แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖๑ การปฏิบัติต้องตื่นตัว กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไว ด้วยสติที่ชัดเจนในปัจจุบัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง นี้เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันมันต้องฉลาด ฉลาดไม่พอ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้างั้นศีลเกิดไม่ได้ สัมมาสมาธิเกิดไม่ได้ เมื่อสัมมาสมาธิเกิดได้ ปัญญาโลกุตระ มันถึงจะเกิดได้ มันต้องทำติดต่อต่อเนื่อง เราเป็นพุทธศาสนาแต่ว่าช้าๆ เซ่อๆ เบลอๆ ปัจจุบันต่อยช้า นักมวยต่อยช้า ต้องแพ้น็อก ไม่ก็แพ้คะแนน นักกีฬานี้ ทุกประเภท ถ้าชักช้า ฟุตบอลถ้าช้านี้ เขาเรียกว่ากายช้า หรือ ใจช้า มันก็มีแต่แพ้ เราต้องรู้จัก เพราะเราสัมมาทิฏฐิต้องเอามาปฏิบัติ เพราะเราจะได้พัฒนาตัวเองทุกคน
การปฏิบัติ หลวงตามหาบัว หลวงปู่มั่นถึงให้ทำรวดเร็ว กระฉับกระเฉง มัวแต่ไปยกขาช้าๆ มือช้าๆ ยุงมันก็กัดไปหลายตัว รู้ว่าอันไหนดีก็ต้องต้องคิด รู้ว่าอันไหนดีก็ต้องพูด รู้ว่าอันไหนดีก็ต้องทำ ต้องกระฉับกระเฉง เพราะเวลาต้องไฟต์ติ้ง ถ้าปัญญาเราช้า ถึงตี 3 มันก็ไม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติ เวลาไม่เข้านสู่ภาคปฏิบัติ โอ้ย... จิตใจของเราเศร้าหมอง ทำให้จิตใจเราไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่ตั้งในศีลในธรรม เอาตัวตนเป็นใหญ่ ปัญญาต้องเร็วต้องเฉียบพลัน ต้องฝึกความเคยชิน สมองเราต้องใช้เวลา 3 อาทิตย์ขึ้นไป สามเณรหรือว่าเด็กทุกคนน่ะ มาจากพ่อแม่เอาอกเอาใจ พอเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างนี้มันก็คิดถึงพ่อถึงแม่ มันต้องอดต้องทน เพื่อฝึกตนเองน่ะ อะไรก็ไม่ประเสริฐเท่าการปฏิบัติ การฝึกตนเอง เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไปร่องเก่า พ่อแม่ใจอ่อนก็คือพ่อแม่ทำลายลูก ถ้าเราใจอ่อนก็คือเราทำลายตัวเอง เราต้องใจเข้มแข็ง ใจดี ใจมีสติมีปัญญา ไฟติ้งกับตนเอง อันไหนดีเราก็คิด อันไหนดีเราก็พูด ทำกริยามารยาทปรับที่ตนเองเวลามาบวชภาคฤดูร้อน เดือนหนึ่ง มันจะได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้างั้นเราจะมีประโยชน์อะไร มาห่มผ้า เอาเกียรติ เอายศ (เอาคำกลอนมาใส่)
เราเป็นคนฉลาด จะให้กิเลสมาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ไม่ได้ ทุกคนต้องสู้อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ อย่าเอาความใจอ่อนเป็นหลัก ต้องเอาความเข้มแข็งเป็นหลัก ไม่งั้นมันไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ พลังจิตไม่สูงต้อง มีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะ ความพอใจในการคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ ขยันรับผิดชอบดีๆ มันไม่เพียงพอ ปัจจุบันมันต้องเร็วต้องคล่องแคล่ว มันจะไปไลน์เก่า เหมือนพระที่บวชมาหลายพรรษาคิดว่าไม่สำคัญ อยู่ประคับประคองไป โดยเป็นผู้มีปฏิปทาไม่เข้มแข็ง เพราะว่ามันใจอ่อน มันเซ่อเกิน สติปัญญามันไม่ทัน เมื่อสติปัญญามันไม่ทัน ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันก็ไม่เอามาใช้ไม่เอามาปฏิบัติ เพราะหลวงพ่อทำสถิติดูนะ ว่าใครคิดอย่างไง พูดอย่างไงทำอย่างไง มันจะออกมาในการประพฤติ ว่าขาดทำวัตรเช้ากี่วัน วันนี้ขาดทำวัตรเย็น อันนี้เป็นกฎแห่งกรรมที่แสดงออกในการกระทำ เราจะข้าม มันต้องฟัง เราต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จักไม่ได้ พระนี่อย่าไปเซ่อเบลอ เรายิ่งไปเอาใจ มันยิ่งได้ใจกิเลส โรคใจอ่อนมันยิ่งกว่าโรคโควิด เราต้องใจเข้มแข็ง เหมือนการผลิตเอาแร่ตัวนู้นเอามาผสมบ้างเอาแร่ตัวนี้มาผสมบ้าง เด็กเราจะได้แข็งแรงแข็งแกร่ง อยู่ประเทศไทยเราจะไปพูดว่าค่า PM มันอย่างนู้นอย่างนี้ มันจะไปโทษใคร คนเราน่ะ ไปเผาป่าแล้วก็โวยวายว่าค่า PM อย่างนู้นอย่างนี้ คนเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ว่าตัวเองว่าไม่มีบุญไม่มีวาสนา ไม่บรรลุธรรม
คนเรานะ ถ้าไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป มันก็จะแสดงอาการอะไรออกมาแปลกๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราต้องให้เป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ถ้าเราไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ศาสนานี้หมดไม่เหลือ เพราะจิตใจมันส่งออกข้างนอกหมด คนมันเก่งแต่ข้างมันฉลาดแต่ข้างนอก มันลำบาก
พระพุทธเจ้าท่านเตือนเรานะว่า "อย่าปฏิบัติส่งใจออกข้างนอกมากเกิน" มีแต่จะไปจัดการเรื่องภายนอก เรื่องตัวเองแท้ๆ นี้ไม่สนใจปล่อยให้ตนเองมีปัญหาให้กับตนเอง และคนอื่น เมื่อไม่รู้จักตนเอง ท่านก็ว่าเราเป็นโรคทางใจนะ เป็นโรคทางใจอย่างไร...? เป็นโรคทางใจ ก็คือ อันนี้ข้าพเจ้าชอบ ข้าพเจ้าถึงจะเอา อันนี้ข้าพเจ้าไม่ชอบ ข้าพเจ้าก็ไม่เอา เค้าพูดถูกใจ เค้าไม่ขัด มันก็ดี 'พอง" ถ้าเค้าพูดไม่ถูกใจ เค้าไม่เห็นด้วย ก็ว่าไม่ดี 'แฟบ โรคทางกายนี้ถือว่ามันน้อยมาก แต่โรคทางใจนี้มันมากมาย... ท่านถึงให้เรากลับมาดูจิตดูใจตนเอง ถ้าเราไม่รู้จักตนเอง มันจะหลงตนเอง "หลงอะไรก็ไม่เท่ากับหลงตัวเอง" ถ้าเราไม่รู้จักตนเอง จิตใจของเรามันก็ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป คนอื่นที่ท่านมีจิตใจสูงกว่า ท่านมองเห็นเรานี้ว่ามีจิตใจหยาบมาก จิตใจสกปรกมาก แต่ตัวเองมันไม่รู้จักตัวเองนะ ครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่าเรานี้แย่มาก ทำอะไรก็ไม่เข้าท่า ทำอะไรก็ไม่ค่อยถูกต้อง แต่เรามองไม่เห็นตัวเอง ใจก็อยากไปพระนิพพาน
"ถ้าไม่เห็นตัวเองคิดผิด ทำผิด มันจะแก้ไขได้อย่างไร...? ก็จะคิดว่าแต่ตัวเองถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้...ก็ผิดหมด ครูบาอาจารย์สอน...ก็ผิดหมด"
เรื่องเส้นผมบังภูเขามันพูดยาก มันคิดยาก ทุกท่านทุกคนต้องพิจารณาตัวเองว่า ในใจของเรานี้ มันมีอะไรบกพร่องบ้างที่จะต้องแก้ไข...?
เรื่องภายนอก เราก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน ตัวไหนมันผิดพลาด พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าเรื่องธุรกิจการงาน เรื่องความประพฤติของเราเอง มันอยู่ในร่องในรอยหรือเปล่า อยู่ในศีลในธรรมหรือเปล่า หรือว่ามันตกอยู่ในอบายมุขต่างๆ
เราให้ความรัก ความเมตตา ในครอบครัวเราหรือยัง เราให้ความรัก ความเมตตา แก่เพื่อนฝูง ลูกน้องพ้องบริวารแล้วหรือยัง...? หรือว่าเราเป็นคนที่มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน วัดวา ศาสนาก็ไม่สนใจ ไม่รู้จักไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ภาวนา
เวลาพูดก็ไม่มีการสำรวมระวัง เพราะ 'การพูด' นี้สำคัญมากเราพูดดี มันก็มีประโยชน์แก่ตัวเราและผู้อื่น "ถ้าเราพูดไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเป็น 'คนปากระเบิด...'
เราเป็นคนรู้จักวางแผนในการใช้จ่ายปัจจัยเงินทองแล้วหรือยัง...?
เรามาบวช เรามาปฏิบัติธรรม ท่านให้เรามาดูตนเอง พิจารณาตนเอง เวลาเราลาสิกขา เวลาเรากลับไปบ้าน เราจะได้ประพฤติตัวใหม่แก้ตัวใหม่
ทุกท่านทุกคนต้องมีจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ในใจไว้ดีๆ เมื่อเราตั้งไว้ดีๆ แล้ว เราก็พยายามปฏิบัติตาม เรานี้เอง คือแบบพิมพ์ของกุลบุตรลูกหลาน
เรานี้เอง คือปูชนียบุคคลให้ลูกให้หลานเขากราบไหว้ เค้าบูชา
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนต้องทำประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองไว้ให้ดีๆ เมื่อตัวเองมีชีวิตอยู่ก็ทำให้ทุกคนถูกใจ สบายใจ เมื่อเราจากไปก็ให้คนคิดถึง
การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นของยากของลำบาก แต่ทุกๆ คน ก็ต้องทำ ต้องปฏิบัติ อย่าได้พากันอยู่สบาย อยู่เฉยๆ ให้พากันแข่งขันทำความดี เมื่อคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ ทำความดีมันไม่ตายหรอก อย่างมากก็เหนื่อย
เราทำมาหากินก็เพราะด้วยความจำยอม ความจำใจ ถ้าไม่จำเป็น ถ้าไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีลูก ไม่มีหลาน เราก็ไม่อยากทำ การทำมาหากินมันเป็นเรื่องของกาย การประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของจิตของใจ การทำมาหากินกับการปฏิบัติธรรมมันต้องควบคู่กันไป
'กาย' นี้ มันจบลงเมื่อถูกเขาเผาที่ป่าช้า 'ใจ' ของเราที่จะจบได้ก็เมื่อเข้าถึงพระนิพพาน 'กายกับใจ' จึงต้องปฏิบัติควบคู่กันไป
การมาบวชครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดี เป็นโอกาสพิเศษ พระพุทธเจ้าท่านให้กุลบุตรลูกหลานตั้งอกตั้งใจ อย่าให้มีคำว่าท้อแท้ท้อถอย อย่าไปคิดว่าวัดนี้มันเคร่งเกิน เครียดเกิน ถ้าไม่เคร่ง ถ้าไม่ครัด ถ้าไม่เคร่งครัดกับการปฏิบัติ เราก็ไม่พากันมาบวช มาปฏิบัติ ทุกคนชอบในพระวินัย ชอบในข้อวัตรปฏิบัติ...
วัดไหนที่จะรู้ว่าวัดนั้นดี วัดนั้นต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าไม่มีข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกับบ้านเรา ต่างกันก็ตรงที่โกนผม ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น
'วัด' คือสถานที่ที่มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ถึงเรียกว่า 'วัตร"
'วัด' เป็นสถานที่ของคนที่ตั้งใจทำความดี เราอย่าไปคิดว่าวัดนี้เป็นที่อยู่ของคนตกงาน เป็นพวกที่มีปัญหา ไม่มีศักยภาพในการทำมาหากิน 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนไม่ค่อยจะเต็ม 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนพิกลพิการ 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนที่มีปัญหาติดยาเสพติด
จุดมุ่งหมายของวัดคือเป็นสถานที่สำหรับผู้บำเพ็ญบารมีที่จะไป 'พระนิพพาน' อย่างเดียว ถ้าปฏิบัติไปเพื่อสวรรค์นี้ยังไม่ได้ ยังไม่ใช่ ถ้าปฏิบัติไปเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ เหมือนทางโลก ก็ถือว่าที่นั่นไม่ใช่สถานที่สัปปายะ
กุลบุตรลุกหลานที่มาบวช มาปฏิบัติ ถึงจะมาบวชระยะน้อยหรือระยะยาว ให้พากันถือเนกข้มมะมุ่งตรงต่อพระนิพพาน อย่ามุ่งแต่ประดับเกียรติ ประดับยศ ท่านต้องตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจบวช อย่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านหนักใจ ประธานสงฆ์ท่านหนักใจ พระพี่เลี้ยงท่านหนักใจ ว่าพระชุดนี้ไม่ตั้งใจกัน ลำบากกับพระพวกนี้เหลือเกิน
ท่านต้องเป็นสุปฏิปันโน เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่าได้ส่งใจออกไปภายนอก ใจมันไปกิน ไปเที่ยว มันไปกินก๋วยเตี๋ยว ในใจมันไปเที่ยวในผับในบาร์ ท่านจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เราเป็น 'พระ' เรามาคิดเหมือนกับฆราวาสนี้ไม่ได้ มันเป็นบาป...
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสมณสัญญาว่า ขณะนี้เรากำลังเป็น "พระ" อาการกิริยา วาจา ใจ ต้องไม่เหมือนโยม พยายามฝึกจิตฝึกใจ ให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับ "พุทโธๆ' นั่งสมาธิ เดินจงกรมก็มันอยู่กับเนื้อกับตัว ทำวัตรสวดมนต์ก็ให้ใจมันอยู่กับการทำวัตรสวดมนต์
ไอ้เจ้าตัวร้ายที่มันอยู่ในจิตในใจนี้มันดิ้นเหลือเกิน ก็ช่างหัวมัน ถ้ามันคิดมากเกินก็กลั้นลมหายใจ เมื่อใจมันจะขาด มันก็กลับมาเอง
เราปล่อยเค้าจนเคยชินแล้วนเค้าติดเป็นนิสัยแล้ว เราจะควบคุมให้เค้าหยุด เค้านิ่ง ก็เป็นสิ่งที่ลำบาก "ลำบากก็ช่างหัวมัน นั่งสมาธิเอาไว้ครึ่งหนึ่ง..."
ให้เรานั่งสมาธิให้มันได้นานๆ เดินจงกรมเอาไว้ให้มันได้นานๆ ให้ใจมันอยู่กับการเดิน "นั่งไม่ได้ก็ให้มันได้นั่ง เดินไม่ได้ก็ให้มันได้เดิน" เรามันก็คิดแต่จะได้รางวัล ได้ค่าจ้าง ให้เราเดินเพื่อปล่อยวาง นั่งเพื่อปล่อยวาง ท่านไม่ให้เรายุ่งมาก ท่านไม่ให้เราคิดมาก ยุ่งไป คิดไป มันก็ไม่ได้อะไร มันก็ได้แต่โรคปวดหัว ได้แต่โรคประสาท เราเดินทั้งวัน ถ้าเราไม่คิดอะไร มันก็ไม่มีทุกข์อะไร เรานั่งทั้งวัน ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่มีทุกข์อะไร ถ้าเรารู้จักแต่อารมณ์ในความเป็นคน ในความเป็นมนุษย์ ในอารมณ์สะดวกสบายเพลิดเพลิน เมื่อเอา 'อารมณ์นิพพาน' ให้มัน มันไม่เอา มันไม่สนุก มันไม่ชอบความสงบ มันกลัวตายจากโลกนี้ มันกลัวตายจากรูป เสียง กลิ่น รส มันเลยดิ้นใหญ่เลยทีนี้ เหมือนปลาอยู่ในน้ำแล้วเอาขึ้นมาบนบก มันก็ดิ้นใหญ่เลย "การประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็เหมือนปลาดิ้นอยู่ในน้ำที่เราเอาขึ้นมาบนบก"
ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากที่ครูบาอาจารย์พานั่งสมาธิสองทุ่มถึงสามทุ่ม มันก็เบื่อ มันก็ท้อแท้ มันเบื่อเหลือเกิน มันทรมานเหลือเกิน ทำไมมันถึงทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์เพราะใจของเราไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ถ้าเราไม่คิด ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันก็ไม่ทุกข์อะไร
ถึงตีสามก็ยิ่งทุกข์กว่าเก่าอีก กำลังจะพักผ่อนสบายๆ ระฆังดังอีกแล้ว ต้องมาทำวัตรสวดมนต์ ต้องมานั่งสมาธิอีกแล้ว
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นทุกข์ มันทุกข์ที่ใจเรา ใจเรามันไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ไปต่อต้าน มันไปปฏิเสธความจริง คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อเราไปต่อต้าน เราไปทุกข์ ไปปรุง ไปแต่ง มันหายทุกข์ไหม..? มันไม่หายทุกข์หรอกนะ มันเพิ่มทุกข์ให้เราอีก มันทุกข์ทางกายยังไม่พอ มันก็เพิ่มทุกข์ทางใจอีก
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นทุกข์ มันทุกข์เพราะใจเราไปยึดไปถือแท้ๆ นี่คือโรคทางใจนะ นั่งสมาธิตีสามมันทุกข์หลาย มันทุกข์มาก นั่งโยกไปโยกมา อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านให้เราผ่านด่านนี้ ชื่อความง่วงเหงาหาวนอนนี้ นิวรณ์ตัวนี้เปรียบเสมือนเมฆก้อนใหญ่ มันมาบดบังพระอาทิตย์ มาบังดวงจันทร์ให้มืดมิดหมด
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราหมกมุ่น...จมอยู่ ให้เราทำจิตทำใจสบาย... อย่าไปยินดีในเวทนา ในความสุข ในความง่วงเหงาหาวนอน เราอย่าไปคิดว่านั่งไปแล้วก็พักผ่อนไปด้วย
ให้เราทำจิตทำใจให้เป็นหนึ่ง ให้เราเห็นจิต เห็นใจตัวเอง เพราะความง่วงเหงาหาวนอนคือความมืด คนเวลาง่วงมันไม่เห็นใจตัวเองนะ 'พุทโธ ธัมโม สังโฆ' มันหายหมดนะ ถ้ามันง่วงมากๆ เราอาจจะกลั้นลมหายใจ ถ้าใจมันจะขาด ก็ให้ปล่อยลมหายใจ
พวกเรากำลังหลงทางถูกกิเลสมันครอบงำ ถ้ามันยังไม่หาย พระพุทธเจ้าท่านให้เอาบทสวดมนต์ที่เราท่อง มาท่องในใจของเรา ดีกว่าเราไปนั่งหลับ นอนหลับ พยายามฝึกใจไม่ให้เราง่วง ไม่ให้เราหลับ จิตใจของเราจะได้เข้มแข็ง ถ้าเราเคลิ้มกับเวทนานิดหน่อยเราก็สัปหงกได้ให้ใจของเราใส ให้ใจของเราเบิกบาน
พระพุทธเจ้าท่านสอนพระเวลาฉันอาหารเสร็จให้นั่งสมาธิ เพราะ ฉันข้าวเสร็จมันง่วงมาก ให้เรามานั่งสมาธิเพื่อสู้กับนิวรณ์ เพื่อทำจิตใจให้เป็นสมาธิ
"คนเราจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว จริงจัง จึงเข้าสมาธิได้ต้องตั้งใจหัด ตั้งใจปฏิบัติ" พวกเราทุกท่านทุกคนที่มาบวชมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาย่อมไม่มีความอ่อนแอ ถ้าเราอ่อนแอเมื่อใด นิวรณ์ความง่วงเหงาหาวนอนก็ทับถมจิตใจของเรา ถ้าเราเคยแพ้ มันจะแพ้ไปเรื่อยนะ ถ้าเราเอาชนะมันบ้าง เราก็เอาชนะมันไปเรื่อยๆ นะ จนกว่าจะชนะมันเด็ดขาด
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกๆ คนให้เข้มแข็งนะ ต้องไม่กลัว ต้องตั้งใจนะ เวลาทำวัตรเช้าอย่าไป...สวดไป...หลับไป ให้ตั้งใจสวด เดี๋ยวมันจะหลับ ต้องตั้งใจสวดด้วย...เอาจริงเอาจังด้วย....สติสัมปชัญญะ
"ถ้าไม่ตั้งใจมันหลับแน่ เพราะตีสามถึงตีสี่นี้มันง่วงมาก...!" การปฏิบัติธรรมมันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส เราจะมาสะเงาะสะแงะ จะมากระท่อนกระแท่นไม่ได้นะ ท่านจึงบอกว่า "พระอยู่ที่ใจ พระนิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย..."
เราได้มาบวช เราได้มาปฏิบัติ ให้ถือว่าเราเป็นผู้โชคดี พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะบวชไม่นานก็ยังดีกว่าผู้ที่บวชตั้งแต่น้อยจนแก่แล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ขอให้ทุกท่านภูมิใจ ดีใจ ทุกท่านทุกคนรักท่านนะ เคารพนับถือท่าน อย่าให้ความรัก ความเคารพนั้นผิดหวังในตัวท่าน
พระพุทธเจ้าท่านหวังว่ากุลบุตรลูกหลานทุกท่านทุกคนจะมีความ หนักแน่น เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ให้สมกับเป็นลูกศิษย์ของเราตถาคต ให้ทุกท่านทุกคนถือว่าเกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว ไม่ต้องกลัว ให้มันตายเพราะความดี วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ถือว่าเป็นการปฏิบัติของเรา ชีวิตของเราทุกท่านทุกคนต้องก้าวไปด้วยความดี สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ก็แล้วไป ทีนี้ทุกท่านทุกคนจะเอาใหม่ จะแก้ตัวใหม่..
ที่เรามาบวช ที่เรามาถือศีล ที่เราได้มาปฏิบัติธรรม เราก็มาเพื่อพบพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามธรรม ไม่ตามใจตนเอง งานของพระพุทธเจ้าก็คืองานปฏิบัติธรรม เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง เอาความบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นที่ตั้ง บังคับตัวเองด้วยการปฏิบัติตามศีล ตามข้อวัตรปฏิบัติ ตามกติกาที่เราตั้งไว้ ตั้งขึ้นเพื่อบังคับตัวเราเอง ว่าเวลาไหนทำอะไร ถึงเวลาเราก็ต้องทำตาม มันจะขี้เกียจก็ทำ มันจะขยันก็ทำ จะไม่ทำตามขี้เกียจหรือว่าขยัน เราจะได้ทำตามหน้าที่ ให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ดี ให้ใจกับกายมันอยู่ด้วยกัน นี้เขาเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันควบคู่ไปพร้อมๆ กัน
คนเราถ้าทำความดีมากๆ ทำสิ่งที่ถูกต้องมากๆ จิตใจมันอาจหาญ จิตใจมันร่าเริง ตั้งใจทำให้ดีๆ ถ้าเราไม่ตั้งใจ ใจมันไม่มีกำลัง มันไปไม่ได้ ฝึกหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย ให้มีความสุขกับการหายใจเข้าหายใจออก มีความสุขกับการเดิน นอน นั่ง ยืน ทุกอิริยาบถ เราต้องใจสบาย ให้ใจมาอยู่กับกายด้วยกันตลอด สิ่งไหนมันไม่ดีเราไม่ต้องไปคิดมัน ไม่ต้องไปพูดไปทำ มีความสุขมีความดับทุกข์ในการปฏิบัติของเรา ทุกเมื่อทุกกาลทุกเวลา ตั้งแต่เช้าถึงนอนหลับ ตื่นขึ้นก็ทำอีกเพื่อให้มันต่อเนื่อง ให้มันชำนิชำนาญ เราถือคติว่าเราเกิดมาเพื่อทำความดี เพื่อเสียสละ เพื่อไม่ตามใจตัวเอง เพื่อตามศีล ตามธรรม ตามข้อวัตรปฏิบัติ จะเป็นคนไม่อ่อนแอ ท้อแท้ ท้อถอย เรื่องเหนื่อยเป็นเรื่องของกาย เรื่องหิวเป็นเรื่องของกาย แต่ใจนี้ไม่เหนื่อยไม่หิวไม่ท้อแท้ท้อถอย
ฝึกเป็นคนฉลาด เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง กระทบเมื่อไหร่ให้มันเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา อินทรีย์ของเรามันจะแก่กล้าได้ เมื่อสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากระทบ ให้มันมีศีล สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ของเรามันจะแก่กล้าได้ ใจของเราอารมณ์ของเรามันไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เราจะไปเชื่อมันไม่ได้ เวลาเป็นเด็กมันคิดอย่างหนึ่ง เวลาเป็นหนุ่มเป็นสาว กลางคน แก่ เจ็บ มันก็คิดอีกอย่างหนึ่ง เวลาอารมณ์เกิดความพลัดพราก ความชอบใจ มันก็คิดอีกอย่างหนึ่ง เราอย่าไปเชื่อมัน มันกระทบแล้วก็กระทบไป มันคิดแล้วก็แล้วไป เราอย่าไปวุ่นวายกับความคิด เพราะใจคนเรามันก็เหมือนลิง ลิงมันอยู่นิ่งไม่เป็น มันกระโดดโลดเต้น ถ้าเราไม่รู้อารมณ์ไม่รู้ใจของเรา เราจะเป็นคนมีปัญหา เป็นคนที่จิตใจไม่แข็งแรง อารมณ์มาทางไหน ก็ไปตามอารมณ์ แล้วแต่อารมณ์มันจะพาไป จิตใจไม่เป็นตัวของตัวเอง เราฝึกไว้ ฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบาย ใจของเราจะได้อยู่กับปัจจุบัน ใจของเราจะได้อยู่กับการทำงาน เราพยายามยืนไว้ตั้งไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ล้วนแต่ดับไป
สิ่งที่มันเป็นอดีตก็ผ่านไปแล้วก็แก้ไขอะไรไม่ได้ สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง เราก็อย่าได้ไปวิตกกังวล เราปฏิบัติหน้าที่ของเราในปัจจุบันให้ดีที่สุด พยายามให้เรามีศักยภาพในปัจจุบันทั้งกาย วาจา ใจ แก้ปัญหาเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ปัญหาเรื่องเล็กๆ ให้มันหายไป และเราอย่าได้ไปโทษสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกมันก็เป็นปรากฏการณ์ตามเหตุปัจจัยของมัน เราอย่าไปว่าสิ่งโน้นเป็นอย่างโน้น สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ อย่าไปตัดสินนินทาวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งภายนอกมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ฉลาดก็ไปรับเอามาใส่ใจของเรา ให้ตัวเราเป็นทุกข์ เป็นทุกข์มาก เป็นทุกข์หลาย เราจะไปปฏิเสธสิ่งต่างๆ ภายนอกนั้นไม่ได้ ถ้าใครปฏิเสธสิ่งต่างๆ แสดงว่าต้องการความว่างที่มันขาดสูญ ความว่างที่มันไม่มีอะไร หมายถึงเราไม่ต้องการให้มันมีความเกิด ความแก่ ความตาย ไม่อยากให้มีโลกธรรมทั้ง ๘ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ยศ ลาภ สรรเสริญ นินทา ทุกอย่างมันมีของมันอยู่อย่างนั้น เพียงแต่เราไปรับเอามาใส่ใจ ความรับเอามาใส่ใจเขาเรียกว่า ความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งคือสิ่งไม่ใช่ของจริง เพราะมันเป็นของปรุงแต่ง การที่เข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่ง
ที่เราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง หาเรื่องหาราวมาใส่ใจเราเอง เราไปรับอิทธิพลต่างๆ มาให้กับตัวเราเอง คนเรามันรับเอาอิทธิพลต่างๆ นั้น ตั้งแต่แบเบาะจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวันเรารับเอาสิ่งภายนอกมา พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีการเสื่อมเป็นธรรมดา ทุกอย่างมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวตนของเรา ให้เราเห็นมันอย่างชัดแจ้งชัดเจน ให้เราพยายามตั้งมั่นในศีล เราพยายามไม่หวั่นไหวในการมีสมาธิ มีความรู้จักรู้แจ้งในสติปัญญา เราอย่าได้ฟุ้งซ่านไปตามสิ่งที่มันมากระทบทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเปิดโอกาสให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เราได้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ให้สถานที่นั้นเป็นที่ดับทุกข์ของจิตใจเรา การดับทุกข์ทางกายมันอาจจะแก้ปัญหาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จิตใจของเรานั้นมันต้องดับทุกข์ตลอด นิพพานมันไม่ได้อยู่ไกล มันอยู่ที่ใจของเรา อยู่กับกายของเรา อยู่ที่วาจาของเรา
เราอย่าได้ไปปฏิบัติตามความเบื่อความไม่เบื่อ ความชอบไม่ชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เราต้องรู้จักปล่อยวาง เราต้องรู้จักคำว่าช่างหัวมัน ถ้ามิฉะนั้นแล้วเราจะเป็นคนไม่รู้จักโตนะ เป็นคนมีอินทรีย์บารมีไม่แก่กล้า เป็นคนหนีความจริงหนีปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นคนที่อยากให้โลกนี้มันว่างจากสิ่งที่มีอยู่ เช่น อยากเป็นคนหูหนวก คนตาบอด คนพิการ เป็นคนคิดว่าไม่มีสิ่งโน้นสิ่งนี้มารบกวนมันดี เขาเรียกว่าความคิดแบบนี้เปรียบเสมือนคนหูหนวก ตาบอด คนพิการ เป็นคนไม่มีสติปัญญา ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
เราจะอยู่ในโลกนี้อย่างมีคุณประโยชน์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ถ้าเรารู้จักรู้แจ้งมันเป็นคุณ ถ้าไม่รู้จักรู้แจ้งมันเป็นโทษ สำหรับความสุขความสะดวกสบายมันก็มีคุณ แต่ถ้าเราไปหลงติดสุขติดสบายมันก็มีโทษ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของชั่วคราว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป ถ้าเรามีสติปัญญาละก็ เราก็ไม่รับสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษมาทำร้ายตัวเอง ให้เราเอามันมาส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติของเรา เราอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติดี เราเกิดมาเราก็เกิดคนเดียว เราแก่เราก็แก่คนเดียว เราตายก็ตายคนเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกอย่างมันเป็นของชั่วคราวทั้งนั้น แต่เราไปสำคัญมั่นหมายมันผิด ว่ามีตัวเราของเรา ว่าเป็นบ้านของเรา พ่อของเรา แม่ของเรา ความเจ็บป่วยของเรา แต่สิ่งเหล่านี้แท้จริงเป็นเพียงแค่นามสมมุติเฉยๆ โดยการแต่งตั้งเฉยๆ แท้จริงมันไม่ได้มีอะไรเป็นของเรา
พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ก็ให้เรามีความตั้งมั่นในชีวิตประจำวันของเราให้กายกับใจมันอยู่ด้วยกัน
อย่าไปปรุงแต่งให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ ให้เราทำใจให้มันสบายตั้งแต่ตื่นเช้าจนนอนหลับ ตื่นขึ้นก็ให้ทำใจให้สบาย ทำอย่างนี้ทุกๆ วัน ทำหน้าที่ของตัวเองให้มันเกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่น สมดังเจตนาของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสว่า จงยังประโยชน์ของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee