แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๑๒ หลักในการบริหารตน บริหารคน บริหารงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในทางโลกทางธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เจริญพรท่านแม่ทัพภาคที่ ๒ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ท่านผู้อำนวยการ สพป.นครราชสีมา เขต ๑ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองนครราชสีมา คณะกรรมการดำเนินงาน คณะครูอาจารย์ ผู้ปกครอง พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน
ในโอกาสอันเป็นมงคลวันนี้ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา ได้จัดงานทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา โรงเรียนเมืองนครราชสีมา สู่ยุคดิจิทัล และเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน บูชาคุณพระพุทธศาสนา เทิดพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆ พระองค์ ในวันนี้ได้อาราธนา องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม ประธานสงฆ์วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมราม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์
มนุษย์เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน จะไปถึงพระนิพพานต้องมีมรรค มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติ พัฒนาวิทยาศาสตร์และใจไปพร้อมๆ กัน เริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พระธรรมทั้งหลายทั้งปวงต้องเริ่มด้วยที่สติปัญญา การพัฒนามนุษย์ เขาพัฒนาที่สติปัญญา การเรียนการศึกษาในโลกนี้ถึงมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราถึงได้พัฒนาประเทศไทยของเรา ให้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เรียกว่าธรรมนูญ เรียกว่าประชาธิปไตย เพราะถ้าเราไม่พัฒนา เราก็รู้อยู่ว่า เป็นเหมือนผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ ก็ย่ำอยู่ที่เดิม การที่เราได้พัฒนาวิทยาศาสตร์จนมีบ้าน มียานพาหนะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ต้องพัฒนาทางจิตใจไปพร้อมๆกันมันถึงจะเป็นทางสายกลาง เพราะว่าถ้าเรา พัฒนาแต่วิทยาศาสตร์ ไม่ได้พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราพัฒนามามันก็หลง มันก็จะไม่เป็นคุณ มันก็จะมีโทษ บ้านเมืองเราก็ไม่เข้าสู่ความสุขความดับทุกข์ได้ เป็นการเรียนมาเพื่อความเห็นแก่ตัว เราต้องนำตัวเองด้วยหลักการหลักวิชา ที่มันเป็นเหตุเป็นผลเข้าสู่ภาคปฏิบัติ การเรียนการศึกษาเราต้องรู้จักให้เข้าใจ เรียนเพื่อรู้และเข้าใจ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่ทุกคนจะได้แก้ไขตัวเอง ทุกคนต้องมาแก้ไขที่ตัวเอง และบอกคนอื่น เพื่อจะให้มันเป็นศาสนา ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นแต่เพียงผู้มีปัญญา ผู้คงแก่เรียน มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ทุกคนถึงจะยอมรับในพ่อในแม่ในครูบาอาจารย์ ในข้าราชการนักการเมือง
เพราะผู้ที่จะเป็นผู้นำต้องเป็นปูชนียบุคคล เพราะเราต้องมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง เราจะย่อยเป็นสิ่งที่ดีที่ออกมาจากจิตใจ จะได้บอกลูกบอกหลาน ทุกท่านทุกคนคงไม่เข้าใจ เรียกว่าความหลง เรียกว่าไสยศาสตร์ หลงในตัวในตน ในความสุขในความสะดวกสบาย ไม่เสียสละ อย่างนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เพราะถ้าเราเข้าใจแล้ว พวกที่เป็นเด็กนักเรียนก็ต้องมีความสุขในการเรียนการศึกษา เพราะไปทำอย่างอื่นมันไม่ใช่ ถ้าเรามีความสุขในการเรียนการศึกษา สุขภาพจิตเราก็จะดี เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างเด็กๆ ต้องนอนเป็นสิบๆ ชั่วโมง จะเอาเวลาไปเล่นไปเที่ยวไป LINE โทรศัพท์อย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนต้องปรับตัว เวลาทำงานก็มีความสุขในการทำงาน ผู้ใหญ่ต้องนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง การทำงานก็ต้องมีความสุข เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งเวลานอน เวลาที่เราตื่น เวลาที่เรามีความสุขในการทำงาน และปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กับการทำงานมันคืออันเดียวกัน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นมนุษย์อย่างไสยศาสตร์ โง่หลงงมงาย มันไม่ใช่ทาง ต้องให้เข้าใจ เราถึงมาช่วยกันเข้าใจและนำมาปฏิบัติ
ความสมัครสมานสามัคคีกันย่อมดี ในประเทศต้องไปทางหนึ่งทางเดียวกัน เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ความสมัครสมานสามัคคี ประเทศเราถึงจะไม่เป็นอนันตริยกรรม ไม่เป็นสังฆเภท เพราะเราทุกคน เอาหลักการหลักวิชาการมาปรับตัวเข้าหาธรรมะ ทุกคนก็ยอมรับได้ ใครเข้ามาก็ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ไปทำอย่างอื่นไม่ได้ มาเสียสละกัน เราถึงจะมีนักการเมือง ไม่อย่างนั้น จะมีแต่นักกินเมือง เราถึงจะมีข้าราชการ ไม่อย่างนั้นจะมีแต่ข้าราชกิน เพราะเรามาเสียสละ กลไกมันถึงจะไปได้ อย่างอยู่ที่บ้านเราพ่อแม่ของเรานี้สำคัญ อยู่ที่โรงเรียนก็ ผอ. คณะบริหารนี้สำคัญ จังหวัดนครราชสีมาที่สำคัญก็คือท่านผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ นายอำเภอไปตามลำดับ อย่างภาคอีสานเราก็คือท่านแม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นผู้ที่สำคัญ ท่านเหล่านี้คือผู้ที่เสียสละ เกิดมาเพื่อมาเสียสละ กลไกถึงจะก้าวเดินไปได้ เรามารวมกันมาสมัครสมานสามัคคีกันทอดผ้าป่า ซึ่งก็ดี ก็ถูกต้อง เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากภาษีประชาชน เป็นเงินเดือน เป็นงบประมาณ อีกส่วนหนึ่งก็ต้องช่วยกัน เพื่อให้ทุกอย่างก้าวไป ถึงจะทำยังไงวัตถุมันก็เป็นเพียงวัตถุ เราต้องพัฒนาทางจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติ ถึงจะไปได้พร้อมกันในการศึกษาและการปฏิบัติ ผลถึงเกิดขึ้นมา เพื่อจะส่งไม้ผลัดให้กับลูกกับหลาน
เราจะปล่อยให้ประเทศเรา ปีไหนฝนน้อยก็แล้ง ปีไหนฝนดีก็น้ำท่วมอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง การเรียนการศึกษาการวิทยาศาสตร์ก็รู้หมดว่า เราจะแก้ไขยังไง เพราะทุกอย่างมันมีทางออกที่ เกิดจากการเรียนการศึกษา ไม่ใช่ปล่อยให้น้ำท่วมเมืองโคราช ให้โคราชแห้งแล้ง ท่านผู้ว่าก็ต้องคิดให้ดีๆ วางแผนดีๆ ท่านแม่ทัพก็ต้องวางแผนดีๆ หาวิธีแก้ไข ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช เวลาแห้งแล้งท่านก็บอกวิธีทำฝนเทียมหรือทำฝาย เราต้องตามในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่าต้องทำยังไงน้ำถึงจะไม่ท่วม ย่อมทำได้ ดีกว่าเสียเวลาที่ไปทะเลาะวิวาทกัน เพื่อหวังประโยชน์แห่งความเห็นแก่ตัว อย่างนี้มันก็ไม่ดี ไม่ถูกต้อง
นักเรียนเราต้องพากันเข้าใจนะ เราต้องพากันมาเสียสละตัวตน พวกอบายมุข พวกไม่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กแว้น พวกเกี่ยวกับยาเสพติด มันต้องพากันเบรคให้หมด อย่าให้มี เพราะอันนี้มันเป็นการทำลายระบบสมองสติปัญญาของความเป็นมนุษย์ มันเป็นได้แต่เพียงคน มันไม่ได้ เราต้องเข้าใจ เหตุแห่งความทุกข์ และรู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพื่อจะแก้ไขตัวเอง
“ยากอะไรไม่เท่ากับปฏิสังขรณ์ ถอนอะไรไม่เท่ากับถอนมานะ
ละอะไรไม่เท่ากับละกามคุณ บุญอะไรไม่เท่ากับบุญพรรพชา
หาอะไรไม่เท่ากับหาตน จนอะไรก็ไม่เท่ากับจนปัญญา”
การจะแก้ปัญหาก็ต้องหาสาเหตุกันก่อน เพราะคงไม่มีใครยอมรับข้อบกพร่องของตน ดังคำโบราณที่ว่า “หาอะไรไม่เท่ากับหาตน” เพราะว่าคนเรานั้นมักจะมองออกไปข้างนอกโดยไม่มองด้านใน จึงมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนเอง แม้เราจะพยายามมองความผิดพลาดของตนเอง เราก็อดมีฉันทาคติ คือลำเอียงเข้าข้างตนเองเพราะความรักตนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ รักใดไหนเล่าจะเท่ารักตนเป็นไม่มี” เมื่อเรารักตนเองมาก เราก็ลำเอียงเข้าข้างตนเองได้มาก ดังภาษิตที่ว่า “โทษคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา โทษของเรามองเห็นเท่าเส้นขน” คนเรามักเคยชินกับสิ่งที่เรามีเราเป็นจนมองข้ามข้อบกพร่องของตนเอง ดังคำโบราณที่ว่า “นกมองไม่เห็นฟ้า ปลามองไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนมองไม่เห็นดิน” อะไรที่เราเคยชินมักมองไม่เห็นเงื่อนของปัญหา ดังนั้น “อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด” จึงสำคัญมาก
การบริหาร หมายถึง การทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น (Getting things done through other people) ผู้ปกครองระดับธรรมดา ใช้ความสารมารถของตนอย่างเต็มที่ ผู้ปกครองระดับกลาง ใช้กำลังของคนอื่นอย่างเต็มที่ ผู้ปกครองระดับสูง ใช้ปัญญาของคนอื่นอย่างเต็มที่อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น
เมื่อว่าตามคำนิยามนี้การบริหารในพระพุทธศาสนาเริ่มมีขึ้นเป็นรูปธรรมสองเดือนนับจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่พระปัญจวัคคีย์ซึ่งทำให้เกิดพระสังฆรัตนะขึ้น เมื่อมีพระสังฆรัตนะเป็นสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องบริหารคณะสงฆ์
ในพุทธวิธีเกี่ยวกับวางแผนนี้ สิ่งที่สำคัญมากคือผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้บริหารต้องมีจักขุมา แปลว่า มีสายตาที่ยาวไกล คือมองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจนและใช้สื่อสารให้สมาชิกภายในองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดจุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนาไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอย่างมีเป้าหมายสูงสุดที่จุดเดียวคือวิมุตติ (ความหลุด พ้นทุกข์) ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ฉันนั้น)
กระบวนการจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนายึดหลักไตรสิกขาคือศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการฝึกอบรม (Training) ที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าจะเป็นการเรียนการสอนในทางทฤษฎี (Teaching) เมื่อกล่าวในเชิงบริหารเราต้องยอมรับว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งการศึกษา
การอำนวยการให้เกิดการดำเนินงานในพระพุทธศาสนาต้องอาศัยภาวะผู้นำเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่มีระบบการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตามผู้นำในพระพุทธศาสนา การที่สมาชิกจะทำตามคำสั่งของผู้บริหารหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำในผู้บริหารเป็นสำคัญ อะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้บริหารกับผู้นำ
ผู้บริหาร คือ ผู้ที่ทำให้คนอื่นทำงานตามที่ผู้บริหารต้องการ
ผู้นำ คือ ผู้ที่ทำให้คนอื่นต้องการทำงานตามที่ผู้นำต้องการ
ดังนั้น ผู้บริหารเชิงพุทธต้องมีภาวะผู้นำ คือ มีความสามารถในการจูงใจให้คนเกิดความต้องการอยากปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหาร
พระพุทธเจ้าทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตหิตสมบัติและปรหิตสมบัติจึงสามารถใช้ภาวะผู้นำบริหารกิจการพระพุทธศาสนาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อัตตหิตสมบัติที่สำคัญในการบริหารของพระพุทธเจ้าก็คือความสามารถในการสื่อสารกับคนทั่วไป ในการสื่อสารเพื่อการบริหารแต่ละครั้งพระพุทธเจ้าทรงใช้หลัก ๔ ส. ซึ่งคำอธิบายเชิงประยุกต์เข้ากับการบริหารดังต่อไปนี้
๑. สันทัสสนา (แจ่มแจ้ง) หมายถึง อธิบายขั้นตอนของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งช่วยให้สมาชิกปฏิบัติตามได้ง่าย
๒. สมาทปทา (จูงใจ) หมายถึง อธิบายให้เข้าใจและเห็นชอบกับวิสัยทัศน์จนเกิดศรัทธาและความรู้สึกว่าต้องฝันให้ไกลและไปให้ถึง
๓. สมุตเตชนา (แกล้วกล้า) หมายถึงปลุกใจให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความกระตือรือร้นในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย
๔. สัมปหังสนา (ร่าเริง) หมายถึง สร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันแบบกัลยาณมิตรซึ่งจะส่งเสริมให้สมาชิกมีความสุขในการงาน
บุคคลที่จะเป็นผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ๒ ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ อัตตหิตสมบัติ หมายถึงความเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติส่วนตัวที่เหมาะกับการเป็นผู้นำ และปรหิตปฏิบัติ หมายถึงความมีน้ำใจในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมและองค์กรของตน
พุทธวิธีบริหาร ยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้บริหารเองต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นทั้งอัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย
ผู้บริหารที่เป็นอัตตาธิปไตยก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้งโดยยึดคติว่าถูกต้องคือถูกใจข้าพเจ้า ผู้บริหารประเภทนี้มักลงท้ายด้วยการเป็นเผด็จการ
ส่วนผู้บริหารที่เป็นโลกาธิปไตยก็พยายามเอาใจทุกคน เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เขาพยายามทำให้ถูกใจทุกคน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้บริหารประเภทนี้มักหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นในองค์กรก็พยายามลอยตัวหนีปัญหา
ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นธรรมาธิปไตย เขายึดถือคติว่า ถูกต้องไม่จำเป็นต้องถูกใจข้าพเจ้า หรือต้องถูกใจทุกคน เขากล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยไม่พยายามลอยตัวหนีปัญหา เขาถือคติว่า อำนาจหน้าที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ เขายอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือประโยชน์สุขส่วนรวม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่”
พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการ ปกครองและคุณธรรมของผู้ปกครองดังกล่าวมาแล้วเป็นเครื่องมือในการปกครอง สังคมโลกปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย ด้วยภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย หรือแม้แต่ภัยคือสงคราม เป็นต้น เพราะสังคมขาดธรรม แม้ธรรมาธิปไตย จะเป็นการปกครองที่เป็นอุดมคติ แต่เราผู้เป็นคนสร้างสังคมก็ควรบากบั่น ควรพยายาม ควรอดทน ทำให้สังคมมี “ ธรรม ” คุ้มครอง เพราะธรรมจะทำให้เรา ทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนอยู่กันอย่างสันติสุข ไม่มีระบบการปกครองอื่นใด จะประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว เมืองใดไม่มีทหารหาญ....
หลักธรรมเพื่อการบริหารตน บริหารคน และบริหารงาน
การบริหารเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนและงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหาร ผู้บริหารจึงเป็นบุคคลซึ่งมีอิทธิพลที่จะทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และบรรลุวัตถุประสงค์นั้นด้วยกัน เป็นบุคคลที่ทำให้องค์กรมีความก้าวหน้าและบรรลุผลสำเร็จ และการที่จะพัฒนาองค์กรเพื่อนำพาไปสู่การมีประสิทธิภาพสูงนั้นได้ผู้บริหารต้องมีหลักในการบริหารตนเองเสียก่อน ซึ่งสิ่งที่สำคัญ
ประการหนึ่งคือหลักคุณธรรมของผู้นำ ได้แก่ ปาปณิกธรรม 3 โดยที่หลักปาปณิกธรรมนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับผู้นำได้ ดังต่อไปนี้
๑. จักขุมา หมายถึง ปัญญามองการไกล เช่นถ้าเป็นพ่อค้าหรือนักบริหารธุรกิจต้องรู้ว่า อนาคตเศรษฐกิจหรือตลาดจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร สามารถคาดการณ์อนาคตในการดำเนินธุรกิจได้แม่นยำจากการอาศัยกระบวนการคิดที่รอบคอบและมีเหตุผลโดยอาจใช้ประสบการณ์ในอดีตร่วม ในการตัดสินใจและวางแผนด้วย ซึ่งคุณลักษณะข้อแรกนี้ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า Conceptual Skill คือ การชำนาญในการใช้ความคิดหรือ ทักษะทางด้านความคิด
๒. วิธูโร หมายถึง จัดการธุระได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่นนักการเงินต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญทางการเงินสามารถคำนวณอัตราผลตอบแทนต่างๆได้หรือเข้าใจในงบการเงินที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจได้ เป็นต้น คุณลักษณะนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษคำว่า Technical skill คือ ความชำนาญการด้านเทคนิค หรือ ทักษะทางด้านการปฏิบัติงาน
๓. นิสสยสัมปันโน หมายถึง พึ่งพาอาศัยคนอื่นได้เพราะเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความสามารถในการติดต่อประสานงานให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด มีความสามารถในการสื่อสารสามารถ ประสานผูกใจคนให้เป็นที่รักของคนโดยสามารถทำให้พนักงานแต่ละคนปฏิบัติงานตามคำสั่งด้วยความเต็มใจได้ เป็นต้น คุณลักษณะนี้ตรงกับคำว่า Human Relation skill คือความชำนาญด้านมนุษยสัมพันธ์ หรือทักษะทางด้านมนุษยสัมพันธ์
หลักธรรมสำหรับการครองคน
พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่ หมายความว่า ผู้ใหญ่จะเป็นบิดามารดา เป็นผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง หรือเป็นใหญ่ในฐานะอื่น ๆ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ ควรกราบไหว้บูชาของผู้น้อย จะต้องตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 นี้ คือ
1) เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กล่าวคือ ความรักที่เกิดจากความบริสุทธ์ใจอย่างพ่อแม่รักลูก หรือลูกรักพ่อแม่
2) กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ กล่าวคือ เมื่อเห็นคนอื่นได้รับทุกข์แล้ว เกิดความสงสาร หวั่นใจ ไม่นิ่งนอนใจ คิดช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ ให้พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย
3) มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี กล่าวคือ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีความพลอยยินดี อนุโมทนาด้วย ไม่คิดอิจฉาริษยา มีแต่ความชื่นชมยินดีกับเขา
4) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง กล่าวคือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่คิดซ้ำเติมผู้อื่นในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ
สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ 1) ทาน การให้สิ่งตอบแทน ให้รางวัลการทำงาน
2) ปิยวาจา การพูดไพเราะอ่อนหวาน 3) อัตถจริยา การรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม 4) สมานัตตา การเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีคือ ความเที่ยงธรรม หรือความยุติธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำลำเอียง เพราะรัก เพราะหลง เพราะโกรธ เพราะกลัว จะทำให้เกิดความแตกแยกในผู้ร่วมงาน
หลักธรรมสำหรับการครองงาน อิทธิบาท 4 ได้แก่ 1) ฉันทะ ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ สิ่งที่มีอยู่ 2) วิริยะ ความเพียรพยายามอุตสาหะในหน้าที่การงาน ไม่ท้อแท้ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น 3) จิตตะ ความเอาใจใส่ ปฏิบัติงาน การใฝ่หาวิชาความรู้ประสบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน 4) วิมังสา การใช้สติปัญญา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองให้รอบคอบ
หลักธรรมที่เสนอมาแล้วนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของ นักปกครองหรือนักบริหาร ถ้าทำได้อย่างที่เสนอมา สังคมหรือประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มั่นคง เป็นปึกแผ่น ไม่ปั่นป่วนวุ่นวายเหมือนปัจจุบันนี้ แต่ปัจจุบันที่เป็นอย่างนี้ ปัญหาสำคัญก็คือ ผู้ปกครองหรือผู้บริหารขาดหลักธรรม ต่างๆ ที่เสนอมาตั้งแต่ต้น เมื่อผู้ถูกปกครองเห็นความไม่ถูกต้องของผู้ปกครอง กระทำก็เกิดความไม่พอใจ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้จนกลายเป็นปมขัดแย้งของสังคม ในปัจจุบันไม่รู้ว่าความขัดแย้งบนพื้นฐานของอธรรมนี้ จะสิ้นสุดหรือยุ ติลงอย่างไร แต่ที่รู้ในปัจจุบันนี้ก็คือ ประเทศชาติเสียหายยับเยิน
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องให้ชีวิตนี้ เดินไปสู่มรรคผลพระนิพพาน เราพัฒนาทางโลก วัตถุ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าให้เราพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน พัฒนาไอคิว ความรู้ความสามารถจากการเรียน การฟัง การคิด ต้องพัฒนาจิตใจคืออีคิวไปด้วย ด้วยการให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การพัฒนาธุรกิจหน้าที่การงาน คือ งานรอง การพัฒนาด้านจิตใจ เป็นงานหลัก เราจึงจะได้บริโภคทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา เพราะว่าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการดำรงชีวิต ไม่ทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตนเอง ตามความรู้สึกตนเอง เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอากฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลา จึงเป็นการพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆกัน
ต้องมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับงานสุจริตที่ทำ วันหนึ่งเวลาหมดไปกับการทำงาน จึงต้องมีความสุขกับงานที่ทำ “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน” ถ้าไม่มีความสุขกับการทำงานแล้วเราจะหาความสุขมาจากไหน มีความสุขจากการทำงานไม่พอ ต้องมีความขยัน อดทน รับผิดชอบ และต้องเสียสละ
หลวงปู่มั่นสอนว่า ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น
ขออนุโมทนากับ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา ได้จัดงานทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา โรงเรียนเมืองนครราชสีมา สู่ยุคดิจิทัล และเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน บูชาคุณพระพุทธศาสนา เทิดพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆ พระองค์ ในวันนี้...