แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๔๕ ให้ใจมีมโนธรรม คือ ความละอายชั่วกลัวบาป จึงประเสริฐดุจดังเทวดาเดินดิน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติเราต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องทางจิตใจ ถ้าเราไม่ติดต่อต่อเนื่องเเล้วการปฏิบัติ เราก็จะไม่ได้ผลการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติอยู่ที่เราอยู่ เราอยู่ที่บ้านอยู่ที่ทำงาน อยู่ที่วัด เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติให้เป็นมรรคเป็นอริยมรรค ติดต่อต่อเนื่องไม่ให้ขาดสาย ถ้าอย่างงั้นผลเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า เสมอเหมือนกันทุกๆ คน ประชาชนที่ไม่ได้บวช ที่เป็นฆราวาสพากันทิ้งศีลทิ้งธรรมหมด อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถูก มุ่งเอาเเต่โลกธรรม ต้องพากันตั้งใจ พากันสมาทาน เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมมันต้องเเทรกกับชีวิตประจำวันของเรา เราทำมาหาเลี้ยงชีพเเล้วก็พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน อย่าพากันไปทิ้งศีลทิ้งธรรมเป็นอันขาด
พระนิพพานนั้นอยู่ไม่ไกล อยู่กับเราที่ปัจจุบันทุกๆ คน ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติเราก็เสียหาย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราก็พากันเสียหายหมด อานาปานสติทุกๆ คนต้องชัดเจน หายใจเข้าให้มันชัดเจนไปเลย หายใจออกก็ให้มันชัดเจนไปเลย หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน อิริยาบถต่างๆ ถือว่าเป็นอิริยาบถหยาบ ที่เราเคลื่อนไหว้ ที่เราตื่นตัวอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่สมาธิลึกๆ หรอก ต้องฝึกอานาปานสติทุกๆ คน ที่หลวงปู่มั่นสอนให้ท่องพุทโธ คืออันเดียวกัน
คนเราน่ะ ถ้าเรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติเนี่ย มันก็จะไปของมันไปเรื่อย มนุษย์เราก็จะไม่ขาดแคลนข้าวของเงินทอง หรือของกินของใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ชีวิตก็มีความสุขมีความอบอุ่น เป็นสุคโต เราก็ไม่ต้องไปโลภ ไปโลภอยากได้ของคนอื่น เพราะมันทำร้ายระบบสมองสติปัญญาของเรา ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้เข้าถึงปัจจุบันธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องระเหเร่ร่อนผลัดถิ่นไปหาเงินหาสตางค์ที่อื่น เราอยู่ที่ไหนก็ทำหน้าที่ของเราที่นั้น เพียงแต่ว่ามีปัญหาว่า เมื่อเรารวยเรามีกินมีใช้อย่าไปหลงในวัตถุ แค่ความเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ เราจะได้เหนือวิทยาศาสตร์ ที่มีกินมีใช้ ไม่หลง
พวกความโลภของคนน่ะ มันทำให้สามีภรรยามีทะเลาะกัน เพราะสามีก็ต้องเสียสละ ภรรยาก็ต้องเสียสละ มันถึงจะไปได้ สามีภรรยาจะต้องมีศีลเสมอกัน คือพากันมาเสียสละ อย่าไปหลงอบายมุขอบายภูมิ ต้องเป็นคู่บารมีที่มา อย่าเป็นคู่ที่แต่งงานมาแล้วต้องการทางเพศเฉยๆ อย่างนี้ไม่ถือว่ามีศีลเสมอกัน อย่างนั้นมันระดับเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน พวกนี้ไม่มีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อตาแม่ยาย ต่อพ่อแม่สามี ไม่มีกตัญญูกตเวทีต่อครอบครัว
คนเรานะเมื่อไม่เสียสละ ศีลมันไม่มีละก็สมาธิก็ไม่เกิด เพราะศีลนี่คือระบบความประพฤติ มันเป็นสมาธิธรรมชาติ มันก็จะเป็นปัญญาธรรมชาติไปในตัวมัน แล้วถ้าเรามีศีลมีอะไร ก็พอไว้วางใจกันได้ ถ้าไม่มีศีลก็ไม่ไว้วางใจเพราะการมีศีลสำหรับประชาชน ก็เป็นโสดาบัน ทุกคนก็จะใจเย็นใจดีใจสบาย ใจมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น มันไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหน ความสุขมันอยู่ที่ตัวบุคคลคนนั้น ไม่ต้องไปหาความสุขที่อื่น เพราะของไม่มีก็ทำขึ้นได้ ต้นไม้ทุกต้นก็ปลูกขึ้นได้ อะไรทุกอย่างก็ทำขึ้นได้ น้ำไม่มีก็ทำน้ำขึ้นได้ เราพึ่งตัวเองในการเสียสละของตัวเอง ไม่ทำแบบเห็นแก่ตัว ทำแบบที่เสียสละ การเสียสละ มีความสุข ไม่คิดที่จะโลภเอาของใคร มีแต่เป็นผู้ให้ ไม่ต้องไปมีวิธีอะไรมาก อยู่ที่ใจอยู่ที่เจตนา
หิริ ความละอายแก่ใจในการทำบาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาป
ธรรมทั้งสองประการนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า เป็น โลกปาลธรรม คือธรรมที่รักษาคุ้มครองโลก คือหมู่สัตว์ให้อยู่ร่วมต่อกันอย่างปกติสุขตามสมควร นอกจากจะเรียกว่าเป็นโลกปาลธรรมแล้ว ยังถือว่าเป็น เทวธรรม คือ ธรรมที่จะสร้างคนให้เป็นเทพบุตรเทพธิดาด้วยร่างกายที่เป็นมนุษย์นี่เอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจของคนทุกคน ในลักษณะที่ค่อยเกิดขึ้นมาตามลำดับท่านจึงเรียกธรรมสองประการนี้ว่า “มโนธรรม” คือธรรมที่เกิดมีอยู่ภายในจิต หิริ โอตตัปปะ เป็นมโนธรรมนี้เองที่แยกให้แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
ฝ่ายกฎหมายนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติผิด ทางกาย กับวาจาเท่านั้น หาได้ไปควบคุมถึงใจ ซึ่งเป็นตัวควบคุมกายกับวาจาไม่ อีกประการหนึ่งความผิดทางกฎหมายจะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายได้ ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดเช่นนั้น จะต้องฟังให้ได้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย มีประจักษ์พยานหลักฐานมากพอที่จะถือว่าเป็นความผิดได้จึงตัดสินได้ว่าเป็นความผิดหากว่าความสำนึกผิดว่าอะไรผิด อะไรถูก เกิดจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไม่จาเป็นจะต้องมีคนเห็นหรือไม่เห็น ใครจะทักท้วงหรือไม่ก็ตาม คนที่มีหิริโอตตัปปะ จะสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า อะไรควรเว้นอะไรควรกระทำในด้านการสร้างความดีก็ เช่นกัน ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ พร้อมที่จะทำความดี โดยไม่จำเป็นว่าใครจะเห็นหรือไม่ก็ตาม เมื่อเป็นความดี ก็พร้อมที่จะกระทำ อย่างที่พูดกันว่า "ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา"
ความปั่นป่วนสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน จนส่วนย่อยถึงสังคมโลกจะพบว่า การกระทำในลักษณะที่ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ได้เกิดจานวนขึ้นมาก จนสร้างความหวั่นไหวได้เกิดขึ้นแก่คนทั่วไปทั้งสถานการณ์ของสังคมประเทศและโลก โลกปาลธรรมทั้งสองประการยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ที่คนจะต้องสร้างให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอำนาจ เงิน สังคม ราชการ ยิ่งขาดหิริโอตตัปปะไม่ได้เลย โลกจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย และหิริโอตตัปปะ ควบคู่กันไป เพื่อจะสนับสนุนกัน หากขาดทั้งสองอย่าง หรือขาดหิริโอตตัปปะแล้ว ก็มีแต่ความเสียหาย “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าเดรัจฉาน”
โลกของเรานี้ได้รับการคุ้มครองด้วยธรรม จึงทำให้สังคมมนุษย์มีความสงบสุข ธรรมที่คุ้มครองโลกอยู่นี้ เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ”
หิริ คือ ความละอายที่จะทำความชั่ว โอตตัปปะ คือความกลัวต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะนี้เป็นธรรมของผู้มีคุณธรรม ที่จะนำพาเราก้าวไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะผู้จะเป็นเทวดาได้ ต้องมีคุณธรรม คือหิริ โอตตัปปะอยู่ในใจ ท่านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เทวธรรม” คือธรรมที่จะทำให้เราได้เป็นเทวดา อีกทั้งเทวธรรมนี้ คือธรรมคุ้มครองโลก หากคนทั้งโลกมีหิริ โอตตัปปะ ละอายต่อการทำบาปและกลัวต่อผลของบาป ก็จะไม่ทำบาปอกุศล จะตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ มนุษย์ทั้งหลายก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สันติภาพของโลกย่อมจะบังเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์พากันประพฤติธรรม ธรรมะก็จะคุ้มครองมนุษย์ ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงภาวะได้ด้วยแรงกรรมคือความประพฤติของตนเอง เช่น ถ้าใครประพฤติตนเป็นคนขี้ลักขโมย เขาก็จะเปลี่ยนภาวะเป็นโจรทันที ถ้าใครขยันศึกษาเล่าเรียน เขาก็จะเป็นบัณฑิต ถ้าใครบวชแล้วรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เขาก็จะเป็นภิกษุ และถ้าใครมีความละอายใจที่จะทำชั่ว พร้อมทั้งกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหลังจาทำชั่วนั้น คุณธรรมในใจเช่นนี้ พระท่านเรียกว่า หิริโอตตัปปะ จะมีสภาพเหมือนเกราะอันเหนียวแน่นป้องกันความชั่วทั้งปวงได้ ผู้มีสภาพจิตเช่นนี้จะเปลี่ยนภาวะเป็นเทวดาทันที
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีกุฎุมพีผู้หนึ่งเป็นคนเจ้าสำรวยรักสวยรักงาม และเห็นแก่ความสะดวกสบายจนน่าระอา วันหนึ่งเขามีโอกาสได้ฟังพระพุทธโอวาทอันไพเราะจับใจ ประกอบด้วยเหตุและผลลุ่มลึกไปตามลำดับ บังเกิดความเลื่อมในศรัทธาเปี่ยมล้นใคร่จะสละเหย้าเรือนออกบวชเช่นเพื่อนบ้านบ้าง แต่ติดขัดด้วยเรื่องครอบครัว จนกระทั่งต่อมาไม่นานนัก เมื่อภรรยาเสียชีวิตลงจึงได้ออกบวช แต่โดยเหตุที่มีนิสัยเจ้าสำรวยมาแต่ต้น ดังนั้นก่อนจะออกบวช ได้จัดแจงให้ข้าทาสบริวารไปช่วยกันสร้าง กุฏิหลังงามขนาดใหญ่ ใช้วัสดุก่อสร้างชั้นดีเตรียมไว้หลังหนึ่งที่เชตวันมหาวิหาร
โดยวินัยพุทธบัญญัติแล้ว ถ้าพระภิกษุรูปใดปรารถนาจะสร้างกุฏิอยู่เอง จะต้องสร้างเป็นกุฏิขนาดเล็ก มีขนาดกว้างยาวเท่าที่กำหนด เพียงอาศัยอยู่ได้ลำพังๆ ก็พอแล้ว ห้ามสร้างใหญ่โตเกินกว่านั้นเป็นอันขาด แต่ถ้าต้องการกุฏิขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดจะต้องหาเจ้าภาพมาสร้างให้ ห้ามสร้างเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากกุฏุมพีผู้นี้รู้พระวินัยอยู่บ้าง จึงรีบสร้างกุฏิเตรียมไว้ก่อน อีกทั้งยังสร้าง โรงไฟ และโรงครัวไว้เก็บตุนอาหารอีกด้วย แม้เครื่องนุ่งห่ม เช่น สบง จีวร ฯลฯ ก็จัดเตรียมไว้หลายชุด เพื่อผลัดเปลี่ยนได้ตามใจชอบ ดั้งนั้น หลังจากบวชแล้ว ท่านจึงมีบริขารต่างๆ สะสมไว้จนล้นกุฏิ เท่านั้นไม่พอ ยังเรียกคนรับใช้เก่ามาคอยติดตามปรนนิบัตินวดมือ นวดเท้า ประกอบอาหารให้ฉันตามใจชอบเช่นเดียวกับฆราวาสอีกด้วย
วันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสาละวนขนสบง จีวร สังฆาฏิ เป็นสำรับๆ และเครื่องนุ่งห่มอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายเป็นกองพะเนินออกมาตากที่หลังกฏินั้น เพื่อนพระภิกษุกลุ่มหนึ่งผ่านมาเห็นเข้าจึงกล่าวตำหนิว่า “พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตจำกัดให้พระภิกษุมีเพียงผ้าสามผืน คือ สบง จีวร และสังฆาฏิ ไว้ใช้นุ่งห่มเท่านั้น เพื่อฝึกความเป็นผู้มักน้อย แต่ท่านกลับมักมาก สะสมบริขารไว้มากมายล้นเหลือ ช่างไม่เป็นการสมควรเลย” แล้วก็นำตัวพระภิกษุเจ้าสำรวยรูปนี้ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระบรมศาสดา ครั้นทรงซักถามได้ความตามเป็นจริงแล้วก็ทรงตำหนิซ้ำอีกว่า “ดูก่อนภิกษุ ในศาสนาของเรานี้ ล้วนสรรเสริญคุณของความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ รักสงบ และการปรารภความเพียร เผาผลาญกิเลสให้สิ้นไปมิใช่หรือ แล้วทำไมเธอจึงไม่เชื่อฟัง กลับทำในสิ่งที่ไม่ควร สะสมบริขารไว้มากมายถึงปานนี้”
พระภิกษุเจ้าสำรวยได้ยินดังนั้น แทนที่จะสำนึกผิด กลับเกิดโทสะพลุ่งพล่านแสดงอาการฮึดฮัด กล่าวประชดประชันพระพุทธองค์ขึ้นว่า “ถ้าเช่นนั้น ต่อไปนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะบวชอยู่ในศาสนานี้โดยนุ่งแต่เพียงผ้าสบงผืนเดียวอย่างนี้เท่านั้น” ว่าแล้ว ก็สลัดจีวรที่ห่มทิ้งเสีย ยืนเปลือยอกอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้ทรงถือโทษ กลับทรงพระกรุณาระลึกชาติหนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ตรัสเตือนสติด้วยพระสุรเสียงอันกังวานนุ่มนวลว่า “ดูก่อนภิกษุ เมื่อชาติปางก่อนโน้น เธอเคยเกิดเป็นผีเสื้อน้ำต้องเสียเวลาท่องเที่ยวแสวงหาเทวธรรม คือ หิริโอตตัปปะ ด้วยความลำบากยากแค้นแสนสาหัสถึงสิบสองปีจึงพบ บัดนี้เธอได้มาบวชอยู่ในพระศาสนาที่สอนให้มีเทวธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว แต่เธอกลับละทิ้งเทวธรรม จะหาความละอายบาป กลัวบาปแม้แต่น้อยมิได้ถึงกลับมายืนเปลือยอกประชดประชันเราเช่นนี้ สมควรแล้วหรือ”
พระภิกษุรูปนั้นได้ฟังพระพุทธดำรัสอันไพเราะจับใจเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณา มิได้ทรงถือโทษแต่ประการใด ก็ได้สติ รีบหยิบจีวรขึ้นมาห่มใหม่ กราบถวายบังคมอยู่แทบพระยุคลบาท ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วนั่งอยู่ในที่อันควร
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงเล่าเรื่องการแสวงหาเทวธรรมในอดีตชาติของพระภิกษุรูปนั้น แล้วพุทธพจน์บทหนึ่งว่า “หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร
ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ (ละอายชั่วกลัวบาป) มั่นคงอยู่ในกุศลธรรมคือธรรมที่ขาว สงบระงับบาปได้แล้ว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”
อธิบายขยายความในพระคาถาว่า “เทวธรรม คือ คุณธรรมสองประการด้วยกัน ได้แก่ หิริ และโอตตัปปะ หิริ คือ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
หิริ มีเจตนาละอายต่อความชั่วสามประการด้วยกันคือ คิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว โดยปรารภตัวเอง เป็นเหตุให้เกิดความละอาย
โอตตัปปะ มีลักษณะเป็นความกลัวภัยจากผลแห่งความชั่วที่จะเกิดตามมาภายหลัง เช่น กลัวตกนรก กลัวคนติฉินนินทา เป็นเรื่องของการ ปรารภผู้อื่น เป็นเหตุ
อุปมาดังว่า มีเหล็กสองก้อน ก้อนหนึ่งเป็นเหล็กเย็น แต่เปื้อนอุจจาระ เหล็กอีกก้อนหนึ่งเป็นเหล็กร้อนแดง แต่ไม่เปื้อนอะไร เหล็กเย็นไม่เป็นอันตรายแต่เป็นที่น่ารักเกียจ ใครๆ จึงไม่ยอมหยิบซึ่งเปรียบเสมือนหิริ เหล็กร้อน ทำให้กลัวไม่กล้าแตะต้อง เพราะกลัวอันตรายจากความร้อนนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนโอตตัปปะ
สาเหตุที่จะทำให้บุคคลเกิดหิริโอตตัปปะขึ้นได้ มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ 1. เมื่อคำนึงถึง ชาติสกุล ของตนว่า ได้เกิดมาในสกุลที่ดีมีชื่อเสียง ครั้นจะทำความชั่ว ก็ละอาย และจะถูกตำหนิติเตียนไปถึงบรรพบุรุษ เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล
2. เมื่อคำนึงถึง วัย คือคิดว่า ตนเองก็อายุมากถึงเพียงนี้แล้วครั้นจะทำความชั่ว ก็ละอาย และ กลัวเด็จะลบหลู่ดูหมิ่นสิ้นความเคารพนับถือ
3. เมื่อคำนึงถึง ความสามารถ คือ ความที่ตนเป็นผู้มีฝีมือ มีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ครั้นจะต้องมาทำความชั่ว เช่นลักขโมย หรือขอเขากิน ฯลฯ ก็นึกละอาย กลัวเขาจะดูถูกดูหมิ่นว่าสิ้นไร้ ฝีมือ
4. เมื่อคำนึงถึง ความเป็นพหูสูต คือ คิดถึงความที่ตนเองเป็นผุ้มีการศึกษา นึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ที่อุตสาห์เหน็ดเหนื่อยสั่งสอนอบรมมา ครั้นจะต้องมาทำความชั่ว เช่น ฉ้อโกงเขา ฯลฯ ก็นึกละอาย และกลัวผู้อื่นติเตียน
เทวธรรมเป็นธรรมคุ้มครองสัตว์โลก ถ้าหิริและโอตตัปปะ ไม่คุ้มครองโลก มนุษยโลกก็จะไม่มีความเคารพยำเกรงต่อกัน จะประพฤติสำส่อนกันไปหมด เหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉาน แต่เพราะเหตุที่หิริและโอตตัปปะนี้ยังคุ้มครองโลก จึงได้ชื่อว่า สุกกธรรม เพราะเป็นแก่นแห่งมนุษยธรรม เป็นหลักธรรมที่ทำให้มนุษย์มีจิตใจสูงส่ง ไม่ตกอยู่ในอำนาจใฝ่ต่ำ
เทวธรรมคือหิริและโอตตัปปะชื่อว่าสุกกธรรม เพราะเป็นแก่นแห่งมนุษยธรรม เป็นหลักธรรมที่ทำให้มนุษย์มีจิตใจสูงส่งไม่ตกอยู่ในอำนาจใฝ่ต่ำ คุ้มครองมนุษยโลกไม่ให้ประพฤติสำส่อนเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน มนุษยธรรมหมายถึงธรรมที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ ได้แก่ ศีล ๕ และคุณธรรม เช่น เมตตา
กรุณา เป็นต้น เมื่อมีเจตนางดเว้นทั้ง ๕ ประการ ไม่ทำให้ศีลขาด ด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์ไม่ผ่องใสแล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์ในการรักษาศีล ๓ ประการคือ ๑) ทำให้ถึงคติแห่งชีวิตที่ดี ๒) ทำให้ได้โภคสมบัติ ๓) ให้ถึงความดับทุกข์ร้อนในชีวิตประจำวัน เป็นฐานในการสร้างสมาธิและปัญญาให้สมบูรณ์ ทำให้เข้าถึงนิพพานได้ในที่สุด จะเห็นได้ว่าอานิสงส์ในการรักษาศีลห้านั้นให้ผลแก่ตนเอง ต่อจากนั้นก็กระจายไปสู่ครอบครัว หน้าที่การงาน สังคมและประเทศชาติ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาวสะอาดทำให้เป็นคนที่สะอาด ส่วนกุศลธรรมคือธรรมฝ่ายกุศล ธรรมฝ่ายดีมี ๓ อย่างคือ ๑) ความไม่อยากได้ทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่นโดยทางทุจริต
๒) ความไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น คิดที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ได้รับบาดเจ็บทำให้เขาได้รับความอับอาย ทำให้เขาเดือดร้อนทำให้เขาเสียทรัพย์
๓) ความไม่ลุ่มหลงมีความรู้จริง มีปัญญาและมีอาการสว่างไสวของจิต
บุคคลที่ไม่มีความโลภแสวงหาทรัพย์สินเงินทองด้วยวิธีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีความโกรธ คิดในทางสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และไม่มีความลุ่มหลงปราศจากปัญญาจะเป็นบุคคลที่มีความสะอาดทางกายวาจาและจิตใจ
การเป็นเทวดาในโลก หรือจะเรียกว่าเป็นเทวดาเดินดินดังหัวเรื่อง เป็นเรื่องใกล้ตัว พิสูจน์ง่ายและรับประกันได้แน่นอนว่าถ้ามีคุณธรรมดังที่แสดงไว้นี้ เราก็สามารถเป็นเทวดาได้ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า และที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์เป็นเทวดาเดินดินกันมากเท่าใด โลกก็จะมีความสงบร่มเย็นมากขึ้นเท่านั้น
การประพฤติการปฏิบัติธรรมนั้นมันก็ไม่ใช่เป็นของยาก แต่มันยากอยู่ที่เราไม่อยากปฏิบัติ อยู่ที่เราไม่อยากจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่อยากจะละอวิชชาตัวตน มันถือตัวถือตนเป็นใหญ่เป็นที่ตั้ง ทุกคนมันเลยเครียด เลยไม่สงบ ชีวิตนี้มันถึงมีแต่การเบียดเบียนทั้งตนเอง เบียดเบียนทั้งคนอื่น เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เบียดเบียนคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น เราเรียนมาก รู้มาก มีความฉลาดก็ย่อมเอาเปรียบคนอื่น หรือเป็นคนลักขโมย แย่งชิง อันนี้ก็เนื่องมาจากเราได้พากันถืออัตตาตัวตน เอาตนเป็นใหญ่ เอาตนเป็นที่ตั้ง
คนเราน่ะ ถ้ามันมีตัวมีตนมันก็ย่อมเป็นทุกข์ เค้าว่าเราสวย เค้าว่าเราหล่อเราก็เครียดนะ เป็นทุกข์ เราไม่สวยไม่หล่อเราก็เป็นทุกข์ เราไม่รวย เราไม่มีคนสรรเสริญเยินยอ เราก็เป็นทุกข์น่ะ สรุปแล้วเรามีความทุกข์เพราะเรามีตัวมีตน เรามีสักกายทิฏฐิ ชีวิตนี้เราได้ตั้งอยู่ในความเครียด อยู่ในความทุกข์ มีทุกข์อยู่ร่ำไป
"...คนเราน่ะ ถ้าคิดไม่ดี เค้าเรียกว่ารายจ่ายเยอะเนอะ รายรับไม่ค่อยจะมีนะ ตาเราเห็นรูปอย่างนี้เค้าเรียกว่ามีเป็นรายรับนะ ถ้าเรามีความหลง เราตามไปเรื่อยๆ อย่างนั้น เรายินดี อย่างนี้น่ะ รายจ่ายเยอะนะ ที่เราไม่สบายส่วนใหญ่ เรารายรับนิดเดียว รายจ่ายมันเยอะ มันมีหนี้มีสินน่ะ"
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ อันไหนไม่ดี เราก็ไม่คิด ถ้าเราคิดน่ะ แสดงว่าเราไปมี sex มีเพศสัมพันธ์กับความคิด อย่างนั้นน่ะ รายจ่ายเราเยอะเลย รายจ่ายของเรามันจะเดือดร้อนถึงไม่เป็นโรคประสาท ก็โรคจิต เราก็ฝึกมาหายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข เรารู้อารมณ์ รู้ความคิดให้เกิดปัญญา เราไม่ตามไป ถ้าตามไป ค่าใช้จ่ายเยอะเลย ต้องพากันฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบายไว้เยอะๆ เราเดินเราเหินอะไร ก็พากันฝึก หายใจเข้าสบาย ออกสบายไว้
ถ้าเราไม่ตามอารมณ์ไป ไม่ตามความคิดไป เราก็ไม่ต้องมีรายจ่าย เราจะได้เป็นคนมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาในปัจจุบัน เราปฏิบัติธรรมเราก็ทำอย่างนี้แหละ ใจเราดี ใจสบาย เราก็ไม่ต้องไปหาอาจารย์ที่ไหน ถ้าเราตามอารมณ์ ตามความคิดไปน่ะ อย่างนี้รายจ่ายเยอะน่ะ เจ๊งแน่ อยู่ดีๆ น่ะ หาเรื่องให้ตัวเองปวดหัวเฉยๆ เราต้องพากันฝึกอานาปานสติไว้ พากันหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบายไว้ เราต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ รายจ่ายจะเยอะ เท่ากับชีวิตขาดทุน ไม่ได้กำไร
มีคนบอกว่าเกิดมาต้องหากำไรให้ชีวิต โดยเอาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด ต้องดื่มต้องกินของอร่อยๆ ต้องไปเที่ยวรอบโลก ต้องมีแฟนเยอะๆ ต้องหาประสบการณ์แปลกแหวกแนว ต้องใช้ของดีมีคุณภาพ สรรหาของราคาแพงๆ ไว้ประดับบารมี ถ้าได้อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีกำไรชีวิต...
หากคุณคิดว่าตัวเองมีค่า เพราะมี “เงิน” วันไหนเงินหมด คุณค่าคุณก็หมด
หากคุณคิดว่าตัวเองมีค่า เพราะ “หน้าตา” ดี วันไหนคุณแก่ลงจนหน้าตาไม่ดี คุณค่าคุณก็หมด
แต่ตราบใดที่คุณรู้ว่าตัวเองมีค่า เพราะเป็น “คนดีจริงๆ” ตราบใดที่คุณยังมีความดี คุณก็จะ “มีคุณค่า” ได้ตลอดไป…
แต่ลองมานึกดูเถิด หากเราได้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแต่ชีวิตหลังความตายเราต้องไปใช้ชีวิตใหม่ในอบายภูมิอย่างทุกข์ทรมาน ต้องตกนรกอย่างยาวนาน อย่างนี้ยังจะเรียกว่า เกิดมาได้กำไรชีวิตไหม ในเมื่อชาติที่ไปเกิดใหม่กลับมีสภาวะตกต่ำทรมานแสนสาหัสไปกว่าเดิม หากเรามาศึกษาความรู้ในทางพระพุทธศาสนาจะพบว่า ผู้ที่เกิดมาแล้วได้กำไรชีวิตไปจริงๆ ก็คือ ผู้ที่เข้าถึงความสุขที่แท้จริงของชีวิต ได้พบความสุขสงบจากการหยุดปัญหา หมดปัญหา หยุดการเวียนว่ายตายเกิด อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าได้กำไรชีวิต
ฉะนั้น จงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมเถิด อย่ามัวปล่อยเวลาไปกับเรื่องไร้สาระอีกเลย เพราะช่วงเวลาแห่งความแข็งแรงของชีวิตมีจำกัด ดังนั้นเราต้องหยุดใจให้ได้ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด เพื่อให้เราเกิดมาได้กำไรชีวิตไปจริงๆ
ทุกคนนั้น ต้องมีการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะเรียกตัวว่าเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือชี หรือฆราวาสญาติโยม เราต้องเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะอารมณ์ตัวเองให้ได้ ไม่สนใจเรื่องเหนื่อยเรื่องผอม เรื่องยากลำบาก
จิตใจทุกคนนั้นย่อมอ่อนแอ น้ำนั้นย่อมไหลลงไปที่ต่ำ ถ้าไม่มีเขื่อนที่มั่นคงนั้น...ก็ไม่สามารถที่จะเก็บน้ำไว้ได้น่ะ จิตใจของเรานั้นก็เหมือนกัน ต้องสมาทาน ต้องตั้งมั่น ต้องมีสติมีสัมปชัญญะอย่างมากอย่างแข็งแรง
เราอย่าไปคิดว่าเรื่องการประพฤติการปฏิบัตินั้น มันเป็นหน้าที่ของพระที่เข้ามาบวช ที่จะต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน เพราะอันนั้นมันเป็นความคิดที่เราลิดรอนสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ที่เราเป็นผู้ประเสริฐ ที่เกิดมาเราปล่อยโอกาส ปล่อยเวลา ขีดเส้นว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ
'ใจ' ของเราที่แท้จริงนั้นมันไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนหนุ่ม คนสาว คนแก่ ไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เป็นฆราวาสน่ะ มันคือจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นจิตใจที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้มีศีล มีธรรม มีคุณธรรม เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพื่อสติสัมปชัญญะมันจะได้สมบูรณ์ด้วยทาน ศีล ภาวนา ตั้งอยู่ในสติสัมปชัญญะที่เราทุกๆ คนมีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติน่ะ
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเรานี้มันก็มีประโยชน์น้อย "มีประโยชน์น้อยต่อตนเอง มีประโยชน์น้อยต่อคนอื่นน่ะ"
เราทำมาหากินเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ได้เป็นไป เพื่อธรรม เพื่อส่วนรวม เพื่อที่จะแบ่งความสุข เพื่อแชร์ความสุขให้ซึ่งกันและกัน เป็นผู้ที่มีความสงสารน้อย เป็นผู้ที่มีความกรุณาน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีความบริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ ชีวิตนี้ถึงไม่ประเสริฐเลยที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์
การประพฤติการปฏิบัติธรรมถึงเป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐน่ะ โลกนี้ สังคมนี้ บ้านเมืองนี้เค้าต้องการคนดี คนมีคุณธรรม ถึงจะไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เค้าให้เรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงขั้นสูงสุดก็เพื่อเป็นคนดี คนมีคุณธรรม คนเสียสละ คนรับผิดชอบ คนที่มีศีลมีธรรมถึงจะได้นำโลกนำสังคมสู่ความสงบ ความร่มเย็น
เราทุกคนต้องกลับมามองตัวเองว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้เสียสละหรือยัง เป็นผู้มีศีลหรือยัง เป็นผู้ที่มีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะหรือยัง เป็นผู้ที่ทำตามธรรมะหรือยัง? ต้องกลับมามองตัวเองโดยใช้ชีวิตนี้ อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ มาทำความดี เสียสละตั้งแต่เช้าจนนอนหลับน่ะ ตื่นขึ้นก็เจริญสติสัมปชัญญะ เสียสละ เราทำอย่างนี้ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้
คนเรานั้นถ้าทำไปด้วยความเห็นแก่ตัว "มันเครียด ปัญญามันไม่เกิดน่ะ..." เราทุกคนมันถึงเข้าถึงทางตัน เพราะเราเป็นคนไม่มีศีล มีธรรม มีคุณธรรม
ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลาย ที่ได้พากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เราพากันประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งใจอบรมบ่มอินทรีย์ ปฏิบัติธรรมทั้งที่อยู่ที่บ้าน อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม อยู่ในสถานที่ต่างๆ
ทุกท่านทุกคนนั้นก็ย่อมนำเอาสติสัมปชัญญะ นำเอาการเสียสละ นำเอาสิ่งที่ตึ สิ่งที่ถูกต้องไปใช้เพื่อความสุข ความสงบของมหาชน คนทั้งหลาย จะได้นำตัวเอง ประเทศชาติ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข