แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดมุ่งหมายของมนุษย์ คือ พระนิพพาน เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ต้องมีความสุขในการปฏิบัติธรรม เรียกว่าศีล เรียกว่าสมาธิ เรียกว่าปัญญา ถ้าทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก คือ การเวียนว่ายตายเกิด เราต้องรู้จัก เราเกิดมาเพื่อมีพระพุทธเจ้าในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยะสงฆ์ในใจ คือการประพฤติการปฏิบัติของเราทั้งกายทั้งวาจาทั้งจิตใจ เพราะเราจะมาหลงโลก หลงวัฏฏสงสาร หลงอวิชชานี้ไม่ได้ ทำให้เราเสียเวลา ทุกคนอย่าเพลิดเพลินทุกคนอย่าประมาท เพราะรูปมันก็สวยที่สุด เสียงมันก็เพราะที่สุด ความสะดวก ความสบายทำให้เราหลง ทำให้เราเพลิดเพลิน อันนี้เป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่ต้องการกัน เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกมันยาก เพราะว่า มันเพลิดเพลินในความสุข ความสะดวกความสบาย อันนี้เป็นเพียงอารมณ์ของเทวดา
เป้าหมายชีวิตของมนุษย์ มักจะมีผู้สงสัยและตั้งคำถามกันว่า "คนเราเกิดมาทำไม" แต่เมื่อถามคำถามนี้ออกไปแล้ว ก็ไม่สามารถหาคำตอบ ที่ทำให้รู้สึกพอใจได้ เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจนแล้วในสามัญญผลสูตร สรุปเป้าหมายชีวิตมนุษย์ได้ ๑ ระดับ คือ ๑. เป้าหมายระดับต้น ๒. เป้าหมายระดับกลาง ๓. เป้าหมายระดับสูงสุด
๑. เป้าหมายระดับต้น ได้แก่ เป้าหมายชีวิตที่ปุถุชน (ผู้ที่ยังมีกิเลสหนา) โดยทั่วไปคิดและปฏิบัติกันอยู่ เป้าหมายระดับต้นนี้ อาจเรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนดินคือมนุษย์สมบัติ" เป็นการตั้งเป้าหมายของคนที่มุ่งแสวงหาความสุขสบายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามความคิดของแต่ละคน จะเห็นว่าสอดคล้องกับความคิดของคนในสังคมโดยทั่วไปที่มองว่าเงิน คืออำนาจ ยิ่งรวยเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น เพราะมีความคิดทำนองนี้ จึงเห็นคนในสังคมทุกยุคทุกสมัยทุ่มเทชีวิตทำมาหากิน เพื่อหวังความมั่งคั่งร่ำรวย อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การมีอำนาจและบริวารมากมาย เมื่อประกอบอาชีพสุจริตไม่รวย บางคนก็หันไปประกอบอาชีพทุจริต ยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
บุคคลที่มีเป้าหมายบนดิน ก็อาจจะประสบทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไปตามประสาปุถุชน ที่แน่นอนก็คือ ผู้ที่บรรลุ "เป้าหมายบนดิน" ย่อมประสบความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และอาจมีอำนาจ มีเกียรติยศ ชื่อเสียงในสังคมด้วย
บุคคลที่มีเป้าหมายจำกัดอยู่เพียงในระดับนี้ มักไม่สนใจเรื่องการสั่งสมบุญบารมี อาจไม่มีความละอาย หรือเกรงกลัวบาปเท่าที่ควร ครั้นตั้งหน้าตั้งตากอบโกยแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจและบริวารไปเรื่อยๆ ก็มักจะไม่สามารถสอนใจตนเองได้ว่า จะต้องมีมากเท่าไรจึงจะพอ เมื่อไม่รู้ปริมาณที่ควรจะพอก็ย่อมจะเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่นต่อๆ ไปไม่รู้จบ
เบียดเบียนตนเอง หมายความว่า คิดแต่จะแสวงหาทรัพย์แม้ในทางไม่ชอบ จนกลายเป็นความโลภ เมื่อพบอุปสรรค หรือคู่แข่งก็เกิดความโกรธ มุ่งแสวงหาอำนาจก็คือความหลง
เบียดเบียนผู้อื่น หมายความว่า แก่งแย่งผู้อื่นโดยรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติด้วย ทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เหล่านี้คือวิสัยของ "มิจฉาทิฏฐิบุคคล"
ดังนั้น ผู้ที่ตั้งเป้าหมายบนดินเท่านั้น จึงนับว่าดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่เสี่ยงอันตราย มีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายอย่างยิ่ง
๒. เป้าหมายระดับกลาง เป็นเป้าหมายที่คำนึงถึงชาติหน้าด้วย เพราะเข้าใจถูกว่า ตายแล้วไม่สูญ เรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนฟ้าคือสวรรค์สมบัติ"
มนุษย์เราวิเศษกว่าสัตว์ติรัจฉาน ก็ตรงที่มี "ธรรมสัญญา" หมายถึง การตระหนักในเรื่องของธรรมะจัดเป็นสัมมาทิฏฐิระดับหนึ่ง คือ สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป มีความเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ จึงคิดสร้างบุญไว้สำหรับชีวิตหน้า โดยการบำรุงสมณพราหมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้น ใครก็ตามที่มีความคิดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น และมีเป้าหมายชีวิตอยู่ในระดับกลาง
๓. เป้าหมายระดับสูงสุด เป็นเป้าหมายที่มุ่งความหลุดพ้น เพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ "เป้าหมายเหนือโลกคือโลกุตตระ" เป้าหมายระดับนี้ มีปรากฏเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ปรากฏอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นใดในโลกเลย นี่คือคุณวิเศษอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็น "ศาสนาแห่งปัญญาโดยแท้"
พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาภาคทฤษฎี หรือพระปริยัติธรรมนั้น ก็เพื่อยึดไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพราะถ้าไม่รู้หลักก็ปฏิบัติไม่ถูก ดังนั้นจะเห็นว่าคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเริ่มจากพระวินัยต่อไปถึงพระสูตรนั้น ล้วนเป็นหลักสำหรับพุทธศาสนิกชน ที่จะต้องศึกษาให้เกิดความเข้าใจ แล้วยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติ
เป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์คืออะไร? บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อมีความสุข บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อสร้างสิ่งดีงามไว้ให้โลก บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อคนที่ฉันรัก นั่นก็เป็นสิ่งที่จะคิดกันไปตามภูมิปัญญา แต่ละคนก็มีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกันไป
แต่สำหรับพระพุทธเจ้า ได้ทรงฝากเป้าหมายไว้ให้มนุษยชาติอย่างชัดเจน เป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์ในทัศนะของพระพุทธเจ้า ก็คือ การดับกิเลส และทำที่สุดแห่งทุกข์ให้แจ้ง คือการดับความไม่รู้คืออวิชชา อันเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์
เชื่อเถอะว่า เราเคยตั้งเป้าหมายชีวิตมาแล้วนับไม่ถ้วน และเชื่อเถอะว่า ทุกเป้าหมาย ทุกความปรารถนา ทุกความสำเร็จ ทุกความอยากมี อยากดี อยากได้ อยากเป็น เราล้วนเคยบรรลุมาแล้วก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น คงเหลือเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้นที่เรายังไม่เคยบรรลุ นั่นคือเป้าหมายแห่งการไม่เกิด ไม่ตาย
เช่นนั้นแล้ว ถ้าชาตินี้เรายังตั้งเป้าหมายเก่าๆ ซ้ำๆ เดิมๆ ชีวิตของเราคงไม่ต่างอะไรกับนิยายน้ำเน่าที่นำมาเล่าซ้ำๆ เปลี่ยนแต่เพียงชื่อแซ่ หน้าตา เสื้อผ้า หน้า ผม แต่ทุกอย่างก็ยังวนเวียนอยู่ในวังวนเก่าๆ เช่นนี้แล้ว การเกิดของเราคงเป็นการเกิดที่ไร้ค่า
พึงคิด พินิจ ใคร่ครวญ ด้วยสติและสัมปชัญญะของเรา อัตภาพความเป็นมนุษย์ คือ สิ่งล้ำค่าอันหาที่สุดมิได้ ทุกวันนี้เรากำลังใช้สิ่งล้ำค่าที่ว่า เพื่อแสวงหาสิ่งใดอยู่หรือ!!!
ทุกคนเกิดมามีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย มีความพลัดพราก สังขารนี้ก็ไม่เกิน 100 ปี ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ต้องพากันปฏิบัติธรรม ไม่มีใครยกเว้น ทุกชาติ ทุกศาสนา ไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าทุกองค์มาตรัสรู้ได้ตรัสอริยมรรคมีองค์ 8 มนุษย์เรานี้จะไม่มีความสุข ความทุกข์เลย เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่มีความทุกข์ เพราะว่าเราปฏิบัติตามหลักเหตุ หลักผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และก็เหนือวิทยาศาสตร์ไปอีก คือเราพัฒนาใจของเรามีความสุข มีความดับทุกข์ทั้งหลาย แล้วก็ใจไม่หลง การประพฤติการปฏิบัติมันจะปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิไปในตัว เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็ถึงมี คนที่ไม่รู้ คนที่เกิดมาทำไมมันผิดพลาดอย่างนี้ไม่รู้ว่าธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเราขาดพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างแบบอย่าง ขาดครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง ไปเอาเพียงแต่ถือแบรนด์เนมศาสนาเฉยๆ ถ้าใครไม่เข้าใจก็พากันเข้าใจนะ เพราะอันนี้เค้าเรียกว่าความสุข เหนือความสุขอีก เพราะว่าบริโภคทุกอย่างด้วยสติปัญญา สมกับเป็นพุทธะ ทุกคนถ้าทำตามพระพุทธเจ้าแล้วก็เข้าสู่ความเป็นพุทธะ แล้วก็ไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย ปัจจุบันนี้คือความสุขความดับทุกข์ ขนาดทำงานอย่างนี้ เรามีความสุขอย่างนี้ ก็เพราะใจของเราได้เสียสละ มันอยู่เหนือความสุข คือเราเข้าถึงความวิมุตติหลุดพ้น เราก็ไม่ติดในความสุข ไม่ติดในความทุกข์ เพราะพวกนั้นไม่ได้ภาวนาเลย มีแต่ตามใจกันหมด
พระพุทธเจ้า ท่านสอนเรานะ เมื่อเรามีความสุขเราก็อย่ามาหลงในความสุข เพลิดเพลินในความสุข เพราะคนเราต้องเดินก้าวไปเรื่อยๆ ถ้าเรามาหลงอยู่ติดอยู่เราก็ก้าวไปไม่ได้ เราไม่ได้พัฒนาจิตใจของตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองหลงในความสุข หมกมุ่นในความสุข มันเสียเวลา
จิตใจต้องเข้มแข็งมากๆ นะ จิตใจต้องมีปัญญาอย่างเฉลียวฉลาดให้เต็มที่ ต้องทิ้งอดีตให้ได้นะ ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ถ้าใจของเรามีความสุขในการทำงานในปัจจุบัน บาปกรรมที่เคยกระทำที่เป็นอดีตมันจะไม่สามารถตามเราได้ เพราะใจของเรามีความสุข ใจของเราจะมีอานุภาพ มีรังสี ถ้าเรามีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม ถ้าใจของเราอยู่กับอดีตก็เหมือนกับเราบริโภคอาหารเก่า อาหารบูด อาหารเน่า อาหารเสีย เราพากันติดอยู่หลงอยู่ในอวิชชา ในความหลง เรียกว่าสัญชาตญาณ สัญชาตญาณก็ได้แก่ความยึดมั่นถือมั่น เป็นการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่จบที่สิ้น
อดีตที่ผ่านมาแล้วเราอย่าไปหลงอยู่จมอยู่ คนเราน่ะ อดีตที่ผ่านมาเอาคืนมาไม่ได้นะ อนาคตเราก็ไม่ต้องไปคิดถึงมัน เน้นปัจจุบันให้เต็มที่ เอาศักยภาพที่ประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ออกมาใช้งาน เอาศีลออกมาใช้มาปฏิบัติให้เต็มที่ เอาสมาธิออกมาใช้มาปฏิบัติให้เต็มที่ เอาปัญญาออกมาใช้มาปฏิบัติให้เต็มที่ อย่าไปหลง อย่าไปเซ่อ อย่าไปเบลอ ต้องรู้ตื่นเบิกบานในธรรมะอยู่ตลอดกาล เน้นลงที่ปัจจุบันนี้เดี๋ยวนี้ เพื่อให้เกิดรูปธรรม นามธรรม ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจนั้นไม่ได้เอาออกมาใช้ ออกมาประพฤติมาปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์ให้เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริงนะ
เราต้องเอาชีวิตที่ประเสริฐนี้มาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่ต้องตามสัญชาตญาณ ได้แก่การเวียนว่ายตายเกิด เรามามีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการมีศีลห้า ปัญหาต่างๆ ถือว่าไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาเพราะว่าเราเห็นแก่ตัว ปัญหาทุกอย่างนั้น หากใจของเราสบายเราสามารถหาแง่มุมที่จะแก้ปัญหาได้
คนเราคิดดีๆ นะ เกิดมาไม่ได้เอาอะไรมาด้วยนะ เวลาตายไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป เราต้องมีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม คนเราอยู่ดีๆ หัวมันไม่ปวดนะ ไม่เป็นโรคประสาทเป็นโรคเครียดนะ แต่เราไม่รู้จัก ไปหาเรื่องให้ตัวเองปวดหัว ชื่อว่ายังไม่ฉลาดนะ
การฝึกอะไรมันก็ไม่ยากเท่ากับการฝึกตนนะ การฝึกตนนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ทุกท่านทุกคนต้องตั้งอกตั้งใจสมาทานให้เต็มที่ เช่น ความคิดอย่างนี้เราจะไม่คิด ถ้าสิ่งไหนมันเป็นเรื่องของกามราคะ ตัณหา เพราะว่าเราบวชมาแล้วเราต้องไม่คิดเช่นนี้เป็นเด็ดขาด เช่น เราไม่พูดคำเท็จ โกหก หลอกลวง พูดคำหยาบ ส่อเสียด โอ้อวด ยกหัวชูหาง ยกตนข่มท่าน คำพูดอย่างนี้เราจะไม่พูดเป็นเด็ดขาดอย่างนี้นะ การกระทำของเราใดๆ ต้องเป็นไปในสิ่งที่ดี จะเป็นคนขยันหมั่นเพียร อดทน รับผิดชอบ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีให้ได้ จะเป็นคนไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ในความหลงความเพลิดเพลิน หลงหมกมุ่นจมอยู่ในกาม
ทุกคนต้องทำให้ได้ ทุกคนมันต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับตัวเองนี้แหละ ต่อสู้กับความเห็นแก่ตัว ต่อสู้จากคนไม่มีกินให้มีกิน ต่อสู้จากคนไม่มีสมาธิ ให้มีสมาธิ ต่อสู้จากคนไม่ปัญญาให้มีปัญญา ปัญญาจะเกิดได้จากการมีสมาธิ สมาธิจะเกิดได้จากการมีศีล เรียกว่า ศีลสมาธิปัญญา นี้คือความสุข ความดับทุกข์ของเรา นี้เป็นการหยุดไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศลถึงพร้อม ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าพระลูกศิษย์ไม่ได้มาต่อยอดอาจารย์ มันจะสลายไป ความดีๆ มันก็เป็นความฝันไป ภาคประพฤติภาคปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ เรียกว่า หลักการ เรียกว่า ศาสนา เราปฏิบัติตามใจตามความรู้สึก เขาเรียกว่า นิติบุคคลไป เป็นตัวตน ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ธรรมะ มันคือการก่อกรรมทำเวร ไม่มีศักยภาพอะไร มันอยู่ที่บุคคลนั้น ไม่ได้เป็นบุคคลตัวตน ถ้าใครเป็นบุคคลตัวตน จะทำให้ที่นั้นไม่เป็นสัปปายะ มันจะมีตัวตน
คนเราจะเก่งฉลาด เป็นธรรม มีคุณธรรม อยู่ที่ตรงนี้เอง ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เราต้องเสียสละ เพราะอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน จะเป็นฐานให้เราก้าวไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ปัจจุบันเราถึงมีสติมีสัมปชัญญะ มีทั้งศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน มันถึงทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้า ต้องมีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์ไปอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เป็นของง่ายขึ้น แล้วก็ปฏิบัติได้ ถ้าใจเราจะเข้มแข็งมันจะเข้มแข็งตอนนี้แหละ ถ้าใจเราตั้งมั่น มันตั้งมั่นตอนนี้แหละ เราจะปล่อยให้ความเคยชินไปตามอัธยาศัยไปไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นธรรมะ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น ทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติไปมันก็เลื่อนตำแหน่งไป ตามที่เราประพฤติตามที่เราปฏิบัติไป เพราะว่ามันจะสัปปายะ หรือไม่สัปปายะ มันอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา คนเราไม่มีใครปฏิบัติให้ใครได้ เพราะว่าเราก็ต้องหายใจของเราเอง คนเราจะปล่อยให้ตัวเองคิดผิดไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองมีอัตตาตัวตนไม่ได้ ต้องสละคืน ต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ มันจะชัดเจน
แต่ก่อนเราคิดว่ามันไม่สำคัญ นี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพากันจับหลักตรงนี้ให้ได้ ต้องเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องในปัจจุบันไปเรื่อยๆ อานาปานสติของเราต้องมีอยู่กับเราทุกอิริยาบถ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย เอาศีลเอาสมาธิ เอาปัญญามาใช่ มาประพฤติ มาปฏิบัติ มาใช้ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเราไป เปลี่ยนจากอวิชชาเป็นปัญญา เปลี่ยนจากดำเป็นขาว จากชั่วเป็นดี มันเป็นการสร้างเหตุสร้างปัจจัย เป็นการเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนภพภูมิ ทีนี้เราก็จะสว่างขึ้น ทุกคนก็อย่าไปหลงขยะ หลงเปลือก หลงกระพี้ เราต้องพัฒนาสัมมาทิฏฐิ ต้องพัฒนาพระพุทธเจ้า และพัฒนาการประพฤติการปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปหาธรรมะที่ไหนหรอก เพราะธรรมะอยู่ในตัวของเราที่เรายังมีชีวิตยังไม่ตายนี้ เพราะถ้าเราตายแล้ว เราก็หมดเวลา
ธรรมะคำสั่งสอนของพระศาสดาท่านว่า ขัด ขัดอะไร? โลกุตตระขัดโลกียะ ความเห็นชอบขัดความเห็นผิด ความบริสุทธิ์ขัดความไม่บริสุทธิ์เรื่อยไป
ฉะนั้น จึงมีอุบายที่ตามตำรากล่าวว่า สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนตรัสรู้นั้น ท่านไปรับข้าวจากนางสุชาดา เมื่อท่านทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงลอยถาดลงในน้ำ ธรรมดาน้ำมันไหลลง ท่านได้ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้ไหลลอยไปเหนือน้ำ แล้วถาดก็ลอยไหลไปเหนือน้ำ
ความจริงถาด ก็คือ ความเห็นชอบของพระองค์ท่านนั่นแหละ ผู้รู้หรือพุทธภาวะของท่านที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาแล้วนั้น ไม่ได้ปล่อยตามใจของสัตว์ แต่ไหลขึ้นไปทวนกระแสใจของท่าน ทวนขึ้นไปหมดทุกอย่าง ไม่ได้ไปฟังเสียงใคร ฉะนั้น พระธรรมเทศนาของพระองค์จึงทวนใจของพวกเราจนทุกวันนี้
โลภท่านก็ว่าไม่ให้โลภ โกรธท่านก็ไม่ให้โกรธ ให้ทำลายมัน อยากหลงก็ไม่ให้หลง ให้ทำลายมัน มีแต่เรื่องทำลายมันอย่างเดียว ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ท่านจึงทรงเชื่อแน่ว่า จิตของท่านนั้นทวนกระแสขึ้นไปนั่นเอง
มันทวนสัตว์โลกหมด ทวนกระแสสัตว์โลก สิ่งที่ว่าสกลร่างกายสวย ท่านว่าไม่สวย โลกว่าอันสกลร่างกายเป็นของเรา ท่านว่าไม่ใช่ของเรา อันนี้ว่าเป็นแก่นเป็นสาร ท่านว่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร ความเห็นชอบอย่างนี้เหนือ เหนือสัตว์โลกขึ้นไป สัตว์โลกนั้นตามลงมากับน้ำ
ต่อมา ท่านได้รับหญ้าคาจากโสตถิยะพราหมณ์แปดกำมือ ท่านทรงทำอธิษฐานเป็นบัลลังก์ เพื่อนั่งสมาธิว่า ถ้าไม่ตรัสรู้จะไม่ทรงลุกขึ้น แล้วท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนี้
ถ้าจะกล่าวเป็นธรรมาธิษฐานแล้ว หญ้าคาก็คือโลกธรรมแปดนี่แหละ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุขมีทุกข์ สรรเสริญนินทา เหล่านี้แหละ โลกธรรมแปดประการ หญ้าคาแปดกำมือ ฟังแต่ชื่อมันซิ หญ้าคา “คา” คาอะไร?
นักบวชของเราเมื่อบวชเข้ามา ก็ “คา” สิ่งเหล่านี้แหละ มาคาลาภ มาคาสรรเสริญ มาคาทุกข์ โลกทั้งหลายมาคาอยู่ที่นี่หมด
สมเด็จพระศาสดาจึงทรงอธิษฐานเป็นบัลลังก์ นั่งทับลงไปด้วยสมาธิธรรม อาการที่นังทับคือสมาธิ นั่งทับคือจิตของท่านเหนือกว่าโลกธรรม จิตในขณะนั้นเป็นโลกุตตรธรรมทับโลกียธรรมไว้ แต่ก็ยังเกิดเป็นมารต่างๆนานามาหลอกล่อ ซึ่งความจริงก็เป็นอาการของจิตนั่นเอง จนกระทั่งท่านได้ตรัสรู้ธรรม ก็ได้ชนะมารในที่นั้น
ชนะคือชนะโลกนี่เอง ไม่ใช่ชนะอะไรอื่นไกล ฉะนั้น ท่านจึงทรงเจริญมรรคในที่นั้น มรรคจึงฆ่าโลกธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ธรรมดาบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีชัยชนะเหนือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความชนะในด้านใดก็แล้วแต่ เช่น ชนะในการแข่งขันกีฬา ชนะในการแข่งขันด้านธุรกิจ ชนะเหล่าอมิตรศรัตรู เป็นต้น
มันเป็นธรรมดาของคน เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของคน เพราะเมื่อมีชัยชนะ หรือรู้สึกว่าตัวเองมีชัยชนะเหนือคนอื่น ย่อมจะเกิดความภาคภูมิใจขึ้นมา มีความกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นมา มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าคนอื่น
แต่ถ้าพ่ายแพ้ หรือรู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ ย่อมจะมีความเสียใจ มีความทุกข์ใจ มีความหดหู่ใจตามมาเป็นแน่แท้ ดังนั้น โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ทุกคนต้องการชัยชนะ ต้องการชนะคนอื่น
ทุก ๆ คนมัวแต่มุ่งหวังจะชนะคนอื่น ซึ่งเป็นการชนะภายนอก เป็นการชนะที่ไม่ยั่งยืน เป็นชัยชนะที่ก่อความสุขให้ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นชัยชนะที่สร้างความสุขให้ฝ่ายหนึ่งแต่สร้างความทุกข์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง
แต่จะมีสักกี่คนที่พิจารณาเห็นความจริงข้อนี้ ความจริงที่ว่า ชัยชนะภายนอกหรือชัยชนะทางโลกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วครั้งชั่วคราว
ในทางพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า “อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย” ชนะตนนั่นแหละเป็นดี
คำว่า “ชนะตน” หมายถึง ชนะใจตนเอง ชนะกิเลสที่หลอกให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง เพราะโดยธรรมดา มนุษย์เราแพ้กิเลสอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่เราเอาชนะในการแข่งขันกีฬา เราดีใจ แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความหลง
ในขณะที่เราชนะคู่แข่งทางธุรกิจ เรากระหยิ่มยิ้มย่อง แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความโลภ
ในขณะที่เราได้ชัยชนะจากการสู้รบปรบมือกับศรัตรูคู่อาฆาต เราสะใจ แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความโกรธ
จะเห็นได้ว่า ชัยชนะภายนอก หรือชัยชนะในทางโลก ไม่ว่าเราจะชนะอะไร ชนะใคร ชนะในเรื่องใดก็ตาม เรายังพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การชนะภายนอกนั้นจึงถือว่าเป็นชัยชนะที่ไม่ประเสริฐอะไร เป็นแต่เพียงการชิงดีชิงเด่นกันตามกระแสโลกเท่านั้น ชนะแล้วก็กลับแพ้ได้ ไม่แน่นอน
แต่การชนะใจตัวเอง หรือการชนะกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจของเรานี่สิ ถึงจะถือว่าเป็นชัยชนะที่ประเสริฐ
เมื่อใดเราเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่คอยกัดกร่อนจิตใจของเราได้แล้ว เมื่อนั้น ชัยชนะทางโลกอื่น ๆ ก็จะไม่อยู่ในความคิดของเราอีกเลย กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย
และเราจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะที่แท้จริง ไม่ต้องกลับมาแพ้อีกต่อไป และจะได้รับความสุขที่ถาวร
“เวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก ให้สอนตนเอง ไม่ต้องพยายาม ไปสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น”
"..การตั้งไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ "ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น" ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้
ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอเรียกว่า สติ "สตินั่นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน" สติอันนั้นเมื่อมันมีความรู้สึกขึ้นปัญญาก็จะวิ่งมา "ถ้าสติไม่มีปัญญาก็เลิก ไม่มี"
ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ "ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัย" อย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ไปไหนก็ไม่จบ แต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้"
หลายปีที่แล้วมา หลวงพ่อชาไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะฝ่ายมหายานมาถามหลวงพ่อชา เรื่อง การปฏิบัติ ว่า "คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์กับคนที่ปฏิบัติ เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนจะสูงกว่ากัน"
หลวงพ่อชา ตอบว่า "อย่าเป็นอะไรเลย พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็นเลย แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที"
นั่นคือ อย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เพราะถ้าเป็นคนดี แล้วต้องรำคาญคนไม่ดี ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เลิกแล้วก็ดูคนอื่นสูบ นี่เรียกว่า ติดดี ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดี ท่านก็ไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ
ทำความดีเพื่อความดี... ทำความดีเพราะรักความดี... แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี เพราะถ้าเราเป็นคนดีแล้วจะเป็นทุกข์
เพียงแค่เห็นคำว่า "อย่าเป็นคนดี" ก็รู้สึกถึง ใช่หรือ ? แล้วสิ่งที่เราเพียรทำทุกวันนี้ล่ะ
"การทำความดีเพื่อเป็นคนดี" กับ "การทำความดีเพื่อความดี"
คำแรก ... ทำให้เกิดคำว่า ติดดี
คำหลัง ... เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด ทำแล้วไม่ทุกข์ใจ ทำด้วยความสุขที่เต็มเปี่ยมหัวใจ
“จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”