แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันร์ที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๒๔ การออกผนวชของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ให้เราซาบซึ้งและเป็นแบบอย่าง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การบวชนี้ดีมาก เพราะว่าเรามีโอกาสมีเวลา เรามีเหตุมีปัจจัยที่จะได้ประพฤติได้ปฏิบัติ บวชนี้ดีมากน่ะ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ผู้ที่เอาของมาถวาย ผู้ที่อุปถัมภ์อุปัฏฐากนี้ก็ยังไหว้เราอีก สิ่งที่ประเสริฐคือเราจะได้เดินตามพระธรรมพระวินัยอย่างเต็มที่เต็มร้อย
การบวชต้องบวชที่แท้จริง บวชทั้งกายทั้งใจเข้าสู่กระบวนการ เข้าสู่ธรรมะวินัย เข้าสู่กระแสมรรคผลพระนิพพาน เอาตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เอาตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ การบวชหรือการสร้างวัดหรือการมีพระศาสนาถึงจะได้ยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ การที่จะได้มาบวชได้ฝึกอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาส ถ้าเราไปตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามอัธยาศัยนั้น ถือว่าเราไม่ได้บวช บวชแต่กาย ไม่รู้จะไปบวชทำไม จึงต้องมาทวนกระแส มีศรัทธามีความสุขมีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติโดยการฝึกตน ให้เป็นธรรม เป็นวินัย กาลเวลาของเรามันจะได้ประโยชน์ เพราะทุกคนต้องนำตัวเองออกจากวัฏฏะสงสาร การบวชเป็นของยาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังพระบาลีที่ว่า ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา การได้บรรพชาเป็นของหาได้ยาก เพราะการบวชที่แท้จริง ตามความหมายแห่งธรรมก็คือ การเว้นจากการประพฤติ ที่เดิมๆ ที่เราเคยทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตนเอง ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่ยังไม่ได้บวช การบวชบรรพชาที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือ การไม่ทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกตนเอง ต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง เป็นหลัก ในการขัดเกลา กาย วาจา ใจ โดยการอบรมด้วยธรรมวินัย อบคือทำให้ร้อน ทำให้กิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เร่าร้อน รม คือทำให้หอม ทำให้กาย วาจา ใจ หอมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าเห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตายและเห็นสมณะ จึงได้ออกบรรพชา อุปสมบท มีเนื้อแความปรากฏในพุทธประวัติ ดังต่อไปนี้
จากการทำนายของโหร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเกรงว่า สิทธัตถะราชกุมารจะออกบวชเสีย จึงตรัสให้ สร้างปราสาทถวายสามฤดูคือสำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วให้บำรุงบำเรอด้วยความสุข ทางกามคุณทุกวิถีทาง ในปราสาทนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม รวมถึงสาวใช้รูปร่างดี ชำนาญในการฟ้อนรำ ตามแบบอินเดีย รอบๆ ปราสาทมีสวน มีสระ มีนก มีปลา และมีอะไรๆ ที่น่ารื่นรมย์เพื่อความเพลิดเพลินของเจ้าชาย แล้วก็ในปราสาทนั้นมีแต่สตรีทั้งนั้น คอยเอาใจใส่รับใช้ใกล้ชิด ช่วยเหลือทุกสิ่งทุกประการไม่ให้เจ้าชายเดือดร้อน
เหตุที่พระเจ้าสุทโทนะผู้เป็นบิดาทำเช่นนั้น ก็เพื่อผูกมัดเจ้าชาย ไม่ให้คิดถึงเรื่องการบวช แล้วไม่ให้ออก ไปไหนเสียด้วย ถ้าจะไปไหน ต้องได้รับอนุญาตจากพระราชบิดา ในพระทัยของพระราชบิดาก็ไม่อยากให้ออกไปไหน กลัวว่าจะไปคบหาสมาคมกับคนที่เป็นนักบวช ในสมัยนั้น จิตใจจะโน้มเอียงไปในทางเป็นฤาษีชีไพร ท่านไม่ต้องการ เพราะว่ามีลูกชายเพียงผู้เดียว อยากจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ถ้าออกบวชเสียแล้วก็หมดหวัง
แต่ว่าความต้องการของพระเจ้าสุทโธทนะหาสำเร็จไม่ เพราะเจ้าชายแม้ไม่ได้ไปไหนก็จริง แต่ว่าชอบ ไปนั่งคนเดียวในป่า ในสวนหลังปราสาท นั่งคนเดียวก็นั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ เหม่อลอยไปในเวิ้งว้างของสถานที่ คือเป็นคนชอบคิดนั่นเอง ไปนั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ ดูนกดูสัตว์ในบริเวณนั้นว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจให้พระองค์เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ในโลก คิดแต่ว่าจะแสวงหาธรรมะท่าเดียว แต่ก็ยังออกไปไหนไม่ได้
ต่อมาก็ได้ทรงขออนุญาตพระบิดา เพื่อออกไปชมบ้านชมเมืองบ้าง พระบิดาก็ได้สั่งให้ตกแต่งบ้านเมือง ให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเช่น คนแก่ คนเจ็บ คนไข้ คนรูปร่างไม่สมบูรณ์ อะไรนั้น เขาไม่ให้ออกมาเดิน บนถนน กลัวเจ้าชายจะเห็นเข้า กีดกันทุกอย่างไม่ให้พบสิ่งซึ่งทำให้เบื่อหน่าย ให้เห็นแต่สิ่งที่สบายตา ฟังเสียงสบายหู พบคนที่สบายใจ กีดกันอย่างนั้นเพื่อให้ได้อยู่วังครองเมือง
ในการเสด็จชมเมืองวันแรก เจ้าชายได้เห็นคนแก่ร่างกายคู้ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถือไม้เท้า เดินกระง่องกระแง่งผ่านมา พระองค์ก็หยุดรถแล้วก็ถามฉันนะว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ฉันนะคนขับรถบอกว่า นี่แหละพระเจ้าค่ะ คนแก่ อายุมากๆ ไปมันก็ต้องแก่อย่างนี้
ท่านก็ถามต่อไปว่า พระบิดาของเราจะแก่อย่างนี้ไหม นายฉันนะก็ตอบอีกว่า ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน ไม่มีใครหลีกพ้นความแก่ไปได้ ภาพที่เห็นทำให้สลดพระทัยในเรื่องความแก่แล้วก็สงสารคนแก่ที่ลำบากอย่างนั้น
วันที่สองได้เดินทางออกไปชมเมืองอีก พบคนเจ็บร้องครวญครางอยู่ข้างถนน พระองค์ได้ลงจากรถ เข้าไปใกล้แล้วถามว่าเป็นอะไร เขาคนนั้นบอกกับพระองค์ว่า ไม่สบาย เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ พระองค์ก็สงสาร คนเหล่านั้นว่าทำอย่างไรจะช่วยคนเจ็บเหล่านี้ได้
วันที่สามออกไปเจอคนตาย กำลังหามไปป่าช้า ญาติเดินร้องไห้ครวญคราง สยายผมตีอกชกหัว ไปข้างหลัง เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ทำให้พระองค์คิดว่าชีวิตของคนเรามันก็เท่านี้ อยู่ไปสนุกไปมันก็ตามเท่านั้นเอง ตายแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ไปแต่เสื้อผ้าหุ้มกายนิดหน่อย เอาไปเผา กลายเป็นขี้เถ้า แล้วเราจะมัวเพลิดเพลินอะไร กันหนักหนา แต่ยังไม่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร
ส่วนวันที่สี่ก็เสด็จออกชมเมืองอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พระองค์ไปเห็นนักบวชผู้มีอาการสงบเรียบร้อย หน้าตาเปล่งปลั่ง มีอารมณ์ดี ก็เห็นว่า สาธุ โข ปัพพัชชา บวชดี ท่านพูดกับตัวเองว่า บวชเข้าทีแน่ สาธุ โข ปัพพัชชา -บวชนี่ดีแน่ แล้วก็เลยไปพักอยู่ในสวน นั่งชมปลาชมนกอะไรไปตามเรื่อง
พระองค์ได้เสด็จประพาสรอบพระนคร ๔ วาระด้วยกัน ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทำให้สังเวชสลดพระทัยและเบื่อหน่ายในสังสารทุกข์ ทรงเห็นว่าการออกบรรพชาเป็นทางดีที่สุด ที่อาจทำให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การที่ได้เห็นนักบวชก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า การบวชจะช่วยให้มีเวลาว่างเป็นของตัว จะได้คิดค้นอะไรได้มาก เพราะฉะนั้นการเห็นเทวทูตสี่จึงเป็นเครื่องเตือนใจ
ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย
เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา 3 ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน ขณะนั้น พระนางกีสาโคตมี ราชกัญญาแห่งศากยราช ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสิทธัตถะ มีพระทัยปฏิพัทธ์ ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระกุมารด้วยสุรเสียงอันไพเราะว่า “นิพฺพุตา นูน สา มาตา, นิพฺพุโต นูน โส ปิตา, นิพฺพุตา นูน สา นารี, ยสฺสายํ อีทิโส ปติ. ความว่า หญิงใด เป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นก็ดับทุกข์ได้”
พระสิทธัตถะทรงสดับคาถานั้น ทรงเลื่อมใส พอพระทัยในคำว่า นิพฺพุตา ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายไกลออกไปถึงพระนิพพาน ธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งมวล ทรงดำริว่า พระน้องนางผู้นี้ ให้เราได้สดับคุณบทแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งแล้วจึงทรงถอดสร้อยมุกข์ซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ พระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมีด้วยทรงปีติยินดี ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชายิ่งขึ้น
พอดีในวันนั้นพระนางพิมพ์พาประสูติพระโอรส อำมาตย์ก็ไปกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า บัดนี้พระนางพิมพาได้ประสูติพระโอรสแล้ว เพราะองค์ก็อุทาน "ราหุลํ ชาตํ" แปลว่า "บ่วงเกิดแล้ว" อำมาตย์ผู้นั้นได้ยินก็นึกว่า เจ้าชายสิทธัตถะตั้งชื่อลูกชายว่า "ราหุล" เลยกลับไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า มกุฎราชกุมารพอพระทัยในการที่มีลูก ตั้งชื่อให้แล้วว่า "ราหุล" ในความจริงนั้นไม่ใช่ พระองค์บ่นออกมาด้วยความรู้สึกในใจว่า บ่วงเกิดแล้ว "ราหุล" แปลว่า "บ่วง" มนุษย์เรานี่มีบ่วงอยู่ ๓ บ่วง มีบุตร เรียกว่า บ่วงพันคอ มีภรรยา เรียกว่า บ่วงผูกมือ มีทรัพย์ เรียกกว่า บ่วงผูกเท้า
ถ้าตัด ๓ บ่วงนี้ได้ก็พ้นทุกข์ แต่ถ้ายังมี ๓ บ่วงนี้อยู่ ก็ยังจะต้องวุ่นวายทั้งหญิงและชายเหมือนกัน ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของหญิง ก็คือ "สามี" ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของชาย ก็คือ "ภรรยา" บ่วงทั้ง ๓ ในที่นี้ขยายความออกให้ชัดได้ว่า ถ้าคนมีบุตรมักกลืนอะไรไม่ลงเพราะคิดถึงลูก ถ้ามีโอกาสได้กินผลไม้อร่อย ต้องรีบเอาไปฝากลูก เท่ากับมีบ่วงพันอยู่ที่คอ คอยรัดคอให้แคบตลอดเวลา ส่วนภรรยาก็จูงมือไป(ผูกมือ) ทรัพย์ก็ผูกเท้าไว้ไม่ให้ไปไหนได้ ทำให้เป็นห่วงบ้าน ห่วงนั่น ห่วงนี่ พระองค์จึงถือว่าบ่วงเกิดแล้ว คือเกิดจากบุตรที่เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง
ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใย ในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ
เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา ได้กลายเป็นป่าช้า ปรากฏแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้ ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น
ก่อนที่พระองค์จะตัดสินใจแน่วแน่เพื่อออกบวช พระองค์เสด็จเข้าไปในห้องพระนางพิมพา ได้เห็นนางกอดลูกน้อยราหุลอยู่ นึกในใจว่า ควรบอกสักหน่อยดีหรือว่าอุ้มลูกชายสักหน่อย แล้วจึงค่อยไปดี อีกใจหนึ่งบอกว่า อย่านะ ขืนปลุกก็ไม่ได้ไปเด็ดขาด นางจะกอดแข้งกอดขาไว้จะไปได้อย่างไร ก็เลยไม่ปลุกไปยืนดูใกล้ๆ ดูด้วยความรัก พระองค์ไม่ใช่คนใจหิน ย่อมมีอาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ดูแล้วถอยออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ ทำท่าจะจับจะปลุกให้ลุกขึ้น แต่ใจหนึ่งก็ว่าไม่ได้ๆ อย่ายุ่ง ให้เขานอนให้สบาย แล้วก็เลยถอยหลังมาที่ประตู รีบปิดประตูแล้วผลุนผลันออกไป
ในที่สุดพระองค์ตัดสินพระทัยสละลูกน้อยที่เพิ่งประสูติ ออกบวชเมื่อพระชนม์พรรษา ๒๙ ปี เสด็จหนีออกจากพระราชวังในเวลากลางคืน ประทับบนหลังม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดตามเสด็จด้วย เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย ยังอีก 7 วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี มีทวีใหญ่ทั้ง 4 เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด
พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"
ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง เหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา ในทันใดนั้น จุฬาโมฬีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้ แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก
ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อุดมเพศ แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหมๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน.
ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญาเจ้าชาย 'พระมหาบุรุษ' ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคน เดียว
หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงศึกษาค้นคว้าหาทางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่างๆ อยู่ถึง ๖ พรรษา จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การบวชนี้ถึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพราะเป็นการหยุดตัวเอง เพราะการทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์นี้มันไม่ได้ ต้องมาหยุดตัวเอง หยุดมีเซ็กส์มีเพศสัมพันธ์ทางกายและมาหยุดมีเซ็กส์มีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจเรียกว่าไฟท์แห่งการหยุดวัฏฏะสงสาร คนเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกยิ่งสร้างปัญหา การมาบวชถึงมาหยุดตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านเปรียบอุปมาให้ฟังเหมือนบุรุษโบราณ เขาเอาไม้ไผ่มาสีกันให้เกิดไฟ ถ้าไม้ยังเปียกยังสดอยู่มันก็ไม่ติด มันถึงต้องออกบวช ออกบวชก็หมายถึงหยุดตัวเอง เราทุกคนเข้าใจผิดเพราะความรู้ ความเข้าใจนี้ มันยังเป็นสามัญชนอยู่ มันยังไม่ใช่ธรรมะ ทุกคนถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ผู้ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาศีลเป็นหลัก มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ให้ดูพวกฤาษี ชีไพร เขาพากันทำตามใจตัวเอง อย่างนี้มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง มันต้องหยุดทางความคิด หยุดทางอารมณ์ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชถึงได้บุญ ได้กุศลเยอะ พวกที่บวชถึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่อยู่ก็ต้องอาศัยพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่อยู่ก็ต้องอาศัยธรรมวินัย คนเราทำตามใจตัวเองไม่ได้ ทำตามอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ได้เข้าสู่หนทาง มันจะเป็นเพียงนักปราชญ์เฉยๆ เป็นนักปรัชญาเฉยๆ ผู้ที่มาบวชถึงต้องมาปรับใจตัวเอง มาปรับตัวเอง อย่าให้ตัวเองมีอะไรแอบแฝง
แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดังกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร ? พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้น คือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไรๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัยบ้าง หนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่างๆ บ้าง พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ ดังนี้
อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น
อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภสักการะและสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่า จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น
อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น
อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมะขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น
อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ อย่างที่ ๕ นี้ จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์
การบวชจึงหลายจุดประสงค์จำนงหมาย ดังคำโบราณที่ว่า บวชหลบบวชลี้ บวชหนีวัฏสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกหาบาป บวชคาบเหล็กไฟ บวชไปทำพุทธพาณิช บวชติดเรื่องโลกๆ บวชนั่งโงกงมแก่ ตามคำที่ว่ามาทั้งหมดนี้ การบวชหนีวัฏสงสาร มุ่งมรรคผลนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง เป็นการบวชที่ประเสริฐสุด พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
เรามาบวชเป็นพระ เป็นสมมติสงฆ์ แต่ทุกๆ คนนั้นจิตใจนั้นยังไม่ได้เป็นพระ ต้องมาปฏิบัติพระธรรม พระวินัย เพื่อให้ใจของเราเป็นพระ พระคือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ พระคือผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร “พระคือผู้ที่เดินตามทางสายกลาง คือพระธรรม พระวินัย
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าถึงจะเป็นผู้ที่สมควรรับกราบ รับไหว้ รับการบูชาจากประชาชน ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่มาบวชอยู่ที่วัดก็คือเปรตตนหนึ่งมาคอยรับส่วนบุญจากประชาชน ที่เค้าถวายทาน อุปัฏฐาก อุปถัมภ์น่ะ
เพราะว่าศาสนาพุทธของเรานี้มีความเมตตามาก มีกรุณามาก อย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ก็ย่อมมีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาเจือปนย่อมมีผู้ที่ไม่มีศักยภาพในการทำมาหากิน มาเอาพระพุทธศาสนาหาเลี้ยงชีพ นี้ก็คือว่าเป็นสภาวธรรม เป็นเรื่องธรรมดาบางคนบางท่านจิตใจไม่สงบน่ะ เป็นโรคจิต เป็นโรคประสาท คิดว่าเมื่อมาบวชแล้วมันคงจะดีขึ้น บางท่านบางคนก็เมื่อเป็นฆราวาส เป็นคนไม่รับผิดชอบ ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เล่นการพนัน เจ้าชู้ ติดยาเสพติด พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็เอามาบวช หวังว่าจะดีขึ้น เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นถ้าใครประพฤติปฏิบัติแล้วก็ย่อมดีทุกๆ คนน่ะ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้ามันไม่ดี มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องดี
เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานเอาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อกัณหา เป็นตัวอย่างน่ะ ท่านอายุ ๗๒ ปี บวชมาแล้ว ๕๒ พรรษา ตั้งแต่บวชมานี้ยังไม่เอาเงินสักบาทเป็นของตัวเอง เป็นของส่วนตัว ฉันอาหารวันหนึ่งก็เพียงหนเดียว ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ทางโลก ไม่ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ไม่มีมือถือ ไม่เล่นไลน์ ไม่เล่นอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค
เราบวชมาน่ะต้องพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่เต็มกำลัง ตามพระธรรม ตามพระวินัย ข้อวัตร กิจวัตรคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่าได้ย่อหย่อนอ่อนแอ เพราะพื้นฐานของเราทุกๆ คนนั้นเป็นคนย่อหย่อนอ่อนแอ ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตนเอง ตามความเคยชินที่ได้สะสมมานาน จนเป็นนิสัย เป็นสันดาน ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส ทวนอารมณ์ของเราน่ะ ไม่ไปตามสัญชาตญาณ สัตว์โลกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิด ต้องทวนกระแส ต้องตามพระพุทธเจ้า ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า
ทุกท่านทุกคนน่ะต้องผ่านอุปสรรคได้ ผ่านปัญหาได้ ด้วยการเอาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐออกมาทำงาน ออกมาใช้งาน ต้องกล้าสู้ กล้าเผชิญในการผ่านอุปสรรคต่างๆ นานาเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีอะไรมากไปกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างตั้งอยู่ ทุกอย่างก็ต้องดับไป เราต้องระดมเอาบารมีสิบทัศออกมาใช้งาน ออกมาทำงาน เราต้องระดมเอาอริยมรรคมีองค์แปดประการออกมาใช้ ออกมาทำงาน ถ้าไม่มีอุปสรรคต่างๆ นานา มาปรากฏเราก็ไม่ได้ประพฤติเราก็ไม่ได้ปฏิบัติน่ะ ไม่มีข้อสอบเราก็ไม่ได้ตอบปัญหา แก้ปัญหา เราทุกคนก็ถือว่าเราเป็นโชคดีที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราให้เข้าใจที่ถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อเราจะได้ผ่านภพผ่านภูมิที่มันกำลังปรากฏการณ์แก่เรา ในชีวิตประจำวัน
เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละทุกๆ วัน จนกว่าเราจะหมดกิเลส สิ้นอาสวะ ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราก็ไม่สมควรที่จะทานอาหาร เพราะเราทุกคนถือว่าเป็นเสขะบุคคล บุคคลที่จะต้องพึงประพฤติพึงปฏิบัติน่ะ เรายังไม่ใช่อเสขบุคคล คือ บุคคลที่หมดกิเลส สิ้นอาสวะแล้ว เรายังเป็นคนที่มีหนี้มีสินต่อผู้มีพระคุณคือพ่อ คือแม่ และประชาชน ผู้ที่ทำบุญตักบาตร ถวายปัจจัยทั้งสี่ เราทุกคนต้องทำความเพียร ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเราจะไม่มีหนี้มีสิน เราจะได้ให้บุญให้กุศลกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พร้อมทั้งประชาชนที่ทำบุญตักบาตร อุปถัมภ์ อุปัฏฐาก เราบวชมาแล้วน่ะ พ่อแม่บังเกิดเกล้าก็กราบเรา ไหว้เรา ผู้แก่ผู้เฒ่าวัยชราก็กราบเราไหว้เรา ทุกท่านทุกรูป พระพุทธเจ้าให้เรามีจิตสำนึกเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เต็มความสามารถด้วยความตั้งอกตั้งใจ
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะใจของเรามันจะสงบ ใจของเรามันจะเย็น ความสุขของเราคือการปฏิบัติธรรม การทำงานของเรา คือการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัย งานคือข้อวัตร กิจวัตร ข้อประพฤติข้อปฏิบัติของความเป็นพระธรรมพระวินัยของเรา นี้คือความโชคดี ความประเสริฐที่เราทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงเราจะบวชนาน ไม่นานนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เต็มความสามารถ ให้ได้มาตรฐานตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ให้เราได้ภูมิใจในตัวเอง ให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องภูมิใจ ให้ประชาชน ได้ภูมิใจในการบวช แล้วตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีเป็นที่รักเคารพบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะได้ชื่อว่าสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า