แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๕๑ บัณฑิตที่แท้จริงต้องมีความรู้คู่คุณธรรม และปิดอบายมุขประตูสู่อบายภูมิให้กับตนเองได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราเป็นวัยเด็ก วัยที่จะต้องเรียน ต้องศึกษา ให้พากันเข้าใจ เพราะชีวิตของเราช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญ ให้เรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถ้าเราไม่ตั้งใจเรียนไม่ตั้งใจศึกษา ไม่ตั้งใจปฏิบัติ ในอนาคตของเรามีความทุกข์แน่นอน เราจะปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไม่ได้ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เราจะไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความคิดไปไม่ได้ ต้องปรับตัวเองเข้าหาการเรียนการศึกษา ชีวิตเราจะก้าวหน้า ไม่มีความทุกข์ในอนาคต ก็อยู่ที่เราทุกคนต้องลิขิตชีวิตพวกเราเอง
ทุกท่านทุกคน ต้องพากันประพฤติปฏิบัติตัวเอง เพราะเรื่องการเรียนการศึกษา เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเป็นเรื่องของเราเอง ก็มีโรงเรียน มีคุณครู มีหนังสือ มีตำหรับ ตำรา เพื่อที่จะให้เราศึกษาปฏิบัติ เพื่อนเราส่วนใหญ่มันก็เป็นเด็ก มันก็ยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราอย่าไปตามเพื่อน ตามฟูง ตามอะไรก็ มันก็ไม่ได้ เราเรียนศึกษา ยังไม่พอ เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไปพร้อมๆ กัน
วัยเด็กถือเป็นวัยที่เริ่มต้นการเรียนรู้ เขาควรจะได้รับการเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?
สิ่งที่เราเรียนรู้ มีทั้งความรู้และมีทั้งความคิดหรือเรียกว่าจินตนาการ ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ในโลกยุคปัจจุบัน เราพบว่าความรู้มีเยอะมาก และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วก็มีอะไรใหม่ๆ มาให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ใครที่เรียนเอาความรู้ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วก็จบอยู่แค่นั้น สิ่งที่เขาเรียนมามันจะเชยไปอย่างรวดเร็ว และพบว่าจะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็ว แต่จินตนาการคือความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ แล้วก็หาทางให้ความคิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาในที่สุด สิ่งนี้มีความสำคัญมาก
หน่วยงานต่างๆ เวลาจะรับคนเข้าทำงานจะระบุวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท เพื่ออยากได้คนทำงานที่มีความคิดความอ่านจับประเด็นเป็น สรุปเป็น วิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น โดยเขาคาดว่าคนที่จบปริญญาน่าจะมีสิ่งเหล่านี้ดีกว่าคนจบมัธยม หรือคนจบประถม นั้นคือการศึกษาให้น้ำหนักกับความรู้หรือให้น้ำหนักกับสิ่งที่เตรียมตัวจะลืมในอนาคต แต่สิ่งที่ได้ใช้จริง แล้วทุกหน่วยงานปรารถนาคือ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ การจับประเด็น การเชื่อมโยง หาทางแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีการสอนเป็นกิจลักษณะ ความรู้เปลี่ยนเร็ว อยากรู้อะไรเข้า Google ก็ได้ข้อมูลอยากรู้ที่อยากรู้ มีทั้งภาพมีคลิปวิดีโอ แต่สิ่งที่ Google ให้เราไม่ได้คือ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา จับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนๆ นั้นมีคุณค่า ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังไม่สามารถทำถึงจุดนั้นได้ ทำได้แค่เป็นเรื่องๆไป
ไอสไตน์ จึงได้กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เมื่อสังคมไปเน้นที่ความรู้ พ่อแม่อยากจะให้ลูกตัวเองได้รับการยอมรับ เมื่อกติกาสังคมเป็นอย่างนั้น จะเข้าอนุบาลต้องไปสอบเข้า ยังไม่ทันได้เรียนหนังสือ ไปสอบเข้า แล้วจะเอาอะไรไปสอบ ก็ต้องติว หากบอกว่าเด็กคนนี้เข้าอนุบาลอ่าน ก.ไก่ ฮ.นกฮูกได้หมดแล้ว A B C Dได้หมด สอบผ่าน กลายเป็นไปบีบคั้นเด็กมากเกินไปเพราะจินตนาการต่างๆจะมาจากการเล่น เด็กมีความคิดแบบจินตนาการเยอะ สิ่งเหล่านี้หากได้รับการปลูกฝัง เพาะบ่มที่ดี เด็กจะกลายเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็น เสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และ รู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้ทางเบื้องหน้านำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย
ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา (นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา) แสงอาทิตย์สว่างในกลางวัน แสงจันทร์สว่างในกลางคืน บางคืนก็ไม่สว่าง เช่นคืนข้างแรม แสงตะเกียง แสงไฟฟ้า เป็นต้น ล้วนแต่ไปจากปัญญาของมนุษย์ทั้งนั้น สัตว์โลกชนิดอื่นไม่มีปัญญาที่จะทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นได้ คงอยู่ไปตามธรรมชาติ อาศัยแต่เฉพาะแสงอาทิตย์และแสงจันทร์เท่านั้น
อาศัยแสงสว่างคือปัญญา ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมาย ที่อำนวยความสุขความสะดวกสบายให้แก่หมู่มนุษย์ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย เหลือที่จะพรรณนาได้ ซึ่งสัตว์เหล่าอื่นไม่มี เคยอยู่กันมาอย่างไรเมื่อแสนปีล้านปีก่อน ก็คงอยู่กันไปอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะไม่มีแสงสว่างคือปัญญา
แต่ปัญญาของมนุษย์ ก็ได้สร้างเครื่องมือสำหรับทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง และสัตว์อื่น มากมายเหมือนกัน เช่น อาวุธชนิดต่างๆ ตลอดถึงอาวุธสงคราม ระเบิดปรมาณูและขีปนาวุธเป็นต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นได้พังพินาศไปแล้ว ด้วยฤทธิ์ระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกัน มีผู้ถามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะรบกันด้วยอะไร ไอน์สไตน์ตอบว่าไม่รู้ แต่สงครามโลกครั้งที่ ๔ มนุษย์จะต้องใช้ก้อนหินปากัน นั่นหมายความว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะใช้อาวุธที่ร้ายแรงถึงขนาดล้างโลกทีเดียว มนุษย์ต้องถอยหลังไปสมัยหินอีก จะจริงหรือไม่ใครจะเป็นคนคอยดู แสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาของมนุษย์นี้สร้างสรรค์ก็ได้ทำลายก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าได้รับการควบคุมด้วยศีลธรรม หรือมโนธรรมเพียงไร ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ความทุกข์ในใจของมนุษย์นั้น จะเอาชนะได้ด้วยปัญญา บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ในการนี้ต้องใช้ปัญญา ๓ อย่างคือ
๑. โธนปัญญา ปัญญาในการพิจารณาปัจจัย ๔ คือใช้ปัจจัย ๔ มีอาหารเป็นต้นด้วยปัญญา ใช้ปัจจัย ๔ ตรงตามจุดมุ่งหมาย
๒. อุทยัตถคามินีปัญญา ปัญญารู้การเกิดการดับของนามรูป
๓. นิพเพธิกปัญญา ปัญญาแทงทะลุสัจจะคือ ความจริงต่างๆ เช่น เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ เป็นต้น
ในนิพเพธิกปัญญสูตร - ธรรมเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา “ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ธรรม ๔ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส”
๑. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึงการคบคนดีมีความสามารถ “หาครูบาอาจารย์ที่ดีให้พบ” ครูผู้รู้ ผู้ทรงคุณงามความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา ๒ เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการเป็นคนจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเพราะครูคือต้นแบบ และต้องเป็นต้นแบบที่ดี สมบูรณ์พร้อมในทุกด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก ข้อ ๑ สัปปุริสสังเสวะ การคบหาคนดี หรือคบหาเสวนาสัตบุรุษ อันนี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่เรามักจะเรียกว่า การคบหากัลยาณมิตร หรือการมีมิตรดี
การคบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น
ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อของ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอมอย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย
ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า
ในทางธรรม การที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีก่อน คนดีที่ควรคบหาเรียกว่า สัตบุรุษ ซึ่งท่านยกตัวอย่างไว้ ยอดของสัตบุรุษก็ได้แก่พระพุทธเจ้า รองลงมาก็ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ถ้าผู้ใดประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ก็เรียกว่า เป็นสัตบุรุษ (คนเก่าๆ มักเรียกว่า สัปบุรุษ) สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้น ว่ากันแต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน คือคบหาคนดี คนที่มีความรู้ คนที่ทรงคุณธรรม
อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน และได้แบบอย่างที่ดี เพราะว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ เมื่อมีการให้ความรู้ ได้รับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จผล ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ท่านเล่าว่า ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ก็พลัดกันไป ตัวหนึ่งไปตกที่อาศรมพระฤษี อีกตัวหนึ่งไปตกที่ซ่องโจร นก ๒ ตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ตัวที่ไปอยู่ในอาศรมของพระฤษี พระฤษีก็เลี้ยงไว้ ก็ได้อยู่ในบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ได้เห็นสิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่ดีงาม พระฤษีท่านเกี่ยวข้องติดต่อกับใคร ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับตามแบบของผู้ที่มีคุณธรรม มีการปฏิสันถารต้อนรับด้วยความอ่อนหวานสุภาพ นกแขกเต้าก็จำเอาคำที่ท่านกล่าวไว้ เวลาใครมาหา ก็ต้อนรับทักทายด้วยคำที่สุภาพอ่อนหวาน
ตรงกันข้าม นกแขกเต้าที่ไปตกในซ่องโจร ก็ได้ยินถ้อยคำของโจรที่พูดแต่คำหยาบคาย พูดแสดงความโหดเหี้ยมดุร้าย ใครเข้ามาในเขต ก็จะทำร้าย ก็จำติดไว้ และพูดตามไปอย่างนั้น
วันหนึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งหลงทางมา ตอนแรกก็มาถึงที่ซ่องโจรก่อน หลงเข้ามาในเขตของโจรโดยไม่รู้พระองค์ กำลังเหน็ดเหนื่อย พอประทับนั่งพักเท่านั้น นกแขกเต้าตัวที่อยู่ในซ่องโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ คงจะออกไปปล้นหรือไปอะไรข้างนอก นกแขกเต้าตัวนี้ก็ต้อนรับโดยการร้องคุกคาม พูดด้วยคำหยาบคายว่า “ไอ้นี่ เป็นใคร นี่พวกเรามาๆ มาช่วยกันจับเอาไปฆ่าเสีย” อะไรทำนองนี้ เป็นคำที่น่ากลัวทั้งนั้น พระราชาทรงได้ยินอย่างนี้ ก็สะดุ้งตกพระทัย และเห็นว่าสถานที่นี้คงจะเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยเป็นแน่ ก็เลยเสด็จออกจากที่นั่นไป
พระราชาเสด็จต่อไป ก็ไปเข้าเขตอาศรมของพระฤษี พอเสด็จย่างเข้าเขตอาศรมพระฤษี ก็ทรงได้ยินเสียงของนกแขกเต้าตัวที่เติบโตมาในอาศรมของพระฤษีนั้นทักทายปราศรัยว่า “โอ้! ท่านผู้เจริญ เชิญเข้ามาในที่นี้เถิด ที่นี่เป็นสถานที่ร่มเย็น เชิญมาพักผ่อน ถ้าท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะเอามาต้อนรับ” อะไรต่างๆ ทำนองนี้ พระราชาทรงได้ยินแต่เสียงอ่อนหวาน ก็สบายพระทัย แล้วก็เลยเสด็จเข้าไป จนกระทั่งได้พบพระฤษี ก็ได้รับการต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี
เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหาจึงเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม
คนดี หรือ คนชั่ว ที่จะคบหานั้น ไม่ใช่เฉพาะเป็นคนที่พบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่พูดที่แสดงตัวออกมาให้เราคบทางหนังสือ และสิ่งตีพิมพ์ที่อ่าน วิทยุ เทปที่ฟัง ทีวี วีดิโอที่ชมที่ดู เป็นต้น อีกด้วย
เมื่อคบหาสัตบุรุษ คบหาคนดีแล้ว ต่อไปก็มาสู่หลักข้อที่ ๒
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ให้ชัด” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน บุคคลที่อยู่กับคนที่ดีมีความรู้ ก็มีโอกาสมากที่จะรับฟังคำสั่งสอน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ท่านบอกว่าเหมือนทัพพี กับ ลิ้น ที่ต่างกัน
ทัพพี นั้นอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่เคยรู้รสแกงเลย เปรียบเหมือนกับคนที่มาอยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้นักปราชญ์ แต่ไม่รู้จักสดับตรับฟังหรือสังเกต แม้จะได้ไปบ้าง ก็เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมประดับตัว ถ้าไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำสั่งสอน ก็ไม่ได้รู้อะไรมาก เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง
นี่ต่างกับลิ้น ลิ้นนั้น ถ้าตักแกงเพียงช้อนเดียวใส่เข้าไปในปาก ก็รู้รสแกง ว่ามีรสอร่อยหรือไม่อร่อย เผ็ดเค็มเปรี้ยวอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ให้ทำตนเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกง ไม่ให้ทำตนเหมือนกับทัพพี
เมื่อทำตัวเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกงแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าหลักที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ คือฟังคำสอนของท่านผู้รู้ด้วย
เมื่อฟังธรรม สดับคำสอนของท่านแล้ว ก็มาสู่หลักที่สามข้อต่อไป
๓. โยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ลึก” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนทำใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
รู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วย คือฟังอย่างเดียวไม่พอ ฟังแล้วรู้จักคิดรู้จักพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์ อันนี้ก็มีข้อเปรียบเทียบอีก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเรื่องหู หูนั้นก็มีหูคน กับหูของ หูของ อย่างหูกา หูกระทะ ก็เรียกว่าหูเหมือนกัน แต่ว่าได้แค่คนจับ ดึงเอาไป เอาไปทำโน้น เอาไปทำนี่ แล้วแต่คนจะชักพาไป ไม่เหมือนหูคน หูคนนั้นฟัง ฟังแล้ว พินิจพิจารณาด้วย รู้จักคิดว่า อันนี้มีเหตุมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าเชื่อ น่าฟังหรือไม่ ไม่ถูกชักพาไปในความหลง
หมายความว่าหูคนนั้น จะชักพาเอาไปเหมือนอย่างหูกาหูกระทะไม่ได้ แต่รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วย
การรู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ ก็คือการใช้โยนิโสมนสิการ การไตร่ตรองพิจารณาโดยใช้ปัญญา ว่าที่ท่านพูดมาแสดงมานั้น มีเหตุมีผลหรือไม่อย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้สืบสาวราวเรื่อง คิดแก้ไขให้ถูกจุดถูกขั้นตอน รู้จักนำความรู้มาใช้ให้ถูกจุดถูกแง่ จึงจะได้ประโยชน์ ตลอดจนรู้จักพิจารณา เช่นว่าหลักธรรมข้อนี้ ท่านกล่าวไว้นั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร นำไปใช้ในกรณีไหนจะถูกต้อง จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูบาอาจารย์ให้ครบ” ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฎิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่นๆกลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม
เราต้องลิขิตชีวิตเราด้วยการเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพราะไม่มีอะไรจะยิ่งกว่า เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างเราจะเรียนหนังสือก็มาจากภาคการเรียนการอ่านแล้วก็เข้าใจ เข้าใจยังไม่พอต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ รู้จักอบายมุขอบายภูมิ
อบายมุข หมายถึง ช่องทางแห่งความเสื่อม หรือเหตุแห่งความพินาศหรือเสียหายแห่งโภคทรัพย์หรือเศรษฐกิจ ถ้าหมกมุ่นลุ่มหลงกับสิ่งเหล่านี้แล้ว นอกจากจะหาความสุขไม่พบแล้ว ยังจะต้อง พบกับความเสื่อมเสีย เพราะอบายมุขนั้นเป็นสิ่งที่ถมไม่เคยเต็มสักครั้งสำหรับผู้เสพหรืออยากเลิกก็เลิกไม่ได้ และยังเป็นช่องทางแห่งการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การเล่นการพนัน เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสถึงอบายมุขว่า มี 6 ประการ คือ 1. ดื่มน้ำเมา 2. เที่ยวกลางคืน 3. เล่นการพนัน 4. เที่ยวดูการละเล่น 5. เกียจคร้านการงาน และ 6. คบคนชั่วเป็นมิตร
อบาย แปลว่า ความเสื่อม ความฉิบหาย มุข แปลว่า ปาก, หน้า
อบายมุข จึงแปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม เนื่องจากมันเป็น ปากทาง ส่วนตัวความเสื่อมจริงๆ นั้นอยู่ ปลายทาง เมื่อมองเพียงผิวเผิน เราจึงมักยังมองไม่เห็นความเสื่อม แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านผู้รู้ทั้งหลายมองเห็น
ถ้าจะดูกันแต่ปากทางแล้ว ก็อาจเห็นเป็นความเจริญด้วยซ้ำ เหมือน...ปากทางที่จะไปเข้าคุก ก็เป็นถนนราบเรียบ แต่ปลายทางเป็นคุกที่ทรมาน
ปากทางที่จะตกลงบ่อ ก็เป็นพื้นดินสะอาด แต่ก้นบ่อมีน้ำที่จะทำให้ผู้ตกลงไปจมหรือสำลักน้ำตาย
ปากทางที่จะตกลงเหว ก็เป็นป่าหญ้างามดี แต่ก้นเหวลึกมากจนทำให้คนที่ตกลงไปตายได้
เช่นกัน อบายมุขซึ่งเป็นปากทางแห่งความฉิบหายนี้ ดูเผินๆ ก็ไม่มีพิษสงอะไร เที่ยวกลางคืนก็สนุกดี เล่นการพนันก็เพลิดเพลินดี แต่ก็ทำให้ผู้ประพฤติทำการงานไม่สำเร็จ เสื่อมไปจากความเจริญก้าวหน้าและกุศลธรรม ทั้งหลาย ที่ถึงกับฉิบหายขายตัวไปแล้วก็มากต่อมาก อบายมุขจึงเป็นเสมือนหน้าตา สัญลักษณ์ของความเสื่อม บุคคลใดยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขก็รู้ได้ทันทีว่า ผู้นั้นมีความเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว
ผีที่หนึ่ง ชอบสุรา เป็นอาจิณ ไม่ชอบกิน ข้าวปลา เป็นอาหาร
ผีที่สอง ชอบเที่ยว ยามวิกาล ไม่รักบ้าน รักพ่อ รักแม่ตน
ผีที่สาม ชอบดู การละเล่น ไม่ละเว้น บาร์คลับ ละครโขน
ผีที่สี่ คบคนชั่ว มั่วกับโจร หนีไม่พ้น อาญา ตราแผ่นดิน
ผีที่ห้า ชอบเล่นม้า กีฬาบัตร สารพัด ไพ่หวย ไฮโลสิ้น
ผีที่หก เกียจคร้าน การทำกิน มีทั้งสิ้น หกผี อัปรีย์เอย..
และทางแห่งความเสื่อมก็คือความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด ตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกนะ มันเจ็บปวด เราต้องจัดการตัวเองไม่ได้สู้กับใครหรอกสู้กับตัวเองนี่แหละ อย่างมนุษย์เราในปี ๒๕๖๖ นี้พัฒนาวิทยาศาสตร์ไปไกล ได้รับความสะดวกความสบายก็ถือว่าดีถูกต้อง แต่มันต้องพัฒนาใจ ถ้าไม่อย่างนั้นโลกนี้จะมีแต่ความวุ่นวาย เราจึงต้องเดินทางสายกลางพัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาใจ ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ ต้องเข้าสู่การปฏิบัติ เห็นไหมอย่างเราเรียนหนังสือก็มีเทอมมีภาคการเรียนต่างๆ จึงต้องเข้าสู่ไลน์ เข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องสู่ความสำเร็จ
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด