แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกคนถ้ามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เเล้วมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าหา เราจะได้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เพราะความเป็นมนุษย์จะเป็นได้ ก็เพราะ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เเละก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมือนอย่างท่านพุทธทาสประพันธ์ไว้ว่า เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง...
๑. คนนรก (นนุสสเนรยิโก) ได้แก่คนที่ทุกข์ทรมานทางใจ หาความสงบสุขมิได้ ความร้อนเป็นสัญลักษณ์ของนรก คนที่มีความร้อนในใจแสดงว่ากำลังตกนรก เสวยผลของความชั่วที่ตัวได้กระทำไว้
กวีท่านหนึ่งบรรยายคนตกนรกทางใจไว้กินใจมาก ขอคัดลอกมาดังนี้
คฤหาสน์หลังนั้น ดังนันทวันสวรรค์สถาน
แต่เจ้าของอาคาร ทรมานร้อนเร่าเน่าในใจ
กลืนข้าวดั่งกลืนอิฐ พิษบาปปลุกแลบแสบไส้
นั่งเบนซ์คันโก้ใหญ่ ดังอยู่ในกองไฟอเวจี
นั่นไหนจะเป็นสุข นอนไหนจะไม่ทุกข์แทบดิ้น
สนิมเกาะหัวใจกิน ยินเถอะเสียงกู่ของหมู่มาร
๒. คนเปรต (มนุสสเปโต) เปรตคือสัตว์ชนิดหนึ่งที่หิวโหยทรมานเพราะบาปกรรมที่ทำไว้ ต้องรอคอยผลบุญที่คนอุทิศให้ คนเปรตก็คือคนที่ไม่รู้จักทำมาหากิน ได้แต่แบมือขอคนอื่นกิน ลูกเศรษฐีไม่เอาถ่านก็เรียกเปรต คนยากจนที่เที่ยวขอทานเขากินก็เรียกว่าเปรต คนที่มีกินมากมาย แต่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หิวตลอดเวลาก็เรียกว่าเปรต
๓. คนเดรัจฉาน (มนุสสติรัจโน) คือคนที่มีความคิดแค่เดรัจฉานนั่นแหละครับ ท่านเคยเลี้ยงหมาไหม หมานั้นเมื่อมันอิ่มแล้วก็นอน เมื่อมีคนหรือสัตว์อื่นเดินผ่าน มันจะเห่าขู่ แสดงว่ามันกลัว ถ้าไม่กลัว มันจะขู่ทำไม พออาหารย่อยดีแล้วก็วิ่งหยอกล้อเพื่อนฝูง หรือเที่ยวสัดเที่ยวเสพตัวเมียตามประสาหมา หรือบรรดาหมาที่หยอกล้อกันฉันมิตรนั้น ใครอยากเห็นมันกัดกันไม่ยาก ลองโยนกระดูกไปสักชิ้น มันจะกัดกันทันที
เดรัจฉานมีความคิดแค่ “กิน เกียจคร้าน กลัว และกาม”
๔. คนมนุษย์ (มนุสสมนุโส) หมายถึงคนที่มีจิตใจสูง มีศีลห้าธรรมห้าครบถ้วน ศีลห้าธรรมห้าไม่จำเป็นต้องแจกแจงว่ามีอะไรครับ เราเรียนมาตั้งแต่โรงเรียนประถม-มัธยมแล้ว ใครมีครบบริบูรณ์ก็เรียกว่าเป็นคนมีจิตใจสูงหรือมนุษย์ ถ้าทำไม่ได้หรือได้กะพร่องกะแพร่งก็อย่าเที่ยวคุยว่าข้าเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มิได้เป็นง่ายๆ ดังที่คิดดอก
พระพุทธองค์ตรัสว่า “เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากเย็น” ที่เห็นคอหยักๆ นั้นก็ “สักแต่คน” เท่านั้น มิใช่ “มนุษย์” ในความหมายของท่านดอกครับ
ท่านที่เคยบวชพระคงจำได้ว่าขณะที่เรากล่าวขอบวชนั้น พระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) จะถามท่านคำหนึ่งในหลายคำถามว่า “มนุสโสสิ” (เธอเป็นมนุษย์หรือเปล่า) ถ้าเราไม่ฉุกคิดก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ! ก็เป็นมนุษย์ เห็นๆ อยู่ มิใช่หมาแมวที่ไหน ทำไมต้องถาม
นี่แหละ คือเงื่อนงำที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา เพียงมองเห็นคอหยักๆ สักแต่ว่าคน ก็ไม่แน่ว่าจะเป็น “มนุษย์” (ผู้มีจิตใจสูง) ขืนบวชเปรต บวชสัตว์นรก เดี๋ยวพระศาสนาจะวุ่นวาย
๕. คนเทวดา (มนุสเทโว) หมายถึงคนที่มีคุณธรรมสองประการคือ หิริ (อายชั่ว)โอตตัปปะ (กลัวบาป) หิริทำให้คนหน้าบาง ไม่กล้าทำชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง โอตตัปปะทำให้คนกลัวบาปกรรม จะทำชั่วก็ไม่กล้า เพราะนึกถึงไฟนรก คนชนิดนี้แหละ เรียกว่ามีคุณธรรมของเทวดา
๖. มนุษย์พรหม (มนุสสพรหมา) ท้าวมหาพรหม หัวใจเช่นใดมีพรหมวิหาร มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หัวใจว่างไม่มีอะไร เหมือนกะอากาศนี้แหละ ว่างเปล่าหมด เหลือแต่รูปจิต อรูปจิต ดับขันธ์ไปเป็นพรหม
๗. มนุษย์อริยะ มีหิริมีโอตตัปปะ มีสุกกะธรรม ธรรมะที่ขาวสะอาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ดั่งเช่นพระอริยสาวกทั้งหลาย
๘. มนุษย์อรหันต์ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระอรหันต์ คือละกิเลส ละตัณหา กิเลสคือใจเศร้าหมอง ตัณหาคือใจทะเยอทะยานดิ้นรนกระวนกระวาย ท่านละกิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหาอุปาทาน ภพชาติ ละขาดในสันดาน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจ เมื่อดับขันธ์ไปก็เข้าสู่นิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
๙. มนุสสพุทโธ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรานี้ ว่าเรื่องภพเรื่องชาติของท่าน บิดามารดาของท่านก็มี บุตรภรรยาท่านก็มี ท่านเป็นมนุษย์ครือเรานี่แหละ แต่ท่านประพฤติปฏิบัติ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีบุคคลผู้ใดหรือใครแนะนำพร่ำสอน รู้ด้วยตนเองเป็นสัมมาสัมพุทธะ รู้แจ้งแทงตลอดหมดซึ่งสารพัดเญยยะธรรมทั้งหลาย ไม่มีที่ปกปิด
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อเข้าถึงมรรคผลพระนิพพาน ทุกท่านทุกคนต้องเข้าถึงธรรมะ เพราะโลกเรานี้ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ สำคัญที่สุดคือความยุติธรรม ความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่เพื่อของหมู่มวลมนุษย์ ที่จะหยุดเวียนว่ายตายเกิดขึ้นธรรม ละเสียซึ่งนิติบุคคล เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกท่านพากันมาเข้าคอร์ส ปฏิบัติธรรม ทุกท่านทุกคนพากันมีความสุข ต้องสมาทานในการคิดดีๆ พูดๆ กิริยาดี สละซึ่งตัวซึ่งตน ฝึกเข้าใจเข้าให้มีความสุข หายใจเข้าให้รู้ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้กลับมาหาธรรมะ กลับมาหาความสงบ กลับมาหาความดับทุกข์ เพราะเราวิ่งตามอย่างนี้มันไม่ได้ มันเป็นสัมภเวสี เราต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ เราทำได้ทุกอิริยาบถ เราต้องเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 เราเอาสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ นี้มีอยู่ที่อริยมรรคมีองค์ 8 ที่หมู่มวลมนุษย์มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ นี้คือความดับทุกข์
ความเห็นเเก่ตัวของเราทำให้เราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต เราถึงมีเเต่สักกายทิฏฐิ เรามีเเต่ตัวมีเเต่ตน การมาประพฤติมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ดี เพราะเรารู้แล้ว เราก็เข้าใจ เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เอากลับไปใช้ในที่ทำงานในครอบครัว ในสังคม ความรู้ต้องคู่กับการประพฤติการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจนหายใจออกก็รู้ชัดเจน พากันมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็ท่องพุท หายใจออกก็ท่องโธ เป็นสภาวะธรรมที่ปราศจากตัวตน เราทำทุกอย่างเพื่อไม่เอาเพื่อไม่มีเพื่อไม่เป็น เรามามีความสุขในการปฏิบัติ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
เวลาเรานั่งสมาธิ ก็เข้าใจสมาธิคืออะไร สมาธิคือความตั้งใจมั่น ต้องเสียสละทั้งหมด ถ้าไม่เสียสละทั้งหมดมันก็เป็นนิวรณ์ มาอยู่กับอานาปานสติ ความปราศจากตัวตน หายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโธ เราอย่าไปคิดว่าเราจะเอาอะไร เพราะทุกอย่างนั้นมันไม่มีอะไรได้ อะไรเสียอยู่เเล้ว เพราะทุกอย่างมันผ่านไปผ่านมา ถ้ามันจะมีก็เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เมื่อเรามีความหลงก็ย่อมมีสิ่งที่เกิด เราพยายามเข้าใจเรื่องพระศาสนา สิ่งที่เป็นอดีตเราต้องละมันเป็นเลขศูนย์ อนาคตก็คือปัจจุบันนี้เเหละ มนุษย์เราต้องพัฒนาทั้งเรื่องการดำรงชีพที่ไม่เป็นบาป เเละ พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่า ทางสายกลาง ถึงยังไงเราก็ต้องเเก่เจ็บตายพลัดพราก ความเป็นธรรม ความยุติธรรมก็ต้องเกิดเเก่มวลมนุษย์ ถ้าเราพัฒนากันเเต่ความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้ยังไม่พอ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ระบบภาพรวมของครอบครัว ของสังคม ของประเทศชาติก็จะได้เข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่หลงมั่วเมามีเเต่สติ มีเเต่สัมปชัญญะ มีเเต่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ทุกท่านทุกคนพากันปฏิบัติอย่างนี้
สังขารร่างกายของเราทุกๆ คน ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป สภาวะธรรมของสังขารก็คือดินน้ำลมไฟ อากาศธาตุ ที่เราเกิดมาต้องมีภาระที่จะดูเเลรักษา ไม่ถึงร้อยปีก็จากโลกนี้ไป เราต้องพากันสู่กระบวนการเเห่งความเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตเดินตามธรรมะ เอาธรรมะเป็นหลัก มนุษย์เราไม่อาจทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองได้ เพราะมันคือการเวียนว่าย ต้องเอาธรรม เอาความยุติธรรม เอาความถูกต้อง ชีวิตของเราต้องเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ตั้งเเต่ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ไม่ดีทางจิตใจ ต้องตายไปจากเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ ต้องตายจากเรา พระพุทธเจ้าท่านตายสองครั้ง อันนึงกิเลสตาย อันนึงร่างกายตาย
การเรียนการศึกษากับการปฏิบัติมันไปพร้อมกัน เพราะการเรียนการศึกษา กับการปฏิบัติต้องไปพร้อมกัน เราจะได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยีในการดำรงชีพ เเละ พัฒนาทั้งในไปพร้อมกัน เพราะว่าหมู่มวลมนุษย์ที่ร่างกายเป็นมนุษย์ เเต่ว่าจิตใจยังไม่ได้เป็น ถ้าจะเป็น ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ทุกท่านทุกคนต้องรู้จัก เน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตอยู่ที่ปัจจุบันนี้เเหละ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี ทุกท่านทุกคนก็จะเข้าถึงธรรมะ ตั้งเเต่ยังไม่ตาย เราทานอาหารเรียกว่า ให้อาหารกาย กิน นอน พักผ่อน อาหารใจก็คือ ความคิด คือ อารมณ์ ที่ว่ามีเซ็กซ์ทางความคิด มีเซ็กซ์ทางอารมณ์ อาหารที่เราจะบริโภคเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ไม่หลงเหยื่อ ใจของเราจะสงบลง เเล้วเราจะไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ชีวิตเรามันจะได้เข้าถึงความสงบความเย็น อิริยาบถที่เราไม่ได้ทำงาน เราต้องมีอานาปานสติไว้เป็นหลัก เเล้วเราทำงานเราต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ
“คนเราทุกคนต้องมีเครื่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาสญาติโยม ให้ลองสังเกต คนในสังคมทั่วไป เขาไม่อาจปล่อยจิตให้อยู่ลำพังได้นาน บ้างก็จะออกไปห้างสรรพสินค้า จิตก็จะไปจับอยู่ที่การช็อปปิ้งบ้าง ผู้ชายอาจจะไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน จิตจะได้เกาะอยู่กับวงสนทนาบ้าง บางคนก็ใช้การดูทีวี บางคนก็ใช้การฟังเพลง บางคนก็ใช้การท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างๆ นานา ... คือยังไม่มีหลักธรรมที่ชัดเจน จิตยังเคว้งคว้าง หาเครื่องอยู่ที่ถูกต้องไม่ได้ คล้ายจิตเป็นอนาถา ธรรมชาติของจิตมันว่องไว จึงต้องหาอะไรเกาะยึดอยู่เสมอ และคนส่วนมากยังปลีกวิเวก ทำจิตสงบกันไม่เป็น จึงหาเครื่องอยู่อันประเสริฐยังไม่ได้”
อย่างสุนัขใช้การนอนกลางวัน เป็นเครื่องอยู่ ฯลฯ ไปถึงผู้คนทั่วไป บางคน อาศัยการเตรียมอาหารเพื่อใส่บาตรทุกเช้า เป็นเครื่องอยู่ ลูกชายมหาเศรษฐี ใช้การสะสมเครื่องบินเล็ก บังคับวิทยุ เป็นเครื่องอยู่ คุณย่าคุณยาย อาศัยการดูแลรับส่งหลานอย่างใกล้ชิดเป็นเครื่องอยู่ แม่ค้าตามตลาด อาศัยหวยรัฐบาล เป็นเครื่องอยู่ เดือนละ ๒ หนก็ยังดี บางคนอาศัยการบริหารพอร์ทหุ้นเป็นเครื่องอยู่ คนไฮโซบางคนอาศัยการบริจาคงานการกุศล ได้ออกทีวีเป็นที่รู้จักกว้างขวาง เชิดหน้าชูตา เป็นเครื่องอยู่ สาวกลัทธิเมาบุญ อาศัยความงมงายได้เห็นมโนนินิต ยึดติดตามอุปาทานหมู่ ตู่เสมือนได้นิพพาน จึงบริจาคทานเต็มตัว การสะสมบุญตุนเสบียง เป็นเครื่องอยู่ของพวกเขา และอื่นๆ อีกมากมายที่ต่างมี "เครื่องอยู่" เป็นของตัวเอง
เท่าที่สาธยายมา ก็เห็นแต่ "เครื่องอยู่" ในทางโลกอันสวนทางพระนิพพานเสียเป็นส่วนมาก แล้วอะไรล่ะ คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ (วิหารธรรม) ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ?
พุทธดำรัสตอบ... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพพาชกผู้ถือลัทธิอื่นจะพึงถามเธอทั้งหลายว่า...พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนเป็นส่วนมาก เธอทั้งหลายพึงตอบอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิ อันประกอบด้วยอานาปานสติมาก...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก... ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ...พึงกล่าวถึงสมาธิอันประกอบด้วยอานาปานสติว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ของพรหมบ้าง ของพระตถาคตบ้าง ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิอันประกอบด้วยอานาปานสติอันภิกษุนั้นเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ.” (อิจฉานังคลสูตร)
ว่าโดยง่ายคือใช้สุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่นั่นเอง... ใช้ได้ดีทั้งพระหรือฆราวาสก็ตาม อย่าคิดว่า พุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ จะเป็นแนวทางเฉพาะแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แท้ที่จริง เครื่องอยู่ชนิดนี้เหมาะสมกับทั้งพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา) โดยเสมอกันนั่นแหละ พระพุทธเจ้ายังปรารภไว้ด้วยว่า ยิ่งกับคฤหัสถ์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกกิเลสรุมเร้า ยิ่งจำเป็นจะต้องมีสุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่มากกว่าพระเสียอีก... เปรียบประดุจเตาหลอมเหล็กกล้าอันร้อนแรง ยังมีสุญญตา (ความว่าง) อยู่ใจกลางเตาหลอมนั้น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงนั่นเอง
คำว่า “สุญญตาวิหาร” ก็แปลว่า การเข้าอยู่ในสุญญตา.
สุญญตา แปลว่า ภาวะของจิตที่ว่างจากกิเลส; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่างจากความรู้สึกว่า... เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา, ภาวะที่ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นตัวตน หรือของตนนั้น เรียกว่า... สุญญตา. ถ้าจิตเข้าไปอยู่ในภาวะอย่างนั้น เรียกว่าอยู่ในสุญญตาวิหาร.
แต่มีคำอธิบายที่ละเอียดพิสดาร มากไปกว่าที่จะพูด สั้นๆ ลุ่นๆ ว่า... ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ; เพราะเหตุว่า... ท่านเพ่งเล็งถึงความหมายของคำว่า “ว่าง” เป็นหลักใหญ่. เราควรจะเข้าใจคำว่า “ว่าง” กันเสียให้สมควรก่อน. คำว่า “ว่าง" นี้ ถ้าทางวัตถุก็คือว่างชนิดไม่มีอะไร; ว่างทางจิตใจ ก็หมายความว่า อะไรๆ ก็มีอยู่ตามเดิม แต่ว่างจากสาระที่ควรจะเข้าไปยึดมั่นสำคัญมั่นหมายว่า... เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา; คำว่า “ว่าง” ในทางธรรมเป็นอย่างนี้.
คำว่า “ว่าง” ในทางโลกหมายความว่าไม่มีอะไรเลย.
แม้คำว่า จิตว่างในทางธรรม ก็มิได้หมายความว่า… จิตไม่ได้คิดได้นึกอะไรเลย; จิตยังรู้สึกอยู่ตามเดิมทุกประการ, เพียงแต่ว่า จิตไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน หรือของตน เท่านั้น. มันมีความรู้สึกนึกในหน้าที่การงาน หรือในวิชาความรู้ในสิ่งต่างๆ ได้; ว่างอย่างเดียวแต่ความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนเท่านั้น.
เกี่ยวกับคำว่า “สุญญตวิหาร” นี้ เราควรจะเข้าใจคำว่า “ว่าง” กันให้ชัดเจนเสียก่อน ไปตามลำดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่า : ดูก่อนอานนท์, ในกาลก่อนก็ดี ในกาลบัดนี้ก็ดี ตถาคตอยู่มากด้วยสุญญตาวิหาร. นี้เป็นประโยคแรกที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสในสูตรนี้ ว่า... เดี๋ยวนี้ก็ดี ที่แล้วๆ มาก็ดี ตถาคตใช้เวลาส่วนมาก ให้ล่วงไปด้วยสุญญตาวิหาร; หมายความว่า... อยู่ด้วยความรู้สึกของจิตที่มิได้กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความเป็นตัวตน, หรืออยู่ด้วยมีความหมายอันประกอบไปด้วยคุณค่า อย่างใดอย่างหนึ่ง.
อานาปานสติเป็นอุบายชั้นเลิศของการอยู่ในสุญญตาวิหาร... เพราะลมหายใจ ติดตัวเราไปอยู่ในทุกขณะ ทุกสถานที่ เราอาจจะลืมโทรศัพท์มือถือ หรือเอกสารสำคัญ ก่อนออกจากบ้าน แต่เราไม่เคยลืมที่จะเอาลมหายใจไปด้วยเสมอ
อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ของสติ ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าสู่ความว่างได้ทั้งในยามหลับตาหรือลืมตา ทั้งในอิริยาบถที่นิ่งเฉย (เช่นขณะนั่งสมาธิ) หรือ ในอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหว
เครื่องอยู่ชนิดนี้มีกันทุกคน เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ใครใช้เป็นแล้ว จะไม่เหงา เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แม้จะอยู่วิเวกโดยลำพังก็ตาม (คนเมืองให้ลองสังเกตดู พวกท่านอาจกำลังเหงาสุดขั้วหัวใจ แม้ขณะอยู่ท่ามกลางผู้คน เพื่อนฝูง และเสียงดนตรีคลอเคล้า ก็ได้?) เครื่องอยู่ชนิดนี้ยังไม่ต้องอิงอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม ไม่ต้องอาศัยผู้คน ญาติมิตร ทั้งไม่ต้องใช้สตางค์แม้แต่บาทเดียว
เป็นไปตามพุทธพจน์จริงๆ “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นนอกเหนือจากความสงบไม่มี” และเครื่องอยู่ชนิดนี้แหละ ที่พัฒนาหัวจิตหัวใจของคนเรา ให้ยกระดับดีกรีที่สูงขึ้น ละเอียด ปราณีตยิ่งๆ ขึ้น จนเริ่มสังเกตเห็นด้วยตัวท่านเองแล้วว่า... ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มันค่อย ผ่อนคลาย จืดจาง เบาบางลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งสิ้นทุกข์ อย่างไม่เหลือวิสัยเลยทีเดียว
เราใช้ชีวิตประจำวัน เราก็ต้องกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิเช้าเย็น ประชาชนก็กราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ แต่การปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติทุกที่มันต้องมีอยู่ตลอด วัตถุสมัยใหม่ก็ต้องรู้จักสำหรับประชาชน พวกโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต social media พวกนี้เราต้องใช้ให้เกิดปัญญา เราอย่าเป็นคนไม่มีปัญญา อย่าไปหลงในรูป ในเสียงอะไรต่างๆ สำหรับพระละก็ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ต ความวิเวกก็ไม่มี เราต้องฝึกใจนะ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เราจะเป็นคนขาลง กายของเรามันก็จะไม่วิเวก ใจเราไปอยู่กับสิ่งภายนอก ไม่ได้ฝึกอานาปานสติ ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้
คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เพราะเราหยุดวัฏสงสาร เราหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือ สมัยนี้มันอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก ทางจิตใจ นี้เราบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิ ทุกท่านทุกคนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็งมันเป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษให้ภัยในวัฏสงสาร
เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนา ความสุข ถ้าหลงในความสุขมันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่ เราต้องมีสัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เราจะได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราจะรู้ว่าปฏิบัติยังไง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งของเรานี้ คือการปฏิบัติ เราอย่าไปอาลัย อาวรณ์ ให้คิดว่าชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อเติมเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนว่าเดี๋ยวก่อนๆ
มันไม่ได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลิน เราทุกคนนะ ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่การเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหาให้ ผู้ที่เป็นคนรวย หรือว่าเป็นเทวดา ผู้ทรงฤทธิ์ทรงอภินิหาร มันก็ต้องหมดบุญ เพราะว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ความสุขของมนุษย์มันถึงอยู่อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้บอก เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุขกัน เราจะไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราเอาอิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ปฏิบัติสม่ำเสมอ
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ การเรียนการศึกษาที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาเสียสละ การดำรงชีพ การทำมาหากิน มันต้องพัฒนาใจพร้อมๆ กันไป มันจะไปเอาเเต่ทางโลก ทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตมันต้องประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ใจของเราต้อง มีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติการปฏิบัติ เป็นศีลสมาธิ ปัญญาในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะไม่มีความสงสัยเลยว่า ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันจะเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะมันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะทุกอย่างมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เกิดมา เราจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม เราก็พากันปฏิบัติอย่างนี้เเหละ เพราะเราทุกคนเกิดมาเพื่อมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ผู้เป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่ พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามี โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ
วันเวลา ผ่านไป ให้หยุดคิด เพียงสักนิด ว่าเรา จะไปไหน
ถามใจดู ถามให้รู้ จากภายใน ถ้าตอบได้ ก็จะรู้ อย่าดูนาน
เพราะเวลา ไม่มี ให้นานนัก หากมัวรัก ผูกใจ หลายสถาน
เหมือนติดบ่วง รัดไว้ ทุกวันวาร เพราะบ่วงมาร ร้อยรัด มัดโดยตรง
มาคนเดียว ไปคนเดียว คือจริงแท้ อย่ามัวแต่ ยึดไว้ ใจลุ่มหลง
สัจธรรม คือธรรมะ พระพุทธองค์ ยังมั่นคง มิแปรผัน ชั่วกาลนาน ฯ