แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๑๙ เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สัปปายะ ต้องรู้จักใช้เวลาชีวิตให้สงบเย็นเป็นประโยชน์มากที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ที่เราได้อัตภาพ ที่ได้เป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สัปปายะ และมีธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ตรัสรู้ ทุกคนต้องรู้จักว่า เราได้รับสิทธิพิเศษอย่างนี้ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราหลงทิศ หลงทาง ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต หยุดการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เรียกว่าตั้งมั่นในพระรัตนตรัย การทำมาหากิน มันก็เพียงแต่ให้เรายังชีพ ไม่ให้ร่างกายของเรามันแตกสลายไป เราต้องเอาสรีระที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาประพฤติ มาปฏิบัติ เราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ พัฒนาตัวเอง เขาเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
ความดับทุกข์มันอยู่ที่เรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาที่ใจของเรา มันเป็นไฟท์แห่งการประพฤติปฏิบัติ เราต้องเห็นทุกข์ เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ถ้าเราไม่เห็นภัย ไม่เห็นทุกข์ในวัฏฏะสงสารนี้ไม่ได้ การท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องมีภาระ เราอย่ามาหลงในความสุข ของเอร็ดอร่อย ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่ได้ เราเป็นผู้มีปัญญา รู้ธรรมะจากพระพุทธเจ้า รู้จากหลักการ หลักวิชาการ ที่เขาบันทึกไว้ในพระไตรปิฏก แล้วต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เราต้องละซึ่งตัว ซึ่งตน ละซึ่งขันธ์เพราะเราแบกของหนัก แบกของหนักก็คืออวิชชา ความหลง ต้องมาละ ต้องมาดีท๊อกออกไป เขาเรียกว่ามาละธาตุ มาละขันธ์ทางจิตใจ เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ เห็นสภาวะธรรมนี้เราต้องพากันมาเสียสละ มาปฏิบัติ มันจะได้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มันถึงจะไม่เสียเวลาของความประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเราเป็นความเคยชินที่ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป พวกนี้มันไม่ได้ เราจะอยู่ไปเพียงเพื่อ แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้มันไม่ใช่
พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาบอกเราสอนเรา ให้พากันประพฤติปฏิบัติธรรม อย่าได้ตามจิตตามใจตัวเอง ท่านให้เราทำแต่ความดี ถ้าเราทำความดีเราต้องได้ดีแน่ๆ นะ ถ้าเราไปทำผิดน่ะใจเรามันจะไม่สงบ ท่านไม่ให้เราเป็นคนใจอ่อน ต้องอดต้องทนต่ออารมณ์ ต่อความอยากความต้องการของเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเราว่า ที่พวกเราไม่สงบ พวกเราไม่ได้บรรลุธรรม เพราะเราทำผิด ทำไม่ถูกต้อง เราไม่ตามพระพุทธเจ้า เราตามจิตตามใจของตัวเอง
พระพุทธเจ้าท่านสงสารเรา พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านก็สงสารเรา ท่านต้องการให้เราเจริญก้าวหน้า แต่พวกเราทั้งหลายก็ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะเราชอบทำผิด ผิดแล้วผิดเล่าซ้ำซากอยู่นั่นแหละ รู้ว่ามันไม่ดีก็ยังไปคิดมันอยู่ รู้ว่ามันไม่ดีก็ยังไปทำมันอยู่ เรามันเจ็บมาหลายครั้ง มันก็ไม่จำไม่เข็ดไม่หลาบ เราทนต่อความอยากความต้องการของเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราหนักแน่นเข้มแข็ง ถ้ามันจะตายก็ตายเสียเลยดีกว่าเราไปทำผิด ถ้าเราทำผิดก็เท่ากับเราเองนี้แหละเป็นคนทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่มีใครจะมาทำร้ายเรานะ
คนเราน่ะ มันเป็นคนขี้เกียจมากๆ นะ แล้วก็ขี้เกียจเป็นปฏิปทา สมมติว่าในตัวเรานี้แหละ ถ้าเรามาเทียบกับพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ติดในความสุข ไม่ติดในความสะดวก ไม่ติดในความสบาย ท่านไม่มีความเกียจคร้านเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรานี้นะ ส่วนใหญ่ความขยันที่จะพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง แก้ไขกายวาจาใจของตัวเองน่ะ มันน่าจะไม่ถึงสักสิบเปอร์เซ็นต์นะ
แต่คนเรามันเห็นแก่ตัว มันก็เข้าข้างตนเอง คิดว่าตัวเองขยันอยู่นั่นแหละ “คนเรานะ ถ้ามันขยันมันได้เป็นพระอริยเจ้าไปแล้ว ถ้ามันขยันนี้ มันรวย มันมีฐานะไปมากกว่านี้แล้ว” ความขยันนี้ดีมากนะ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทุกคนเป็นคนขยันอย่าได้เป็นคนขี้เกียจเป็นอันขาดนะ
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราอย่าให้คนอื่นหนักใจกับเรา อย่าให้พ่อแม่ต้องหนักใจกับเราว่าเราเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่รับผิดชอบ เป็นคนไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจศึกษา เป็นบุคคลไม่ดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างคุณธรรมคุณงามความดี สิ่งที่ผ่านมานั่นนะ ให้ทุกคนจดจำไว้ว่ามันเป็นความผิดพลาดในชีวิตของเรา ที่เราเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่ขยัน เป็นคนเห็นแก่ตัว บริโภคปัจจัยของคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ไม่สร้างคุณธรรมคุณงามความดี เสพสุขเสพสบายไปวันๆ อย่างนี้มันแย่ มันใช้ไม่ได้นะ ต้องขยันขึ้นอีก ต้องรับผิดชอบขึ้นอีก เหนื่อยก็ช่างมัน ผอมก็ช่างมัน ตัวดำก็ช่างมัน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นคนเสียสละ เป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนเพื่อที่จะเรียน เพื่อที่จะศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้เลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล เรามันมีนิสัยเก่านิสัยเดิม ถ้าเราไม่กระตือรือร้น ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองนี้ “มันเกิดมาอีกกี่ชาติ มันก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้นะ”
การกิน การเที่ยว การอยู่สบายนี้แหละเขาเรียกว่ามันเป็น “อบาย”มันเป็นสิ่งที่จะนำเราสู่ความตกต่ำยากจนในอนาคต เป็นกาฝากของสังคม เราจะเป็นกาฝากของคุณพ่อคุณแม่ของอากงอาม่านี้มันคงไม่ได้ มันคงไม่ดี เราต้องเป็นคนมาแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้พ่อให้แม่มีความสุขกายมีความสบายใจในยามเมื่อแก่นะ
มนุษย์สายพันธุ์ใหม่นี้คือมนุษย์ที่ขยันนะ ถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่มีความรับผิดชอบนี้ เขาไม่เรียกว่ามนุษย์สายพันธุ์ใหม่นะ สายพันธุ์เก่ามันไม่ดีน่ะ มันขี้เกียจขี้คร้าน มันพากันมาแต่งแต่หน้า แต่งแต่ผม แต่งแต่ฟัน มันมาแต่งแต่ผิว มันไม่ถูกต้อง มันต้องแต่งปฏิปทา เพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง ไม่สนใจเรื่องหน้าตาผิวพรรณ มันจะดำจะผอมอะไรไม่สนใจ กระตือรือร้นในการเรียนการศึกษา ในการเสียสละ เราอย่าไปมีความคิดเห็นผิดๆ นะ กลัวคนอื่นจะไม่รักเรา กลัวคนอื่นจะไม่สนใจ กลัวคนอื่นจะไม่ยินดีในเรา
“คนจะงาม งามอยู่ที่ศีล คนที่จะสวย สวยอยู่ที่กิริยามารยาท คนที่แก่ แก่ศีลธรรม แก่ความรู้ แก่ในการประพฤติการปฏิบัติ ไม่ใช่คนเกิดนานนะ”
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันคิดดีๆ นะ รวบรวมพลังใจดีๆ ว่าเราต้องทำได้ เราต้องปฏิบัติได้ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติได้ เมื่อพระอรหันต์ท่านปฏิบัติได้ เมื่อคนที่ดีๆ เขาปฏิบัติได้ เราก็ต้องปฏิบัติได้ เราก็หายใจเหมือนกัน เราก็ทานอาหารเหมือนกัน เราก็นอนเหมือนกัน เราต้องทำได้ รวบรวมกำลัง รวบรวมสติปัญญา เพื่อใจมันจะได้มีความเชื่อมั่น ความตั้งมั่น เราเกิดมาทั้งทีเราต้องทำแต่ความดีให้ได้ ให้เราคิดอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็จะเป็นคนอ่อนแอไปเรื่อยๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าเราเป็นพระอย่างนี้แหละ เราไม่ตั้งอกตั้งใจ เราก็เอาเปรียบประชาชนมากเกิน ถ้าเราเป็นลูก เป็นนักเรียนนักศึกษา เราก็เอาเปรียบคุณพ่อคุณแม่มากเกิน พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันสำนึก พากันละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพื่อที่จะได้กระตือรือร้นปฏิบัติตัวเอง พัฒนาตัวเอง คนเราน่ะมันต้องขัดตัวเอง ต้องฝืนตัวเอง มันต้องอดต้องทน เพื่อให้ศีล สมาธิ ปัญญามันเกิด ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็เป็นได้แต่นักปรัชญา เป็นผู้ที่แก่เรียน เปรียบเสมือนนกแก้วนกขุนทอง “พูดได้แต่ไม่ทำ” อะไรก็รู้หมดแต่ไม่ทำ อย่างนี้นะ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันคิดให้มันเป็น ถ้าเราคิดไม่เป็น เราก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง เราก็เป็นได้แต่ลูกน้อง หรือเป็นได้ก็แต่คนที่ถูกกิเลสเขาใช้ให้ทำงาน ต้องคิดให้เป็นนะ เราจะได้มาแก้ไขตัวเอง แก้ไขปฏิปทาของตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเป็นคนคิดเป็น ให้รู้จักรู้แจ้งด้วยตนเอง แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็มีแต่กาย สติปัญญาของเรามันไม่มี ท่านให้เราทบทวนตัวเอง คนเรามันต้องคิดนะ วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งมีอยู่ ๖๐ นาที ๖๐ นาทีมี ๓,๖๐๐ วินาที เราต้องคิดให้ออกว่า เราจะบริหารตัวเองให้มันเข้ากับเวลาได้อย่างไร เพื่อจะนำชีวิตจิตใจของเราสู่ความดีสู่คุณธรรม
เวลามันเป็นของมีคุณค่า เป็นของที่มีราคา เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เราจะมาติดสุขติดสบาย ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณาไปไม่ได้นะ คนเราอย่างมากอายุก็ไม่เกินร้อยปี ร้อยปีมันก็มีหนึ่งพันสองร้อยเดือน ร้อยปีมันก็มีสามหมื่นหกพันห้าร้อยวัน มันมีแปดแสนเจ็ดหมื่นหกพันชั่วโมง มีห้าสิบสองล้านห้าแสนหกหมื่นนาที ร้อยปีมันก็มีสามพันหนึ่งร้อยห้าสิบสามล้านหกแสนวินาที
กาลเวลามันก็หมุนไปตามหน้าที่ของเขา แต่เราก็มัวแต่ไปติดสุขติดสบายติดขี้เกียจ ไม่รู้จักคิดไม่รู้จักพิจารณาว่าชีวิตของเรามันเหลือน้อยเข้ามาทุกที วันก็หมดไป เดือนก็หมดไป ปีก็หมดไปแล้วหมดไปเล่า เราก็มัวแต่ไปภูมิใจว่าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นคุณปู่คุณย่าน่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเรานะว่า “เรามันใกล้จะตายแล้วนะ” เรามาภูมิใจว่าอายุเรายืนไม่ได้ อายุเรามันเหลือน้อยเข้ามาแล้ว ต้องหันหน้าเข้าหาศีลหาธรรม เข้าหาคุณพระรัตนตรัย
เรามันพึ่งอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเหลือเราได้แล้ว นอกจากศีลจากธรรมที่จะนำเราสู่มรรคผลนิพพาน สวรรค์ก็ช่วยเราไม่ได้ สวรรค์ก็มีความเจ็บความตายความพลัดพราก มีแต่พระนิพพานเท่านั้นที่จะช่วยเหลือเราได้ “เราจะเข้าถึงพระนิพพานก็ต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตัวเอง”
เราน่ะอยากจะรวยแต่เราเป็นคนขี้เกียจ อยากบรรลุธรรมแต่เราเป็นคนขี้เกียจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องมรรค คือเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ผลมาจากข้อวัตรปฏิบัติที่เราปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ผลนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้นะ แต่เรามันพากันข้ามขั้นตอนไป อยากเอาแต่ผลไม่ต้องการทำข้อวัตรปฏิบัติ มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะสิ่งมันเป็นไปไม่ได้ เรื่องมรรคผลนิพพานมันเป็นเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นเรื่องที่เราต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มันเกิดมรรคผลนิพพาน
เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มันเป็นเรื่องของเรานะ มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่น คนเราเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว เวลาแก่ก็แก่เฉพาะเราคนเดียว เวลาตายก็ตายไปเฉพาะเราคนเดียว คนอื่นเขาก็เป็นคนอื่น โดยเหตุนี้ปัจจัยนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพากันกระตือรือร้นในการประพฤติปฏิบัติ ทำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ให้เบื่อ ไม่ให้ท้อแท้ ไม่ให้หยุด ทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับวินาทีมันเดินไป นาทีมันเดินไป ชั่วโมงมันเดินไปนะ เราทำไม่หยุด ปฏิบัติไม่หยุด มันเจริญไปเอง ก้าวหน้าไปเอง เราทุกคนมันขี้เกียจนะ ทำไปก็ถามอีกแหละว่า “จะทำไปนานเท่าไหร่?” พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ก็ทำมันไปจนหมดกิเลสนั้นแหละ เมื่อหมดกิเลสแล้วมันก็ต้องช่วยเหลือคนอื่นอีก เพราะว่าคนหมดกิเลสนั้นมันไม่มีปัญหา คนที่มีกิเลสนั้นมันมีปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปมองคนอื่น เสียเวลานะ เสียเวลาแก้จิตแก้ใจตัวเอง แก้ความโลภความโกรธความหลง ที่มันนอนเนื่องในกมลสันดานของเรา ไม่ให้มองคนอื่น ตัวเราก็ยังเอาตัวเองไม่รอดอยู่แล้ว เราจะไปมองคนอื่นอีกเหรอ? ท่านให้เราฝึกปล่อยฝึกวาง ใครจะรวยจะจน เราก็ปล่อยมันไป “ช่างหัวเขา” ใครเขาจะดีจะชั่วก็ช่างหัวเขา ถ้าเราคิดอย่างนี้ใจของเราก็สงบลง เย็นลง เพราะว่าเราแก้ที่จิตที่ใจ เราแก้ที่ต้นเหตุของความทุกข์ที่มันอยู่ในจิตในใจของเรา ปฏิบัติไป เสียสละไป ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิตใจไปเรื่อยๆ เจริญเมตตาเยอะๆ เพราะตัวเองมันเมตตาน้อยเหลือเกิน แทบจะไม่มีเมตตาเอาเสียเลยแหละเรานี้
ให้เราคิดอย่างนี้ มองทุกอย่างให้มันมีความสุข มองทุกอย่างให้ใจมันสบาย มองทุกอย่างในแง่ดีๆ ถ้าไม่มีสิ่งที่มันไม่ดีมาขวางจิตขวางใจของเรานี้ เราจะได้มรรคผลนิพพานได้อย่างไร เราต้องขอบอกขอบใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่มันมาขัดจิตขัดใจของเรา เพื่อที่เราจะได้แก้จิตแก้ใจของเรา ถือว่าเป็นโชคลาภวาสนาของเรานะ เราจะได้มาแก้จิตแก้ใจ เราไม่ต้องไปว่าให้เขา ถ้าเราไม่เกิดมามันก็ไม่มีปัญหาอะไร เกิดมาแล้วก็ยังไม่ยอมรับผิดอีก เรายังไปว่าเขาอีก เรายังไปโทษเขาอีก ที่แท้ก็ต้องโทษเพราะเรามีความอยาก เรามันถึงได้เกิดมา
เราอย่าไปวิตกมากกังวลมาก เดี๋ยวกรดไหลย้อนของเรามันจะเกิดขึ้นมา ทำให้อาหารย่อยไม่ปกติ เราคิดแต่เรื่องเก่า วกวนแต่เรื่องเก่า หลายวันหลายเดือนเราก็ต้องเป็นประสาทแน่นอน ไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามาคิดวกวนแต่เรื่องเก่า มันจะทำให้เราเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตได้นะ อย่าไปคิดมันมาก “มันบาป” เราคิดแล้วก็รู้ทันมันเร็วๆ หน่อย เพราะความคิดทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นโอกาสให้เราฝึกจิตฝึกใจของเรา ไม่ตามอารมณ์ไป ไม่ตามความคิดปรุงแต่งไปมันอยากคิดก็กลั้นลมหายใจให้มันตายไปซะเลย ใจมันจะขาดเดี๋ยวมันก็กลับมา สิ่งที่กลัวที่สุดก็คือกลัวตายนะคนเรา
เราตามอารมณ์ตามความคิดไปจนออกซิเจนในสมองของเราไม่สมดุล จนมันควบคุมอารมณ์ไม่อยู่นะ ถ้ามันถึงขั้นนั้น “กลั้นลมหายใจมันซะเลยนะ” อย่างเราง่วงเหงาหาวนอน ง่วงเหลือเกิน ก็กลั้นลมหายใจใจมันจะขาด เดี๋ยวมันก็ตื่นขึ้นมา เราทำข้อวัตรปฏิบัติหรือว่าเราทำการทำงาน มันต้องเหนื่อยแน่ มันต้องยากลำบากแน่ ถ้าเราไม่เหนื่อย ถ้าเราไม่ยากลำบาก เรามันก็แย่ซิ เพราะว่าเราไม่ได้สร้างความดี เราไม่ได้สร้างบารมี เราไม่ได้เสียสละ ถ้าเราไม่ได้เสียสละ ใจของเราก็ไม่สบาย ใจของเราก็ไม่สงบ เราจะไปนั่งกินนอนกินได้อย่างไร เราไม่ใช่คนอัมพฤกษ์อัมพาต ใช่ไหม? ตัวนี้แหละตัวปฏิบัติ ตัวที่มันเหนื่อย มันยาก มันลำบาก ตัวที่มันไม่อยากจะปรับจิตปรับใจเข้าหาเวลา เข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ ตัวนี้เราต้องฝืน เราต้องอด เราต้องทน เพราะตัวนี้เป็นตัวความดี เป็นตัวบารมี
เรามาปฏิบัติหลายปี หลายเดือน ถ้าเราไม่มีความเปลี่ยนแปลงแสดงว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ เราไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติ เรามาอยู่เฉยๆ เหมือนคุณพ่อคุณแม่ส่งให้เราไปเรียนหนังสืออย่างนี้นะ เราไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เราไปอยู่หอพัก เราไปเล่นไปเที่ยว ความรู้ความสามารถของเราจะมีได้อย่างไร เพราะเราขาดการประพฤติปฏิบัติ ทีนี้แหละ บาปกรรมมันมาถึงเราแล้วนะ เวลาจะสอบน่ะ อยู่ในห้องแอร์เหงื่อก็ไหลแล้วนะ ปากกาแห้ง ๆ กำก็เปียกหมดแล้วนะ เพราะว่าเราตั้งอยู่ในความประมาท เราไม่รู้คุณค่าแห่งกาลเวลาเวลานี่นะ ขนาดเราทำอะไรที่จะให้ได้ตามเป้าหมายอย่างนี้ เวลามันไม่พอนะเราเผลอแป๊บเดียว เผลอคุยกับเพื่อน หรือว่าเผลอไปธุระโน่นธุระนี่ มันทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด ทำอะไรก็ไม่ทันกาลไม่ทันเวลา มันช็อตไปหมด หลักการที่เป็นคนดี พระพุทธเจ้าท่านให้เราปรับปรุงตัวเองแก้ไขตัวเอง เป็นคนมีระเบียบมีวินัย อย่าไปสนใจเรื่องอื่น ให้สนใจเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องระเบียบ เรื่องวินัย เพราะว่ามันเป็นความดีของตัวเอง เป็นบารมีของตัวเอง อย่าให้สิ่งต่างๆ มันมาลิดรอนสิทธิลิดรอนบารมีของเรา
การประพฤติปฏิบัติธรรมหรือว่าการทำความดีนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราถือว่าเป็นความยากลำบากนะ ให้ทุกคนจำไว้ ถือว่ามันเป็นโชคดีของเราที่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องสนใจ วัดไหนที่มันดังๆ ครูบาอาจารย์องค์ไหนดังๆ น่ะ ทุกท่านช่วยเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ นั้นมันเป็นความดีของท่าน เป็นความประเสริฐของท่าน พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราวิ่งหาธรรมวินัย หรือว่าบุญกุศลนอกตัวเรา อย่าให้กิเลสของเรามันหลอกลวง เดี๋ยวก็ไปโน่น เดี๋ยวก็ไปนี่ ปักหลักประพฤติปฏิบัติไปนะ
เราจะไปวิ่งหาความสงบมันไกลเกิน เราไม่รู้จักความสงบ เราก็ไปโทษรูป โทษเสียง โทษสารพัดที่จะโทษมันน่ะ ที่แท้ตัวเรานี้แหละมันแย่ มันรับเอาสิ่งต่างๆ มาทำร้ายตัวเราเอง แทนที่จะภาวนาแก้จิตแก้ใจ ไปสร้างบาปสร้างกรรม ไปโทษเสียงเขา ไปโทษคนอื่นเขา ถ้าเรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา มาละตัวละตน แล้วเราจะรู้ว่า “ต้นตอมันอยู่ที่อวิชชาคือความหลง”
การที่มีครอบครัวก็เหมือนกัน บางคนคิดไม่เป็นนะ คิดว่า เอ๊...ถ้ามีครอบครัวแล้วจะไปรอดหรือเปล่า ถ้าเราคิดอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องมีครอบครัวแล้ว เราไม่แน่ใจในตัวเอง คนเราต้องแน่ใจในตัวเอง การที่จะมีครอบครัวนี้ก็เพื่อที่จะเป็นผู้ให้ เพื่อที่จะเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ที่ไม่เอาความสุขจากผู้อื่น จะมีความอดความทนในสิ่งที่มันไม่ได้ตามใจตามปรารถนา มันต้องปรับที่ใจของตัวเอง ปรับที่คำพูดของตัวเอง ปรับที่กิริยามารยาทของตัวเองนะ มันถึงจะสมควรที่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ถ้าไม่อย่างนั้นครอบครัวของเรามันก็แย่ เพราะเราก็มีความอยาก อยากให้เขาดูแลเรา อยากให้เขาเอาใจเรา มันมีแต่ความอยาก
คำว่าความอยากนี้นะ มันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความอยากนี้มันเป็นญาติ เป็นเครือญาติของอีตาชูชก พราหมณ์ท้องใหญ่ๆ ที่ไปขอกัณหาชาลีกับพระเวสสันดร พระเวสสันดรท่านก็เป็นแต่ผู้ให้ สุดท้ายพระเวสสันดรท่านก็ได้ดี ท่านก็ได้เป็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้นะ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเชื่อมั่นในความดีของเรา ทุกท่านทุกคนกลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงาน ต้องกลับไปปรับปรุงตัวเอง แก้ไขตัวเองนะ อย่าปล่อยให้ตัวเองบาปไปมากกว่านี้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเสียที พ่ายแพ้กิเลสนะ กิเลสมันไม่เข้าใครออกใครนะ เรากลับมาแก้ไขกลับมาปรับปรุงตัวเอง เราจะได้เป็นลูกหลานของพระพุทธเจ้านะ เป็นธรรมทายาท คือ เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นข้อวัตรปฏิบัติ กลับมาแก้ไขที่จิตที่ใจ ที่กิริยามารยาท การกระทำของเรา มันไม่อยากทำก็ต้องทำ มันไม่อยากปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐนะ
สิ่งที่มันไม่ดีในใจของเรา ที่เราประมาทพลาดพลั้งในชีวิต พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดกรรมออกจากจิตจากใจ ให้เราลบกระดานออกจากจิตจากใจของเราให้หมดนะ เราจะไปทำผิดหรือเขาทำผิดก็ให้มันสูญไปเลย อย่างนี้นะ ให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้สมาทานให้ตั้งใจ แล้วมันจะกลับมาในรอยเก่าร่องเก่าแผลเก่า เราอย่าไปซ้ำอย่าไปย้ำมันนะ ให้เราอุทิศบุญอุทิศกุศลกับเจ้ากรรมเจ้าเวรที่เราได้ประมาทพลาดพลั้ง ที่เราได้บริโภคเขาเป็นอาหาร หรือว่าที่เราพูดไม่ดีกับเขา เราได้ทำร้ายเขา เราต้องรักษาศีล ๕ ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็มอบบุญกุศลให้เขา ว่าตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะไม่ทำอีก เราจะขอมอบบุญกุศลให้ อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลยนะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำอย่างนี้นะ
การประพฤติการปฏิบัติมันไม่อยู่ไกล อยู่ที่ใจของเราในปัจจุบัน อนาคตทั้งหมดอยู่ที่ใจของเราปฏิบัติ อดีตทั้งหมด ถ้าเราไม่เสียสละเราไม่ปล่อยวาง มันก็อยู่ที่ใจของเราในปัจจุบันเหมือนกัน ถ้าเราไม่เสียสละทางจิตทางใจมันก็ย่อมมีปัญหา เรื่องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็ต้องสมาทาน สมาทานคือตั้งใจ อธิษฐานจิต ว่าเราต้องสมาทาน ว่าไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม พูดโกหก ไม่กินเหล้าเมาสุรา เล่นการพนัน อย่างนี้ก็สมาทานในใจ เเล้วปฏิบัติทางกาย ถึงจะเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ ก็ต้องเอากายประพฤติปฏิบัติ เราสมาทานเเน่วเเน่หนักเเน่น มันถึงจะเป็นศีล ความตั้งมั่น สมาทาน มันถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ
การประพฤติการปฏิบัติเราต้องทำติดต่อต่อเนื่องกัน เพราะลมหายใจเราต้องหายใจติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราไม่หายใจติดต่อต่อเนื่องเราก็ตาย เหมือนไก่มันฟักไข่ต้องใช้เวลาสามอาทิตย์ เเต่เราเป็นมนุษย์มันมีปัญญามาก มันต้องใช้เวลามากกว่านั้น ความประพฤติของเราพระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นมรรค มรรคนี้ก็คือ เป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติเป็นการกระทำในใจของเราในปัจจุบัน อันนี้จะเป็นกฏเเห่งกรรม เรียกว่าเป็นศีล เป็นศิลปะของชีวิต ศิลปะที่ประเสริฐ ต้องพากันทำติดต่อกัน เพราะมนุษย์เราจะมีสมาธิอยู่สิบนาที ครึ่งชั่วโมง มันก็ยาก เพราะว่าเราไม่ได้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ชีวิตของเรามันถึงเป็นได้เเต่เพียงคน วุ่นวายทั้งวัน ใจสับสนวุ่นวาย คิดทั้งดีทั้งชั่ว ผสมปนเประคนกันไปหมด ท่านพุทธทาสถึงประพันธ์เอาไว้ว่า เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง..
เพราะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้แหละ จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์เราทุกคนถือว่าโชคดี เกิดมาถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ ได้มาประพฤติปฏิบัติเพื่อหยุดชาติ เราลองคิดดู ถ้าเราไปเกิดเป็นหมู หมา กา ไก่ เป็นสัตว์เดรัจฉาน บนบก ในน้ำ ตัวเล็ก ตัวน้อย ไม่มีโอกาสดีๆเช่นนี้นะ มีแต่ไปเสวยทุกข์ตามวิบากกรรม วนเวียนแต่เรื่องกินเรื่องนอน เรื่องหาอาหาร เรื่องสืบพันธุ์ มันวนอยู่แค่นั้นเอง ทุกท่านทุกคนร่างกายประเสริฐแล้ว แต่ถ้ายังปล่อยใจให้มันยังสาละวน อยู่แต่กับเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องนอน วนอยู่แค่นี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน ต่างแค่เพียงร่างกาย
การประพฤติการปฏิบัติให้เราพาเข้าใจนะ ไม่ใช่เราไปปฏิบัติที่วัดที่โน่นที่นี้หรอก อยู่ที่เราปฏิบัติทุกหนทุกเเห่ง ต้องพัฒนาที่ใจ ไม่ให้ใจมันคิด ไม่ให้ใจมันพูด ไม่ให้ใจมันทำ อันนี้ต้องทำอย่างนี้ อยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องตั้งมั่นใจพระรัตนตรัยกราบพระไหว้พระทุกวัน พระพุทธเจ้าถึงสอนให้เราทุกคน พากันมีศีล ๕ วันพระพากันมีศีล ๘ มีศีล ๘ เพราะว่าเพื่อจะไปหาพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ไปหาบัณฑิต ครั้งพุทธกาล มีพระพุทธเจ้า มีพระอริยเจ้า เพราะคนเรามันต้องทำติดต่อต่อเนื่องมันถึงจะได้กำลังใจ ถ้าเราไม่รู้จักกราบพระไหว้พระ ข้อสำคัญคือ พ่อคือเเม่ต้องเป็นตัวอย่างเเบบอย่าง พ่อเเม่ต้องตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เคร่งครัด พวกลูกหลานๆมันถึงจะได้เห็นตัวอย่างเเบบอย่าง ทุกวันนี้พ่อเเม่มันเป็นตัวอย่างเเบบอย่างไม่ได้ ลูกหลานก็ไม่เคารพนับถือ เหมือนเราถ้าไม่เอาศีลเอาธรรม เอาคุณธรรมก็ไม่มีใครเคารพนับถือในตัวเรา ส่วนใหญ่คนชาวบ้าน ลูกมันจะไม่เคารพนับถือเรา เพียงเเต่สงสารเรา เพราะเราเป็นผู้มีบุคคลกับเค้า เราช่วยเค้ามาตั้งเเต่เด็กจนถึงวันตาย
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราพากันหลงวัตถุ หมายถึงไม่ให้หลงกายมาก ไม่หลงสิ่งของ ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลมาก เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นของชั่วคราว เราต้องรู้จักภาวนาสู่พระไตรลักษณ์ อนิจจังมันไม่เเน่ ไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่เเล้วก็ดับไป ทุกขัง มัน อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไป อนัตตาคือสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เหมือนที่เรารู้เราเห็น มันต้องเอาตัวนี้มาพิจารณา ภาวนา วิปัสสนาเยอะๆ มันจะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ลดตัวลดตน
ถ้าเราเข้าถึงจิตถึงใจในปัจจุบันนี้ เราจะไม่มีความลังเลสงสัย ว่าคนไหนตายเเล้วเกิดใหม่ หรือว่าตายเเล้วไม่ได้เกิด เพราะว่าการประพฤติการปฏิบัติมันจะจัดการความคิดของเราในปัจจุบัน อย่าไปหลงวัตถุมาก มันจะเอาเเต่ความสุขทางร่างกายความสะดวก ความสบาย เราก็จะได้เเต่ความสุขเป็นมนุษย์รวย เป็นเทวดา เป็นทิพย์เป็นวิมาน มันจะไม่ได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา ที่เป็นของประเสริฐ ความสุขอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐานเฉยๆ เราลองดูตั้งแต่ชาติก่อน ไปจนถึงชาติหน้าสำหรับโลกนี้ เราเป็นเหมือนกับแขกผู้มาเยือน ไปพบปะคนนั้น คนนี้ มีวัตถุสิ่งของเงินทองอันนั้น อันนี้ ได้ใช้อำนวยความสะดวกสบาย สุดท้ายก็ต้องโบกมือลาจากกันไป ไม่ว่าจะรักหวงแหนเพียงใด จะหามายากขนาดไหน มันก็ต้องจบกันทีแต่เพียงชาตินี้ อย่าพากันหลง ถ้าหลงมันจะรวยอย่างไม่ฉลาด
ทุกท่านทุกคนต้องพากันฝึกท่องพุทโธ หายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโธ ฝึกหายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ใจของเราจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว ส่วนใหญ่เราก็ไปตามความคิด ไปตามอารมณ์ ไปตามสิ่งที่สัมผัสกับหู กับตา อายตนะต่างๆ มันต้องไปอย่างนั้น เราต้องฝึกท่องพุทโธฝึกอานาปานสติ ฝึกหายใจเข้าหายใจออก ต้องพากันฝึก ถ้าอย่างนั้น มันจะเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีบ้านทางใจ มีเเต่บ้านทางกาย มันต้องมีบ้านทางใจด้วย ท่านถึงให้เรานั่งสมาธิกันตอนเช้าตอนเย็น นั่งท่องพุท ท่องโธ พุทโธ หายใจเข้าท่องพุท หายใจออก ท่องโธ ต้องพากันฝึก เราจะเอาเเต่ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์อย่างนี้ไม่ได้ มันไม่ได้พัฒนาใจ มนุษย์เราถ้าไม่ได้พัฒนาใจ มันเเย่กว่าสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันไม่โกงกินคอร์รัปชั่น มันไม่กินเหล้ากินเบียร์ มันไม่เล่นการพนันนะ สัตว์เดรัจฉานน่ะ เราต้องเข้าใจ
เราไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไปกินเหล้ากินเบียร์ เล่นการพนัน ตามภายนอกไป มันไม่ได้ เราเเย่กว่าสัตว์เดรัจฉานอีก ถ้าว่าเเย่กว่าก็เครียด ความจริงมันเเย่กว่าจริงๆ เราดูสิ ในอะไรต่างๆ มันเเย่กว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหมด มันเเต่งตัวโก้ ใส่เน็คไท เป็นผู้ทรงเกียรติ เเต่ไม่ได้ทรงเกียรติอะไรหรอก มันเเย่กว่าสัตว์เดรัจฉานอยู่ ถ้าเราไม่รู้จักความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ใจของเราสงบ ใจของเรามีปัญญา ทุกท่านทุกคนพากันพัฒนาตนเอง เพราะว่าปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเราก็ตายไปหมดเเล้ว เราก็เริ่มเเก่ไปทุกวันๆ สุดท้ายพวกเราทุกคนก็ต้องจากไปเหมือนกัน
สรุปเเล้วก็ให้ทุกท่านทุกคนพากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย สมาทานศีล ๕ ในใจทุกคน กราบพระไหว้พระ คนเรามันความเคยชิน อันไม่บาปมันไม่อยากคิด อันไหนไม่บาปมันก็ไม่อยากพูด อันไหนไม่บาปมันก็ไม่อยากทำ เพราะว่าการท่องเที่ยงในวัฏฏะสงสารมันบริโภคเเต่บาปเเต่กรรม นิสัยเคยชินเราต้องรู้จัก รู้จักทุกข์รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เรียกว่ารู้จักอริยสัจ ๔ หายใจเข้าก็ให้รู้หายใจออกก็ให้รู้ ต้องกลับมามีความสุขในศีลในธรรม มีความสุขในการเสียสละ ต้องพัฒนาใจเราอย่างนี้