แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๕๙ ความสำเร็จทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางพัฒนาใจ จะสำเร็จได้ด้วยอิทธิบาทธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐแล้ว เราต้องเอาความประเสริฐมาประพฤติมาปฏิบัติ เราไม่เอาแต่ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง เพราะทุกอย่างมันเป็นกรรมเป็นกฎแห่งกรรม เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าเราจหยุดไม่ให้มีเราก้ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่เรา เราเป็นผู้ที่โชคดี ต้องหยุดอบายมุข อบายภูมิ เราปิดประตู คนยากจนปิดประตูอบายมุข เข้าสู่ธรรมะ ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติเอง เราต้องรู้จัก อบายมุข อบายภูมิ ทุกคนต้องลิขิตชีวิตของตนเอง มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ
เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาใจ เข้าสู่อริยะมรรค ในปัจจุบัน ปัจจุบันของเรานี้คือการประพฤติ การปฏิบัติ อดีตก็ไม่ได้ อนาคตก็ไม่ได้ เราต้องเอาใหม่ เราต้องใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาจิตใจ ไม่ใช่เอามาทำร้าย หยุดกรรมหยุดเวร หยุดภัยของตนเอง เพราะเรานี้ทานอาหารทานข้าว พักผ่อนมันต้องแก่ต้องเจ็บมีการพลัดพราก ทุกท่านทุกคนส่วนใหญ่ก็ไม่เกินร้อยปี ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เรา ปัจจุบันนี้สำคัญต้องควบคุมเหมือนกับรถวิ่ง ต้องควบคุมตัวเอง อย่าไปมองข้าม เพื่อนฝูงเราก็คือพวกที่เกิด แก่ เจ็บตายเหมือนกัน เราต้องพัฒนาใจของเรา เราต้องเกิดมาเพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติธรรมมาขับเคลื่อนตัวเอง เข้าสู่ความดับทุกข์เรียกว่า เข้าสู่พรหมจรรย์ คือศีล 5 การทำงานต้องมีความสุข การเรียนหนังสือต้องมีความสุข สุขภาพจิตเราจะได้ดี ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้เกิดมาเพื่อพระนิพพาน
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักวิทยาศาสตร์มีทั้ง “ส่วนสอดคล้องกัน” และ “ส่วนที่แตกต่างกัน” ดังต่อไปนี้
๑. ความสอดคล้องกัน ๑.๑ ในด้านความเชื่อ วิทยาศาสตร์ถือหลักว่าก่อนจะเชื่ออะไรนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผล ไม่เชื่ออะไรลอย ๆ และต้องการหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธาแต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยาศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลที่ตัวตัดสินความจริง
พระพุทธศาสนาก็มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในการลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การจะเชื่ออะไรแก่ไหนนั้นจะต้องทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยอาศัยสติ ปัญญาและเหตุผล แต่อย่างเชื่อโดยวิธีดังต่อไปนี้ คือ (๑) อย่าเพิ่งปลงในเชื่อเพียงเพราะการฟังตามกันมา (๒) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการถือสืบๆ กันมา (๓) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการเล่าลือ (๔) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการอ้างคัมภีร์ (๕) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะนึกคิดเอาเอง (๖) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการคาดคะเนเอา (๗) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการตรึกตรอง (๘) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะตรงกับความเห็นของตน (๙) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ (๑๐) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะท่านเป็นครูของเรา และพระองค์ทรงสอนต่อไปว่า เมื่อใดที่เราอาศัยปัญญาทดสอบด้วยตนเองแล้วเห็นว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่ดีมีคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยเชื่อ ทรงสอนมิให้เชื่ออย่างงมงาย แต่เน้นการทดสอบและปฏิบัติ เมื่อทดสอบได้ผลทางปฏิบัติแล้วจึงเชื่อ
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเหมือนกัน แต่ศรัทธามิใช่วิธีสุดท้ายที่จะตัดสินว่าความจริงคืออะไร ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องชักจูงให้คนเข้าไปทดสอบความจริง แต่ตัวที่ตัดสินความจริงคือ “ปัญญา” ในคำสอนเรื่องมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางที่จะพามนุษย์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีศรัทธาอยู่ด้วย ในการสอนหลักธรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนนั้น หากในหลักธรรมใดมีศรัทธาอยู่อยู่จะต้องมีปัญญากำกับอยู่เสมอ เช่น พละ ๕ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในหลักอริยทรัพย์มีศรัทธา ศีล หิริโอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น
๑.๒ ในด้านความรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนายอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ “ประสบการณ์” หมายถึง การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิดบางอย่างด้วย เช่น รู้สึกดีใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์ คือ จากการที่ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็แสวงหาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อหรือยึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์สืบสาวไปเรื่อยๆ จะไม่อ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง
พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์ คือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเจ็บ ความแก่ ความตาย และที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ ในการค้นหานี้พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะให้คำตอบได้ แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เอง ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีส่วนหนึ่งที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องนี้ คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ส่วนพระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิตใจ
๒. ความแตกต่าง ๒.๑ มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้น ต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร
– พระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือสอนให้คนเป็นคนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
๒.๒ ต้องการเรียนกฎธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกนัยหนึ่ง วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอก
– แต่พระพุทธศาสนาสอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำดับแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
วิทยาศาสตร์มุ่งปรับธรรมชาติ แต่พระพุทธศาสนามุ่งปรับจิตใจคน
๓.๓ ยอมรับโลกแห่งสสาร
– วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้นวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ (ซึ่งความจริงวิทยาศาสตร์มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่ยังไม่ยอมรับ เพราะวิทยาศาสตร์เชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะตัดสินความจริง
– ส่วนพระพุทธศาสนาชี้ว่ามีสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาไม่สามารถจะรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) และ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือนิพพาน
วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมนั้นมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์ ส่วนสัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งที่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะ แต่แสดงโดยการประจักษ์ใจตนเองได้ (หมายถึง มีทั้งที่เราสามารถรับรู้ด้วยตาและรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้นๆ และรับกลาง ใครๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนที่โลภมากๆ อิจฉาริษยาเขามากๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตาไม่ปรารถนาร้ายต่อใครๆ มีความสุขไม่มีเวรไม่มีภัยอย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรมอันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เองเห็นจะพึงประจักษ์เฉพาะตัว
๒.๔ มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นมิได้สนใจเรื่องศีลธรรมเรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น วิทยาศาสตร์ค้นพบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์
ส่วนคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุขเป็นลำดับขั้นไปเรื่องๆ จนถึงความสงบสุขอันสูงสุดคือนิพพาน
มนุษย์เราทุกวันนี้บางทีกำลัง “งมงายในเหตุผล” ที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์ ซึ่งมันน่ากลัวยิ่งเสียกว่าการงมงายในไสยศาสตร์เสียอีก
หลักการสำคัญของพุทธศาสนานั้น มันเลย “เวทนา ๖” ไปเสียอีก ซึ่งเป็นหลักสำคัญของปฏิจจสมุปบาท ความตอนหนึ่งว่า เมือมีอายตนะ ก็มีผัสสะ (การสัมผัส) ก็มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ...อุปาทานคือการยึดติด ในที่นี้ก็คือการยึดติดกับ “ความจริง” นั่นเอง
วิทยาศาสตร์นั้น เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของพุทธศาสตร์เท่านั้นเอง คือ ในช่วงแรกศาสนาพยายามใช้เหตุผลชักจูง ชี้นำ เพื่อให้บุคคลเกิดศรัทธาในศาสนา พอมีศรัทธาแล้วก็จะปฏิบัติหนักขึ้นเรื่อยๆ จนหลุดพ้นในที่สุด สภาวะแห่งการหลุดพ้นนั้นมัน “นอกเหตุเหนือผล” ฝรั่งอาจเรียกว่า transcendental หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านพุทธทาสภิกขุก็บอกว่า “จงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น”
วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกต้องใช้ได้ เราต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ การเรียนการศึกษาถึงจำเป็นต่อหมุ่มวลมนุษย์ คนที่เกิดมาต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง มันเป็นสิ่งที่หยุดทำความเคยชินของเรา เพราะตาของเรามันก็ส่งออกข้างนอก หูของเรามันก็ส่งออกข้างนอก ทุกอย่างมันส่งออกข้างนอกหมด มันไม่ได้กลับมาปฏิบัติเอง มาเเก้ไขตัวเอง ถึงเราจะพัฒนาเทคโนโลยี เราก็สะดวกสบายเเบบไม่มีปัญญา ผู้ที่มีการเรียนการศึกษาก็มีความรู้เเต่ว่า มันพัฒนาตั้งเเต่ทางเทคโนโลยี คือการอยู่ดีกินดีสะดวกสบาย เเต่ว่าไม่ได้พัฒนาใจ เค้าเรียกว่า ยังไม่ใช่ทางสายกลาง พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมา เพื่อให้เรา พัฒนาทางสายกลาง พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
เราต้องเข้าใจนะ คนรุ่นใหม่ คนสมัยใหม่ ให้เข้าใจเรื่องศาสนา วิทยาศาสตร์มันคืออันเดียวกัน ที่เหนือวิทยาศาสตร์คือมีความสุข ความสงบ ความสบาย เราไม่หลง เรามีดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ทำบ้าน ทำเมือง ทำรถ ทำเครื่องบิน ทำคอมพิวเตอร์ ออกมาใช้งาน สะดวก สบายได้ มันต้องฉลาด มันต้องเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทางธรรมไปทางหนึ่งทางเดียวกัน ความเป็นพระมันจะได้มีกับเราทุกคน เขาเรียกว่าพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี สำหรับประชาชนคนยังไม่ได้บวช ผู้ที่บวชแล้ว ผู้ที่เขาเคารพกราบไหว้มันก็น่าจะได้เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น ให้เข้าใจ ความสุข ความดับทุกข์ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่ตามอารมณ์ ตามความคิด ตามสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ ให้รู้สัจธรรม รู้ความจริง รู้อริยสัจ ๔ ว่าต้องพากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติทุกคน ไม่มีใครทำให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ ทุกคนถ้าไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก มันเก่งทุกคน มันไม่เก่งก็เพราะว่ามันเอาความหลงเป็นที่ตั้ง อย่างนี้มันจะเก่งได้ยังไง ทำไป ทำไปก็มีแต่ปวดหัว เป็นโรคจิตโรคประสาท นอนไม่หลับ โรคภัยต่างๆ มันต้องเสียสละ มันต้องรู้จัก ดีท็อกสิ่งที่เป็นอัตตาตัวตนออกไปจากใจของเรา เราจะเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อความหลงนี้ไม่ได้ ไม่ดี
อย่างมนุษย์เราในปี ๒๕๖๖ นี้พัฒนาวิทยาศาสตร์ไปไกล ได้รับความสะดวกความสบายก็ถือว่าดีถูกต้อง แต่มันต้องพัฒนาใจ ถ้าไม่อย่างนั้นโลกนี้จะมีแต่ความวุ่นวาย เราจึงต้องเดินทางสายกลางพัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาใจ ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ ต้องเข้าสู่การปฏิบัติ เห็นไหมอย่างเราเรียนหนังสือก็มีเทอมมีภาคการเรียนต่างๆ จึงต้องเข้าสู่ไลน์ เข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องสู่ความสำเร็จ
"อิทธิบาท ๔" เป็นแนวทางการเรียน การทำงาน ให้ประสบความสำเร็จที่พระพุทธองค์ได้ทรงสดับไว้อย่างแยบคลาย อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งใครๆ ก็ท่องได้ จำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติได้ครบกระบวนความทั้ง ๔ ข้อ อันเป็น ๔ ขั้นตอนที่ต่อเนื่องหนุนเสริมกัน จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ จึงจะทำให้เราประสบผลสำเร็จในชีวิตและการงานได้ตามความมุ่งหวัง ขออธิบายดังต่อไปนี้
๑) ฉันทะ คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ ใจที่รักอันเกิดจากความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ จึงจะเกิดผลจริงตามควร ความหมายของ “ฉันทะ” นั้น ไม่ใช่แปลว่าเป็นสัญญาภาษากระดาษ หากแต่เป็นสัญญาใจและเป็นใจที่ผูกพัน เป็นใจที่ศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งนั้นอยู่เต็มเปี่ยม จึงจะเกิดความเพียรตามมา เปรียบได้กับนักวิจัยที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวคิดแนวปฏิบัติของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งอาจมีมากน้อยต่างกัน คงไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวนักวิจัยเองและผลของงานที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า Where there is the will, there is the way. ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอ ขอเพียงแต่ให้มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ย่อมมีหนทางนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอ
การมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก ไม่ใช่ทำใจให้รักเพื่ออะไรสักอย่าง หรือ ห้ามใจไม่ให้รัก มันก็ยากยิ่งพอๆ กัน เพราะรักดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความรักความศรัทธาของเราจริงๆ ขืนทำไปก็มีแต่จะทุกข์ทรมาน แม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังแล้วก็ตาม ประการสำคัญเป็นการแอบแฝงมาจากความคิดอื่นศรัทธาอื่นหรือความเป็นอื่น ที่เราพยายามหาเหตุและผลมาอธิบายว่า มันคือสิ่งเดียวกันเพื่อให้สามารถดำเนินไปได้ หรือเพื่อให้ตัวเองสบายใจที่สุด แต่ถ้าเรามีใจศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว พลังสร้างสรรค์ก็จะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว
ทีนี้มาพูดถึงว่า “เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร” พระพุทธองค์เคยสอนไว้ว่า มนุษย์เราต้องเลือกที่จะศรัทธาบางอย่างและหมั่นตรวจสอบศรัทธาของตัวเองว่าดีต่อตัวเองและดีต่อผู้อื่น อันรวมถึงสังคมโดยรวมหรือไม่ เมื่อดีทั้งสองอย่างก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็จงเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ ซึ่งเราต้องเลือก ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนที่สับสนไม่มีแก่นสาร และเป็นคนไร้รากในที่สุด เมื่อเป็นคนไม่มีแก่นสารก็จะถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายนั่นเอง
หากจะฝึกฝนตนเอง อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราศรัทธาอะไรอยู่ เพราะคนเราเมื่อศรัทธาอะไรก็จะได้พบกับสิ่งนั้นเข้าถึงสิ่งนั้น ศรัทธาในเทคโนโลยีเราก็จะเข้าถึงเทคโนโลยี ศรัทธาต่อชาวบ้านเราก็จะเข้าถึงชาวบ้าน ศรัทธาต่อวัตถุก็จะเข้าถึงวัตถุ ศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญก็จะเข้าถึงลาภถึงยศเข้าถึงตำแหน่ง ศรัทธาต่อความรู้ก็จะเข้าถึงความรู้ หรือศรัทธาต่อหลักธรรมก็จะเข้าถึงธรรม หรือไม่ศรัทธาอะไรเลยก็ไม่เข้าถึงก็ไม่เข้าถึงอะไรเลย เพราะความศรัทธานำมาซึ่งมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราศรัทธานั่นเอง
๒) วิริยะ คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเท เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ที่จะเรียนรู้และทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ถ้าหากกระทำก็จะทำจนเชี่ยวชาญจนเป็นผู้รู้ ถ้าหากศึกษาก็จะศึกษาให้รู้จนถึงรากเหง้าของเรื่องราวนั้นๆ ดังนั้น คำว่า “วิริยะ” จึงหมายถึงความเพียรพยายามอย่างสูงที่จะทำตามฉันทะหรือศรัทธาของตัวเอง
วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ ความอดทนเป็นเครื่องมือสำหรับคนใจเย็นและใจงามด้วย ไม่ใช่มุทะลุดุดันรบเร้าและรุ่มร้อน เพราะมันจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย หรือสูญเสียความอดทนในที่สุด ดังนั้น ความวิริยะอุสาหะ จึงเป็นวิถีทางของบุคคลที่หาญกล้าและทายท้าต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งมวล
ถามว่า “ความวิริยะมันเกิดจากอะไร” คำตอบก็คือ “เกิดจากศรัทธาหรือฉันทะนั่นเอง” และเป็นศรัทธาที่มั่นคงด้วยไม่ว่าจะมีอุปสรรค์ใดๆ มากระทบก็ตาม ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจปล่อยวางหรือวางเฉยในบางเวลาบางสถานการณ์บ้าง เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า ความวิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตายหรือต้องให้ได้เสมอ แต่มันคือความแยบยลและเลือกที่จะทำบางอย่างเพื่อรักษาศรัทธาไว้ หรือเพื่อรอวาระที่เหมาะสมอันหมายถึงการบรรลุผลแห่งศรัทธา
ถ้าจะฝึกฝนเรื่องความวิริยะแล้วคงต้องเริ่มจากความคิดที่ว่า ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองบ่อยๆ หมั่นทำหมั่นคิดหมั่นเขียนหมั่นนำเสนอและอย่าขี้เกียจ อย่ากลัวความผิดพลาดและจงกล้าแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตัวเอง อย่าท้อต่องานหนักและงานมากให้คิดว่าทำมากรู้มากเก่งมากขึ้น อย่าบ่นว่าไม่มีเวลาเพราะเวลามีเท่าเดิม ฯลฯ
๓) จิตตะ คือ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม คำนี้ยิ่งใหญ่มากปัจจุบัน สังคมซับซ้อน มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ละคนมีภาระหน้าที่ ที่ต้องทำมากมาย ไม่รู้จะทำอะไรก่อน เวลาอ่านหนังสือก็คิดถึงงานที่รับผิดชอบ เวลาทำงานก็คิดว่าต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ ไม่สามารถมีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ผลคือ ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่างทำผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าเรามีใจที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการงานก็ตาม ทุกอย่างก็จะดีขึ้นไปเอง เราก็จะมีความรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยใจที่จดจ่อตั้งมั่นและใฝ่เรียนรู้ของเรา เมื่อมีความรอบรู้มากขึ้นก็จะเกิดความรอบคอบตามมา เมื่อมีความรอบคอบแล้วการตัดสินใจทำอะไรก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยตามไปด้วย
ความรอบคอบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่รอบรู้ ดังนั้น การที่คนจะรอบรู้ได้นั้น ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นเนื่องนิจ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสืออย่าให้ขาด และหลากหลายโดยไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประการสำคัญต้องฝึกตั้งคำถามกับตัวเองกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราพร้อมกับค้นหาคำตอบให้ได้ การฝึกสนทนากับผู้รู้บ่อยๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่เข้าใกล้ความรอบรู้ไปโดยปริยาย
เมื่อเราเข้าใกล้ความรอบรู้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะวิเคราะห์สังเคราะห์เนื้อแท้ของเรื่องราวนั้นๆ ออกมาสู่การตัดสินใจของหมู่คณะหรือแม้แต่เรื่องส่วนตัวของเราเอง ดังนั้น ความรอบคอบจึงแฝงไปด้วยความรอบรู้ตามสภาพจริงของมัน อันเป็นแนวปฏิบัติที่คนรุ่นใหม่ต้องสร้างให้เกิดเป็นนิสัยแก่ตนเอง
ความรอบคอบนอกจากจะดำรงอยู่คู่กับความรอบรู้แล้ว ยังต้องอาศัยความดีงามเป็นเครื่องเตือนสติด้วย ถึงจะสามารถใช้จิตของเราพินิจพิจารณาและตรึกตรองในเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ นั้นได้อย่างเหมาะสม เพราะความดีงามตามแบบอย่างของคุณธรรมตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคมนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข
๔) วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา อันเกิดจาก การมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จึงนำไปสู่การทบทวนตัวเอง และทบทวนองค์กรหรือทบทวนขบวนการ ทบทวนในสิ่งที่ได้คิดสิ่งได้ทำผ่านมาว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองและเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
การทบทวนเรื่องราวจากภายในของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มสับสนวุ่นวายอย่างเข้มข้น ทบทวนความคิดเพื่อตรวจสอบความคิดและการกระทำของเราว่าเราคิดหรือทำจากความคิดอะไร? พร้อมกับถามตัวเองว่าเราคิดอย่างนั้นเพื่ออะไร? เราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร? เพื่อความสุขของตัวเองหรือเพื่อความสงบสุขของสังคม? ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะอยู่ ณ จุดไหนของสังคม หรือเปลี่ยนแปลงตนอย่างไร ไปสู่การสร้างสรรค์ตนเองและสังคมที่งดงาม
ดังนั้น “อิทธิบาท ๔” จึงมีความหมายกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน เพราะหากทำได้ตามกระบวนความแล้ว สังคมความรู้ ชุมชนความรู้ และปัจเจกชนความรู้ คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ประการสำคัญ “อิทธิบาท ๔” ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวจากหลักธรรมข้ออื่นๆอันเป็นองค์รวมและเชื่อมโยงถึงกัน เพียงแต่อธิบายคนละบทบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญ เราได้ใคร่ครวญในเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะ ในโลกปัจจุบัน โลกที่สั่งสม อวิชชามามากจนเกินล้น จึงกลายเป็นโลกที่ฉาบฉวยและวุ่นวายสูงสุด นั่นแปลว่าเราต้องฝึกฝนตนเองหลายเท่าตัวเพื่อจะเข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่ก่อกำเกิดการพัฒนาที่จุดเริ่มต้นของตนเองอย่างแท้จริง
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee