแยกศาสนา ไม่แยกเด็ก แยกผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนชรา มันอยู่ที่ทุกคนนั้น... มีศีล มีธรรม มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไม่มีอะไรที่จะมาครอบงำเราได้ ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ แม้ร่างกายของเราจะเจ็บไข้ไม่สบาย จิตใจของเราก็จะมีความสุข ความดับทุกข์ เพราะเราได้มีสติสัมปชัญญะ เราได้ปฏิบัติกาย วาจา ใจของเรา ทุกคนนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนน่ะมาปฏิบัติที่ใจของเราปฏิบัติที่คำพูดของเรา การกระทำของเรา เพื่อแก้ปัญหาที่มันไม่ดีให้มันดี สิ่งที่ดีแล้วก็ให้มันดีขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป
การประพฤติการปฏิบัติธรรมนั้นมันก็ไม่ใช่เป็นของยาก แต่มันยากอยู่ที่เราไม่อยากปฏิบัติ อยู่ที่เราไม่อยากจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่อยากจะละอวิชชาตัวตน มันถือตัวถือตนเป็นใหญ่เป็นที่ตั้ง ทุกคนมันเลยเครียด เลยไม่สงบ ชีวิตนี้มันถึงมีแต่การเบียดเบียนทั้งตนเอง เบียดเบียนทั้งคนอื่น เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เบียดเบียนคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น เราเรียนมาก รู้มาก มีความฉลาดก็ย่อมเอาเปรียบคนอื่น หรือเป็นคนลักขโมย แย่งชิง อันนี้ก็เนื่องมาจากเราได้พากันถืออัตตาตัวตน เอาตนเป็นใหญ่ เอาตนเป็นที่ตั้ง
คนเราน่ะ ถ้ามันมีตัวมีตนมันก็ย่อมเป็นทุกข์ เค้าว่าเราสวย เค้าว่าเราหล่อเราก็เครียดนะ เป็นทุกข์ เราไม่สวยไม่หล่อเราก็เป็นทุกข์ เราไม่รวย เราไม่มีคนสรรเสริญเยินยอ เราก็เป็นทุกข์น่ะ สรุปแล้วเรามีความทุกข์เพราะเรามีตัวมีตน เรามีสักกายทิฏฐิ ชีวิตนี้เราได้ตั้งอยู่ในความเครียด อยู่ในความทุกข์ มีทุกข์อยู่ร่ำไป "...คนเราน่ะ ถ้าคิดไม่ดี เค้าเรียกว่ารายจ่ายเยอะเนอะ รายรับไม่ค่อยจะมีนะ ตาเราเห็นรูปอย่างนี้เค้าเรียกว่ามีเป็นรายรับนะ ถ้าเรามีความหลง เราตามไปเรื่อยๆ อย่างนั้น เรายินดี อย่างนี้น่ะ รายจ่ายเยอะนะ ที่เราไม่สบายส่วนใหญ่ เรารายรับนิดเดียว รายจ่ายมันเยอะ มันมีหนี้มีสินน่ะ"
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ อันไหนไม่ดี เราก็ไม่คิด ถ้าเราคิดน่ะ แสดงว่าเราไปมี sex มีเพศสัมพันธ์กับความคิด อย่างนั้นน่ะ รายจ่ายเราเยอะเลย รายจ่ายของเรามันจะเดือดร้อนถึงไม่เป็นโรคประสาท ก็โรคจิต เราก็ฝึกมาหายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข เรารู้อารมณ์ รู้ความคิดให้เกิดปัญญา เราไม่ตามไป ถ้าตามไป ค่าใช้จ่ายเยอะเลย ต้องพากันฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบายไว้เยอะๆ เราเดินเราเหินอะไร ก็พากันฝึก หายใจเข้าสบาย ออกสบายไว้
ถ้าเราไม่ตามอารมณ์ไป ไม่ตามความคิดไป เราก็ไม่ต้องมีรายจ่าย เราจะได้เป็นคนมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาในปัจจุบัน เราปฏิบัติธรรมเราก็ทำอย่างนี้แหละ ใจเราดี ใจสบาย เราก็ไม่ต้องไปหาอาจารย์ที่ไหน ถ้าเราตามอารมณ์ ตามความคิดไปน่ะ อย่างนี้รายจ่ายเยอะน่ะ เจ๊งแน่ อยู่ดีๆ น่ะ หาเรื่องให้ตัวเองปวดหัวเฉยๆ เราต้องพากันฝึกอานาปานสติไว้ พากันหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบายไว้ เราต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ รายจ่ายจะเยอะ เท่ากับชีวิตขาดทุน ไม่ได้กำไร
มีคนบอกว่าเกิดมาต้องหากำไรให้ชีวิต โดยเอาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด ต้องดื่มต้องกินของอร่อยๆ ต้องไปเที่ยวรอบโลก ต้องมีแฟนเยอะๆ ต้องหาประสบการณ์แปลกแหวกแนว ต้องใช้ของดีมีคุณภาพ สรรหาของราคาแพงๆ ไว้ประดับบารมี ถ้าได้อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีกำไรชีวิต...
หากคุณคิดว่าตัวเองมีค่า เพราะมี “เงิน” วันไหนเงินหมด คุณค่าคุณก็หมด
หากคุณคิดว่าตัวเองมีค่า เพราะ “หน้าตา” ดี วันไหนคุณแก่ลงจนหน้าตาไม่ดี คุณค่าคุณก็หมด
แต่ตราบใดที่คุณรู้ว่าตัวเองมีค่า เพราะเป็น “คนดีจริงๆ” ตราบใดที่คุณยังมีความดี คุณก็จะ “มีคุณค่า” ได้ตลอดไป…
แต่ลองมานึกดูเถิด หากเราได้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแต่ชีวิตหลังความตายเราต้องไปใช้ชีวิตใหม่ในอบายภูมิอย่างทุกข์ทรมาน ต้องตกนรกอย่างยาวนาน อย่างนี้ยังจะเรียกว่า เกิดมาได้กำไรชีวิตไหม ในเมื่อชาติที่ไปเกิดใหม่กลับมีสภาวะตกต่ำทรมานแสนสาหัสไปกว่าเดิม หากเรามาศึกษาความรู้ในทางพระพุทธศาสนาจะพบว่า ผู้ที่เกิดมาแล้วได้กำไรชีวิตไปจริงๆ ก็คือ ผู้ที่เข้าถึงความสุขที่แท้จริงของชีวิต ได้พบความสุขสงบจากการหยุดปัญหา หมดปัญหา หยุดการเวียนว่ายตายเกิด อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าได้กำไรชีวิต
ฉะนั้น จงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมเถิด อย่ามัวปล่อยเวลาไปกับเรื่องไร้สาระอีกเลย เพราะช่วงเวลาแห่งความแข็งแรงของชีวิตมีจำกัด ดังนั้นเราต้องหยุดใจให้ได้ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด เพื่อให้เราเกิดมาได้กำไรชีวิตไปจริงๆ
ชีวิตของเรานี้ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ ต้องเอาชีวิตนี้มาสร้างความดี สร้างคุณธรรม มาก้าวไปด้วยความดี การให้ทาน การเสียสละ การที่มีศีล การที่มีสมาธิ การที่มีสติสัมปชัญญะ การที่ไม่ทำตามกิเลส "คนที่จะหักห้ามตัวเองได้ คือมีสติสัมปชัญญะ" สติ คือตัวผู้รู้ คือตัวผู้ฉลาด สัมปชัญญะ คือตัวตั้งมั่น ตัวแข็งแรง ตัวไม่หวั่นไหวตามกิเลสตามสิ่งแวดล้อม
เราต้องสมาทานความดี จิตใจของเรามันถึงจะแข็งแรงแข็งแกร่ง ตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้ 'สมาทานความดี' ชื่อว่าความชั่วไม่ทำเลยนั้นดีกว่า ถ้าเราจะอนุโลมอย่างนั้น...มันก็ไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเรายังตั้งอยู่ใน ความประมาท ส่วนใหญ่เราทุกคนตั้งอยู่ในความประมาท คิดว่าผิดศีล ผิดธรรมนิดหน่อยไม่เป็นไร นั้นเรียกว่า 'สีลัพพตปรามาส' เป็นบุคคลที่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ เป็นการพ่ายแพ้ต่อกิเลส ต่ออารมณ์
การประพฤติการปฏิบัติ... พระพุทธเจ้าให้เราเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะอารมณ์ เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง อดเอา ทนเอา ถึงจะตายก็ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ ต่อกิเลสน่ะ พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เรารักษาความถูกต้องไว้ไม่ได้ รักษาความดีไว้ไม่ได้ ถือว่าเป็นผู้ที่ยังตั้งอยู่ในความประมาทน่ะ ในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะอารมณ์ตัวเองทุกแง่ทุกมุม อดเอา ทนเอา เราถึงจะเข้าถึงความดี เข้าถึงความดับทุกข์ ที่ว่ามันยากที่จะบรรลุ มันจะได้บรรลุอะไร มันไปทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันไม่ได้เดินทางถูก มันไม่ได้บรรลุหรอก ให้เข้าใจ ไก่มันฟักไข่มันก็ใช้เวลา 3 อาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์นี้จะทำอะไรก็ต้องทำติดต่อต่อเนื่องกัน มันถึงจะเป็นสัญญาขันธ์ มันถึงจะได้ผล เพราะอันนี้คือกฎแห่งกรรม มันไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง มันไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เขาถึงมีศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้พูดว่า ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราจะข้าม เราไปด้วยยาน เพราะอันนี้มันไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องไฟต์กับตัวเอง ไม่ได้ไฟต์กับคนอื่น
