แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖๔ ผู้ฉลาดสามารถวินิจฉัยคดีและตัดสินความโดยละเอียดลออ มีธรรมคุ้มครองใจ นั่นคือ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ท่านผู้เป็นผู้พิพากษา เป็นผู้มีบุญมีกุศลมาแต่ปางก่อน ทุกท่านต้องมาต่อยอดในสิ่งที่ประเสริฐให้ประเสริฐยิ่งๆ ขึ้นไป การแก้ปัญหาโลกนี้ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยก็ถือว่ายังไม่ได้ อย่างผู้ทำผิดมารวมกันก็สามารถออกกฏหมายผิดๆ มาได้ คอมมิวนิสต์ก็เป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้หรอก ถ้ายังเอาตัวตนเป็นใหญ่ ผู้พิพากษานี้ถึงต้องเป็นผู้ที่เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ชีวิตของเราน่ะ คือความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการดำเนินชีวิตในสิ่งที่ประเสริฐ
เมืองไทยเรานี้น่ะ เอาหลักการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือใคร? พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ทรงรู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ทำตามใจตัวเองไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองไม่ทำตามความรู้สึกตัวเอง จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา คือธรรมะที่ประเสริฐปราศจากซึ่งตัวซึ่งตน
ประเทศไทยเราก่อตั้งประเทศมา ก็เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยนี้เพิ่งเกิดมาไม่กี่ 100 ปีนี้ เพราะว่าปัญหาสากล ที่จะหาผู้ที่เป็นพระอริยเจ้านี้หาลำบาก จะมีการสอบการเรียนการศึกษาเอาผู้ที่เสียสละมาทำงาน การเรียนการศึกษาก็เรียนให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่วเพื่อเราจะได้มาเสียสละ จะได้บอกคนอื่นให้เสียสละ
การปกครองถึงต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ยังกฎหมายนี้บางอย่างก็ยังไม่ถูกต้อง เช่น กฎหมายให้ทำแท้ง กฎหมายให้มีเหล้ามีเบียร์ มีบ่อนคาสิโน หรือว่ากฎหมายสิทธิเสรีภาพของบางประเทศที่ให้ประชาชนมีปืนมีอาวุธ ถ้าไม่ให้มีก็เป็นลิดรอนสิทธิเขา เป็นต้น
พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนอยู่แล้วว่าอย่าไปมีอาวุธที่ทำร้ายคนอื่นสัตว์อื่นไม่ขายของมึนเมาเป็นต้น อย่างนี้แหละต้องเอาความถูกต้อง เพราะว่าโลกนี้จะไปได้จะไว้วางใจกันได้ก็คือธรรมะ เราต้องรู้จัก ถ้าเราตามอารมณ์ตามความคิดไป สติสัมปชัญญะของเรามันก็ไม่สมบูรณ์หรอก ถือว่าเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ อะไรเลย เท่ากับเราเป็นคนเดือนมืด หรือว่าเป็นคนตาบอด ถ้าเราเป็นคนเดือนมืดก็มองไม่เห็น คนตาบอดก็มองไม่เห็นอย่างนี้แหละ
ท่านผู้พิพากษาอัยการเจ้าหน้าที่ตุลาการทั้งหลายเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องมาต่อยอดความถูกต้อง อย่าให้อิทธิพลของกฎหมู่มาเหนือกฎหมาย อย่าให้อิทธิพลของเงินของสตางค์ครอบงำได้ เพราะว่าข้าราชการจริงๆ ก็มีไม่เท่าไหร่หรอก มีแต่ข้าราชกิน นักการเมืองก็ไม่ค่อยมี มีแต่นักกินเมือง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราต้องรู้จัก พรรคตั้งมาเยอะแยะ มาสรุปลงพรรคเดียวคือพรรคเงิน
วันหนึ่ง พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านใกล้ประตูด้านทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตแล้วมาสู่วิหารโดยท่ามกลางพระนคร.
ขณะนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้นยังฝนให้ตกแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ศาลาที่ทำการวินิจฉัยอันตั้งอยู่ตรงหน้า เห็นพวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ จึงคิดว่า "โอ! มหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม, แต่พวกเราได้มีความสำคัญว่า 'มหาอำมาตย์เหล่านี้ทำการวินิจฉัยโดยธรรม’"
เมื่อฝนหายขาดแล้ว มาถึงวิหาร ถวายบังคมพระศาสดานั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลความนั้น. พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินความโดยผลุนผลัน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม, ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้วตัดสินความโดยละเอียดลออ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถํ สหสา นเย โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺทิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ.
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไปโดยความผลุนผลัน; ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดีและไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไปโดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ, ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า "ตั้งอยู่ในธรรม."
พระพุทธเจ้าน่ะให้เราเรียนเราศึกษา เพื่อพากันมาเสียสละ ให้เราเรียนมาเพื่อมาทำงานเพื่อมาเสียสละ เราถึงจะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ เราจะได้มีศีลเสมอกัน มีสมาธิความตั้งมั่นเสมอกัน จะได้ปิดอบายมุขอบายภูมิ เรานี้เต็มไปด้วยอบายมุขยังเรียนก็เพื่อความเห็นแก่ตัวทำมาหากินก็เพื่อเห็นแก่ตัวไม่ค่อยมีใครเสียสละเลย คนที่เสียสละ คนนั้นถึงจะมีศีลสมาธิปัญญา เข้าถึงธรรมเข้าถึงปัจจุบันธรรม
ผู้พิพากษาทุกคนต้องทำงานเป็นทีม อย่าทำงานเป็นพรรคเป็นพวก พรรคพวกนี้ก็คือโจรนั่นแหละ เพราะความถูกต้องนั้นไม่มีพรรคมีพวก ทีมก็คือธรรมะ ให้ไปในทางเดียวกัน อย่าไปใจอ่อน คนใจแข็งไม่จำเป็นต้องพูดแข็ง ให้พูดเพราะๆ กิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน เราเป็นคนใหญ่เป็นผู้พิพากษายการเค้าเรียกว่า “ท่าน” ท่านก็คือผู้เป็นหลักเป็นใหญ่ เป็นผู้มี “พรหมวิหารทั้ง ๔” คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ถือพรรคถือพวก ถือความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม พรหมวิหาร ๔ คืออะไรคือสิ่งที่เป็นเครื่องอยู่ของผู้เป็นใหญ่ "วิหาร" เราเคยได้ยินคำว่า วิหาร วิหาร เราก็จะนึกภาพไปถึงสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวัด เป็นตึก เป็นอาคารที่มีพระพุทธรูปอยู่ เรียกว่า วิหาร แต่พรหมวิหารในที่นี้ไม่ใช่เทวาลัยไม่ใช่ศาสนสถานของพระพรหม พรหมวิหาร ตรงนี้ หมายถึงคุณธรรม ธรรมเครื่องอยู่ของผู้เป็นหลักเป็นใหญ่ ผู้ที่ประเสริฐ มีอยู่ ๔ ประการ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๔ อย่างนี้ที่ทำให้คนเป็นใหญ่
ข้อที่ ๑ "เมตตา" หมายถึงว่า ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า เช่น ในยามที่ลูกน้องมีความสุข หน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เจ้านายก็ควรสนับสนุน ส่งเสริมให้พวกเขาได้มีความสุขกับชีวิตอย่างยั่งยืน คอยหมั่นสังเกตและซักถามความเป็นอยู่ของลูกน้อง จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าหัวหน้าเอาใจใส่และห่วงใยพวกเขาจากใจจริง เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้การบริหารเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมตตา ต้องเป็นเมตตาแบบไม่เอาพรรคเอาพวก ทำไมพรหมถึงมี ๔ หน้า พรหมมี ๔ หน้า เพราะว่าเหมือนกับเป็นการป่าวประกาศถึงคุณธรรม ๔ อย่างนี้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา คนส่วนใหญ่มักจะเลือกเมตตา เมตตาเฉพาะพรรคพวก ญาติพี่น้อง คนที่ให้ผลประโยชน์ ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ก็ไม่เมตตา ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่ได้อะไร แต่พระพรหม ผู้เป็นหลักเป็นใหญ่จริง ๆ ท่านเมตตาแบบไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ไม่มีขีดจำกัด ต้องเป็นแบบ unlimit ไม่มีประมาณไม่มีจำกัด
ข้อที่ ๒ "กรุณา" คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ เช่น ในยามที่ลูกน้องประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว หัวหน้าก็ควรจะยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม เวลานี้เป็นเวลาที่คนเราต้องการการสนับสนุนมากที่สุด ซึ่งหลายครั้งสิ่งที่พวกเขาต้องการอาจเป็นแค่เพียงคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจหรือคำพูดที่ให้กำลังก็เป็นได้ สิ่งที่สำคัญคือ หัวหน้าจะต้องไม่ทอดทิ้งกันในวันที่พวกเขามีปัญหา
ข้อที่ ๓ "มุทิตา" มุทิตา คือความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เช่น ในยามที่ลูกน้องประสบความสำเร็จ ทำผลงานได้ดี ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เจ้านายก็ควรแสดงความยินดีด้วยจากใจจริง อย่ากลัวว่าลูกน้องจะได้ดีขึ้นมาจนเหนือตนเอง แต่กลับควรจะส่งเสริมอย่างเต็มที่และภาคภูมิใจเสียด้วยซ้ำว่าคนที่ตนเองดูแลมาตั้งแต่ต้นกำลังได้รับความก้าวหน้า เหมาะสมกับความสามารถและความทุ่มเทที่เขามีให้กับองค์กร
ผู้ที่อยู้ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ก็อย่าไปอิจฉากัน เวลาเห็นคนอื่นได้ดี คนส่วนมากก็อิจฉากัน บางทีเกินหน้าเกินตา มันเด่นเกิน แบบนี้มันหยามกัน อะไรอย่างนี้อิจฉา เพราะจิตมนุษย์ไม่มีมุทิตามุทิตา แปลว่าคนอื่นมีความสุขนี่ยินดีด้วย แสดงความยินดีด้วย แล้วก็แสดงความยินออกมาจากใจจริงๆ มุทิตาจิต จึงเป็นจิตของผู้หลักผู้ใหญ่ที่มองแล้วรู้สึกยินดีกับเขาที่เขามีความสุข ถึงแม้เราจะไม่ได้อย่างนั้นบ้าง เราก็ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเราเข้าใจในความเป็นจริงของโลกว่า คนเราพื้นฐานไม่เท่ากัน บุญบาปที่ทำมาไม่เท่ากัน
ที่สำคัญที่สุดข้อสุดท้าย คือ “อุเบกขา” ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน จึงเป็นกลางให้เป็น จะเกลียดใคร ไม่ชอบ ใคร เราอย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวให้มันเสียการเสียงาน ต้องวางอุเบกขา ไม่มีอคติ ๔
พรหมวิหาร ๔ อย่างนี้แหละที่เป็นหลัก เป็นเครื่องอยู่ของผู้เป็นหลักเป็นใหญ่ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนกระทั่งถึงระดับโลก อย่าว่าแต่ละระดับโลกนี้ แม้กระทั่งท้าวมหาพรหมที่ชาวฮินดูถือกันว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่เคารพนับถือมากที่สุดที่เป็นผู้สร้างโลก ท่านก็มีคุณธรรมข้อนี้
พระพุทธเจ้านำมาบอกมาสอนว่าผู้ที่เป็นหลักเป็นใหญ่ต้องทำเช่นนี้ ดังนั้นผู้มีพรหมวิหาร ๔ จึงเป็นผู้ที่ไม่ถือพรรค ถือพวก แต่จะเอาแต่ความบริสุทธิ์ เอาแต่ความถูกต้อง ใจจึงเป็นธรรม จึงเป็นธรรมของผู้ใหญ่ของผู้บริหาร
ความเป็นธรรม ความยุติธรรมเป็นธรรมะ เป็นโครงสร้างในการดำเนินชีวิตของเราทุกๆ คน ไม่มีอคติ เป็นทางปฏิบัติเรียกว่าอริยมรรค ที่ประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นทั้งสติและทั้งสัมปชัญญะ
ศาสนาก็คือความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องดำเนินไปตามธรรมะ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรม ธรรมะนั้นคือพระพุทธเจ้า เราจะเคารพนับถือตัวเองได้ เพราะเราเอาธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่ คนอื่นจะเคารพกราบไหว้ ไว้วางใจเราได้ ก็เพราะเราเอาธรรมะ พระโสดาบันถึงเข้าสู่ปัจจัยแห่งธรรมะ เรียกว่าพรหมจรรย์เบื้องต้น
ถ้าโลกเราเอาธรรมะทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความเห็นของผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด เรายังมีความเห็นผิดเข้าใจผิด คิดว่าเรียนหนังสือ ก็เพื่อจะมีอยู่ มีกิน มีใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิที่สมบูรณ์ เราเรียนหนังสือเพื่อเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ เราถึงจะไม่มีโทษ สิ่งที่เรามี มีเงิน มีทอง มีบ้าน มีรถ มันเป็นเพียงผลที่เราได้เสียสละ เราถึงจะได้พัฒนากาย พัฒใจไปพร้อมๆ กัน ความสุขความดับทุกข์ ความเป็นธรรม ความยุติธรรม มันต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ เราต้องเข้าถึงสติสัมปชัญญะในปัจจุบัน เมื่อปัจจุบันเราเป็นฐานรองรับอนาคตแล้ว เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี มันจะเลื่อนไปเอง ไม่มีบุคคลใดที่จะถึงอนาคตได้ มันจะเป็นปัจจุบันอย่างนี้ เราปฏิบัติไป เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้แสงแดด ให้ออกซิเจน ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตไปเป็นปัจจุบันธรรม เราทำยังไงก็เป็นอย่างนั้น
ธรรมะนี้ถึงเป็นสิ่งเดียวกับวิทยาศาสตร์ ที่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์ก็คือเราไม่หลงในรูป เสียง กลิ่น รศ ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่หลงในความเอร็ดอร่อย เราเสียสละเพื่อให้ใจของเรา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ที่จะเลื่อนไปเรื่อยในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนจะข้ามวัฏฏะสงสารได้จะต้องอาศัยยาน ยานคือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้องไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ตามความรู้สึกตัวเอง ไม่ตามสิ่งแวดล้อม เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เรียกว่าศีล เป็นศิลปะที่จะออกจากวัฏฏะสงสาร สมาธิก็คือความตั้งมั่นความหนักแน่น เปรียบเสมือนที่เราจะข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร หรือไปต่างประเทศเราก็ต้องอาศัยเรือในมหาสมุทรหรือว่าเครื่องบิน เราจะออกจากเรือ ออกจากเครื่องบินไม่ได้
เพราะความรู้ความเข้าใจ ทุกท่านทุกคนต้องเอาประพฤติมาปฏิบัติ ทุกคนต้องเข้าใจ ไม่เข้าใจจะพากันเครียด ทำงานก็เพื่อเงินเพื่อสตางค์ ไม่มีหนี้ไม่มีสินมันเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคฟุ้งซ่าน โรคทรัพย์จาง ก็คือไม่มีความสุขในปัจจุบัน ไม่เข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้ปรับจิตใจเข้าหาธรรมะ เราไปปรับจิตใจเข้าหาอวิชชา เข้าหาความหลง มันก็ยิ่งไปใหญ่
ประเทศที่แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นที่พัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียว ก็เลยพากันเครียดเพราะไม่ได้พัฒนาใจ อย่างประเทศเกาหลีพัฒนาเทคโนโลยีก็ไปเร็วแต่ก็เครียด หลายๆ ประเทศเน้นแต่ทางวัตถุ ไม่ได้พัฒนาใจ มันเลยตั้งอยู่ในอคติ ไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก เป็นใหญ่ เราๆ ท่านๆ อย่าไปเข้าใจผิด ท้อแท้ว่าทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ มันทำได้ เพราะอันนี้เป็นความสุข เป็นความดับทุกข์ ที่ว่าทำไม่ได้ ก็เพราะว่าเราไปคิดอย่างนั้น มันคือความหลง เราอย่าไปเชื่อเพราะว่าที่เราเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะเหตุผลต่างๆ คนที่เขาฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ปล้นธนาคารทุกคนก็มีเหตุผลของตัวเอง คนที่เขาทำนู้น ทำนี่ ทุกอย่างก็มีเหตุผลของเขา พระเทวทัตก็มีเหตุผลถึงได้ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้าก็คือพระพุทธเจ้า
อานาปานสติทุกคนต้องมีเพราะอันนี้เป็นหลักความเป็นธรรม ความยุติธรรม ต้องกลับมาหาใจของเรา กลับมาหาสติ สัมปชัญญะ เราจะได้มีบ้าน เราจะไม่ได้หลงในอดีต ในอนาคต
ประเทศไทยนี้จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ไหม “ได้” ลองคิดดูว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีทำให้คนเราสามารถรู้ข่าวสารกันในวันเดียวหรือไม่กี่ชั่วโมง น่าจะดีกว่าสมัยก่อน กว่าจะรู้เรื่องก็หลายวัน ให้ทุกคนมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเหมือนๆ กัน เราเป็นทางเดียวกันเรียกว่า สาราณียธรรม อย่าให้ความรู้ความเข้าใจ ไปอยู่ในหนังสือ ต้องไปอยู่ในใจ อยู่ในภาคประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องตั้งใจ ต้องสมาทาน เราต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ทุกคนต้องกลับมาหาสติ สัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม กลับมาหาพระรัตนตรัย กลับมาหาความเป็นธรรม ความยุติธรรม เราต้องเอาเหมือนพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านเอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้ประชุมสงฆ์ มีแต่สามัญชน ปุถุชนที่ประชุมกัน ถ้าทุกคนเอาความเป็นธรรม ความยุติธรรมเป็นหลัก ปัญหามันก็ย่อมไม่มี
ให้เข้าใจคำว่าปล่อยวาง คำว่าปล่อยวางนี่คือการละสักกายทิฏฐิละการยึดมั่นถือมั่น ละความเห็นแก่ตัว เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่เสียสละนึกว่าปล่อยวางจะไม่เสียสละ คนเราถ้าเสียสละมันเป็นกลไลแห่งความเป็นธรรม ความยุติธรรมมันถึงจะเกิดได้ สังคมที่ต้องมีการปกครองที่เป็นประเทศชาติบ้านมือง สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็คือธรรมะ เราอย่าไปเอาคนส่วนมาก เราต้องเอาความถูกต้อง ว่าประชาชนต้องการอันนู้นอันนี้ มันไม่ได้ ต้องเอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม
ถ้าเอาพรรคพวก ยกตัวอย่างกันสังคายนาครั้งที่ ๒ พระอรหันต์เอาธรรมเอาวินัย ภิกษุปุถุชนเยอะแยะมาขับไล่พระอรหันต์ ถึงได้เกิดการสังคายนาขึ้น การปกครองตัวเองต้องเอาธรรมะ การปกครองคนอื่นก็ต้องเอาธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่จัดการเพียงตัวเอง มันไม่ได้จัดการคนอื่น ถึงได้ต้องมีกฏหมาย กฏหมายทางการปกครองครอบครัว ปกครองประเทศ เมื่อผู้ที่เป็นข้าราชการไม่ได้เอาธรรมะ เอาความเห็นแก่ตัว ไม่ขับเคลื่อนตัวเอง ไม่เสียสละ มาหาผลประโยชน์จากราชการ ไม่มีความสุขในการทำงาน มีความสุขแค่จะได้เงิน ได้สตางค์ ได้บ้าน ได้ยศ สรรเสริญ ผู้ที่สมัครเป็นนักการเมืองกลไลมันเลยไปไม่ได้ เพราะเกิดความไม่บริสุทธิ์ เรียกว่าการทุจริต โครงการ เลยไม่มีความสุขในการทำงาน งานคือความสุข งานคือการเสียสละ เมื่อเราไม่มีความสุขในการทำงาน เราก็เลยต้องวิ่งเต้นหาตำแหน่ง ในส่วนข้าราชการถึงมีเป็นประจำ ทุกหน่วยงาน ทางนักการเมืองก็ซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียง มันเลยเป็น เปรตใหญ่ เปรตเล็ก มหาเปรต ประจำ เราต้องพากันเข้าใจเดี๋ยวนี้ทุกคนต้องรู้กันเพราะการสื่อสารก็พร้อม
ต้องพัฒนาทั้งใจและเทคโนโลยี เพราะความสุขไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐี มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อยู่ที่เราเสียสละ ใครทำหน้าที่อะไรก็ให้มีความสุขอยู่อย่างนั้น อย่าไปคิดที่จะเอาเปอร์เซนต์เหมือนที่ผ่านมา เราทำตามโจร ตามมหาโจรอย่างนี้ไม่ได้ ทำอย่างนี้มันไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ถามว่า กินเงินทางราชการนี่บาปไหม? มันบาปมากเท่ากับกินของสงฆ์ว่ากินของส่วนกลาง กินของส่วนร่วม ยังไม่ตายก็กลายเป็นเปรต ที่ทำอย่างนี้ได้มันก็มีแบ๊คอยู่เบื่องหลัง โจรทางส่วนราชการก็มีแบ๊ค โจรทางการเมืองก็มีแบ๊ค โจรทางพระศาสนามันก็มีแบ๊ค ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นระบบของโครงสร้างที่ปฏิบัติมา เรียกว่าเป็นการสืบทอด เรียกว่า “วัฒนธรรม” ก็ไม่ถูก เพราะมันเป็นโจร เรียกว่า “วัฒนะโจร” มากกว่า
ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะไปจัดการเขาไหม? “ไม่ต้อง” จัดการตัวเองก่อน ผู้ที่เป็นผู้พิพากษาก็จัดการตัวเองก่อน ผู้ที่เป็นอัยการก็จัดการตัวเองก่อน ผู้ที่เป็นตำรวจ ทหารต้องจัดการตัวเองก่อน อย่าไปจัดการคนอื่น ถ้าเราจัดการตัวเองหลายๆ คนรวมกัน ก็เท่ากันเราจัดการผู้พิพากษาที่มีอยู่ในประเทศไทย ตำรวจ ทหาร ครู มันก็จัดการตัวเองพร้อมกันทั้งประเทศ นี่มันไม่จัดการตัวเอง เป็นจัดการคนอื่นมันก็ผิดหลัก ใครเขาจะมีศรัทธาในตัวเรา อย่างมากก็จะเป็นผู้ที่เดินทางเอกสาร
พากันฝึกสมาธินะ สมาธิก็คือความตั้งมั่นในความดี เราคิดดีๆให้มันติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน หลายปี เหมือนไก่มันฟักไข่ก็ 3 อาทิตย์ เราดูแลต้นไม้แต่ละพันธุ์ก็ตามเดือน ตามปี มันต้องดีสม่ำเสมอ สมาธิเราต้องตั้งมั่น แต่สมาธิที่เรานั่งตอนเช้า ตอนเย็นก็ต้องมี หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจสบาย หายใจออกสบาย ปล่อยวางทุกอย่าง อยู่กับลมหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ถ้าเราจะเจริญสมถะก็เพียงแต่หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาว ออกยาว ก็ให้รู้ ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนาหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง หายใจออกก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทุกอย่างมันก็ไม่เที่ยง มันล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไป ทุกสภาวะธรรม เปรียบเหมือนกระแสไฟที่มันมาถี่ ปัญญาต้องเอามาใช้ในปัจจุบัน ปัญญาให้พัฒนาทั้งเทคโนโลยี ทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราพัฒนาแต่เทคโนโลยีมันจะไปทางเห็นแก่ตัว ต้องพัฒนาทั้ง IQ, EQ, RQ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปแยกกันไม่ได้
RQ (Realistic Quotient) ความฉลาดมองเห็นความจริงในชีวิต
แม้ว่าเราจะมีฉลาดรอบรู้มากมายหลายด้านอย่างใดก็ตาม แต่ความฉลาดรอบรู้นั้นจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของเราได้ ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต จึงเป็นความรู้ที่มีค่าและสำคัญยิ่งที่ทุกคนสมควรรู้ นั่นคือ อริยสัจสี่ ได้แก่
ทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ไม่สมหวัง ไม่ได้ดังใจ เป็นทุกข์
สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา คือปรารถนาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
นิโรธ การดับทุกข์ ด้วยการปล่อยวาง การละ การเลิก ไม่พัวพันกับตัณหา และไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
มรรค ทางดับทุกข์ ประกอบด้วย อริยมรรค ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
และสิ่งที่ทุกคนขาดเสียไม่ได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอถึง อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ คือ
๑. ชราธัมมตา เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. พยาธิธัมมตา เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
๓. มรณธัมมตา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ปิยวินาภาวตา เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น
๕. กัมมัสสกตา เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น
เมื่อหมั่นพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต ฯลฯ บรรเทาความลุ่มหลง ความยึดมั่นถือมั่น และป้องกันการทำทุจริต ทำให้เร่งขวนขวายกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ตลอดไป ถ้าเราพัฒนาแต่เทคโนโลยีมันจะไปทางเห็นแก่ตัว ต้องพัฒนาทั้ง IQ, EQ, RQ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปแยกกันไม่ได้ เราต้องเอาให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เราได้ทุกหนทุกแห่ง เราต้องแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ พัฒนาจิตใจของเรา เพื่อไม่ให้ตกไปสู่อบายมุข และต้องเสียสละไป ปัญญาของเรา เหมือนเราเป็นคนตาบอดได้ยาวิเศษแล้วจึงสว่างขึ้น สมบรูณ์เป็นมนุษย์ตาสว่าง ไม่ใช่ตาบอด เป็นมนุษย์กลางวัน ไม่ใช่มนุษย์กลางคืน การปฏิบัติธรรมนี้มันจำเป็นกับทุกๆ คน ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนหรือนักบวช ต้องปฏิบัติทุกคน ทุกๆ ศาสนา อย่าพากันไปหลงงมงายในภูติผี ปีศาจ เทวดา เครื่องลาง ของขลัง ฤกษ์ดียามดี ถึงสิ่งเหล่านั้นมันจะขลังจะศักดิ์สิทธ์มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะความดีอย่างนั้น พระนั้นดีเพราะเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ลูกของพระอรหันต์ แต่ว่าดีอยู่ที่ท่าน ไม่ได้ดีที่เรา เราต้องมาพัฒนาเราให้เป็นพระ พระคือปราศจากตัวตน เราถึงจะเป็นพระ ถ้าเรามีตัวตนอยู่ มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ยังเป็นพระไม่ได้ เราก็ยังเป็นนิติบุคคลอยู่
ทุกท่านทุกคนที่เป็นประชาชนต้องมีศีล 5 ที่บริสุทธิ์เรียกว่าพรหมจรรย์ระดับเบื้องต้น บริสุทธิ์หรือไม่อยู่ที่เจตนาของเรา รู้ว่าอันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ศีลของเราก็จะบริสุทธิ์เหมือนพระอรหันต์ ท่านไม่ต้องอาบัติ รู้ว่าอันไหนไม่ดีท่านก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ไม่เป็นเหมือนสามัญชน รู้ว่าไม่ดีก็ไปทำผิด ทำผิดแล้วถึงค่อยมาแสดงอาบัติกัน มันก็แก้ปัญหาไม่ได้เพราะว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เหมือนไปสารภาพบาปของศาสนาคริสต์ มันก็ไม่หาย เพราะเราก็กลับไปทำอีก ยิ่งไปติดคุก ติดคุกก็ไปเจอโจรเล็ก โจรใหญ่ มหาโจร ออกมาก็ยิ่งเป็นโจรมากกว่าเก่าอีก ไปเรียนวิชาโจรระดับสูงออกมาอีก
มันอยู่ที่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันอยู่เจตนาที่จะหยุด ที่จะเลิก แต่การจะหยุดจะเลิกอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็น คาเฟอีนทางจิตใจ กว่าจะละได้ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน ถ้าเราทำติดต่อกันก็ทำได้เร็ว ถ้าทำๆหยุดๆมันอาจจะไม่สำเร็จ ต้องทำติดต่อกัน ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักความเป็นพระ ไม่ได้อยู่ที่นักบวช อยู่ที่ประชาชน อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พระนี่นับตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ พระนี่ต้องเน้นที่ใจ ที่เจตนา เราไปเอาพระภายนอกนี่มันปวดหัว เดี๋ยวพระองค์ก็ไปทำผิด ออกสื่อเกือบทุกวัน อันนี้มันพระภายนอก เราต้องรู้จักพระ มันอยู่ที่เรา เราจะไปหาพระต้องมาหาที่ใจของเรา ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ที่เรามาเสียสละ ความเป็นพระนั้นถึงจะเกิดขึ้นแก่เรา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee