แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๑ พระภิกษุสามเณรขับรถยนต์ จะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทนเห็นได้หรือไม่
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
กราบนมัสการพระมหาเถระ พระเถระ พระภิกษุสามเณร เจริญพรอุบาสก อุบาสิกา ข้าราชการ คหบดี พ่อค้า ประชาชน ในประเทศไทยและต่างประเทศ
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง สิ่งที่ดีที่สุดก็คือธรรมะ เราจะเข้าถึงธรรมะได้ เราก็ต้องมีข้อวัตร ข้อปฎิบัติ มีศีล มีสมาธิ มีมีปัญญา เรียกว่ามีศาสนา ศาสนานี้ก็ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราไม่ใช่เขา ก็คือธรรมะ อย่างนี้แหละ
ประเทศไทย หลายปีมาแล้ว ภิกษุสามเณร ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ประเสริฐคือพระศาสนา ก็พากันเอาตัวตนเป็นใหญ่ ทิ้งพระธรรม พระวินัย ถึงแม้ว่าเราเรียนธรรมวินัย พระไตรปิฎก จบ ป.ธ.9 อย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะว่าการเรียนการศึกษานั้น ยังไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราถึงได้พากันเป็นคนเก่งคนฉลาด แต่ยังไม่ได้เข้าถึงศาสนา
ประเทศไทยเราเมื่อหลายปีมานี้ มีเทคโนโลยีก้าวเข้ามาสู่ชีวิต มีรถ มีเรือ มีเครื่องบิน มีสื่อสารมวลชน มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกสบาย เราก็พัฒนากันมาไกล แต่จิตใจนั้น พากันทิ้งศาสนาไปเลยเกือบ 100% แล้ว พระภิกษุสามเณรเนี่ย ทำผิดพระวินัย มีธรรมะ ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก มีอยู่ในหนังสือ ในเมืองไทยนี้ทิ้งพระวินัยกันอย่างน่าใจหาย ทิ้งไปเกือบ 100% นะ ทุกวันนี้ก็เห็นพระภิกษุ สามเณรเอาแต่เรียนเอาแต่ศึกษา แต่ไม่ปฏิบัติ ทิ้งพระวินัยไปเกือบหมด
ความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการศึกษา เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ แต่เราพากันทิ้งธรรม ทิ้งปัจจุบันธรรม การเรียนการศึกษาน่ะ เชื่อว่าเมื่อเรียนจบ นักธรรมตรี โท เอก แล้วถึงจะไปปฏิบัติ หรือว่าจบ ป.ธ.9 จบ ปธ.1, 2, 3, 4 ถึง 9 แล้วถึงจะปฏิบัติ เลยทิ้งธรรม ทิ้งปัจจุบันธรรม เพราะการจะประพฤติ ปฏิบัติ มันต้องขึ้นอยู่กับที่ปัจจุบันนะ
เมื่อถึงวันที่ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ ก็ส่งเรื่องกราบทูลไปถึงสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อจะได้แก้ปัญหา เพื่อไม่ให้พระขับรถต่างๆ จึงออกมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 11/2564 มติที่ 252/2564
เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติรับทราบ เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๓ และให้สำนักงาน-พระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
๑. แจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทราบ เพื่อแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดตามลำดับ สอดส่อง ดูแล กำชับให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี
๒. แจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจตราการขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณรเยี่ยงประชาชนทั่วไป
แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถูกละเลย และยังมีพระภิกษุสามเณรขับขี่ยวดยานพาหนะ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ อยู่เป็นเนือง ๆ นอกจากนั้น ยังมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ในหลายพื้นที่ได้ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานขนส่ง เพื่อขอออกใบขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จนเกิดเหตุร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากสำนักงานขนส่งจังหวัดในบางพื้นที่เห็นว่า การออกใบขับขี่ไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้ขอออกใบขับขี่เป็นสมณะ
จากประเด็นดังกล่าวได้ปรากฏนัยสำคัญในมหาปเทส ๔ หมวดที่ ๒ เฉพาะในทางพระวินัย
๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
การขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าพระวินัยไม่ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นการทำผิดพระวินัย แต่เป็นโลกวัชชะ (มีโทษทางโลกหรือความผิดทางกฎหมายบ้านเมือง) อาจนำมาซึ่งการกระทำผิด พระวินัยได้ หรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ถ้าหากขับรถยนต์โดยประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ทรัพย์สิน หรือผู้อื่น ได้รับความเสียหาย หรือได้รับบาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต ต้องได้รับโทษปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตาม มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป ซึ่งเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธ ให้ความเคารพกราบไหว้ เป็นผู้ออกจากเรือน ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน การขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) (ความเป็นสมณเพศ) สิ่งนั้นไม่ควร ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติกำหนดมาตรการป้องกัน ดังนี้
๑. ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์
๒.ห้ามกระทำการอื่นใดที่จะเอื้อต่อการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เช่น การจัดทำใบขับขี่รถยนต์ เป็นต้น
๓. หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวข้างต้น ให้เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดดำเนินการพิจารณาโทษตามอำนาจหน้าที่การปกครองคณะสงฆ์ อย่างเคร่งครัด
เว้นแต่การขับขี่ยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวก หรือขนย้ายข้าวของ หรือสัมภาระอื่น เพื่อกิจการของวัดภายในบริเวณวัด หรือมีเหตุจำเป็น หรือมีเหตุฉุกเฉิน อย่างยิ่ง
และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
แต่เดี๋ยวนี้คำสั่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ผล เพราะว่าทำจนปฏิปทา จนติดนิสัย พอมันมีปัญหา คิดว่ามันจำเป็นต้องขับรถขับเรือ ก็เพราะว่ามันมีการเรียนการศึกษา เพราะทุกวันนี้ญาติโยมก็ทำภารกิจ ทำหน้าที่การงาน ไม่มีใครว่างมาขับให้พระ ก็ถ้าหากว่าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ทุกคนเพียงแค่ได้ยินชื่อก็ได้บุญได้กุศล ถ้ายิ่งถวายความสะดวกสบายก็ยิ่งเป็นบุญใหญ่ กุศลใหญ่ แต่นี่เราทิ้งธรรมวินัย ใครเขาจะมาขับให้ ใครเขาจะมาบริการ ถ้าเรายิ่งพากันใช้เงินใช้สตางค์ ยิ่งไปกันใหญ่ เราไม่ต้องมีข้อแม้ใดๆ เราถึงจะแก้ปัญหาได้
ใครอยู่ที่ไหนก็ต้องดูแลญาติโยมประชาชนที่นั่น ดูแลตัวเอง เข้าสู่พระธรรมพระวินัย ไม่ต้องไปบิณฑบาทหาของอร่อยๆ หาบ้านคนรวย มันไม่ใช่อย่างนั้น เราไปเรียน ไปศึกษาอย่างนี้ก็เพื่อจะปฏิบัติธรรมวินัยนี้ เราเรียนศึกษาเพื่อทำลายธรรมวินัย มันไม่ใช่ มหาเถรสมาคมออกมติมา ก็ไม่ได้ผล จึงขอประทานพรไปทาง ผบ.ตร เพื่อให้เป็นพลังสนับสนุนเรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพราะว่าถึงมีตำรวจพระ คือพระวินยาธิการ ตำรวจพระมันก็ใจอ่อน เพราะว่าตำรวจพระไม่มีปืน
พวกพระผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ให้ผู้หญิงขับรถก็ต้องระมัดระวัง อยากจะไปนั่งคู่กับคนขับที่เป็นผู้หญิงขับ ถ้าไปเป็นหมู่เป็นคณะต้อง นั่งอยู่ข้างหลัง หรือประเทศไทยนี้ผู้ชายไปไหนหมด ผู้ที่ใกล้ชิดพระนั้นก็คือผู้ชาย ไม่ใช่มาตุคาม พระพุทธเจ้าไม่ให้อยู่ใกล้ผู้หญิง 2 ต่อ 2 ลับหู ลับตา เพราะว่ามันเป็นข้าศึกต่อกุศล เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เราจะว่าเราไม่ยึด ไม่ถือไม่ได้ ถ้าไม่ยึดไม่ถือ แต่ทำไมถือแบรนด์เนมของพระพุทธเจ้าอยู่ ปลงผมอยู่ ห่มจีวรอยู่ ถ้าไม่ยึดไม่ถือก็ลาสิกขาไปทำมาหากินเสีย พวกขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็ถ้าใครปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องลาสิกขาไป ไม่พากันมารวมกันทำลายพระพุทธศาสนา ทำลายมรรคผลนิพพานของกุลบุตรลูกหลาน จนเค้าพากันเข้าใจว่าพระนี้ขับรถ ขับเรือได้ อะไรได้ พระพุทธเจ้าตั้งแต่บวชมาก็ไม่สวมฉลองพระบาท ร่มก็ไม่กางเลย ไปที่ไหนมีแต่เดินไป ถึงจะเจ็บป่วยอะไรนี้ก็เดินไปเรื่อย ไปกับพระอานนท์ ก่อนจะเสด็จกับขันธปรินิพพาน
พวกประชาชนคนที่สนับสนุนก็ให้พากัน ช่วยกัน เป็นหู เป็นตา อย่าเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะเราพูดอย่างนี้ เราไม่ได้ว่าให้พระ เพราะพระนั้นคือพระธรรม พระวินัย เราว่าให้พวกที่กำลังพากันทำลายผลประโยชน์ส่วนรวม คือพระศาสนา มันข้ามปัจจุบันไป ถ้าข้ามมันก็คือมันไม่ถูก เราต้องพัฒนาความถูกต้อง แล้วพัฒนาใจไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ มันถึงจะไปได้ เราถึงสมควรที่จะมีศาสนา ถ้าอย่างนั้น เรามีแต่ศาสนา เป็นเพียงกาฝากของสังคม เป็นทางออกของพวกไสยศาสตร์ พวกหลงงมงาย มันเป็นการเอาเปรียบส่วนรวม เราทำความผิด ทำไม่ถูกต้อง ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ มันก็ไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ธรรมาธิปไตย ส่วนรวมเค้า พวกที่ขับรถเป็นแล้ว ถ้าไม่มีใครจะตายชักดิ้น ชักงอ หรือป่วยหนัก ขับรถนำพระป่วย แม่ชีป่วยไปไม่ได้ เพราะว่ามันจะถือวิสาสะ ปล่อยไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าถึงปรับหนัก พวกอาบัติสังฆาทิเสส หรือปรับหนักพวกอาบัติปาราชิก เพราะมันได้ทำ มันเคยชิน มันเบรคตัวเองไม่ได้ ท่านถึงตัดไปเลยพวกปาราชิกทั้งหลาย ขาดจากความเป็นพระไปเลย จิตใจมันหยาบ มันจะเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ทำให้ทำลายความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐบาลก็สนับสนุน มาข้ามปัจจุบันที่เป็นธรรม ปัจจุบันที่ถูกต้องไปอย่างนี้ ไม่ได้ พวกนี้ต้องสมควรสมเวลาแล้ว มันเสียหายมาหลายปี ก็ต้องแก้กันใหม่ ทุกคนมันก็แก้ไม่ยากหรอก แก้ก็คือแก้คนเดียว คนไหนทำผิดก็แก้คนนั้น มันก็เป็นการแก้คนเดียว อย่าให้ความชั่วมันลอยนวลอยู่ในตัวเรา เราจะพัฒนาขึ้นระดับซุปเปอร์สตาร์มหาโจร ผู้ทำลายศาสนาไม่ได้ เราไม่ต้องไปมองหานารีพิฆาตหรือศาสนานู้น ศาสนานี้ จะมาทำลาย ผู้ที่ทำลายก็คือตัวเราเองนี่แหละ
มันต้องจัดการกับตัวเองทุกๆ ท่าน ผู้ที่บรรพชาอุปสมบทมา ไม่ต้องไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น เราอย่าไปคิดว่าขับรถแมคโคร ขับรถไถ ขับรถเก็บขยะในวัด ขับที่ไหนมันก็คือขับนั้นแหละ ถ้าอยากขับมากก็ขออาราธนาพระคุณเจ้าลาสิกขาไปขับ ไม่สมควรที่จะอยู่ในพระศาสนาอย่างนี้ อันนี้ไม่ได้พูดรุนแรง พูดเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความยุติธรรม เพื่อส่วนรวม ถ้าเราไม่ปฏิบัติดี ไม่ปฏิบัติชอบ แล้วก็แย่เลย บ้านเรา เมืองเรา ขึ้นป้ายหาเงินหาตังค์อยู่ทุกภาคทุกสี่แยกต่างๆ ทำบุญนู้น ทำบุญนี้ อะไรอย่างนี้มันไม่ใช่ มันเป็นการเรี่ยรายจากผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ปวารณา การไปมุ่งภายนอกอย่างนี้ ตามใจตามอารมณ์ มันศาสนาขาลง ไม่ใช่ศาสนาขาขึ้น พระผู้น้อยนี้บอกง่ายกว่านะ พวกเจ้าคณะทั้งหลายนี้แหละว่ายาก สอนยาก เพราะทำผิดมานาน ให้พากันรู้ตัว พวกประชาชนก็ให้พากันรู้ไว้ทั้งประเทศ ทั้งโลกเลย ว่า พระทำอย่างนี้ไม่ถูก พระตามใจ พระทำผิดพระธรรมผิดพระวินัย บางทีพระเราไปขับรถ รถไปชนเค้า เค้าตายมันก็ผิดกฏหมาย ผิดกฏหมาย มันก็ต้องติดคุก เราจะว่าเราไม่มีเจตนา ไม่ได้ เพราะเรามีเจตนาที่จะขับรถ ขับรถมันอาจจะผิดพลาดไปชนคน ชนมนุษย์ ชนสิ่งของเค้า มีความเสียหายเกิน 5 มาสกได้ เค้าถึงไม่ให้พระนี้มีใบขับขี่ ใบขับขี่เก่าๆ ที่ขับได้ตลอดชีพ ตั้งแต่ผู้ที่ยังไม่ได้บวช พวกนี้มันก็ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะใบขับขี่นั้นชื่อเป็นนาย ถ้าชื่อเป็นนายมันก็ยังผิดนะ เมื่อมหาเถรสมาคมออกมติมาแล้ว ตำรวจจะได้ทำงาน อย่าพากันไปบ่นว่าให้ตำรวจ ว่า ตำรวจไม่หาไปจับโจร จับขโมย จะมาจับพระขับรถ ขับเรือได้อย่างไร หมดงานทำแล้วหรอ เราทำไม่ถูกต้อง ยังจะไปพาลตำรวจเค้าอีก อย่างนี้ก็ไม่ถูกนะ
พระผู้ใหญ่ ที่สำคัญๆ ที่เป็น ปธ. ทั้งหลาย ดร. ทั้งหลาย ศาสนาพุทธนี้ไม่ใช่ปริญญา แต่เป็นการเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันเสียสละ อย่าไปอ้างว่าเวลาไปบิณฑบาตไม่มีใครขับรถพาไป ก็เลยต้องขับเอง ต้องคอยหาช่อง หาข้ออ้างซิกแซกพระธรรมพระวินัย เลี่ยงบาลี คณะสงฆ์บางกลุ่มพูดว่า ขับรถในวัดมันควรจะได้ เพราะว่ามันอยู่ในวัด ไม่ได้ออกนอกวัด มันไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนการกินเหล้า อยู่ที่วัดพระมันก็เมา โยมก็เมา กินที่บ้านมันก็เมา การทำความผิด มันก็ผิดหมด เพราะว่ามันผิด ผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างนั้น ถือว่ายังไม่ถูกต้อง ยังไม่เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม เหมือนผู้เลี่ยงบาลี ที่พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติพระวินัยตรงโน่นตรงนี้ ก็เพราะพวก “เลี่ยงบาลี” คำว่า “เลี่ยงบาลี” คือ “พระบาลี” หรือพระธรรมวินัยที่ชาวพุทธนับถือปฏิบัติสืบกันมา ในส่วนที่เป็นพระวินัยอันภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม ภิกษุบางรูปที่ไม่มีความละอาย หาทาง “เลี่ยง” คือไม่ละเมิดตรงๆ แต่ใช้เลศทางอ้อมทำให้เห็นว่าไม่ผิด หรือแม้ทำผิดจริงก็หาทางแก้ตัวไปต่างๆ ว่าที่ทำเช่นนั้นไม่ผิด - อย่างนี้แหละคือ “เลี่ยงบาลี” คือ หาวิธีทำผิดโดยไม่ให้จับได้ว่าผิดตรงๆ หรือทำผิดแล้วหาข้อแก้ตัวเพื่อให้เห็นว่าไม่ผิด : เลี่ยงบาลีได้ : แต่เลี่ยงนรกไม่ได้
ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ในวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ความตอนหนึ่งว่า – สิยา โข ปนานนฺท ตุมฺหากํ เอวมสฺส อตีตสตฺถุกํ ปาวจนํ นตฺถิ โน สตฺถาติ, น โข ปเนตํ อานนฺท เอวํ ทฏฺฐพฺพํ. ดูก่อนอานนท์ บางที่พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด อันเราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
คำว่า “ปาพจน์” หมายถึง พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นตัวพระศาสนา คำว่า “ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว” หมายความว่า พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของคำสอน (คือพระธรรมวินัย) บัดนี้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว เหลือแต่คำสอน
คำว่า “พระศาสดาของพวกเราไม่มี” ขยายความว่า แม้จะยังเหลือคำสอนอยู่ แต่เมื่อตัวผู้สอนไม่มีแล้ว คำสอนนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับว่าไม่มีพระศาสนาเหลืออยู่อีกแล้ว หมายความว่า ต่อไปนี้ใครจะทำผิดทำถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครที่จะมาคอยกวดขันชี้ผิดชี้ถูกอีกแล้ว สิ่งที่ห้ามทำ ไปทำเข้า ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาว่าอะไร สิ่งที่บอกให้ทำ แม้ไม่ทำ ใครจะมาว่าอะไรกันได้ แปลว่าใครจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ตามสบาย
พระศาสดาได้ตรัสเตือนไว้ว่า - อย่าได้คิดอย่างนั้น
ทรงยืนยันว่า พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ยังอยู่เป็น “สตฺถา” คือเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ นั่นคือพระศาสดาจะยังคงอยู่กับพระศาสนาตลอดไป ตราบเท่าที่พระธรรมวินัยยังอยู่
พระธรรมวินัยจะยังคงอยู่ได้ก็ด้วยการที่พุทธบริษัทขวนขวายศึกษาและปฏิบัติตามมิให้ขาดตกบกพร่อง การไม่เอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย การไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย คือการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงนอกจากจะเป็นการทำร้ายองค์พระศาสดาแล้ว ยังเป็นการทำลายพระศาสนาไปด้วยพร้อมๆ กัน อย่าเอาความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย...พระพุทธศาสนาก็วินาศ
พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย เผยแพร่บทความเรื่อง "ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย...พระพุทธศาสนาก็วินาศ" มีเนื้อหาดังนี้
วิถีชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาย่อมต่างไปจากวิถีชีวิตของผู้ครองเรือน วิถีชีวิตของพระสงฆ์มี ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑ สิ่งที่ห้ามทำ ๒ สิ่งที่ต้องทำ การศึกษาของผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อจัดกลุ่มแล้วก็รวมอยู่ใน ๒ เรื่อง คือ ๑ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ห้ามทำ แล้วละเว้น สำรวมระวัง ไม่ทำสิ่งนั้น แม้ในเรื่องที่มีโทษเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด ๒ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ต้องทำ แล้วก็พยายามขวนขวายทำสิ่งนั้นไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ ๑ ไปทำสิ่งที่ห้ามทำเข้า ทั้งทำเพราะไม่รู้ ทั้งรู้แล้วขืนทำ อ้างว่าจำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือทำแล้วก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ๒ พร้อมกันนั้นก็ปล่อยปละละเลยสิ่งที่ต้องทำ อ้างว่าไม่จำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือไม่ทำก็ไม่เห็นเสียหายอะไร
ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ต้องประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ทุกครึ่งเดือน กำหนดในวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน หรือ “วันพระใหญ่” เรียกเป็นคำสามัญว่า “ลงปาติโมกข์” หรือ “ลงโบสถ์” ถ้าในวัดมีพระไม่ครบองค์สงฆ์ ก็ให้ไปรวมฟังกับวัดใกล้เคียง ถ้าในวัดไม่มีพระที่สวดพระปาติโมกข์ได้ ก็ให้ไปอาราธนาพระที่สวดได้มาจากต่างวัด
ปัจจุบันนี้ พระหลายๆ วัดไม่ได้ลงปาติโมกข์ จะอ้างเหตุอะไรไม่ทราบได้ ในวัดตัวเองก็ไม่ทำ ไปร่วมฟังกับวัดอื่นก็ไม่ไป (บางทีทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นก็ไม่ทำด้วย) วันปาติโมกข์ก็อยู่กันเฉยๆ เจ้าคณะผู้ปกครองก็ไม่กวดขัน ไม่ว่าอะไร นี่คือ-ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ ส่วนเรื่อง-ทำสิ่งที่ห้ามทำ เวลานี้ก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่มีข้อห้ามไว้ชัดเจน ทั้งเรื่องที่ยังถกเถียงกันว่าห้ามหรือไม่ห้าม หลายเรื่องทำกันจนเป็นเรื่องปกติ
ดังที่เวลานี้ พระยืนบิณฑบาต-จนกลายเป็นพระนั่งบิณฑบาต-เป็นเรื่องปกติไปแล้ว คือทำกันทั่วไป พระยืนให้พรกันข้างถนนก็กลายเป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป ผู้คนเอาสตางค์ใส่บาตร ก็เป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป เรื่องที่พระสมัยก่อนไม่ทำ แต่พระสมัยนี้ทำ และมีแนวโน้มว่าจะทำกันมากขึ้น คือพระขับรถยนต์ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง เวลานี้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว แรกเริ่มก็ขับอยู่ในวัด ขนของจากหน้าวัดไปไว้หลังวัด อย่างนี้เป็นต้น ต่อมาก็เริ่มขับออกนอกรั้ววัด ไปใกล้ๆ ก่อน ตอนนี้เริ่มจะขับไปธุระที่นั่นที่นี่ เหมือนชาวบ้าน
เมื่อทำกันทั่วไปเช่นนี้ และไม่มีใคร-โดยเฉพาะผู้ปกครอง-ออกมาวินิจฉัยถูกผิด ตลอดจนผู้คนทั่วไปก็ไม่ว่าอะไร ในที่สุดก็จะกลายเป็นข้ออ้างของพระเณร คืออ้างว่าไม่เห็นมีใครว่าอะไร คือสังคมยอมรับ
ขอทำนายไว้ว่า อีกไม่เกิน ๒๐ ปีนับจากนี้ พระสงฆ์ในเมืองไทยจะขับรถไปไหนมาไหนกันเองเหมือนชาวบ้าน-โดยที่สังคมยอมรับ
และตรงจุดนี้เอง-คือจุดที่อ้างกันว่า “สังคมยอมรับ” นี่แหละ-จะเป็นต้นทางนำไปสู่ยุค “กาสาวกัณฐะ” ดังที่แสดงไว้ในพระคัมภีร์ ถ้ายุค “กาสาวกัณฐะ” จะถึงในก้าวที่ ๕,๐๐๐ การที่พระสงฆ์ในสมัยนี้ช่วยกันสนับสนุนกันเองว่าอย่างนั้นทำได้ อย่างนี้ทำได้ ไม่ผิด ก็ดี การที่สังคมเราในสมัยนี้พากันยอมรับว่าพระสงฆ์ทำอย่างนั้นได้ ไม่ผิด ก็ดี ก็เทียบได้กับเป็นก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐ ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคตซึ่งจะเป็นยุค “กาสาวกัณฐะ” แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอก็เป็นพระ ก็ไปจากก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐ ที่พวกเรากำลังกระซิกกระซี้ชี้ชวนกันก้าวอยู่ในเวลานี้นั่นเอง
พระสงฆ์สมัย “กาสาวกัณฐะ” มีบ้านเรือนอยู่เหมือนชาวบ้าน มีครอบครัว มีลูกมีเมีย เหมือนชาวบ้าน ประกอบอาชีพต่างๆ เหมือนชาวบ้าน ทุกอย่าง-เหมือนชาวบ้าน แต่เวลาที่เอาผ้าเหลืองมาคล้องคอ สังคมยุคโน้นเขาก็ยอมรับกันว่า “นี่คือพระ” แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอ สังคมยุคโน้นก็ยอมรับแล้วว่าเป็นพระ นี่คือความหมายของ “กาสาวกัณฐะ” ลองคิดเทียบดูเถิด
สมัยก่อน ถ้าพระมีบ้านเรือนเหมือนชาวบ้าน สังคมสมัยนั้นจะรังเกียจมาก ไม่นับถือว่าเป็นพระ มาถึงสมัยนี้ กุฏิพระบางแห่งหรูหรายิ่งกว่าบ้านของชาวบ้าน เราบางคนในสมัยนี้ยังรู้สึกรังเกียจอยู่บ้าง แต่โดยส่วนรวมแล้วเราก็ยังนับถือว่าท่านเป็นพระอยู่
สมัยนี้ ถ้าพระมีเมียเหมือนชาวบ้าน สังคมเราจะไม่ยอมรับเป็นอันขาดว่า นั่นเป็นพระ หากใครจะแย้งว่า ที่นั่นไง ที่โน่นไง เขารู้กันทั้งนั้นแหละว่ามีเมีย มีลูกด้วย ก็เห็นยังเป็นพระอยู่มิใช่เรอะ
กรณีนั้นโปรดแยกประเด็นให้ถูกว่า ถ้าเป็นเรื่องจริง ที่ “เห็นยังเป็นพระอยู่” นั่นก็เพราะยังไม่มีใครเปิดเผย คือเพราะสังคมยังไม่รู้ความจริง สมัยนี้ ถ้ามีคนแต่งตัวเป็นพระ พาผู้หญิงไปแนะนำกับใครๆ ว่า “นี่ภรรยาของอาตมา” จะไม่มีใครยอมรับเป็นอันขาดว่า-นั่นเป็นพระ
เพราะอะไร ก็เพราะเราในสมัยนี้ยังมีความรู้ประจักษ์ใจกันว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีเมียไม่ได้ ไม่ต้องถึงขนาดประกาศว่าเป็นเมีย แค่รวมเพศ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้วทันที
ไม่ต้องถึงขนาดเรื่องมีเมียอันเป็นอันติมวัตถุ-พ้นจากความเป็นพระเด็ดขาด แค่สงสัยเรื่องเงินทอนวัด เรายังจับบังคับสึก ยัดเข้าคุก ไม่มีอนาคตอยู่จนวันนี้
ก็แล้วทำไมเล่า สังคมในยุค “กาสาวกัณฐะ” ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคต พระมีลูกมีเมียโทนโท่โชว์สังคม สังคมจึงยอมรับกันว่า-นั่นเป็นพระ มันก็เหมือนพระขับรถ พระอยู่กุฏิหรูยิ่งกว่าบ้านคน คนโบราณเขารังเกียจว่า - ไม่ใช่พระ แต่เราสมัยนี้ก็ยังพากันยอมรับว่า-นั่นเป็นพระ ลองคิดเทียบดูเถิด - ใช่หรือไม่?
ถ้าพระมีเมีย เราสมัยนี้จะไล่ตะเพิดทันทีว่า -ไม่ใช่พระ แต่สังคมยุค “กาสาวกัณฐะ” ผู้คนพากันยอมรับว่า -นั่นเป็นพระ ฉันใดก็ฉันนั้น ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า การไม่ศึกษาพระธรรมวินัยนั่นเองคือรากเหง้าแห่งความเสื่อม
จากไม่ศึกษา ขยายไปสู่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นโทษเป็นผิด พระอุ้มแม่ อาบน้ำให้แม่ ป้อนข้าวแม่ กอดแม่ คนสมัยนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น พากันสรรเสริญชื่นชมยินดีว่าท่านเป็นลูกที่ประเสริฐแท้ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่านั่นเป็นการทำผิดพระวินัย และที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้เรียน
เอาละ บางส่วนก็รู้ แต่ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นจะเสียหายอะไร ซ้ำบางทียกเหตุผลมาอ้างหักล้างเสียด้วย นั่นก็คือ ไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ยิ่งเวลานี้พระเณรขาดความอุตสาหะในการศึกษาพระธรรมวินัย พูดกันตรงๆ ว่าไม่เรียนพระธรรมวินัย ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ชาวบ้านน่ะไม่ค่อยจะรู้อยู่แล้ว พระเณรมาซ้ำไม่รู้เสียเองเข้าไปอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ท่านผู้ใดยังไม่เคยศึกษาเรื่อง “กาสาวกัณฐะ” ขอแนะนำให้รีบไปหามาศึกษากันไว้เถิด
แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร หลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องยึดไว้ให้มั่นคงก็คือ คารวธรรม – อย่าขาดคารวธรรมเป็นอันขาด คือ พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา สิกขาคารวตา สมาธิคารวตา ปฏิสันถารคารวตา
คารวธรรมยังมั่นคงอยู่ในใจตราบใด สังคมพุทธก็จะมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยและในโลกตราบนั้น
"ภิกษุทั้งหลาย! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเครื่องเผาบาป และเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"