แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๕๕ มีสติสัมปชัญญะ ไม่ละความเพียร เพื่อถอดถอนตะปูตรึงใจทั้ง ๕ ออกไป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา จึงเริ่มต้นที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง ซึ่งเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ถึงมีการสมาทาน ถ้าเข้าใจแล้วก็ง่าย การปฏิบัติเราต้องสมาทาน เริ่มจากความคิด แล้วเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราต้องสมาทาน ว่าอันไหนไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่พูด อันไหนไม่ดีไม่ทำ จะว่าง่ายมันก็ถือว่าง่ายเหมือนกันนะ เพราะว่ามันแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น ถึงต้องปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ สมบูรณ์ด้วยทั้งภาคความรู้ และภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นอริยะมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เป็นเรื่องง่าย สำหรับผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปเพื่อวัตถุ…
พระอรหันต์ท่านไม่มีอาบัติ เพราะท่านไม่มีเจตนา เพราะท่านมีสัมมาทิฏฐิ ท่านสมาทานสัมมาทิฏฐิ แล้วก็การประพฤติ การปฏิบัติ มันถึงหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ และหยุดมีเซ็กทางจิตใจ คนเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก พวกผู้ที่มี ภรรยา มีสามี ก็ย่อมมีบุตร มีธิดา เพราะว่ามันมีเซ็กทางร่างกาย แต่ถ้าเรามีเซ็กทางจิตใจ เราก็ย่อมมีการเวียนว่ายตายเกิด การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มันถึงอยู่ในชีวิตประจำวัน ของหมู่มวลมนุษย์ ถ้าอันไหนไม่ดีก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ไม่มีเจตนา ต้องหยุดตัวเอง เพราะปัจจัย 4 นี้ มันเป็นความดับทุกข์ทางกาย มันดับทุกข์ทางจิตใจ หยุดวัฏฏะสงสารไม่ได้ เพราะที่เราปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นี้มันเป็นเพียงรูปแบบ เป็นแต่เพียงแบรนด์เนม อริยะมรรคมีองค์ ๘ ก็คือ เป็นเครื่องแบบ เป็นแนวทาง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ด้วยเจตนาด้วยความตั้งใจ บรรพชิตทั้งหลายถึงต้องไม่เกี่ยวข้องกับเดรัจฉานกถา กับสิ่งต่างๆ เพราะท่านอยู่กับสภาวะธรรม ไม่ได้อยู่กับอดีตไม่ได้อยู่กับอนาคต ถ้าพระเรานักบวชเรา ถ้าไม่ทิ้งอานาปานสติ เราจะอยู่ 100 คน พันคน แสนคน มันก็ไม่มีอะไร เพราะว่าใจของเรามันมีเจตนามีความตั้งใจ ใจของเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาในปัจจุบัน มันเป็นการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป นี้มันต้องเป็นเครื่องหยุด ผู้ที่มีบารมีที่มาบวชถึงต้องอาศัยพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ เราถึงจับหลักโอวาทปาฏิโมกข์ ด้วยเจตนาด้วยความตั้งใจ
เพราะเรามีกรรมเก่าที่เรารับจ้างมาเกิดมันก็หนักอยู่แล้วนะ แล้วเราก็ยังไม่รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์อีกนะ ทีนี้แหละ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานไม่อยากให้พระไปคลุกคลีกับพระที่ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ เพราะมันจะไปติดโควิด โควิดก็คือสิ่งที่ไม่ดีนะ ให้เข้าใจอย่างนี้ เราต้องรู้จักกรรมนะ ถ้าใจอ่อนมันไม่ได้ ต้องใจเข้มแข็ง เพราะเราบวชมาเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อหยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัยอย่างนี้นะ เราก็เข้าหาพระพุทธเจ้า เข้าหาพระพุทธเจ้าคือ เข้าหาธรรมะ เข้าหาพระวินัย เพราะธรรมวินัยนั้นคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคล เป็นธรรมะ เป็นสภาวะที่ตัดกรรม เรามาบวช ไม่มี sex ทางร่างกาย จะมามี Sex ทางจิตใจที่เราต้องรู้จัก เราจะได้แก้ที่ตัวเอง ให้มันรู้ตัวเองมากขึ้นชัดเจนขึ้น หายใจเข้าก็รู้ชัดเจนหายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกก็สบาย หายใจเข้าสั้นหายใจออกสั้น ให้มันรู้ชัดเจนในปัจจุบันนะ เราจะได้พากันตัดกรรมตัดเวร พระธรรมวินัยนั้นเป็นยานที่พาเราออกจากวัฏสงสาร เราต้องพากันรู้จักกรรม ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะไหลไปหากัน
เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวันของเรา เราถึงจะเข้าถึงสภาวะธรรม ตอนนี้เราก็เข้าแต่สภาวะอวิชชา สภาวะความหลงอย่างนี้นะ คิดซะใหญ่โตมโหฬาร ถามครูบาอาจารย์เรื่องจิตเรื่องใจเรื่องสภาวะธรรม แต่สิ่งภายนอกยังทำไม่ได้ มันจะไปสอนใคร ตัวเองก็ยังสอนตัวเองไม่ได้ งานหลักของเราคืองานเสียสละ ถ้าเรายังเสียสละไม่ได้ เราก็เป็นคนท้องผูกหน่ะ ถ้าพูดสั้นๆ ก็ทั้งกายทั้งจิตใจ เราก็เป็นคนยึดมั่นถือมั่น เราก็เป็นคนมีสักกายะทิฏฐิ มันเอาตัวตนเป็นใหญ่ตัวตนเป็นที่ตั้ง มันไม่ใช่ศาสนา มันเป็นนิติบุคคลอยู่
มาบวชเราก็อยากมีหน้ามีตาอยากมีสตางค์ อยากถูกหวยอะไรอย่างนี้ ใจของเราก็มี sex มีอะไร มันไม่ได้ ไม่ใช่ๆๆ ต้องพากันเข้าใจ พระใหม่รุ่นใหม่หรือว่าพระเก่า พวกนี้ก็ถือว่าต้องพากันแก้ไขนะ พอรุ่นเสื่อม พระเก่าก็ต้องพากันมารีไซเคิลใหม่นะ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นเถระ มันเป็นอวิชชาเถระ เราต้องรู้จักนะ สังเกตดูมันจะไหลเข้าหากันนะ เพราะแรงดูงดูดของพลังจักรวาล จักรวาลที่เป็นตัวเป็นตน มันรุนแรง ทำไมมันดึง วึ้บ!! ไปเลย
เราต้องตั้งใจนะ เพราะเราเป็นคนโชคดี เกิดมาทำไมมันโชคดีอย่างนี้ ก็เราเป็นมนุษย์มาแก้ไขมาประพฤติมาปฏิบัตินะ พวกความขี้เกียจขี้คร้าน พวกตี๋เล็กหม๋วยเล็ก นี้ก็ต้องจัดการ ก็ต้องพากันภาวนา พากันปฏิบัติ พากันแก้ให้เต็มที่ไปเลย เอาพระพุทธเจ้าให้เป็นมาตรฐานนะ พระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมพระวินัย ปรับใจปรับอะไร อย่าปล่อยให้มันล่องลอยไปอย่างนี้นะ เขาเรียกว่าอย่าให้มันได้นับ ให้มันได้หามเลย
เราอย่าไปเป็นคนเก่งเพื่อแก้ไขคนอื่น มันไม่ถูกต้อง มันต้องเป็นคนเก่งเพื่อแก้ไขตัวเอง ถอนตะปูตรึงใจ ถอนเครื่องผูกพันใจออกไปให้ได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเจโตขีลสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปใดไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ภิกษุนั้นจักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
ตะปูตรึงใจ ๕ ประการ
ภิกษุชื่อว่ายังละตะปูตรึงใจ ๕ ประการไม่ได้ เมื่อภิกษุยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้โกรธเคือง ไม่พอใจ มีจิตอันโทสะกระทบกระทั่ง มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
จิตของภิกษุที่สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้โกรธเคือง... มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น
สงสัยในพระศาสดานั้นก็คือสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือ แม้ตามบทที่สวดกันว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น ทรงเป็นผู้ไกลกิเลสจริงหรือ ตรัสรู้เองชอบจริงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น
มีกังขาสงสัยในพระธรรมนั้นก็คือสงสัยในพระธรรมที่ตรัสรู้ ว่าทรงตรัสรู้อะไร ความตรัสรู้นั้นเป็นความรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริงอย่างไร และธรรมะที่ทรงสั่งสอนเป็นจริงตามที่ทรงสั่งสอน หรืออย่างไร
ในข้อนี้ก็ได้มีเรื่องเล่ามาแล้วในครั้งพุทธกาล ถึงภิกษุผู้มีความเห็นผิดบางรูป ได้คัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่า ธรรมะข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลธรรม ซึ่งทำอันตรายให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติกระทำ แต่ว่าข้อที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่าทำอันตรายนั้น หาได้กระทำอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติกระทำไม่ เช่นทรงสั่งสอนแสดงโทษของกามต่าง ๆ แต่ว่ากามต่าง ๆ นั้นหาได้เป็นโทษดังที่ทรงสั่งสอนไว้ไม่
มีกังขาคือความสงสัยในพระสงฆ์ ก็คือมีความสงสัยว่าหมู่แห่งสาวก คือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีจริงหรือ เป็นผู้ปฏิบัติตรงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น คือเป็นผู้ปฏิบัติชอบหรือ
สงสัยในสิกขานั้นก็คือสงสัยในข้อที่จะพึงศึกษาเล่าเรียน ที่จะพึงศึกษาปฏิบัติ เช่นในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ว่าที่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา จะได้ผลสมจริง คือจะได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือว่าสงสัยว่าจะให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ คือสงสัยในข้อที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา
มักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมะร่วมกันทั้งหลาย ๓ ก็คือมักจะเป็นผู้ที่มีใจน้อยโกรธง่าย หรือมักจะเพ่งโทษของผู้ที่อยู่ด้วยกัน เพราะว่า เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะมีความประพฤติต่อกันที่กระทบกระทั่ง ไม่ถูกใจกันเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็มักจะถือโกรธง่าย ๆ ขัดใจอยู่บ่อย ๆ เพราะเหตุที่บางทีก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างจริง ๆ บางทีก็อาจเป็นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน หรือเอาแต่ใจของตนเอง เมื่อได้เห็นการกระทำ ได้ฟังคำพูดของเพื่อน สพรหมจารี ที่อยู่ด้วยกัน อันไม่ตรงกับความชอบใจของตน ก็มักจะถือโกรธขัดเคือง หรือบางทีก็มักจะมีนิสัยเพ่งโทษต่อผู้อื่น เห็นอะไรผิด หรือสงสัยว่าผิด ก็มักจะโกรธแค้นขัดเคืองไม่ถูกใจ หรือว่าบางทีก็เป็นเพราะความต้องการของตน ที่ไม่ได้สมตามความปรารถนา เกี่ยวแก่การแบ่งลาภแบ่งผลของสงฆ์ ที่บางทีก็ได้ไม่สม่ำเสมอกัน หรือเกี่ยวแก่ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับจัดให้อยู่ ที่อาจจะเป็นที่สะดวกสบายบ้าง ไม่สู้จะสะดวกสบายบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น ก็น้อยใจ ขัดใจ โกรธ เป็นผู้ที่มักโกรธมักขัดใจอยู่เสมอ ๆ
มีกังขาสงสัยในพระศาสดา มีกังขาสงสัยในพระธรรม มีกังขาสงสัยในพระสงฆ์ มีกังขาสงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจใน สพรหมจารี ทั้งหลาย ทั้ง ๕ ข้อนี้หากเกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจ ก็เป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงใจ ทำให้จิตใจมีทุกข์ ทำให้จิตใจมีกิเลส หรือเจริญกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง เป็นจิตใจที่ไม่มีเสรีในอันที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ในการที่จะปฏิบัติธรรมะ เป็นต้นว่าศีลสมาธิปัญญาให้เจริญ เพราะมีทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้เกิดความตั้งใจที่จะปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดขวางต่อศรัทธา ขัดขวางต่อวิริยะความเพียร ต่อสติ ต่อสมาธิ ต่อปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นตะปูที่ตรึงใจ ที่ตอกใจเอาไว้ ไม่ให้ใจมีความสามารถที่จะปฏิบัติให้ดีขึ้นได้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักว่า ข้อเหล่านี้หากบังเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด จิตใจของผู้นั้นก็เหมือนอย่างมีตะปูที่ตอกตรึงอยู่ จึงให้ปฏิบัติละเสีย ถอนตะปูที่ตรึงใจนี้ออกเสีย คือถอนกังขาสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และดับความมักโกรธขัดใจที่บังเกิดขึ้นในสพรหมจารีทั้งหลาย และเมื่อได้ถอนกังขาสงสัย และดับความโกรธขัดใจดังกล่าวได้ ก็เป็นอันว่าถอนตะปูใจออกได้ เมื่อถอนตะปูใจออกได้จึงจะทำให้การปฏิบัติกรรมฐาน หรือกล่าวรวมๆ ว่าทำให้ศึกษา เล่าเรียนพระธรรมวินัย ทำให้การศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเจริญก้าวหน้าขึ้นไปได้
ส่วนใหญ่น่ะ เราไม่ค่อยรู้จักทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านถึงทรงมีเมตตาบัญญัติศีลให้เรา บัญญัติพระวินัยให้เรา
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และถือว่าเป็นสิ่งที่มาตรฐาน เราไม่ต้องไปคิดอะไรเลยก็ได้นะ เพียงแต่เรามาประพฤติปฏิบัติตาม ท่านเรียกว่า... ตั้งอยู่ในศรัทธา ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เชื่อใจมั่นใจ ในพระพุทธเจ้า เพราะ ธรรมะมันเป็นสิ่งที่สำเร็จรูปอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่มาตรฐานอยู่แล้ว ถ้าใครปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็ต้องเข้าถึงความ ดับทุกข์ที่แท้จริงได้
การรักษาศีล การปฏิบัติธรรมนี้ มันฝืนจิตฝืนใจของตัวเรา มีแต่สิ่งที่เราไม่ชอบ มีแต่สิ่งที่เราไม่ต้องการทั้งนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทวนกระแส
คนเรานี้ คิดว่าทำตามใจตัวเองมันจะมีความสุข การทำตามใจตัวเอง คือ กำลังสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง กำลังสร้างปัญหาให้กับตัวเอง ที่จะดับทุกข์ได้ ที่จะแก้ปัญหาได้ คือ เราปฏิบัติตามศีล
การรักษาศีล จึงเป็นรากฐานเป็นบาทฐานที่ประเสริฐ ให้มนุษย์ทุกคนได้สร้างความดี ได้สร้างบารมี สมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเรารักษาศีลแล้ว ในพระบาลีว่า "เราจะเป็นคนมีโภคทรัพย์ด้วยการรักษาศีล"
เรามันคนปัญญาน้อยคิดไม่ออก รักษาศีลทำไม มันถึงจะรวย ทำไมมันถึงมีโภคทรัพย์? "รวยสิ! มีโภคทรัพย์สิ!" ผู้รักษาศีลย่อมเป็นผู้เสียสละ ย่อมเป็นผู้ละความเห็นแก่ตัว เสียสละอะไร... ประการแรก เสียสละตัวตนเสียสละความขี้เกียจขี้คร้าน
คนเราที่มันจนที่มันไม่มีบารมี เพราะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบาย ความสุขนี้ มันเป็นก็สิ่งเสพติดอย่างหนึ่ง ความสุขนี้ เป็นสิ่งที่ดี 'สุขกาย' ก็เป็นสิ่งที่ดี 'สุขใจ' ก็เป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกเราว่า มันเป็นสิ่งเสพติด
ให้ทุกท่านทุกคนฉลาด ให้ทุกคนมีสติ มีปัญญา 'เหยื่อ' เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องบริโภค แต่ไม่ควรที่จะ 'ติดเบ็ด' คนเรามันติดนะ มันไม่ก้าวไปข้างหน้าถึงว่า 'ติด' ความสุขนี้ ท่านถือว่าเป็นคุณ ถ้าเราติด มันก็กลายเป็นโทษ มันเป็นโลกธรรมที่คอยครอบงำ จิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา
เราคิดว่าความสุขของเราน่ะ คือความสุขแค่นี้ก็เพียงพอ แต่ที่จริงแล้วความสุขของเราทุกๆ คนนั้น มันอยู่ที่ "หมดกิเลสสิ้นอาสวะ"
นี่มันเป็นความสุขความดับทุกข์นิดหน่อย เพราะคนเรามันมีแต่ทุกข์เกิดขึ้น... ทุกข์ตั้งอยู่....ทุกข์ดับไป... ความสุขที่เราได้รับจากปัจจัยทั้งสี่ เป็นความสุขนิด
เราทำอะไรเราก็ไม่ก้าวหน้า ให้เรียนหนังสือมันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะว่ามันติดสุขติดขี้เกียจ ทำการทำงานอะไรมันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะว่ามันติดสุขติดขี้เกียจหน่อยเอง
มาบวช มาประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะว่ามันติดสุข ติดขี้เกียจขี้คร้าน มันเป็นสังโยชน์ ข้อใหญ่ มันเป็นอวิชชา คือความหลงตัวใหญ่ๆ แทนที่ชีวิตของเรามันจะก้าวหน้าจะประเสริฐ สมกับที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์...มันก็ทำไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเชื่อใจ ตัวเองนะ เพราะตัวเองนี้...มันเชื่อใจตัวเองไม่ได้ เพราะเราเป็นคนหลงอยู่ หลงอย่างมากๆ เลย การประพฤติปฏิบัติ ถึงเป็นการเดินตามทางสายกลาง
เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ขยันเราก็ต้องทำ ไม่ขยันเราก็ยิ่งทำ มันจะทุกข์กายก็ช่างมัน มันจะทุกข์ใจก็ช่างมัน เพราะใจของเรานี้มันยังไม่ได้เรื่อง มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย
การสร้างความดี สร้างบารมี มันต้องขัดใจตัวเอง ตลอดนะ เห็นคุณเห็นประโยชน์มากๆ ในการประพฤติปฏิบัติของตน คนเรามันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองนะ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง มันก็เหมือนเก่านั่นแหละ...
ทุกข์ขณะนี้มันยังไม่เกิด มันอีกหลายปีข้างหน้าโน้น...มันจะเกิด ความดับทุกข์ขณะนี้มันมองยังไม่เห็นชัดเจน อีกหลายปีข้างหน้ามันจะมองเห็นชัดเจน
การเดินทางตามพระพุทธเจ้านี้ ถึงจัดว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ถือว่าเป็นการทำงานที่ถูกจุดถูกประเด็น ไม่เสียเวลานะ ถึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะมาร หรือว่าเป็นผู้พิชิตมาร ที่เราไปทำบุญอะไรต่างๆ น่ะ ถ้าเราทำดี พระจะสวด 'ชยันโต' ให้เรา ให้เราเป็น 'ผู้ชนะ'
อนาคตของเราทุกๆ คนที่อยู่ในที่นี่ หรือว่าอยู่ในที่อื่น ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ชีวิตของผู้นั้นย่อมเจริญแน่นอน ต้องเป็นมงคลแน่นอน
พระพุทธเจ้าท่านทรงเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน ด้วยความเมตตา ความกรุณา ด้วยปัญญา เพื่อหวังว่า ทุกๆ คนน่ะ...จะได้ออกจากทุกข์ ออกจากวัฏฏสงสาร คนเรามันทุกข์นะ ทุกข์ทางร่างกาย มันทุกข์ใน การประกอบอาชีพ มันทุกข์ในสิ่งที่พลัดพรากจากของรักของชอบใจ มันมีทุกข์อย่างนี้แหละตลอดไป
การเกิดมามันเป็นทุกข์ ทุกคราวร่ำไป ถ้าเราไม่เกิดมาปัญหาต่างๆ มันก็ไม่มี เราก็ไม่ต้องมาเป็นทุกข์อย่างนี้ การที่จะไม่เกิดมาไม่เป็นทุกข์อย่างนี้ ก็ต้องมาเดินตามพระพุทธเจ้า เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ถึงจะตายก็ยอม เพราะเราได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ตายเพราะความดี ตายเพราะเราได้เสียสละ ให้มันตายไปเถอะ!
เขาเรียกว่า เป็นผู้ที่สง่างาม งามในเบื้องต้น ก็คือ มีศีล ที่สวยสดงดงาม ไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่มีด่างพร้อย
งามในท่ามกลาง ก็คือ สมาธิ ได้แก่ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีความตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ เดินไปข้างหน้าไม่แวะซ้ายขวา...ไม่หยุด
งามในที่สุดน่ะ ได้แก่ จิตใจที่ใคร่ครวญด้วยดีให้ถูกต้อง ว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ มันจำเป็นจะต้องตัด จะต้องละ จะต้องวาง เพราะจะทำตามใจตัวเองไม่ได้ จะทำตามความต้องการไม่ได้นะ ถ้าทำแล้วมันก็ต้องมีความเกิด เมื่อมีความเกิด สิ่งต่างๆ ก็ตามมา "มีปัญญาใคร่ครวญอย่างละเอียดนะ"
ชื่อว่า "ความปรุงแต่ง" ไม่สามารถที่จะมาปรุงแต่งจิตใจของตัวเองได้
ปกติแล้ว รูป มันก็เป็นของบริสุทธิ์น่ะ เพราะ 'ใจ' ของเรามันมีปัญหา 'รูป' มันถึงมีปัญหา เวทนา มันก็เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ เมื่อ 'ใจ' ของเรา มันมีปัญหา 'เวทนา' มันถึงมีปัญหา สังขาร ความปรุงแต่งน่ะ เมื่อคนไม่ตายมันก็คิด โน่นคิดนี่ เมื่อ 'ใจ' ของเรามันมีปัญหา 'สังขาร' มันก็มีปัญหา ใจ คือ ตัวผู้รู้ นี้มันก็เป็นของบริสุทธิ์ เมื่อใจของเราไม่มีปัญหาแล้ว ทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับธรรมชาติ เพราะความปรุงแต่งนี้ มันเป็นทุกข์อย่างยิ่งเป็นทุกข์หลาย เป็นทุกข์มากๆ
สัมมาสมาธินี้เป็นตัวสำคัญนะ เพราะสัมมาสมาธินี้เป็นตัวที่หยุดตัวเอง เป็นความสุขหล่อเลี้ยงจิตใจของตัวเอง การทำความดีนี้ การสร้างบารมีนี้ มันต้องอาศัยสัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ
คนเรานี้มันเข้าใจนะ มันมีความเห็นถูกต้องนะ แต่ 'สมาธิ' มันตั้งไว้ได้ไม่นาน มันขยันเป็นบางครั้งบางคราวน่ะ ขยันเหมือนสายฟ้าแลบ ฟ้ามันแลบ... มันก็หายไปน่ะ สัมมาสมาธิ ก็คือความกระจ่างแจ้ง สว่างตลอดอย่างนี้ ตั้งมั่นตลอดอย่างนี้ "เขาฟักไข่ ให้ไก่มันออกลูกน่ะ มันต้องฟักด้วยอุณหภูมิที่พอดี แล้วก็ ๓ อาทิตย์ ไข่มันถึงจะออกลูก" การทำความเพียรของเรา การปฏิบัติของเราก็อย่างนั้น ต้องอาศัยสัมมาสมาธิ คือ ตั้งมั่น อาศัยตัวที่ปราศจาก นิวรณ์ นี้แหละ คือตัวไม่โลภ-โกรธ-หลงนี้แหละ ตั้งมั่นอย่างนี้แหละ
ทุกท่านทุกคนน่ะต้องผ่านอุปสรรคได้ ผ่านปัญหาได้ ด้วยการเอาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐออกมาทำงาน ออกมาใช้งาน ต้องกล้าสู้ กล้าเผชิญในการผ่านอุปสรรคต่างๆ นานาเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีอะไรมากไปกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างตั้งอยู่ ทุกอย่างก็ต้องดับไป เราต้องระดมเอาบารมีสิบทัศออกมาใช้งาน ออกมาทำงาน เราต้องระดมเอาอริยมรรคมีองค์แปดประการออกมาใช้ ออกมาทำงาน ถ้าไม่มีอุปสรรคต่างๆ นานา มาปรากฏเราก็ไม่ได้ประพฤติเราก็ไม่ได้ปฏิบัติน่ะ ไม่มีข้อสอบเราก็ไม่ได้ตอบปัญหา แก้ปัญหา เราทุกคนก็ถือว่าเราเป็นโชคดีที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราให้เข้าใจที่ถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อเราจะได้ผ่านภพผ่านภูมิที่มันกำลังปรากฏการณ์แก่เรา ในชีวิตประจำวัน
เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละทุกๆ วัน จนกว่าเราจะหมดกิเลส สิ้นอาสวะ ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราก็ไม่สมควรที่จะทานอาหาร เพราะเราทุกคนถือว่าเป็นเสขะบุคคล บุคคลที่จะต้องพึงประพฤติพึงปฏิบัติน่ะ เรายังไม่ใช่อเสขบุคคล คือ บุคคลที่หมดกิเลส สิ้นอาสวะแล้ว เรายังเป็นคนที่มีหนี้มีสินต่อผู้มีพระคุณคือพ่อ คือแม่ และประชาชน ผู้ที่ทำบุญตักบาตร ถวายปัจจัยทั้งสี่ เราทุกคนต้องทำความเพียร ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเราจะไม่มีหนี้มีสิน เราจะได้ให้บุญให้กุศลกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พร้อมทั้งประชาชนที่ทำบุญตักบาตร อุปถัมภ์ อุปัฏฐาก เราบวชมาแล้วน่ะ พ่อแม่บังเกิดเกล้าก็กราบเรา ไหว้เรา ผู้แก่ผู้เฒ่าวัยชราก็กราบเราไหว้เรา ทุกท่านทุกรูป พระพุทธเจ้าให้เรามีจิตสำนึกเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เต็มความสามารถด้วยความตั้งอกตั้งใจ
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะใจของเรามันจะสงบ ใจของเรามันจะเย็น ความสุขของเราคือการปฏิบัติธรรม การทำงานของเรา คือการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัย งานคือข้อวัตร กิจวัตร ข้อประพฤติข้อปฏิบัติของความเป็นพระธรรมพระวินัยของเรา นี้คือความโชคดี ความประเสริฐที่เราทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงเราจะบวชนาน ไม่นานนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เต็มความสามารถ ให้ได้มาตรฐานตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ให้เราได้ภูมิใจในตัวเอง ให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องภูมิใจ ให้ประชาชน ได้ภูมิใจในการบวช แล้วตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีเป็นที่รักเคารพบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะได้ชื่อว่าสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า