แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๒๓ กตัญญูรู้คุณ เพียรปฏิบัติขัดเกลาเพื่อให้จิตใจผ่องใสเป็นประภัสสร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
จิตของเราทุกคนส่วนใหญ่เป็นประภัสสร เพราะใจของเราเป็นกลาง พระพุทธเจ้าถึงให้เราเจริญปัญญา มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง และเราปฏิบัติถูกต้อง เป็นอริยมรรค รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในปัจจุบัน พัฒนาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงได้มี เมื่อเราจะหยุดสิ่งนี้ไม่ให้มี สิ่งต่อไปไม่ให้มี เราต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัญญาเรายังไม่มี เราก็ต้องอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้า เพื่อตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คือธรรมะ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง สมบูรณ์ด้วยอรรถะ พยัญชนะ พระพุทธเจ้าให้เราจับหลักไว้อย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตละร่างกาย สรีระ ดับขันธ์สู่ปรินิพพานแล้ว ต้องเอาธรรมะ พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เป็นการดำเนินชีวิต ธรรมที่พระองค์ตรัสไว้นี่แหล่ะ คือตัวแทนขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า
ทุกๆ คนพากันเข้าใจ เราจะเดินทางต้องอาศัยยาน คือศีล สมาธิ และก็ปัญญา ปัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ เพราะปัญญา.. เราถึงต้องมีความตั้งมั่นในพระรัตนตรัย คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราถึงจะเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องอาศัยการประพฤติ อาศัยการปฏิบัติของตัวเราเอง เรียกว่าของตัวท่านเอง นี่เรียกว่าการประพฤติการปฏิบัติพรหมจรรย์ ทุกท่านทุกคนต้องมาเสียสละสักกายะทิฏฐิ ที่เรียกว่าตัวตน อย่ามีความความลังเล วิจิกิจฉา ทุกท่านทุกคนต้องดำเนินชีวิตไปอย่างนี้ ปัจจุบันถึงเป็นการจัดแจง เป็นการดำเนินชีวิต ในการฝึกในการปฏิบัติอย่างนี้ ให้สติเราเร็ว ตั้งใจไว้ ตั้งเจตนาเอาไว้ อย่าได้หลงประเด็น อย่าได้หลงการเดินทาง
จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง 3 ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง ห่อหุ้ม เอิบอาบ แช่อิ่ม บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว แต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอุปนิสัย เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์นับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ มี 16 ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส 16 ซึ่งเป็นเหมือนกับลูกหลาน บริวาร สังกัดในกิเลส 3 ตระกูล แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากดั่งพี่น้อง แต่อาจจะมีระดับต่างกัน ได้แก่
ตระกูลโลภะ 1. อภิชฌาวิสมโลภะ จ้องละโมบ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว
ตระกูลโทสะ 2. พยาบาท คิดหมายปองร้าย ทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์คิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
3. โกธะ โกรธ คือ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจหรือไม่ปลื้ม ตรงกับคำว่า “ฉุน” หรือ “กริ้ว” มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
4. อุปนาหะ ผูกโกรธ คือ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย ซึ่งตรงกับคำ ว่า “ตึง” เช่นประโยคที่ว่า “น้องชายกับพี่สาวตึงกันมานานแล้ว” เป็นต้นการผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
ตระกูลโมหะ 5. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน หมายถึง ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณ, ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู"
6. ปลาสะ ตีเสมอ หมายถึง คือการตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆ ที่ตนต่ำกว่าเขา เช่น แมวคิดตีเสมอราชสีห์ เป็นต้น ตรงกับคำว่า “ยกตนเทียมท่าน”
7. อิสสา ริษยา หมายถึง กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี ริษยามีหลายระดับ ถ้ามีน้อยก็เพียงไม่สบายใจ ถ้ามีมากก็จะไปผลาญทำลายความดีผู้อื่น
8. มัจฉริยะ ตระหนี่ ตรงกับที่พูดว่า “ถี่เหนี่ยว หรือ ขี้เหนียว” เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใครแม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม ซึ่งความตระหนี่นี้เป็นคนละเรื่องกับประหยัด ความตระหนี่นั้นยังหมายรวมไปถึงตระหนี่ชื่อเสียง หวงความดีความชอบผู้อื่น หวงวิชาความรู้
9. มายา เจ้าเล่ห์ , มารยา หมายถึง แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น
10. สาเถยยะ โอ้อวด หมายถึง หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง แฝงเจตนาให้ผู้อื่นเกรงกลัวหรือเลื่อมใส ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเอาออกมาอวด เช่น ถ้าอวดทรัพย์ ก็เรียกว่า อวดมั่งอวดมี ถ้าอวดความรู้ ก็เรียกว่า อวดรู้ เป็นต้น
11. ถัมภะ หัวดื้อ จิตใจแข็งกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์ ความดื้อมี ๒ แบบ ได้แก่ ดื้อด้าน เรียกว่า “คนหัวแข็ง” ส่วนดื้อดึง จะเรียกว่า “คนหัวรั้น” คนหัวดื้อในโลกนี้ อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ดื้อเพราะความโง่หรือความขี้เกียจ จัดเป็นพวกดื้อด้าน ๒. ดื้อเพราะทิฏฐิมานะหลงตัวเองว่ารู้แล้ว จัดเป็นพวกดื้อดึง ๓. ดื้อเพราะโทสะโกรธง่าย จัดเป็นพวกบ้า
12. สารัมภะ แข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้
13. มานะ ถือตัว , ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง” “จองหอง” คือ สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา
14. อติมานะ ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก คือ ตีคุณค่าในตัวผู้อื่นให้มีราคาถูกหรือน้อยลง อติมานะก็เปรียบเหมือนพี่ของมานะ มานะนั้นเพียงถือตัว ส่วนอติมานะ จะดูหมิ่นกดคุณค่าของผู้อื่นเข้าไปอีก
15. มทะ มัวเมา เมาในซึ่งต่างจากอาการเมาเหล้า ซึ่งจะเรียกว่า “มึนเมา” เท่านั้น แต่มัวเมานี้เป็นความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี 4 ประการ ได้แก่ 1. เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง 2. เมาในวัย 3. เมาในความแข็งแรง 4. เมาในทรัพย์
16. ปมาทะ คือ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก หลงใหลในอบายมุข เช่น ขลุกอยู่ในการพนัน เป็นความเมาที่ยิ่งกว่า มทะ ซึ่งจะตรงกับคำว่า เลินเล่อ, หรือชะล่าใจ ไม่คิดให้รอบคอบ เป็นอาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา
ชีวิตส่วนใหญ่อายุขัยเราก็ไม่เกินร้อยปีอยู่แล้ว ความสุขทางร่างกายนั้น มันไม่เป็นความสุขทางร่างกาย เราจำเป็นที่จะดูแลธาตุดูแลขันธ์ เพื่อจะเอามาใช้งาน เพื่อการเดินทาง ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่จะได้เป็นตัวอย่างแบบอย่าง เพื่อส่งไม้ผลัดให้ลูกให้หลาน เพื่อให้เขารู้จักทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราจะได้บอกลูกบอกหลานว่า อันนี้คิดไม่ได้ พูดไม่ได้ อันนี้ทำไม่ได้ มันเป็นข้อประพฤติข้อปฏิบัติของแต่ละคน ต้องรับผิดชอบในตัวของเราเอง ในตัวของท่านเอง
ทุกท่านทุกคนจะได้หยุดอบายมุขของตัวเอง อาศัยยานในการเดินทางไปอย่างนี้ สัมมาสมาธิถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อจะได้ไม่ตามผัสสะ ไม่ตามสิ่งภายนอก เพราะสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้คือภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ที่เป็นข้อสอบในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้เราก็จะมีความสุขทั้งคนจน คนรวย วัตถุสิ่งของต่างๆ ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นคุณ ไม่มีโทษ มนุษย์ก็จะพาได้ได้มีความสุขกัน
เรารู้ เราเข้าใจ ถ้าเราไม่ประพฤติ ไม่ได้ปฏิบัติ เราก็จะเป็นเพียงคนที่มีปัญญา ความรู้ต้องคู่ประพฤติ คู่ปฏิบัติ อยู่ในโลกนี้มองไปทางซ้าย ทางขวา ทางหน้า ทางหลัง ในปัจจุบันก็มีแต่เหยื่อทั้งนั้น ให้เรารู้จักเพื่อจะได้เป็นข้อสอบ เป็นข้อปฏิบัติของเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาเสียสละ ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันไม่แน่ มันไม่เที่ยง จะสุขจะทุกข์ จะดีจะชั่ว ล้วนแต่คือกฎพระไตรลักษณ์คือกฎอนิจจัง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ทุกคนต้องเสียสละ เพื่อใจของเราจะได้ไม่มีตัวไม่มีตน เราจะมาติดสุข ติดขี้เกียจ ติดขี้คร้านนี้ไม่ได้ เป็นการติด เป็นการหลง นี้เขาเรียก ใจของเราต้องมีปัญญา ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องปรับใจของเราเข้าหาเวลา เพื่อเราจะประพฤติใจ ปฏิบัติใจ ไก่มันฟักไข่ มันใช้เวลาถึง ๓ อาทิตย์ ถึงฟักไข่ออกมาเป็นลูกไก่ เราประพฤติปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่องกัน ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ และก็ใช้ชีวิตที่ประเสริฐนี้ เกิดมาเพื่อพระนิพพานในการประพฤติปฏิบัติ เราอย่าไปคิดว่า เราทำแบบนี้อย่างนี้ มันก็เครียด มันไม่เครียดหรอก เพราะเราไม่เอาอะไร เราจะไปเอาอะไร เพราะของทุกอย่างก็ผ่านมาผ่านไป เราจะมีความสุขในการเสียสละ ความสุขหรือว่าสัมมาสมาธิ ที่เรามีความสุขในปัจจุบัน เราก็ต้องเสียสละ เพราะนี้มันยังเป็นความคิดเห็นผิด เป็นความปรุงแต่ง เป็นความหลง ยังเป็นมานะ ยังเป็นทิฏฐิอยู่ ให้เรารู้จักความคิดรู้จักอารมณ์ เราต้องก้าวไป เราจะเอาแต่ความสงบก็ไม่ได้ ความสงบกับปัญญามันก็ต้องไปด้วยกัน ด้วยภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ
ปีนี้ก็ตรุษจีนกำลังจะมาถึง ในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าให้เราเน้นเรื่องกตัญญูกตเวทีรักษาธรรม รักษาพระวินัยไว้ ถึงจะแม้จะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพแล้วก็ต้องรักษาพระวินัย ศีล สิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เพื่อจะทรงข้อวัตรข้อปฏิบัติให้กุลบุตรลูกหลาน เป็นความคิดของพระพุทธเจ้าผู้มีสติ ผู้มีปัญญา คนเราต้องเสียสละ บุคคลที่เกิดมาก็ต้องมีพ่อมีแม่ มีครูบาอาจารย์ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ถึงต้องกตัญญูกตเวที ส่งบุญกุศลให้ด้วยการที่เราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่งบุญกุศลให้ด้วยการถวายทาน เพราะผู้ที่วายชนม์ไปแล้ว ทำความดีไม่ได้ ต้องอาศัยญาติๆ กุลบุตร ลูกหลานเหลน เพื่ออุทิศบุญไปให้ การอุทิศบุญกุศลถึงได้มีสืบต่อกันอยู่ในกลุ่มของคนจีน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่...(เรื่องกตัญญู เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...)
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ได้แก่
๑. กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและเป็นพุทธมามกะสมชื่อ
๒. กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า
ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูให้พ้นไป ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้นเอง
๓. กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือ ธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่างเช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวย ขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิตช่วยเหลือตนสร้าง ฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้ก็มี
มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า “อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงาก็หาควรจะหักกิ่งริดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งริดก้านรานใบ เด็ดยอด ขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคล เป็นเบื้องหน้า”
๔. กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งไปนิพพานได้ ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๕. กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทะนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้า เสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง
การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะ รักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้าง จากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลสรุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู
ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะ รู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง 20 อสงไขยกับแสนกัปป์ ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อเรากตัญญู เราต้องเข้าสู่ความประพฤติความปฏิบัติเพื่อจะได้เป็นพระพุทธศาสนา มันไปทางใจอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีลเราก็ยังไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาของเราก็ยังไม่มี เพราะเรายังไม่ได้เอาปัญญามาเสียสละเลย เราต้องเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ รู้แล้วประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเรามองดูภาพรวมของประเทศ หรือว่า สังคม ของโลก มันไม่สมบูรณ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่เอามาใช้ทำงาน เพื่อพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและจิตใจไปพร้อมๆกัน เราถึงมีปัญหา สิ่งภายนอกถึงมีปัญหา
เราจึงต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวที ต่อพระพุทธเจ้า ต่อพ่อแม่ ต่อบรรพบุรุษของเรา เป็นผู้ที่เสียสละ ทุกคนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องพากันพิจารณาตนเอง เดินจงกรมก็พิจารณากายใจ ว่าตามใจตามอารมณ์หรือเปล่า นั่งสมาธิก็พิจารณากายใจว่ายังตามใจตามอารมณ์หรือเปล่า ยืนเดินนั่งนอนก็พิจารณาตนเอง เพื่อแก้ไขตนเองประพฤติปฏิบัติตนเองเราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเพียงได้ยินได้ฟัง ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ได้ปฏิบัติตามก็ยิ่งเป็นอานิสงส์ใหญ่ ต้องพากันพิจารณาตัวเอง พากันแก้ไขตัวเอง เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวเอง เราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า
เราต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ นี่แหล่ะคือการกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า เราจะเห็นแก่พรรค แก่พวก แก่ปาก แก่ท้องไม่ได้ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ถ้างั้นการเรียนการศึกษานี่ก็เพื่อความเห็นแก่ตัว การเรียนเพื่อตัว เพื่อตน นี้ไม่ใช่ธรรมะ การเรียนเพื่อละตัว ละตน ถึงจะถูกต้อง จะได้พัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล เราจะได้เข้าถึงจิตที่เป็นประภัสสร จิตที่มีสัมมาทิฏฐิ ใจมีสติ ใจที่มีปัญญา ต้องมาพัฒนาใจไปอย่างนี้ เราทุกคนจะได้เข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เราถึงจะเข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง ดับทุกข์ทั้งกาย ทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา เราจะได้ไม่ได้เป็นเป็นมนุษย์ที่เป็นขยะ มนุษย์ที่ไม่มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อส่วนรวม ไม่ได้เอาธรรมะเป็นหลัก เขาเรียกว่า มนุษย์ขยะ
มนุษย์ที่พึ่งพาตนเอง ไม่ระเหเร่ร่อน โดยไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เป็นโฮมเลส การเรียนการศึกษาเราก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าได้ไปเบียดเบียนคนอื่น อย่าไปหลงในกาม ในวัตถุ
ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ จิตใจจะเข้าถึงประภัสสร สิ่งที่จรมาก็ให้มันเกิดศีล สมาธิ เกิดปัญญา จะได้งามในเบื้องต้นคือศีล คือสมาธิ คือปัญญา เข้าถึงพระศาสนาด้วยกันทุกท่านทุกคนในปัจจุบันนี้ โลกนี้จะได้มีแต่ความสุขความดับทุกข์ ด้วยกันทุกท่านทุกคน