แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖๘ แก้ไข้ปัญหาชีวิตด้วยธรรมะ ๔ เกลอ คือ สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นี้เป็นธรรมะที่ดีมาก ดีพิเศษ ดีจริงๆ ธรรมะที่ทำให้หมู่มวลมนุษย์นี้หยุดวัฏฏะสงสาร หยุดเวียนว่าตายเกิด ศาสนานี้ถึงเป็นสิ่งที่ดี ศาสนาทุกศาสนาก็ไปในทางเดียวกัน คือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา ที่เราพากันเวียนว่ายตายเกิด เพราะเราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ศีลนี้ถึงเป็นที่รัก เป็นที่ยินดีของพวกเราทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง มันคือเรื่องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ทำไมถึง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ล่ะ มันมากมาย เพราะมันเป็นสิ่งที่หยุดเวียนว่ายตายเกิด มันต้องหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ มันเป็นการที่ทุกคนต้องแก้ไขตัวเอง อย่างธุดงควัตรนี้พระพุทธเจ้าทรงบอกเป็นแนวๆ ท่านบอกเพียงธุดงค์ ๑๓ ท่านก็ไม่ได้บังคับ
ธุดงควัตร เป็นวิธีบำเพ็ญตบะ มีข้อปฏิบัติที่พระภิกษุนิยมบำเพ็ญกัน เป็นการฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจ มีด้วยกัน ๑๓ ประการ เรียกว่าธุดงควัตร พระภิกษุที่บำเพ็ญธุดงควัตร เราเรียกท่านว่า พระธุดงค์ แต่ธุดงควัตรนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุ แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ แบ่งเป็น ๔ หมวด ให้เลือกปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธา คือ
หมวด ที่ ๑ เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว ๑. ใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่ชักมาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้กับมือก็ไม่ใช้
๒. ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือมีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้
เราลองคิดดู ทำถึงขั้นนี้แล้ว กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่ อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้น เจอธุดงค์ ๒ ข้อนี้เข้าก็สะอึกแล้ว
หมวด ที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน ๑. ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโตใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน บิณฑบาตมาได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น
๒. เดินบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกหรือหมู่บ้านในแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่มานึกๆ เอาว่า ไปบ้านนั้นจะได้มาก บ้านนี้จะได้น้อย เลยเลือกทางเดินบิณฑบาตเป็นบางบ้านตามใจชอบ อย่างนั้นไม่ได้
๓. ฉันอาสนะเดียว คือถ้าฉันเสร็จ ลุกจากอาสนะแล้ว ก็ไม่รับประท่าอาหารอีก ไม่ฉันอะไรอีก ซึ่งก็เท่ากับฉันวันละมื้อเดียว เรียกกันว่า “ฉันเอกา”
๔. ฉันสำรวม คือฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น เอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวานใส่ลงรวมกันในบาตรแล้วฉัน
๕. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ
ทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นตบะเกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากิน โกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบกินจิบ จะกินนั่นจะกินนี่ พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตนเอง ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็งง
หมวด ที่ ๓ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ๑. อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน ๒. อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือน ไม่อาศัยนอนในกุฏิศาลาปักกลดนอนใต้ร่มไม้กันเลย ๓. อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกันละ ปักกลดนอนกลางแจ้งกันเลย ๔. อยู่ในป่าช้าเท่านั้น เข้าปักกลดนอนในป่าช้ากันเลย จะนั่งนอนบนหลังโลงศพ หรือปักกลดนอนใต้ต้นไม้ในป่าช้าก็เอา ๕. อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พักที่นั้น
โปรดพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทาง ดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ ไม่ต้องพูดถึงกันเพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม กิเลสเรื่องที่อยู่อาศัยพอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็เผ่นหนีกันกระเจิง
หมวด ที่ ๔ เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน
๑. อยู่ในอิริยาบถ ๓ คือยืน เดิน นั่ง ไม่นอน ง่วงมากก็ยืน เดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น คือการถือเนสัชชิก
หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ พอเจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย พวกใครมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาธุดงควัตรข้อนี้ดูบ้างก็ดีเหมือนกัน จะรักษาสัก ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ก็ตามกำลัง สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้วการอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก และถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีพระภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือนก็มี บางรูปรักษาตลอดชีวิต เช่น พระมหากัสสปะ ท่านอยู่ในอิริยาบถ ๓ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนได้ตลอดชีวิตโดยไม่ง่วงเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางอยู่ธุดงค์
ทั้งหมดนี้รวมเป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อ จัดเป็นตบะชั้นยอดในพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาด ในทางปฏิบัติใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้ และจะทำในระยะใดก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา
ปฏิปทาองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมากมุ่งมรรคผลมุ่งพระนิพพาน การรักษาศีลเดินจงกรม ท่านทำทุกอย่าง ท่านทำเพื่อนิพพาน ท่านทำเพื่อเสียสละที่เกิดจากปัญญา เกิดจากสัมมาทิฏฐิที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ท่านไม่ได้ลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เน้นมาที่การประพฤติปฏิบัติของท่าน สมัยก่อนย้อนไปเมื่อนับร้อยปี ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร ท่านก็จาริกธุดงค์ไปที่ต่างๆ เพื่อทำความเพียร ท่านไม่สนใจในการสร้างวัด สร้างกุฏิ สร้างวิหาร สนใจแต่การทำข้อวัตรข้อปฏิบัติ ทางจิตใจท่านก็มีแต่ข้อวัตรข้อปฏิบัติเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ท่านประพฤติปฏิบัติหมด เพื่อเน้นทางจิตทางใจ พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่เป็นอุปกรณ์ในการเดินทางหรือไปยานในการที่จะช่วยเราข้ามวัฏฏะสงสาร
พระที่เป็นลูกศิษย์ที่ร่วมปฏิบัติกับท่าน หลายสิบหลายร้อยรูป ปฏิบัติเหมือนท่าน มันก็ไม่เหมือน 100% หรอก เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นคนฉลาด เพราะปัญญาที่ท่านบำเพ็ญมาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมฉลาดกว่าพระอรหันตสาวกธรรมดา ใจของท่านเน้นมาหาตัวเอง ไม่ส่งออกไปข้างนอก เหมือนพระรุ่นใหม่ พระสมัยใหม่ ท่านเน้นลงที่กายวาจาใจของตัวเอง ท่านถึงเป็นเนื้อนาบุญของโลก พระเณรต้องแข่งขันกันรักษาศีลให้ใจบริสุทธิ์ แข่งขันกันเดินจงกรม นั่งสมาธิ ท่านเดินตามพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ท่านก็เป็นคนบ้านป่าเป็นคนชนบท ไม่มีการเรียนการศึกษา ไม่มีดีกรีทางโลก การประพฤติปฏิบัติธรรมไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการศึกษา ท่านศึกษาในชีวิตประจำในการประพฤติปฏิบัติ อิริยาบถทั้งสี่นั้นคือการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่มีอิริยาบถไหนไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติธรรม ที่รวมกันเป็นอริยมรรคมีองค์แปด ท่านเป็นพระตัวอย่างแบบอย่าง ถึงแม้ท่านจะละธาตุขันธ์สู่พระนิพพานแล้ว ท่านก็ยังถือข้อวัตรข้อปฏิบัติ เช่น การฉันในบาตร ท่านไม่ได้ฉันในถ้วยในจาน ญาติโยมประชาชนอยากจะให้ท่านอร่อย ท่านก็ไม่เอา เหมือนคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ อยากจะได้บุญเยอะ ก็ทำก๋วยเตี๋ยวพิเศษมาถวายองค์ละถ้วย องค์ละชาม อย่างนี้หลวงปู่มั่นท่านไม่เอา ท่านถือประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลัก เป็นแบบอย่างเพื่อเป็นประโยชน์แก่กุลบุตรลูกหลาน ตั้งแต่เบื้องต้นจนวาระสุดท้าย สมกับเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ สมกับเป็นผู้นำที่แท้จริง หลวงปู่มั่นไม่สนใจอะไรเลยสนใจแต่พรหมจรรย์ สนใจแต่มรรคผลนิพพาน สนใจแต่เรื่องพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา พิจารณาอริยสัจ 4 เดินธุดงค์เอาเสือ เอาช้าง เอาสัตว์ป่านานาพันธุ์เป็นเพื่อน หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ออกธุดงค์กรรมฐานไม่มีที่บิณฑบาต จนเทวดาเลื่อมใสมาตักบาตร
อย่างหลวงพ่อกัณหา ออกจาริกเดินธุดงค์ในเมืองไทยหรือประเทศพม่า มาเลเซีย ลาว เขมร เดินธุดงค์ระยะทางมากกว่า 60,000 กิโลเมตร ยาฟ้าทลายโจรที่มามีชื่อเสียงในเมืองไทย เพราะท่านเห็นว่าขมดี เอามาเป็นยาแก้ไข้ได้ จนได้สืบทอดมา ครั้งแรกมันขมมากก็ตั้งชื่อว่าขมสะท้านฟ้า เขาถึงมาตั้งชื่อทีหลังว่าฟ้าทลายโจร ท่านประพฤติปฏิบัติ
ที่บ้านเมืองเราเจดีย์มีวัดมีวา แต่ตัวเราทำตัวเป็นขาลงของพระศาสนา ถ้าเราไม่เข้าใจ เราไม่ใช้หลักเหตุผลคิดดูตามหลักเหตุผลตามวิทยาศาสตร์ เราก็จะขาดการปฏิบัติ ขาดพื้นฐาน ขาดศีล พอเราเอาปฏิปทาคนแก่ๆ คนที่อยู่วัดทำอะไรไม่ได้ แล้วไปทำตาม มันตกต่ำมาก ถ้าเราเข้าใจเรา ก็ประพฤติปฏิบัติได้ อยู่ที่บ้านอยู่ที่วัด ก็ประพฤติปฏิบัติได้ เราต้องปรับปรุงเข้าหาธรรมะ ต้องเอาข้อวัตรกิจวัตรเพื่อพัฒนาใจของเรา
เราต้องตั้งใจตั้งเจตนา ถ้าเราไม่ตั้งใจไม่ตั้งเจตนา มันไม่ได้หรอก เพราะศีลมันคือเจตนา สมาธิก็คือเจตนา ปัญญาก็คือเจตนา เจตนาทำให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องสัมมาทิฏฐิทุกคนต้องพัฒนา อย่าให้มันเป็นขาลง
เราต้องทำเหมือนพระพุทธเจ้าเพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่เอาอะไร เพราะศาสนามันคือเรื่องจิตใจที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ ไม่มีอะไรมาแอบแฝง เพราะว่ามรรคผลนิพพานมันเรื่องจิตเรื่องใจ ไม่ใช่เรื่องวัตถุ อย่างที่ดิน อาคาร โบสถ์ วิหาร มันไม่ใช่ศาสนา มันเป็นศาสนวัตถุ ธรรมวินัยก็คือมรรคคือผลคือพระนิพพาน
ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมอยู่ที่พรหมจรรย์ อยู่ที่ทุกคนมุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่โบสถ์ วิหาร ไม่ใช่ศาสนวัตถุ อันนั้นมันเป็นส่วนประกอบ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกคนเน้นทางจิตทางใจเน้นที่เจตนา พระเราบวชมาต้องเป็นผู้ที่เสียสละ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ พระอรหันต์คือผู้ที่เสียสละ ถึงได้เป็นพระอรหันต์ ถึงได้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงได้เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้ อย่าได้มีอะไรแอบแฝง ต้องเอาตัวอย่างพระอานนท์ ท่านขอพรที่จะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าไม่หวังอะไรตอบแทนเลย เรามาบวชมาปฏิบัติ เราไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไรคือพระศาสนา คือมรรคผลพระนิพพาน มีแต่พระธรรม มีแต่พระวินัย ยึดหลักที่พระพุทธเจ้าสอนที่พระไตรปิฎกในทุกวันนี้ เป็นหลักฐาน เป็นมาตรฐาน ตัดสินธรรมวินัยด้วยหลัก 8 ประการ หาความบริสุทธิ์อย่างนี้
ทุกคนก็ต้องพากันจัดการตัวเอง ดูพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เป็นสิ่งที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นสิ่งที่ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ ถ้าเราไม่พากันหยุดมีเซ็กทางอารมณ์ มีเซ็กทางความคิด ไม่หยุดที่พากันตามอารมณ์ตัวเอง มันจะไปได้อย่างไร เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันย่อมมี เพราะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันต้องหยุดก่อน ธรรมวินัยถึงไม่ได้ไปแก้ไขคนอื่น แต่ทุกคนที่มีศีลเสมอกันมีสมาธิเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ก็ต้องแก้ไขตัวเอง ถ้าอย่างนั้นน่ะ มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะพากันแก้ปัญหา มีแต่พากันสร้างปัญหา เหมือนเราเห็นปรากฎการณ์พัฒนาทางวิทยาศาสตร์ มันก็คือวิทยาศาสตร์ คือทำตามเหตุตามผล ทำตามความถูกต้องแล้ว ก็เข้าทางวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าให้เราพัฒนาไปไกลกว่านั้น คือพัฒนาใจของหมู่มวลมนุษย์ เรื่องศีลเรื่องพระวินัย คือเรื่องที่สำคัญ ถ้าอย่างนั้นหยุดอบายมุข หยุดอบายภูมิไม่ได้ ทุกท่านทุกคนจะอยู่ทุกหนทุกแห่ง จะแก้ปัญหาได้ดับทุกข์ได้ ครอบครัวเราจะอบอุ่น มีสติสัมปชัญญะ วางศาสตรา อาวุธ วางทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้เรายากลำบาก ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าความคิด เจ้าอารมณ์ เจ้าปรุงแต่ง ความปรุงแต่งถึงเป็นทุกข์ที่สุดในโลก
หมู่มวลมนุษย์ถึงต้องพัฒนาอย่างนี้ เขาเรียกว่าความรู้ของพุทธะ หลอมลงเป็นจุดเดียวทุกๆ ศาสนา เราอย่าไปคิดว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก เราต้องพากันมาแก้ตัวเอง ปฏิบัติตนเอง ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ไม่มีสมณะที่ ๑-๔ มันมีอยู่กับเราทุกๆ คนในปัจจุบัน ถ้างั้นหมู่มวลมนุษย์ไปกันไม่ได้ ทุกชีวิตของเราก็จะสงบเย็นเป็นพระนิพพาน ความเป็นพระก็จะเกิดกับผู้ที่ตามอริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมมะ 4 เกลอ คือ สติ-สัมปชัญญะ-สมาธิ-ปัญญา
ท่านพุทธทาสพูดถึงธรรมมะ 4 เกลอว่า “สติไปเอาปัญญามา เป็นสัมปชัญญะควบคุมเหตุการณ์อยู่ แล้วก็เพิ่มสมาธิลงไป เรื่องเลวร้ายนั้นก็จะแก้ได้”
ขยายความว่า ไม่ว่าความเห็นแก่ตัวม้นจะสร้างปัญหาใดๆ ขึ้นมากี่อย่าง กี่ประการ กี่ชนิด ธรรมมะ 4 เกลอจะใช้แก้ปัญหาได้ กล่าวคือ มีสติเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ ให้สติขนออกมาเผชิญหน้าเหตุการณ์ เอามาทำให้เป็นสัมปชัญญะที่คมกล้าต่อสู้เหตุการณ์ ถ้ากำลังไม่พอ ก็เพิ่มสมาธิลงไป สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่ได้ถึงที่สุด ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป
ท่านพุทธทาสพูดคำว่า 4 เกลอ (คำว่า “ เกลอ “ แปลว่าเพื่อน)
เพื่อนคนที่ 1 มีชื่อว่า “สติ” เพื่อนคนที่ 2 มีชื่อว่า “ปัญญา”
เพื่อนคนที่ 3 มีชื่อว่า “สัมปชัญญะ” เพื่อนคนที่ 4 มีชื่อว่า “สมาธิ”
ดังนั้น ธรรมมะ ๔ เกลอ จึงประกอบด้วย สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา
เมื่อคราวจะทำหน้าที่จริง ก็ต้องเรียงลำดับว่า มีสติไปขนเอาปัญญามา ทำเป็นสัมปชัญญะรบกันกับสิ่งเลวร้ายนั้น แล้วเพิ่มสมาธิลงไปจนชนะ
มารู้จักเพื่อนคนที่ 1 มีชื่อว่า “สติ”
“สติ” คือ ระลึกรู้กาย โดยมีเวทนา (ทางใจ) เกิดขึ้น
“เวทนา” คือ ความรู้สึกต่างๆ จิตจะเปลี่ยนไปตามสภาวะ สุข ทุกข์ และ เฉยๆ
สติ อุปมาเปรียบเสมือนเรดาร์ หรือตัวชี้วัด วัดกิเลสเข้ามาทางไหน (อายตนะภายในทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
ที่จะบอกว่า “กิเลสมาแล้ว กิเลสมาแล้ว”
พูดง่ายว่า “สติ” จะเป็นตัวเตือน นั่นเอง
เมื่อ “ สติ” ไม่มีกำลัง จึงต้องทำเหตุปัจจัยให้มีสติบ่อยๆ
ดังนั้น เราจึงควรต้องฝึก “สติ” ให้ได้ก่อน ตั้งหลักให้ได้ มีอะไรเกิดขึ้น หายใจลึกๆ หายใจยาวๆ ตั้งสติก่อนคิด ไม่ใช่คิดก่อนทำ ตั้งสติก่อนคิดแล้วค่อยทำ ทำไมต้องมาดูลม เพราะเวลาที่อยู่ฐานลม เราก็จะเห็นความคิด ถ้าอยู่ที่ชานชลา ก็จะเห็นรถไฟแห่งความคิด แต่ถ้าไปอยู่บนรถไฟแห่งความคิด เราก็จะไม่เห็นรถไฟ แต่จะเห็นข้างทาง นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องฝึกสติที่ฐานกายก่อน
การฝึกสติมีเทคนิคมากมายแล้วแต่ครูบาอาจารย์ท่านใดจะสอนโดยวิธีไหน เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ ดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ฯลฯ เป็นต้น
มารู้จักเพื่อนคนที่ 2 มีชื่อว่า “ปัญญา” “ปัญญา” แปลว่า รู้ทั่ว รู้รอบ
“ปัญญา” คือ ความรู้อันถูกต้องแท้จริงขอบธรรมมะ หรือของธรรมชาติ (คือรู้ในเรื่องอริยสัจ และไตรลักษณ์ นั่นเอง)
“ปัญญา” เปรียบเสมือนกับ “ความคม”
พอเรามีสติแล้ว ตัวที่ 2 สิ่งที่จะต้องฝึกไปพร้อมๆ กัน คือ “ปัญญา” ซึ่งปัญญาเป็นเพื่อนที่ดี มีปัญญาต้องคบบัณฑิต อ่านหนังสือธรรมะ เข้าวัด ฟังธรรม ฯลฯ “ปัญญา” เปรียบเสมือน “อาวุธ” นั่นเอง
ปัญญาเมื่อเก็บไว้ในคลัง เราเรียกว่า “ปัญญา” แต่ปัญญาที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ เราจะเรียกว่า “สัมปชัญญะ”
คนที่รู้มากเป็นพหูสูต รู้มากเกินไป พอตั้งสติได้ “อาวุธ” พร้อม แต่เราต้องตัวที่ 3 คือ “สัมปชัญญะ”
มารู้จักเพื่อนคนที่ 3 มีชื่อว่า “สัมปชัญญะ”
“สัมปชัญญะ” แปลว่า การรู้ทั่วพร้อม (อยู่ในส่วนของปัญญา)
“สัมปชัญญะ” คือ รู้ตัว ทั่วพร้อม ดึงปัญญาที่ใช่มาใช้ในยามจำเป็น ท่านพุทธทาส อุปมา “สัมปชัญญะ” เหมือนการเลือกว่าจะใช้อาวุธชนิดใดให้เหมาะกับสถานการณ์ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา คือมีเรดาร์จับข้าศึก มีอาวุธครบครัน แต่ดันเลือกอาวุธไม่เป็น เรียกว่า “ไม่มีสัมปชัญญะ”
บางคนอ่านหนังสือมาก แต่ไม่เคยฝึก ไม่เคยออกสนาม ไม่เคยไปสร้างประสบการณ์ จะไปสำเร็จได้อย่างไรกัน เพราะเลือกไม่เป็น มีความรู้ท่วมหัว แต่ดันเอาตัวไม่รอด
แต่ถ้าเครื่องบินมีตัววัด วัดกิเลสเข้าทางไหน เรดาร์คือ สติ มีปัญญาคือติดอาวุธ มีสัมปชัญญะ ก็คือมีกัปตันที่เก่ง เลือกยิงอาวุธที่เหมาะสม แต่ต้องมีน้ำมัน เครื่องบินถึงจะบินได้ ก็ต้องมีพลังงาน พลังงานที่ว่าคือ “สมาธิ”
มารู้จักเพื่อนคนสุดท้าย (คนที่ 4) คือ “สมาธิ” “สมาธิ” แปลว่า ทรงไว้ด้วยดี ทรงไว้อย่างสม่ำเสมอ “ สมาธิ” คือ ภาวะที่จิตตั้งมั่น สงบ และจิตนิ่ง หรือ การจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มั่นคง
“สมาธิ” เปรียบเสมือนกับน้ำหนัก หรือกำลัง สมาธิตัวนี้ที่เข้าไปเสริม “สติ” สมาธิที่เข้าไปเสริม “ปัญญา” สมาธิที่เข้าไปเสริม “สัมปชัญญะ”
ดังนั้น “สมาธิ” จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นี่ปัญญามาแล้ว เป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้าอารมณ์อยู่แล้ว แต่น้ำหนักยังไม่พอ ต้องเพิ่มสมาธิเข้าไป “สมาธิ” เอามาจากไหน ? มันก็เอามาจากที่เราฝึกไว้ดี ฝึกไว้คล่องแคล่ว
สรุป ธรรมมะ 4 เกลอ จะมีกระบวนการตั้งแต่ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น มันต้องมีอะไรไปหยิบเอามา สิ่งนั้นคือ “สติ” สติ ๆๆๆ สติมันระลึกได้ จึงไปขนเอา “ปัญญา” ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์มา ครั้งปัญญาถูกสติหยิบเอามาใช้เฉพาะเหตุการณ์ให้ตรงกับเรื่องราวแล้ว จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “สัมปชัญญะ” ถ้าสัมปชัญญะมีกำลังน้อยๆ น้อยไป ก็เอากำลังของ “สมาธิ” มาเพิ่มให้ ให้สมาธิเพิ่มกำลังแก่สัมปชัญญะ ไอ้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมหรือปัญญานั้นมันก็มีแรงมาก มีแรงมาก มันจึงจะสามารถขจัดปัญหาที่เกิดมาแต่อารมณ์นั้นๆ ได้
ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นๆ มันก็ถูกระงับไปได้ด้วยอำนาจของปัญญา ที่สมาธิเป็นเครื่องหนุนในทางกำลัง หรือสรุปเอาแบบง่ายๆ สั้นๆ ให้กระชับว่า “มีสติระลึกถึงปัญญาที่มีอยู่เพียงพอ เอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ สู้หน้ากับเหตุการณ์ แล้วเพิ่มกำลังจิตคือสมาธิให้มัน”
สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัว 'ศีล' ถึงเป็นตัว 'สมาธิ' ถึงเป็นตัว 'ปัญญา' น่ะ เค้าจะได้ชัขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มี "พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะ มันมีค่า มีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคือ 'อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน' ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพานน่ะ มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ
ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิด ว่าถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาติ อย่าไปคิดอย่างนั้น...!
คิดอย่างนั้น คือ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพ สร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง "ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์" ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
'การเวียนว่ายตาย' เกิดนี้... มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่างๆ แล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดีๆ พากันทบทวนตัวเองดีๆ น่ะ พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อ พากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหา 'ธรรมะ' ไม่ทำตามความอยาก... ความต้องการ... ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มี 'สัมมาทิฏฐิ' มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องอย่างนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee