แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๕ บวชกาย บวชใจ เข้าถึงรายละเอียดของชีวิต เพื่อหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าน่ะ บำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ ชาติสุดท้ายที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าน่ะ ได้บรรพชาอุปสมบท เพื่อเข้าถึงลายละเอียดถึงชีวิต เขาเรียกว่าบวช บวชคืออะไร บวชนี้คือการหยุดตัวเองหยุดวัฏฏะสงสาร ใหม่ๆพระพุทธเจ้าก็ทำผิดทำถูก บำเพ็ญทุกกรกิริยา แต่มันก็ไม่ใช่ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์มันอยู่ที่ทางสายกลางพัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ทั้งเทคโนโลยี เหมือนที่เรารู้เราเห็นในปัจจุบันหน่ะ มนุษย์เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกความสบายในการดำรงชีพ ให้หยุดจากความเป็นคน คำว่า ‘คน’ นี้ คิดทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูก ทำทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูก แต่ก็ได้เป็นแต่เพียงคนนี้ นี้คือพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด บวชนี้คือหยุดวัฏฏะสงสารหยุดพลังงาน เข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าสิ่งนี้มี เราก็หยุดให้สิ่งนี้มี เราก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คือศีล คือศิลปะ ที่ต้องหยุดวัฏฏะสงสาร
การพัฒนาจิตใจมนุษย์นี้ ต้องเข้าสู่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นชีวิตของเราจะเต็มไปด้วยอบายมุข อบายภูมิ เกิดมาเพราะความหลง ยังทำตามควมหลง นี้มันไม่ได้ เราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาวิทยาศาสตร์ เราเลยรับความสะดวกความสบาย จะไปหลงไม่ได้ เพราะอันนี้มันคืออนิจจัง นี้คือความทุกข์ นี้คืออนัตตา เราพัฒนาให้ใจเรามีสติมีปัญญา มนุษย์เรานี่ไม่มีความทุกข์ทางจิตใจได้ ถ้าเราเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมจะเป็นธรรมเป็นปัจุบันธรรม มันถึงไม่มีอวิชชาไม่มีความหลง เขาเลยเรียกว่า บวช ประชาชนถึงจะไม่ได้บวชกาย แต่ก็ต้องบวชใจ เพื่อมาหยุดอบายมุขอบายภูมิ ของตนเอง
เราต้องมีความสุขในการเรียนการศึกษา ในการทำงานในชีวิตประจำวัน ได้รับความสุขแล้วเราก็ไม่หลง เพราะความป็นพระเขานับตั้งแต่ พระโสดาบัน ไปจนถึง พระอรหันต์ ประชาชนเราก็จะเข้าถึงความเป็นพระได้ตั้งแต่พระโสดาบัน ถึงอนาคามี เพราะพระธรรมพระวินัย อยู่ในระดับ ศีล ๕ ศีล ๘ อย่างสมบูรณ์แบบ มันเป็นกฎแห่งกรรม กฎของธรรมชาติ ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ โลกเราก็พัฒนาไปถึงดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงเดือน มีความสะดวกสบาย เราต้องพัฒนาใจพร้อมกัน เราต้องเข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง หยุดความหลงของตัวเอง หยุดมีเซ็กซ์ทางอารมณ์ หยุดมีเซ็กซ์ทางความคิด หยุดมีเซ็กซ์การกระทำ อย่างนี้
เราทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อมาทำร้ายตัวเอง เกิดมาเพื่อมาเสียสละ รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เน้นกันที่ปัจจุบันนี่ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้มันไม่ได้ เราไม่มีความคิดเห็นถูกต้อง ไม่เข้าใจถูกต้อง เราก็จะไปเอาแต่ทางวัตถุ คนเราคิดหลายครั้งมันถึงพูด คิดหลายครั้งมันถึงทำ เราต้องหยุดใจของเรา เราเป็นคนโชคดีนะ อย่างศาสนาต่างๆ แค่สมาธิ ไม่รู้จักการประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้านี้สอนให้ทั้งประชาชนคนไม่ได้บวช ทั้งนักบวช ให้เข้าสู่ระบบแห่งความดับทุกข์ทางจิตทางใจ ความทุกข์ทางกายหน่ะมันต้องมี เราเกิดมาเพื่อ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก พระนิพพานก็ไม่มี เพราะสิ่งต่างๆ นั้นเป็นการให้หมู่มวลมนุษย์ได้พัฒนาใจ เราต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากปัจจุบัน ทุกคนจะได้แก้ปัญหาให้ถูกต้อง ครอบครัวจะได้มีความสุขความอบอุ่น เราเสียหายนะ มาถือแต่แบรนด์เนมมนุษย์ แต่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ถือแบรนด์เนมตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ถ้าเราไม่ได้ทำหน้าที่ ถือแต่แบรนด์เนมมนุษย์ แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่ ไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เรียกว่าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่ได้ มันเสียหาย เราจะได้จัดการตัวเอง ว่าความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เราในปัจจุบันเอง ถ้างั้นเราจะไม่รู้เรื่องการประพฤติการปฏิบัติ
การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ถ้าเราเป็นพระก็เรียกว่าอาบัติ ทุกกฎ ปล่อยไปตามความยินดียินร้าย ก็เป็นอาบัติ ถุลลัจจัย ปล่อยทั้งกายทั้งใจ เป็นอาบัติ สังฆาทิเสส ปาราชิก ไปแล้ว ทุกคนน่ะเพราะเรื่องการประพฤติการปฏิบัติ มันไม่ใช่ก็หมายบ้านเมือง มันเป็นเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นเรื่องของมนุษย์ผู้มีปัญญา ที่จะต้องแก้ไข ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคน ติดทั้งเหล้า ติดทั้งเบียร์ ติดทั้งสาว พัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อความหลงนี้ไม่ได้ มันเสียหาย เสียทรัพยากรที่เราเป็นมนุษย์ เสียทรัพยากรแห่งการได้มาถึงวัตถุ เราถึงจะมีพระศาสนาคือมีธรรมะ มีพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ จะได้ไม่เป็นผู้มีปัญญาเพื่อความไม่ฉลาด เพื่อความหลง
เรามาบวชเราต้องบวชเพื่อมุ่งมรรคผผลนิพพาน โดยเฉพาะ โดยตรง ถึงแม้เราจะลาบวชชั่วคราว หรือว่าบวชเพื่อเป็นพระอริยเจ้า ก็ต้องให้เคร่งครัด ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเพี้ยน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามถึงแม้ขณะจิตเดียว ก็ยังดีกว่าผู้ที่บวชตลอดชีวิตที่ไม่เอามรรคผลนิพพาน ภาคการบวชนี่ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการบวชนี้มันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คือมาละบาปทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ เพื่อให้เป็นพรหมจรรย์หรือว่าเป็นธรรมะ ชีวิตของผู้ที่บวชนี่ถึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐมาก ประเสริฐพิเศษ ประเสริฐจริงๆ การบวชนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากชีวิตที่ไม่มีหลักการ ไม่มีจุดยืน ก็จะมีหลักการ มีจุดยืน เรียกว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
ผู้ที่มาบวชจะบวช 7 วัน 15 วัน ก็ให้ตั้งใจให้เต็มที่เลย เวลาสึกออกไปเราจะได้รู้ว่าความเป็นพระที่แท้จริง เป็นประชาชนก็ได้รักษาศีลพรหมจรรย์ระดับต้น คือศีล 5 เมื่อเป็นพระก็รักษาศีล 227 เราจะได้เข้าใจว่าพระศาสนา เราจะได้มีโครงสร้าง ชีวิตที่มีจุดยืนชัดเจน มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต วัดนี่ก็ถึงเป็นศูนย์รวมของผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือว่ามุ่งมรรคผลนิพพาน ทั้งประชาชนที่ไม่ได้บวชก็พากันมาประพฤติปฏิบัติที่วัด ผู้ที่บวชก็ต้องมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างนี้
การบวชมีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เพราะเป็นการปฏิบัติบูชา เป็นการฝึกตนเอง อบรมตนเอง สั่งสอนตนเอง เจริญรอยตาม ศีล สมาธิ ปัญญาของพระพุทธเจ้า ฝึกอะไรก็ฝึกง่าย แต่ฝึกตนฝึกยาก ทุกคนรู้ว่าดีถูกต้อง แต่มันไม่อยากปฏิบัติ เพราะมันติดสุขติดสบาย การบวช การมาฝึกตนนี้คือการมาปราบผีปราบอสูรกายออกจากใจ ต้องอาศัยศีล ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ต้องมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้าเป็นเดิมพัน อย่างมากก็แค่ตายเท่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านบอกเรา เป็นนักปฏิบัติ ต้องปฏิบัติ พระวินัยและพระธรรมอย่าให้ขาดตกบกพร่อง อันไหนไม่ดีเราอย่าเอามาเป็นตัวอย่าง ให้เรามายก 'พระธรรมวินัย' ไว้เหนือเศียรเกล้า
ส่วนใหญ่เราไปมองสังคมเสื่อม ไปมองวัดเสื่อม ศาสนาเสื่อม พระพุทธเจ้าท่านให้เรามามองดูตัวเอง...มันเสื่อมหรือเจริญ เรามีความตั้งใจดี เราต้องแก้ไข พยายามเหินห่างในสิ่งที่ไม่ดี ส่วนใหญ่คนพวกนี้มันชอบซิกแซก สลับชับช้อน มันมีแง่ มีมุม มีเหลี่ยม ที่จะทำความชั่วให้ได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพิ่มความละอายเกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นอีก ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเป็นพระ เป็นเณร เป็นนักปฏิบัติ มันก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องเน้น ต้องกลับมาหาเรื่องความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เราปกปิดคนอื่นได้ เรามารยาสาไถยต่อคนอื่นได้ แต่เราปกปิดมารยาสาไถยตัวเราไม่ได้หรอก เพราะเรารู้ตัวเองหมด
การปฏิบัติธรรมต้องเน้นมาที่จิตที่ใจ เพื่อเคารพ เพื่อกราบไหว้ตัวเอง เราอย่าไปปิดประตูธรรมะ ไม่ให้ธรรมะเกิดโดยไม่รู้จัก เราบวชมาหลายปีแล้ว ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ไปอยู่วัดที่เค้าปฏิบัติเคร่งๆ ครัดๆ เราไปอยู่มาแล้ว แต่เราก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เราเป็นคนที่อาภัพไม่มีวาสนาเหรอ...?
มันจะมีบุญ มีวาสนา ได้อย่างไร? เพราะท่านเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่สะดุ้งต่อบาป ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่ได้ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ท่านทิ้งธรรม ทิ้งวินัย เป็นคนที่มีทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตนเป็นคนหัวดื้อ หน้าด้าน ไม่เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติพระวินัยก็เบื่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิก็เบื่อ ฟังเทศน์ ฟังธรรมก็เบื่อ นี้แสดงให้เราเห็นว่าเราตกอยู่ในอันตรายของพระภิกษุเก่า ของพระภิกษุใหม่ เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติเป็น 'สิ่งที่ทวนกระแส' ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักใจตัวเองนะ รู้จักอารมณ์ของตัวเอง จะได้ผ่านด่านสำคัญๆ ที่ทุกท่านทุกคนต้องผ่าน
พระบวชก่อนต้องเป็นตัวอย่างให้พระใหม่ ให้พาเขาทำข้อวัตรให้เคร่งครัด พาเขาทำกิจวัตร พาเขาทำสมาธิ วินัยเล็กๆ น้อยๆ ต้องคอยตักเตือน พูดจาให้ดีๆ ให้เพราะๆ อย่าไปวางมาดวางกล้าม ประพฤติปฏิบัติตนไม่ให้มีตัวไม่ให้มีตน ต้องเป็นผู้เสียสละตนและเสียสละท่าน เราจะได้ถือโอกาสฝึกตนเองและรุ่นน้องพร้อมๆ กัน เพราะการพูดร้อยครั้งก็ยังไม่สู้ทำครั้งเดียวให้ดู เราทำหน้าที่ของเราไปอย่าไปอยากใหญ่อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อย่าไปอยากมีลาภ อยากมียศ อยากมีเสียงสรรเสริญ อย่าไปแข่งกันมีลูกศิษย์ลูกหากัน คนเราไม่อยากได้มันยิ่งได้ ไม่อยากใหญ่มันยิ่งใหญ่ การเสียสละการปฏิบัติคุณงามความดีเป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คนและก็เป็นเรื่องรีบด่วน
เราอย่าไปคิดว่าอยากมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง ความหมายของอิสระนี้ หมายถึงไม่เป็นทาสของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้ความยึดมั่นถือมั่นมาครอบครองจิตใจของเรา ให้เราถือว่าชีวิตของเรานี้เหมือนวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เราจะทำแต่ความดี เราอย่าไปคิดว่าเป็นงานหนัก เรายังไม่หมดกิเลสแล้วต้องมานำคนอื่นมาปฏิบัติ เพราะนี้แหละคือเรากำลังปฏิบัติธรรม ธรรมะมันไม่ได้อยู่ไกลหรอก มันอยู่ตรงนี้แหละ เราพยายามอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ อย่าไปเปิดโอกาสให้กิเลสมันหายใจมากเดี๋ยวเราก็จะได้ดีเอง.
พระที่จะเป็นเจ้าอาวาสหรือประธานสงฆ์ ให้พิจารณาตัวเองให้ดีๆ ว่าเราไม่ได้ไปเป็นเพื่อที่จะทำตามใจกิเลส เราไปเป็นเพื่อชำระสะสางตัวเองและพระเณรที่ย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย เพื่อจะได้นำทำข้อวัตรปฏิบัติ ฟื้นฟูพระศาสนาที่ตกต่ำให้ดีขึ้น เพื่อเป็นผู้นำกุลบุตรลูกหลานประพฤติปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล ถึงขั้นนิพพานอย่างถูกต้อง เราไม่ต้องไปกลัวว่าถ้าปฏิบัติเคร่งครัดเกินไปจะไม่มีเพื่อนไม่มีใครมาอยู่ด้วย หรือจะไม่มีกุลบุตรลูกหลานเข้ามาบวชประพฤติปฏิบัติสืบทอดพระศาสนา
ตามความเป็นจริงแล้วทุกวันนี้ประชาชนญาติโยมยังขาดผู้ที่จะนำพาประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีปัญญา เขารู้จักสังเกตความประพฤติปฏิบัติของพระ ถ้าที่ไหนปฏิบัติย่อหย่อนเขาก็ไม่เลื่อมใสศรัทธา แต่ถ้าที่ไหนปฏิบัติถูกต้องตรงต่อหลักธรรมหลักวินัยแล้ว เขาก็มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใส อยู่ใกล้ไกลแค่ไหน ถ้ามีลูกมีหลานก็แนะนำให้มาบวชให้มาประพฤติปฏิบัติ เราอย่าไปเน้นทางวัตถุ ให้เน้นทางจิตทางใจ ทางข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเรายังไม่หมดกิเลสเราจะไปยุ่งกับการก่อสร้างมากมันไม่ดีมันจะลำบากญาติโยม หนักๆ เข้าภายหลังจะทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ต้องวิ่งเต้นหาโยมคนนั้นคนนี้ หาวัสดุที่โน่นที่นี่ หากฐินผ้าป่า หากิจกรรมเพื่อจะได้เงินมาก่อสร้าง เน้นสร้างพระให้เป็นพระ เน้นสร้างเณรให้เป็นเณรนั้นมันประเสริฐที่สุดแล้ว.
คนเก่ง คนฉลาด คนมีทรัพย์มาก ก็มีมากอยู่แล้ว แต่คนดีนี้มีน้อย คนดีเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสก็ต้องมีศีล ๕ คุณแม่ชีก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระก็ศีล ๒๒๗ เป็นคนที่เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่ไม่ลุ่มหลงในอัตตา และเป็นคนที่รู้จักสัจธรรมว่าเราเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป นี้คนดีที่พระพุทธเจ้าท่านยกเอาเกณฑ์มาพิจารณา
ในสังคมในครอบครัวก็ต้องการคนอย่างนี้ ไม่ใช่มีความต้องการแต่ทางวัตถุเท่านั้น บัณฑิตที่เข้ามาบวชก็ต้องทำตามคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อเราลาสิกขาไปแล้วจะได้มีหลักเกณฑ์ มีจุดยืนที่ประเสริฐ ทุกวันนี้สังคมต้องการคนดีมีคุณธรรม แม้ว่าจะไม่ร่ำรวยล้นฟ้า ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ยากจน มีเครดิตดี ลำบากก็มีคนช่วย คนไม่ช่วย เทวดาก็ช่วย อยู่ที่บ้านที่พักของเรา ถ้าเราปฏิบัติแล้ว พระรัตนตรัยก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อเรากราบไปที่เตียงนอนของเรา พระคุณพ่อแม่ก็อยู่ที่ใจของเรา
การบวชถือเป็นหนทางอันประเสริฐเพื่อที่จะทดแทนพระคุณของพ่อแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เป็นการสร้างบุญบารมีให้กับตนเองด้วย ผู้ที่รู้จักบุญคุณและทดแทนพระคุณของผู้มีอุปการคุณย่อมจะมีแต่ความเจริญ การบวชนั้นมีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ แต่กว่าที่จะได้บุญมาก อานิสงส์มาก ก็ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ให้ถือศีลพระวินัย จะเป็นพระได้ต้องถือศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์
เราต้องรับผิดชอบเรื่องการรักษาศีล เราต้องรักษาเอง คนอื่นจะช่วยรักษาไม่ได้ พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้บอก เราต้องรักษาเอง เราจะได้ผลใหญ่ เราต้องรักษาศีล ตั้งใจปฏิบัติ ไม่ว่าอิริยาบถไหน เราต้องเอาพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าเป็นหลัก อย่างพระสารีบุตรที่ท่านไม่ละเมิดศีลแม้เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นตัวอย่าง ปัจจุบันก็พระอาจารย์มั่นที่มีลูกศิษย์เกิดขึ้นมากมายเพราะการรักษาศีล
การเดินจงกรมก็ไม่มีใครเดินให้เรา จึงต้องเดินเอง ขาขวา พุท ซ้าย โธ เดินกลับไปกลับมา การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน เราต้องนั่งเอง ที่นั่งเป็นหมู่ก็เพื่อที่จะให้เรามีหลัก เราก็ต้องนั่งทำใจให้สงบ หายใจเข้า พุท ออก โธ หายใจเข้าออกสบายๆ อยู่กับพุทโธ ชำระจิตใจของเราออกจากความคิดความฟุ้งซ่านต่างๆ ถ้าใจของเราสงบก็จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เราจะนึกพุทโธตามลมหายใจเข้าและออกก็ได้
ทุกคนสามารถทำได้ ไม่เฉพาะแต่พระภิกษุ สามเณร หรือคุณแม่ชีเท่านั้น ให้เรานึกบริกรรมตามลมหายใจเข้าออกเรื่อยไป บริกรรมพุทโธจนจิตใจของเราเป็นหนึ่งสงบเย็น หรือจะนึกบริกรรมพุทโธๆๆๆๆๆ ติดต่อต่อเนื่องกันไป แล้วแต่จริตนิสัยของใครจะถนัดอย่างไร ให้กายของเราตั้งตรง ครั้งแรกนั่งให้ร่างกายนิ่งๆ ก่อน ใจยังไม่สงบไม่เป็นไร ให้ร่างกายของเรานิ่งๆ สบายๆ ๑๕-๓๐ นาที ถ้าปวดเมื่อยก็ขยับสักครั้งหนึ่ง ฝึกไปเรื่อยๆ จนชำนาญ
การภาวนานั้นเบื้องต้นต้องยึด “พุทโธ” เป็นหลักทุกอิริยาบถ ถ้าเราเจริญวิปัสสนาเลยจะข้ามขั้นตอนไป ทำให้ใจไม่มีหลัก การเจริญปัญญาด้วยการพิจารณาวิปัสสนาก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควรหรือไม่ได้ผล กลับกลายเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นวิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะนึกเอาคาดเดาเอา แล้วยึดว่าเรารู้จริงเห็นจริง ปัญญาที่แท้จริงจะเกิดจากความสงบ เยือกเย็น สติชัดเจนอยู่กับปัจจุบันทุกเวลานั่นเอง จะสามารถดับทุกข์ได้ทุกขณะทุกเวลา
การบวชที่จะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลทุกข้อให้ได้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิกขาบทน้อยใหญ่ ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นอนดึก ตื่นเช้า บิณฑบาต ทำอะไรให้ได้เต็มร้อย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งใจสำรวมรักษากาย วาจา ใจของเราให้สงบเรียบร้อย ไม่คึกคะนอง สรวลเสเฮฮา นิสัยทางโลก ความคิดทางโลก เราก็หยุดมันไว้ก่อน พักไว้ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ศีลของเราด่างพร้อย พยายามเก็บตัวเพื่อให้ใจสงบ ฝึกอยู่คนเดียวด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรม เมื่อมีกิจวัตรจึงออกมาตามเวลากิจวัตรต่างๆ เราถือว่าบำเพ็ญกุศลหมด ตั้งแต่ปัดกวาดเช็ดถูหรืออะไร ต่างล้วนเป็นเหตุให้เกิดบุญกุศล
ให้เรามารู้จักวิธีทำใจให้สงบ โดยอยู่กับการหายใจ อยู่กับการท่องพุทโธ มีสติกับการทำงาน กับกิจวัตร โดยเฉพาะการฝึกให้จิตใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับการท่องพุทโธ เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เช่น เมื่อเราเจ็บไข้ไม่สบาย เราเข้าสมาธิ เราต้องอาศัยอุปกรณ์ผูกจิตผูกใจของเรา
ให้พากันมารู้จักอารมณ์ สิ่งที่กระทบทางหู ตา จมูก กาย พวกนี้เรียกว่าอารมณ์ เราต้องรู้จักมันให้ดี เมื่อเรารู้จักแล้ว เราพยายามที่จะไม่หวั่นไหว ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ว่าจะมาแบบรุนแรงหรือสวยสดงดงาม ให้เรารู้จักว่านี้เป็นเพียงอารมณ์ ถ้าเรารู้จัก เราฉลาด อารมณ์ก็จะสลายไป อารมณ์นี้มีปัญหามาก ทำให้เราเป็นประสาท หงุดหงิด ที่สุดก็ทำให้เราทำตามความอยาก ความชอบ ไม่ชอบ ความเบื่อ ไม่เบื่อ อย่างนี้
ถ้าใครรู้จักจะทำจิตใจให้หนักแน่น รู้จักมีอุเบกขา รู้จักมองเป็นอนิจจัง รู้จักทำให้เป็นของว่างเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็จะนำปัญญามาให้เราเพราะเราอยู่ในวัด เราต้องถูกใช้งาน แม้อยู่บ้านยิ่งต้องใช้งาน เราจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ จิตใจไม่หวั่นไหว ยกตัวอย่างองค์ในหลวง ใครจะอย่างไรก็เฉย ยิ่งเราเป็นพระ เราก็ต้องฝึกเฉยอย่างนี้แหละ ตามหลักพระศาสนาท่านสอนให้ดีก็ปล่อย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ แม้แต่เราทานข้าว ได้พักผ่อน ถึงแม้จะสบาย ก็ไม่ยึดถือ นี้เรียกว่าปล่อย ฉะนั้นการบวชของเราคือได้มาฝึกอย่างนี้ด้วย ให้กุลบุตรได้ฝึก เรียกว่า ฝึกรู้จักดี รู้จักชั่ว ผิดถูก จะได้เลือกเฟ้นทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่อะไรก็ทำไปหมด อย่างนี้ใช้ไม่ได้ โบราณเขาถึงให้บวช ให้เป็นทิด ความหมายของทิดนี้ก็คือบัณฑิต เพื่อให้มีจุดยืนของชีวิตว่าเราก็เคยผ่านการฝึกมาแล้ว
จุดยืนของทุกคนทุกท่านต้องนำความดีนี้ไปใช้ เพื่อบูชาพระคุณพ่อแม่ พระศาสนา ญาติวงศ์ตระกูล พยายามสร้างร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับตัวเอง จะได้เป็นที่พึ่งให้กับตนเองและผู้อื่น จะได้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า การบวชของเราก็จะมีอานิสงส์ใหญ่ ให้ตั้งใจ ถึงจะเหนื่อยถึงจะยากก็อดทน โรงเรียนดีๆ ก็ต้องมีระเบียบวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร บวชน้อย บวชมากไม่สำคัญ อยู่ที่ใจ ต้องฝึกรักษากาย วาจา ใจ
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัย อย่าไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่า จึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเองว่าเรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัว แก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราควรปฏิบัติคือการเสียสละ ถึงแม้เราจะรักจะชอบ จะเกลียด จะโกรธ เราต้องเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ ปัญญาที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากอาสวะทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นกับเราไม่ได้
พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมี ทำทุกกรกิริยา จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ท่านทรงมาระลึกถึงการนั่งสบาย ๆ ตอนอายุ ๗ ขวบ ตอนพระบิดาแรกนาขวัญ ว่าท่านเสียสละ ท่านปล่อยวาง จิตใจของท่านจึงเข้าถึงนิโรธ ความดับทุกข์ได้ แล้วมาได้ฟังพิณ ๓ สาย สายอ่อนดีดไม่เป็นเสียง ดึงไปสายพิณก็ขาด ถ้าเราเอาพอดี พิณนั้นจึงจะเสียงเพราะ "การเสียสละจึงเป็นหน้าที่ของเราทุก ๆ คน..."
ที่เราพากันมีปัญหาเล็ก ปัญหาน้อย ปัญหาใหญ่ เพราะเราเป็นคนไม่เสียสละ เราไม่เสียสละ เราอยู่คนเดียวเราก็มีปัญหา เราจะอยู่สองคนก็มีปัญหา ปัญหาต่างๆ ที่เราผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการที่เราเป็นคนไม่เสียสละ ทุกคนอยากรวย อยากมีทรัพย์สมบัติ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่เราก็เป็นคนไม่เสียสละ คนที่ไม่เสียสละจึงไม่เป็นที่เคารพของตนเองและของบุคคลอื่น เป็นคนที่ไม่ควรแก่การกราบไหว้ ให้การสนับสนุน
เราปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นให้ถูกต้อง จิตใจที่เสียสละนั้น คือจิตใจที่โน้มเอียงไปสู่มรรคผลนิพพาน เปรียบเสมือนเม็ดฝนตกบนภูเขา ไหลลงสู่แม่น้ำ สู่มหาสมุทร เสียสละแล้วให้มาเพิ่มการเจริญสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม การเจริญสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือทางสายกลาง ให้ใจเราสงบ ใจเย็น
การปฏิบัติธรรมใหม่ๆ ก็เหมือนเด็กอนุบาล ฝึก ก ข ค หรือ A B C D การเจริญสติสัมปชัญญะยังไม่รวดเร็ว ไม่ว่องไว มันยังเชื่องช้า ถ้าเราฝึกไปนานๆ สติสัมปชัญญะของเรามันจะเร็วขึ้น ว่องไวเฉียบพลันขึ้น
คำว่า ใจเย็นนี้ ไม่ได้หมายถึงทำอะไรเชื่องช้า แต่คือมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม ทำอะไรรวดเร็ว ว่องไว พร้อมใจไม่มีทุกข์
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนมาเสียสละ คำพูดที่คุณพ่อคุณแม่สอน ญาติพี่น้องสอน หรือได้ยินจากหมู่เพื่อน คำพูดของท่าน ผู้นั้นยังไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้า เราทุกคนต้องมาปรับคำพูดของเราใหม่ เพื่อเราจะได้เสียสละ ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวเสียหน้า เสียฟอร์ม เคยพูดไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย ใช้สรรพนามไม่ดี ไม่น่าฟัง พวกนี้ต้องเสียสละให้หมด คำพูดเรานี้ เราฟังดูแล้วไม่เหลือเรา เพราะเป็นคำพูดผู้เสียสละ ผู้ละ ผู้วาง
ทุกคนทำได้ ปฏิบัติได้ สิ่งนี้ไม่เสียหาย ไม่ถึงละสังขาร สิ่งนี้ดี มีประโยชน์ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดื่มน้ำดองของเมา อบายมุข...พระพุทธเจ้าให้เราเสียสละให้หมด เพราะสิ่งที่เราทำไป ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่ดีเลย ไม่ประเสริฐ ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ถึงแม้เราติดฝังรากลึก เรามีความจำเป็นต้องเสียสละ ไม่เกิน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ไม่เกินกำลังของผู้ตั้งใจเสียสละ อินทรีย์บารมีของเราก็จะสมบูรณ์ ความชอบ ความไม่ชอบ มันเป็นคาเฟอีนทำลายร่างกาย ทำลายประสาท ระบบสมอง สติปัญญา
เราทุกๆ คนไม่มีใครมาปฏิบัติให้... พระพุทธจ้า พระอรหันต์ไม่ปฏิบัติให้เรา เราจึงมีความจำเป็นต้องเสียสละสิ่งเหล่านั้น ให้เรานึกในใจว่าขอบคุณสิ่งเหล่านั้นที่ทำให้จิตใจเราตกต่ำ เพื่อให้เราจะได้ข้ามพ้น
สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรมภพภูมิของมนุษย์จึงเป็นภพภูมิที่ประเสริฐ ที่จะให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ละความเห็นแก่ตัว ความคิดที่อยู่ในใจของเรา ทุกคนต้องเจริญสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อจะได้ควบคุมสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ปล่อยไปเหมือนคนไม่มีเจ้าของ คนเราขาดสตินาทีหนึ่งก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง ขาดสติมากก็เป็นบ้ามาก ความคิดนี้แหละทุกคนต้องเสียสละ...ถ้าสิ่งไหนดี มันไม่อยากคิด ถ้าเราคิดบ่อยๆมันจะระบายออกมาทางคำพูด กิริมารยาท การกระทำ
ทุกๆ คนต้องดำเนินด้วยปลีแข้งของตัวเองด้วยการเสียสละในความดี หน้าที่การงาน ชีวิตก็จะพลิกล็อค เปลี่ยนแปลง ถ้าเราเป็นคนเสียสละ คนรับผิดชอบ ที่เราเป็นคนไม่รับผิดชอบเพราะเราไม่เสียสละ เห็นแก่ปาก แก่ท้อง แก่กิน แก่นอน เห็นแก่พวกพ้องบริวาร
คนรับผิดชอบเหมือนแผ่นดิน เป็นที่ให้เราได้ยืน ได้สร้างบ้านที่อยู่อาศัย มีร่างกายให้เราทำความดี ความรับผิดชอบจึงเป็นเยี่ยมที่สุดในโลก
อย่างในโลกนี้ ใครเป็นคนรับผิดชอบที่สุดในโลก...? พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รับผิดชอบที่สุดในโลก เสียสละที่สุดในโลก
เรารับผิดชอบ โลกก็ต้องการ ถ้าเรารับผิดชอบ บ้านก็ต้องการ ที่ทำงานก็ต้องการ เพราะบุคคลนั้นหาได้ยาก
ความงามของคนอยู่ที่ไหน..? ความงามของคนไม่ใช่อยู่ที่หน้าตา ผิวพรรณ ความ งามแท้จริงที่เป็นอมตะ คือ ความรับผิดชอบ
อยู่ในวัดถ้าใครรับผิดชอบ ชื่อว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด เป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ โดยไม่หวังผลตอบแทน ชื่อว่างามแท้จริง ตั้งมั่นในธรรม มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม
คนเราเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันที่มีความสุข มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คนสำรวมตัวเอง คือคนปฏิบัติธรรม...