แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๖ ความดับทุกข์ของมนุษย์มีอยู่ที่เราเอาศีลเป็นที่ตั้ง เดินทางด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความตั้งมั่นในปัจจุบัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความดับทุกข์ของมนุษย์มีอยู่ที่เราเอาศีลเป็นที่ตั้ง เรามีความสุขเพราะเราเดินทางด้วยสัมมาทิฐิ ที่มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เรียกว่าศีล มีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เป็นขณิกสมาธิ เรียกว่าสัมมาสมาธิ ในปัจจุบัน เราหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในปัจจุบัน นี้เป็นไฟต์เป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติของเราทุกคน
ความสุขความดับทุกข์ทางวัตถุ หรือว่า ทางร่างกายนี้ เราต้องรู้จัก เราต้องบริโภคด้วยทุกอย่างด้วยสติด้วยปัญญา เราจะได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยีทั้งพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ด้วยไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญทำแต่กุศล ถึงพร้อมด้วยการไม่ประมาท ความเป็นพระของเรานี้คือพระธรรมพระวินัย ที่ประชาชนเรียกว่ามีศีล การประพฤติการปฏิบัติน่ะ เราอย่าไปข้ามปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องเป็นธรรม อย่าให้อวิชชาอย่าให้ความหลงเป็นผู้นำ ต้องมีพุทธะ ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้าถึงให้อริยมรรคมีองค์ ๘ มาประพฤติมาปฏิบัติทุกๆ คนน่ะ เพราะเราเกิดมาถือว่าเราเข้าถึงสัปปายะแล้ว คือความเป็นมนุษย์ ธรรมะก็สัปปายะอยู่แล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธบารมีมาบอกมาสอนน่ะ ความดับทุกข์ถึงได้มีอยู่ในหมู่มวลมนุษย์ มนุษย์เราจะได้ไม่หลงประเด็น
ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามนุษย์ที่รวยกลับไปตกในนรกส่วนใหญ่ เพราะไม่รู้เรื่องพระนิพพานหน่ะ เทวดาก็ไปตกนรกส่วนใหญ่หน่ะ นึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุดยอดของความดับทุกข์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี... ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อยไว้ที่ปลายพระนขาแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ที่ปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนี้ อย่างไหนมากกว่ากัน ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาปฐพีนั่นแหละมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขานี้มีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการนับ ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการเทียบเคียง ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งส่วนแห่งเสี้ยว เพราะเทียบมหาปฐพีเข้าแล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขามีประมาณเล็กน้อย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีประมาณน้อย สัตว์ไปเกิดในกำเนิดอื่นจากมนุษย์มีมากกว่ามากทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ
เราต้องเอาสัมมาสมาธิมาใช้ เอาสัมมาทิฏฐิมาใช้ มาทำงาน เรายังไม่ประพฤติยังไม่ปฏิบัติไม่ได้ปัจจุบัน เหมือนกันเรายังไม่บริโภคอาหาร เราจะมีความสุขความดับทุกข์ได้อย่างไง เมื่อเราทานอาหาร เราถึงจะดับทุกข์ทางร่างกายได้ เมื่อเราทานอาหารคือ ปฏิบัติตามศีล ตามสมาธิ ตามปัญญา เราจะดับทุกข์ได้ ทุกๆ ท่านทุกคน ต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่ไม่ว่างจากสิ่งที่ไม่มี เราต้องจัดการให้กับตนเอง เราถึงรู้จักพระพุทธศาสนา เราจะได้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนศาสนาต่างๆ ที่ยังไม่เข้าถึงความดับทุกข์ที่สูงสุดและก็ถาวร แต่ก่อนเราไม่รู้เรื่อง โอ้… เราเข้าใจผิด เราพากันว่างจากสิ่งที่ไม่มีน่ะ เมื่อเราเข้าใจถูกอย่างนี้ก็เราจะได้ปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ขณิกสมาธิ เรียกว่าสัมมาสมาธิน่ะ มันถึงมีกับเราตลอดเวลา เพื่ออริยมรรคมันจะได้สมบูรณ์ไปในตัวในปัจจุบัน
ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ถึงจะมีอยู่ได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ด้วยศีล สมาธิ ด้วยปัญญา ในปัจจุบัน ด้วยความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง นี้คือวัตรนี้คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของเราทุกคนน่ะ จะได้เข้าใจวัตรได้อย่างถูกต้อง คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ คือศีลคือสมาธิ คืออริยะมรรคมีองค์ ๘ เราจะได้ไม่หลงประเด็น อยู่ที่แบรนด์เนม เอาโบสถ์ เอาวิหาร เอาเจดีย์ เอาการปลงผมเอาห่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นวัด
เราต้องรู้จักทั้งวัดภายนอกวัดภายในคือข้อวัตรข้อปฏิบัติ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า ไม่ว่างจากพระอรหันต์น่ะ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของเราทุกคนน่ะ เรื่องอะไรเราจะไปบำรุงไปรักษาไว้วึ่งโจร ซึ่งมหาโจร หรือว่าซุปเปอร์มหาโจร ที่มันมีอยู่ในใจของเรา สิ่งที่มันหลง หลงเสพความสุข เสพความสะดวกสบาย ความสุขความสะดวกสบายนี้ มันต้องเหมาะกับผู้ที่มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา พากันเสียสละตัวเองในปัจจุบันน่ะ เพื่อตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสมาธิ พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ถึงเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ความดับทุกข์มันต้องทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้แหละ
ให้รู้อริยสัจ ๔ อย่างแท้จริง ถึงจะรู้อย่างนี้ก็ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะรสของกามหรือว่ารสของความยึดมั่นถือมั่นมันเหนียวเพราะว่ามันเป็นสังโยชน์ มันถึงต้องมีศีล มีสมาธิ มันต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราสังเกตดูประชาชนนี้จะใจอ่อน ทุกคนจะใจอ่อน นอกจากพระพุทธเจ้า นอกจากพระอรหันต์ ทุกคนน่ะ รักลูก สงสารลูก สงสารญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล แม้แต่ตัวเองก็อย่างนี้ เพราะสาเหตุมาจากที่เรายังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ที่แท้จริง เรายังหลงในความสุขในความเป็นคนรวย หลงในความสุขที่เป็นสวรรค์ ยังถือความรวย ยังถือเงินเป็นพระเจ้า พวกเงิน พวกสตางค์ พวกความรวยนี้มันดี แต่ว่าตัวนี้มันต้องอยู่ในความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อเราจะรู้อริยสัจ ๔ แล้วเข้าสู่ภาคปฏิบัติชัดเจน เพราะว่าคนรวย หรือว่าเทวดาอย่างนี้ จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีก มันไม่ค่อยจะมี เพราะว่าความติดในกาม ติดในตัณหา
เพราะศาสนาในโลกทุกศาสนามันไปถึงได้แค่สวรรค์ อย่างมากก็พรหมโลก เพราะว่ายังไม่รู้อริยสัจ ๔ ที่แท้จริง ดูคนรวยวางแผนทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับตัวเอง เพื่อสนองความยึดมั่นถือมั่น ความอยากความต้องการของตัวเองแล้วก็ในลูกในหลาน มันมีปัญหาปรากฏอยู่ให้เราเห็น เราทุกท่านทุกคน ชีวิตมันมีน้อยมีจำกัด เราต้องเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราต้องละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ถ้าอย่างนั้นมันไปไม่ได้ ทำไมมันมีปัญญาเยอะ มันก็ไปนิพพานไม่ได้ มันจะไปได้อย่างไร เพราะว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่เต็มหัวใจ มันมีกามอยู่เต็มหัวใจ ปฏิบัติจนตายมันก็ไม่ได้ เราต้องรู้จักว่าความสุขความดับทุกข์มันมีหลายขั้นตอน เราต้องเป็นคนรวยอย่างฉลาด ในครอบครัวของเราในตระกูลของเรามันจะได้มีความมั่นคง
ทาง super highway ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามนุษย์เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง การทำงานของเรานั้นคือความสุข การเรียนหนังสือคือความสุข ถ้าเรามีความสุขในการเรียนหนังสือหรือว่าในการทำงาน สมองไม่ดีมันก็จะดี ถ้าเราคิดว่าเรียนหนังสือเพราะจำเป็น ทำงานเพราะจำเป็น มันเป็นการทำลายระบบสมองสติปัญญา เหมือนกับเรามีบาดแผลอยู่แล้ว เราก็เอาไปย้ำแผลมันก็ยิ่งจะเสียหาย ความสุขความดับทุกข์ของเราต้องมีอยู่ที่ปัจจุบัน เราถึงเข้าสู่ศีล เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ปัญญา เพราะว่าทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช หรือว่าจะเป็นประชาชนผู้ครองเรือนก็ต้องไปทางนี้ ผู้บวชก็เป็นถึงพระอรหันต์ ผู้ที่ครองเรือนก็สามารถถึงพระอนาคามี และก็เป็นสิ่งที่ไม่หมดสมัยไม่ล้าสมัย
เรารู้จักแต่ความงามเกิดขึ้นมาหน้าตาดีหรือว่าไปศัลยกรรมหรือว่าไปตกแต่ง เรารู้จักแต่ความงาม อันนั้นความงามมันไม่ใช่สำหรับแนวทางของพระอริยเจ้า ความงามมันต้องศีล เราดูคนรวยอยู่ในห้องแอร์ติดแอร์ ประทินผิวเสริมคาง เสริมจมูก เมคอัพอะไรต่างๆ แต่ถ้าประชาชนกรรมกรตากแดดเค้าก็ปิดหน้าปิดตาอะไร เห็นแต่ลูกตา เวลาทำงานเกษตรกรหรือว่าทำงานก่อสร้างอะไร เพราะเค้าคิดว่าความงามคือร่างกาย อันนั้นไม่ใช่ความงาม งามก็งามแบบจัดฉาก ชีวิตของเรามันจะไม่งดงาม มันจะเป็นคนที่ทุศีล มันจะยินดีในกาม ยินดีในพยาบาท เพราะความงามต้องเป็นที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อันไหนไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่พูด อันไหนไม่ดีไม่ทำ เพราะเราต้องรู้จักกายนี้ คือ เปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่เราเอามาใช้งาน
ใจนี้คือเจ้าของ มันต้องอย่างนี้ ถ้าเราดูแล้ว ร่างกายของเรานี้ก็มีแต่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีภาระขันธ์ที่เราต้องดูแลรักษา ก็จริงที่ว่า คำว่าปล่อยวาง คือปล่อยวางทางจิตใจ ไม่ใช่ไม่ล้างถ้วยไม่ล้างจาน ไม่ใช่ไม่อาบน้ำแปรงฟัน ร่างกายนี่เป็นของปฏิกูลเป็นของสกปรก บางทีน่าเกลียดอย่างนี้ก็ต้องแปรงฟันอาบน้ำ เราก็พัฒนาใจของเรา พัฒนาปัญญาของเรา จะได้แยกกายแยกจิต ว่าร่างกายนี้มันเป็นของใช้ระยะ 70-80 ปี หรือว่าบางคนก็มากกว่า 100 ปี มันเป็นอุปกรณ์ใช้เฉยๆ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นผู้ที่มีศิลปะในการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่า ศีล ศีล หมายถึงความเป็นปกติ หรือปกติภาวะตามธรรมดา หมายความว่า ทำทุกอย่างอยู่ตามหน้าที่ที่ควรจะทำ แต่อยู่ในภาวะปกติ คือ ไม่เดือดร้อนไม่กระวนกระวายไม่ระส่ำระสาย ไม่มีความสกปรกความเศร้าหมองใดๆ เกิดขึ้น โดยเนื้อความ ศีล หมายถึง ระเบียบที่ได้บัญญัติขึ้นไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกัน เพื่อให้เกิดภาวะปกติขึ้นมาที่กาย ที่วาจา ศีล คือ การปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการเป็นอยู่ทางภายนอก ศีลพัฒนาที่กาย ที่วาจา ให้เป็นกาย วาจา ที่น่าดู เมื่อเรามีศีลเป็นพื้นฐานแล้ว เราจึงจะมีจิตที่เป็นสมาธิได้ง่าย ถ้ามีศีลดีสมาธิก็มีง่าย
ศีลนั้นสำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลจึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ “ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว” นี่เอง คือความหมายของคำว่า เวรมณี หรือ วิรัติ วิรัติจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตามจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑) สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมที่นั้นไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึงชาติ ตระกูล การศึกษาหรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง
๒) สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด
๓) สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้าซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสตุฆาตวิรัติ
ศีลนั้นเมื่อบุคคลรักษาดีแล้วย่อมมีคุณานิสงส์หรือผลดีแก่บุคคลผู้รักษาหรือผู้มีศีลสมบูรณ์มากมายดังคำสรุปอานิสงส์ของศีลในตอนท้ายของคำ สมาทานศีลว่า
สีเลน สุคตึ ยนฺติ ไปสู่สุคติเพราะศีล
สีเลน โภคสมฺปทา โภคทรัพย์ถึงพร้อมเพราะศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ถึงความดับทุกข์เพราะศีล
ตสฺมา สีล วิโสธเย เหตุดังนั้นสาธุชนพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
การปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ ถ้าเราทำเหมือนน้ำหยดมันยังขาดอยู่ มันต้องทำเหมือนน้ำไหล เป็นสายน้ำ ผู้ที่เป็นนักบวชก็ให้รู้ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็รู้ เพราะชีวิตของเราทุกคนคือชีวิตที่ประเสริฐ ไม่ใช่เราจะมาบริโภคตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างโง่ๆ เราต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ถึงเเม้เราไม่มีอะไรสักอย่าง เราก็ไม่มีความทุกข์ทางจิตใจเหมือนพระอริยเจ้า เหมือนพระอรหันต์ได้ ในสมัยพุทธกาล ท่าน สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นคนยากจน ต้องเที่ยวขอทานขออาหารเขากินทุกวัน ทั้งยังป่วยเป็นโรคเรื้อนอีกด้วย
วันหนึ่งมหาชนได้มาประชุมรวมกัน เพื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ลำดับนั้น สุปปพุทธกุฏฐิเห็นมหาชนมารวมกันจำนวนมาก จึงคิดว่า คงจะมีการแจกอาหารเป็นแน่ จึงไปที่นั่นเพื่อจะได้รับแจกอาหารบ้าง แล้ววันนั้นบุญเก่าที่ท่านเคยทำมาในอดีต ก็มาส่งผลพอดี ทำให้เมื่อเห็นพระบรมศาสดาแล้วก็รู้สึกว่าอยากจะฟังธรรม แต่ก็มีความละอายที่ตนเองเป็นโรคเรื้อน จึงไปนั่งฟังธรรมอยู่ท้ายสุดของพุทธบริษัททั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรจะรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นสุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้วได้ทรงพระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระองค์ทรงปรารภสุปปพุทธกุฏฐิ ตรัสอนุปุพพิกถาคือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่าสุปปพุทธกุฏฐิมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์เฟื่องฟู ผ่องใส พระองค์จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สุปปพุทธกุฏฐิในที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น ฯ
ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิ มีธรรมอันเห็นแล้ว (ทิฏฺฐธมฺโม), มีธรรมอันบรรลุแล้ว (ปตฺตธมฺโม), มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว (วิทิตธมฺโม), มีธรรมอันหยั่งถึงแล้ว (ปริโยคาฬฺหธมฺโม), ข้ามความสงสัยได้แล้ว (ติณฺณวิจิกิจฺโฉ), ปราศจากความเคลือบแคลง (วิคตกถงฺกโถ), บรรลุถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า (เวสารชฺชปฺปตฺโต), ไม่เชื่อต่อผู้อื่นในศาสนาของพระศาสดา (อปรปจฺจโย)
ท่านสุปปะพุทธะกุฏฐิ แม้ภายนอกจะยากจน แต่ภายในนั้นร่ำรวยด้วยอริยทรัพย์ มีความสุขอยู่ภายใน นิ่งแน่น ไม่หวั่นไหวไม่คลอนแคลนเลย มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างเต็มเปี่ยม มีความปลื้มปีติที่ได้ถึงกระแสพระนิพพาน แล้วก็อยากจะกราบทูลพระพุทธองค์ ถึงความปลื้มปีติที่ตนได้เข้าถึงพระรัตนตรัย แต่ท่านก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปในท่ามกลางพุทธบริษัท
ดังนั้น ท่านจึงไปสู่พระวิหาร ในเวลาที่มหาชนกลับกันหมดแล้ว ในขณะนั้นเอง ท้าวสักกะจอมเทพต้องการจะลองใจดูว่า ผู้ที่เข้าถึงสรณะภายในจริงๆ นั้น ศรัทธาจะง่อนแง่นคลอนแคลนไหม พระองค์จึงประทับยืนอยู่กลางอากาศ ต่อหน้าท่านสุปปพุทธกุฏฐิ แล้วตรัสว่า ท่านเป็นคนขัดสน เป็นคนเข็ญใจ เรารู้สึกสงสารท่านเหลือเกิน เราจะให้ทรัพย์สมบัติที่มีค่านับประมาณมิได้แก่ท่าน ขอเพียงให้ท่านกล่าวว่า พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะไม่มี และให้ท่านเลิกนับถือพระรัตนตรัยเสีย
แต่เนื่องจากท่านสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นพระโสดาบัน มีความสุขมาก มีความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง แล้วจึงมีใจมั่นคงในพระรัตนตรัย มีความศรัทธาเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวเป็นอจลศรัทธา จึงไม่สามารถจะกล่าวตามคำที่พระอินทร์บอกได้ เพราะธรรมดาของพระโสดาบันย่อมไม่กล่าวคำเท็จ ท่านจึงถามกลับไปว่า ท่านเป็นใคร เมื่อทราบว่าเป็นท้าวสักกะจอมเทวดา ท่านจึงกล่าวตอบไปว่า ไม่ว่าท่านจะเป็นพระอินทร์หรือเป็นใคร ก็ไม่สำคัญทั้งนั้น เพราะท่านไม่คู่ควรที่จะมาพูดกับเราเลย จงออกไปเสียให้ห่างๆ จากเราเถิด ท่านมาพูดอย่างนี้กับคนที่เข้าถึงพระรัตนตรัยแล้วได้อย่างไร เราไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย เพราะเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยแล้ว มีความสุข สดชื่นเบิกบานอยู่ตลอดเวลาเลย และเราไม่ใช่คนขัดสน ไม่ใช่คนเข็ญใจอย่างที่ท่านกล่าวหา เพราะเราเป็นบุตรของพระบรมศาสดา มีอริยทรัพย์ภายใน เพราะศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เกิดขึ้นกับใคร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ขัดสน ไม่ใช่คนเข็ญใจ มีชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า (สทฺธาธนํ สีลธนํ หิรี โอตฺตปฺปิยํ ธนํ, สุตธนญฺจ จาโค จ ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ; ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา, `อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ, อโมฆํ ตสฺส ชีวิตนฺติ)
ท้าวสักกะได้สดับดังนั้น จึงเสด็จไปยังที่ประทับของพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลพระพุทธองค์ถึงเรื่องที่ได้โต้ตอบกับสุปปพุทธกุฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับท้าวสักกะว่า แม้จะมีเทวดาอย่างท่านเป็นร้อย เป็นพัน ก็ไม่สามารถบังคับให้สุปปพุทธกุฏฐิ กล่าวปฏิเสธคุณพระรัตนตรัยได้
ขณะนั้นเอง สุปปพุทธกุฏฐิก็มาถึงที่ประทับของพระบรมศาสดา ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบเบิกบาน มีความสดชื่นแจ่มใสสว่างไสวด้วยรัศมีแห่งธรรม เพราะได้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้แล้ว ตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ได้กราบทูลพระพุทธองค์ถึงการที่ตนเองได้เข้าถึงไตรสรณคมน์ เข้าถึงสรณะที่แท้จริงแล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทานสาธุการ ในความเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว สุปปพุทธกุฏฐิก็กราบทูลลากลับไปด้วยความปลื้มปีติใจ มีความสุข สดชื่นเบิกบาน ครั้นถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ครั้นถวายบังคม มีจิตน้อมไปในคุณของพระศาสดา พลางเพ่งดูประคองอัญชลี น้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล จนลับสายตาจึงหลีกไป. ก็สุปปพุทธะ ผู้หลีกไป ซึ่งมีมือเท้าและนิ้วด้วน เพราะถูกโรคเรื้อนครอบงํา มีตัวเปื้อนคูถ มีของไม่สะอาดไหลออกรอบตัว ถูกฝีบีบคั้นไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดยิ่งนัก ถึงความเป็นผู้น่าสงสารอย่างยิ่ง ถูกแม่โคลูกอ่อน ซึ่งถูกบาปกรรมอันเข้าไปตัดรอนให้เป็นไปพร้อมเพื่ออายุน้อย ที่ตนสั่งสมกระทําไว้ตักเตือนอยู่ พอเมื่อบุญกรรมอันให้เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ได้โอกาส เหมือนความมุ่งหมายที่เกิดขึ้นว่า กายนี้ไม่สมควร เพื่อเป็นที่รองรับอริยธรรมอันประณีตยิ่งนัก ซึ่งสงบอย่างแท้จริงนี้ ดังนี้ จึงขวิดให้ล้มลงตายไป. เขาได้ตายอย่างอนาถ แต่ชีวิตเขาไม่อนาถ คือ ไม่ไร้ที่พึ่ง เพราะมีอริยมรรคอริยผลเป็นที่พึ่ง
ตำราแทรกความตรงนี้ไว้ว่า แม่โคตัวนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่โคแท้ เป็นนางยักษิณีที่มีเวรกันมาก่อนกับบุคคล ๔ คน คือ ปุกกุสาติกุลบุตร พาหิยะ ทารุจีริยะ ตัมพทาฐิกะ (เพชฌฆาตเคราแดง) และสุปปพุทธะกุฏฐิ ตามมาแก้แค้น
ว่ากันว่าในอดีตชาติยาวนานโพ้น บุคคลทั้ง ๔ ดังกล่าวมาเป็นบุตรเศรษฐีเพื่อนรักกัน ได้ร่วมอภิรมย์กับโสเภณีนางหนึ่ง หลังจากอภิรมย์สมใจแล้ว จ่ายค่าชั่วโมงเสร็จแล้ว ก็แย่งทรัพย์ที่ให้แก่นางคืน ไม่แย่งเปล่าฆ่าหมกป่าด้วย
นางโสเภณีนั้นก่อนที่จะขาดใจตาย ได้ผูกอาฆาตจองเวรกับเด็กหนุ่มสี่สหายนั้น หากตายจากชาตินั้นแล้ว จะตามฆ่าคนทั้ง ๔ นี้ไปอีกหลายร้อยชาติ กว่าจะสิ้นเวรสิ้นกรรมกัน
นัยว่าสุปปพุทธะนี้ก็ถูกคู่เวรในร่างโคขวิดตายมาแล้วหลายร้อยชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะสิ้นเวร
ภิกษุหลายรูปกราบทูลการกระทำกาละของสุปปพุทธะนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า "คติของสุปปพุทธะนั้นเป็นอย่างไร? เพราะเหตุไรเล่า? เขาจึงถึงความเป็นคนมีโรคเรื้อน."
พระศาสดาทรงพยากรณ์ความที่สุปปพุทธะนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เกิดในดาวดึงสภพ และการเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และคิดว่า ใครนี่ หัวโล้น ครองผ้ากาสาวะ จักเป็นคนโรคเรื้อน เอาผ้าของคนโรคเรื้อน คลุมร่างกายไปอย่างนั้นแล ดังนี้แล้วจึงถ่มน้ำลาย หลีกไปทางเบื้องซ้าย ด้วยกรรมนั้น ไหม้แล้วในนรกตลอดกาลนาน ด้วยวิบากที่เหลือ ถึงความเป็นคนมีโรคเรื้อนในบัดนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้เที่ยวกระทำกรรมมีผลเผ็ดร้อนแก่ตนเองแล" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธา อมิตฺเตเนว อตฺตนา กโรนฺตา ปาปกํ กมฺมํ ยํ โหติ กฏุกปฺผลํ.
ชนพาลทั้งหลาย มีปัญญาทราม มีตนเป็นดังข้าศึก (เป็นราวกะว่าคนมีเวรผู้มิใช่มิตร) เที่ยวทำกรรมลามก ซึ่งมีผลเผ็ดร้อนอยู่ (คือมีทุกข์เป็นผล).
พระธรรมเทศนาสั้นๆ เป็นการเตือนว่า คนเราเมื่อโง่เขลา (ไม่ว่าใครทั้งนั้น) ย่อมประพฤติเหมือนไม่รักตน คือ ก่อศัตรูแก่ตนด้วยการทำแต่ความไม่ดีใส่ตัว แล้วในที่สุดก็เดือดร้อนเพราะผลแห่งความชั่วที่ตัวทำเองนั้นแล พูดเป็นนัยๆ ว่า ถ้าไม่อยากให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลังก็อย่าทำบาปนั้นเอง
ชีวิตของนายสุปปพุทธะขี้เรื้อน มองในแง่เป็นบทเรียนก็คือ อย่าริทำชั่ว หรือสร้างเวรแก่คนอื่น ดุจดังที่เขาทำมา เมื่อเกิดมาเป็นขี้เรื้อนก็ถือว่าเพราะวิบากแห่งกรรมเก่า เขาก็ไม่ย่อท้อต่อชีวิต พยายามทำความดี จนในที่สุดได้เป็นพระอริยบุคคล นับว่าเกิดมาทั้งทีไม่เสียชาติเกิดแล้ว แม้ภายนอกจะเป็นคนน่าสงสารและสมเพช แต่ภายในเขาเปี่ยมไปด้วยคุณความดี
พวกเป็นฆราวาสที่จะคงเผ่าพันธุ์ของความเป็นมนุษย์ก็ต้องพากันมีศีลห้า ไม่ใช่มาสร้างภาพสร้างเเบรน์เนม ต้องเน้นที่จิตที่ใจ มันไม่อยากปิดอบายมุข อบายภูมิ อย่าไปเอาธรรมเอาวินัยเข้าหาเเต่ตัวเอง อันนี้มันเป็นโลกธรรม เราไม่ได้ดำเนินชีวิตเพื่อโลกธรรม ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ สรรเสริญ เยินยอ เราทุกคนต้องเเก้ไขตัวเอง เข้าสู่ความเป็นพระ พระก็คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ คือความเป็นพระ เราอย่าพากันเป็นเพียงภิกษุ สามเณร เป็นเเม่ชี มันต้องเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย หยุดจากนิติบุคคล เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม ละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เราก็จะสงบ ก็จะเย็น เราจะต้องอาศัยศีล เค้าเรียกว่า อุปกรณ์ที่ทันความโลภ ทันความโกรธ ทันความหลง อุปกรณ์ที่ทันสมัย ที่เเก้ไข ที่เป็นยานออกจากวัฏฏะสงสาร
คนที่ไม่รักษาศีลเพื่อนิพพาน ไม่ทำสมาธิเพื่อนิพพาน มันเป็นโลกีย์ ต้องเที่ยงเเท้เเน่นอนต่อพระนิพพาน เพราะพระนิพพานมันไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า พระนิพพานเราก็ต้องก้าวหน้าเหมือนกัน เรียกว่าทางสายกลาง ใจกับกาย วาจากับใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปัจจุบัน ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถึงต้องพากันกันรู้อริยสัจ ๔ ชัดเจน รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ เราจะได้เอาศีลออกมาทำงาน เอาสมาธิออกมาทำงาน ส่วนใหญ่พวกนี้มันใจอ่อน ถึงสัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญ เน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในความตั้งมั่น มีความสุขในศีล ในสมาธิ ในพรหมจรรย์ตามลำดับ พรหมจรรย์ระดับ ศีล ๕ ศีล ๘ ระดับศีล ๒๒๗ เป็นระดับอริยกันตศีล (ศีลที่พระเจ้าอริยะพอใจ) เป็นเจตนาที่ออกมาจากใจมันไม่ใช่ศีลธรรมธรรมดา อริยกันตศีล นั้นต้องประกอบไปด้วย อขัณฑัง (ไม่ขาด), อฉิทฺทัง (ไม่ทะลุ), อสพลัง (ไม่ด่าง), อกัมมาสัง (ไม่พร้อย), ภุชิสฺสัง (เป็นไท) เมื่อรักษาใจของตนได้ ศีลที่เป็นปกติทั้งหลายก็จะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด เมื่อมีความละอายต่อกุศล ศีลจึงบังเกิด, เมื่อศีลสมบูรณ์ สมาธิจึงเกิด, สมาธิที่มั่งคง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยปัญญา, ปัญญาที่กล้าแกร่งจึงมีพลังในการชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด