แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๗ พิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่งาม ตื่นตัวทำความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สติสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติคือความระลึกรู้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมที่ปัจจุบัน เราจะได้คอนโทรลตัวเอง อานาปานสตินี้ ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติ หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกก็สบาย เราควรจะปฏิบัติ ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ เพื่อเราจะได้ฝึกสติ ฝึกสัมปชัญญะ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นท่านถึงให้ท่องพุธโธอยู่ตลอด เพื่อจะได้ไม่ลืมเนื้อ ไม่ได้ลืมตัว การบรรลุธรรมนี้ถึงบรรลุด้วย ๒ อย่าง คือบรรลุด้วยปัญญา พร้อมด้วยการปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่งก็บรรลุด้วยจิตใจ คือเจโตวิมุติ
"บางคนทำสมาธิยาก" เพราะอะไร เพราะจริตแปลกเขา "แต่ก็เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่ได้รับความสบายเพราะสมาธิ แต่จะได้รับความสบายเพราะปัญญา" เพราะปัญญา ความคิด "เห็นความจริงของมัน แล้วก็แก้ปัญหาถูกต้อง เป็นประเภทปัญญาวิมุตติ ไม่ใช่เจโตวิมุตติ" มันจะมีความสบาย ทุกอย่างที่จะได้เกิดขึ้น เป็นหนทางของเขาเพราะปัญญา
"สมาธิมันน้อย" คล้ายๆ กับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิพิจารณา "อันนั้นเป็นอะไรหนอ" แล้วแก้ปัญหาอันนั้นได้ทันที เลยสบายไป เลยสงบ "ลักษณะผู้มีปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น" ทำสมาธินั้นไม่ค่อยได้ง่ายและไม่ค่อยดีด้วย "มีสมาธิแต่เพียงเฉพาะเลี้ยงปัญญาให้เกิดมีขึ้นมาได้" โดย มากอาศัยปัญญา ..
.. "บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไว แต่ไม่ค่อยมีปัญญา" ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย "ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้" พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ .. "
"นอกเหตุเหนือผล" หลวงปู่ชา สุภทฺโท
พวกที่มีสติ มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมมันจะตัดเรื่องอดีต และจะตัดเรื่องอนาคต เราจะได้จัดการตัวเองในปัจจุบัน เราจะเป็นได้ทั้งความสงบ เป็นได้ทั้งถึงปัญญา ในปัจจุบัน เรียกว่าสมถะ และวิปัสสนา เวลาเราไปทำงานใจของเราต้องอยู่กับงานเหล่านั้นในปัจจุบัน เราจะได้ปฏิบัติติดต่อ ต่อเนื่อง ใจของเราจะได้มีความสุขในการทำงาน ตามอริยมรรค ที่ในปัจจุบัน เราต้องตั้งใจ เราต้องสมาทาน ถ้าเราไม่ตั้งใจ แสดงว่ามันล้ม ล้มนี้ก็หมายถึงภาชนะที่เราใส่น้ำ ถ้ามันล้มแล้ว เราไม่ได้ตั้งอย่างนี้มันก็เก็บน้ำไม่ได้ เรารักษาศีลถึงเป็นการสมาทาน เป็นการตั้งใจ มันถึงจะเกิดสัมมาสมาธิโดยธรรมชาติ ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์มันถึงจะเกิดได้ มีได้ ในปัจจุบัน ร่างกายของคนเรานี้มันไม่รู้อะไรหรอก เพียงแต่รับผัสสะ รับอะไรเฉยๆ เราต้องเน้นที่จิตที่ใจ เราต้องบังคับตัวเอง ทบทวนตัวเอง อันนี้มันเป็นเรื่องความสงบ เป็นเรื่องความเย็น มันเรื่องสติ เรื่องปัญญา มันมีความสงบ มีความวิเวก มันเป็นสิ่งที่ปราศจากกาม ถ้าเราเอาตั้งแต่สติสัมปชัญญะ เอาตั้งแต่อานาปานสตินี้ หรือเอาแต่พุธโธนี้ก็มันก็ได้แต่สติ ได้แต่สัมปชัญญะ ได้ตั้งแต่พุธโธ มันยังไม่เพียงพอ
พระพุทธเจ้าถึงให้ภิกษุ สามเณร พุทธบริษัททั้ง ๔ รู้จักพิจารณาร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ ให้แยกสรีระร่างกายออกมาเป็นชิ้นเป็นส่วน จากร่างกายจิตใจ เช่นเอาผมออก ก็จะเหมือนกับพระภิกษุสามเณร ที่ปลงผมออก เหมือนกับภิกษุณี คุณแม่ชี เหมือนกับสิกขมานา สามเณร สามเณรี ก็จะเป็นผู้มีศรีษะโล้น ถ้าเราเอาหนังออกหมดอย่างนี้ มันก็ไม่รู้ว่าเป็นใครหรอก ถ้าผู้ที่ไม่ได้เป็นแพทย์ เป็นพยาบาลก็ไม่รู้ว่าโครงสร้างนี้เป็นผู้หญิง ผู้ชาย พระพุทธเจ้าให้เรารื้อสรีระร่างกาย ออกให้เป็นชิ้นเป็นส่วน รื้อออกให้มันครบ อาการ 32 ทำอย่างนี้แหละ สำหรับพระภิกษุ สามเณรแม่ชี นักบวชหญิงอย่างนี้น่าจะทำ วันหนึ่งซัก 2-3 ครั้ง เพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้ถอดความยึดมั่น ถือมั่น ว่าเราเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นผู้หญิง ว่าเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นประชาชนที่ไม่ได้บวชนี้ก็ น่าจะตอนกลางคืนก่อนนอน ก่อนพักผ่อน น่าจะพิจารณาทุกๆ วัน
เช่นว่า การพิจารณากายต้องพิจารณาติดต่อ ต่อเนื่อง อย่างคนเรามันมองเห็นคนอื่นสวย หล่อ เพราะว่ามันเห็นแต่ภายนอก เห็นแต่เฟอร์นิเจอร์พระพุทธเจ้าถึงให้ตาเรามองไปกำหนดให้เห็นโครงกระดูก ผู้หญิง ผู้ชายเดินได้ ทั้งภายนอกและภายใน เราต้องทำอย่างนี้ ให้มันติดต่อต่อเนื่อง ต้องติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน เหมือนไก่มันฟักไข่อย่างนี้ อารมณ์ที่เป็นจริตเราต้องรู้จัก จากภาวนา ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติแก้ตนเอง ให้รู้จักภาวนา องค์ภาวนา ต้องอาศัยสติ อาศัยสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านนี้มันจะทำอะไรไม่ได้ เราต้องพากันทำ ผู้หญิงมันสวยที่ไหน ผู้ชายมันหล่อที่ไหน เราต้องรู้จัก เราอย่าไปมองที่มันสวยที่มันหล่อสิ หลวงพ่อชาถึงคุยกับพระฝรั่งว่าจะให้ ชอบผู้สาวคนนั้นที่สวยที่รักกันเขียนจดหมายไปหานะ บอกเขาว่าให้ส่งอุจจาระใส่ตลับส่งมาอย่างนี้ หลวงพ่อชาบอกว่าเวลาคิดถึงเมื่อไหร่จะได้เปิดอุจจาระออกมาดมดู หรือว่าเสลดของเรา น้ำลาย น้ำหนองเขา ต้องระลึกอย่างนี้บ่อยๆ ให้เป็นองค์ภาวนา
พิจารณาเห็นความไม่งามของร่างกายอสุภสัญญา อสุภสัญญา แปลว่า พิจารณาเห็นความไม่งาม ถามว่าอะไรไม่งาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้พิจารณาส่วนต่างๆ ในร่างกาย ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ มีของไม่สะอาดด้วยประการต่างๆ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า อันนี้เป็นธาตุดิน มีเสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำไขข้อ น้ำมูก น้ำปัสสาวะ หรือมูตร อันนี้เป็นธาตุน้ำ ให้พิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูล คือไม่สะอาดในร่างกายนี้
เพื่ออะไร เพื่อความไม่ยึดติดในร่างกาย ไม่ยึดมั่นผูกพันในร่างกายทั้งของตนและของผู้อื่น ที่จริงโดยทั่วไปในกรรมฐาน พูดถึงอสุภกรรมฐานท่านบอกว่าให้พิจารณาอสุภะ คือ ร่างกายของผู้อื่นที่เป็นศพ เป็นซากศพ ๙ ระยะที่เรียกว่า นวสีวถิกา ซากศพ ๙ ระยะ ตั้งแต่ตายวันแรก ๒ วัน ๓ วัน เรื่อยไป จนถึงเหลือแต่กระดูกป่นๆ
ในคิริมานันทสูตรนี้ ท่านอธิบายเป็นความไม่สะอาดในร่างกาย คือ อาการ ๓๒ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีสิ่งปฏิกูลซึมซาบอยู่ทั้งภายในและภายนอก สิ่งภายในกายที่ไหลออกภายนอกแล้ว ไม่มีใครปรารถนาจะถูกต้อง เจ้าของร่างกายเองก็รังเกียจ ไม่ต้องพูดถึงคนอื่น เมื่อระลึกไว้เสมอเช่นนี้ ความพอใจในกายก็จะคลายลง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาก ไม่ต้องเสียเงินเสียทองมาก ในการตกแต่งประดับประดาร่างกาย คืออยู่อย่างธรรมชาติก็ได้ ก็พิจารณาให้เห็นจริงว่า ความสวยก็อยู่เพียงแค่ผิวหนังเท่านั้น เจาะผิวหนังลงไปก็มีแต่เนื้อเลือด น้ำหนอง ไม่มีอะไรสวยแล้ว มีสุภาษิตภาษาอังกฤษกล่าวว่า Beauty is but skin-deep. ความสวยอยู่ลึกเพียงแค่ผิวหนังเท่านั้น เลยไปก็ไม่สวยแล้ว จิ้มลงไปก็มีเลือดออก เอาหนังออกก็ดูไม่ได้เลย
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านบอกว่า ถ้ากลับเอาภายในร่างกายไว้ภายนอก เหมือนเรากลับเสื้อหรือกางเกงข้างในเอาไว้ข้างนอก จะเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าพวกนกพวกกาพวกหมาก็คงไล่ตามกันเป็นกลุ่ม ๆ เจ้าของกายคงต้องถือไม้ไล่สัตว์เหล่านั้นเป็นแน่
ถ้าสังเวชสลดใจอยู่กับร่างกายดังนี้ จิตก็จะสงบลง สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น คือเห็นใครสวยกว่าก็ไม่ริษยา เห็นใครเขาขี้เหร่กว่าก็ไม่ดูถูกเขา เพราะคิดได้ว่า มันก็เพียงแค่ผิวหนังเท่านั้นเอง อันนี้สำคัญ
ถ้าเห็นใครสวยกว่าแล้วไม่ริษยาเขา เห็นใครขี้เหร่กว่าก็ไม่ดูถูกเขา คิดว่ามันก็เพียงแต่ผิวหนังนั่นเอง ยิ่งพอตายลงก็หมดค่าเลย เคยมีราคาเท่าไหร่ มีค่าเท่าไหร่ พอตายลงก็หมดค่าเลย สิ่งปฏิกูลที่เคยปิดบังกันมานาน ก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น คนที่เคยรักก็เบือนหน้าหนี ไม่กล้าอยู่ด้วยสองต่อสอง เพราะว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นคนแล้ว เป็นผีแล้ว เป็นศพไปแล้ว ต้องมีคนคอยอยู่เป็นเพื่อนมากมาย แล้วก็พาไปเผา พอเผาเสร็จแล้ว ก็ขอร้องวิงวอนว่าไปที่ชอบๆ เถอะ คืออย่ามายุ่งกันอีกเลย ทำนองนั้น ไม่ต้องห่วงอะไรทางบ้านอย่างนี้เป็นต้น
ความไม่เที่ยงของร่างกาย ร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่จีรังเป็นสิ่งที่เรายืมมาจากธรรมชาติชั่วคราว สุดท้ายต้องเสื่อมและสลายคืนธรรมชาติในที่สุด การเสื่อมของร่างกายจึงเป็นเรื่องที่แน่นอนและธรรมดาที่สุดในโลกนี้แต่หลายครั้งกับหลายคนที่เป็นทุกข์เพราะอยากยึดไว้ ไม่อยากให้เสื่อม บางคนทุกข์เพราะหน้าเริ่มมีตีนกาขึ้น บางคนทุกข์เพราะเป็นโรคต่างๆที่เกิดจากร่างกายเสื่อมถอยบางคนทุกข์เพราะพยายามไปยื้อ ให้ร่างกายดูอ่อนเยาว์ตลอดเวลาบางคนก็ทุกข์ก็ไปยึดติดลุ่มหลงในกายของคนอื่นร่างกาย เป็นสิ่งที่เสื่อมแน่นอน เดี๋ยวนี้มีศาสตร์ชะลอวัย แต่ก็ทำได้แค่ชะลอเทคโนโลยีไปไกลแค่ไหน แต่สุดท้ายยังไงก็ต้องเสื่อมลง แทนที่เราจะทำใจและเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริงและคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่มีใครหนีได้ มีแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่พวกเรากลับ...พยายามฝืนความเป็นจริงของธรรมชาติและทุกข์กับความเป็นจริงของธรรมชาติ
ความจริงที่เราเห็นอีกอย่างก็คือ...ต่อให้ร่างกายภายนอก ผม ขน เล็บ ฟัน หนังสวยงามแค่ไหนพอตายไปไม่กี่วัน ทุกคนจะกลับมาหน้าตาเหมือนกันหมดอยู่ดี อยู่อย่างเข้าใจมัน เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความเป็นไป และอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย ร่างกายจริงๆ มันก็ไร้สาระ มีสาระอยู่แต่คุณงามความดีที่มีอยู่กับร่างกาย คนฉลาดจึงพยายามที่จะทำร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นสาระ คือใช้สิ่งที่ไม่เป็นสาระให้มันเป็นสาระ ให้มันเป็นประโยชน์โดยตัวมันเอง
รูปทั้งหลายที่ตาเห็น เช่นร่างกายนี้ของกันและกัน ก็เห็นแค่ผมขนเล็บฟันหนัง ใต้หนังเข้าไปก็มองไม่เห็น และผมขนเล็บฟันหนังนั้นก็เป็นไปตามวัย เมื่ออยู่ในวัยที่งดงามเปล่งปลั่ง ก็งดงามเปล่งปลั่ง เมื่อผ่านวัยที่งดงามเปล่งปลั่งไปแล้ว ก็ทรุดโทรมชำรุด และก็ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่งดงาม
และที่สกปรกภายในผืนหนังที่หุ้มห่ออยู่นี้เป็นอันมาก ถ้าเปิดออกมาดูแล้ว เจาะก็จะไม่ปรากฏเป็นสิ่งที่งดงามน่ารักน่าชม แต่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ทั้งโดยสี ทั้งโดยสัณฐาน ทั้งโดยกลิ่น ทั้งโดยที่เกิด ทั้งโดยที่อยู่ เพราะฉะนั้น ความงดงามที่ปรากฏอยู่จึงมีอยู่แค่ผมขนเล็บฟันหนังที่ตามองเห็น และที่กำลังอยู่ในวัยที่เปล่งปลั่ง และที่ได้มีการตบแต่ง มีการชำระล้างตบแต่งไว้แล้ว
เสียงก็เช่นเดียวกัน ก็สักแต่ว่าเป็นเสียง จะเป็นเสียงนินทาเสียงสรรเสริญ ก็เป็นแค่เสียง ความเป็นเสียงนั้นจะเป็นนินทาก็ตาม จะเป็นสรรเสริญก็ตาม ไม่แตกต่างกัน เหมือนอย่างลมที่พัดมากระทบตัวเองของทุกๆ คน จะมาทางทิศไหนก็ไม่ต่างกัน จะพัดเบาพัดแรงก็เป็นลม แต่ว่าเพราะมีภาษา คือเสียงนั้นเองเป็นภาษา และก็มีสมมติภาษานั้นขึ้น บัญญัติภาษานั้นขึ้น สำหรับสื่อให้รู้จิตใจของกันและกัน จึงทำให้ติดในสมมติบัญญัติตามที่เสียงแสดงออก
แต่ว่าเสียงที่แสดงออกไว้เป็นภาษานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นความจริง ทั้งสรรเสริญทั้งนินทา ในเมื่อสรรเสริญผิดนินทาผิด เช่นว่าทำชั่ว สรรเสริญว่าทำดี ก็ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าดีนั้นดีขึ้นมาได้ ต้องชั่วตามที่ตนทำนั้นเอง เมื่อทำดีแต่ถูกนินทาว่าชั่ว ก็ไม่ทำให้ความดีกลับเป็นความชั่วได้ เมื่อทำดีก็คงเป็นทำดีอยู่นั่นเอง แต่ว่าบุคคลติดในสมมติบัญญัติของภาษา จึงได้มีนินทามีสรรเสริญ ทำให้เสียงที่สักแต่ว่าเป็นลม หรือดังที่เรียกว่าลมปาก มีพลังอำนาจขึ้น ด้วยการที่มายึดถือในสมมติบัญญัติ เป็นภาษาของเสียง
กลิ่นนั้นจะเป็นอย่างไรก็แค่ประสาทจมูก พ้นประสาทจมูกไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร รสนั้นก็เช่นเดียวกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็อยู่แค่ลิ้น พ้นประสาทลิ้นไปถึงคอแล้ว ความอร่อยไม่อร่อยต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ สิ่งที่กายถูกต้องก็เหมือนกัน ก็ปรากฏว่าเป็นอย่างไรอยู่แค่กายประสาท พ้นกายประสาทเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏเป็นความรู้สึกอย่างใด ธรรมะคือเรื่องราวทางใจต่างๆ ที่จิตมาปรุงคิดหรือคิดปรุง ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ที่ความปรุง
เหมือนอย่างพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จะปรุงให้มีรสเค็มก็เค็ม จะปรุงให้มีรสเปรี้ยวก็เปรี้ยว จะปรุงให้เป็นมีรสหวานก็หวาน จิตก็เหมือนกันจะปรุงให้ชอบก็ชอบ จะปรุงให้ชังก็ชัง จะปรุงให้หลงก็หลง ถ้าจิตไม่ปรุงเสียอย่างเดียวชอบชังหลงก็ไม่ปรากฏ สิ่งเหล่านี้เป็นมายาทั้งนั้น แต่ว่าจิตนี้เพราะยังมีอวิชชาอยู่ จึงไม่รู้ถึงสัจจะคือความจริง รู้แค่มายา ก็ติดอยู่แค่มายา และปรุงแต่งกันอยู่แค่มายา โลกเป็นดั่งนี้
แล้วก็พิจารณาเรื่องอาหาร อาหารที่เราทานไปอย่างนี้ ว่าร่างกายนี้อยู่ได้ด้วยอาหาร ถ้าไม่มีอาหารก็อยู่ไม่ได้ พวกนี้ก็อยู่ด้วยอาหารใหม่ อาหารเก่าก็ถ่ายเทออกไป อยู่ด้วยการนอน การพักผ่อน ร่างกายก็ได้ทานอาหาร ถึงอยู่ได้ อาหารอวิชชาความหลง ก็คือเรายินดีในความสุข ความสะดวก ความสบาย อาหารทางร่างกายนี้เรามีความจำเป็นเราต้องให้อาหารเขา สำหรับประชาชนก็ให้วันละ 3 ครั้ง ซักประมาณ 2500 แคลอรี่ สำหรับนักบวชนี้วันละ 1 ครั้ง ฉันให้อิ่ม ให้มันได้แคลลอรี่ เพราะว่าพระนี้ก็ ถ้าไปฉันหลายครั้งก็มีปลิโพธ มีกังวล ฉันแล้วก็ไม่เก็บอะไรไว้ พัฒนาจิตใจ เพื่อเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ
ประชาชนเมื่อเรามีสรีระร่างกายอย่างนี้เราก็ต้องทำงาน เราต้องมีความสุขในการทำงาน ในการขยันเสียสละ ได้รับความสะดวก ความสบาย จากความเป็นมนุษย์ที่เราพัฒนาการงาน เราต้องมีความสุขกับการทำงาน ถ้าเราไม่มีความสุขกับการทำงาน สุขภาพจิตเราก็ไม่ดี ทุกท่านทุกคนต้องลงรายละเอียดให้กับตัวเอง อย่าไปข้ามปัจจุบัน ในระบบความคิดก็อย่าไปข้ามไป อันไหนไม่ดีเราก็ไม่คิด เพราะความคิดนี้ คือมันมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ เราต้องบริโภคความคิดด้วยสติ ด้วยปัญญา เพราะเราต้องพัฒนาตัวเรา ทุกๆ คนก็ต้องพากันประพฤติ ปฏิบัติให้ได้ ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ เราก็ไปสอนลูก สอนหลานมันก็สอนไม่ได้ เพราะเราไม่เป็น ถ้าเราไปเพลิดเพลินกับพวกหนัง พวกละคร พวกฟังเพลงมาก ประชาชนเราก็เสียนะ
ทุกท่านทุกคนเราต้องจิตใจเข้มแข็ง ต้องเห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ต้องใจเข้มแข็ง ต้องสมาทานความเข้มแข็งไว้ คนเราถ้าปล่อยให้ตัวเองคิด ปล่อยให้ตัวเองหลง ปัญญามันไม่เกิด เพราะรายรับมันไม่มี มีแต่รายจ่าย ทุกท่านต้องพากันแก้ไขตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง เพราะไม่มีใครประพฤติ ไม่มีใครปฏิบัติให้เรา ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ใจของเราจะไม่เกิดความวิเวก ศีลนี้เป็นข้อบังคับเรา คอนโทรลเรา เราต้องมีความสุขในการรักษาศีล สมาธิเป็นความตั้งมั่นเป็นสิ่งที่คอนโทรลเรา เราต้องรู้จักความหมาย เพราะศีลไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง สมาธิไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง เราต้องมีสติ มีปัญญา เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราต้องเสียสละ เพื่อคอนโทรลตัวเอง ให้มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการปฏิบัติธรรม มันต้องไปอย่างนี้ ความดับทุกข์มันก็จะเกิดแก่ทุกคน ในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน มันไม่ได้เกี่ยวกับคนจน คนรวย ไม่เกี่ยวกับกลางคืน กลางวัน มันเกี่ยวกับความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราถึงจะเข้าถึงความวิเวกได้ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ทุกท่านทุกคนต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่อย่างนี้ เราไม่ต้องหนีไปไหนหรอก เราอยู่กับกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อยู่ที่ตัวของเราเอง ที่เราจะต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน เพราะศาสนาต่างๆ เค้าพากันว่างจากสิ่งที่ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านมาต่อยอดให้พวกเรา
ความขี้เกียจขี้คร้านนี้ทุกท่านทุกคนอย่าไปสนอก สนใจ อย่าให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่เราทุกคนติดสุข ติดสบาย คนเรามันติดสุขติดสบาย มันก็อยากจะเอาแต่นอน เอาแต่ง่วงเหงาหาวนอน เอาแต่สงบ ต้องมีชาคริยานุโยค ประกอบด้วยความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ชาคริยานฺโยค แปลว่า การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป ทุกคนเกิดมาก็เพราะความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจขี้คร้าน มันอยากตามตามใจตัวเอง อยากตามอารมณ์ตัวเอง อยากตามความรู้สึกของตัวเอง แต่มันไม่ได้ มันเสียหาย คนเราแต่ละท้องถิ่นแต่ละครอบครัวมันก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากตัวอย่างแบบอย่างจากปุถุชนสามัญชน เราก็ต้องเอาแบบอย่างพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาบอกมาสอน หนทางอื่นๆ ไม่มี เราดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ดูตัวอย่างจากผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ไม่มีใครขี้เกียจขี้คร้าน เค้าก็เอาพันธุ์ขยัน แต่ละครอบครัวก็มาจากพ่อจากแม่ เมื่อเราเป็นคนขยัน เป็นคนหมั่นเพียร เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนดี เราถึงเป็นตัวอย่างให้กับลูกกับหลาน
ทุกๆ คนรู้จักนะว่าตัวขี้เกียจขี้คร้าน มันหลอกลวงเก่ง เล่ห์เหลี่ยมมัน หือ... แพรวพราว พระพุทธเจ้าจึงให้ตื่นทำความเพียร ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ตื่นรู้ ตื่นตัว ด้วยการเสียสละ พระพุทธเจ้า คือยอดนักเสียสละ ไม่ทรงขี้เกียจขี้คร้านเลย ไม่ติดสุขติดสบาย การติดสุขสบายเป็นเพียงสุขทางโลก สุขทางร่างกายเท่านั้น สุขทางใจจึงต้องมาจากการเสียสละ พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ พระอรหันต์คือใคร พระอรหันต์คือผู้ที่เสียสละ พระพุทธเจ้าทรงบรรทมวันหนึ่งเพียง ๔ ชั่วโมง อีก ๒๐ ชั่วโมงทรงเสียสละบำเพ็ญพุทธกิจทั้ง ๕ อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ความสุขของเราอยู่ที่การเสียสละ เสียสละจึงเป็นผู้ที่ปล่อยวางได้พักผ่อนทางจิตใจ ความเกียจคร้านนะ ทุกคนต้องรู้หน้ารู้ตาความเกียจคร้านให้ดีๆ ความเกียจคร้านทำให้เราไม่มีปัญญาทำให้เรา หลงอยู่ติดอยู่ คิดไม่เป็นวางแผนไม่เป็น ไม่มีความสุขในการเสียสละ ไม่มีความสุขในการทำงาน ในการประพฤติปฏิบัติธรรม คนเรานะ เมื่อมันคิดไม่เป็น ภพภูมิของคนที่คิดไม่เป็น เราลองมาคิดดูสิมันจะเป็นอย่างไร คิดไม่เป็นก็หลงทาง คิดไม่เป็นก็ไม่มีความตั้งมั่น คิดไม่เป็นก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกคนกระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไว ด้วยการเสียสละ เป็นผู้นำของตนเองให้ได้นะ ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมันต้องเข้าใจ เข้าใจจริงๆ แล้วประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นเอกเป็นหนึ่งเป็นตัวของธรรมะ เป็นตัวของพระนิพพาน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สละทิ้งเสียซึ่งนิมิตทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทุกคนก็จะได้หายเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคบังคับนะ บังคับตนเอง เหมือนขับรถ ขับเครื่องบิน ขับยานพาหนะ ก็ต้องบังคับมันทั้งนั้นจึงจะขับได้ จึงต้องบังคับตนเองเพราะเรายังไม่ได้เป็นอเสขบุคคลคือพระอรหันต์ เรายังเป็นเสขบุคคลคือผู้ที่ยังต้องศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติจึงต้องเต็มเปี่ยมด้วยความเพียร ด้วยสัมมาวายามะ
เราอย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้านอย่าไปสนใจมันเลย เราต้องภาวนา เราต้องปฏิบัติ เพราะเราไม่ต้องไปไหลตามน้ำที่มันไหล อย่าไปไหลตามความง่วงเหงาหาวนอน อย่าไปไหลไปตามความคิด เรากลับมามีสติ มีสัมปรัชญะ ถ้ามันง่วงมากก็หยุดหายใจ เดี๋ยวใจมันจะขาดมันก็กลับมา ต้องอย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้านนี้ อย่าให้มันทำให้เราขาดทำวัตรเช้า ขาดทำวัตรเย็น สำหรับพระต้องคอนโทรลตัวเองในปัจจุบันให้ได้ ต้องเห็นโทษเห็นภัยในความขี้เกียจขี้คร้าย ดูๆ แล้วคนที่ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ที่ยินดีในความสุข ที่มันทำอะไรช้ากว่าเวลาหรือว่ามันขาดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มันก็หน้าเก่าๆ นี่แหละ เราต้องจัดการ ถ้าอย่างนั้นมันจะเคลิบเคลิ้มไปตามความสุข เพราะผัสสะนั้นทำให้คนไปตามสิ่งแวดล้อม เห็นมั้นคนแก่ๆ นึกว่าตัวเองแก่ แล้วก็ใจไปแก่ตามกาย มันก็อ่อน ขาอ่อนยกไม่ขึ้น เพราะจิตใจของเราถูกธาตุ ถูกขันธ์ครอบงำ
ทุกคนต้องจิตใจเข้มแข็ง อย่าไปนั่งตัวงอ อย่าไปนั่งหลับ ฝึกอานาปานสติ หายใจเข้าให้มันชัดเจน หายใจออกให้มันชัดเจน อย่าให้มันหลับใน ขั้นสุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ถึงกลั้นลมหายใจ ใจจะขาดมันก็กลับมา เพราะนั่งสมาธิมันไม่เหมือนอิริยาบถที่เล่นกีฬา หรือว่าทำงานหนัก มันก็ต้องง่วงเหงาหาวนอนพระพุทธเจ้าถึงสอนเรา ที่มีอยู่ในหนังสือ อยู่ในตำราว่า ฉันอาหารเสร็จแล้วให้พากันเดินจงกรมกับนั่งสมาธิ เพราะว่าตอนฉันอาหารเสร็จมันง่วงเหงาหาวนอน เพราะอาหารมันไปเลี้ยงร่างกาย มันก็อยากจะนอน อยากจะหลับ เราต้องฝึกใจให้แยกใจออกจากกาย ให้ใจมันว่างจากกาย ให้มันเข้าสมาธิให้ได้ เข้าระดับอัปปนาสมาธิ หรือเข้าฌานลึกได้อะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าฉันข้าวเสร็จแล้วให้ไปนอนพักผ่อน เพื่อจะได้ซ่อมแซมสมอง การซ่อมแซมสมอง มันซ่อมแซมได้ ๒ อย่าง คือเราอยู่กับขณิกสมาธิ อยู่กับหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หรืออยู่กับอานาปานสติระดับอัปปนา สมองก็ไม่ได้คิด ไม่ได้ปรุงแต่ง ก็สามารถที่จะพักผ่อน ซ่อมแซมสมองได้
เราทำไป ปฏิบัติไป เดี๋ยวเราก็ค่อยๆ รู้เองหรอก ตอนนี้เรายังง่วงเหงาหาวนอนอยู่ จิตใจเรามันยังยากจนอยู่ จิตใจของเรา สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์พระพุทธเจ้าถึงให้เราอยู่กับตัวเองให้มาก ถ้าไปอยู่กับก่อสร้าง ไปอยู่กับพูดคุย มันก็เสียเวลาที่เราจะได้เจริญสติสัมปชัญญชะ เราจะได้พัฒนาใจ สำหรับประชาชนก็ต้องมีความสุขในการทำงาน เพื่อจะได้ฝึกใจ เพราะผู้ที่อยู่ในครอบครัวเราต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูบุตรธิดา สามี ภรรยาอย่างนี้ เราก็ทำงานให้มีความสุข เราร่ำเรารวยแล้วมีกินมีใช้เราก็ไม่หลง เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงบรรเทาทุข์ ดับทุกข์ เพื่อให้เราได้พัฒนาจิตใจ ผู้ที่มาบรรพชาอุปสมบทก็ต้องตั้งใจเต็มที่ ให้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปคิดว่าเดี๋ยวเราจะลาสิกขาอยู่ อันนั้นเป็นเรื่องอนาคต เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน ผู้ที่ประชาชน ประชาชนก็ตั้งอกตั้งใจให้เต็มที่ อย่าไปคิดว่าเราเป็นฆราวาส เราก็เป็นผู้ครองเรือน เราจะไปทำอย่างนั้นเหมือนพระไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาใจเหมือนกัน เพราะเราทุกคนต้องพัฒนาตัวเองเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ให้ได้ในปัจจุบัน