แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๔๙ มีสติสมาธิปัญญา ถอดถอนสิ่งที่ผูกพันใจออกไป เพื่อใจสงบเย็น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเป็นพระธรรมวินัยที่นำออกจากวัฏฏะสงสารได้ทุกๆ คนที่ท่านผู้นั้นปฏิบัติตาม ชาวพุทธทุกๆ คนน่ะต้องเอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ต้องดำรงชีวิตด้วยการเอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นหลัก เป็นทางแห่งการดำเนินชีวิต คำว่า “พระ” ก็ได้แก่พระธรรม พระวินัย “พระ” คือผู้ที่ไม่มีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน “พระ” คือผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร “พระ” คือผู้ที่เดินตามทางสายกลาง คือพระธรรม พระวินัย ละสัญชาตญาณ
สัญชาตญาณก็ได้แก่ ความรู้สึกที่เราติดความสุข ความสะดวก ความสบาย รักสุข เกลียดทุกข์ กลัวความยากลำบาก ระแวงภัย มีความยินดีในการสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้คือ “สัญชาตญาณ” ได้แก่อบายภูมิ คือ ภูมิของเปรต ของยักษ์ ของมาร ของสัตว์เดรัจฉาน เป็นภูมิของผู้ที่ปฏิบัติตามสัญชาตญาณ คนเราทุกๆ คนน่ะ ถ้าเรามีความโลภ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์แต่จิตใจของเราเป็นเปรตทันที ถ้าเรามีความโกรธ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์แต่จิตใจของเราเป็นยักษ์เป็นมาร ถ้าเรามีความหลง ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน
พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมี ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ ได้ตรัสรู้อรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ ท่านมีพระมหากรุณาที่บริสุทธิ์ ได้ประกาศพระธรรมคือคำสอน พระวินัยคือคำสั่ง ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะนำเราออกจากความทุกข์ได้ มีเพียงองค์เดียวคือ “พระพุทธเจ้า” นอกจากนั้นไม่มี เราทุกคนจึงต้องมาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยพระพุทธเจ้าได้แก่การปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นน่ะ นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายกลาง
ชาวพุทธในปัจจุบันนี้น่ะ นับถือพระพุทธศาสนา แต่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกันไม่ค่อยได้ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา
พระก็เหมือนกัน โยมก็เหมือนกัน... พระก็ทิ้งธรรมวินัยไปมาก โยมก็ทิ้งพระธรรม ทิ้งศีล ทิ้งภาวนากันไปมาก พระก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก โยมก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก พากันทิ้งศีล ทิ้งธรรม ทิ้งคุณธรรม ทิ้งสิ่งที่ประเสริฐที่มนุษย์ที่เกิดมาควรได้รับ ร่างกายของเราทุกๆ คนที่เกิดมาส่วนใหญ่ก็ไม่เกินร้อยปี ถ้าเกินไปบ้างก็มีเป็นส่วนน้อย ร่างกายของเราทุกๆ คนนี้เป็นวัตถุที่ไม่ถาวร มีความแก่เจ็บตาย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาร่างกายนี้มาทำคุณประโยชน์ คือเดินตามทางสายกลาง คือ พระธรรม พระวินัย
ต้องจับหลักให้ได้ จับประเด็นให้ได้ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ทุกๆ คนต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นตัวของตัวเอง ตัวของตัวเองนั้นได้แก่พระธรรมพระวินัย อย่าให้สิ่งต่างๆ มาครอบงำทำให้เราไขว้เขว ย่อหย่อนอ่อนแอ การประพฤติการปฏิบัติธรรมนั้นน่ะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ามันไม่ตายก็ให้มันได้บรรลุธรรม
สิ่งที่ทุกท่านที่จะละจะวางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองนี้คือ “สัญชาตญาณ” คือภพภูมิที่ทำให้ตกต่ำ ทุกท่านทุกคนต้องหยุดตัวเอง อย่างจิตใจของเรามันคิดไม่ดีอย่างนี้แหละ มันคิดครั้งที่หนึ่ง ไม่ควรให้มันคิดครั้งที่สอง ถ้ามันคิดครั้งที่สามครั้งที่สี่ มันจะควบคุมตัวเองไม่อยู่ ควบคุมตัวเองไม่ได้
ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร สิ่งไหนเป็นธรรมเป็นวินัยที่ใจเรามันจะย่อหย่อนอ่อนแอ ให้มันคิดครั้งเดียว ครั้งที่สองเราไม่ต้องให้มันคิดน่ะ จับหลักธรรมหลักวินัยให้ได้ เราอย่าไปหลงประเด็นว่าทางสายกลาง มันไม่ใช่ทางสายกลาง มันคือความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทรัพย์ของเราน่ะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราจะได้พัฒนาให้มันเป็นอริยทรัพย์ ความงามของมนุษย์น่ะอยู่ที่ศีล อยู่ที่สมาธิ อยู่ที่ปัญญา พระเราอย่าพากันหลงประเด็น อยู่ที่ไหน ภาคไหน ที่ใด ท่านต้องตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่
การเดินทางไปพระนิพพานนี้แหละ มันต้องละสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ให้ใจมันโล่ง ใจมันว่าง รูปก็เป็นรูป เสียงก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น รสก็เป็นรส ไม่ให้มันเกี่ยวข้องกับจิตใจน่ะ ไม่ให้มันซาบซึมเข้าไปในจิตในใจของเราได้ ทุกท่านทุกคนทำตามสัญชาตญาณทำอย่างไรมันก็ไม่ได้ผล เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัย มันก็ย่อมหมดกำลังใจ เหมือนกับจมอยู่ในน้ำ ยิ่งมีแต่จะหมดลมหายใจ เพราะมันมีแต่จะเหนื่อยเข้าเหนื่อยเข้า ที่มันแสดงออกมาถึงความท้อใจนี้แหละ
ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันก็เป็นเรื่องง่ายๆ การถือนิสัยถือวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สำคัญ เพื่อมรรคผล เพื่อพระนิพพาน เพื่อเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านเมตตาตรัสบอกเราว่า สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีอยู่ในอริยมรรคองค์ ๘ อันเป็นหนทางที่ประเสริฐ ซึ่งจะนำเราไปสู่ความสุขความดับทุกข์ได้ มรรค ก็ได้แก่หนทางประเสริฐ หรือว่าข้อวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน ที่เราจะมีความสุข ที่เราจะมีความทุกข์ก็ล้วนแต่มาจาก 'กรรม' คือ การกระทำของเราเอง
ในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คนที่จะถึงความสุขความดับทุกข์ได้ เราต้องปฏิบัติตาม 'อริยมรรค' เลือกทำเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีๆ มันไม่อยากทำก็ต้องทำ ไม่อยากปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ
ปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ที่มันมีหรือไม่มีน่ะ... ล้วนแต่มาจากกาย วาจา ใจของเราทั้งนั้น แต่เราทุกๆ คนน่ะ มันยังมองไม่ออกมองไม่เห็น แล้วยังมีความเข้าใจผิด การกระทำของเรามันถึงทั้งทำผิดทำถูกผสมระคนปนเป เค้าถึงเรียกว่า 'คน' ทำทุกอย่างทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งบาป ทั้งบุญ
คนเรามันมีความอยากมาก มีความต้องการมาก มันไม่มีสติยับยั้งชั่งจิตชั่งใจนะ ถ้าเป็นรถนี่อะไรก็ดีหมด แต่ว่าเบรกไม่ดี ยิ่งคนสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ยิ่งเบรกไม่มีนะ สมาธิไม่มี ในชีวิตประจำวันจิตใจไม่มีความสุข เผาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เค้าเรียกว่าตกนรกทั้งเป็น เพราะว่าความคิดความเห็นนี้มันมาก แต่สมาธิน่ะมันน้อย ปัญญากับสมาธิมันไม่สมดุลกัน มันก็เลยควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจเลยถูกเผาทั้งเป็น
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกๆ คนฝึกสมาธิ ฝึกปล่อยวาง สิ่งภายนอก เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน ลาภยศสรรเสริญ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องได้เรื่องเสียต้องปล่อยวางให้หมด แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ของเรานี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ต้องปล่อยวางหมดน่ะ ถ้ามันยังไม่เป็นเราถึงต้องมาฝึก ฝึกให้สมองมันว่าง ฝึกให้ใจของเรามันสงบ ธรรมชาตินี้สร้างสรรค์ให้เราทำงาน ให้เราทานอาหาร ให้เราได้พักผ่อน ธรรมชาติเค้าบริสุทธิ์ดีทุกอย่าง แต่เรามันฝึกพักผ่อนยังไม่เป็น ฝึกปล่อยฝึกวางยังไม่เป็น
ในสังคมโลกเจริญ วัตถุเจริญ ล้วนแต่พากันเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตกันเยอะ เพราะว่าไม่ได้ฝึกจิตใจสงบ ไม่ได้ฝึกจิตใจปล่อยจิตใจวาง เราเกิดมาเราก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อเราละสังขารเราก็ไม่ได้เอาอะไรไป สิ่งที่เรามาทุกข์มายากมาลำบากอยู่ในเรื่องจิตเรื่องใจนี้ ล้วนแต่เป็นความหลงทั้งนั้นนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น
ผู้ที่มีเงินมาก มีชื่อเสียงเกียรติยศมาก ถ้าไม่รู้จักทำใจให้สงบ มันก็สู้คนที่เค้ายากจนแต่ค้ารู้จักทำใจให้สงบไม่ได้นะ เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ เราจะทานข้าวก็เพื่อให้ใจสงบ อาบน้ำก็เพื่อให้ใจสงบ ทำอะไรก็เพื่อให้ใจสงบ ความสุขที่ปราศจากความสงบนั้น เป็นความสุขที่เร่าร้อนนะ เช่น ความสุขที่ได้ดูหนัง ฟังเพลง เล่น เที่ยวอย่างนี้แหละเป็นความสุขที่ประกอบด้วยยาพิษ
ที่เรามีโอกาสได้มาอยู่วัดมาปฏิบัติธรรมนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเราให้พากันฝึกสมาธิ พยายามอยู่กับตัวเองทุกๆ อิริยาบถ ไม่ให้อยู่กับการพูด การคลุกคลี พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสคำสอนไว้ว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อคลุกคลีในหมู่คณะ ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ พยายามอยู่กับตัวเอง เราเดินเราก็อยู่กับตัวเอง นั่งก็อยู่กับตัวเราเอง นอนก็อยู่กับตัวเราเอง เราทำการทำงานก็พยายามอยู่กับตัวเอง
การถือกัมมัฏฐาน การเข้ากัมมัฏฐาน คือ การมาอยู่กับตัวเอง มารู้ตัวเอง พยายามปล่อยพยายามวางสิ่งภายนอก คนเรามันคิดโน่นคิดนี่ สงสัยโน่นสงสัยนี่เพราะอะไร...? เพราะใจมันไม่สงบ ถ้าใจสงบแล้วมันไม่สงสัยอะไรหรอก
คนเรามันมีเรื่องมาก มีปัญหามากเพราะอะไร...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ ปัญหาของเราทุกคนก็คือต้องทำใจให้สงบ...พยายามสนใจเรื่องสมาธิ เรื่องทำใจให้สงบ เรื่องปัญญาไว้ก่อน เอาใจสงบก่อน เราอย่าไปพากันกลัวปัญญาไม่เกิด
คนเราน่ะอยู่กับเพื่อนกับฝูง อยู่กับการทำงาน แล้วไม่มีโอกาสได้อยู่กับตัวเองเลย
ทำไมคนเราถึงกลัวจน...? เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมถึงกลัวตาย...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมคนเรามันถึงกลัวผี...?! ก็เพราะใจมันไม่สงบ ใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งภายนอก เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดความปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าพระอรหันต์น่ะ ท่านไม่ตื่นเต้นกับอะไรที่จะเกิดขึ้น อะไรที่จะตั้งอยู่ หรือว่าอะไรที่จะดับไป ท่านไม่ตื่นเต้นเพราะว่าใจท่านสงบ
ที่เราอยากไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ อะไรอย่างนี้ มันเป็นเพราะอะไร...? ก็เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
อยู่ในครอบครัวของเรามันมีปัญหาน่ะ เพราะอะไร...? ก็เพราะใจของเราไม่สงบนะ
ในที่ทำงานของเราก็เหมือนกันมันมีปัญหาเพราะอะไร...? ก็เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา เพราะว่า...
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ประเสริฐ มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ทำแต่ความดี มนุษย์ แปลว่า ผู้รู้จัก รู้แจ้ง
เรื่องใจสงบนี้ ถึงเป็นสิ่งที่ดีมากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก...
อริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนใหญ่เราก็ยังไม่เข้าใจนะ เราคิดว่า การประพฤติปฏิบัติ คือการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม "การประพฤติการปฏิบัติต้องมีอยู่ในเราทุกๆ การกระทำนะ"
ที่เรามีปัญหาต่างๆ น่ะ ก็เพราะเรามีปฏิปทาที่ขาดตกบกพร่อง ที่มันไม่ดีไม่ถูกต้อง เวลาเราไปทำงานอย่างนี้เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เวลาเราพูดอยู่นี้ เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เราเลยมีความบกพร่องในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเรา
แล้วเราก็มีความเข้าใจผิดว่า... "ถ้าเราปฏิบัติตามอริยมรรคน่ะ มันไม่ได้...มันขัดกับการดำรงชีพ ขัดกับการทำมาหากิน..." เราคิด อย่างนั้นน่ะเราคิดไม่ถูก
ครั้งพุทธกาล เค้าเป็นญาติโยม เค้าเป็นประชาชนน่ะ เค้าเป็นพระอริยเจ้ากันเยอะแยะเลย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เค้าอยู่ในบ้านในเมืองในสังคม ครอบครัวเค้าก็มีความสุข ในสถาบันเค้าก็มีความสุข
เราจะไปโทษคนโน้นเค้าไม่ปฏิบัติ คนนี้เค้าไม่ปฏิบัติ เราไปคิดอย่างนั้นมันไม่ได้หรอก เรื่องของเรา...เราก็หายใจเอาเอง เรื่องคนอื่น เค้าก็หายใจของเค้าเอง ทานอาหารพักผ่อนเอง ถ้าเราคิดว่าคนอื่นเค้าไม่ทำไม่ปฏิบัติ เราคิดอย่างนั้นน่ะ เราก็เป็นคนพาล เป็นคนอันธพาล ไปจับผิดคนอื่น ไปเอาดีเอาชั่วคนอื่น เป็นบุคคลตื่นตูมหรือว่าตื่นข่าว แล้วแต่เพื่อนฝูงจะพาไป แล้วแต่สังคมจะพาไป ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ถ้าเราทุกๆ คนแก้ตัวเองได้น่ะ... สิ่งภายนอกถึงมันจะมีปัญหา เราก็ไม่มีปัญหา ก็ชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี เพื่อสร้างบารมี เพื่อเสียสละ
ในครอบครัวของเราน่ะเรามีคุณพ่อคุณแม่ มีลูกมีหลาน ถ้าเรามาแก้ที่เรา มาปฏิบัติที่เรา ให้ปฏิบัติตามศีลตามธรรม ตามข้อวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะมีความสุขมีความดับทุกข์ของมัน
มนุษย์เราทุกวันนี้ กำลังจะสร้างความพินาศความวิบัติให้กับตัวเองแล้วก็ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ด้วยการไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจ ไม่ได้รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา แก้จิตแก้ใจของตัวเอง
ดูๆ ไปแล้ว ถึงแม้ว่าเราจบ ดร. หลายใบ เป็นผู้เชี่ยวชาญต่างๆ นั้น มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันดับทุกข์ไม่ได้ ดับได้ก็แค่ภายนอกชั่วครู่ชั่วยาม แต่เรื่องจิตเรื่องใจมันดับทุกข์ไม่ได้
ญาติโยมประชาชนน่ะ มีความเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นโยมเป็นฆราวาสไม่มีโอกาลที่จะได้บรรลุธรรม นี้เป็นความเข้าใจผิดนะ แล้วจะพากันวิ่งไปแต่ทางโลกทางวัตถุอย่างเดียวเนี่ย ฉิบหายแน่ พินาศแน่ล่ะ... ธรรมะไม่กลับมา โลกาย่อมพินาศ... โลกมันจะพินาศ เพราะเราไม่นำจิตใจของเราปฏิบัติธรรม
เราก็รู้ เราก็เห็น เราก็ได้ยินในชีวิตประจำวันมีแต่สิ่งที่มันไม่น่าจะได้ยิน ไม่น่าจะได้ฟัง มีแต่สิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น ที่ทุกๆ คนวิ่งตามวัตถุถึงพากันสร้างบาป สร้างกรรม สร้างเวร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก เจโตวินิพันธะ คือ เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ อันได้แก่ ๑. ความติดใจ ความยินดีในกาม ๒. ความติดใจยินดีในกาย ๓. ความติดใจยินดีในรูป ๔.ความที่กินแล้วก็นอน และ ๕. ความปรารถนาต้องการเทวนิกาย คือความที่จะไปเกิดในหมู่เทพ คือปรารถนาที่จะไปสวรรค์
ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ชื่อว่า เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ เพราะเหตุว่าผูกพันใจไว้ไม่ให้หลุดพ้นได้ ให้ติดอยู่ในกาม ในกาย ในรูป ในการเอาแต่กินนอน และติดอยู่ในสวรรค์
เนกขัมมะ นั้นแปลกันว่าออก ก็คือออกบวชตามความหมายทั่วไป แต่ก็มีความหมายในทางจิตใจ ที่ใช้ได้ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์เหมือนกัน ก็คือออกจากความติดใจยินดีอยู่ในกามนั้นเอง เมื่อจิตไม่มีเนกขัมมะก็ไม่ได้สมาธิ
ติดใจยินดีในกาย นั้นก็คือในกายของตน อันนับว่าเป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ทำให้พอใจในการที่จะตบแต่งกาย จึงไม่คิดที่จะตบแต่งจิตใจ มุ่งแต่จะตบแต่งกาย ติดในกาย และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ออกไม่ได้ และนอกจากนี้ยังหมายถึงติดอยู่ในสุขเวทนาทางกายมากอีกด้วย เช่นมุ่งที่จะทะนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ๆ มีความสุขทางกาย จึงเป็นอันทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกระทำสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ จะตากแดดสักหน่อยหนึ่งก็ร้อน ไม่ได้ จะตากฝนสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะถือศีลข้อไม่นั่งไม่นอนบนที่นอนที่ยัดนุ่น ก็เจ็บกายทำไม่ได้ จะนั่งกรรมฐานสักหน่อยหนึ่งก็ปวดเมื่อยกาย ทำไม่ได้ ดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อว่าติดใจยินดีอยู่ในกาย
ติดใจยินดีอยู่ในรูป นั้นท่านอธิบายว่ารูปภายนอกต่างๆ ตั้งต้นแต่เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน เครื่องแต่งบ้านเรือน และทุกๆ อย่างจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม จะต้องเป็นสิ่งที่ประณีตต่างๆ ความติดใจยินดีอยู่ในรูปภายนอกดังกล่าวมานี้ก็ทำให้ขวนขวายแต่ในเรื่องของการที่จะประดับตบแต่ง ที่จะทำให้สิ่งต่างๆ โดยรอบมีความสวยงามวิจิตรพิสดาร จึงเป็นอันว่าไม่มีเวลาที่จะมามุ่งปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม คือไม่คิดที่จะมาตบแต่งธรรม คือตบแต่งกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้น
กินแล้วนอน ก็เป็นการตัดประโยชน์ทำนองว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่ก็เพื่อกินนอน ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกทั้งทางธรรม และความมุ่งที่จะเกิดในหมู่เทพคือมุ่งสวรรค์ ก็เป็นความมุ่งที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าพูดอย่างสามัญลงมา ก็เพื่อความดี เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ จะเป็นสวรรค์ในโลกนี้ อันหมายถึงว่าความสุขต่างๆ ในโลกนี้ ทางวัตถุ หรือสวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ก็ตาม แต่ว่ามุ่งที่จะขัดเกลาตนเอง ฝึกตนเองให้เจริญด้วยธรรมะที่เป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า และทั้งที่เป็นความดีงามอย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่าทั้ง ๕ ข้อนี้ คือมีความติดใจยินดี อันเรียกว่าราคะ อยู่ในกาม ในกาย ในรูป และเอาแต่กินนอน กับมุ่งสวรรค์ ก็คือมุ่งความสุขทางวัตถุต่างๆ เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ผูกพันใจเอาไว้ให้ปฏิบัติกระทำ หรือจะเรียกว่าสิกขาศึกษาก็ได้เหมือนกัน เพื่อกาม เพื่อกาย เพื่อรูป เพื่อกินนอน และเพื่อสวรรค์ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะทรงจิตใจมาศึกษาธรรมะ อันเป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ไม่ตบแต่งหรือปรุงแต่งธรรมะปฏิบัติอันเป็นส่วนดีงาม ไม่ปฏิบัติปรุงแต่ง รูปฌาน อรูปฌาน หรือพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ปฏิบัติปรุงแต่งธรรมะ ที่เป็นคุณงามความดี แม้ตั้งแต่ขั้นรูปธรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชอบ และเอาแต่กินนอน ไม่ประกอบชีวิตใช้ชีวิตให้ทำประโยชน์อะไร และไม่มุ่งธรรมะที่เป็นคุณงามความดี มุ่งความสุขที่เป็นวัตถุ
อันเรื่องของมุ่งสวรรค์อันเป็นความสุขที่เป็นวัตถุนี้ เป็นการกล่าวถอดความเข้ามา ให้เห็นสวรรค์ที่เป็นปัจจุบัน เพราะแม้สวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ ก็ล้วนเป็นสถานที่ๆ เต็มไปด้วยความสุขทางวัตถุทั้งนั้น ประกอบไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่งดงาม น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ตามที่คนในโลกที่เป็นคนสามัญต้องการกัน
คราวนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ก็คือความสุขทางวัตถุที่เป็นปัจจุบันต่างๆ คนเราที่เห็นแก่ได้ เช่นเห็นแก่เงินแก่ทอง เห็นแก่ความร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ก็กล่าวได้ว่า ล้วนแต่มุ่งสวรรค์ในปัจจุบันได้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำให้ตีราคาของวัตถุ เช่นเงินทอง ทรัพย์สิน ยิ่งกว่าธรรมะที่เป็นคุณธรรมอันเป็นตัวความดีต่างๆ คนจึงทิ้งธรรมะ ทิ้งศีล ทิ้งสมาธิ ทิ้งปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ คือไม่ศึกษาปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา แต่ไปศึกษาในทางที่ว่าจะได้เงินมามากๆ อย่างไร จะลักขโมยอย่างไร จะโกงอย่างไร จะรวบรวมมาได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น เพราะเมื่อได้วัตถุนั้นมา เช่นว่าได้เงินได้ทองมา ก็เป็นอันว่านั่นเป็นที่ประสงค์ ตีราคาของสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกว่าราคาของธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี
เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามุ่งสวรรค์นั้น ก็ควรจะทำความเข้าใจลงมาดั่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อศีลธรรม ต่อความสงบสุขของหมู่ชนเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนมุ่งวัตถุดังกล่าวนี้ และตีราคาของวัตถุดังกล่าวนี้สูงกว่าราคาของธรรมะที่เป็นคุณงามความดี
เพราะฉะนั้น แต่ละข้อที่ตรัสไว้จึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นเครื่องผูกพันใจ ไม่ให้ใฝ่หาธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี แต่ให้ใฝ่หาแต่กาม แต่กาย แต่รูป แต่การกินการนอน แต่สวรรค์ ก็คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ละเสีย จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ อันเป็นส่วนคุณงามความดีให้ก้าวหน้าสืบไปได้ และก็ไม่ต้องว่าถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์ภายหน้าเท่านี้ ก็จะต้องละเครื่องผูกพันใจเหล่านี้เสียด้วย จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้ และถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติละเสีย ความเบียดเบียนกันในโลกก็จะยิ่งมีมากขึ้นๆ จนถึงเรียกว่าเป็นกลียุค คนก็จะยิ่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน มากขึ้นทุกทีๆ ต่อเมื่อละเสียได้มามุ่งที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นส่วนคุณงามความดีกันให้มากขึ้น ละความมุ่งที่จะบำรุงปรับปรุงกาม กาย รูป กินนอน และมุ่งสวรรค์ คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ดังกล่าว
พระพุทธเจ้าท่านให้เราปรับปรุงตัวเองว่าเราบกพร่องที่ไหน...? ต้องปรับที่ใจของเรา ที่วาจาของเรา ที่การกระทำของเรา ต้องปรับที่นี่แหละ อย่าไปปรับที่อื่น ถึงแม้เราจะเคยทำ ถึงแม้เราจะเคยชินเราก็ต้องปรับกาย วาจา ใจของเรา
อดีตที่มันแล้วก็แล้วไป มันแก้ไขไม่ได้ มันจะดีก็แก้ไขไม่ได้ จะชั่วก็แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดทิ้งอดีตให้หมด แม้แต่มันผ่านไปวินาทีหนึ่ง สองวินาที สามวินาทีก็ให้ทิ้ง พัฒนาตัวเองให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป
เราอย่าไปติดในดีในชั่ว เราก็ตั้งมั่นทำความดีของเราไปเรื่อยๆ ฝึกจิตใจของเราให้มันมีสติสัมปชัญญะ พัฒนาตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาความเป็นพระอริยเจ้าน่ะ... โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาแต่งตั้ง
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติใจของเรามันก็จะสบายเอง ใจของเรามันก็จะสงบเอง เราก็ไม่ต้องไปตามหาอะไรที่ไหนแล้ว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญหีติ ผู้ประพฤติปฏิบัติก็ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง
ถ้าใครไม่ทิ้งอดีตเค้าเรียกว่า เป็นคนติดเป็นคนยึดคนถือ
เรื่องอนาคตเราไม่ต้องวิตกกังวลจนนอนหลับไม่สนิท มันเผาตัวเองทั้งนั้น เราพยายามทำให้ดีที่สุดในปัจจุบัน ให้ใจของเราสงบ ให้ใจของเราดี ให้ใจของเราสบาย เนันที่ปัจจุบันนี้แหละ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันอยู่ตรงนี้แหละ
ทุกคนต้องทำได้ ทุกคนต้องปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมันก็ไม่ง่ายมันก็ไม่ยาก แต่เป็นสิ่งที่ทำได้แล้วก็มีประโยชน์
ทุกคนน่ะแก่ไปทุกวัน... เฒ่าไปทุกวัน... ร่างกายมันก็ทรุดโทรมไม่แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บ ต่างๆ นานามันก็มีมากขึ้น สิ่งภายนอกมันเป็นสิ่งที่แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรานี้แหละ ต้องทำใจของเราให้สงบให้ได้ ทำใจของเราไม่มีทุกข์ให้ได้ ต้องแยกกายส่วนที่มันเจ็บออกจากใจ กาย...มันเรื่องเจ็บเรื่องปวดมีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ใจน่ะ...มันเป็นของว่างเปล่า
ต้องรู้จักแยกรู้จักแยะ คนเรามันทิฏฐิมานะเยอะอัตตาตัวตนเยอะ มันจะไปเปลี่ยนแปลงสัจธรรมเปลี่ยนแปลงความจริง ไม่อยากให้มันแก่ ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันตาย แล้วก็แถมยังอยากไปให้คนโน้น เป็นอย่างโน้น คนนี้เป็นอย่างนี้ มันล้วนแต่นำความทุกข์มาให้เราทั้งนั้น มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องฝึก ต้องปล่อยต้องวาง
ทุกคนยินดีขอให้ไม่เจ็บไม่ป่วยอายุยืน รูปสวยรูปหล่อแล้วรวย ดีใจอย่างนี้แหละ ความสวยที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจนะ ถ้าใจสงบมันถึงเป็นคนสวย ถ้าใจสงบแล้วมองอะไรมันก็ดีไปหมด สวยหมด งามหมด รื่นรมย์หมด ถ้าใจสงบแล้วมันก็รวยหมดน่ะ ถ้าใจสงบมันก็เข้าถึงพระนิพพาน ให้ทุกท่านทุกคนเน้นมาหาเรื่องจิตเรื่องใจนะ อย่าไปเน้นเรื่องทางกาย ถ้าอย่างนั้นจิตใจของเราจะมีความสับสนเนอะ