แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓๐ ถ้าไม่ลงรายละเอียดกับตัวเอง ก็ข้ามปัจจุบันธรรมไป จะอยู่กับความเพ้อฝันและหลงงมงาย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราต้องไฟท์ติ้ง หยุดความเห็นของตัวเอง เข้าสู่ความเป็นมนุษย์ เพราะ พลังงานแห่งการครองโลกของพญามารมันแผ่กระจายกระเซนไปทุกหัวระแหง เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน มนุษย์เราถึงจะเข้าสู่พรีเมี่ยม สู่สุปฏิปันโน คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ชั่งหัวมันอยู่ที่ไหนมันก็ดับทุกข์ที่นั้น ไม่เกี่ยวกับคนจน คนรวย ระแหเร่รอน พลัดถิ่น เราไม่เอาขยะอะไรกับใคร ลาภ ยศ สรรเสริฐมันสำหรับคนปัญญาอ่อน มันต้องจัดการ เราจะมาเอาอะไร เพราะทุกอย่างมันผ่านมา ผ่านไป ทำอย่างนี้แหละ ผู้อยากไปพระนิพพาน จะได้รู้จักพระนิพพาน
พระนิพพานอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง คือตัวเองมีศีล ศิลปะคือระบบที่คิดดีๆ พูดดีๆ กิริยามารยาทให้ดี ที่มันไม่ลงรายละเอียดกับตัวเอง ก็ข้ามปัจจุบันธรรมไป มันอยู่กับความเพ้อฝัน พวกฝันทั้งกลางวัน กลางคืน อย่างนี้มันไม่ได้ คนเราจะโง่ไปถึงไหน และจะไปขอแต่พร ขอพรก็ไม่ได้หรอก เพราะว่าปัญญา มันก็ปัญญาของคนอื่น การปฏิบัติ ปฏิบัติของคนอื่นไม่ใช่ปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่เป็นปัญญาของเราในปัจจุบันธรรมอะไรเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันไม่ล้าสมัย มันเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นความสุข ความดับทุกข์อย่างนี้แหละ มันถึงจะแก้ปัญหาได้ มันต้องพัฒนาทั้งใจให้มันขึ้น ใจที่ดี ใจที่พรีเมี่ยม คือผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติตรง ผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม มันต้องก้าวไปอย่างนี้นะ
เพราะสงครามต่างๆ พวกเห่าหอนทั้งหลายนี้มันเฟื่องฟูเหลือเกิน มันอะไรกัน สร้างแต่เครื่องมือประหัตประหารคนอื่น ไม่จัดการตัวเอง ไม่มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการแย่งขยะกัน เราต้องรู้จักธรรมะ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทำอย่างนี้แหละ พระไตรปิฏกที่อุตส่าห์ทำมายากลำบาก ที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนมา จะได้เอามาทำงาน เอามาใช้งาน ไม่ใช่อยากจะเอา มีปัญญาจนหัวมันจะระเบิด แต่ไม่มีประโยชน์อะไร มีปัญญาแบบเป็นบ้า เป็นโรคจิตโรคประสาท ถึงปัญญามาก แต่ว่าไม่ได้เป็นปัญญาที่หยุดกรรม หยุดเวร เป็นปัญญาที่ฟุ้งซ่าน
คนเราไม่อยากปวดแข้งปวดขา ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากป่วย ไม่อยากอย่างนู้น ไม่อยากอย่างนี้ มันบ้านะ ทำยังไงมันถึงจะไม่ปวดแข้งปวดขา ปวดแข้งปวดขา จะทำใจอย่างไร เราก็ต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์อย่างนี้แหละ เราต้องขอบใจความปวดแข้งปวดขาที่มันแสดงอนิจจัง ทุกขัง แสดงอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจะไปกลัวมันทำไมความเจ็บ ความป่วย ความปวดแข้งปวดขา ปวดหัว ปวดท้องอะไรอย่างนี้ อันนี้มันเป็นความสุข ความดับทุกข์ ที่จะให้เราปรากฏการณ์นะ อันนี้มันเป็นไฟท์ที่เราจะต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ พระคุณเจ้าทั้งหลาย อย่าไปท้อใจไว้ก่อนว่าปวดขาปวดแข้ง ต้องตื่นขึ้นอย่างนี้ๆ ต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เราต้องรู้จักความคิดความหลงอย่างนี้นะ ถ้าไม่รู้จักมันก็ไปเรื่อย
เราจะรักษาแต่แบรนด์เนมแห่งรูปแบบแห่งความเป็นพระ แต่เราไม่ปฏิบัติเองให้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย มันไม่ได้ มันไม่มีภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เห็นเดินห่มผ้า บิณฑบาตร โกนหัว นี่รักษาแบรนด์เนม มันเป็นเพียงภายนอก มันต้องเน้นเข้าถึงจิต เข้าถึงใจ ทั้งภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เราจะได้ดับทุกข์อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช เป็นประชาชน ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญนะ ระดับปัจจุบันอย่างนี้เราต้องมีขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิเค้าเรียกว่า เบื้องต้นของสัมมาสมาธิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันเป็นปัจจุบันไป เป็นขณะๆ ไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันถึงมี มันต้องพัฒนาไปอย่างนี้ มนุษย์เรานะ การนั่งสมาธิ การอยู่อยู่นิ่งๆ เราถึงพัฒนาสมองเรา เข้าสู่อัปปนาสมาธิ หยุดคิด หยุดอะไร เพื่อสมองเราจะได้ซ่อมแซม เราจะได้รู้จักว่าการทำสมาธิเบื้องต้น เราต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีอานาปานสติ หรือสัมมาสมาธิอยู่ตลอด เป็นสมาธิขณิกสมาธิ
ทุกคนก็ดูแลกันเข้าสู่ระบบในการคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ มันเป็นระบบ เป็นรูปแบบที่ทำให้เราปฏิบัติอริยมรรคให้มันสมบูณ์ เราไม่ต้องไปเอาเปรียบคนอื่น เราต้องทำตัวเองให้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย แบรนด์เนมจะได้สมบูรณ์ เป็นของจริง ด้วยภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ อย่างพระฝรั่งมาเรียนธรรมะ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน กลับไปบ้านไปประเทศ ก็ต้องเอาธรรมะไปประพฤติ ไปปฏิบัติ ถ้าเราทิ้งพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ก็เป็นได้แต่ผู้มีปัญญาเป็นนักคิด นักปรัชญา ไม่ใช่ศาสนาอย่างนี้แหละ มันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าสู่ระบบแห่งพุทธะในภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กับภาคสติปัญญาา มันก็ยังหลงอยู่ในกิน กาม ในเกียรติอยู่อย่างนี้
โลกทุกวัน อยู่ในขั้น กลียุค ที่เบิกบุก เร็วรุด สู่จุดสลาย
จนสิ้นสุด มนุษยธรรม ด่ำอบาย เพราะเห็นกง-จักรร้าย เป็นดอกบัว
กิเลสไส-หัวส่ง ลงปลักกิเลส มีความแกว่น แสนพิเศษ มาสุมหัว
สามารถดูด ดึงกันไป ใจมืดมัว เห็นตนตัว ที่จมกาม ว่าความเจริญ
มองไม่เห็น ศีลธรรม ว่าจำเป็น สำหรับอยู่ สุขเย็น ควรสรรเสริญ
เกียรติ กาม กิน บิ่นบ้า ยิ่งกว่าเกิน แล้วหลงเพลิน ความบ้า ว่าศีลธรรมฯ
เพราะเราเห็นตัวอย่างแบบอย่างน้อย เพราะว่า ประธานสงฆ์หรือว่าผู้ที่มาบวชก่อนไม่ได้เรื่องเลย ไม่เอาเรื่องเลย ไม่ใช่สงฆ์สาวกในพระพุทธศาสนาเลย สงฆ์สาวกในพระพุทธศาสนานี้คือพระธรรมพระวินัย แต่ยังรับเงินรับสตางค์ ยังยุ่งแต่เรื่องกามเรื่องยศเรื่องตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ทางกาม อันนั้นมันเป็นพวกการปกครอง ยศตำแหน่งนี้เขาไว้สำหรับให้กำลังใจผู้ที่จะได้ดูแลสงฆ์ดูแลคณะสงฆ์ เมื่อตัวเองทำไม่ได้จะไปสอนคนอื่นได้อย่างไง คิดไปคิดมาหัวมันก็จะระเบิด ถ้าไม่ทำตามไม่เคร่งครัดปฏิบัติ อย่างนี้ใครจะไปทำได้ มันได้ มันต้องได้ ที่ไม่ได้ก็เพราะว่าเรานี้เป็นผู้ที่มาแอบแฝงมาทำมาหากินในพระพุทธศาสนาเฉยๆ
ถ้าเรามาหลงในกามก็เท่ากับสุนัขที่ติดอาหารติดเนื้อ มันคาบเนื้ออยู่ในปากมันก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวางไม่ยอมหยุด ถ้าเป็นพระเป็นเณรก็เท่ากับว่าเป็นสุนัขเหมือนกัน สุนัขเล็กสุนัขน้อย ถ้าบวชมาหลายปี ก็มัชฌิมะ พวกนี้ก็มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราอยู่ในระดับไหน ระดับกลาง ในระดับเฒ่า เพราะพระเรานั้นต้องรู้อริยสัจ 4 รู้ทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันต้องหยุดตัวเอง ต้องใจแข็ง
อย่างหลวงพ่อบวชมา หลวงพ่อก็สังเกตองค์นั้นทำไมเป็นอย่างนี้ องค์นี้ทำไมเป็นอย่างนี้ มันอยู่ที่ความประพฤติ ถ้าองค์ไหนไม่เอาศีลธรรม แสดงว่าความประพฤติหรือว่าปฏิปทามันทำให้เสื่อม เขาเรียกว่า “ปฏิบัติขาลง” บวชมาเลยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องพระนิพพาน รู้เรื่องตั้งแต่เรื่องกินเรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันไม่ใช่
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ในโลกนี้มี ๓ เรื่อง อาตมาเคยสรุปให้ฟังให้จำกันไว้เป็นหลักง่ายๆ ว่า สาม ก. ก.กิน ก.กาม แล้วก็ ก.เกียรติ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้เป็นเหยื่อของโลก ในโลกได้ทั้งนั้น
เรื่องที่ ๑ เรื่องกิน ก็อย่าให้มันติดเบ็ด เกิดปัญหาขึ้นเพราะการกิน วินาศไปเพราะการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินที่ไม่ต้องกิน เช่นกินเหล้าหรือกินอะไรที่มากเกินความจำเป็นที่ไม่ต้องกิน แม้แต่กินอาหารก็กินกันจนเกิน จนเสียนิสัยที่จะต้องกินเกินกินแพงจนเงินเดือนไม่พอใช้ อย่าให้มีลักษณะเหมือนกับติดเบ็ดในโลกเกี่ยวกับการกิน
เรื่องที่ ๒ เรื่องกาม นี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ก็เกินกว่าที่มนุษย์จะบังคับได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นผู้กำหนดมา ใส่อวัยวะภายในบางอย่างมา ต่อมแกลนด์ประเภทนั้น ซึ่งจะต้องเกิดความรู้สึกในทางกามหรือทางเพศขึ้นมา อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วธรรมชาติอันสูงสุดหรือพระเจ้านี้ฉลาดเหนือมนุษย์ ใส่รสอร่อยสูงสุดมาในสิ่งที่เรียกว่ากาม เพื่อให้คนหลงแล้วก็ตกเป็นทาสของกาม แล้วก็ทำหน้าที่ที่น่าเกลียด น่าชัง สกปรก เหน็ดเหนื่อยที่สุด คือการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีอะไรมาล่อหลอกกันขนาดหนัก คือรสแห่งกามแล้ว คนก็ไม่สืบพันธุ์ พันธุ์ก็สูญ ธรรมชาติไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ หรือพระเจ้าไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ ก็ใส่เรื่องกามมาในชีวิตนี้อย่างเหนียวแน่น อย่างทุกคนก็ตกอยู่ใต้อำนาจ ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราก็ตกเป็นทาสของกาม ก็ติดเบ็ดของกาม ถ้ารู้เท่าทันกินเหยื่อไม่ติดเบ็ด บริโภคกามโดยไม่ต้องรับทุกข์ของกามก็เรียกว่าความงดงามได้
เรื่องที่ ๓ คือ เรื่องเกียรติ คนเราหลงใหลในเกียรติ ถ้าเรื่องกินเรื่องกามหมดไปก็มาติดเรื่องเกียรติ หลงเกียรติ ยอมตายเพื่อเกียรตินี้ก็ไม่งดงาม ถ้าจะมีเกียรติอย่างที่ไม่ต้องทุเรศตา ก็จะน่าดูและงดงาม
ฉะนั้น กินเหยื่อแล้วก็ไม่ติดเบ็ดของเรื่องกิน เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ นี้เป็นศิลปะอย่างยิ่งในการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นแง่หนึ่งที่ต้องมองเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกให้งดงาม
พุทธทาสภิกขุ
“ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นเพื่อล่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว
มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติจนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิตที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นที่ต้องแสวงหา และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้นภาระเป็นจะต้องแบกเกียรติ เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงว่าตนเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองเห็นแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆ กันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง
ด้วยอาการดังกล่าวนี้ โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรังตลอดเวลา ภายในอาคารที่มหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบาย แต่สถานที่เหล่านั้นมักบรรจุเต็มไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมาก ภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ได้อย่างไร
การแย่งกันเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ในที่สุดทุกคนก็รู้เองว่าเหมือนแย่งกันเข้าไปกอดกองไฟ มีแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวาย เสนาบดีดื่มน้ำด้วยภาชนะทองคำ กับคนจนๆ ดื่มน้ำด้วยภาชนะที่ทำด้วยกะลามะพร้าว เมื่อมีความพอใจย่อมมีความสุขเท่ากัน นี่เป็นข้อยืนยันว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ แน่นอนทีเดียวคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นมิใช่คนใหญ่คนโต แต่...เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบเยือกเย็นปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย ลองเลือกดูเถิดจะเอาอย่างไหน คือคนพวกหนึ่งต่ำต้อยกว่าแต่มีความสุขกว่ามาก อีกพวกหนึ่งยิ่งใหญ่กว่าแต่มีความสุขน้อยกว่า
ต้องเลือกเอาประการแรก คือ ต่ำต้อยกว่า แต่มีความสุขมากกว่า
ลาภและยศนั้นเป็นเหยื่อของโลกที่น้อยคนนักจะสละและวางได้ หรือได้แล้วจะไม่เมา จึงมีเรื่องแย่งลาภแย่งยศกันอยู่เสมอ เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย หรือเหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกันแล้วจิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันไปทั้งสองฝ่าย น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง มีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลงมีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกัน และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำเนินชีวิต โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิด หน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเราคือ ลดความโลภ ความโกรธ และความหลงของเราเองให้น้อยลง แล้วจะประสบความสุขความเยือกเย็นมากขึ้นเหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด ความสบายกายก็มีขึ้นมากเท่านั้น”
จากหนังสือพระอานนท์พุทธอนุชา
ดังนั้น ลูกศิษย์หลวงพ่อชาก็ดี ลูกศิษย์เจ้าคุณพุทธทาสก็ดี ลูกศิษย์หลวงตามหาบัวก็ดี หรือส่วนรวมของมหามกุฏ มหาจุฬา ต้องเข้าใจ และจะต้องเข้าสู่แห่งการประพฤติการปฏิบัติ ศาสนาถึงจะเดินได้ ถ้างั้นก็เป็นแบรนด์เนมเฉยๆ ชีวิตในการมีศาสนามันก็ล้มเหลว เห็นมั้ยที่เดินบิณฑบาต ทั้งแก่ทั้งหนุ่ม มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่เข้าถึงพรหมจรรย์ที่ละเอียด ที่สมบูรณ์
ศาสนามันไม่ใช่ธรรมยุติ มหานิกาย ไม่ใช่หินยาน มหายาน มันอยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง มันต้องเข้าสู่ระดับพรีเมี่ยม ในภาคประพฤติปฏิบัติ เค้าเรียกซุปเปอร์สตาร์ อย่าให้เป็นโจร มหาโจรซุปเปอร์สตาร์นะ เราจะพัฒนาเป็นมหาโจรซุปเปอร์สตาร์ไม่ได้นะ เพราะว่าสมควรที่จะเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติแล้ว ที่ประชาชนทำใจไม่ได้ เพราะว่าเราพัฒนาเป็นแต่ซุปเปอร์สตาร์มหาโจร เดินอยู่ในที่ชุมชนก็ไม่สง่างาม เราต้องเดินอย่างสง่างาม นั่งอย่างสง่างาม พูดจาที่สว่างไสวไปเลย ยกมือขึ้นเลย เหมือนพระพุทธเจ้าเกิดมาเดิน ๗ ก้าว ก้าวไปด้วยโพชฌงค์ ๗ ด้วยการตรัสรู้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้นเป็นอย่างไร? เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จไปอย่างไร?
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ประทับยืนบนปฐพีด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว ดังพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า :-
ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนั้น ก็ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว. เมื่อท้าวมหาพรหมกั้นพระเศวตฉัตร ทรงเหลียวดูทั่วทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย, บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป ดังนี้.
และการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผัน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษหลายประการคือ ข้อที่พระองค์ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ก็ได้ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระองค์.
อนึ่ง ความที่พระองค์บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตตรธรรมทั้งปวง, การย่างพระบาท ๗ ก้าว เป็นบุพนิมิตแห่งการได้รัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ.
เราจึงต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องไปเลย มันต้องพัฒนาอย่างนี้ไม่ต้องกลัวหรอก จะไปกลัวอะไร กลัวยักษ์ กลัวมาร กลัวเปตร กลัวผี เราต้องรู้จัก เราต้องมีพระพุทธเจ้าเป็นโมเดล มีพระอรหันต์เป็นโมเดล พระรัตนะตรัย perfect ที่สุดแล้ว ถึงคราวที่พระรัตนะตรัยจะรุ่งเรื่อง ให้รุ่งเรืองบ้าง เพราะหลวงปู่มั่นลาละสังขารนิพพานแล้ว เราก็ต้องต่อยอดให้ ทรัพยากรถึงจะไม่เสียหาย
อย่าให้โลกธรรมมาครอบงำเรา เพราะชีวิตบนโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราหนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับความไม่แน่นอน บางครั้งสมหวัง บางครั้งไม่สมหวัง ซึ่งเป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์คละเคล้าปะปนกันไป ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมดาของโลกนี้ เรียกว่า โลกธรรม อันเป็นธรรมประจำโลก มีอยู่แล้วในโลกนี้ ตั้งแต่ก่อนเรามาเกิด สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว หรือแม้เราจะหมดอายุขัย ละจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหนและใครจะถือเอาเป็นสิทธิ์เฉพาะตนก็ไม่ได้ เพราะเป็นของสาธารณะ สำหรับมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เรื่องอาการของใจนั้นเป็นเรื่องที่รู้ยากเห็นยากว่าเป็นอย่างไร เราจะรู้ได้ก็เพราะเขาแสดงอาการออกมาให้เราเห็นว่า คนนี้ คนนั้นมีจิตใจอย่างไร คืออาการของมันไม่อยู่กับร่องกับรอย ประเดี๋ยวดีใจ ประเดี๋ยวเสียใจ พอดีใจก็แช่มชื่น พอเสียใจก็เหี่ยวแห้งหดหู่ ร้องไห้รำพัน แล้วแต่อารมณ์ที่มากระทบ อาการที่จิตใจของเราเองเอียงไป ทางดีใจบ้าง เสียใจบ้าง อย่างนี้เรียกว่า "จิตหวั่น" เหมือนกับเปลไฟที่ถูกลมพัดจะเอนเอียงไปตามกระแสลมพัด จิตไหวหมายถึงไหวไปตามอารมณ์ที่ตัวชอบใจ ทั้งนี้เพราะไปติดใจ ชอบใจ อาการที่จิตไหวไปตามอารมณ์ที่รักที่ชอบ นี่แหละเรียก "จิตไหว" อาการที่ จิตยังมีความหวั่นและไหว นี่แหละเรียกว่าจิตหวั่นไหว สิ่งที่ทำให้จิตหวั่นไหวนี้ท่านเรียกว่า "โลกธรรม"
คำว่า "โลกธรรม" ได้แก่ธรรมของโลก คือ ธรรมอันมีแก่สัตว์โลก ไม่มีผู้ใดล่วงพ้นไปได้ แปลกแต่จะยินดียินร้ายหรือไม่ยินดียินร้ายเท่านั้น แบ่งออกเป็น ๘ อย่างด้วยกัน คือ ไปทางทำให้จิตไหว ๔ และให้ จิตหวั่น ๔
1. ลาภ เมื่อมีลาภคนเราก็จะฟูใจ เพลิดเพลินจนขาดสติปัญญา เราต้องไม่ขาดสติ และหมั่นพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนสักวันหนึ่งมันก็จะจากเราไป
2. ยศ คนเราพอมียศมีตำแหน่งก็มักจะเหลิง หยิ่งผยอง เราต้องมีสติพิจารณาตามความเป็นจริงว่าที่เขาให้ตำแหน่งเรามาก็เพราะเขาเห็น ว่าเรามีประโยชน์ เมื่อวันหนึ่งข้างหน้ามีคนที่เก่งกว่าเรา หรือเราหมดประโยชน์ เขาก็จะปลดเราออก
3. สรรเสริญ คนเราส่วนมากบ้ายอ พอมีคนยกย่องสรรเสริญเข้ามักจะเหลิง หลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเอง เราต้องใช้สติพิจารณาว่าที่เขายกย่องสรรเสริญเราวันนี้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากเราแต่วันหนึ่งข้างหน้า เราก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับเขา
4. สุข ในยามมีความสุข คนเรามักจะประมาท เพลินในสุข เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงเหตุปัจจัยว่า วันหนึ่งข้างหน้าความสุขที่เราได้รับอยู่นี้ อาจจะกลายเป็นความทุกข์หรือเมื่อปัจจัยที่ทำให้สุขหมดไป เราก็จะพบกับความทุกข์
ทั้งสี่อย่างนี้เป็นของที่คนทุกคนต้องการ ที่ยังไม่ได้ก็ต้องแสวงหา ที่ได้แล้วก็ต้องพยายามรักษา อาการที่แสวงหาหรืออาการที่ห่วงต้องรักษานี่แหละเป็นจิตไหว คือไหวไปตามอารมณ์ ขอให้สังเกตดูตัวเราเองก็แล้วกันว่า เมื่อได้รับของ ๔ อย่างนี้แล้วมีอาการอย่างไร
5. เสื่อมลาภ เมื่อขัดสนคนเรามันจะโทษโชควาสนา แต่ทางที่ถูกเราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าที่เราขัดสนไม่มีลาภนี้เพราะอะไร เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง!
6. เสื่อมยศ เมื่อมียศมีคนนับหน้าถือตา พอเสื่อมยศก็หมดคนที่จะนับหน้าถือตา เราก็ไม่ควรจะโศกเศร้าเสียใจ ควรจะพิจารณาด้วยสติปัญญาตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีประโยชน์ กับเขาอยู่เขาก็นับหน้าถือตา พอหมดราคาเขาก็ย่ำยีนินทา
7. นินทา ทุกคนในโลกนี้ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นนินทา แต่ก็ไม่มีใครไม่ถูกนินทา แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังถูกนินทา เราควรทำใจให้สงบว่า การนินทาเป็นโลกธรรม คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกนี้ เขานินทาเราตัวเขาก็ถูกคนอื่นนินทาเช่นกัน
8. ทุกข์ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ต้องการความทุกข์ ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุข แต่สุขทุกข์เป็นโลกธรรมที่ทุกคนจะต้องพบ เมื่อความทุกข์วิ่งเข้ามาหา เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็น จริงตามเหตุปัจจัยของมันว่า เพราะเราทำได้ยังไม่ดีพอจึงมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเรายังไม่เก่งพอจึงมีความทุกข์ตามมา เมื่อเรากำจัดต้นตอความทุกข์ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น
ทั้งสี่อย่างนี้เป็นของที่ทุกคนคอยหวาดระแวงอยู่ และคอยห่วงพะวงว่าจะต้องได้รับ หรืออย่างที่เราเรียกว่า "หวั่น" คือ หวั่นว่าจะต้องสูญเสียของที่รัก หวั่นว่าจะต้องถูกถอดยศถอดอำนาจ หวั่นว่าจะต้องถูกคนนินทา หวั่นว่าจะต้องได้รับความทุกข์ เป็นของที่คนทุกคนเกลียด แม้ว่ามันจะกลับกลายผ่านไปแล้ว ก็ยังหวั่นว่ามันจะหวนกลับมาอีก ทำให้จิตใจของเราอยู่ไม่เป็นปกติสุข
อย่าให้โลกธรรมมาครอบงำเรา เพราะโลกธรรม ทั้งศอก ทั้งเข่า เล่นงานเรา เล่นงานยังไม่พอ มันน่าจะกระทืบจมลงไป หายใจเข้ามันก็ไม่มีความสุข เราต้องมีความสุข มีความสง่างาม เราต้องรู้จักว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องผ่านไป ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เราก็จะได้มีความสุข โอ๋...ทำไมถึงมีความสุขแท้ เกิดมาเพื่อพระนิพพานนะ ไม่ได้เกิดมาเพื่อความโลภ ความหลงนะ สู้ไปเลย ไฟท์ติ้งไปเลย สู้กับวัฏฏะสงสารที่มันมาอยู่ในพลังงานของเรา คนเราถ้ารู้จัก มันก็ต้องดี ถ้าไม่รู้จัก ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส พินอบพิเทา ความโลภ ความหลง ความงมงาย ให้เข้าใจ ต้องประพฤติปฏิบัติ พัฒนาตัวเอง เข้าสู่ระดับพรีเมี่ยม พรีเมี่ยมภายนอกมันมีประโยชน์ แต่มันยังสู้พรีเมี่ยมระดับภายใน คือพุทธะแห่งการประพฤติการปฏิบัติไม่ได้ สมควรแล้วถึงเวลาแล้ว เมื่อหลวงพ่อส่งบอลให้ ก็ต้องรับบอล ถ้าไม่รับเอาไป จะแตะบอล หรือจะทำอะไร เราต่อยไป เค้าต่อยมา ถ้าเราหมัดหนัก เราเร็วกว่า เราก็ไม่ปล่อยให้น้ำตาตัวเองซึม ต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ เพราะความโง่ ความหลง อวิชชา มันไม่เข้าใครออกใคร มันก็โง่อย่างนี้แหละ มันต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะต่อยอดในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี วันนี้เราฉลาดเท่านี้ พรุ่งนี้มันจะฉลาดขึ้นอีก เพราะว่ามันเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี ถ้าเราใจอ่อนให้เราติดโรคโควิด เพราะโควิดมันอยู่ที่เราไม่มีขณิะสมาธิ ขณิกสมาธิถ้าเราจับใจความคือสัมมาสมาธิ ถึงระดับอัปปนาสมาธิ คือหยุดความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งมันไม่มี ระดับอัปปนาสมาธิพัฒนาขึ้น ต่อยอดด้วยปัญญาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ จึงจะได้รับผลประโยชน์จากการนับถือศาสนา