แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๕๘ ปฏิบัติบูชาเพื่อเป็นเหตุปัจจัย ให้ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์อย่างสิ้นเชิง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พุทธบริษัททั้งหลาย วันพรุ่งนี้จะเป็นวันมาฆปูรณมีบูชา เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดยังไม่หายสนิท อย่าเพิ่งพากันเวียนเทียน วันพรุ่งนี้ก็จะทำบุญตักบาตรรอบศาลาในเวลา ๐๗.๑๕ น. จากนั้นก็เข้าศาลาฟังธรรม ถวายพานดอกไม้สักการะพระรัตนตรัยแทนการเวียนเทียน พิธีทำบุญในวันมาฆบูชาก็จะเสร็จสิ้นในภาคเช้าทั้งหมด เพื่อให้สะดวกสำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับไปทำงาน
ท่านทั้งหลายผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อมรรค เพื่อผล เพื่อพระนิพพาน ด้วยการมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่โชคดีนะ ที่ได้ร่างกายเป็นมนุษย์ ได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสรู้และนำมาสอน พรุ่งนี้จะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าให้โอวาทแก่หมู่มวลมนุษย์ พุทธบริษัททั้งหลาย ว่าเราทั้งหลายไม่อาจจะทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง เพราะนั่นเป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนะ คืออวิชชาความหลง เราจึงต้องมาตามพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพูดให้เข้าใจเป็นหลัก เรามีหน้าที่ต้องรู้ ต้องปฏิบัติตามหลักนั้น พระอรหันต์ทำตามพระพุทธเจ้า ถึงได้เป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระ คืออยู่ที่ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่ประเสริฐที่สุดก็คือพระธรรมคำสั่งสอนเราเป็นพุทธบริษัท เราต้องปฏิบัติอย่างนี้
นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตั้งแต่วันเพ็ญ เดือน ๖ ได้ทรงเริ่มออกสั่งสอน แก่ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ ทรงสอนครั้งแรกคือ ไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๘ ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธองค์ทรงส่งพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดออกไปประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนา ว่า “มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสฺสา, ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ, เย ทิพฺพา จ เย มานุสฺสา. จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ”
“ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ ขอจงอย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริสุทธิ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”
พระดำรัสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าน่าประทับใจ ลึกซึ้งกินใจชาวพุทธยิ่งนัก พระองค์ทั้งขอร้อง ทั้งทรงสั่ง ให้พระสงฆ์สาวกของพระองค์ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนของพระองค์ให้ถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พระพุทธศาสนานับได้ว่าเป็นศาสนาแรกของโลกที่มีการจัดระบบงานเผยแผ่ศาสนา โดยส่งสาวกไปสอนศาสนาก่อนศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นที่น่าภูมิใจสำหรับชาวพุทธทั่วโลกที่พระสาวกในพระพุทธศาสนาได้ทำงานแบบนี้มาเป็นเวลานานมาแล้ว
จากนั้นพระพุทธองค์เสด็จจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มุ่งสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในระหว่างทางเสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนใต้ร่มไม้ในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพระราชกุมาร ๓๐ พระองค์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าโกศลราช ณ กรุงสาวัตถี และร่วมพระราชบิดาเดียวกันกับพระปเสนทิโกศลราชกุมาร มีนามเป็นที่รู้จักกันดีว่า “ภัททวัคคีย์” เพราะทุกพระองค์มีรูปงาม พระราชกุมารเหล่านี้ พาภรรยาประพาสป่าหาความสำราญ แต่ราชกุมารองค์หนึ่งไม่มีภรรยาจึงนำหญิงแพศยามาเป็นคู่เที่ยว หญิงนั้นเห็นพระราชกุมารประมาทเผอเรอ จึงลักขโมยเอาเครื่องประดับหนีไป พระราชกุมารทั้งหลายจึงพากันออกติดตามจนได้มาพบพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า “เธอจะตามหาหญิงหรือตามหาตนเอง” แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ พระราชกุมารทั้งหมดบรรลุธรรมาภิสมัย คือ ที่บรรลุพระโสดาบันก็มี ที่บรรลุพระสกทาคามีก็มี พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา
แล้วพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกมาถึงตำบลอุรุเวลา ซึ่งมีชฎิล ๓ คนพี่น้องอาศัยอยู่ คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะ โดยอุรุเวลกัสสปะ เป็นหัวหน้าของชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ เป็นหัวหน้าของชฎิล ๓๐๐ คน ส่วนคยากัสสปะ เป็นหัวหน้าของชฎิล ๒๐๐ คน
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสปะ เพื่อขอพักอาศัยในโรงบูชาเพลิงซึ่งมีพญานาคที่ดุร้ายอาศัยอยู่ ทรงเข้ากสิณสมาบัติ มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ครอบงำเดช ของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ แล้วทรงขดพญานาคไว้ในบาตร ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ ชฏิลอุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหารย์ของพระพุทธเจ้า จึงนิมนต์พระองค์ให้อยู่ในที่นั้น โดยตนจะบำรุงภัตตาหารให้ประจำ
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ในแต่ละคืนเมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมทวยเทพ และท้าวสหัมบดีพรหม ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรมตามลำดับ เปล่งรัศมีงาม ทำให้ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นสว่างไสว ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ขนาดท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมทวยเทพ และท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ต่อมา ชฏิลอุรุเวลกัสสปะเตรียมการบูชายัญใหญ่ แล้วคิดในใจว่าถ้าพระพุทธเจ้าแสดงอิธิปาฏิหาริย์ มหาชนจะต้องถวายลาภสักการะให้แก่พระผู้มีพระภาค ลาภสักการะของตนก็จะลดลง จะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงไม่มาฉัน
พระผู้มีพระภาคทราบความคิดของชฎิลอุรุเวลกัสสปะแล้ว จึงเสด็จไปอุตตรกุรุทวีปเพื่อบิณฑบาต แล้วนำกลับมาเสวยที่สระอโนดาด
วันรุ่งขึ้น ชฏิลอุรุเวลกัสสปะถามพระพุทธเจ้าว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มารับอาหารเมื่อวานนี้ พระพุทธเจ้าตอบว่า เพราะชฏิลคิดไม่ใช่หรือว่าทำอย่างไรจึงไม่ให้พระองค์มาฉัน ชฏิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงทราบความคิดด้วยใจได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่าจะทรงซัก ขยำ พาด และผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ใด เมื่อนั้นท้าวสักกะจอมทวยเทพจึงขุดสระโบกขรณีเพื่อให้ทรงซักผ้า ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวาง เพื่อให้ทรงขยำผ้า เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบกได้น้อมกิ่งกุ่มลงมาเพื่อให้ทรงพาดผ้า และท้าวสักกะจอมทวยเทพได้ยกแผ่นศิลาแผ่นใหญ่เพื่อให้ทรงผึ่งผ้า
วันรุ่งขึ้น ชฎิลได้ถามพระพุทธเจ้าว่าสระ แผ่นศิลา และกิ่งกุ่มที่น้อมลง เกิดขึ้นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าจึงเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง
ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ขนาดท้าวสักกะยังได้ทำการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ในวันต่อๆ มา ชฎิลอรุเวลกัสสปะได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าภัตตาหารเสร็จแล้ว ทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปะกลับไปก่อน ส่วนพระองค์ทรงไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลสมอ แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะ แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสปะ
ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งตนก่อนแล้วยังไปสู่ชมพูทวีปและภพดาวดึงส์แล้วยังมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนตน แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ครั้งหนึ่ง ชฎิลเหล่านั้นปรารถนาจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืน ก่อไฟให้ลุก และดับไฟได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาฏิหารย์โดย ตรัสบอกให้พวกชฎิลผ่าฟืน ก่อไฟให้ลุก และดับไฟ ชฎิลทั้งหลายสามารถผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อน ก่อไฟทั้ง ๕๐๐ กอง และดับไฟได้ในคราวเดียวเท่านั้น ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้พวกชฏิฏผ่าฟืน ก่อไฟ และดับไฟได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
และครั้งหนึ่งในฤดูหนาว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาฏิหาริย์ นิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง เพื่อให้ชฎิลเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วผิงไฟได้ ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับนิรมิตกองไฟได้มากมากยถึงเพียงนั้น แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ครั้งหนึ่งเกิดฝนตกนอกฤดู จนทำให้เกิดน้ำท่วม พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ แล้วทรงจงกรมอยู่บนพื้น เมื่อชฏิลมารับพระพุทธเจ้า ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าจงกรมอยู่บนพื้นที่มีน้ำล้อมโดยรอบ
ชฏิลอุเวลกัสสปะดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับบัลดาลไม่ให้น้ำไหลได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคดำริว่าจะพึงทำให้ชฏิลนี้สลดใจ จึงตรัสกับอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอกนะ ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ด้วย แม้ปฏิปทาของเธอที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นอรหันต์ก็ไม่มี”
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้อุรุเวลกัสสปะได้คิดหลังจากที่หลอกตัวเองอยู่นาน เมื่อคิดตกแล้วท่านโผเข้าซบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ท่านแจ้งความประสงค์ให้บริวารของท่านทราบก่อน บริวารของท่านเมื่อทราบความประสงค์แล้วก็ตกลงใจขอบวชตามด้วย หลังจากปลงผม และนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชราพร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขารและเครื่องบูชาไฟแล้ว อุรุเวลกัสสปะและบริวารทั้ง ๕๐๐ ก็พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา
นทีกัสสปะซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตรงที่โค้งซึ่งแม่น้ำบรรจบ กัน คือแม่น้ำเนรัญชราและแม่น้ำโมหนี ครั้นเห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชาย พร้อมด้วย ของบริวารลอยน้ำมาแล้วจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ เดินทางมาหาอุรุเวลกัสสปะ เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็น พี่ชาย พร้อมด้วยบริวารบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา แล้ว จึงถามว่า“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”
เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันปลงผมแล้วนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน
คยากัสสปะ ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตามแนวฝั่งของแม่น้ำ คยา ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก ครั้นเห็น ผม ชฎา และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยของบริวารลอยน้ำ มาจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ เดินทางมาหาที่อาศรม เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็นพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวาร บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงถามด้วยคำถามเดียวกับที่นทีกัสสปะถามอุรุเวลกัสสปะว่า “ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”
เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันทำอย่างที่พี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารทำมาแล้ว คือปลงผมแล้วนำไปลอย ลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอ บวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีแบบเดียวกับที่ทรงประทานแก่ชฎิลผู้พี่ คือวิธีบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน
การออกบวชของชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ส่งผลให้พระพุทธเจ้าได้พระสาวกใหม่ถึง ๑,๐๐๓ รูป ภายในวันเดียว
หลังจากบวชให้พระชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารแล้ว พระพุทธเจ้าพาพระทั้งหมดนั้นไปยังคยาสีสะซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำคยา ครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร “ทรงแสดงถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน และความรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะตาเห็นรูป หรือหูได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นของร้อนใจความโดยสรุปก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นสิ่งเหล่านั้น” ภิกษุชฎิลเหล่านั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และท่านพระอุรุเวลกัสสปะเป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีบริวารมาก
คนมีหูก็อันตราย มีตาก็อันตราย พระพุทธเจ้าถึงสอนชฎิลสามพี่น้องว่า ตาก็เป็นไฟ หูก็เป็นไฟ จมูกลิ้นกายใจก็เป็นไฟ ไฟที่ไหม้ในภายนอก แม้จะรุนแรงแค่ไหน ก็ไม่อันตรายเท่ากับไฟภายใน ความรัก ความหึงหวง ความผูกพัน (ราคะ) ความหงุดหงิด วู่วามง่าย ความโกรธ ผูกใจเจ็บ อาฆาตพยาบาท (โกรธ) และความหลงงมงาย ขาดสติ (โมหะ) จัดเป็นไฟภายใน ไฟชนิดนี้แหละที่อันตรายและเป็นไฟไหม้ฟางที่ค่อยๆ เผาใจเราโดยไม่รู้ตัว
พระพุทธองค์ตรัสว่า "กิเลสทั้งสามประการนี้ย่อมเผาบุคคลผู้ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน ให้รุ่มร้อนกระวนกระวายเหมือนไฟเผาไหม้ท่อนไม้และแกลบให้แห้งเกรียม ข้อแตกต่างแห่งกิเลสทั้งสามประการนี้ก็คือ ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วยคลายช้าด้วย บุคคลซึ่งออกบวชแล้วประพฤติตนเป็นผู้ไม่มีเรือนเรียกว่า ได้ชักกายออกห่างจากกามราคะ แต่ถ้าใจยังหมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามก็หาสำเร็จประโยชน์แห่งการบวชไม่ คือเขาไม่สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้ อุปมาเหมือนไม้สดชุ่มอยู่ด้วยยาง แม้จะวางอยู่บนบก บุคคลผู้ต้องการไฟก็ไม่อาจนำมาสีให้เกิดไฟได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุ ภิกษุณีผู้ชักกายออกจากกามแล้ว พยายามชักใจออกจากกามความเพลิดเพลินหลงใหลเสียด้วย"
จริงทีเดียวในจักรวาลนี้ไม่มีไฟอะไรร้อนแรงและดับยากเท่าไฟรัก ความรักเป็นความเรียกร้องของหัวใจ มนุษย์เราทำอะไรลงไปเพราะเหตุเพียงสองอย่างเท่านั้น คือเพราะหน้าที่อย่างหนึ่ง และเพราะความเรียกร้องของหัวใจอีกอย่างหนึ่ง ประการแรกแม้จะทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มนุษย์ก็ไม่ค่อยจะเดือนร้อนเท่าใดนัก เพราะคนส่วนมากหาได้รักหน้าที่เท่ากับความสุขส่วนตัวไม่ แต่สิ่งที่หัวใจเรียกร้องนี่ซิ ถ้าไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถสนองได้ หัวใจจะร่ำร้องอยู่ตลอดเวลา มันจะทรมานไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของมัน หรือมนุษย์ผู้นั้นตายจากไป
พระพุทธองค์ตรัสว่า "ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นเรื่องทรมาน และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพรากก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง"
ขณะนี้ เรากำลังถูกเผาอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเราหยุดดิ้นรนให้อภัย ฝึกใจให้สงบ มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั้นไฟย่อมดับไป แต่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ไฟชนิดนี้แหละที่ร้ายแรงที่สุด อย่าปล่อยให้มันไหม้จนลุกลามไปทั่ว
อุปกรณ์ดับไฟภายในต้องใช้ธรรมะ คือ การให้อภัย มีสติ มีเมตตา ไม่ใช่น้ำที่ไหน เมื่อมีธรรมะก็เหมือนน้ำเย็นชนิดวิเศษที่ช่วยดับไฟประเภทนี้ได้
ตื่นอยู่ทำการภาวนา ก็สามารถดับทุกข์ร้อนทั้งปวงได้ ส่วนผู้ที่หลับใหลอยู่ในกามคุณอันมืดมัว ยุ่งเหยิงด้วยเรื่องต่างๆ วุ่นวายสับสนอยู่กับเรื่องของบุคคลอื่น ไม่มีโอกาสได้พบแสงธรรม แต่กำลังถูกแผดเผาอยู่ ด้วยความร้อนจากไฟกามคุณอารมณ์
พระพุทธเจ้าทรงข้ามพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะแล้ว ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ว่า
“ดูก่อน! ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ ได้แก่ ไฟราคะ ๑ ไฟโทสะ ๑ ไฟโมะ ๑ ดูก่อน! ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งหลาย”
“ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดแล้วหมกมุ่นอยู่แล้วในกามทั้งหลาย ยังติดใจ ยินดีในรสกาม”
แต่ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนทั้งหลาย ผู้อาฆาตพยาบาทซึ่งชอบฆ่าสัตว์ ชอบรังแกข่มเหงทรมาน
ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนทั้งหลาย ผู้หลงงมงายหลงยึดถือตัวตนเราเขา อันขัดกับอริยสัจจธรรม
ไฟทั้ง ๓ กองนี้แล! ย่อมเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ ผู้หลงใหลหมกมุ่นยินดียิ่งในร่างกายของตน สัตว์เหล่านั้นพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย และเปรตวิสัยอยู่ (ทำผู้ที่เกิดในอบายทั้ง ๔ ให้มีปริมาณมากขึ้น) จึงไม่อาจพ้นจากบ่วงแห่งมาร (กิเลสมาร) ไปได้”
ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์ ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ ด้วยเมตตา และย่อมดับไฟคือโมหะ ด้วยปัญญา อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ดับไฟทั้ง ๓ กองนั้นได้แล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ที่ประเสริฐ ท่านมาบอกมาสอนเราว่า นั่นทุกข์ นั่นเหตุเกิดทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราต้องดำเนินไปสู่อริยมรรคมีองค์แปด สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีอยู่ในธรรมวินัย ที่เราจะต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่พากันตั้งอยู่ในเพลิดเพลิน อยู่ในความประมาท เพราะความสุข ความดับทุกข์ การหยุดเวียนว่ายตายเกิด มันมีแก่เราทุกคน พระพุทธเจ้าบอกกับเราทั้งหลายว่าไม่ให้ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ความประมาท มันเป็นไฟต์ติ้ง เป็นไฟต์ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ ที่เราจะได้เข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ถือแบรนด์เนม เราจะพากันหยุดจากวัฏสงสาร เข้าสู่ระบบความคิด คำพูด การกระทำ ด้วยสัมมาทิฐิ เข้าสู่ภาคปฏิบัติ เรียกว่าศีล เพราะศีลนี้ เป็นฐานของการเดินทางในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องมีความตั้งมั่นในปัจจุบัน เป็นขณิกสมาธิ ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถึงจะเกิดปัญญาได้ เพราะมันคือปัญญาที่แท้จริง ไม่ใช่ปัญญาที่มีไว้เพียงแต่ดำรงธาตุดำรงขันธ์เท่านั้น เป็นปัญญาที่พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ให้เรารู้จักว่าหนทางที่เราจะไปนั้น จะเป็นไปได้ คือต้องเป็นมรรค เป็นอริยมรรคมีองค์แปด ที่มีอยู่ในปัจจุบันะรรม เป็นธรรมที่เราต้องพากันรู้จัก พากันประพฤติ พากันปฏิบัติ
ชีวิตของเรา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ช่างหัวมัน สิ่งที่มันแล้ว ก็ให้มันแล้วไป ที่มันหลง ที่มันตั้งอยู่ในความประมาท เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง เพราะพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือพระธรรม และพระวินัย วิธีที่จะนำใจของเราออกจากวัฏสงสารเป็นญาณหยั่งรู้ และญาณภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างนี้นะ มันจะเลื่อนไปเอง เพราะสิ่งนี้มีจริง ต่อไปเราถึงจะเป็นคนโชคดี เป็นผู้ประเสริฐ
ทุกท่านทุกคนปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่งที่เราเป็นที่เราอยู่ เราจะได้เข้าสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริง ไม่ใช่ดับทุกข์แต่เพียงร่างกาย ร่างกายนี้ อายุขัยอยู่ได้ ก็ไม่เกินร้อยปี แต่จิตใจนั้น ถ้ามีเหตุมีปัจจัย มันก็ย่อมที่จะเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏสงสาร น้ำผึ้งมันหวานมันอร่อยก็จริง แต่ถ้าหลงในความหวาน มันก็คือยาพิษ เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ เราก็ตามอารมณ์ตามอะไรไป อย่างนี้เราก็อันตราย เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไป คนไม่มีพลังสิ่งภายนอกก็ดึงไป เพราะภาคปฏิบัติของเรายังอ่อนอยู่ รู้อยู่แต่มันยังทำไม่ได้ แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังไม่ชำนาญ สติสัมปชัญญะเรายังไม่พอ ใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ ต้องอาศัยการอาศัยเวลา ถ้าอย่างนั้นเราจะมีประโยชน์อะไรที่เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็เสียชาติเกิดที่ประเสริฐ
จิตมาจากอาการของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ของเขา ตาก็ทำหน้าที่ของเขาคือเห็น หูก็ทำหน้าที่ในการฟัง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็จะได้พัฒนาจิตให้ดี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเขาไม่ได้พัฒนาจิตเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ แถมยังเร้าใจเร้าอารมณ์ ยังไปเสพสมอารมณ์นั้นๆ เพราะการเสพเริ่มจากจิตนี้แหละไป กรรมต่างๆ มาจากที่ผัสสะไม่มีปัญญา ผัสสะไม่มีสัมมาทิฏฐิ จิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ เมื่อจิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันก็เอากายวาจาใจนี้ไป ไปสร้างบาปสร้างกรรมสร้างเวรสร้างภัย แล้วก็เห็นเป็นเรื่องดี เห็นผิดเป็นถูก มีแต่จะสร้างปัญหา การกระทำของเรา การเดินทางของเรา คือ ที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ เรียกว่า พรหมจรรย์
พระพุทธเจ้าทรงรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และทรงรู้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ให้เราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เพราะคนเรามันสร้างวัฏสงสาร ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกของตัวเอง มันจะเป็นความสุข ที่ไหนได้มันเป็นความทุกข์ มันเป็นสัญชาตญาณที่มันมีอยู่ พระพุทธเจ้าได้มาบอกมาสอน เราทุกคนต้องมาจากตัวเอง หยุดเวียนว่ายตายเกิด ต้องพากันทำหมันตัวเอง ความคิดความปรุงแต่ง ที่มันส่งผลออกมาเป็นความประพฤติ เป็นจริตต่างๆ เป็นเพราะมาจากเราไม่รู้จักอารมณ์ แล้วก็ไปตามความปรุงแต่งต่างๆ ที่คนเราร้องไห้ก็เพราะดีใจเสียใจ เพราะความคิด อันนี้มันเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องสัญชาตญาณ ความคิดความปรุงแต่งจึงมีอิทธิพลต่อเราทุกคน พระพุทธเจ้าทรงรู้วงจรของสิ่งนี้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้มาบอกมาสอนเราด้วยวิธีง่ายๆ แต่ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ต้องหยุดตัวเอง
จะไปคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มันทำให้เราต้องเรียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ อะไรที่เป็นตัวทำให้เราเกิด ก็คือการที่เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เราจึงต้องมารู้จักกลไกรู้จักวงจร รู้จักต้นสายปลายเหตุ ที่คนทั้งโลกพากันทุกข์ ไม่มีปัญหาก็พากันสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ แม้จะเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ เป็นพรหมก็ยังมีความทุกข์ เราทุกคนเป็นผู้โชคดีได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เพราะเราจะไปหาแก้ภายนอกมันแก้ไม่ได้หรอก เพราะปัญหามันอยู่ที่เรา
การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด เราทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไปทำอย่างอื่นเรียกว่าไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee