แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๒๘ พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ในเศรษฐศาสตร์แห่งการดำรงชีวิต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนจะประมาท ทุกคนจะเพลิดเพลินไม่ได้เพราะอดีตเป็นสิ่งที่เราเอากลับคืนมาไม่ได้ ปัจจุบันก็คือรายรับพร้อมทั้งรายจ่าย กรรมใดใครก่อ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เพราะปัจจุบันมันเป็นไฟท์ติ้ง การดำเนินชีวิตของเรามันจำกัด แล้วมันเสียหาย เราอย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นไฟท์ พระพุทธเจ้าถึงเป็นห่วงเรา ท่านจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก็ตรัสเตือนว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ถ้าเราคอนโทรลตัวเองไม่ได้ เราจะไปเอาตอนไหน เพราะปัจจุบันนี้อย่าให้เราหลุดโค้ง อย่าให้เราเนิ่นช้า เพราะเรามีโอกาสพิเศษ
ฐานะของประชาชนมันยากจนเพราะไม่มีความเห็นถูกต้อง ไม่มีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ปล่อยให้เวลา ผ่านไปโดยที่ไม่เห็นความสำคัญ เพราะปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่สำคัญ เราตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่เข้าสู่หน้าที่การงานของตัวเองที่ถูกต้อง ที่ปฏิบัติถูกต้อง มันไม่ได้ พวกที่ปล่อยให้เวลา โอกาสผ่านไป มัวแต่เพลิดเพลินในกาม ในความสุข ความสะดวก ความสบาย ปล่อยให้กรรมมันดำเนินต่อไปในทางที่ไม่ดี เพราะว่าทุกคนต้องอยู่บนความเพลิดเพลิน ความประมาท ไม่รู้จักว่าไฟกำลังไหม้ตัวเอง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อุฏฐานวโต สตีมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ = ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความเพียร, มีสติ, มีการงานสะอาด, ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ, เป็นผู้สำรวม, มีชีวิตอันประกอบด้วยธรรม, และไม่ประมาท”
ในที่นี้ได้ ธรรม ๗ ประการอันเป็นเหตุให้ยศเจริญ คือ ความเพียร, สติ, การงานอันสะอาด, การใคร่ครวญก่อนทำ, ความสำรวม, ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม และความไม่ประมาท
ความเพียร นั้น คือสภาพอันตรงกันข้ามกับความเกียจคร้าน กล่าวคือ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการทำงาน ในการประกอบการกุศล ความกล้าในการประกอบกิจอันชอบให้ลุล่วงไปด้วยดี มีความบากบั่นมั่นคงไม่ถอยหลัง ไม่ทอดธุระ ไม่เป็นคนอยู่เฉยโดยไม่ทำงาน
สติ คือ ความรอบคอบ และความระวัง จะทำจะพูดอะไรก็คิดโดยรอบคอบก่อน ระวังเกรงความผิดพลาด เพราะความพลาดบาง อย่างต้องใช้เวลาแก้นาน จึงจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้
การงานสะอาด นั้น คือ การประกอบการงานอันสุจริต เว้นงานที่ทุจริตผิดกฎหมาย และศีลธรรมทั้งปวง
ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ คือ ไตร่ตรองด้วยดีว่า เมื่อทำอย่างนี้ ผลอย่างไรจะเกิดขึ้น เว้นการกระทำอันจักอำนวยผลเป็นทุกข์เสีย ประกอบกระทำแต่เฉพาะเหตุอันจักอำนวยผลเป็นสุขให้
ความสำรวม นั้น คือความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้
ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม คือ มีชีวิตอยู่อย่างแนบสนิทกับธรรม ไม่เหินห่างจากธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ได้พบได้เห็นอะไรก็นำเข้าไปหาธรรม เทียบกับธรรม หรือน้อมธรรมเข้ามาใส่ตนอยู่เสมอ
ความไม่ประมาท มีสติไม่ห่างเหิน สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง
ให้ถือคติธรรมที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บอก ได้สั่งสอน ได้ให้ประทีบแสงสว่าง แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก่อนพระองค์จะหมดลมหายใจก็ยังได้ดำรัสตรัสว่า "...ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด ๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม ในการก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด ในการสร้างความดีทุกชนิดก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น ผู้ที่ไม่ประมาท คือผู้มีความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ มีการดำเนินชีวิตที่อาศัยสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสำหรับความดีงามและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลยการทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป
สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง ๑. ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า "วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกลืนกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้
๒. ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ เพราะถ้านับอายุตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายหมื่นวันแล้ว
๓. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค หรือไม่ บายเมื่อไรก็ได้เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่
๔. ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่วสร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส
๕. ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
๖. ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต
๗. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอยนั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เพราะทราบดีว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือ นิพพาน
ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราถึงจะแก้ปัญหาได้ ชีวิตของเราถึงจะดำเนินสู่มรรค มรรคก็คือในทางที่ดี ผลก็คือความดับทุกข์แก้ปัญหาได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางจิตใจ ต้องพัฒนาพร้อมๆ กัน ทุกคนเกิดที่ไหน มาจากไหนไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ที่การประพฤติ การปฏิบัติของเรา ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็ทำตามสัญชาตญาณนั้นไม่ได้ ที่มันสร้างปัญหาที่ทำให้เราให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในทางที่ไม่ดี เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ศาสนาก็คือพระธรรม เราต้องพากันเข้าใจ อันไหนมันไม่ฉลาดไม่เข้าใจก็ต้องให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติ
คนเราต้องมีความตั้งมั่น มีความเข้มแข็งเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตัวเองในปัจจุบัน มันจะไปอย่างนี้แหละ คนเราจะไปใจอ่อนไม่ได้ เพราะเราจะข้ามวัฏฏะสงสารอย่างนี้ เราก็มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นยานนำเราไป ไม่มีใครมาทำให้เราจน มาทำให้เรารวยหรอก มันอยู่ที่เรา คนเหมือนกัน มันก็ไม่เหมือนนะ มันอยู่ที่เราประพฤติปฏิบัติ เรายังไม่หมดลมหายใจ เราก็ยังปฏิบัติธรรมได้ เราจะไม่ได้มีหนี้มีสิน ในการดำเนินชีวิต เราจะมีธรรมอีกด้วยที่ชีวิตของเราจะได้ไม่ผิดพลาด ที่มันไม่ดี แสดงว่า เรายังไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์ เราไม่บังคับตัวเอง ไม่ Control ตัวเอง เราทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันก็ต้องมี คนเราทุกคนกลัวสังขารร่างกายนี้จะลาละจากนี้ไปก็เกือบ 100 ปี ต้องใช้ชีวิตนี้ให้คุ้มค่า
ต้องคิดเก่ง วางแผนเก่ง ปฏิบัติเก่ง พร้อมทั้งเป็นคนดีที่มีศีลธรรมมีคุณธรรม เราทุกคนคิดดูสิ พ่อแม่เราเป็นอย่างนี้ ญาติพี่น้องเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าคิดไม่เก่ง วางแผนไม่เก่ง ปฏิบัติไม่เก่ง ไม่ได้เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิต พากันดำเนินชีวิตตามอัธยาศัย คนเราน่ะ เรามีร่างกายครบอาการ ๓๒ มีมันสมอง มีไว้ให้เราคิด ให้มีสติมีปัญญา ไม่ใช่ปล่อยตัวเองไปตามอัธยาศัยนะ เรามีตาก็เพื่อฉลาด มีหูก็เพื่อฉลาด มีจมูกมีลิ้นมีกายมีใจ ก็เพื่อฉลาด เรียนหนังสือศึกษาธรรมะก็เพื่อฉลาด เมื่อฉลาดแล้วยังไม่พอ ต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ ขยัน รับผิดชอบ ด้วยการเอาธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าจึงให้เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ คนเราอยู่เฉยๆ จะรวยได้ยังไง จะมีทรัพย์ได้ยังไง ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุปัจจัยทั้งหมด เราต้องคิดเป็น วางแผนเป็น วางแผนเป็นยังไม่พอ ต้องมีความสุขในความขยันประหยัดซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที เราถึงจะรวยได้ เฮงได้ จะไปคิดมากไปปรุงแต่งมากไม่ได้ ยิ่งเพิ่มโรคเครียด โรคจิตโรคประสาท โรควิตกกังวล เพิ่มเป็นทวีคูณ เป็นทั้งโรคกายเป็นทั้งโรคใจ
เราต้องมีความ สุขในความขยันประหยัดซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที เพื่อไม่ให้มีอบายมุข ทางสู่อบายภูมิเกิดขึ้นในใจ จึงต้องมาปิดทางอบายภูมิ คือ อบายมุข ให้แก่ตนเองจึงจะถูก เราทุกคนต้อง สร้างขึ้นมา ทำขึ้นมาปฏิบัติขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงด้วยมันสมองสองมือ ด้วยแรงกาย แรงวาจาสัมมาวาจา และแรงพลังใจจากการประพฤติปฏิบัติ
ประชาชนทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะรวยได้ ถ้าคิดไม่เก่ง วางแผนไม่เก่ง ขยันไม่เก่ง รับผิดชอบไม่เก่ง อดทนไม่เก่ง ไม่ประหยัด ไม่ซื่อสัตย์ ไม่กตัญญู ไม่เอาธรรมะเป็นหลักเป็นที่ตั้ง ถึงจะหามาได้ มีมาได้ ก็คือมีมาจากการทุจริตคดโกง จากการรวยทางลัด เราคิดไม่เก่งวางแผนไม่เก่ง อย่างมากก็เป็นได้แต่เพียงผู้ใช้แรงงานทางกาย เพราะคนไม่มีหัว ไม่มีมันสมองไม่มีปัญญา จะเป็นใหญ่เป็นนายคนไม่ได้ เรามีหัวมีสมองต้องเอามาคิดเอามาวางแผน วางแผนเป็นยังไม่พอต้องประพฤติปฏิบัติด้วย
ถ้าเราคิดในสิ่งที่ถูกต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ความเครียดก็ไม่มี โรคจิตโรคประสาทก็ไม่มี เพราะมีความสุขอยู่แล้ว เราไม่หลงทางกายทางวัตถุ เอาความสุขทางปัจจัย ๔ มาพัฒนาการงาน พัฒนาใจเราให้มีปัญญา เป็นผู้เสียสละไปเรื่อยๆ คนเราคิดไม่เป็นน่ะ อย่างเราเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นสามีภรรยาอย่างนี้ คิดไม่เป็นวางแผนไม่เป็น อาศัยบุญเก่าอย่างเดียว อาศัยพ่อแม่ อาศัยมรดกเก่า ก็เหมือนเป็นคนกินแต่ของเก่า อาศัยเถ้าแก่บ้าง ข้าราชการบ้าง นักการเมืองบ้าง อย่างนี้เขาเรียกว่าคิดอย่างคนเป็นลูกน้องพ้องบริวาร ชีวิตของเราก็เลยอยู่กับการยืมหนี้ยืมสิน คนมีหนี้มีสินจะมีความสุขความสงบได้อย่างไร
เราต้องวางแผนรายรับรายจ่าย เพราะทุกครอบครัวก็มีหนี้มีสิน เราก็ต้องบอกลูกสอนลูก เรื่องรายรับรายจ่าย บางทีเรากลัวลูกมันจะรู้ กลัวลูกจะกระทบกระเทือนใจ เศร้าใจเลยไม่บอกลูกเลย พ่อแม่เป็นหนี้หลายแสนหลายล้านลูกก็ไม่รู้ มันก็ไม่ได้ช่วยกันประหยัด มันต้องบอกลูกให้รู้ เพราะมันต้องสามัคคีกันทั้งพ่อทั้งแม่ทั้งลูกทั้งหลาน อย่าอำไว้เหมือนญาติเป็นมะเร็ง พ่อแม่เป็นมะเร็ง อำไว้กลัวที่จะรู้ รู้แล้วจะตายเร็ว มันก็ต้องตายเร็วสิ เพราะว่ามันไม่ได้มีธรรมอะไรเลย ถ้ารู้ไปตั้งแต่เล็กๆ แรกๆ รู้เรื่องอนิจจัง รู้เรื่องทุกขัง รู้เรื่องอนัตตา มันก็รู้เรื่องความตาย เพราะว่ามันตายทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว
อิณาทานํ ทุกขํ โลเก แปลว่า ความเป็นหนี้เป็นทุกข์แห่งโลก
พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้เหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนประเทศไทยเราที่สูงมากมายก่ายกองอยู่ในขณะนี้
คนเป็นหนี้ไม่ว่าจะ หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรเงินสด หนี้ธุรกิจ หนี้ธนาคาร จนถึงแม้แต่หนี้นอกระบบ หนี้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก ก็ล้วนแต่สร้างความทุกข์ไม่ต่างกัน ตามแต่จำนวนหนี้มากหรือน้อย ซึ่งเรื่องการเป็นหนี้นี้ พระพุทธองค์ทรงเคยเทศนาให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง "ว่าด้วยความสุขของคฤหัสถ์ ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือ อัตถิสุข หรือ ความสุขเกิดจากการมี ทรัพย์ โภคสุข หรือ ความสุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ อนนสุข หรือความสุขจากการไม่มีหนี้ และอนวัชชสุข หรือ ความสุขจากการทำงานไม่มีโทษ" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากการมีทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ไม่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ต้องห้าม หรือจากการทำความเดือดร้อนให้คนอื่น
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการได้ใช้ทรัพย์ เป็นการใช้จ่าย ทรัพย์อย่างเหมาะสมกับทรัพย์ที่มีอยู่ นั่นคือไม่ฟุ่มเฟือย หรือใช้ไปในสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น สุรา ยาเสพติด เป็นต้น แต่ใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ย่อมหมายถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วย
๓. อนนสุข (สุขเกิดจากการไม่มีหนี้) หมายถึง ความสุขที่บุคคลเป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะการเป็นหนี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามการไม่มีหนี้ถือเป็นโชคดีของบุคคลทั้งหลาย
ทุกคนมีทรัพย์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าใช้ทรัพย์เกินตัวก็ทำให้เป็นหนี้ ถ้าไม่เกินตัวก็ไม่มีหนี้ ก็มีความสุข จะรู้ว่าสุขจากการไม่มีหนี้เป็นอย่างไร ลองไปถามคนมีหนี้ดู แค่เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาก็มาทวงเช้าทวงเย็นไม่มีความสุขเลย ใครเป็นหนี้บัตรเครดิตแสดงว่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดทันที
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากการทำงานไม่มีโทษ) หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม เช่น ยึดมั่นในศีล 5 เป็นต้น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นพิษภัยต่อบุคคลอื่น
สรุปสั้นๆ คือ "มีเงิน ได้ใช้เงิน ไม่เป็นหนี้ และมีงานทำ"
เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้เป็นหนึ่งในความสุขแบบที่คนธรรมดาพึงต้องการในปัจจุบัน เราเป็นทาสแห่งการมอมเมาให้เราบริโภคผ่านสื่อทุกประเภท ตั้งแต่เราตื่น จนถึงกำลังจะนอน เราเหมือนถูกสะกดจิตทางอ้อมว่า คุณต้องมีสิ่งนี้นะ คุณต้องใช้แบบนี้นะ คุณถึงจะดูดี มีความสุข เราจึงติดกับดักหนี้สินกันมากมาย บางคนตายไปแล้ว ลูกหลานยังต้องผ่อนต่อ ก็มีให้เห็นถมเถไป
พระพุทธองค์สอนให้ขยันในการแสวงหา ตามหลักของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ
๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีพก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุระหน้าที่ของตนเอง
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมการเก็บรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่นขยัน รู้จักเก็บออมทรัพย์ ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไป
๓) กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว มีกัลยาณมิตร และ
๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้ฝืดเคือง ไม่ให้ฟุ่มเฟือยฟูมฟาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านี้เป็นระบบเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับครอบครัว มีเป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิต
วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ ๑. เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่างๆ ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี = ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี = ถวายเป็นหลวง มีเสียค่าภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา (บัณฑิตชาติ สำเร็จการอยู่ในประเทศสถานที่ใด พึงเชิญเหล่าท่านผู้มีศีล สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ เลี้ยงดูกันในที่นั้น เทพดาเหล่าใด มีในที่นั้น ควรอุทิศทักขิณาทานเพื่อเทพดาเหล่านั้นด้วย เทพดาที่บูชาท่านแล้ว ท่านย่อมบูชาบ้าง ที่นับถือท่านแล้วท่านย่อมนับถือบ้าง ย่อมอนุเคราะห์เขา ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร ผู้เกิดจากอก บุรุษได้อาศัยเทพดาอนุเคราะห์แล้วย่อม พบแต่สิ่งที่อันเจริญตลอดไป) และ ๕. บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
ความสุขจะเกิดได้ก็มาจากเราคิดเป็นวางแผนเป็น เราลองคิดดูสิ! คนกินเหล้าดื่มเบียร์ เล่นการพนันคิดว่าเขา คิดเป็นไหม? คิดไม่เป็น ถ้าคิดเป็นจะไปกินทำไมเหล้าเบียร์ จะไปเล่นทำไมการพนันจะไปเจ้าชู้ทำไม แสดงว่าคิดไม่เป็น ได้แต่ทำตามสัญชาตญาณ ตามอัธยาศัย ตามเพื่อนฝูงเฉยๆ ก็เพราะคิดไม่เป็น ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนคิดไม่เป็น ก็คือคบคนพาล ไม่มาคบบัณฑิตมีพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นต้น เลยพากันมาสร้างทุกข์ให้กับตนเอง คนที่มีความเห็นไม่ถูกต้องเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ตกอยู่ในอบายมุข ชื่อว่าเกิดมาสร้างทุกข์ให้ตนเอง สร้างทุกข์ให้ตนเองยังไม่พอ ส่งต่อไปยังพ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ลามปามไปทั้งบ้านทั้งครอบครัวทั้งตระกูล
อย่างผู้ที่ทำการค้าใหญ่ๆ ที่บริษัทไม่ล้มเหลว เค้าต้องเก่งเรื่องรายรับ รายจ่าย และละเอียดในการทำบัญชีลงบัญชี อย่างคนที่ควบคุมบริษัทที่ลงทุนหลายหมื่นล้าน หลายแสนล้าน หรือว่าหลายล้านๆ เค้าต้องละเอียด จะไปมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ บริษัทที่ล้มเหลว เหมือนประเทศไทยเรามีหนี้ มีสินอะไรมากมาย ก็เพราะว่าเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มีรายรับนิดเดียว แต่ว่ารายจ่ายเราจ่ายไปเยอะ ประเทศไทยเราถึงเป็นหนี้ภาพรวมเยอะ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ที่ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมีหนี้คนละหลายหมื่นบ้าง หลายแสนบ้าง บางทีก็หลายล้านบ้าง เพราะเราไม่รู้รายรับรายจ่าย เราไม่ได้พิถีพิถันในรายรับ รายจ่าย อย่างบุคคลที่ตั้งบริษัท ขายของก็ดี ทำอะไรก็ดี แต่ไม่ได้ควบคุมรายจ่าย ทีนี้แหละไม่กี่ปีก็บริษัทนั้นก็อยู่ไม่ได้
ผู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ต้องรู้รายรับรายจ่าย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นหนี้เหมือนกับที่เราเป็น ไม่ได้ควบคุมในการซื้อของใช้ของอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่มีความสุขในปัจจุบัน เป็นคนล่องลอย หนี้สินก็ย่อมมีแก่เรา อย่างเราขี้เกียจขี้คร้านอย่างนี้ เราก็เป็นรายรับแล้ว รายจ่ายเราก็ต้องเบรค ถ้าอันนี้ไม่ดีไม่ถูกต้อง เราจะไปขี้เกียจไปทำไม เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คือ ข้อสอบ เราตอบข้อสอบก็ด้วยความประพฤติด้วยการปฏิบัติของเราเรียกว่า ศีล เราก็ต้องหยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ยังรู้จักหน้าตาชัดเจนทุกแง่ทุกมุม อีกหลายปีข้างหน้าเค้าก็จะเจริญเติบโตได้ เปรียบเสมือนคนที่รวยในเมืองไทยนี้ เรามองดูว่าเค้ามองการณ์ไกล เค้าซื้อที่ดินไว้ ในที่มันยังไม่เจริญ แต่หลายปีข้างหน้าที่ดินนั้นก็ย่อมเจริญขึ้นแน่ จากที่บางคนซื้อหลักหมื่น ก็ขายได้หลักล้าน บางทีก็หลักหลายล้าน ต่อไร่ ต่องาน
ชีวิตของเรา ทุกคนต้องพากันรู้ เพราะในชีวิตประจำวันของเราคือรายรับรายจ่าย เช่นว่า ตาเห็นรูปอย่างนี้คือรายรับแล้ว หูฟังเสียงคือรายรับแล้ว รายจ่าย คือเราไปยินดียินร้ายเค้าเรียกว่ารายจ่าย ที่เรายังไม่ตาย ที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง แสดงว่ามันเป็นรายรับของเรา เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เราปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรานะ มันเอาปัญญามาให้เรา เอาสมาธิมาให้เรา เอาศีลมาให้เรา
การที่คิดดีๆ พูดดีๆ ที่เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มันก็เหมือนกัน เป็นผู้รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ อารมณ์ต่างๆ อะไรในชีวิตประจำวันของเรานี้มันล้วนแต่เอาศีลมาให้เรา เอาสมาธิมาให้เรา เอาปัญญามาให้เรา เราต้องจัดการ เพราะอันนี้มันเป็นรายรับรายจ่าย ในชีวิตเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เรารู้ว่าไปกินเหล้ามันไม่ดี ไปเจ้าชู้ เล่นการพนัน เทียวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร นั้นมันไม่ดี เราก็รู้ว่าอันนี้มันเป็นรายรับที่มันไม่ดี เรารับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง หรือว่าอารมณ์ที่คิดขึ้นมา เค้าเรียกว่ารายรับ รายจ่ายเราจ่ายไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาเรา เราต้องทำอย่างนี้ เราถึงจะไปได้ เราต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ เพราะว่าเราอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ในโรงงาน ทำธุรกิจ เราก็ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง
เราปฏิบัติตามหลักเหตุหลักผล ตามหลักวิทยาศาตร์ เราก็ย่อมมีอยู่มีกินเหลือกินเหลือใช้ เป็นคนรวย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเจริญภาวนา เพื่อจะได้พัฒนาใจ ถ้าอย่างนั้นเราจะรวยอย่างคนไม่มีปัญญา ยิ่งรวยยิ่งเเก่ก็ยิ่งหลง เหมือนที่เราเห็นพวกฝรั่งเค้าก้าวไปไกลกว่าเรา ชีวิตเค้าจะอยู่กับความรวย ถือเงินเป็นพระเจ้า เคารพนับถือเรื่องกาม ในเรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องเหล้า เรื่องเบียร์ อันนี้เป็นสิ่งที่เสียหาย อันนี้เป็นสิ่งที่ล้มเหลวสำหรับผู้ที่ทำตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ ได้วัตถุ ได้บ้านได้รถ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ จะพากันมางมงายอย่างนี้ไม่เอา มนุษย์เกิดมาเมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าย่อมมีโอกาสตกไปสู่อบายภูมิ ต้องพากันสมาทานในพระรัตนตรัย ในเรื่องศีล เรื่องเจริญภาวนาวิปัสสนาขึ้น รถดีๆ ย่อมมีเบรกดี มีคนขับดีๆ การปฏิบัติอานาปานสติลมหายใจเข้าหายใจออก เราจะหยุดความคิดความปรุงแต่งได้ เราต้องมาเจริญอานาปานสติหายใจเข้า หายใจออกสบาย หายใจเข้าหายใจออกก็มีความสุข ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกที่ประกอบด้วยสติและสมาธิ เป็นการหยุดกรรมตัดกรรม มันจะลบเรื่องอดีตออกจากใจเรา อานาปานสติ คือการทำงานกับลมหายใจเข้าออก
เพราะโลกเป็นสิ่งเสพติด เหมือนยาเสพติด เป็นสิ่งที่ละได้ ต้องเข้มแข็ง กล้าละ กล้าปล่อย กล้าวาง ใช้เวลาอบรมบ่มอินทรีย์ ทำความดีต่อๆ กัน หลายๆ เดือน หลายๆ ปีติดต่อกันแล้วทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันจะดีของมันเอง ทุกคนต้องเก่งต้องชำนาญ แตกฉาน คล่องแคล่ว มีความสุขในการทำในการประพฤติปฏิบัติ พลังจิตพลังใจเราถึงจะมีมา นี่เป็นงานเพื่อสร้างพลังจิตพลังใจในปัจจุบัน
ขอให้ทุกท่านทุกคนนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนจะนำตัวเองออกจากวัฏฏสงสาร เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดี เป็นพระภิกสามเณรที่ดี เป็นคุณหมอที่รักษาโรคทั้งทางกายทางใจที่ดี เป็นเป็นข้าราชการที่ดี นักการเมืองที่ดี ที่ประเสริฐ เป็นที่เคารพบูชาของประชาชน ทำงานเสียสละเพื่อปวงประชาให้มีความสงบสุขถ้วนหน้ากัน