แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖๐ ผู้มีความเพียรอย่างติดต่อต่อเนื่อง ย่อมพ้นจากทุกข์ ข้ามห้วงน้ำแห่งกิเลสทั้งหลายได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่อง ถ้าไม่ติดต่อต่อเนื่องมันไม่ได้ผล ที่มันไม่ได้ผลเพราะมันไม่ติดต่อต่อเนื่อง เพราะไก่ฟักไข่ 3 อาทิตย์มันถึงออกลูกเป็นตัวได้ เราปฏิบัติธรรมเราต้องติดต่อต่อเนื่อง มันต้องหลายอาทิตย์ ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เราทำอะไรติดต่อต่อเนื่อง กัน 3 อาทิตย์ มันถึงจะได้ผล การที่จะพัฒนาตัวเอง มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 อาทิตย์ ติดต่อต่อเนื่องกัน เช่นว่า อย่างนี้ไม่คิด อย่างนี้ไม่พูด อย่างนี้ไม่ทำ อย่างนี้ต้องขยัน อย่างนี้รับผิดชอบ มันต้องติดต่อต่อเนื่องกันนะ เราจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่มันถึงจะแก้ไขได้ มรรคทุกข้อถึงมีสัมมาสมาธิน่ะ เพราะว่ามันรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ได้ผล เพราะว่าการปฏิบัติมันไม่ได้ติดต่อต่อเนื่อง
เพราะดูแล้วคนนี้มีปัญญามันไปไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติมันไม่ติดต่อต่อเนื่อง อย่างฝนมันตกต้องใช้เวลา 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน ต้นไม้มันถึงเจริญงอกงาม ฝนมันทิ้งช่วงอย่างนี้ข้าวโพดมันก็ตายหมด ข้าวเขาก็ตายหมด ปีนี้โลกเปลี่ยนไป ฝนตกเยอะ ต้นไม้ก็ตาย โลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้แหละ พระเราไม่ได้ผล เพราะพระวินัยไม่ติดต่อต่อเนื่อง หยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ ไม่ต่อเนื่องมันก็ไม่ได้ผลนะ
การปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่อง การเรียนการศึกษาก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง พวกคนที่ปฏิบัติก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราไปเผลอๆ เราไปประมาท เหมือนผู้ที่มาบวช มาบวชใหม่ๆ ทำวัตรเช้าก็เคร่งดี ทำวัตรเย็นก็เคร่งดี ทำอะไรก็เคร่งดีตามเวลา เผลอๆ ไปประมาทก็ทำให้ปฏิปทาตกไป ความคิดอย่างนี้เราปล่อย ความคิดอย่างนู้นก็ปล่อย มันไม่ได้ เพราะอันนี้คือการมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ มันต้องหยุดตัวเอง มันถึงมี ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ได้ เพราะการปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง บางคนก็ปล่อยโดยธรรมชาตินานเหลือเกินตั้ง 7 ชาติ อย่างเพื่อนเราเป็นคนรวย เราไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติเราก็เป็นคนจนหน่ะ เราจะไปโทษว่าเรามีบุญน้องมีวาสนาน้อยไม่ได้นะ เพราะมันขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง
พระพุทธเจ้านั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พระอรหันต์เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการประพฤติการปฏิบัติที่เกิดจากความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติถูกต้อง แล้วมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ โดยความตั้งมั่นโดยความตั้งใจด้วยเจตนา เราจะข้ามวัฏสงสารเราต้องอาศัยยาน ยานนั้นคือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นคือความยึดมั่นถือมั่นในความดี สมาธิคือความตั้งมั่น ปัญญาคือรู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราจะข้ามมหาสมุทร เราต้องอาศัยเรือ เราจะทิ้งเรือปล่อยเรือไม่ได้ เราถึงต้องมีความเพียร พระอรหันต์รุ่นเก่าเขาถึงมีอานาปานสติทุกอิริยาบถ เดินเหินนั่งนอนหายใจเข้าสบายออกสบาย แล้วแต่อิริยาบถหยาบหรือละเอียด อิริยาบถหยาบก็หายใจแรงขึ้นอย่างนี้ ทำงานอะไรอยู่ก็หายใจเข้าสบายออกสบาย มันคืออันเดียวกับพุทโธ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้ คนโบราณเขาถึงท่องแต่พุทโธ ทำอะไรอยู่ ก็พุทโธๆ ท่องพุทโธ จนบางทีเอามีดหั่นผัก มัวแต่ท่องพุทโธ ไปหั่นมือตัวเอง บางทีคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ ท่องแต่พุทโธ จนเลยสีแยกไฟแดงไป
เพราะอันนี้มันเป็นความเพียรที่จะต้องมีสติติดต่อต่อเนื่อง ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อตาเราเห็นรูปเราต้องพิจาณาสู่พระไตรลักษณ์ รูปจะสวยหรือไม่สวย ต้องทำอย่างนี้ทุกๆ ครั้ง เพราะการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่พิจารณา ปัญญาเรามันจะเจริญได้ยังไง พอเราเห็นรูป เราพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ตาเห็นรูปหูฟังเสียงอะไรอย่างนี้ มันต้องมีการปฏิบัติอย่างนี้จนมันเป็นอัตโนมัติ ถ้างั้นมันก็ไม่มีอะไรปฏิบัติ เห็นรูป ก็สวยไปเลย ไม่สวยไปเลย ชอบไปเลย ไม่ชอบไปเลย เราก็ไม่ได้เจริญปัญญาอะไร อย่างเราเป็นพระเป็นนักบวช วันหนึ่งๆ เราพิจารณาพระกรรมฐาน พิจารณาเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ แยกจนไม่เป็นสัตว์ไม่เป็นบุคคลตัวตน มันต้องทำอย่างนี้ทุกวันๆ วันหนึ่งอาจจะหลายรอบ ถ้าเราไปเรียนเป็นเด็ก ป.๑ ป.๒ ก็ต้องท่อง ก. ข. ถ้าเราเลื่อนขึ้นไปสูง ก็ต้องท่องพยัญชนะ ให้อ่านออกเขียนได้เลย
การปฏิบัติก็เหมือนกัน พระวินัยทุกข้อเราต้องมีความเพียรว่า อันนี้คิดไม่ได้นะ พูดไม่ได้นะ ทำไม่ได้นะ อันนี้มันเป็นความเพียรของเรา เราไปปล่อยวางไม่ถูก ไม่ได้ ทุกอย่างนะ พระวินัยที่มาในปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ด้วยใจด้วยเจตนา เราต้องมีความเพียรรักษา เราจะเป็นคนปล่อยวางโดยไม่เอาธรรมไม่เอาวินัย ไม่ได้ เพราะเราทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง พอเราทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง เราเป็นคนที่มีทิฏฐิมานะมาก ที่จริงพระวินัยไม่ใช่ทำให้เรายุ่งยาก มันเป็นระบบแห่งมรรคผลนิพพาน การรักษาพระวินัยไม่ใช่ให้คนเคารพเลื่อมใส เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คนเขาเคารพเลื่อมใสเอง ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เราก็เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้
อะไรก็ปล่อยวางๆ หมด มันไม่ใช่นะ ปล่อยวางอย่างเป็นคนตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก เราไปปล่อยวางไม่ถูก คิดว่าเราบวชมาแล้วมาอยู่วัดแล้ว เราไปปล่อยวาง เขาปล่อยวางเรื่องทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ไม่มีศีลก็ให้มีศีล ไม่มีสมาธิก็ให้มีสมาธิ ไม่มีปัญญาก็ให้มีปัญญา ไม่ใช่มาปล่อยวาง สวดก็จะไม่สวด ทำวัตรสวดมนต์ก็จะไม่ทำ วัดก็จะไม่กวาด เบื่อที่นี่ก็ย้ายไปที่ใหม่ สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เป็นคนหลักลอยคอยงานสังขารเสื่อมเฉยๆ มันปล่อยวางไม่ถูก ปล่อยวางอย่างขี้เกียจ ปล่อยวางอย่างโมหะ ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานที่มันเอาแต่นอน เอาแต่พักผ่อน แล้วก็กิน ผสมพันธุ์กัน มันก็แค่นั้น เป็นได้แต่เพียงคน ปล่อยวางอย่างนั้นมันถูกต้องแล้วหรอ
เราดูตัวอย่างอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดูท่านเหมือนจะเป็นคนยึดมั่นถือมั่นแต่ความยึดมั่นมันมี ๒ อย่างนะ ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นสัมมาทิฏฐิกับที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเอาแต่ใจตัวเองเอาแต่อารมณ์ตัวเองไม่เอาธรรมไม่เอาพระวินัย แต่ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มันจะทำลายอัตตาตัวตน เราต้องมีความสุขในอย่างนี้แหละ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง ถ้างั้นท่านจะข้ามวัฏสงสารได้ยังไง ถ้างั้นท่านจะข้ามมหาสมุทรได้ยังไง เพราะท่านไม่มียาน ยานคือศีล คือสมาธิ ยานก็คือปัญญา ที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ญาณรู้อริยสัจ ๔ เราต้องมีความสุขอย่างนี้แหละ
เราต้องรู้จักความยึดมั่น (ในศีล สมาธิ ปัญญา) ความยึดมั่นนี้มันทำให้เราประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้เราตั้งมั่นในสมาธิ ทำให้เราเจริญปัญญา มันไม่เจริญปัญญาไม่ได้ ตาเห็นรูป เราก็ต้องให้เกิดปัญญา หูฟังเสียงก็ให้เกิดปัญญาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ สังคมทุกวันนี้ไม่ยึดมั่นถือมั่น (ในความดี) มันเป็นอบายมุขอบายภูมิ แย่เลย อวิชชาครองบ้านครองเมือง เราเลยไม่ได้พัฒนาธุรกิจหน้าที่การงานแล้วก็ไม่ได้พัฒนาใจเข้าสู่มรรคผลนิพพาน
อานาปานะสติถ้าเราเจริญอย่างนี้ๆ นั่นแหละคือพุทโธ นั่นแหละคือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นแหละคือวิปัสสนา มันจะรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นศีลสมาธิปัญญา หือ...ที่เราฟุ้งซ่านอยู่กับตัวเองไม่เป็น ไปอยู่กับสิ่งที่มันหยาบ อะไร มันหยาบ “กาม” กามมันหยาบ รูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญ ใจไม่สงบ เขาเรียกว่าใจมันหยาบ เราต้องพัฒนาขึ้น ใจของเราถึงจะได้กลับมาหาเนื้อมาหาตัว ที่ว่ากลับมามองดูตัวเอง กลับมาแก้ไขตัวเอง มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ต้องเสียเวลาให้มากเกิน ความยึดมั่นถือมั่นมันมี ๒ อย่าง ถ้าเรายึดมั่นในธรรมนั่นแหละ คือเราจะทำลายตัวตน ถ้าเรายึดมั่นในตัวตน นั่นแหละคือวัฏสงสาร มันจะได้เข้าใจเกิดสัมมาทิฏฐิ การปฏิบัติของเรามันจะทุกอิริยาบถ แต่ หืม...ไม่ได้ภาวนาอะไรเลย ตาเห็นรูปสวยก็พอใจ ไม่สวยก็พอใจ ไม่ได้ภาวนาอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ปัจจุบันไม่มีการปฏิบัติ แล้วก็ไม่มีการพิจารณาเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ จนจิตมั่นเข้าสู่ความว่างเข้าสู่สุญญตาได้ เมื่อไม่พิจารณาวิปัสสนาก็ไม่เกิดอย่างนี้แหละ มันไม่ได้
เวลาฟังธรรมให้ตั้งใจฟัง อย่าออกไปเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็ตั้งใจเดินจงกรม อย่าไปนั่ง เวลาไปเดินบิณฑบาตก็อย่าแตกแถว คนแตกแถวแสดงว่าไม่มีพุทโธ ไม่มีอานาปานสติ เวลานี่อย่าไปเดินขึ้นเสมอกัน แสดงว่ามันไม่มีพุทโธ ไม่มีอานาปานสติ เวลากลับจากบิณฑบาต ก็อย่าพากันวิ่ง พระนะ เอาให้เดินเร็วๆ ก็พอ บิณฑบาตถ้าไม่เจ็บไม่ป่วยไม่แก่เฒ่าชรา ก็เดินให้มันสุดสายอย่าไปมักง่าย อย่างนี้มันไม่มีความเพียร มันตามใจตัวเองอย่างนี้ ก็เท่ากับไม่ได้บวช เวลาฟังเทศน์นั่งสมาธิก็อดทน คำว่า ยึดมั่นถือมั่น หมายถึงว่า เราข้ามวัฏสงสาร เราต้องอาศัยศีลข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนเราข้ามมหาสมุทรไม่มีใครว่ายข้ามได้หรอก ถ้าไม่มีเรือขนานยนต์หรือว่าเครื่องบิน คนที่ทิ้งข้อวัตรข้อปฏิบัติคือ คนโง่ที่สุดในโลก
มีพระพุทธพจน์รับรองเรื่องความเพียรว่า “บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันทั้งกลางคืนจะข้ามโอฆะได้ ไม่จมในห้วงน้ำลึก” ในเผณปิณฑูปมสูตรแสดงถึงความเพียรในการพิจารณาขันธ์โดยความไม่มีสาระ สามารถละสังโยชน์ได้ว่า “ผู้ปรารภความเพียรมีสติสัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงละสังโยชน์ทั้งปวง”
คำว่า โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ ท่านนำมาใช้เป็นชื่อของกิเลส ๔ ประเภท ว่าเป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่ เพราะว่าห้วงน้ำใหญ่นั้น ไม่ว่าอะไรจะตกลงไปก็ตาม ย่อมซัดพัดพาสิ่งเหล่านั้นไปด้วยกระแสของตน สิ่งที่ตกลงในกระแสน้ำย่อมขาดความเป็นตัวของตัวเอง จนถึงกับต้องเป็นอันตรายเพราะห้วงน้ำฉันใด ใจของคนที่ถูกวังวน คือกิเลสพัดพาไปก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน ฉันนั้น โอฆะ ๔ ประการเหล่านั้นคือ
๑. กาโมฆะ - โอฆะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ ความพอใจ ความยินดี ความปรารถนา ความต้องการและความอยากได้ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนผูกใจว่าสิ่งเหล่านั้น น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และภายในจิตของตนได้มี "กามธาตุ" คือ ธาตุความใคร่ในสิ่งนั้นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเขาก็จะดำริถึงรูปเป็นต้นเหล่านั้นด้วยแรงปรารถนา จากการดำริถึงด้วยความใคร่นี้เอง ทำให้ความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา เกิดขึ้น จึงมีการแสวงหา เพื่อสนองตอบความต้องการของตน ด้วยทางถูกบ้างผิดบ้าง จนได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการรักษา การเสื่อมสลายหรือแตกดับไปของสิ่งเหล่านั้น ทุกช่วงของความคิดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ใจของบุคคลเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ ยิ่งคิดมาก แสวงหามาก ได้มามาก จิตก็จะถูกท่วมทับด้วยแรงความใคร่ได้ใคร่มีในวัตถุกามเหล่านั้น จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะใจของคนที่ถูกท่วมทับด้วยกาโมฆะ เป็นจิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่อาจให้เต็มให้อิ่มได้ ด้วยการพยายามตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากกาโมฆะท่วมทับ จนต้องเหนื่อยยากลำบาก ในการแสวงหาเป็นต้นจะเกิดขึ้นหาที่สิ้นสุดไม่ได้
๒ . ภโวฆะ – โอฆะคือภพ ได้แก่ ความใคร่ในความมีความเป็น เพราะความฝังใจว่า ยศ ตำแหน่ง และฐานะนั้นๆ เป็นภาวะที่นำความสุขความยิ่งใหญ่มาให้แก่ตน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต ทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า ความใคร่ พอใจในฐานะต่างๆนั้น จะแสดงอาการออกมา ทำนองเดียวกับกาโมฆะ คือ จิตจะดำริถึงสิ่งที่ตนพอใจมากๆ จนเกิดการกำหนดหมายที่จะได้ฐานะนั้นๆ เกิดความเร่าร้อน เพราะแรงปรารถนาจนต้องแสวงหาต่อสู้แย่งชิงกัน จนบางครั้งมีการล้มตาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ความปรารถนาของตนยังไม่เต็ม แต่ต้องตายไปก่อน ยิ่งเป็นความต้องการให้ภาวะที่ตนต้องการบังเกิดขึ้น ในอนาคตด้วยแล้ว จิตจะมีแต่ความวิตกกังวล ขาดความเป็นอิสระ จิตของเขาเป็นเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นการยากที่จะทำตนให้สวัสดีได้
๓. ทิฎโฐฆะ – โอฆะคือทิฏฐิ คำว่า ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น โดยปกติแล้วเป็นคำกลางๆ คือไม่มีความหมายว่าดีหรือชั่ว แต่เมื่อมาเพียงคำเดียว ไม่มีคำอื่นต่อหน้าหรือหลัง ท่านหมายเอาความเห็นที่ไม่ดี ในที่นี้มีความหมายไปในทางไม่ดีโดยตรง เพราะเป็นชื่อของกิเลส ความเห็นที่เป็นโอฆะคือทิฏฐิ เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณ กรรมที่ได้ชื่อว่าบุญบาปไม่มี การกระทำที่ว่าเป็นดีเป็นชั่วจึงไม่มีผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน ไม่มีเหตุชาติก่อน ไม่มีชาติหน้า เป็นต้น ความเห็นผิดในลักษณะต่างๆนี้ มีอิทธิพลอย่างสำคัญในชีวิตของคน เพราะคนเราจะทำ จะพูดทางกาย ทางวาจานั้น เกิดมาจากความเห็นภายในจิตใจของเขา เป็นสำคัญ เมื่อความเห็นผิด การกระทำของเขาก็จะผิดตามไปด้วย และที่เป็นอันตรายมากคือ เมื่อเขาปฏิเสธบาปบุญทั้งที่เป็นส่วนเหตุและผล จะทำให้เขาขาดความรับผิดชอบในการกระทำ โอฆะคือทิฏฐิจะท่วมทับใจของเขา ให้ไหลไปตามอำนาจของทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งมีความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นผลทั้งแก่ตน และคนอื่น ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๔. อวิชโชฆะ – โอฆะคืออวิชชาความเขลา ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งท่านจัดเป็นอวิชชา ๘ ประการ ดังกล่าวแล้ว คือความไม่รู้จริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้จริงในเรื่องอดีตกาล ในเรื่องอนาคตกาล ทั้งอดีตและอนาคตกาล และไม่รู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยของกันและกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้น คือ ไม่รู้กฏปฏิจจสมุปบาท
ผลเสียของจิตใจที่ถูกโอฆะท่วมทับ
- ห้วงน้ำคือกาม เมื่อท่วมทับใจบุคคลใดแล้ว ทำให้ใจของบุคคลนั้น ซัดส่ายไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ต้องมีความวิตกกังวล เร่าร้อน ผจญอุปสรรค เหน็ดเหนื่อย เพราะวัตถุกามที่ตนใคร่ ตนแสวงหา และได้มาไว้ในครอบครอง เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมสลายไป เปลี่ยนแปลงไป ก็เกิดความทุกข์โทมนัส หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้สึกเป็นอิสระสุขสบาย อย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้โดยยาก
- ห้วงน้ำคือภพ ทำให้จิตใคร่ในความเป็นต่างๆ ที่สังคมยอมรับ และตนเห็นว่าดี เมื่อห้วงน้ำคือภพครอบงำจิต ความคิดของตนจะหมุนวนอยู่ด้วยการกำหนดหมายว่า ฐานะ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ภพ อย่างนั้นอย่างนี้น่าพอใจ จิตจะดำริถึงแต่เรื่องนั้นๆ จนเกิดความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา จากนั้นการแสวงหาสิ่งนั้น จะเกิดขึ้นด้วยความเหนื่อยยากลำบากมีการต่อสู้แย่งชิงกัน และต้องเกิดความทุกข์โทมนัส เมื่อฐานะตำแหน่งของตน ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนไม่ต้องการ
- ห้วงน้ำคือทิฏฐิ เมื่อไหลมาท่วมทับจิตใจใคร ทำให้บุคคลผู้นั้น มีความคิดเห็นห่างไกลจากความจริงออกไป จนปฏิเสธสัจธรรมทั้งหลาย ใจของเขาจะประกอบด้วยมโนทุจริต การคิด การพูด การกระทำ จะมากไปด้วยบาปอกุศลอันมีผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะการไหลไปตามอำนาจของกิเลส พัฒนาการในด้านจิตใจจะเกิดขึ้นได้ยาก หากยังไม่ยอมปรับจิตของตนให้ถูกต้องตามธรรม
- ห้วงน้ำคืออวิชชา ถือว่าเป็นตัวการสำคัญ อันนำสัตว์เข้าสู่ความมืดบอดทางปัญญา เพราะอวิชชาความไม่รู้จริงนี้เอง ที่ทำให้คนมีความหลง มัวเมา งมงาย ไร้เหตุผล ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของชีวิต ของโลกและสังสารวัฏ คนที่ถูกห้วงน้ำคืออวิชชาพัดพาไป จะเป็นเหมือนเต่าตาบอด ตกอยู่ในกระแสน้ำ ย่อมไม่อาจพบความสวัสดีในชีวิตได้ สิ่งที่เป็นทำนบกั้นกระแสห้วงน้ำเหล่านี้โดยตรงคือสติปัญญา แต่เมื่อจะกล่าวเป็นข้อๆ ตามลำดับแล้ว บุคคลอาจอาศัยหลักธรรมต่อไปนี้ในการกั้นกระแสห้วงน้ำ คือ - อสุภสัญญา อสุภกรรมฐาน คือ การกำหนดหมายว่าไม่สวย ไม่งาม และการเจริญอสุภกรรมฐาน จะช่วยลด ทำลายห้วงน้ำคือกามได้
- ความมีสติระลึกถึงเหตุผล แล้วทำใจตนให้เกิดความยินดี ในฐานะที่ตนเป็น คือสันโดษ จะช่วยบรรเทาห้วงน้ำคือภพได้
- สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบในระดับต่างๆ จะผ่อนคลายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดให้เบาบาง จนถึงหมดสิ้นไปได้ในที่สุด
- จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา อันเป็นตัวปัญญาที่แท้จริง เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมขจัดห้วงน้ำคืออวิชชาให้หมดไป ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืดให้หมดไปฉะนั้น
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าแสดงการข้ามโอฆะแก่อาฬวกยักษ์ ดังที่ปรากฎในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/843/315) สรุปความว่า ครั้งหนึ่งอาฬวกยักษ์ทูลถามว่า “คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สทฺธาย ตรติ โอฆํ อปฺปมาเทน อณฺณวํ
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ปญฺญฺาย ปริสุชฺฌตีติ”
“คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
ศรัทธามีศีลเป็นราก มีสมถะและวิปัสสนาเป็นหน่อ หากรากฐานคือศีลบริบูรณ์ย่อมทำให้เกิดความมั่นคง แม้จะถูกลมแห่งโลกธรรมกระหน่ำก็ไม่หวั่นไหว ย่อมแตกหน่อก่อใบคือสมถะและวิปัสสนา เกิดผลสัมฤทธิ์คืออริยมรรค ศรัทธาหากปลูกและประคองรักษาให้หนักแน่น ย่อมจะทำให้ข้ามโอฆะได้ เพราะสัทธินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งโสดาปัตติยังคะ
คำว่า “สทฺธาย ตรติ โอฆํ” (คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา) ก็เพราะ พระโสดาบันประกอบด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือการกระทำที่ติดต่อกันด้วยการเจริญกุศลธรรม บำเพ็ญมรรคที่ ๒ เว้นมรรคที่จะมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว ย่อมข้ามห้วงสงสารอันเป็นที่ตั้งแห่งภโวฆะที่เหลือยังข้ามไม่ได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ฉะนั้นจึงทรงประกาศสกทาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามภโวฆะและพระสกทาคามี ด้วยบทนี้ว่า “อปฺปมาเทน อณฺณวํ” บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
เพราะพระสกทาคามีบำเพ็ญมรรคที่ ๓ ด้วยความเพียร ย่อมล่วงกามทุกข์อันเป็นที่ตั้งแห่งกาโมฆะและกำหนดว่าเป็นกาโมฆะที่ไม่ล่วงแล้ว ด้วยสกทาคามิมรรค ฉะนั้นจึงทรงประกาศอนาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามกาโมฆะและพระอนาคามีด้วยบทนี้ว่า "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" (บุคคลย่อมล่วงความทุกข์ได้ด้วยความเพียงดังนี้) แต่เพราะพระอนาคามีบำเพ็ญปัญญาแห่งมรรคที่ ๔ อันบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ปราศจากเปือกตมคือกาม ละมลทินอย่างยิ่ง กล่าวคืออวิชชาที่ยังละไม่ได้ด้วยอนาคามิมรรคฉะนั้น จึงทรงประกาศอรหัตมรรค และความเป็นพระอรหันต์อันเป็นเครื่องข้ามอวิชชา ด้วยบทนี้ว่า "ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ" (บุคคลย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา)
ทุกคนปฏิบัติได้หมด ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนหรือว่าเป็นนักบวช หรือว่าเราจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ก็ปฏิบัติไปเหมือนกัน ไปทางเดียวกันนี่แหละไม่แบ่งแยกกันทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้ความเข้าใจอย่างนี้ การเรียนนั้นถึงจะมีประโยชน์ เราจะได้ช่วยเหลือทั้งตัวเองและได้ช่วยเหลือทั้งคนอื่น เราจะได้ไม่มาหลงแค่ร่างกายสิ่งของ ให้พากันเข้าใจ คนเราเกิดมาก็มีตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่จะรักษาตาเราได้ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและเอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติ ถ้าเรารู้แล้วไม่เอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติมันก็ไม่ได้รักษา ถึงจะมีการประพฤติการปฏิบัติ ที่มันเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาไปตัว ที่จะได้ระเบิดความมืด ด้วยปัญญาด้วยการประพฤติการปฏิบัติ เดินไปที่ละก้าว ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง อย่างนี้จะมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ธรรมะกับการดำรงชีพต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าไปหลงในอบายมุขในอบายภูมิตามใจตามอารมณ์ ขี้เกียจขี้คร้านอันนั้นไม่ได้ ต้องเสียสละ การกินเหล้า เล่นการพนัน เจ้าชู้อย่างนี้ ถือว่าเป็นอบายมุขเป็นอบายภูมิ มันไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของคนที่มีสติมีปัญญา ที่เค้าพากันพัฒนาเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบายมันถูกแล้ว แต่ก็อย่าไปหลง ถ้าหลงมันจะแย่งสิ่งของกันแย่งอำนาจวาสนากัน ทะเลาะกัน ไม่ได้เกิดความสามัคคี คนเราชีวิตของเรามันน้อยนัก เราอย่าไปหลงในพระศาสนาที่เรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ จะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ ก็เกิดแก่เจ็บตาย ตายหมดนั้นแหละ เพราะมันตกอยู่ในพระไตรลักษณ์
“ฐานะ ๕ อย่างคือ ความชอบนอน ความชอบคุย ความไม่หมั่น ความเกียจคร้าน และความโกธรง่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะคนถึงพร้อมด้วยฐานะ ๕ อย่างนั้น เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ถึงความเจริญของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตก็ไม่ถึงความเจริญของบรรพชิตย่อมเสียหายถ่ายเดียว ย่อมเสื่อมถ่ายเดียวแน่แท้”
เมื่อบุคคลปรารภจะทำอะไรแล้ว พึงกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ควรที่เราจะเร่งรีบขวนขวายทำงานให้สำเร็จสมบูรณ์ จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อตัดสินใจจะทำอะไรต่อไป จะได้ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะเรายังมีงานหลักที่เป็นงานสำคัญกำลังรอเราอยู่ งานหลักที่แท้จริงนั้น คือ การประพฤติปฏิบัติเพื่อละตัวละตน ละลายภพชาติ ตัดวัฏสงสาร ทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า "โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี
ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้าน ว่าเป็นภัย และเห็นการปรารภความเพียร ว่าเป็นความปลอดภัย แล้วปรารภความเพียรกันเถิด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย"
การปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันเราไม่เอาศีลมาปฏิบัติ ไม่เอาสมาธิมาปฏิบัติ ไม่เอาปัญญามาปฏิบัติ เราจะไม่มีการปฏิบัติเลย เหมือนที่เราเรียนหนังสือมา แต่ไม่ได้เอามาปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าการเรียนการศึกษานั้นไม่มีประโยชน์ หรือว่าเราเป็นนักกีฬา ซ้อมมาอย่างดี ฝึกกำลังมาอย่างดี แต่ปัจจุบันการแข่งขันเราไม่ดี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนชีวิตประจำวันเรา ตาเห็นรูปหูฟังเสียง เราไม่ได้ภาวนาให้เกิดวิปัสสนาเลย การปฏิบัติความเพียรก็ไม่ต่อเนื่อง ก็เท่ากับว่าเราไม่มีอะไรเลย ไม่ได้ปฏิบัติเลย ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อันนี้เป็นทางสายกลาง เป็นการพัฒนาทั้งใจทั้งเทคโนโลยีไปพร้อมพร้อมกัน เมื่อเราทำความเพียรในขณะที่อยู่เฉยๆ ตาไม่เห็นรูป หูไม่ได้ฟังเสียง เราก็พิจารณาร่างกายพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ สู่พระไตรลักษณ์ จะส่งเสริมให้เราเกิดสติเกิดปัญญาติดต่อต่อเนื่องกัน ความเครียดมันอยู่ที่เราไม่มีฉันทะ ถ้าไม่มีความพอใจ มันก็มีความเครียด
ธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ไม่ทำตามอัธยาศัยไหลไปตามน้ำเหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ เราว่ายน้ำทวนกระแส เรามาทวนกระแสโลก มันเป็นของยาก ธรรมะภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราทุกคนจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ การให้ทานการเสียสละภายนอก ยังไม่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง แต่การเสียสละทางใจ ไม่ทำตามอัธยาศัยไม่ตามใจตามอารมณ์ เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหนือกว่า ประเสริฐกว่า เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ เป็นศีลสมาธิปัญญาอย่างแท้จริงเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้รู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้วิธีการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ อันเป็นทางสายกลางคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เราจึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราจึงจะลงรายละเอียด อย่างลึกซึ้ง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee