แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๑๕ รู้วิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดชำระล้าง กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติปฏิบัติ เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ถือนิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานแต่เพียงร่างกาย แต่ พระพุทธเจ้าองค์แทนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คือพระธรรม คือพระวินัย ก่อนจะเสด็จดับขันปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอหลังการล่วงไปแห่งเรา
การประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านให้เราเน้นลงปฏิบัติลงในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เป็นอดีตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ สิ่งที่เป็นอนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติของเราต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราจึงต้องเอาปัญญา เอาสมาธิ เอาศีล มาประพฤติปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปัจจุบัน ให้เราทุกคนมีฉันทะคือความพอใจ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติเพราะเราได้ทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรจะประเสริฐกว่า ยิ่งใหญ่กว่า ให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ความทุกข์ทางใจของเราจะไม่มี เพราะเราเห็นด้วยปัญญาว่านี่คือ หนทางที่ถูกต้อง ได้ปฏิบัติถูกต้อง เราปฏิบัติไปเรื่อยๆในปัจจุบัน เหมือนกับเราเดินไปทีละก้าว ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ
เราทุกคนนะ ติดสุขสบายในเหยื่อของโลก ทุกท่านทุกคนต้องมาทวนโลก ทวนกระแสทวนอารมณ์ ทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หนทางเราเดินไป ทางจิตใจของเราที่จะไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ทุกท่านจึงมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตใจเสียสละ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ มันเป็นธรรมดาของการเดินทาง มันต้องเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เรามีปัญญาต้องเฉียบแหลมคม ต้องเสียสละ สัมมาสมาธิต้องตั้งไว้เพื่อก้าวไปแต่ละก้าวอย่างมีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา ใจ ในชีวิตประจำวันของเรา จะมีการเรียนรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา
เราทุกคนนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี ที่มีบุญวาสนา มีเวลา มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมาก สุขพิเศษ สุขจริงๆ ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนจึงจะได้หนีจากวัฏสงสารได้ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสมณะที่ 1-4 มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 คือ พระธรรมวินัย ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว พระพุทธเจ้าให้เราพากันไปปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้าปฏิบัติแทนเราไม่ได้ ทุกท่านทุกคนไม่ต้องกลัว ไม่ต้องวิตกกังวลลังเลสงสัย ทุกท่านทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ อย่าพากันทำตามอัธยาศัย ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก เราทุกคนต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง ใจเราจึงจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เรามาห่วงเรื่องปัจจัย 4 ไม่ให้เราห่วงเรื่องอนาคต ให้พากันไปฝึกปฏิบัติเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพานเต็มที่ ได้พัฒนาใจ เรื่องอยู่ เรื่องฉัน เรื่องอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องห่วง ให้เน้นใจในปัจจุบัน พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เราต้องศึกษาให้เข้าใจ น้อมมาประพฤติปฏิบัติ นี่คืออุปกรณ์สำหรับเดินทาง ที่เป็นยานพาหนะพิเศษ ที่จะนำเราทุกคนเดินทางข้ามวัฏสงสาร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ความตั้งใจของเราทุกคน ต้องไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ไม่มีเจตนาที่จะทำผิดพระวินัย ให้เป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพราะว่าพระวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องมรรคผลพระนิพพาน เป็นธรรมนูญที่เป็นไปเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพานทางจิตทางใจ ไม่ใช่ธรรมนูญของการปกครองประเทศ ที่เหมือนกับทุกๆประเทศมีกัน จึงต้องเน้นลงที่ใจทุกท่านทุกคน ถึงต้องเป็นผู้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ น้อมจิตน้อมใจไปสู่มรรคผลนิพพาน ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อมุ่งมรรคผลนิพพานแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อมหาชน ต่อส่วนรวมโดยแท้ จึงเป็นทรัพยากรที่ดี ที่สำคัญของโลก เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า การถวายทานแก่ผู้มุ่งมรรคผลนิพพานจึงเป็นอานิสงส์ หาประมาณไม่ได้
การประพฤติปฏิบัติต้องพึ่งพาตนเอง ทุกคนต้องเป็นเอกเป็นหนึ่ง เราคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ เอาธรรมะเป็นหลัก เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าให้เรา ครู บา อาจารย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติมุ่งมรรคผลนิพพานก็ไม่ว่าให้เรา ให้พวกเรามุ่งมั่นอย่างนี้ ไม่ต้องไปเกรงใจใคร เพราะเราเอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่จะได้ ไม่ตกไปในอำนาจ ของอคติ 4 เพราะเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เอามรรคผลนิพพานเอาพระธรรมวินัย เราจะไปกลัวใคร เพราะตัวเราไม่มี มีแต่การเดินไปของมรรคนิพพานที่กำลังทำงาน ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ทุกคนต้องเก่งต้องฉลาด ต้องมีความสามารถ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ต้องไปกลัว เพราะเราเกิดมาก็เพื่อ แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากทุกคน อายุไม่เกิน 120 ปี ก็ต้องลาลับจากโลกนี้ไป ต้องมีความ อาจหาญ ร่าเริง เบิกบาน แจ่มใส ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง
อานาปานสติ ทุกคนต้องมี เพราะเป็นเรื่องของการพักผ่อนใจ หายใจเข้าหายใจออกสบายหายใจเข้าหายใจออกมีความสุข เป็นการงาน เป็นฐานมั่นคงของจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงอยู่ด้วยวิหารธรรมคือ อานาปานสติ พระอรหันต์อยู่ด้วยอานาปานสติ เสวยวิมุตติทางใจด้วยอานาปานสติอย่างนี้ ดังนั้นอานาปานสติจึงต้องมีกับเราทุกอิริยาบถ ทุกที่ทุกเวลา เหมือนเดินทีละก้าว ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง เมื่อเราทำหน้าที่อย่างอื่น เราก็มีความสุขกับการวางใจอย่างนี้ เอาธรรมะเป็นหลัก เป็นใหญ่ อย่าใช้อวิชชาความหลงสอดแทรกเข้ามา พิจารณาให้เห็นความจริงที่ปรากฏอยู่ตามความเป็นจริง ก้าวไปปฏิบัติไป ให้พากันเข้าใจนะ คำว่าปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย การปล่อยวางคือ การเสียสละทางจิตใจ ไม่ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ก็พวกเรานี่แหละ พากันทำตามอัธยาศัยจนเคยชิน จนเป็นอนุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในกมลสันดาน
พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่มุ่งตอบปัญหาที่ว่า “ทำอย่างไร? เราจึงจะเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง” พระพุทธศาสนาไม่สอนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง คนทั้งหลายมักมองข้ามเรื่องความพ้นทุกข์ แต่มุ่งความสนใจไปที่การแสวงหาความสุข เพราะไม่รู้ความจริงว่า ร่างกายจิตใจนี้เป็นกองทุกข์แท้ๆ ไม่มีทางทำให้เกิดความสุขถาวรได้จริง ยิ่งดิ้นรนแสวงหาความสุขหรือหลีกหนีความทุกข์มากเพียงใด จิตใจก็ยิ่งมีภาระ และความทุกข์มากขึ้นเพียงนั้น เพราะไม่ว่าจะดิ้นรนเพียงใด ความสุขที่ได้มาก็ไม่เคยเต็มอิ่ม หรือมิฉะนั้นก็จืดจางไปอย่างรวดเร็วเสมอ ความสุขเสมือนสิ่งที่รอการไขว่คว้าช่วงชิงอยู่ข้างหน้า เหมือนจะไขว่คว้าได้ แต่ก็จะหลุดมือไปรออยู่ข้างหน้าต่อไปอีกทุกครั้ง เป็นเครื่องยั่วยวนและเร่งเร้าให้เกิดการดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา แท้จริงความสุขที่พวกเราเที่ยวแสวงหานั้นเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไขว่คว้าไม่ถึง เรามักคิดว่า ถ้าได้สิ่งนั้น ถ้ามีสิ่งนี้ ถ้าไม่เจอสิ่งโน้น ก็จะมีความสุข ไปหลงใหลว่าทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง ยศ อำนาจ ความสนุกสนาน ความอร่อย คือตัวความสุข เราเอาแต่ดิ้นรนแสวงหาความสุขสนุกสนาน โดยไม่รู้จักความสุขที่แท้จริง
ชาวพุทธหลายคนมีความเชื่อฝังใจว่า การล้างบาปไม่มีในศาสนาพุทธอย่างแน่นอน บุญและบาปนำมาลบล้างกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด โดยยึดแนวคิดว่า การล้างบาปก็คือการสารภาพความผิดแล้วบาปทั้งหมดก็จะหลุดหายไป อย่างที่ท ากันในบางศาสนา แต่โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าหาได้ทรงปฏิเสธการล้างบาปไม่ พระองค์กลับตรัสย้ำถึงวิธีการล้างบาปที่ถูกต้อง ที่มิใช่เพียงแค่ปากพูดหรืออาบน้ำ นั่นคือทรงตรัสรับรองว่า บาปสามารถล้างได้โดยการชำระล้างที่กิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดบาปนั้นๆ อีกทีหนึ่ง ด้วยมรรคญาณ อันเกิดจากการเจริญวิปัสสนาในพุทธศาสนาเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการชำระล้างที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลผู้ล้างบาปได้แล้วไว้ว่า “บุคคลผู้มีกาย วาจา ใจสะอาด ไม่มีอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความสะอาด บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว” “ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมล้างมิจฉาทิฏฐิได้ ล้างบาปอกุศลเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความ เจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย” และว่า“บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด ไม่กลับมาสู่ตัณหาและทิฏฐิในภพเทวดาและมนุษย์อีก ผู้นั้นเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้แล้ว”
ตามรูปศัพท์ บาป แปลว่า สิ่งที่ทำให้ตกอบายภูมิ ปราศจากความเจริญ อบายภูมิ คือถิ่นที่สัตว์จะไปถือกำเนิดอยู่อาศัยอันปราศจากความเจริญ มี ๔ ภูมิเป็นเพราะอำนาจของกิเลสทั้ง ๓ คือ โลภ โกรธ หลง ทำให้เกิดในทุคติภูมิได้แก่ ๑) เดรัจฉาน คือ แดนที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ดำเนินชีวิตโดยทางขวาง (คลาน) เป็นดินแดนสำหรับผู้ที่มีโมหะเป็นตัวนำ มีจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิได้แก่ สุนัข แมว ช้าง ม้า เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรก หรือกำเนิดเดรัจฉาน” ๒) เปรต คือ แดนที่อดอยาก หิวกระหาย เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ปราศจากความสุขสบาย เหล่าสัตว์ที่ไปเกิดในเปรตวิสัย คือ ผู้ที่มีจิตโลภอยากได้ไม่สิ้นสุด คัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า “เหล่าสัตว์ทำกาละแล้วบังเกิดในหมู่เปรต ด้วยอำนาจความโลภที่ครอบงำอยู่” ๓) อสุรกาย คือ แดนที่มีแต่ความเศร้าหมอง คือ พวกอสูรกายทั้งหลาย จัดอยู่ในจำพวกเปรตเช่นกัน ผู้ที่จะเกิดในภูมิอสุรกายนี้คือ ผู้ที่มีจิตประกอบด้วยโทสะ คือ ความโกรธเช่นเดียวกับผู้ที่เกิดในภูมินรก ๔) นรก คือ แดนที่อันปราศจากความสุข มีแต่ความเร่าร้อน ไม่มีความชื่นใจ มีแต่ความทุกข์ทรมานโดยส่วนเดียว ได้แก่ มหานรก ๘ ขุม มีสัญชีวนรกเป็นต้น อุสสทนรก ๑๖ ขุม มีกุกกุลนรกเป็นต้น และโลกันตนรก ผู้ที่จะไปเกิดในนรกขุมต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคลที่ประกอบด้วยโทสะ คือ ความโกรธ
บาปนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งไม่ให้ทำ ว่า “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” อย่าทำบาปทั้งปวง ดังนั้น คำว่า “บาป” จึงหมายถึง “ความชั่ว” เป็นสิ่งนำไปสู่หนทางแห่งความเสื่อมทราม ยังผู้กระทำบาปนั้นให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นทุกข์หรืออกุศลกรรม สาเหตุที่ทำให้เกิดบาป คือ ตัณหาและทิฏฐิ รากเหง้าแห่งตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ คือ อวิชชา (ความไม่รู้จริง) อโยนิโสมนสิการ (ความไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย) อัสมิมานะ (ความถือตัว) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อวิบากกรรม) และอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
จึงสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดบาปโดยรวมเรียกว่ากิเลส ได้แก่ สภาวธรรมฝ่ายชั่วที่เป็นอกุศล มีอยู่ในสันดานของปุถุชนทุกคน ทำให้จิตเสื่อมทราม ชักจูงให้ทำความชั่วต่างๆ ส่งผลให้ต้องไปตกอบายภูมิ ๔ กิเลส เป็นธรรมชาติฝ่ายอกุศลที่ประกอบกับจิต มีอยู่ในสันดานของปุถุชนทุกคน ทำให้จิตเสื่อมทราม ชักจูงให้ทำความชั่วต่างๆ มีวิเคราะห์ว่า “กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ กิเลสา” ธรรมชาติใดย่อมทำให้เศร้าหมองเร่าร้อน ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “กิเลส” มี ๑๐ ประการ ดังนี้
(๑) โลภกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะยินดีอยากได้
(๒) โทสกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่พอใจ ขุ่นเคือง
(๓) โมหกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความมัวเมาลุ่มหลง
(๔) มานกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความทนงตนถือตัว
(๕) มิจฉาทิฏฐิกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริงว่า บาป-บุญไม่มี นรก-สวรรค์ไม่มี เป็นต้น
(๖) วิจิกิจฉากิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความสงสัยลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
(๗) ถีนกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะหดหู่ท้อถอยจากความเพียร
(๘) อุทธัจจกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะเกิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
(๙) อหิริกกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่ละอายในการกระทำบาป
(๑๐) อโนตตัปปกิเลส เศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่เกรงกลัวผลของการกระทำบาป
กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ จำแนกตามการแสดงออกเป็น ๓ ระดับ คือ
(๑) วีติกกมกิเลส กิเลสที่ทำให้ไม่ละอายชั่วกลัวบาป ทำให้ประพฤติชั่ว ทำทุจริตทางกาย และวาจา ท าให้ล่วงละเมิดศีล
(๒) ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่กลุ้มรุมจิต คุกรุ่นอยู่ภายในใจ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และนิวรณ์ ๕ มีกามฉันท์ พยาบาท ความง่วงเกียจคร้าน ความฟุ้งซ่าน และ ความลังเลสงสัย
(๓) อนุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (เหมือนยักษ์หลับ) หมายถึง กิเลสที่ยังละไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล (ยกเว้นพระอรหันต์) ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบ อนุสัยกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส เกิดความยินดียินร้ายต่ออารมณ์นั้น และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้นก็จะแปรสภาพเป็นวีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นการกระทำที่แสดงออกทางกาย และวาจา การกำจัดกิเลสทั้งหมดนี้ให้หมดสิ้นไปได้ ต้องดำเนินการเจริญวิปัสสนาภาวนา ตามแนวทางมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีหลักคำสอนเกี่ยวกับการล้างบาปในพุทธศาสนาก็คือการล้างกิเลสออกจากจิตนั่นเอง เพราะสังคมในสมัยพุทธกาลนิยมการอาบน้ำชำระบาบตามคติความเชื่อเดิมของพราหมณ์ แต่พระพุทธเจ้าก็แสดง การล้างบาปเหมือนกันแต่มีหลักการและวิธีการการชำระล้าง ตามความเหนียวแน่นของกิเลส ๓ ระดับ ดังนี้
น้ำแรก : ล้างวีติกกมกิเลสด้วยศีล
กิเลสอย่างหยาบที่ละเมิดออกมาทางกาย วาจา คือแสดงพฤติกรรมทุจริตออกมาทางกาย และทางวาจา ทำให้ล่วงละเมิดศีล กิเลสชนิดนี้ได้แก่ ๑) อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ความต้องการที่มากจนคุมไม่อยู่ จนต้องประพฤติทุจริต ด้วยการลักขโมย ๒) พยาบาท คือ ความปองร้าย เป็นความขุ่นแค้นอาฆาตมากจนคุมใจไม่อยู่ จนดุด่า ทำร้าย หรือเข่นฆ่าคนอื่น ๓) มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด บุญไม่มี บาปไม่มี ชาติหน้าไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เป็นต้น จึงเสพสุขด้วยการร่ำสุรา คลึงเคล้านารี วีติกกมกิเลสเป็นกิเลสอย่างหยาบ ชำระล้างให้เบาบางลงได้ด้วยอำนาจของศีล เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เป็นต้น แต่สงบได้เพียงครั้งคราว เฉพาะขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่เท่านั้น การประหาณกิเลสในลักษณะนี้ เรียกว่า ตทังคปหาน
น้ำ ๒ : ล้างปริยุฏฐานกิเลสด้วยสมาธิ
กิเลสที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ยังไม่ล่วงละเมิดออกมาเป็นวีติกกมกิเลส เมื่อปริยุฏฐานกิเลสเกิดขึ้นจิตก็จะเป็นอกุศลขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน กิเลสประเภทนี้ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ นิวรณ์ ๕ และอุปกิเลสต่างๆ แต่ยังไม่แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ยังไม่ล่วงละเมิดศีล ปริยุฏฐานกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดอยู่ภายในใจ สามารถข่มไว้ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ เป็นเวลานานตราบเท่าที่สมาธิยังมีกำลัง การประหาณในลักษณะนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
น้ำ ๓ : ล้างอนุสัยกิเลสด้วยปัญญา
สตฺตสนฺตาเน อนุเสนฺติ อนุปวตฺตนฺตีติ อนุสยา กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ในภวังคจิต หรือจิตไร้สำนึกของคนเรา ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการมาให้เห็น จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ดูใสสะอาด ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง เปรียบได้กับอนุสัยกิเลส
อนุสัยกิเลส แบ่งรายละเอียดออกได้ เป็น ๗ ประการ คือ ๑) กามราคานุสัย กิเลสปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัด พอใจในวัตถุกามทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๒) ปฏิฆานุสัย ความหงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อกระทบกระทั่งทางใจ อันอาศัยรูปเป็นต้น ๓) ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดว่าอารมณ์ที่มากระทบเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อได้รับอารมณ์อันเป็นฝ่ายเดียวกับตน ก็จะเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ทิฏฐิที่เป็นอนุสัยภายในจิต ให้มีความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น ๔) วิจิกิจฉานุสัย ความลังเลสงสัยตัดสินใจอะไรไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร ความสงสัยนั้นอาจสรุปลงในความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไตรสิกขา กาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต และกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท ๕) มานานุสัย ความถือตัว ถือชาติ ตระกูล ทรัพย์ ตำแหน่งงาน ยศ ฐานะในสังคมเป็นต้น มาแสดงตนว่า สูงกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขา เรียกว่า อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) อวมานะ (ดูหมิ่นตน) เป็นต้น ๖) ภวราคานุสัย อนุสัยคือการกำหนัดติดในภพ ได้แก่การพอใจในภาวะที่เป็นอยู่ ติดใจในความสุขที่ได้จากการอุบัติในฐานะความเป็น ชนชั้นต่างๆ ๗) อวิชชานุสัย ความไม่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันได้แก่ โมหะ
กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมมีในสันดานของสัตว์ทุกชีวิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ (เกิด) จนถึงจุติ (ตาย) กิเลสอย่างละเอียดนี้สามารถขจัดและทำลายให้สิ้นซากได้ด้วยมรรคญาณ ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาเพียงเท่านั้น กิเลสประเภทนี้ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เป็นกิเลสละเอียดที่สะสมอยู่ในจิตของปุถุชนทุกคน ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ไม่แสดงอาการออกมา จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้วย่อมมีนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ (เกิดจนถึงตาย) อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ต้องประหาณด้วยวิปัสสนาปัญญาในมรรคจิตทั้ง ๔ เท่านั้น จึงจะไม่กลับมีขึ้นอีก การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า สมุจเฉทปหาน
ทุกคนน่ะต้องได้แก้ไขตัวเองหมด ถ้าไม่มากก็น้อย ถ้าเราไม่ปฏิบัติตัวเอง แก้ไขตัวเอง อย่าหวังเลยว่าชาตินี้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลง มันมีแต่จะตกตํ่า อยากรวยมันก็ไม่รวยหรอก อยากบรรลุธรรมมันก็ไม่บรรลุธรรม เพราะว่าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง นิสัยเก่าๆ นิสัยเดิมๆ ที่มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เราต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนให้ได้ อย่าให้ตัวเองติเตียนตนเองได้ อย่าให้คนอื่นเขาดูถูกดูแคลนเราได้ “ตั้งใจทำเอาจริงเอาจัง”
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเป็นคนเหยาะแหยะไม่เอาจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงอุปมาไว้ว่าถ้าเราจะทำอะไรต้องทำจริง เอาจริง ท่านเปรียบเหมือนบุรุษที่ถอนหญ้าคา การถอนหญ้าคาต้องกำให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วมันถอนหญ้าคาไม่ขึ้น เพราะหญ้าคารากมันแน่นมันเหนียว ต้องจับให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วดึงกำหลวมๆ พอเราดึงหญ้าคามันก็บาดมือ ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังสม่ำเสมอ นิสัยเก่า อนุสัยเก่าเดี๋ยวมันก็กลับมาเหมือนเดิม อินทรีย์บารมีทุกคนน่ะ ถือว่าบารมีของเรามันยังอ่อน เราจะเอาใจของเราเป็นใหญ่ไม่ได้ ต้องปรับเข้าหาทางสายกลาง ถือศีล มีความตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ เราใคร่ครวญดูแล้วว่า สิ่งเหล่านี้มันดี มันถูกต้อง มันไม่ผิด คือ ปัญญา
เราทุกคนอย่าไปหลงขยะ จะเอาขยะมากองกัน มารวมกัน มันก็ยิ่งเน่ายิ่งเหม็น เราต้องทิ้ง เราต้องเสียสละ ขยะ คือสิ่งที่เป็นอดีต ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหนก็ชั่งหัวมัน เน้นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ใจของเราจะได้มีโอกาสพัฒนา ใจของเราจะได้มีความสุขขึ้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราจะได้ทำอย่างนี้ เราจะได้บริโภคของใหม่ของสด เรื่องอะไรล่ะ จะบริโภคแต่ของเก่าอยู่นั่น บริโภคแต่ความวิตกกังวล บริโภคแต่วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย บริโภคแต่ความฟุ้งซ่าน บริโภคแต่ความยินดีพอใจในกาม บริโภคแต่ความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย
การภาวนา มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราโชคดีนะ ที่เราได้มาอยู่ ในสำนักที่มี พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่เข้มแข็ง ที่เคร่งครัด ปฏิบัติจริง เพื่อไม่ให้เราทำตามอัธยาศัย เราต้องตัดความโง่ที่เรียกว่า “อัธยาศัย” นี้ออกจากจิตใจของท่านให้ได้ ต้องเอาพระธรรม เอาพระวินัย เอาข้อวัตรกิจวัตรเป็นหลักอย่างนี้แหละ ท่านถึงจะตัดกรรมที่มาจากอัธยาศัยได้ เหมือนแขกที่มาพักกับเรา เราก็จะได้ยินคำว่า ขอนิมนต์พักตามอัธยาศัยตามสบาย หรือว่าขอเชิญเจริญพรพักตามอัธยาศัยตามสบายนะ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเหมือนทางโลก พระองค์ตรัสว่า ให้พักตามพระธรรมตามพระวินัย ตามข้อวัตรกิจวัตร ตามข้อปฏิบัติ เพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องไปมองดูคนอื่นหรอก ต้องมองดูตนเอง ไปมองดูคนอื่นก็ต้องให้เกิดปัญญา เช่นว่า เขาทำไม่ถูก โอ้...อย่างนี้ ต้องไม่เอาเป็นตัวอย่าง ถ้าเขาทำถูก เอ้อ...อย่างนี้ เอาเป็นตัวอย่าง ต้องมองให้เกิดปัญญา เพราะเรามีตาก็เพื่อมีปัญญา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็เพื่อมีปัญญา
ต้องให้เป็นปัญญาที่จะนำเราไปสู่การประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่น ทุกคนแก้ไขตนเองอย่างนี้ ทุกๆคนจึงจะเป็นธรรมาธิปไตยมากขึ้น ที่เดี๋ยวนี้คนทั้งโลกพากันทำจนเป็นโลกาธิปไตยอันมาจากอัตตาธิปไตย คือ การทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ทำตามๆ กันทั้งบ้านทั้งเมือง ทั้งโลก มันไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้เป็นธรรมาธิปไตยเลย ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่นหรอก เพราะถ้าไปแก้เขา เขาก็ไม่เชื่อเรา เพราะเราไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน
เหมือนกับคนที่เขาทำอะไรสำเร็จทุกอย่าง คนอื่นเขาเห็นเขาก็มาถามเอง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน คนทั้งหลายที่ต้องการความหลุดพ้น ก็มาเข้าเฝ้า มาศึกษา มาเรียนรู้ มาเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปว่าให้คนอื่นว่าทำไมเขาไม่นับถือเรา ไม่เลื่อมใสเรา ต้องปฏิบัติให้ตนเองเลื่อมใสตนเองก่อน เราอย่าไปโง่หลาย! เพราะต่อให้ พูดเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ก็สู้การปฏิบัติให้ดู เป็นตัวอย่างไม่ได้ คนเราต้องเป็นเศรษฐีธรรม เป็นเศรษฐีปฏิบัติ เป็นเศรษฐีพระนิพพานให้ได้