จิตใจคนนั้นย่อมอ่อนแอ น้ำนั้นย่อมไหลลงไปที่ต่ำ ถ้าไม่มีเขื่อนที่มั่นคงนั้น...ก็ไม่สามารถที่จะเก็บน้ำไว้ได้น่ะ จิตใจของเรานั้นก็เหมือนกัน ต้องสมาทาน ต้องตั้งมั่น ต้องมีสติมีสัมปชัญญะอย่างมากอย่างแข็งแรง
เราอย่าไปคิดว่าเรื่องการประพฤติการปฏิบัตินั้น มันเป็นหน้าที่ของพระที่เข้ามาบวช ที่จะต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน เพราะอันนั้นมันเป็นความคิดที่เราลิดรอนสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ที่เราเป็นผู้ประเสริฐ ที่เกิดมาเราปล่อยโอกาส ปล่อยเวลา ขีดเส้นว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ
'ใจ' ของเราที่แท้จริงนั้นมันไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนหนุ่ม คนสาว คนแก่ ไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เป็นฆราวาสน่ะ มันคือจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นจิตใจที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้มีศีล มีธรรม มีคุณธรรม เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพื่อสติสัมปชัญญะมันจะได้สมบูรณ์ด้วยทาน ศีล ภาวนา ตั้งอยู่ในสติสัมปชัญญะที่เราทุกๆ คนมีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติน่ะ
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเรานี้มันก็มีประโยชน์น้อย "มีประโยชน์น้อยต่อตนเอง มีประโยชน์น้อยต่อคนอื่นน่ะ"
เราทำมาหากินเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ได้เป็นไป เพื่อธรรม เพื่อส่วนรวม เพื่อที่จะแบ่งความสุข เพื่อแชร์ความสุขให้ซึ่งกันและกัน เป็นผู้ที่มีความสงสารน้อย เป็นผู้ที่มีความกรุณาน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีความบริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ ชีวิตนี้ถึงไม่ประเสริฐเลยที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์
เราทุกคนต้องกลับมามองตัวเองว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้เสียสละหรือยัง เป็นผู้มีศีลหรือยัง เป็นผู้ที่มีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะหรือยัง เป็นผู้ที่ทำตามธรรมะหรือยัง? ต้องกลับมามองตัวเองโดยใช้ชีวิตนี้ อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ มาทำความดี เสียสละตั้งแต่เช้าจนนอนหลับน่ะ ตื่นขึ้นก็เจริญสติสัมปชัญญะ เสียสละ เราทำอย่างนี้ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้
ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลาย ที่ได้พากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เราพากันประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งใจอบรมบ่มอินทรีย์ ปฏิบัติธรรมทั้งที่อยู่ที่บ้าน อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม อยู่ในสถานที่ต่างๆ ทุกท่านทุกคนนั้นก็ย่อมนำเอาสติสัมปชัญญะ นำเอาการเสียสละ นำเอาสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องไปใช้เพื่อความสุข ความสงบของมหาชนคนทั้งหลาย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee