แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๔ ความสงบวิเวกอยู่ที่กายใจในปัจจุบันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ได้อยู่กับสถานที่และสิ่งภายนอก
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนาคือมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน หยุดอวิชชาหยุดความหลง มีความดับทุกข์หยุดวัฏฏะสงสารในปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันถึงมี มันเป็นความว่างจากที่มีอยู่ อย่างศาสนาที่ไปได้ถึงพรหมโลก ไม่ได้ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้เข้าสู่ปัญญาวิปัสสนา
ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เอามาใช้ในปัจจุบัน มันเป็นการที่มีความดับทุกข์ในปัจจุบัน ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต้องพัฒนาใจในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนต้องพากันพัฒนาตัวเอง เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องอยู่กับตัว เรื่องรู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้สุดยอด มนุษย์เราควรจะได้ ควรจะมี ควรจะเป็น อย่างถูกต้องอย่างสมบูรณ์ เพราะเราทุกคนคิดว่าปล่อยวางนี้ก็ ไม่เห็นรูปไม่ฟังเสียง ไม่ได้อะไรอย่างนั้นมันไม่ใช่ มันว่างจากขาดศูนย์ พระพุทธเจ้าท่านก้าวไปไกลกว่านั้นนะ นี้คือตัวที่จะดับทุกข์ได้ จะแก้ปัญหาได้ ถึงจะเป็นผู้มีปัญญา มีสัมมาสมาธิมีศีล ในชีวิตประจำวัน
การพัฒนามนุษย์เขาพัฒนาอย่างนี้นะ ไม่เกี่ยวกับยากดีมีจนอะไร มันเกี่ยวที่มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องมีการปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาตัวเองเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี มันจะก้าวไป เหมือนไก่ฟักไข่ ใช้เวลา 3 อาทิตย์ถึงออกลูกมาเป็นตัว มนุษย์ทำติดต่อต่อเนื่องกัน ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนที่ไม่ได้บวช หรือเราเป็นนักบวช ทุกๆ ศาสนานี้ก็ต้องไปอย่างนี้ จะมีสภาวะแห่งพุทธะ สภาวะแห่งผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี มันเป็นกระบวนการแห่งอิทัปปัจจยตา หรือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย อิทัปปัจจยตาก็แปลว่า มันมีเหตุมีปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าสิ่งนี้เราทำไม่ให้มันมี สิ่งต่อไปมันก็จะไม่มี
ความวิเวก คือ ความสงัด หรือ การปลีกออก หมายถึง ความปราศจากสิ่งที่มารบกวนให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ หรือการปลีกออกจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของความสงบ มี ๓ ระดับ คือ
๑. กายวิเวก ความสงัดกาย หมายถึง การปลีกตัวออกจากหมู่คณะ ไปอยู่ในที่สงัด ปราศจากผู้คนพลุกพล่าน มีความสงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
๒. จิตตวิเวก ความสงัดจิต หมายถึง การทำจิตให้สงบผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตของท่านผู้ได้บรรลุสมาบัติ 8 และอริยมรรค อริยผล
๓. อุปธิวิเวก ความสงัดจากอุปธิ ซึ่ง อุปธิ หมายถึง กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร ดังนั้น อุปธิวิเวก จึงหมายถึง พระนิพพาน
ถ้าพูดอย่างคร่าวๆ วิเวกทางกาย ก็ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งทางกาย นับตั้งแต่ว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความร้อนหนาวหรืออะไรต่างๆ ที่มันไม่สบายแก่กาย ไม่มีบุคคลที่จะทำอันตรายทางกาย มีความปลอดภัยทางร่างกาย ทางทรัพย์สมบัติเหล่านี้ อย่างนี้ก็เป็นวิเวกทางกาย ลองไปศึกษาดูจากบางครั้งบางคราวที่เราจะอยู่อย่างวิเวกในทางกาย ธรรมดานั้นไม่ค่อยได้อยู่ด้วยความวิเวกในทางกาย เพราะว่าเราเกิดมาแล้วก็ถูกอบรมให้ชอบความคลุกคลี คือการเป็นอยู่ชนิดที่ไม่วิเวกแหละ แล้วพอว่าต้องอยู่คนเดียวก็กลัว พูดว่า ว้าเหว่บ้าง เปลี่ยวบ้าง ไม่ชอบ ชอบให้คลุกคลีกันเป็นหมู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นนิสัยเพิ่มขึ้นๆ แต่ที่จะอยู่อย่างนั้น คิดดูเถิดว่ามันจะผิดหรือจะถูก จะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ก็นิยมกันว่าดีนะ การอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบุคคล ของเครื่องใช้ไม้สอย ของอะไรต่างๆ ให้มันพร้อมหน้าสะพรั่งไปหมด แล้วโดยเฉพาะก็การบำรุงบำเรอจากเพศตรงกันข้าม ให้มันมีอย่าให้ขาดสายหรืออะไรทำนองนี้ หลงไปเข้าใจอย่างนั้นว่าเป็นของดี เป็นการได้ที่ดี หรือดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันก็เลยไม่รู้เรื่องกายวิเวก แต่ถ้าเผอิญจับพลัดจับผลู วันหนึ่งเวลาหนึ่งมันได้ไปสงบอารมณ์อยู่คนเดียว มันก็กลับพบว่ามันก็ดีเหมือนกัน หรือบางทีมันจะดีกว่า ถ้ามันไม่หลงใหลเกินไปแล้วก็จะพบว่า ไอ้ไม่มีอะไรกวนนั่นแหละจะดีกว่า เดี๋ยวนี้มันมีอะไรมากวน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ๕ อย่างนี้ก็พอ ที่เขาเรียกกันว่า กามคุณ ๕ ทางตามันก็เหมือนกับว่ามีอะไรมากระชากไป ให้ไปสนใจในสิ่งสวยๆ งามๆ ทางหูก็มีอะไรมากระชากไป ให้สนใจสิ่งไพเราะ หวานหู ทางจมูกก็ไปหาความหอม ทางลิ้นก็ไปหาความอร่อย ทางผิวหนังก็ไปหาความนิ่มนวล อย่างนี้เป็นต้น มันคอยแต่จะกระชาก ดึง ไปหาสิ่งเหล่านั้น สลับกันไปอย่างไม่มีสิ้นสุด จนกลายเป็นนิสัย แล้วก็ชอบให้เป็นอย่างนั้น เมื่อมันเกินไป ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นก็ลองคิดดู เห็นได้ง่ายที่สุด
เมื่อไม่รู้จักวิเวกทางกายเลย แล้วก็ไปหลงในความคลุกคลีที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก หมดเปลือง ความโง่เขลาที่ไปหลงซื้อไอ้สิ่งเหล่านี้มาทำลายความสงบสุข ข้อนี้ต้องนึกไปถึงคำว่า เสรีภาพ หรือ อิสรภาพ คนทั่วไปในเวลานี้กำลังเมาเสรีภาพ เมาอิสรภาพ ต่อสู้กันอย่างหนัก อย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่เห็นแก่ความหมดเปลืองเหน็ดเหนื่อยเพื่อเสรีภาพ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้คนนั้นน่ะมันกลับไม่มีเสรีภาพหนักยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีเสรีภาพในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันลุ่มหลงอะไรอยู่แล้วมันไม่รู้ว่ามันไม่มีเสรีภาพ แล้วก็ไปแย่ง ยื้อแย่งเสรีภาพระหว่างคนที่จะมีเสรีภาพทำอะไรตามชอบใจกับคนอื่นในสังคม ก็เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ ตัวเป็นทาสอย่างเต็มที่ แล้วก็ไปหาไอ้เสรีภาพชนิดที่หลอกๆ ฉะนั้นเรื่องการเมืองมันจึงยุ่ง โดยเฉพาะความฟุ้งซ่านของยุวชนแห่งยุคปัจจุบันน่ะมันเป็นอย่างนี้ มันไม่รู้จักเสรีภาพ มันไม่มีอิสรภาพ แล้วก็ยิ่งเป็นทาสของสิ่งต่างๆ มากขึ้น
สรุปความว่า วิเวกในทางกายนั้น ไม่มีอะไรรบกวนในทางกาย ในภายในก็ไม่รบกวน คือร่างกายสบายดี ในภายนอกก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่ง ไปหาโอกาสชิมมันดูเอง คนโบราณก็มาอยู่วัดเสียบ้าง วันอุโบสถ วันพระ มาถือศีลอยู่ที่วัดเสียบ้าง อย่างน้อยเขาก็ได้รับวิเวกในทางกาย ได้ศึกษามันจากจิตใจโดยตรง ถ้าเราไม่อาจจะมาอยู่วัด วันพระ ๘ ค่ำนี่ ที่บ้านก็ได้ ลองจัดให้บางวันมันวิเวกดูบ้าง อย่าให้มันคลุกคลี ชุลมุน สับสนวุ่นวายยิ่งขึ้นไปเสียอีก พอมีเวลาว่างแล้วก็ยิ่งจัดให้มันคลุกคลี โกลาหลวุ่นวายเสียอีก มีความโง่มากจนไม่มีโอกาสที่จะพบความวิเวก อย่างวันเกิดอย่างนี้ แทนที่จะพบความวิเวกบ้าง ก็ยิ่งจัดให้มันยุ่งเสียไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อฉลองอะไร ก็ฉลองในทางยุ่ง ไม่ฉลองด้วยความเงียบ จนไม่มีวันไหนเวลาไหนเหลืออยู่สำหรับวิเวกแม้แต่ทางกาย
ทีนี้วิเวกที่ ๒ คือวิเวกทางจิต นี้จะไม่พูดถึงทางกาย จะพูดกันในฝ่ายจิตล้วนๆ คือไม่มีความรู้สึกอะไรมารบกวนจิต ที่เขาเรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์นั้น แปลว่า สิ่งรบกวนจิต ปิดกั้นจิต ไม่ให้พบกับความสงบ กามฉันทะ ความรู้สึกที่มันดิ่งลงไปในทางกาม พยาบาท ความโกรธแค้น ขัดเคือง หงุดหงิดนั่นนี่อยู่ ถีนมิทธะ การที่จิตเพลีย อ่อนเพลีย ละเหี่ยละห้อย อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตมันฟุ้งขึ้นไปอย่างคึกคะนอง และ วิจิกิจฉา ความที่ไม่แน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ ที่เรียกว่า กามฉันทะ พอใจในสิ่งที่เรียกว่า กาม นี่ก็เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกในเวทนาที่มีรสอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย สูงขึ้นมาตามลำดับจนถึงวัยเต็มที่ของความเป็นหนุ่มสาว แล้วก็ยากที่จะเหือดหายไป ฉะนั้นจึงรบกวนจิตบ่อย ทีนี้ พยาบาท นี่ ใช้คำว่า พยาบาท คำเดียว แต่หมายถึง ความไม่ชอบพอ ความขัดใจ คับแค้น อะไรทุกอย่าง โกรธง่ายแล้วก็ลืมยาก แล้วก็เอามาทบทวนความโกรธอยู่ในรูปของความอาฆาตพยาบาท ริษยา เคียดแค้น มันก็มารบกวนใจอยู่เสมอ ทีนี้ที่มันรบกวนต่อไปก็คือ ถีนมิทธะ ความที่จิตมันซบเซา แม้ที่สุดแต่ง่วงนอน อ่อนเพลีย มันก็มารบกวนอยู่บ่อยๆ ไม่มีความกระปรี้กระเปร่าเลย ถ้าไอ้ตัวนี้มันมาก นี้ถ้าว่าตัว อุทธัจจะกุกกุจจะ มา มันก็ฟุ้งซ่านเกินกว่าเหตุ ฟุ้งซ่านขนาดนอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านขนาดที่เรียกว่าเหมือนจะเป็นบ้า มันก็มารบกวน ทีนี้ วิจิกิจฉา นี่ขอให้สังเกตด้วย ตัวหนังสือแปลว่า ลังเล ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อทุกอย่างที่ทำให้เกิดความรางเลือน ลังเล อ่อนแอ ไม่เชื่อว่าเราจะปลอดภัย ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ ไม่เชื่อแม้วิชาความรู้ของเรา ไม่เชื่อในสิ่งที่เราเคารพนับถือ ไม่เชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เชื่อแม้แต่ตัวเอง ไม่เชื่อแม้แต่สมรรถภาพของตัวเอง มันไม่แน่ใจลงไปได้ มันทำให้เกิดความโลเล รวนเร ต้องไปสังเกตดูให้ดีว่ามันมี มีเมื่อไร มีที่ไหน มีอย่างไร ซึ่งเราก็เคยมีทั้งนั้นแหละแต่เราไม่สังเกต ยังแถมมีความทุกข์ด้วย ไอ้ความลังเลอย่างนี้
มันมีถึง ๕ อย่าง เป็นอย่างน้อยนะที่จะมารบกวนจิต พอสิ่งเหล่านี้มารบกวนจิต จิตก็ปราศจากความวิเวก คือความสงบสงัด ไม่ต้องมีอะไรมาโดยตรง มันคิดเอาก็ได้ คือจิตมันคิดย้อนหลังก็ได้ หรือจิตมันปล่อยไปอย่างไม่ควบคุม นี่มันก็มีความคิดความรู้สึกชนิดนี้เกิดขึ้นมารบกวนจิตเอง อย่าเห็นเป็นเรื่องในหนังสือหรือเป็นตัวหนังสือ ไปเห็นมันในชีวิตจริงๆ ตามธรรมดาประจำวันน่ะ มันมีสิ่งเหล่านี้รบกวนอยู่ เราก็ไม่รู้ไม่ชี้กับมัน ก็ปล่อยไปให้มันรบกวนโดยไม่คิดจะแก้ไข อย่างดีก็เพียงกลบเกลื่อน อันนี้เกิดขึ้นมาเหลือทนก็ไปกลบเกลื่อนอันโน้น อันโน้นเหลือทนก็ว่าไปกลบเกลื่อนอันอื่น แต่ที่ร้ายหรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือว่า ยิ่งไปส่งเสริมมัน พอความรู้สึกทางกามารมณ์เกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนเสียหรือแก้ไขเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า มันก็เลยงอกงามใหญ่ หรือพยาบาท ความอาฆาต ความริษยาอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนมันเสีย ละมันเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า ไปหาอะไรมาเตรียมพร้อมไว้สำหรับจะทำลายล้างกันอย่างนี้ อื่นๆ ก็เหมือนกันแหละ เช่น ง่วงนอนขึ้นมา แทนที่จะบังคับกันบ้าง ก็นอนมันเสีย ให้มันมากขึ้นไปอีก ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยให้มันหลงใหลในความฟุ้งซ่านมากยิ่งขึ้นไปอีก ความลังเลสงสัยนี่ก็ไม่เคยคิดแก้ไข อย่างเดียวกัน ความไม่แน่ใจมันก็มีเป็นนิสัยมากขึ้น จิตอย่างนี้ถูกรบกวนนานาประการ ก็เรียกว่ามันไม่มีวิเวกทางจิต จิตไม่สงัดจากสิ่งรบกวนทางจิต นี่ก็พอจะรู้ได้อีกเหมือนกันว่าเราจะเรียนจากหนังสือไม่ได้ เราต้องเรียนจากจิตใจจริงๆ จากที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจจริงๆ จึงจะรู้จักมัน และจะไม่ชอบมัน แล้วก็ค่อยๆ อยากจะทำลาย หรือแก้ไข หรือล้างมันเสีย เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันแต่ในหนังสือในกระดาษทั้งนั้น เรื่องอย่างที่กำลังพูดนี่ เรียนแต่ในกระดาษ ในหนังสือ ในคัมภีร์ รู้เรื่องความรบกวนทางจิตไว้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วเปรียบเทียบดูว่ามันไม่ใช่เรื่องทางกาย อันโน้นมันกระทบกระทั่ง เบียดเบียน คลุกคลีในทางกาย อันนี้มันกระทบกระทั่งในระบบของจิต
ทีนี้มาถึงอันที่ ๓ ที่เรียกว่า อุปธิวิเวก แปลว่าสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ หอบหิ้วเอาไว้ กอดรัดเอาไว้ เทิดทูลเอาไว้ เป็นเรื่องวัตถุ สังขาร ร่างกาย กามารมณ์ ตัวกู ตัวกู ร้ายกาจที่สุด คนโง่ชอบนักหนา บรมโง่ อย่างนี้เรียกว่า ไม่วิเวก คิดดู ถ้าถือก้อนหินเอาไว้ จิตมันจะสบายได้อย่างไร ที่จัดไว้อันหลังสุด เพราะมันร้ายกาจกว่า สองอันแรก รบกวนทางกายไม่เท่าไร รบกวนทางจิตก็ไม่เท่าไร แต่อุปธิวิเวกรบกวนตลอดเวลา ทุกวินาที เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยรู้กันมากนัก ไม่ปรารถนาที่จะวิเวก วิเวกมันในหน้าที่มันเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ
วิเวกเมื่อใด มันก็เป็นสุขภาพทางจิตใจเมื่อนั้น ไม่ มีอะไรมารบกวนกาย สุขภาพกายก็ดี ไม่มีอะไรมารบกวนจิต สุขภาพจิตก็ดี พระอรหันต์ไม่มีสิ่งรบกวน ที่เรียกว่า วิเวก อาจจะมีของไปรบกวน คนไปรบกวน สัตว์ไปรบกวน แต่ก็เหมือนไม่รบกวน ทางจิตก็ไม่มีนิวรณ์ไปรบกวน ทางอุปธิ ก็ปล่อยวางหมดแล้ว พระอรหันต์ ท่านก็มีวิเวก ครบสมบูรณ์ นี่ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบ สำหรับให้เรารู้จักพระอรหันต์โดยถูกต้อง และเราก็ไม่ต้องอวดดีว่าจะเป็นพระอรหันต์กันเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นควรเอาอย่างท่าน เพื่อสุขภาพอนามัย ที่จริงมันก็มีอยู่ตามสมควร แต่คนโง่มันมองไม่เห็น ถ้าไม่มีวิเวกเลย มันตายไปนานแล้ว มันเป็นบ้า เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนมันพอมี แม้แต่คนกิเลสหนา มันยังพอมี ไม่ใช่มีกิเลสทุกลมหายใจเข้าออก แม้นาทีเดียวก็ถือว่ามี แต่คนมันไม่สังเกตเห็น มันไม่สนใจ มันไปหาสิ่งมารบกวนอีก หาสิ่งที่มาช่วยประโลมใจ ไม่ให้ว่าง
เครื่องประโลมใจ ถ้ามันไปในทางที่ดี ก็ดีอยู่ แต่ถ้าไปในทางที่ไม่ดี ก็วินาศ มีธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ มันก็ดี มีกามารมณ์เครื่องประโลมใจ มันก็วินาศ มนุษย์ทั่วไปมันก็เครื่องประโลมใจ จึงเป็นปัจจัยที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหมือนกัน จริงในบาลีมีแค่สี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย มันเป็นทางกาย แต่ทางฝ่ายจิตมันมีปัจจัย คือเครื่องประโลมใจ ถ้าไม่มีมันจะกระวนกระวายใจ มันไม่ปกติ ก็พูดให้คิด ให้นึก สวดมนต์ก็ได้ เรียนธรรมะก็ได้ มาประโลมใจ ธรรมะไม่เป็นอันตราย ให้เห็นภาพเหล่านั้น แล้วถูกต้อง พอใจ เป็นสุขภาพทางจิต ทางวิญญาณ เลยขอเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้า ให้สบายใจ มีกำลังใจ รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ ถ้าใช้กิเลสเป็นเครื่องประโลมใจ มันเขลา มันโง่ มันเป็นการทำลายวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก หรือแม้แต่จิตวิเวก พวกที่ชอบกินเหล้า มันก็เกลียดวิเวก กินเหล้าไปกระตุ้นให้ฟุ้งซ่าน มันก็เลิกไม่ได้ ไม่ยอมเลิก หรือสูบบุหรี่ คนสูบมันก็สบายใจ ให้สิ่งเสพติดมาประโลมใจ ละก็ไม่ได้ มันไม่ต้องการวิเวก ของเสพติดอื่นก็เหมือนกัน น้ำชา กาแฟ เราควรหาอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่เป็นทาสต่อสิ่งใด นั่นแหละดี มีสิ่งใดเป็นนาย เหนืออยู่ มันก็ไม่วิเวก มันเป็นสิ่งที่ควรสร้าง แต่เขาไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมทำความรู้สึก แม้ช่วงเวลาที่ว่างจากกิเลสมันก็มีบ้าง แต่มันไม่ยอมรับรสว่า มันประเสริฐอย่างไร
เราสังเกตดูดีๆ ว่า เมื่อใดที่เรารู้สึกสบายใจที่สุด เวลานั้นจะไม่มีอะไรรบกวนทางกาย จิต และอุปธิ แต่มันก็ผ่านไปโดยไม่มีใครรู้จัก แต่ก็พยายามไปหาโอกาสที่ไม่มีอะไรมารบกวน ไปชายทะเลบ้าง ไปภูเขาบ้าง แต่มันก็แค่ผิวๆ มันยังมีอุปธิ คือตัวกู ลากตัวกูไปเที่ยวทะเล ตัวกูมันไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะไปที่ไหน แต่ก็รู้สึกอยู่บ้าง ไปริมทะเล มันโล่งอกโล่งใจ ว่างบ้าง มีวิเวกบ้าง แต่ไม่รู้จัก ไม่สร้างมันให้มีตลอดเวลา ฉะนั้นมันเกี่ยวกับความพยายามที่จะสร้างขึ้นมา
ทีนี้มาพูดเรื่อง ธรรมะปฏิบัติที่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องนิพพานมันคือเรื่องว่าง สงบ วิเวก ศีลก็ทำให้วิเวก ปราศจากสิ่งรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกตามระดับของสมาธิ มันจะพอมีตัวอย่างเล็กๆ ของวิเวกเข้ามา ถ้าเราพอใจที่จะมีมากขึ้นไปอีก พอใจ นั่นคือ ฉันทะ แล้วก็มี วิริยะ จิตตะ วิมังสา ตามหลักของอิทธิบาท ตามหลักศาสนาก็เป็นแบบนี้ แต่ไปเรียกว่า วิมุติบ้าง วิสุทธิ์บ้าง แต่ก็มีความหมายคล้ายกัน ไม่มีอะไรมารบกวน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ถ้ามองเห็นความว่างจะเข้าใจ ไม่ว่างมันบริสุทธิ์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ทีนี้การบวชเข้ามา เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้ เมื่ออยู่ที่บ้าน นั้นยากที่ศึกษา ไม่มีโอกาส มีเวลาเล่นหัวคลุกคลีกันอยู่มาก เอาเวลาไปนั่งวิเวกบ้าง อย่าชอบหัวเราะ ชอบคลุกคลี ที่เป็นข้าศึกต่อวิเวก แต่เอาเถอะ มันยากที่จะไม่หัวเราะเลย แต่ให้ระมัดระวังให้ควบคุม อย่าทำลายความสงบ สงัด ของจิตใจ วิเวกของผู้ สันโดษ ถ้าได้ฟังธรรมะของพระอริยะเจ้า มีความเห็นธรรมะนั้น จึงเกิดความวิเวก แล้วเป็นสุข
ประโยชน์ของการมีวิเวก ๑. ทำให้สุขภาพจิตดี ไม่มีอะไรมารบกวนกายมันก็มีร่างกายที่สบาย ไม่มีอะไรมารบกวนจิตจิตมันก็ดี ไม่มีอะไรมาเป็นของหนักแก่จิตใจยึดมั่นถือมั่น มันก็ทำให้สุขภาพจิตดี
๒. ทำให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน คือการทำให้ว่าง สงัด วิเวก ก็เรื่องเดียวกันนี่แหละ ศีลช่วยให้วิเวกไปตามระดับของศีล ปราศจากการรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกไปตามระดับของสมาธิ ถ้าเป็นอุปธิวิเวกในระดับพระอรหันต์ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนเลย...
๓. วิเวกเป็นวัคซีนป้องกันโรคทางจิตใจ เคยคิดไหมว่า พูดอย่างนี้มันเหมือนกับชักจูงถอยหลังเข้าคลอง เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ซึ่งคนโบราณต้องการ เขาชอบกันนัก ต้องการกายวิเวก จิตวิเวก แต่คนสมัยนี้ควรจะเห็นว่า มันโบร่ำโบราณโง่เง่าเต่าล้านปี แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องที่สดใสแจ่มใส เยือกเย็นงดงามยิ่งนัก ในสมัยปัจจุบันนี้วัตถุเจริญมากมาย ขณะเดียวกันมีเรื่องชิงดีชิงเด่น แข่งกันใหญ่ ดูมันยุ่งๆ วุ่นวายไปหมด นี่เป็นเพราะไม่มีวัคซีนทางใจ คือวิเวกเข้าช่วยนั่นเอง
๔. วิเวกทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ในเมื่อศึกษารู้เรื่องจิต ปล่อยวางจิต สิ่งที่ครอบงำถูกปลดปล่อยจากจิตใจ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกเป็นลบ แม้ว่าจะต้องตายก็ไม่เป็นทุกข์ คนจบปริญญายาวเป็นหาง หากไม่ปล่อยวาง มีวิเวกก็คงบ้าตายไม่ต้องสงสัย ขอให้รู้ว่าสูงสุดของพระศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาชนะอะไรไปเสียทุกอย่างในโลกได้ เป็นกฎของธรรมชาติที่ตายตัวเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าไม่รู้จักวิเวก หรือเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนต่างๆ มันก็จมอยู่ในทุกข์ตลอดไป
๕. วิเวกเป็นไวพจน์ของนิพพาน เป็นคำแทนชื่อของพระนิพพานแปลว่า ดับเย็น วิเวกแปลว่าสงัดหรือเดี่ยวอย่างยิ่งถ้ามันมีอะไรรบกวนมันก็จะดับอยู่ในตัว สงบเย็นอยู่ในตัว ดังนั้นวิงวอนทุกคนว่า จงพยายามมีวิเวก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องได้ใช้ต่อไปไม่ว่ายุคใดสมัยใดต่อไปในวันข้างหน้า
ความเป็นพุทธ ถึงได้อยู่ที่ปัจจุบันมีสติมีสัมปชัญญะ คนเราต้องแก้ปัญหาให้ถูก ไม่งั้นก็ขอไปวิเวกที่นั้น ขอไปวิเวกที่นี้ ขอไปอยู่ที่นั่น - ที่นี่ ไม่อยากเจอหน้าคนนู้นคนนี้ เหมือนเราพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหา แต่แก้ไขปัญหาได้แต่ภายนอก ถ้าใจของเรามันไม่ได้แก้ไข ก็มีปัญหาอย่างเก่า เราต้องขอบใจ ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพลาก ความจากไป ขอบใจหนาวร้อน เราจะได้พัฒนา เข้าถึงได้ถึงความเป็นพุทธ ในปัจจุบันนี้ เราจะได้รู้ว่า โอ้... มันไม่ไกลเอง พระนิพพานมันอยู่ใกล้หรือไกล อยู่ที่ใจเราที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องมีการปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทุกคนไม่อาจที่จะมองข้ามตัวเองในปัจจุบันด้วยกาย วาจา ไปอยู่แต่ความฟุ้งซ่าน เพ้อฝัน เลื่อนลอย ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย คนเราต้องเสียสละตัวตน จิตใจเราถึงจะมีความสุข จะไปปล่อยวางแบบไม่เห็นรูปไม่ฟังเสียง มันไม่ใช่ศาสนาพุทธ เราก็กลายเป็นบริโภคปัจจัย 4 มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเราไม่ได้แก้ไขตัวเอง ขอไปวิเวกขอไปอะไร จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องอย่างอื่น มันเป็นเรื่องยังไม่รู้จักศาสนา ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ จะหนีไปไหน ถ้าอย่างนั้น ตาบอดก็ดี หูหนวกก็ดีสิ พิกลพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ก็ดีสิ มันยังไม่ดี เพราะมันต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ เราจะมีด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง เราต้องทิ้งอดีตมันไป ความโง่ ความยึดมั่นถือมั่น เข้าถึงปัจจุบันธรรม มันจะได้หยุดก่อน อวิชชาที่ใหญ่หลวง หรือว่าเล็กๆ น้อยๆ
เราจะพากันหนีไปไหน เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การหนีไปโน่นไปนี่ เราต้องมาแก้ที่ใจของเรานี่แหละ หยุดวุ่นวาย หยุดความปรุงแต่ง ที่คิดมากก็ให้คิดน้อยลง บางคนก็คิดเลยเถิดเตลิดไป มาบวชเป็นพระมาประพฤติปฏิบัติธรรมมาอยู่วัด ถ้าใครไปมัวคิดปรุงแต่ง ตามใจตามอารมณ์ไปเรื่อย ไม่รู้จักหยุดความคิดมันก็บาป อยู่บ้านอยู่กับครอบครัวอยู่ในสังคมไม่รู้จักหยุดความคิดความปรุงแต่ง มันก็บาปเหมือนกัน เรื่องบาปเรื่องกรรมไม่มีใครยกเว้นนะ คิดไปเรื่อยๆ ความปรุงแต่งมันทำให้เราตกต่ำนะ เหมือนมีพระรูปหนึ่ง ที่มีความเห็นผิดเข้าใจผิด คิดว่าการบวชมันเป็นของยาก รักษาศีล 227 ข้อ มันยากเหลือเกิน ก็เลยขอสึกบวชเป็นสามเณร เป็นสามเณรก็ยากอีก ต้องทำงานอุปัฏฐากพระ ช่วยพระทำในกิจบางอย่างที่พระทำไม่ได้ ก็เห็นว่าหนักอีก ก็เลยสึกจากสามเณรเป็นอุบาสกนุ่งผ้าขาวอยู่ในวัด ก็เห็นว่าปฏิบัติยากอีก เพราะทำตามใจไม่ได้ เลยออกจากวัด ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ติดการพนัน มั่วอบายมุขตกต่ำไปเรื่อย เห็นไหมว่าความคิดความปรุงแต่งมันพาให้เราฉิบหายไม่เป็นชิ้นดี ไม่มีอะไรเสียหายเท่ามิจฉาทิฏฐิ
เราอย่าไปตามมันเลยความคิดความปรุงแต่ง มารู้จักหน้าตามันให้ดี เหมือนอยู่ในวัด เราก็รู้จักพระรูปนั้นเณรรูปนี้โยมคนนั้นคนนี้ เราก็รู้จักหน้าตาให้ดี ความปรุงแต่งทั้งหลายมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เราก็ต้องมารู้จักหน้าตามันให้ดี ไม่ใช่เราจะไปตามความคิดความปรุงแต่ง ความคิดความปรุงแต่งมันมีกับเราตลอดอยู่แล้ว เพราะมันเป็นหนึ่งในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ก็ทำหน้าที่ของเขาไปเรารู้จักหน้าที่ การงานของเขา เขาก็ทำหน้าที่ไปอย่างนั้น เราจะได้ไม่ไปปรุงแต่งในขันธ์ 5 ในอายตนะ 12 ถ้าเราไม่รู้จักความคิดความปรุงแต่ง จะไปประพฤติปฏิบัติยังไง ก็ไม่ได้เรื่อง ไม่รู้เรื่อง จะถือศีลถือธุดงค์ เดินธุดงค์หลายป่า หลายภูเขา หลายถ้ำ หลายประเทศ มันก็ไม่ได้เรื่อง ด้วยเหตุด้วยปัจจัยนี้ พวกท่านทั้งหลายจึงต้องมารู้จักอารมณ์รู้จักความคิดรู้จักความปรุงแต่ง ว่ามันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง มันเป็นสิ่งที่เผาเรา จัดการเรา ยังไม่ตายก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น ที่บวชอยู่ไม่ได้ ก็เพราะว่าความคิดความปรุงแต่ง สังขารการปรุงแต่งทั้งหลายมันเผาเรา ให้เรารู้จักสังขารการปรุงแต่งเหมือนกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วได้เห็นหน้าเห็นตากิเลสจึงได้ทรงอุทานขึ้นมาว่า
เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่สังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้สร้างเรือนเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว โครงเรือนเราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว
“นายช่างผู้สร้างเรือน” ในที่นี้หมายถึงตัณหา เพราะตัณหาความอยาก ๓ ประเภทนี้เองที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น เรียกว่าวงจรแห่งสังสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่บรรลุพระนิพพาน
“โครงเรือน” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ ส่วน “เรือนยอด” หมายถึงอวิชชา พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหาพร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว
ทุกท่านทุกคนต้องขอบใจอวิชชาความหลง ความปรุงแต่งนะ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีพระธรรม ไม่ได้มีพระอริยสงฆ์ จึงต้องมาขอบใจอวิชชา ที่ทำ ให้เราเครียดให้เป็นโรคจิตเป็นโรคประสาท ทำให้เราได้สำนึกสำเหนียก ได้พัฒนาตนเองเพื่อหยุดก่อนลาก่อนวัฏสงสารคือถึงพระนิพพานในที่สุด