แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๑๓ เมื่อเราไม่มีการประพฤติ ไม่มีการปฏิบัติ ก็มีแต่หลงงมงาย มันก็น่าสมเพชเวทนานะ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันจันทร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๖
พระพุทธศาสนาคือความรู้ เป็นคำสอน เป็นคำสั่ง ให้เราประพฤติ ให้เราปฏิบัติเพื่อให้เป็นพระศาสนา พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เพื่อให้ทุกท่านทุกคนปฏิบัติใจของเราเอง เราจะได้หยุดมีเซ็กส์ มีเพศสัมพันธ์ มีการเสพการสมทางความคิด ทางอารมณ์ เพราะเรามีการเสพมีการสมความคิดทางอารมณ์ เราถึงต้องมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในสงสารวัฏ สังสารวัฏ ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย วนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่ไม่รู้จบสิ้น คําว่า สังสาร หมายถึง การท่องเที่ยวไปอย่างไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย คําว่า วัฏฏะ หมายถึง การหมุนไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ คือเวียนไปสู่สุคติภูมิ หรือทุคติภูมิเป็นต้น
ความหมายของคําว่า สังสารวัฏ ในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้ ๒ ประการคือ กล่าวโดยสภาวธรรม และกล่าวโดยสัตว์บุคคล
กล่าวโดยสภาวธรรม ได้แก่ ลําดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะที่หมุนไปสู่ภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยไม่ขาดระยะ ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาว่า “ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ ธาตุอายตนานญฺจ อพฺโพจฺฉินฺนํ วตฺตมานา สํสาโรติ ปวุจฺจติ ฯ แปลว่า ลําดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เป็นไปไม่ขาดสาย ชื่อว่า สังสารวัฏ”
กล่าวโดยสัตว์บุคคล ได้แก่ ชีวิตของสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดไปสู่ภพภูมิต่างๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด จากภพนี้สู่ภพโน้น จากภพโน้นกลับมาสู่ภพนี้
ชีวิตของสัตว์โลกที่ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่าง ๆ ก็ด้วยอํานาจของ อวิชชา คือ ความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ ไม่รู้ทุกข์ ๑ ไม่รู้เหตุที่ทําให้ทุกข์เกิด ๑ ไม่รู้วิธีที่จะดับทุกข์ ๑ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทําให้ทุกข์ดับ ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุในอดีต ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุในอนาคต ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุทั้งในอดีตและอนาคต ๑ ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่เป็นปัจจัยอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ๑
อวิชชา ย่อมปกปิด หุ้มห่อ ไม่ให้เพื่อรู้ไม่ให้เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดความจริงแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ทั้งอดีตและอนาคต และไม่รู้นามรูปที่เป็นปัจจัยในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น
เพราะความไม่รู้ทั้ง ๘ ประการนี้ ย่อมยังสัตว์ให้แล่นไปในสังสารวัฏ ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยอํานาจของกุศลและอกุศล คือ อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร (อกุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปใน อบายภูมิ ๔
ปุญญาภิสังขาร (กุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในกามสุคติภูมิ ๗ และ รูปภูมิ ๑๖
อเนญชาภิสังขาร (กุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปใน อรูปภูมิ ๔
“บรรดาภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ ทั้งหมดนี้ เป็นภาชนะรองรับชีวิตสัตว์โลกที่เกิดขึ้นมาในจักรวาล นี้ได้อาศัยสร้างกุศลกรรมเพื่อสั่งสมบุญบารมี เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ในสังสารวัฏ หรือสร้างอกุศลกรรม เพื่อก่อสังสารวัฏให้ยาวนานต่อไปอีก ได้ทั้งสองประการ สุดแท้แต่จะเป็นบุคคล สัมมาทิฏฐิ หรือบุคคล มิจฉาทิฏฐิ”
ผู้ใดที่ถูกอวิชชาครอบงํา ย่อมไม่รู้ในทุกข์ ไม่รู้ในเหตุที่ทําให้ทุกข์เกิด ไม่รู้วิธีดับทุกข์ ไม่รู้ในข้อปฏิบัติที่จะทําให้ทุกข์ดับ จึงเป็นเหตุให้ธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น อาศัยอวิชชาเกิดขึ้นในอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่พอใจหรือเอาใจใส่เป็นพิเศษ อันเป็นเหตุให้มีกําลังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ติดต่อกันเสพอารมณ์นั้นโดยไม่มีระหว่างคั้น แม้อวิชชาที่ยังไม่เกิดก็ยังทําให้เกิดขึ้นเป็นปัจจัย เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้
อวิชชา จึงพาสัตว์ผู้ไม่รู้แล่นไปในสังสารวัฏ กระทํากุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำพาสัตว์ทั้งหลายให้ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยอํานาจของปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้น วนเวียนอยู่ในวงจรของ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิปากวัฏ อันเป็นเครื่องหมุนเวียนให้สัตว์ข้องอยู่ในวัฏฏะทุกข์ ด้วยอํานาจของ ตัณหา คือความยินดีพอใจ เป็นเหตุให้สัตว์กระทํากรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อสัตว์กระทำกรรมแล้ว
กรรมนั้นก็ให้วิบากคือผลของกรรมที่ได้กระทําลงไป ถ้าได้รับผลที่ถูกใจก็มีความยินดี พอใจ ติดใจ หมกมุ่น มัวเมา เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ ราคะ ถ้าได้รับผลไม่เป็นที่ชอบใจ ก็มีความไม่พอใจ เสียใจ โกรธแค้น ขุ่นเคือง เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ โทสะ ทั้งนี้ ด้วยอวิชชาความไม่รู้เท่าทันในธรรม ๘ ประการ คือ โมหะ เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้สัตว์นั้นกระทํากรรมอีก เมื่อสัตว์กระทํากรรมก็ย่อมได้รับวิบาก อันเป็นผลของกรรม วนเวียนเป็นวัฏฏะ แห่งทุกข์เช่นนี้ อย่างมิรู้จบสิ้น ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังหาทางออกจากวัฏฏะมิได้
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต หน้า ๓๗๒-๓๗๕ อีกเรื่องหนึ่ง ความว่า บุรุษผู้หนึ่งประพฤติมิจฉาจารต่อภรรยาของพี่ชาย บุรุษนั้นได้เป็นที่รักของหญิงยิ่งกว่าสามีของตน นางได้พูดกับบุรุษนั้นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ข้อครหาอย่างใหญ่หลวงจักมีขึ้น ท่านจงฆ่าพี่ชายของท่านเสีย บุรุษนั้นไม่ยอมแต่ก็เกิดความลังเล นางรบเร้าอีกถึง ๓ ครั้ง จึงตัดสินใจ นางได้บอกอุบายว่า ใกล้บ้านมีท่านอยู่ท่านจงถือมีดอันคม ไปดักอยู่ ฝ่ายพี่ชายทํางานในป่าเสร็จก็กลับบ้าน นางก็ทําเป็นเอาใจ พูดว่า ศีรษะของนายสกปรก จากนั้น นางส่งผลมะคําดีควายให้ แล้วสั่งว่า ท่านจงไปล้างศีรษะ ที่ท่าน้ำใกล้บ้านเถิด บุรุษนั้นเดินไปสู่ท่านตามที่นางบอก สระผมด้วยฟองของผลมะคําดีควายลงอาบน้ำเสร็จแล้ว จะกลับบ้าน ขณะนั้นน้องชายออกมาจากระหว่างต้นไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ ฟันพี่ชายที่ต้นคอถึงแก่ความตายทันที
พี่ชายมีความรักผูกพันในภรรยา ได้ไปเกิดเป็นงูเขียวใหญ่ในเรือนหลังนั้น เมื่อนางจะยืนก็ตาม จะนั่งก็ตาม งูเขียวนั้นจะตกลงมา ที่ตัวของนาง ต่อมา นางให้ฆ่างูนั้นด้วยเข้าใจว่าเป็นสามีเก่าของตน แต่เพราะจิตที่ยังผูกพันอยู่กับนาง งูนั้นได้มาเกิดเป็นสุนัขในเรือนนี้อีก แต่เวลาที่เดินได้ สุนัขตัวนี้จะวิ่งตามหลังนางไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในเวลาที่เข้าป่า ก็จะติดตามไปด้วยเสมอ ชนทั้งหลายเห็นแล้วพูดเย้ยหยันว่า พรานสุนัขออกมาแล้ว จักไปไหนกัน นางจึงสั่งให้ฆ่าสุนัขนั้น เพื่อสุนัขตายแล้ว ก็ยังมาเกิดเป็นลูกวัวในเรือนหลังนี้อีก ด้วยความผูกพัน ลูกวัวนั้นได้เดินตามหลัง และถูกชาวบ้านเย้ยหยันดังสุนัขนั้น นางจึงสั่งให้ฆ่าลูกวัวนั้นอีก ณ ที่ตรงนั้น ในวาระที่ ๔ บุรุษผู้พี่ชายมิอาจสละความสิเนหาในตัวภรรยา ได้มาเกิดในท้องของนาง แล้วระลึกชาติได้ว่าเราถูกนางฆ่ามาถึง ๓ อัตภาพแล้ว นับแต่นั้นมาก็ไม่ยอมให้นางถูกต้องตัวได้ เมื่อนางจะอุ้มก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น ผู้เป็นตาเท่านั้นจะอุ้มชูได้ ตามีความสงสัยเมื่อรู้ความ ตาจึงถามว่าเพราะเหตุใด หลานได้เล่าความเป็นไปทั้งหมดแก่ตา (เพราะระลึกชาติได้) ผู้เป็นตาทราบเรื่องทั้งหมดแล้วร้องไห้ บอกหลานว่า เหตุใดพวกเราจึงต้องอาศัยหญิงใจร้ายนี้ แล้วพาหลานออกจากบ้านไป สู่วิหารแห่งหนึ่ง สองตาหลานพากันบวชอยู่ในวิหารนั้น ต่อมาได้บรรลุพระอรหัตทั้งสองคน
ในเรื่องนี้ท่านแสดงให้เห็นโทษของกาม ซึ่งมีโทษสองสถาน คือ ด้วยอํานาจของ โลกวัชชะ ๑ ด้วยอํานาจของ วิปากวัชชะ ๑
โลกวัชชะ โลกติเตียน ผู้ที่ถูกอกุศลทั้งหลายครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในบิดามารดา ในพี่ชายน้องชาย ในพี่สาวน้องสาว หรือในบรรพชิต เป็นต้น ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไป เขาย่อมได้รับคําครหา อย่างใหญ่หลวง อันเป็นผลที่ได้รับในปัจจุบัน
วิปากวัชชะ ผลที่ได้รับในภพหน้า ผู้ที่ถูกอกุศลทั้งหลายครอบงำ ย่อมเสวยทุกข์ในอบาย มีนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามกรรมที่ได้กระทําไว้ ท่านกล่าวว่า ผู้ที่ถูกราคะครอบงำ จักไปเกิดเป็นเปรต หรืออสูรกาย ผู้ที่ถูกโทสะครอบงำ จักไปเกิดในนรก ผู้ที่ถูกโมหะครอบงำ จักไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ราคะ คนที่ถูกราคะครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในมารดาบิดาก็ได้ ในพี่น้องก็ได้ ในบรรพชิตก็ได้ ยากที่จะคลาย ไม่หลุดพ้นไปเร็ว จะติดตามอยู่นานเสมือนเรื่องที่กล่าวข้างต้น แม้จะไปอยู่ในภพอื่นอีกหลายภพ ก็ยังไม่จางไปด้วยความผูกพันที่สลัดออกได้ยาก
โทสะ คนที่ถูกโทสะครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง บรรพชิตบ้างเจดีย์บ้าง โพธิพฤกษ์บ้าง ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไปเขาจะได้รับคําครหาอย่างใหญ่หลวงอันโลกติเตียน และจักได้เสวยผลในนรก ตลอดกัป เพราะอนันตริยกรรมที่ทําไว้ด้วยอํานาจของโทสะ ท่านจึงกล่าวว่า โทสะมีโทษมากด้วยความที่เป็นวิปากวัชชะ แต่โทสะนั้นคลาย เร็ว และเมื่อเขาขอโทษว่าขอท่านทั้งหลายจงอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า พร้อมด้วยการขอขมาของเขา กรรมนั้นจะกลับกลายเป็นปกติไปทันที
โมหะ คนที่หลงเพราะโมหะครอบงำ กรรมที่ทําไว้จะค่อย ๆ คลายไป เสมือนหนึ่งผ้าเปื้อนยางไม้ แม้จะซักหลายครั้งก็ยังไม่สะอาดได้ ฉันใด กรรมที่ผู้หลงทําลงไปเพราะโมหะครอบงํา ก็จะไม่พ้นไปได้อย่าง รวดเร็ว ฉันนั้น
บุคคลทั้งหลาย เมื่อเกิดความเพลิดเพลินในวัตถุกาม และ กิเลสกามเหล่านี้แล้ว ย่อมเกิดความติดใจ ยึดมั่นในกามนั้นกลาย อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ คือความเกิด เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความผิดหวัง ความคับแค้น ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีได้ด้วยกามคุณ นี้คือโทษของกามคุณทั้งหลาย
ท่านเปรียบกามเสมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งที่รู้ว่าตกลงไปแล้ว ไม่ตายก็ต้องเจ็บสาหัส แม้ไม่อยากจะตกลงไป แต่ก็ยังมีอํานาจของกามคอยฉุดดึงให้เข้าไปสู่ปากหลุมนั้นอยู่เรื่อยๆ ผู้บริโภคกามสุขย่อมถูกคุกคามด้วยความเพลิดเพลิน ผู้ใดลุ่มหลง มัวเมามาก ย่อมต้องตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้นแน่นอน
สมัยนั้นภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นชนทั้งหลายในเรือนนั้นๆ และในสวนอันเป็นที่รื่นรมย์ เป็นต้น พากันโฆษณา เล่นมหรสพ กิน ดื่ม มีจิตน้อมไปในการบริโภคกามทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ไม่กระทํากิจอย่างอื่น ถึงความหมกมุ่น งมงายอยู่ด้วย กิเลสกามทั้งหลาย
ภิกษุกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบความแล้ว ทรงประกาศโทษแห่งกามและกิเลสว่า สัตว์ทั้งหลายข้องแล้วในกาม ไม่มีกิจอย่างอื่น หมกมุ่นงมงาย อยู่ด้วยอํานาจกิเลส พรั่งพร้อมด้วยกามคุณในทุกอิริยาบถ ไม่เห็นโทษ ในกามทั้งหลายที่น่ากลัว มีผลเผ็ดร้อน มีความเร่าร้อนมาก อันความพินาศติดตามผูกพัน ติดข้องอยู่ในวัตถุกามและกิเลสกาม คือ กามราคะ ทิฏฐิ มานะ โทสะ และอวิชชา ย่อมข้ามพ้นจากโอฆะไม่ได้
กาม นอกจากจะเกิดขึ้นในตน สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ตนเองแล้ว ความลุ่มหลงมัวเมานั้น ก็ยังก่อให้เกิดความทุกข์ความพินาศแก่ครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนชาติบ้านเมืองได้อีก
ทุกข์ในการแสวงหา วัตถุกามเพื่อให้ได้มาครอบครอง ต้องต่อสู้อดทนต่อความเหนื่อยยาก ความลําบากเดือดร้อนแสนสาหัส บางครั้งถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก
ทุกข์ในการรักษา บางครั้งได้มาแล้วก็ต้องระมัดระวัง ปกป้อง ด้วยเกรงจะสูญเสีย กลัวจะถูกแย่งชิง ถูกโกง ถูกโจรปล้น ถูกไฟไหม้ ถูกภัยธรรมชาติทําลาย เป็นต้น บางครั้งก็เป็นชนวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยความโลภ ความอิจฉาริษยา
เราต้องมาหยุดใจของตัวเอง หยุดอารมณ์ของตัวเอง ที่มันวิ่งมาอย่างความเร็วสูงในชีวิตประจำวัน ถึงเป็นไฟท์ ถึงเป็นการประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในจิตในใจของเรา นี้คือไฟท์ นี้คือการประพฤติปฏิบัติของเราทุกๆคน ความหลงความเพลิดเพลิน ความเอร็ดอร่อย ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จัก สัมมาสมาธิ ทุกๆคนต้องตั้งมั่น ทุกคนต้องเข้มแข็ง ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ว่าตัวเองต้องประพฤติต้องปฏิบัติ จัดการตัวเองในปัจจุบันเพราะทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีใครประพฤติ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เพราะอันนี้มันเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เราเป็นผู้ที่โชคดีนะ ที่มีพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ประเสริฐ บำเพ็ญพุทธบารมีได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วมาบอกมาสอน ธรรมะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งอัตถะพร้อมทั้งพยัญชนะ เราพากันมีความรู้ เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญา มันไม่เพียงพอ การประพฤติปฏิบัติของเราในปัจจุบัน นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเราผจญภัยในปัจจุบันทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ให้เรารู้จัก ว่านี้คือไฟท์ติ้งที่เราต้องการจัดการ เราอย่าเคลิ้มไปตามสิ่งต่างๆ เมื่อท่านยังไม่ผ่าน ท่านก็ยังรู้ไม่ชัดเจน เมื่อท่านประพฤติปฏิบัติมีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นท่านเสียสละ หยุดตัวเอง เมื่อท่านผ่านไปแล้ว ท่านถึงจะรู้นะ โอ้... เรานี้ผ่านได้ เพราะเรารู้จักหน้า รู้จักตาอวิชชา ความหลงชัดเจน นี้คือไฟท์ของเราที่เราผ่านมา เราต้องขอบใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เปิดโอกาสให้เราได้มาชิงแชมป์ในภาคประพฤติ ในภาคปฏิบัติ ชีวิตของเราทุกคนถึงมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ
ทุกท่านอย่าพากันเคลิ้มตามอวิชาตามความหลง ที่เป็นมนต์ดำ ที่กล่อมเกลาให้หลงให้เพลิดเพลิน นี่คือไสยศาสตร์ตัวจริง ทุกท่านทุกคนนั้น มืดบอด หลงนะ ทุกท่านทุกคนนั้น ต้องเอาพระพุทธเจ้า อย่าไปเอาตนเอง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเรามันก็จะผ่านไฟท์ไปเรื่อยๆ ในการประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเราคือการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อสู้ท่านไม่ต้องกลัวอุปสรรค ไม่ต้องกลัวปัญหา เราต้องขอบใจอุปสรรคขอบใจปัญหา ที่เปิดโอกาสให้เราได้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทุกท่านทุกคนก็จะมีความสุขมีความสง่างาม สง่างามเบื้องต้นคือศีล คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ ที่ให้เราได้จัดการกับอวิชาความหลง ที่มันมีอยู่ในใจของเรา สมาธิเป็นตัวความสุข เป็นตัวที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติ ปัญญาคือแสงสว่าง เราอย่าพากันมัว ต้องเสียสละ ไม่ต้องลูบคลำในข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ความรับผิดชอบเรียกว่าสัมมาสมาธิ ปัญญาเราต้องรู้จักตัวเองว่าเราต้องเสียสละ เราต้องประพฤติเราต้องปฏิบัติ เพื่อหยุดเพราะทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่รู้จักแล้ว ไม่ให้อาหารอวิชชา ไม่ให้อาหารความหลง ชีวิตเราก็จะสงบจะเย็น อันนี้เป็นมรรค เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเราทุกๆ คน
ทุกๆ คนต้องทำหน้าที่อย่างนี้ ทุกคนย่อมมีความหลงมีความเพลิดเพลินมีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันเป็นโรคบ้า โรคหลง มันเป็นไวรัส มันเป็นโรคทางจิต เป็นโรคทางใจ เราต้องรักษาด้วยธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่อย่างนี้แหละ ทุกท่านทุกคนมันมีความหลงความเพลิน ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันนึกว่าตัวเองแน่ มันไม่แน่หรอก มันไม่ต้องก๋า ไม่ต้องกร่าง ความก๋าความกร่าง ความไม่เอาใจใส่ มันไม่ดี มันทำหน้าที่ของเราได้ไม่สมบูรณ์ มันผ่านไม่ได้ มันเสียหาย ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจ ทุกอย่างมันก็จะเดินไปอย่างนี้ ผ่านไปอย่างนี้ เราต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้แหละ ปัจจุบันเราต้องมีสติมีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ฝนมันตกมาเม็ดน้อยๆ นี่แหละ คือมหาสมุทรให้เข้าใจอย่างนี้ ไฟฟ้ามันก็ส่งกระแสมาติดต่อกันนั่นแหละ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี สิ่งนี้หยุดมี สิ่งนี้มันถึงไม่มีอีกต่อไปให้เข้าใจอย่างนี้ ให้เข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นเราบวชมามันก็ไม่ได้บวชอะไร เพราะเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก มันไม่ได้ มันไม่ใช่ เราต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวจากตน มันถึงจะไม่ขาดสูญ คนโง่ไม่อยากให้มี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มันจะเอาอะไรไปปฏิบัติ อันนั้นมันว่างขาดศูนย์ เราต้องว่างจากสิ่งที่มี เพราะอันนี้มันเป็นความว่างอยู่แล้ว เราไม่รู้จักอนิจจัง ไม่รู้จักทุกขัง ไม่รู้จักอนัตตา มันเลยไม่ว่าง มันเป็นสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเพลิดเพลินไม่ให้เราตั้งอยู่ในความประมาท
การพัฒนาวิทยาศาสตร์ มันดีมากหรือพิเศษดีจริงๆ แต่มนุษย์เราก็ต้องพัฒนาใจเพื่อให้ไปตามหลักอริยมรรค คือมรรคผลพระนิพพานไปพร้อมๆกัน ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่ พระพุทธศาสนาถึงเป็นความดีอย่างยิ่ง การที่สมัยใหม่พวกเด็ก พวกเยาวชน นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เน้นเอาแต่เรื่องวัตถุอย่างเดียวนั้นไม่ได้ มันต้องพัฒนาใจปฏิบัติใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อความสอดคล้อง เพื่อโลกนี้จะได้เข้าสู่ความสงบความเยือกเย็น หยุดจากความไม่เบียดเบียน ทำแต่ความดี ทำบุญทำกุศล ไม่หลงไม่เพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มนุษย์เราถึงจะมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปมากกว่านี้ อย่าไปเหิมเกริม นึกว่าตัวเองเก่งทางวิทยาศาสตร์ คนเราเก่งเท่าไหร่มันก็ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตายนะ ต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันมีทุกข์ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ มันขัดกับความหลงความต้องการอย่างนี้ อันนี้เป็นความโง่ เป็นความหลงของเราต่างหาก ความเพียรเป็นสิ่งที่สำคัญ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่สำคัญ ความสละซึ่งตัวซึ่งตนเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้ โลกนี้ถึงจะไม่ว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่ว่างจากมรรคผล ไม่ว่างจากพระนิพพาน
ทุกท่านทุกคน ต้องรักตัวเองอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตตัวเองอย่างถูกต้อง ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เรียกว่าสัมมาสมาธิ เรามีทรัพยากรแห่งความเป็นมนุษย์ เรียกว่าเรามีสัปปายะ เราทำตามพระพุทธเจ้าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเรียกว่าธัมมสัปปายะ เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรียกว่าธัมมสัปปายะ ปฏิบัติสัปปายะ ทุกอย่างมันไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย มันผ่านมาผ่านไป ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้ พ่อเราแม่เราญาติพี่น้องเราทุกอย่าง มันมาจากเหตุจากปัจจัย และก็จากไป ให้ทุกท่านทุกคนพาก็เข้าใจ อย่าพากันหลงงมงาย เป็นทาสของความหลง เป็นทาสของไสยศาสตร์ พ่อเราก็ตาย แม่เราก็ตาย ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเราก็ตาย สุดท้ายร่างกายของเราก็ตาย เราต้องรู้จัก เราเกิดมาเพื่อมามีพระพุทธเจ้าในใจ
ทุกท่านทุกคนต้องพากันจัดการกับตัวเอง ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง เรียกว่าคนไปสร้างหนี้สร้างสิน สร้างความหายนะ สร้างความฉิบหาย สร้างความพินาศนะ ต้องรู้จักความพินาศความฉิบหายนะ เราไม่เก่ง เราไม่แน่นะ เวลานี้สำคัญ การประพฤติปฏิบัตินี้สำคัญ เราทุกคนแสวงหาความดับทุกข์ ทางวัตถุ ก็ถูกต้องแล้ว แต่ความดับทุกข์นั้นมันต้องได้มาจากการไม่เบียดเบียนใคร คนเราความหลงความเห็นแก่ตัว ทำให้เราต้องฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง หลงมัวเมา เราต้องรู้จักความเคยชิน เราเห็นพ่อเราก็ทำแม่เราก็ทำ ปู่ย่าตายายเราทำ เราเลยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่ธรรมดานะ มันเป็นความเห็นผิดความเข้าใจผิด มันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่งใหญ่ยิ่ง
ทุกท่านทุกคนมันหลงในอารมณ์ หลงในความเอร็ดอร่อยของตัวตน มันจะไปตามอารมณ์ตามความคิดไป มันไม่ได้นะ ความดับทุกข์มันไม่มีหรอก มันมีแต่ความหลง หลงอารมณ์ ของตัวเอง หลงแล้วก็พากันยิ้มแย้มแจ่มใสสรวลเสเฮฮา นั่นคืออบายมุขอบายภูมินะ เราต้องมีปัญญามากกว่านั้น สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นไฟท์ที่ให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ เราต้องเดินไปผ่านไป เราไม่ต้องไปกดไปขี่ไปหลบไปหนี เพราะคนเราต้องแก้ด้วยปัญญาด้วยภาคประพฤติด้วยภาคปฏิบัติ มันต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวจากตนด้วยธรรมะ ด้วยพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่
ทุกคนต้องประพฤติต้องปฏิบัติ หยุดคือดีท๊อกมันออกไป ดีท๊อกอวิชชา ความหลง อารมณ์มันรุนแรงกล้า บางทีมันต้องใช้หลายวิธีที่พระพุทธเจ้าสอน วิธีกลั้นลมหายใจอย่างนี้ ใจมันจะขาดแล้วค่อยมาหายใจมัน คนเรามันกระเสือกกระสน หยุดจนออกซิเจนในสมองคุมไม่อยู่ เลยต้องใช้วิธีหลายวิธี กรรมฐานเลยมีหลายสิบวิธีเพื่อแก้ไข เพื่อรักษาโรคใจ โรคโควิดทางใจ ที่พาเราเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกคน พากันเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่รู้ข้อวัตรข้อปฏิบัติ มันเซ่อๆ เบลอๆ งงๆอย่างนั้นไม่ได้ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ อดีตก็ใช้ไม่ได้ อนาคตก็ใช้ไม่ได้ ปัจจุบันนี้แหละคือการประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาต้องเอามาใช้ปฏิบัติในปัจจุบัน ให้ทุกท่านทุกคนปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนในกรุงเทพฯ หรือคนบ้านนอกบ้านนา มันต้องแก้ไขที่ตัวเอง เราเป็นคนที่โชคดียังมีลมหายใจอยู่ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เราจะได้เป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงขยะ ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคน อย่าไปทำทั้งดีทั้งชั่ว อย่างนี้มันขาดทุนมากไม่ได้กำไรนะ
ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ พระธรรมพระวินัยนั้น ถึงจะทำให้เราเป็นพระ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ที่ทุกท่านทุกคนเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ไม่ใช่แบรนด์เนมเฉยๆ แบรด์กางท้อง กางพุงอย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้านี้เผยแผ่อย่างนี้ ไม่มีงบประมาณอะไร ไม่มีค่านู่นค่านี่ มีแต่เสียสละ ทุกคนต้องเสียสละ มันถึงจะมีความสุข ไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น คนอื่นก็รู้ว่าวิธีแก้คือแก้ที่ตัวเขา เขาก็แก้ที่ตัวเขา มันก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อยู่ทุกหนทุกแห่ง การประพฤติปฏิบัติมันง่ายต่อทุกๆ คน ไม่ได้แก้ที่คนอื่น แก้ที่ตัวเอง ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันก็ง่าย มันไม่ใช่ของยาก เพราะมันแก้ที่ตัวเอง เราไม่ต้องไปหาจากคนอื่น พระพุทธเจ้าก็เป็นตัวอย่างแบบอย่าง สมบูรณ์ด้วยอัตถะด้วยพยัญชนะ มันต้องปฏิบัติอย่างนี้ อย่าพากันมากินและนอนพักผ่อนยิ้มแย้มแจ่มใสโง่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องพาการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาในปัจจุบันต้องรู้เนื้อรู้ตัวว่า ต้องหยุดตัวเองหยุดกรรมหยุดเวรหยุดบาปอกุศล มันทำได้ปฏิบัติได้ ยิ่งทำไปปฏิบัติไปมันก็ยิ่งสว่างไสว หยุดความหลงงมงายอย่างนี้
เมื่อเราไม่มีการประพฤติไม่มีการปฏิบัติ เราก็มีแต่หลงงมงาย มองดูหน้าใครก็มีแต่หน้าหลงงมงาย มันน่าสมเพชเวทนานะ พระพุทธเจ้าต้องมีกับเรา พระธรรมต้องมีกับเรา พระอริยสงฆ์ต้องมีกับเรา พระที่แท้จริงมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบันนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ให้เราพากันเข้าใจ เราจะได้มีความสุขในใจว่า โอ้...ทำไมมีความสุขอย่างนี้ มีความดับทุกข์อย่างนี้ มันก็มีความสุขเพราะมีความดับทุกข์ เราได้หมดหนี้หมดสิน หมดภาระ หมดหลง หมดวุ่นวายแล้ว เราไม่ต้องไปโง่หลงงมงายอย่างไร้สาระ อร่อยมันก็แค่นั้น มันก็เป็นเพียงผัสสะเป็นอารมณ์ เจ็บปวดมันก็แค่นั้น มันก็เป็นเพียงผัสสะเป็นอารมณ์ ความปรุงแต่งเราต้องรู้จัก ว่าอันนี้คือสภาวะธรรมที่ให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ มันก็คืออันเดียวกัน คืออารมณ์ คือผัสสะ เราต้องทำอย่างนี้ พลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิดขึ้นจะได้อ่อนกำลังลง ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะไปเรื่อย
น่าสมเพชเวทนา เป็นถึงลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แต่ทำไมถึงทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ เป็นโรคประสาทอย่างเอน็จอนาถ เป็นโรคจิตอย่างนี้ไม่ได้ คนเราเป็นบ้าเป็นโรคจิต ต้องรู้ตัวเองนะ เราอย่าเอามาตรฐานของพวกที่หลงอยู่ในวัฏสงสารเป็นประชาธิปไตย มันเป็นประชาธิปไตยแห่งความหลง เราต้องเอาธรรมาธิปไตย ความหลงนี้เราต้องหยุดด้วยศีล เพราะหยุดความหลง คือหยุดมีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ เมื่อเราไม่มีเซ็กส์ทางความคิด ไม่มีเซ็กส์ทางอารมณ์ ด้วยสัมมาสมาธิ ด้วยเอาศีลไปจัดการ พลังงานแห่งความหลงมันก็จะอ่อนกำลังลง มันก็จะผ่านไฟท์นี้ได้ด้วยการชิงแชมป์ ศาสนาพุทธมันเป็นภาคประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ อย่าให้ถึงแค่ศาสนาปรุงแต่ง ศาสนาปรัชญามันยังใช้ไม่ได้
คนเราก็รู้ว่าคนนั้นรวยคนนี้รวย มันรวยเพราะอะไร รวยเพราะภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เขาเรียกว่าเศรษฐีธรรมเศรษฐีปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงนักปราชญ์ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้มีปัญญา ไม่ใช่เป็นผู้ทรงแก่เรียน ยิ่งคิดยิ่งหลง เขาเรียกว่าเป็นโรคประสาทเป็น มหาโรคประสาท มหาวิมาน วิมานคือความคิด หาได้มีตัวตนไม่ มันเป็นอารมณ์ มันเป็นคำพังเพย ที่ว่าชอบสร้างวินานในอากาศ
“สักวันหนึ่ง เราต้องกลับไปเป็นดิน ให้คนอื่นเหยียบ จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน" เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "น้ำ" เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระล้างสิ่งของสกปรกได้ทุกเมื่อ และเป็นของดื่มกินเพื่อยังชีวิตได้ ช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า" เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชังต่อใคร แม้ถูกเหยียบย่ำ ทุกคนเช็ดเท้าได้ แม้จะสกปรกมาจากไหน
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง" จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้วนำมาซึ่งความสุข