แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖๖ พยายามสำรวมจิต เพื่อละราคะ โทสะและโมหะ อันเป็นเครื่องผูกแห่งมาร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก ตามความหลงนั้นมันไม่ได้ คือวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร หยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านได้บำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ แล้วได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาบอกมาสอน สมบูรณ์ด้วยอรรถะ พร้อมด้วยพยัญชนะ ทุกๆ ท่านทุกคนเป็นผู้ที่ประเสริฐ ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราต้องรู้นะว่าการปฏิบัติมันอยู่ทุกหนทุกแห่ง การเป็นพระเราไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ปัจจุบัน
ผู้ที่ไม่เข้าใจ ถึงไม่รู้การปฏิบัติ ผู้ที่เข้าใจแล้วก็ต้องเข้าสู้ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เมื่อหลาย 10 ปีก่อน มีพระเดินทางจากภาคอีสาน ไปกราบพระพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านก็ถามว่ามาจากไหน ก็บอกว่ามาจากภาคอีสาน ท่านก็ถามว่ามาทำไม เขาตอบว่า จะมาขอปฏิบัติธรรมอยู่ที่สวนโมกข์ หลวงพ่อพุทธทาส ถามว่า ท่านไม่มีวัดหรอ มีครับ ท่านก็ปฏิบัติอยู่ที่วัดของท่าน หลวงพ่อพุทธทาสก็บอกวิธีปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ปัจจุบัน
ทุกท่านต้องหยุดตัวหยุดตน เพราะตัวของเรานี้ จะไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันก็ปฏิบัติง่าย ถ้าเราปฏิบัติตามใจตัวเองมันก็ยาก ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันไม่ยาก เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ แล้วสำเร็จรูปแล้ว ไม่ว่าพระไม่ว่าโยม ไม่ว่าใครก็ ปฏิบัติได้เหมือนๆ กัน ประชาชนก็ปฏิบัติได้ ผู้ที่อยู่วัดบ้านก็ปฏิบัติได้ มหายานก็ไม่ต้องมาเป็นหินยาน เพราะว่าต้องเน้นให้มันหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ เพราะคนเกาหลีเขาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือคนประเทศจีนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พวกที่มหายานก็จะอยู่ประเทศตัวเองไม่ได้ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้แก้ที่คนอื่น มันแก้ที่ตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ไหนเขาก็รักอยู่ที่ไหนเขาก็เคารพนับถือหมด ไม่มีเรื่องไม่มีราว เพราะเราไม่ได้ว่าให้ใครไม่ได้แก้ไขคนอื่น รู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่คิด รู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่พูด รู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ มันก็จะดี ผู้ปฏิบัติธรรมถึงดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่ามาบวชใหม่ บวชไม่สึกก็ไปหาสร้างวัด มันหนักกว่าเก่าอีก เราไปโทษเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่เคารพนับถือเรา มันไปขวางหูขวางตา อย่างเป็นพระหินยานเห็นใส่ชุดมหายานก็เครียด เป็นศาสนาพุทธเห็นเขาแต่งชุดอิสลามก็เครียด เห็นเขาแต่งตัวแบบคริสต์ก็เครียด มันไม่ใช่ เพราะว่าเราจะให้คนอื่นคิดเหมือนเราทำเหมือนเรา เมื่อเขายังไม่เคารพเลื่อมใส จะบอกจะสอนเขายังไม่ได้ แบรนด์เนมทางจิตใจเราต้องรักษาไว้ คือหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ อย่างการปลงผม ประเทศไทยเรา 1 เดือน ทำไมต้อง 1 เดือน เพราะสมัยโบราณนั้นยากจน ใช้มีดใหญ่ ไม่เหมือนมีดสมัยใหม่ กว่าจะลับจะอะไร มันต้องใช้เวลานาน ก็เลยบังคับเดือนละครั้ง รักษาแบรนด์เนมไว้ สีผ้า สีเหลืองคือสีแก่นขนุน จีวรก็ให้มันได้มาตรฐาน ต้องรักษาแบรนด์เนมไว้ สิกขาบทน้อยใหญ่มันจึงจะหยุดกรรมหยุดเวร เพราะที่ไหนมันก็ต้องมีบ้าน มีวัด มีโรงเรียน ใครจะมาบวช มาปฏิบัติก็ต้องอย่างนี้ ไม่ใช่เอาเปรียบสังคม ถ้าเรายังเสียสละไม่พอ ก็เป็นฆราวาสที่ดี ยังไม่ต้องมาบวช
พระก็ทำหน้าที่ของพระ รักษาศีล ไม่ใช่ปล่อยให้มีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ ปล่อยให้วัดสกปรก ถ้างั้นเราจะมีความสุขได้อย่างไงหน่ะ มันมีระบบคิดหน่ะ ไปคิดอย่างนั้นอย่านู้นมันย่อมไม่สงบ
พระศาสดาประทับที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี กุลบุตรผู้หนึ่งชาวเมืองสาวัตถีนั่นเอง ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว มีความเลื่อมใสขออุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว ปรากฏนามว่า สังฆรักขิต ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากบวชแล้วเพียง ๒-๓ วัน น้องชายของพระสังฆรักขิตนั้น มีบุตรชายคนหนึ่งให้บวชในสำนักของพระสังฆรักขิตผู้เป็นลุง แม้พระนั้นก็ชื่อสังฆรักขิตเหมือนกัน จึงเรียกกันว่า ภาคิไนยสังฆรักขิต คือสังฆรักขิตผู้เป็นหลาน
เธอจำพรรษาที่วัดใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ได้ผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าจำนำพรรษา) มา ๒ ผืน ผืนหนึ่งยาว ๗ ศอก อีกผืนหนึ่งยาว ๘ ศอก เธอกำหนดไว้ในใจว่า จะถวายผืนที่ยาว ๘ ศอก นั้นแก่หลวงลุง.. จึงไปคอยพระเถระอยู่ ณ ที่อยู่ของท่าน เมื่อหลวงลุงมาก็ทำการต้อนรับ รับบาตร จีวร อาราธนาให้พระเถระนั่ง ล้างเท้า และถวายน้ำดื่ม พัดพระเถระอยู่ครู่หนึ่ง แล้วนำผ้ายาว ๘ ศอกออกมาถวาย อ้อนวอนขอให้หลวงลุงรับไว้ เพราะเป็นความตั้งใจของตนตั้งแต่ได้มา.. แต่ท่านลุงปฏิเสธ บอกว่าผ้าสำหรับใช้ของท่านมีบริบูรณ์แล้ว ขอให้พระสังฆรักขิตเอาไว้ใช้เอง..
พระสังฆรักขิตผู้หลานอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระเถระก็หารับไม่ คงยืนยันอย่างเดิม.. พระหลานชายน้อยใจว่า "ว่าโดยฐานะทางสายโลหิตก็เป็นหลาน เมื่อบวชก็เป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์อุปัชฌาย์) แม้เป็นเช่นนี้ ท่านไม่ประสงค์ใช้สอยร่วมกับเรา ท่านรังเกียจในการรับผ้าสาฎก ที่เราตั้งใจมานานที่จะถวาย เราจะเป็นสมณะอยู่ทำไมอีก เราควรสึกไปเป็นคฤหัสถ์" เธอคิดดังนี้แล้วได้คิดต่อไปว่า "การครองเรือนตั้งตัวได้ยาก ควรจะทำอะไรกิน มองเห็นทางอยู่อย่างหนึ่งคือ เอาผ้าสาฎก ๘ ศอกไปขาย แล้วซื้อแม่แพะมาตัวหนึ่ง แม่แพะออกลูกเร็ว เมื่อแม่แพะออกลูกแล้ว จะขายลูกแพะเอามาทำต้นทุน เมื่อรวมเงินได้มากแล้ว จะหาหญิงคนหนึ่งมาเป็นภรรยา ต่อมาจะมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง จะพาลูกนั่งเกวียนมาหาหลวงลุง เราจะอุ้มลูกแต่แม่เขาบอกว่า ให้เราขับเกวียนเขาจะอุ้มเอง โดยความเผลอเลอ ลูกหล่นลงไปอยู่ที่ทางเกวียน ล้อเกวียนจะทับลูกเรา โกรธภรรยาจับเอาด้ามปฏักตีหัวมัน" .. คิดมาถึงตอนนี้ สังฆรักขิตเอาด้ามพัดตีหัวหลวงลุงพอดี เพราะเพลินไปว่าเป็นภรรยาตน..
พระเถระคิดว่า ทำไมพระหลานชายจึงทำอย่างนี้ กำหนดจิตจึงรู้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ จึงกล่าวว่า "สังฆรักขิต! เธอตีมาตุคามไม่ได้แล้ว เรื่องอะไร จึงมาตีเอาเราเล่า?"
พระสังฆรักขิตคิดว่า "ตายจริง! พระอุปัชฌาย์รู้เรื่องที่เราคิดด้วย เราจะอยู่เป็นพระได้อย่างไรต่อไป เราจะสึกละ" ดังนี้แล้วได้วางพัดใบตาลแล้วออกวิ่งหนี...ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นออกวิ่งไล่ตาม จับมาได้ พาไปเฝ้าพระศาสดา..พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องทั้งปวงแล้วตรัสว่า "ภิกษุ! เธอทำกรรมหนักอย่างนั้นทำไม เธอเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งผู้มีความเพียร เธอบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา ควรมีความเพียรให้เขาได้เรียกตนว่า เป็นโสดาบัน หรือสกทาคามี อนาคามี จะมิควรหรือ” .. "เธออย่าคิดอะไรมากไปเลย มาเถิดมาฝึกฝนอบรมจิต ธรรมดาจิตย่อมรับอารมณ์ได้ไกล ท่องเที่ยวไปไกล เธอควรพยายามสำรวมจิต เพื่อให้ละราคะ โทสะและโมหะ อันเป็นเครื่องผูกแห่งมาร" ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ว่า
"ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.
ชนเหล่าใด จักสำรวมจิต อันไปในที่ไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ มีถ้ำเป็นที่อาศัย ชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร"
จบพระธรรมเทศนา พระภาคิไนยสังฆรักขิตได้บรรลุโสดาปัตติผล
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูรงฺคมํ เป็นต้น (พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้) ก็ชื่อว่าการไปและการมาของจิต โดยส่วนแห่งทิศมีทิศบูรพาเป็นต้น แม้ประมาณเท่าใยแมลงมุม ย่อมไม่มี, จิตนั้นย่อมรับอารมณ์ แม้มีอยู่ในที่ไกล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทูรงฺคมํ.
อนึ่ง จิต ๗-๘ ดวง ชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นเนื่องเป็นช่อโดยความรวมกันในขณะเดียว ย่อมไม่มี, ในกาลเป็นที่เกิดขึ้น จิตย่อมเกิดขึ้นทีละดวงๆ, เมื่อจิตดวงนั้นดับแล้ว, จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นทีละดวงอีก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอกจรํ.
สรีรสัณฐานก็ดี ประเภทแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้นเป็นประการก็ดี ของจิต ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อสรีรํ.
ถ้ำคือมหาภูต ๔ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ชื่อว่า คูหา, ก็จิตนี้อาศัยหทัยรูปเป็นไปอยู่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า คุหาสยํ.
สองบทว่า เย จิตฺตํ ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือเป็นบุรุษหรือสตรี เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เมื่อไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะความฟั่นเฟือนแห่งสติ ชื่อว่าจักสำรวมจิต คือจักทำจิตให้สงบ ได้แก่ไม่ให้ฟุ้งซ่าน.
บาทพระคาถาว่า โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ความว่า ชนเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าจักพ้นจากวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันนับว่าเป็นเครื่องผูกแห่งมาร เพราะไม่มีเครื่องผูกคือกิเลส.
ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่าเอาตัวตน เอาตัวตนมันไม่ได้ อย่างพระอรหันต์ อย่างพระมหาโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ท่านก็ทรงธรรมทรงพระวินัยไว้ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ เช่นเดียวกัน
ในวันมหาสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาภิกษุล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยอภิญญาและสมาบัติ ๕๐๐ รูปประชุมเป็นมหาสันนิบาต ณ หน้าถ้ำสัตตบรรณ เชิงภูเขาเวภาระ ธงแผ่นผ้าสีกาสาวะ คือเหลืองหม่น สะบัดพริ้วตามแรงลมดูงามรุ่งเรือง
เสียงเภรีสลับเสียงระฆังดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าสงฆ์ทั้งมวลพร้อมแล้ว ก่อนจะเริ่มมหาสังคายนา พระมหากัสสปประธานสงฆ์ได้ตั้งปัญหาถามพระอานนท์พุทธอนุชาในนามของสงฆ์ว่า "อานนท์! เมื่อสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เธอเคยเย็บหรือปะหรือชุนผ้าสำหรับพระพุทธองค์ทรงใช้สรงมิใช่หรือ?"
"ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าเคยทำอย่างนั้น" พระอานนท์รับ
"ในขณะที่เย็บหรือปะหรือชุนผ้าสำหรับพระพุทธองค์ทรงใช้สรงมิใช่หรือ?" "สงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทำอย่างนั้น"
"ดูกรอาวุโส อานนท์" พระมหากัสสปกล่าว "ในนามของสงฆ์ สงฆ์เห็นว่าเธอจะทำไม่สมควร เธอไม่ควรใช้เท้าหนีบผ้าของพระตถาคต ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฎ แต่เธอทำ เธอจงแสดงอาบัติเสีย"
พระอานนท์ พุทธอนุชา ลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประณมมือแล้วกล่าวว่า "ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ! ข้าพเจ้าทำอย่างนั้นด้วยความจำเป็น การใช้เท้าหนีบผ้าแห่งพระตถาคตแล้วเย็บนั้น จะเป็นเพราะไม่เคารพก็หามิได้ แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้นจะเย็บได้อย่างไร ในเมื่อข้าพเจ้าทำเพียงผู้เดียวเท่านั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เอาเถิด ท่านทั้งหลาย! ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงในสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติทุกกฎในเพราะเรื่องนี้"
"อานนท์! ยังมีอีกหลายข้อ" พระมหากัสสปกล่าว "ข้อหนึ่งคือ เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงนิมิตโอภาส คือให้นัยแก่เธอถึง ๑๖ ครั้ง เพื่อให้ทูลให้พระองค์พระชนม์อยู่ต่อไป แต่เธอมิได้ทูลไว้ สงฆ์เห็นว่าเธอกระทำไม่สมควร เป็นความผิดของเธอ เธอต้องแสดงอาบัติในเรื่องนี้"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!" พระอานนท์กล่าว "เหตุที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลอาราธนาพระศาสดาให้ทรงพระชนม์ต่อไปนั้น เป็นเพราะเวลานั้นข้าพเจ้ากำลังระทมทุกข์ และกังวลถึงเรื่องอาพาธของพระศาสดา มิได้เฉลียวใจในเรื่องนั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงและเคารพในมติของสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าก็ยอม และขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้"
"อานนท์!" พระมหากัสสปกล่าว "ยังมีอีก คือเธอเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระศาสนา เธอพยายามอ้อนวอน ข่มขี่พระศาสดา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงห้ามตั้งหลายครั้งว่าอย่าพอใจขวนขวายให้ภิกษุณีเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้เลย เธอก็ไม่ยอมฟัง พยายามขวนขวายให้ภิกษุณีเข้ามาบวชจนได้ ก่อความยุ่งยากในภายหลังมิใช่น้อย ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! ข้อนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าใจอ่อนทนดูสภาพของพระมหาปชาบดีโคตมีพระน้านางแห่งพระทศพลเจ้ามิได้ พระนางได้ปลงพระเกศามาแล้ว มีร่างกายขะมุกขะมอมบอบช้ำ ทรงพิลาปรำพันอย่างเหลือล้น ปรารถนาจะบวชด้วยศรัทธาอันแรงกล้าและเห็นว่าพระนางทรงมีอุปการะต่อพระศาสดามาล้น ข้าพเจ้าจึงขวนขวายให้พระนางได้บวช และเมื่อพระนางเป็นภิกษุณีแล้ว ก็สามารถขจัดกิเลสบรรลุพระอรหันต์ได้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ข้าพเจ้าก็ยอมและขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้"
"อานนท์! ยังมีอีก" ประธานสงฆ์กล่าว "คือเมื่อพระศาสดาบรรทม ณ เตียงเป็นที่ปรินิพพาน พระองค์ทรงเปิดโอกาส ทรงอนุญาตไว้ว่า เมื่อพระองค์นิพพานแล้ว สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสงฆ์พร้อมใจกันจะถอนเสียบ้างก็ได้ เธอได้ทูลถามหรือไม่ว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นพระองค์ทรงหมายถึงสิกขาบทอะไร?"
"ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามเลย ท่านผู้เจริญ" พระอานนท์ตอบ
"นี่ก็เป็นความผิดของเธอ" ประธานสงฆ์กล่าว
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! ที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามถึงสิกขาบทเล็กน้อยนั้น เป็นเพราะข้าพเจ้ากลุ้มใจ กังวลใจในเรื่องพระศาสดาจะนิพพานจนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติของสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิดข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ"
"อานนท์! ยังมีอีก" ประธานสงฆ์กล่าว "คือในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เธอจัดให้สตรีเข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน สตรีเหล่านั้นร้องไห้น้ำตาเปื้อนพระพุทธสรีระ ข้อนี้ก็เป็นความผิดของเธอ"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! การที่ข้าพเจ้าจัดให้สตรีเข้าถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนนั้น เป็นเพราะคิดว่าธรรมดาสตรีไม่ควรอยู่นอกบ้านจนมืดค่ำ ข้าพเจ้าจัดให้ถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน เพื่อเธอจะได้กลับบ้านก่อนตะวันตกดิน และได้ไปหุงหาอาหารเพื่อสามี หรือมารดาบิดา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงในสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิดข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ"
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาของคนโปรดปรานของผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อผู้ยิ่งใหญ่สิ้นชีพหรือล้มลง เพื่อนก็จะเริ่มรังแก ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่ผู้ใหญ่ยังคงยิ่งใหญ่อยู่ จะไม่มีใครกล้าแตะต้องคนโปรดของท่าน พระอานนท์เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระศาสดา เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว ดูๆ เหมือนว่าท่านจะถูกสงฆ์รังแกให้รับผิดในท่ามกลางมหาสันนิบาต แม้ในสิ่งที่ท่านไม่ผิด ถ้ากฎที่กล่าวข้างต้นเป็นความจริง และกฎทุกอย่างมีข้อยกเว้น เรื่องพระอานนท์ควรเป็นข้อยกเว้นในกฎนี้ ที่ว่าดูๆ เหมือนท่านจะถูกรังแกนั้น ความจริงมิได้เป็นอย่างนั้นเลย เรื่องที่สงฆ์ลงโทษพระอานนท์ และพระมหากัสสปให้พระอานนท์ยอมรับผิดนั้น อย่างน้อยมีผลดีถึง ๒ ประการคือ
๑. เป็นกุสโลบายของพระมหากัสสป พระเถระผู้เฒ่าที่ต้องการจะวางระเบียบวิธีปกครองคณะสงฆ์ ให้ที่ประชุมเห็นว่าอำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของคณะสงฆ์เป็นคำเด็ดขาด แม้จะเป็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะดำเนินตาม
๒. เรื่องนี้ได้ส่งเสริมเกียรติคุณของพระพุทธอนุชาให้ก้องยิ่งขึ้น เป็นตัวอย่างในทางเป็นผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในพระอานนท์
รวมความว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระอานนท์ในคราวปฐมสังคายนานั้น ทำให้เกียรติประวัติของท่านจับใจยิ่งขึ้น น่ารักเคารพยิ่งขึ้น
เมื่อทรงธรรมทรงวินัยอย่างนี้ ทุกคนน่ะก็พากันยอมรับได้ พสกนิกรก็หยุดกันโกงกินคอรัปชั่น เพราะว่าพระภิกษุทำเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ถ้าเราไม่ได้ทำเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เราจะเอาอะไรไปสอนน่ะ จะเอาแต่ในหนังสือไปสอนหรือ ก็คนเราจะละเลย มันก็ยากลำบาก มีคนถามหลวงพ่อว่าจะเอาไปเขียนเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ทำไมไม่ได้ เพราะว่ามันแค่เจริญสติเฉยๆ ไม่ได้มีสัมมาสมาธิ มันทำให้ใจเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ เวลาไปเรียนเขาว่าทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ มันไม่ได้เพราะพวกนี้เป็นจิตวิทยา ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างอรหันต์ ทำไมไม่มีน้ำเชื้อ ผู้หญิงผู้ชายอย่างนี้ เพราะว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ พวกมหายานเขาก็คิดว่า ถ้าไม่เอาเหมือนเถระวาทนี้มันไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็อยู่ประเทศตัวเองที่เป็นมหายานไม่ได้ เพราะว่ามันไม่เกี่ยว มันไม่ใช่เรื่องภายนอก มันคือเรื่องจิตใจ ถ้าเราเป็นคนดี มีศีลมีธรรม ทุกคนก็รักเคารพ นับถือ เพราะเราเป็นคนฉลาดเป็นคนดี ประเทศจีนก็จะเอาธรรมะ กับวิทยาศาสตร์ปกครองตัวเองได้ ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอเมริกาก็ได้ ถ้าประเทศที่เป็นมหายานคิดว่าต้องมาอยู่ไทย อยู่ศรีลังกา แย่เลย ปฏิบัติอย่างตกนรกทั้งเป็น ถ้างั้นฆราวาสก็ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สิ ถึงจะเป็นมหายานก็น่าจะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ได้ อย่างน้อยหน่ะ
เราอย่าไปตามใจตัวเอง ดูตัวอย่างลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ที่ทำตามหลวงปู่มั่น พากันได้เป็นพระอริยเจ้า ได้เป็นพระอรหันต์ ดูอย่างหลวงพ่อสุเมโธ ท่านอยู่นี่เอาธรรมเอาพระวินัย ไม่ได้ตั้งโปรแกรมว่า เดือนนี้ไปอยู่ที่นั้นเดือนนั้นไปอยู่ที่นี้ ท่านก็อยู่กับธรรมะวินัย 10 ปีก็เข้าร่องเข้ารอย พวกฆราวาสก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่จะหนีโลกไปไหน
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ. สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ มีความวิจิตรตระการสวยงาม คนพวกโง่ คนเขลาหลงอยู่ แต่ผู้รู้ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่"
โลกนี้มันสวยเหมือนราชรถ ก็เพราะว่ามันเต็มไปด้วยของยั่วใจคน ยั่วให้คนชอบ ให้คนหลงรัก ทางอายตนะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็คือสิ่งที่ให้เกิดความรักความยินดีนั่นแหละ มันเต็มไปหมดทั่วไปในโลก, คนเรามีกิเลสคอยหาเหยื่อชนิดนี้ ไอ้ที่มันไม่สวย ไม่ยั่วใจ ไม่ล่อใจนั้นก็ไม่อยากจะไปหาไม่อยากจะมอง, ก็อยากจะมองแต่ที่สวย ที่สบายแก่ตา แต่มันมีความหมายลึกกว่าเรื่องทางวัตถุ : มันลึกลงไปถึงจิตใจ คือสวยแก่หู แก่จมูก แก่ลิ้น แก่ผิวหนัง แก่จิตใจ, คำว่า “โลกมันสวย” หมายความว่าอย่างนี้ ที่คนโง่ทั้งหลายในโลกจมติดอยู่ รวมทั้งเราด้วย รวมทั้งพวกเราด้วย จมติดอยู่ในโลกเพราะโลกมีความสวยเหมือนกับราชรถ
....พูดกลับอีกทีหนึ่งว่า ไอ้คนที่หลงติด (โลกที่มีความสวยดุจราชรถ) อยู่นั้นคือ “คนโง่” หรือถ้าเป็นคนโง่มันก็ต้องหลงติดอยู่เป็นธรรมดา แต่ผู้รู้เขาไม่ติด ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเขาเห็นว่าไอ้ความสวยเหมือนราชรถนั้นมันเป็นเรื่องหลอก มันไม่ใช่ความเป็น “เช่นนั้นเอง”, ไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองลึกไปกว่านั้น คือมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันน่าเกลียด ที่ว่ามันหลอกคนให้หลงรัก, หลงรัก แล้วก็เป็นทุกข์ สิ่งสวยงามเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ, ไปหลงรักเข้าก็เป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญามองเห็นลึกลงไปจึงเห็นไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองว่า มันมีการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ไปหลงไหลมันเข้า มันก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่ามันจะไม่รับรู้ในความหลงรักของเรา หรือความต้องการของเรา เราควรจะเห็นสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่ไม่ต้องหลงรัก ในทางที่จะเกลียดก็เหมือนกัน ไม่ต้องเกลียดหรอก มันเสียเวลาที่จะไปเกลียดให้มันเหนื่อย คือมันเป็น“เช่นนั้นเอง”ของมันเอง มันเป็นเช่นนั้นเองก็ให้มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปหลงรัก ไม่ต้องไปหลงเกลียด”
ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดูโลกทั้งโลก หรือทั้งประเทศไม่ใช่อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ให้ดูโลกอยู่เสมอ
ให้ดูจิต พิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดขึ้นอยู่ที่ใจ ความอยากเกิดที่ไหนโลกก็เกิดที่นั่น เพราะความอยากเป็นบ่อเกิดของโลก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น เมื่อเรามาปฏิบัติ แล้วมาเจริญมรรค มานั่งสมาธิ อยากให้มันสงบ มันก็ไม่สงบ ไม่อยากให้มันนึกคิดมันก็นึกคิด เพราะไปนั่งใส่รังมดแดง รังมดอยู่ที่นั่นก็เอาก้นไปนั่งทับมัน อย่างนั้นมันก็กัดเอาซิ ใจของเรามันเป็นโลกอยู่ มาปฏิบัติมันก็เกิดโลกขึ้นมาเลย ความดีใจความเสียใจ ความวุ่นวายความเดือดร้อน ก็เกิดขึ้นมาทันที เพราะอะไรล่ะ เพราะเราไม่บรรลุถึงธรรม เพราะใจเราเป็นอยู่อย่างนี้
โลกภายนอกแปรผันอย่าหวั่นไหว โลกภายในลึกล้ำควรศึกษา
โลกภายนอกย่อมเห็นเป็นธรรมดา โลกภายในล้ำค่าถ้ารู้ธรรม
ใครเข้าใจรู้โลกนี้จักมีสุข ยามมีทุกข์ปลงได้ไม่ตกต่ำ
ใครหลงโลกไม่รู้ดูมืดดำ หากถลำถอนยากลำบากลำบน
โลกภายนอกกว้างไกลใครก็รู้ โลกภายในลึกซึ้งอยู่ดูสับสน
โลกภายนอกแปรเปลี่ยนเวียนหมุนวน โลกภายในใจคนเกินพรรณนา
อยู่เหนือโลกชนะได้ในทุกสิ่ง จิตแน่วนิ่งชำระละตัณหา
รู้ปล่อยวางดีชั่วตัวมายา สติปัญญาหยิบใช้ให้ทันการ ฯ
คนเราเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันที่มีความสุข มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คนสำรวมตัวเอง คือคนปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง... และสำรวมตนอยู่ในธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee